ความรู้ด้านวิชาทางการเมือง การปกครอง และการบริหารราชการแนวใหม่

1. ความรู้ด้านวิชาทางการเมือง

1.1 ความหมายของการเมือง การปกครอง

          การเมือง (Politics) หมายถึง เรื่องที่เกี่ยวกับการแข่งขันเพื่อแสวงหาอำนาจ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับการแสวงหาอำนาจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมหรือส่วนใหญ่ของสังคม

          การปกครอง (Government) คือการใช้อำนาจอธิปไตยตามกฎหมายในการบริหารและจัดการประเทศ การปกครองมีหลายรูปแบบ เช่น การปกครองแบบประชาธิปไตย และการปกครองแบบเผด็จการ นอกจากนี้การปกครองยังมีได้หลายระดับ เช่น การปกครองส่วนกลาง การปกครองส่วนภูมิภาค และการปกครองส่วนท้องถิ่น

          การเมืองและการปกครองจะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เพราะการปกครองจำเป็นต้องอาศัยอำนาจคือการเมืองจึงจะสามารถดำเนินการได้สำเร็จ ดังนั้นการศึกษาเรื่องการเมืองการปกครองจึงหมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับองค์กรที่ใช้อำนาจและระเบียบกฎเกณฑ์การใช้อำนาจทางการบริหาร

1.2 การเมืองไทย

          การเมืองไทยในปัจจุบัน

ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวซึ่งมีการปกครองในกรอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาภายใต้ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยที่พระมหากษัตริย์ ซึ่งปัจจุบันคือพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นประมุขแห่งรัฐ ส่วนนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันคือประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้ารัฐบาล รัฐบาลไทยเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติอยู่กับรัฐสภาไทย ซึ่งแบ่งเป็นสองสภาได้แก่ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ฝ่ายตุลาการเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ โดยมีประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นประมุขในส่วนของตน ( จากวิกิพีเดีย )

          ตั้งแต่โบราณกาล ราชอาณาจักรไทยอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช อย่างไรก็ตาม หลังจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ประเทศไทยจึงอยู่ภายใต้การปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเขียนฉบับแรกถูกร่างขึ้น อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยยังมีการต่อสู้ระหว่างกลุ่มการเมืองระหว่างอภิชนหัวสมัยเก่าและหัวสมัยใหม่ ข้าราชการ และนายพล ประเทศไทยมีการก่อรัฐประหารขึ้นหลายครั้ง ซึ่งมักเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหารชุดแล้วชุดเล่า นับจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญและกฎบัตรรวมแล้ว 20 ฉบับ (รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างสูง หลังจากรัฐประหารแต่ละครั้ง รัฐบาลทหารมักจะยกเลิกรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิมและประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว

          รัฐบาลไทย

          รัฐบาลไทยมีบทบาทขึ้นอย่างชัดเจนในสมัยรัฐชาติอันสถาปนาขึ้นครั้งสมัยพระบาท
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวภายหลังทรงผนวกดินแดนและอาณาจักรภายใต้ปกครองของอาณาจักรสยามขึ้นเป็นสยามประเทศ แบ่งอำนาจออกเป็น 3 ส่วน คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ

          รัฐสภาไทยเป็นองค์กรบริหารอำนาจนิติบัญญัติ เป็นแบบระบบสองสภา ประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกรวมกัน 500 คน นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดิน รวมกันไม่เกิน 36 คน ส่วนศาลไทยเป็นองค์กรบริหารอำนาจตุลาการ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร

          พรรคการเมือง

          ประเทศไทยมีระบบพรรคการเมืองอยู่ในระบบหลายพรรค กล่าวคือ มักไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว การจัดตั้งรัฐบาลจึงต้องอาศัยพรรคการเมืองหลายพรรคที่เรียกว่า “รัฐบาลผสม” ยกเว้นสมัยที่ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งพบว่ารัฐบาลครองเสียงข้างมากในสภาจนไม่จำเป็นต้องอาศัยพรรคร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด พรรคการเมืองที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย เป็นต้น

          ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

          นโยบายการต่างประเทศของไทยรวมไปถึงการสนับสนุนอาเซียน เน้นเสถียรภาพในภูมิภาค และให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพอันยาวนานกับสหรัฐอเมริกา

          ประเทศไทยเข้าไปมีบทบาทเต็มในองค์กรทั้งระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ โดยได้พัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีการจัดการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงเศรษฐกิจทุกปี ความร่วมมือในภูมิภาคกำลังดำเนินการทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การธนาคาร การเมืองและวัฒนธรรม ประเทศไทยยังได้ส่งทหารเข้าร่วมในกองกำลังนานาชาติในติมอร์ตะวันออก, อัฟกานิสถาน, อิรัก, บุรุนดี และปัจจุบัน ในดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน อีกด้วย

2. ความรู้ด้านวิชาทางการปกครอง

2.1 วิวัฒนาการการปกครองของไทย

          ยุคสุโขทัยเป็นราชธานี (พ.ศ. 1800-1894)    จัดรูปการปกครองเป็นแบบพ่อปกครองลูก ซึ่งมีการปกครองกันเป็นลำดับ จากหมู่บ้านมี พ่อบ้าน ปกครองดูแล หลายหมู่บ้านรวมกันเป็นเมือง อยู่ในความปกครองของ พ่อเมือง หลายเมืองรวมกันเป็นประเทศมี พ่อขุน ทำหน้าที่ปกครอง โดยมีข้าราชการที่เรียกว่า ลูกขุน ทำหน้าที่ในการรับใช้ และกระทำในราชกิจตามพระบรม
ราชโองการ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ดูแลปกครองดูแลประชาชน บำรุงส่งเสริมการประกอบอาชีพของประชาชน ตามที่ พ่อขุน มอบหมายราชกิจให้ดำเนินการ

          ยุคอยุธยาตอนต้น (พ.ศ. 1894-1992) ลักษณะการปกครองแบบเทวสิทธิ์ ที่ถือว่า
พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นสมติเทพ และมีการจัดการปกครองเป็นแบบจตุสดมภ์   ประกอบด้วย 4 กรม  คือ

          1.กรมเวียง หรือกรมรักษาเมือง  มีขุนเวียงหรือขุนเมืองเป็นเสนาบดี มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองท้องที่ การรักษาความสงบเรียบร้อย และพิพากษาคดีเกี่ยวกับความผิดอุกฉกรรจ์

          2.กรมวัง มีขุนวังเป็นเสนาบดี ทำหน้าที่เกี่ยวกับราชสำนักงานพระราชพิธีและการพิพากษาคดีเกี่ยวกับข้าราชการ สนมฝ่ายใน และอรรถคดีทั่วไป

          3.กรมคลัง มีขุนคลังเป็นเสนาบดี ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน การภาษีอากร การค้าขายกับต่างประเทศ และพิพากษาคดีเกี่ยวกับพระราชทรัพย์

          4.กรมนา มีขุนนาเป็นเสนาบดี ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาที่หลวง การเก็บหางข้าว ค่านา การเก็บรักษาเสบียงอาหาร การพิพากษาคดีเกี่ยวกับนา โค กระบือ

                    รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1992-2033) มีการเปลี่ยนชื่อจตุสดมภ์ใหม่ คือกรมเวียงเป็นกรมนครบาล กรมวังเป็นกรมธรรมาธิการ กรมคลังเป็นโกษาธิบดี  และกรมนาเป็นเกษตรธิบดี และได้จัดตั้งกรมเพิ่มขึ้น อีก 2 กรม คือ กรมกลาโหม และกรมมหาดไทย ซึ่งมีฐานะใหญ่กว่ากรมจตุสดมภ์ทั้งสี่ เพราะมีอัครเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชาดูแล กล่าวคือสมุหกลาโหม ว่าราชการฝ่ายทหาร และควบคุมข้าราชการทหารทั่วไป และสมุหนายก ว่าราชการฝ่ายพลเรือนทั้งปวง ให้คุมกรมมหาดไทย และบัญชาเสนาบดีจตุสดมภ์ ส่วนทางด้านหัวเมืองได้จัดแบ่งเป็น เมืองเอก ตรี โท จัตวา และเมืองประเทศราช เมืองเหล่านี้ต่างขึ้นตรงกับกรมต่าง ๆ ในส่วนกลาง

                    หลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 2033-2310) ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้สมุหนายกรับผิดชอบบังคับบัญชาทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ ให้สมุหกลาโหมรับผิดชอบบังคับบัญชาทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ในหัวเมืองฝ่ายใต้ ขณะเดียวกันการปกครองส่วนกลางฝ่ายสมุหนายก ได้มีการแบ่งออกเป็นมหาดไทยฝ่ายเหนือ และมหาดไทยฝ่ายพลำภัง มหาดไทยตำรวจภูธร และมหาดไทยตำรวจภูบาล ทั้ง 4 ส่วน นี้ขึ้นอยู่กับสมุหนายก แต่ยังคงรูปจตุสดมภ์อยู่

                    ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2325-2435) ยังใช้รูปการปกครองแบบเดิม โดยมี อัครเสนาบดี 2 ตำแหน่ง และเสนาบดีจตุสดมภ์ 4 ตำแหน่ง

          ยุคปฏิรูปการปกครองตามแบบตะวันตก (พ.ศ. 2435-2475) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกระทรวงแบบใหม่ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2535 โดยแบ่งงานของแผ่นดินออกเป็น 12 กระทรวง คือกระทรวงมหาดไทย กลาโหม การต่างประเทศ วัง ยุทธนาธิการ ธรรมการ โยธาธิการ มรุธาธิการ

                    สำหรับการปกครองในส่วนภูมิภาค ได้กำหนดรูปแบบการปกครองที่เรียกว่า เทศาภิบาล ขึ้นมาใช้ และได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบดูแล โดยจัดแบ่งหัวเมืองออกเป็นมณฑล เมือง และอำเภอ โดยมีสมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการเมือง และนายอำเภอเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และดูแลทุกข์สุขของประชาชนในเขตท้องที่นั้น ๆ และมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ช่วยเหลือปฏิบัติงานในระดับตำบล หมู่บ้าน ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองท้องที่ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 (การจัดตั้งสุขาภิบาลท่าฉลอม โดยตราพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพรัตนโกสินทร์ศก 116 (พ.ศ. 2440) ณ อ.เมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร

          ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง (พ.ศ. 2476-2515) มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 แบ่งโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

                    สำหรับในส่วนภูมิภาค ทำการยุบเลิกการปกครองแบบเทศาภิบาล (ยุบมณฑล) กำหนดให้การบริหารงานในระดับจังหวัด เป็นรูปคณะกรรมการจังหวัด โดยมีข้าหลวงประจำจังหวัด(ผู้ว่าราชการจังหวัด) เป็นประธาน และในระดับอำเภอเป็นรูปคณะกรรมการอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นประธาน ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย

                    ในส่วนท้องถิ่น กำหนดให้มีการปกครองตนเองในรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ได้แก่การจัดตั้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลจนถึงปัจจุบัน

2.2 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

          หลักการจัดระเบียบการปกครองประเทศ หรือการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินนั้น ที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนิยมใช้ มีอยู่ 3 หลักการด้วยกัน คือ

          1. หลักการรวมอำนาจ (Centralization)

          2. หลักการแบ่งอำนาจ (Deconcentralization)

          3. หลักการกระจายอำนาจ (Decentralization)

                    การรวมอำนาจ เป็นหลักการปกครองที่รวมอำนาจที่สำคัญไว้ในส่วนกลาง อำนาจดังกล่าว ได้แก่การวินิจฉัยสั่งการและการบังคับบัญชา ซึ่งผลในการสั่งการจะมีอำนาจครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้เกิดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง หรือรัฐบาลกลาง ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ

                    ลักษณะสำคัญของการรวมอำนาจ มี 5 ประการ คือ

                    1. กำลังทหารและตำรวจขึ้นอยู่กับส่วนกลาง

                              2. การวินิจฉัยสั่งการขึ้นอยู่กับส่วนกลาง

                              3. มีการบังคับบัญชาตามลำดับชั้น

                              4. ส่วนกลางเป็นผู้กำหนดนโยบายในการปกครองประเทศ

                              5. อำนาจในการต่างประเทศ ส่วนกลางเป็นผู้กำหนด

                    ข้อดีของหลักการรวมอำนาจ

                              1. ทำให้เกิดความมั่นคง

                              2. ทำให้เกิดการประหยัด

                              3. สามารถบริการประชาชนโดยเสมอหน้า

                              4. ทำให้เกิดเอกภาพ (Unity) ในทางปกครอง

                    ข้อเสียของหลักการรวมอำนาจ

                              1. ไม่สามารถดำเนินกิจการทุกอย่างให้ได้ผลดีทั่วท้องที่ได้ในขณะเดียวกัน

                              2. ทำให้เกิดความล่าช้าในการวินิจฉัยสั่งการ

                              3. ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

                              4. ไม่อาจสนองความต้องการของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

          การแบ่งอำนาจ หมายถึง การบริหารราชการ ที่ส่วนกลางได้จัดแบ่งอำนาจในการวินิจฉัยสั่งการบางส่วน หรือบางขั้นตอนไปให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นตัวแทนของหน่วยงานของตน ซึ่งออกไปประจำอยู่ในเขตการปกครองต่าง ๆ ของประเทศ ให้วินิจฉัยสั่งการได้เองตามระเบียบแบบแผนที่ส่วนกลางกำหนดไว้ การแบ่งอำนาจทำให้เกิดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค

                    ลักษณะสำคัญของการแบ่งอำนาจ

                              1. ต้องมีราชการบริหารส่วนกลาง

                              2. ต้องมีเจ้าหน้าที่เป็นตัวแทนของส่วนกลาง

                              3. ส่วนกลางแบ่งอำนาจให้ส่วนภูมิภาค

                    ข้อดีของการแบ่งอำนาจ

                              1. เป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การกระจายอำนาจ

                              2. ทำให้ส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นมีการประสานงานกันดี

                              3. ทำให้การปฏิบัติราชการรวดเร็วยิ่งขึ้น

                              4. มีประโยชน์สำหรับประเทศที่ประชาชนยังขาดสำนึกในการปกครองตนเอง

          ข้อเสียของการแบ่งอำนาจ

                              1. เป็นอุปสรรคในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

                              2. ก่อให้เกิดความล่าช้า

                              3. ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ท้องถิ่น

          การกระจายอำนาจ หมายถึง การโอนอำนาจในทางการปกครองจากส่วนกลางบางอย่าง ไปให้ประชาชนในท้องถิ่นดำเนินการเอง โดยมีอิสระพอสมควร ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย การกระจายอำนาจทำให้เกิดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

                    ลักษณะสำคัญของการกระจายอำนาจ

                              1. เป็นองค์กรที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล

                              2. มีสภาและผู้บริหารระดับท้องถิ่น

                              3. มีอิสระในการปกครองตนเอง (อยู่ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด)

                              4. มีงบประมาณและรายได้ของตนเอง

                              5. มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของตนเอง

                              อนึ่ง หน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น มิได้เป็นหน่วยภายใต้บังคับบัญชาของส่วนกลางเหมือนการปกครองส่วนภูมิภาค

                    ข้อดีของหลักการกระจายอำนาจ

                              1. สามารถสนองความต้องการของท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้น

                              2. เป็นการแบ่งเบาภาระของส่วนกลาง

                              3. กระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

                    ข้อเสียของหลักการกระจายอำนาจ

                              1. อาจเป็นภัยต่อเอกภาพทางการปกครองและความมั่นคงของประเทศ

                              2. ทำให้ราษฎรเพ่งเล็งเห็นประโยชน์ของท้องถิ่นสำคัญกว่าส่วนรวม

                              3. เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการเลือกตั้งอาจใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่เหมาะสม

                              4. ย่อมทำให้เกิดความสิ้นเปลืองมากกว่า

2.3 ระบบรัฐเดี่ยว (Unitary State)

          “รัฐเดี่ยว” เป็นรัฐที่มีศูนย์กลางอำนาจในการตรากฎหมาย การบริหารราชการแผ่นดิน และการกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศเพียงแห่งเดียว ได้แก่ การมีรัฐบาล และรัฐสภาเดียว โดยภายในระบบแบบนี้ การใช้อำนาจ และการตัดสินใจต่างๆ ปรากฏว่าได้กำหนดออกมาจากศูนย์กลางเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อทำให้รัฐนั้นมีเอกภาพ และถึงแม้ว่ารัฐเดี่ยวอาจจะมีลักษณะกระจายอำนาจ (Decentralized) ภายในอยู่ด้วยก็ตาม แต่รัฐก็เป็นองค์กรผู้ถืออำนาจสูงสุดไว้เพียงผู้เดียว ดังนั้น การจัดตั้งหน่วยงานอื่นขึ้นมาภายในรัฐก็เพื่อกระจายอำนาจทางการปกครองและการบริหารของตนไปให้ท้องถิ่น แต่มิได้เป็นการสร้างศูนย์กลางอำนาจใหม่ขึ้นให้มีอำนาจเหนือรัฐ หรือมีอำนาจเสมอเท่ากันกับรัฐ ดังนั้น การจัดตั้งหรือสถาปนาองค์กรปกครอง การเปลี่ยนสถานะและรูปแบบขององค์กรปกครอง การยุบรวมองค์กรปกครองเข้าด้วยกัน และการยกเลิกองค์กรปกครอง ต่างๆ ล้วนกระทำได้โดยอาศัยอำนาจของรัฐและรัฐบาลกลางทั้งสิ้น

2.4 การรัฐประหาร

          รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย ก่อนหน้านี้ เกิดรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556

          ในวันที่ 20 พฤษภาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เวลา 3.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) กอ.รส. ปิดสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้

          หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา ปัจจุบัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี คสช. มีการจัดส่วนงานต่าง ๆ เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน และระบุว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่มีคำมั่นว่าประเทศจะหวนกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนโดยเร็ว

          หลายประเทศประณามรัฐประหารครั้งนี้ รวมทั้งมีการกดดันต่าง ๆ เช่น ลดกิจกรรมทางทหารและลดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่คนไทยจำนวนหนึ่งแสดงความยินดี โดยมองว่าเป็นทางออกของวิกฤตการณ์การเมือง แต่ก็มีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย

3. การบริหารราชการแนวใหม่

          การบริหารราชการแนวใหม่หรือการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management หรือ NPM) เป็นแนวคิดพื้นฐานของการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ขององค์กรภาครัฐ โดยมีแนวทางในการบริหารจัดการ 7 ประการ คือ

          1. การให้บริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน

          2. การคำนึงถึงความต้องการของประชาชนเป็นหลัก  

          3. รัฐพึงทำบทบาทเฉพาะที่รัฐทำได้ดีเท่านั้น

          4. การลดการควบคุมจากส่วนกลาง เพิ่มความอิสระแก่หน่วยงาน

          5. ระบบการบริหารงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์

          6. การมีระบบสนับสนุนทางด้านบุคลากรและเทคโนโลยี

          7. เน้นการแข่งขันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับเอกชน

          NPM คือ การจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) คือ การเพิ่มผลผลิตในการบริหารงานภาครัฐ โดยให้ความสำคัญต่อผลสำเร็จของงานเป็นหัวใจสำคัญ เป็นแนวคิดที่มาของการปฏิรูประบบราชการและประกาศใช้ระบบบริหารงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result Based Management) ของรัฐบาลไทย โดยให้ส่วนราชการระดับกรมต้องจัดทำตัวชี้วัดและเป้าหมายของผลงานที่จะเกิดขึ้น

          แนวคิดในการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ คือการนำแนวความคิดการบริหารของภาคเอกชนมาใช้ในหน่วยงานของรัฐ เช่น Balance Scorecard, การบริหารงานมุ่งผลสัมฤทธิ์ Result Based Management (RBM), การพัฒนาสมรรถนะ (Competencies), การวางแผนยุทธศาสตร์ (Strategic Planning), การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT Analysis) และแนวคิดที่สำคัญ ดังนี้

3.1 หลักธรรมาภิบาล

          ความหมายของธรรมาภิบาล (Good Governance)

          คำว่า Good Governance เริ่มมาใช้กันเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา โดยปรากฏในรายงาน ธนาคารโลก เมื่อปี ค.ศ. 1989 เมื่อมีแนวความคิด Good Governance เข้ามาในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2540 นักวิชาการ หลายท่านได้แปลความหมายของคำว่า Good Governance โดยเสนอใช้คำว่า“กลไกประชารัฐที่ดี” บ้าง “ประชารัฐ” บ้าง “ธรรมรัฐ” บ้าง
“ศุประศาสนการ” แต่ในที่นี้จะขอใช้คำว่า “ธรรมาภิบาล” ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันอย่างมากในขณะนี้ เพราะคำว่าธรรมาภิบาลจะมี ความหมายอย่างกว้างครอบคลุมทั้งทางบริหารจัดการที่ดีขององค์การธุรกิจ และการปกครองที่ดีของภาครัฐ

          Good Governance จะให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ

          1. ภาครัฐ (Public Sector) ซึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างและปฏิรูปการเมือง กฎหมายและการบริหารราชการ

          2. ภาคเอกชน (Private Sector) ซึ่งจะมีส่วนในการประกอบธุรกิจที่ดีและดำเนินธุรกิจอย่างซื่อสัตย์สุจริต และมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมซึ่งจะทำให้ประเทศชาติมีความเจริญรุ่งเรือง

          3. ภาคประชาชนหรือองค์การต่าง ๆ (Civil Society) จะมีส่วนในการเกื้อหนุนในการดำเนินการทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยการระดมกลุ่มต่าง ๆ ให้ เข้ามามีส่วนร่วมและสามารถตรวจสอบทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้ตั้งอยู่ในความถูกต้องได้

สำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดหลักการทั่วไปของธรรมาภิบาล ไว้ 6 หลักการ ดังนี้

          1. หลักนิติธรรม (The Rule of Law)

          การมีกฎ ระเบียบ ที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย มีการบังคับใช้อย่างเสมอภาค และไม่มีการเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน (Double Standard) มีการดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามกรอบของกฎ ระเบียบ และกรอบเวลาการปฏิบัติ ไม่ให้มีการใช้ไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ มีกรอบการปฏิบัติที่เคารพสิทธิและเสรีภาพ และมีการปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์

          2. หลักคุณธรรม (Virtue)

          การยึดมั่นในความถูกต้องดีงามในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคม และส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อร่วมสร้างสรรค์ให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความซื่อสัตย์ จริงใจ อดทน มีระเบียบวินัย และประกอบอาชีพด้วยความสุจริต โดยไม่กระทำหรือไม่สนับสนุนการคอร์รัปชัน พร้อมทั้งร่วมมือกันควบคุมไม่ให้เกิดการคอร์รัปชันในองค์กร

          3. หลักความโปร่งใส (Transparency)

          การมีความโปร่งใสเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่สามารถตรวจสอบได้ในทุกๆ ด้าน อาทิ การมีระบบงานที่ชัดเจน เปิดเผยได้ มีกระบวนการให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนได้ และมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมา ถูกต้อง โปร่งใส สอดคล้องกับเวลาและสถานการณ์

          4. หลักการมีส่วนร่วม (Participation)

          การกระจายโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมทางการจัดการและการบริหารที่เกี่ยวกับการให้ข้อเสนอแนะและการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรขององค์กร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน พนักงาน และเจ้าของ โดยการให้ข้อมูล การรับฟังและแสดงความคิดเห็น ให้คำแนะนำปรึกษา ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ตลอดจนการควบคุมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

          5. หลักความรับผิดรับชอบต่อผลการปฏิบัติหน้าที่ (Accountability)

          การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสำนึกในความรับผิดชอบ การใส่ใจ การกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหา การเปิดโอกาส และพร้อมที่จะให้ตรวจสอบ ประเมินผลที่สะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การยอมรับผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่และจากการดำเนินงาน

          6. หลักความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency& Effectiveness)

          การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม สร้างสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้และดูแลรักษาสังคม สิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์ยั่งยืน โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน และมีองค์กรหรือบุคคลที่เป็นอิสระและเป็นที่ยอมรับของสังคมทำหน้าที่เป็นผู้ประเมิน

องค์การสหประชาชาติ กำหนดหลักการทั่วไปของธรรมาภิบาล ไว้ 8 หลักการ ดังนี้

          1. การมีส่วนร่วม

          การมีส่วนร่วมของสมาชิกทั้งชายหญิงคือการตัดสินใจที่สำคัญในสังคมและสร้าง ความสามัคคีให้เกิดกับประชาชน การมีส่วนร่วมสามารถทำได้โดยอิสระไม่มีการบังคับ สมาชิกเต็มใจให้ความร่วมมือด้วยตนเอง หรือมีส่วนร่วมผ่านหน่วยงาน สถาบันหรือผู้แทนตามระบอบประชาธิปไตย

          2. การปฏิบัติตามกฎ

          ธรรมาภิบาลต้องการความถูกต้องตามกรอบของกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ลำเอียง มีการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเป็นธรรมกับประชาชนโดยเท่าเทียมกัน ทุกคนในสังคมอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายเดียวกัน

          3. ความโปร่งใส  

          ความโปร่งใสเป็นการตรวจสอบความถูกต้อง มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา สิ่งนี้ช่วยแก้ปัญหาการทุจริตและคอรัปชั่นได้ทั้งในภาครัฐและเอกชน สื่อจะเข้ามีบทบาทอย่างมากในการตรวจสอบและรายงานผลงานดำเนินงานโดยการนำเสนอ ข่าวสารให้แก่สังคมได้รับทราบ

          4. ความรับผิดชอบ   

          ความรับผิดชอบเป็นการพยายามให้คนทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดในการทำงาน กล้าที่จะตัดสินใจและรับผิดชอบต่อผลการตัดสินใจนั้นๆ

          5. ความสอดคล้อง  

          ความสอดคล้องต้องกันเป็นการกำหนดและสรุปความต้องการของคนในสังคม ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมาก โดยพยายามหาจุดสนใจร่วมกันและความต้องการที่สอดคล้องต้องกันของสังคมมาเป็นข้อปฏิบัติเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม การจะพัฒนาสังคมได้ ต้องทราบความต้องการที่สอดคล้องต้องกันของสังคมนั้นๆ ด้วยวิธีการเรียนรู้ วัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ก่อน

          6. ความเสมอภาค  

          ความเสมอภาคเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับจากรัฐบาล  ทั้งการบริการด้านสวัสดิการ ตลอดจนสาธารณูปโภคด้านอื่นๆ

          7. หลักประสิทธิภาพและประสิทธิผล  

          เป็นวิธีการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ โดยการผลิตและจำหน่ายเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่มีความคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนหรือ การใช้ทรัพยากรให้ได้ประโยชน์สูงที่สุดต่อมวลมนุษยชาติ โดยมีการพัฒนากระบวนการเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

          8. การมีเหตุผล  

          การมีเหตุผลเป็นความต้องการในทุกสังคม ประชาชนทุกคน ต้องตัดสินใจและความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองด้วยเหตุด้วยผลที่สมเหตุสมผล  การมีเหตุผลไม่สามารถกระทำได้ถ้าปราศจากการปฏิบัติตามกฎหมายและความโปร่งใส

3.2 7s McKinsey

          มีหนังสือ In Search of Excellence หนังสือเล่มนี้เป็น best sellers ของโลก เริ่มเมื่อปี 1997 บริษัท McKinsey ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่ดังที่สุดในโลก ในปี 1997 มีบุคลากรประมาณสองพันกว่าคน มีจุดเด่น คือ ถ้าไม่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกจะไม่รับเข้าทำงาน หลังจากนั้น ประธานบริษัทได้มอบหมายให้นักวิจัย 2 คน ได้แก่ Tom Peter and Richard Waterman ไปทำการศึกษาวิธีบริหารงานจากบริษัทที่มีชื่อเสียง และประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน  โดยตั้งโจทย์ว่า ถ้าจะให้การบริหารงานมีประสิทธิผล (effectiveness) ควรจะจัดโครงสร้างองค์กรแบบใด 

          หลังจากนั้น  กรอบแนวคิดของแมคคินซีย์ (McKinsey 7’s Framework) ได้ถูกนำมาใช้ในการบริหารเป็นหลักสากล ประกอบไปด้วย 

          1. Structure (โครงสร้างองค์กร) หมายถึง ลักษณะโครงสร้างขององค์กรที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ รวมถึงขนาดการควบคุม การรวมอำนาจ และการกระจายอำนาจของผู้บริหาร การแบ่งโครงสร้างงานตามหน้าที่ ตามผลิตภัณฑ์ ตามลูกค้า ตามภูมิภาคได้อย่างเหมาะสม โครงสร้างองค์กรมีความยืดหยุ่นมากน้อยเพียงไร ถ้าไม่ยืดหยุ่นหรือมีความยืดหยุ่นน้อย โอกาสความสำเร็จก็มีน้อย

          2. Strategy (กลยุทธ์) หมายถึง การวางแผนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม การพิจารณา จุดแข็ง จุดอ่อนของกิจการ โดยพิจารณาว่าองค์กรมีการกำหนด
กลยุทธ์ที่ชัดเจนหรือไม่ และกลยุทธ์นั้นกระจายออกไปใน sector ต่างๆ หรือไม่ เอา strategy กระจายออกมาเป็น BSC เลย

          3. Staff (การจัดการบุคคลเข้าทำงาน) หมายถึง การคัดเลือกบุคลากรที่มีความสามารถ การพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง พนักงานมีคุณภาพไหม มาโดยระบบเส้นสายหรือไม่

          4. Managerial style (รูปแบบ) หมายถึง การจัดการที่มีรูปแบบวิธีที่เหมาะสมกับลักษณะองค์กร เช่น การสั่งการ การควบคุม การจูงใจ สะท้อนถึงวัฒนธรรมองค์การ สไตล์การบริหารเป็นอย่างไร

          5. System (ระบบ) หมายถึง กระบวนการและลำดับขั้นการปฏิบัติงานทุกอย่าง ที่เป็นระบบที่ต่อเนื่องสอดคล้องประสานกันทุกระดับ รวมถึงการวางระบบงาน

          6. Shared value (ค่านิยมร่วม) หมายถึง ค่านิยมร่วมกันระหว่างคนในองค์กร ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความเชื่อร่วมกันในหน่วยงาน

          7. Skill (ทักษะ) หมายถึง ความโดดเด่น ความเชี่ยวชาญในการผลิต การขาย การให้บริการ พนักงานมีทักษะในการทำงานหรือไม่ (อะไรคือความแตกต่างระหว่าง knowledge (รู้เฉยๆ) กับ skill (รู้แล้วทำให้คนอื่นเชื่อด้วย และนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานได้ด้วย)

3.3 SECI Model

          SECI Model เป็นกระบวนการในการสร้างความรู้ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่าง ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) และ ความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวบุคคล (Tacit Knowledge) ที่ประกอบด้วย 4 กระบวนการ คือ

          S = Socialization คือ การสร้างความรู้ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์โดยการพบปะสมาคม และพูดคุยกับผู้อื่น ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอด แบ่งปัน ความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคลไปให้ผู้อื่น

          E = Externalization คือ การนำความรู้ในตัวบุคคลที่ได้นำมาพูดคุยกันถ่ายทอดออกมาให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้หรือเป็นลายลักษณ์อักษร

          C = Combination คือ การผสมผสานความรู้ที่ชัดแจ้งมารวมกัน และสร้างสรรค์สิ่ง
ใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถนำความรู้นั้นไปใช้ในทางปฏิบัติได้

          I = Internalization คือ การนำความรู้ที่ได้มาใหม่ไปใช้ปฏิบัติหรือลงมือทำจริง ๆ โดยการฝึกคิด ฝึกแก้ปัญหา จนกลายเป็นความรู้และปรับปรุงตนเอง

          โดยความรู้นั้น ทาง KM พบว่ามีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

          Tacit Knowledge คือ ความรู้ที่ได้มาจากประสบการณ์และไม่สามารถบรรยายเป็นถ้อยคำ ถ้อยความ หรือสูตรได้ และขึ้นอยู่กับความเชื่อ รวมทั้งทักษะเชิงวิชาการของบุคคลที่จะ กลั่นกรองความรู้ ความรู้ชนิดนี้สามารถพัฒนาและแบ่งปันกันได้ และเป็นความรู้ที่จะทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน

          Explicit Knowledge คือ ความรู้ที่เป็นเหตุและผลที่สามารถจะบรรยาย/ถอดความ ออกมาได้ในรูปของทฤษฎี การแก้ไขปัญหา คู่มือ และฐานข้อมูล (ทุกคนสามารถเข้าถึง/ซื้อได้)

3.4 TUNA Model

          ดร.ประพนธ์  ผาสุกยืด ได้มีแนวคิดของ TUNA Model (Thai –UNAids Model) เป็นการมองประเด็นของการจัดการความรู้อย่างง่าย ๆ โดยแบ่งได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

http://aineestudy3.blogspot.com

          1. หัวปลา (Knowledge Vision- KV)  เป็นส่วนที่ต้องตอบให้ได้ว่าทำการจัดการความรู้ไปเพื่ออะไร หมายถึง ส่วนที่เป็นเป้าหมาย วิสัยทัศน์ หรือทิศทางของการจัดการความรู้ เป้าหมายหลักของการดำเนินการจัดการความรู้ สะท้อนวิสัยทัศน์ความรู้ หรือหัวใจของความรู้ เพื่อการบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กร ส่วนที่เป็นเป้าหมาย วิสัยทัศน์ หรือทิศทางของการจัดการความรู้ โดยก่อนที่จะทำจัดการความรู้ ต้องตอบให้ได้ว่า “เราจะทำ KM ไปเพื่ออะไร” โดย “หัวปลา” นี้จะต้องเป็นของ “คุณกิจ” หรือ ผู้ดำเนินกิจกรรม KM ทั้งหมด โดยมี “คุณเอื้อ” และ “คุณอำนวย” คอยช่วยเหลือ บุคคลที่มีความสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดหัวปลาที่ชัดเจน คือ “คุณเอื้อ (ระบบ)” ซึ่งมีหลัก 3 ร่วม ในการตั้งหัวปลา คือ ร่วมคุณกิจได้ ร่วมความสนใจ และร่วมเป้าหมายเดียวกัน

          2. ตัวปลา (Knowledge Sharing-KS) เป็นส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หมายถึง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแบ่งปันความรู้ บุคคลสำคัญในการส่งเสริมให้เกิด “ตัวปลา” ที่ทรงพลังคือ “คุณอำนวย” ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้ “คุณกิจ” มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเฉพาะ tacit ความรู้ที่ซ่อนเร้นที่อยู่ในตัว “คุณกิจ” พร้อมอำนวยให้เกิดบรรยากาศในการเรียนรู้แบบเป็นทีม ซึ่ง วัตถุประสงค์หลัก ในการทำวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ ให้เกิดการหมุนเวียนความรู้ ยกระดับความรู้และเกิดนวัตกรรม โดยตัวของเขาเอง

          3. หางปลา (Knowledge Assets-KA) เป็นส่วนของ “คลังความรู้” หรือ “ขุมความรู้” ที่ได้จากการเก็บสะสมเกร็ดความรู้ หมายถึง ขุมความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้สกัดขุมความรู้ ออกมาจากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และบันทึกไว้ใช้งานต่อ คือ “คุณกิจ” โดยที่การจดบันทึกขุมความรู้ อาจมี “คุณลิขิต” Note Taker เก็บสะสมเกร็ดความรู้ ที่ได้จากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ตัวปลา” ซึ่งอาจเก็บส่วนของ “หางปลา” ด้วยวิธีต่างๆ

3.5 Iceberg Model

          แนวคิดเรื่องสมรรถนะ มักมีการอธิบายด้วย “โมเดลภูเขาน้ำแข็ง” (Iceberg Model)  ดังภาพ ซึ่งอธิบายว่า ความแตกต่างระหว่างบุคคลเปรียบเทียบได้กับภูเขาน้ำแข็ง โดยมีส่วนที่เห็นได้ง่าย และพัฒนาได้ง่ายคือ ส่วนที่ลอยอยู่เหนือน้ำ นั่นคือองค์ความรู้ และทักษะต่างๆ ที่บุคคลมีอยู่ และส่วนใหญ่ที่มองเห็นได้ยากจะอยู่ใต้ผิวน้ำ ได้แก่ แรงจูงใจ อุปนิสัย ภาพลักษณ์ภายใน และบทบาทที่แสดงออกต่อสังคม ส่วนที่อยู่ใต้น้ำนี้มีผลต่อพฤติกรรมในการทำงานของบุคคลอย่างมาก และเป็นส่วนที่พัฒนาได้ยาก  ซึ่งอาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า ความรู้ ทักษะ/ความสามารถ (ส่วนที่อยู่เหนือน้ำ) และคุณลักษณะอื่นๆ ของบุคคล (ส่วนที่อยู่ใต้น้ำ) ทำให้บุคคลมีสมรรถนะ (พฤติกรรมในการทำงาน) ในรูปแบบต่างๆ และสมรรถนะต่างๆ มีความสัมพันธ์กับผลงานของบุคคล

          Competency = KSA+O

          K: knowledge (ความรู้) 

          S: skill (ทักษะ) 

          A: attitude (ทัศนคติ)

          O: other องค์ประกอบอื่นๆ เช่น แรงผลักดัน (Drive) แรงจูงใจ

https://www.pinterest.at/

          Competency จัดเป็นพื้นฐานในกระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การคัดเลือก การสรรหา การประเมิน การบริหารจัดการในเรื่องของความก้าวหน้าหรือการพัฒนา ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกับพื้นฐานเดียวกัน โดยศักยภาพและคุณลักษณะของบุคคลที่เราต้องการสร้างและพัฒนาในองค์กร ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับเป้าหมายของผลการดำเนินงาน วัฒนธรรม วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ขององค์กร

          ประเภทของสมรรถนะ

          สมรรถนะสามารถจำแนกเป็นกลุ่มๆ ได้หลายวิธี แต่วิธีที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อองค์การของรัฐ คือ การแยกสมรรถนะออกเป็น 2 ประเภท คือ

                1. สมรรถนะหลัก (Core Competency) เป็นสมรรถนะที่ทุกคนในองค์การต้องมีเพื่อที่จะทำให้องค์การสามารถดำเนินงานได้สำเร็จลุล่วงตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย แผนงาน และโครงการต่างๆ ขององค์การ สมรรถนะหลักนี้จะผูกโยงเข้ากับสมรรถนะหลักขององค์การเอง องค์การแต่ละแห่งจะมีบุคลิกลักษณะที่เป็นเสมือนแก่นหรือหลักขององค์การ สมรรถนะหลักขององค์การจะถ่ายทอดลงไปที่บุคลากร และกลายเป็นสมรรถนะที่บุคลากรทุกคนในองค์การต้องมี

          ตัวอย่างสมรรถนะหลักของข้าราชการพลเรือนไทย ประกอบด้วย 5 สมรรถนะ คือ

                    1. การมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Achievement Motivation)

                    2. บริการที่ดี (Service Mind)

                    3. การสั่งสมความเชี่ยวชาญในงานอาชีพ (Expertise)

                    4. จริยธรรม (Integrity)

                    5. ความร่วมแรงร่วมใจ (Teamwork)

                2. สมรรถนะเฉพาะลักษณะงาน (Functional Competency) เป็นสมรรถนะที่บุคคลที่ทำงานในสายงานนั้นต้องมีเพิ่มเติมจากสมรรถนะหลัก เช่น ฝ่ายกฎหมายต้องมีสมรรถนะด้านความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย และมีทักษะในการตีความกฎหมาย เป็นต้น

3.6 The 7 Habits

          สตีเวน อาร์ โควีย์ (Stephen R. Covey) เจ้าของแนวคิด อุปนิสัย 7 ประการของผู้มีประสิทธิผลสูง (The 7 Habits of Highly Effective People) ได้กล่าวว่าผู้นำนั้น เป็นมากกว่าคำเรียกเฉพาะตำแหน่งที่โก้หรู เท่านั้น แต่องค์กรจะประสบผลสำเร็จได้ต้องมีผู้นำในทุกระดับ นั่นคือ พนักงานทุกคนขององค์กรต้องมีความเป็นผู้นำ โดยบ่มเพาะอุปนิสัยทางบวกให้เกิดขึ้นจนนำองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้

          1. ต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นทำก่อน (Be Proactive)

          การที่เราเองต้องเป็นผู้ริเริ่ม กำหนด หรือ เลือก สิ่งต่าง ๆ ที่เราจะทำเอง เนื่องจากในการดำเนินชีวิตทุกวันของเรา จะมี “สิ่งเร้า” เข้ามากระทบเราอยู่เสมอ คนที่ Proactive จะมีสติในการคิดในการเลือกทางเลือกที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด และพร้อมที่จะรับผลกระทบจากการตัดสินใจของตนเอง เพราะในการเลือกของตนเองได้มีการคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นแล้ว แต่คนที่ Reactive จะตอบสนองต่อสิ่งเร้า หรือเรื่องที่มากระทบโดยไม่ได้คิดให้ดี และเมื่อทำไปแล้วก็เกิดความทุกข์ใจ รวมทั้งเมื่อเกิดผลกระทบ ก็โทษสิ่งต่าง ๆ ว่าทำให้ตนเองต้องเป็นเช่นนี้

          2. เริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ (Begin with the End in Mind)

          เริ่มต้นด้วยการมองเห็นจุดมุ่งหมายสุดท้ายในชีวิตของเรา เพื่อใช้เป็นกรอบอ้างอิง ตรวจสอบทุกอย่างที่ผ่านมาว่าสอดคล้องกับสิ่งที่กำหนดไว้ในใจหรือไม่ โดยการกำหนดเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน และพยายามทำทุกอย่างไม่ให้ขัดแย้งกับสิ่งที่เรากำหนดอุปนิสัยนี้มีพื้นฐานอยู่บนหลักการของ “ความเป็นผู้นำ” ซึ่งต่างจากการเป็น “ผู้จัดการ” การจัดการเหมือนความสามารถในการไต่บันไดแห่งความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วและมี ประสิทธิผล แต่ความเป็นผู้นำ เหมือนกับการพิจารณาว่าบันไดอันไหนพิงอยู่บนกำแพงที่ถูกต้อง บ่อยครั้งที่เราทำงานหนักเพื่อไต่บันไดแห่งความสำเร็จแต่กลับพบว่าบันไดนั้น พิงผิดที่ วิธีที่มีประสิทธิผลมากที่สุดในการเริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจก็คือ การสร้างคำปฏิญญาส่วนตัว (Personal Mission Statement)

          3. ทำตามลำดับความสำคัญ (Put First Things First.)

          ทำสิ่งที่สำคัญก่อน หลักการบริหารส่วนบุคคล ขั้นนี้เป็นการเริ่มลงมือปฏิบัติโดยเริ่มต้นจากเรื่องที่สำคัญก่อน จงยึดหลักว่า ชีวิตนั้นสั้น ดังนั้นจึงควรทำสิ่งที่สำคัญในชีวิตก่อน เราจะทำอย่างนั้นได้ต้องมีการบริหารเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่ต้องทำคือเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน หากทำได้ก็จะสามารถพึ่งตนเองได้

          4. คิดแบบ ชนะ/ชนะ (Think Win-Win)

          คิดแบบ ชนะ/ชนะ นี้มีแนวคิดว่า ถ้าครอบครัวได้ เราก็ได้ด้วย ถ้าองค์กรได้ เราก็ได้ด้วย แนวคิดเช่นนี้ทำให้เกิดความร่วมมือกัน หากเป็นตรงกันข้ามกับความคิดแบบตนเองชนะ คนอื่นแพ้ ก็จะเกิดการแข่งขันกัน แนวคิด ชนะ/ชนะ วางอยู่บนพื้นฐานของกรอบความคิดที่ว่า ยังมีที่ว่างสำหรับทุกคน ความสำเร็จของคนคนหนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำให้อีกคนหนึ่งล้มเหลวเสมอ วิธีที่ 4 นี้ ต้องอาศัยความเป็นผู้นำอย่างมาก ผู้นำที่ดีนั้นต้องมองการณ์ไกล มีความคิดริเริ่ม กล้าตัดสินใจและมั่นคง นำทางได้ มีภูมิปัญญาและอำนาจซึ่งมาจากการเป็นคนที่เคร่งครัดในระเบียบวินัย

          5. เข้าใจคนอื่นก่อนจะให้คนอื่นเข้าใจเรา (Seek First to Understand, Then to be understood.)

          เข้าใจผู้อื่นก่อน ก่อนให้ผู้อื่นเข้าใจเรา หลักการผู้นำระหว่างบุคคล ถ้าไม่คิดแบบ ชนะ/ชนะ คนเราจะไม่ยอมเข้าใจคนอื่นก่อน การจะเข้าใจคนอื่นก่อนได้ ต้องฟังให้มาก ๆ เพื่อเรียนรู้และเข้าใจผู้ที่เราฟัง แต่ถ้าไม่ฟังและพูดอย่างเดียว ก็จะไม่เข้าใจ เมื่อเข้าใจเขาแล้ว เขาจะเข้าใจเราเช่นกัน

          6. ประสานพลังสร้างสิ่งใหม่ (Synergize)

          หลักการร่วมมืออย่างสร้างสรรค์เมื่อเข้าใจผู้อื่นแล้วจะเห็นความแตกต่างระหว่างบุคคล แล้วจะให้คุณค่าในความแตกต่างเหล่านั้น ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการใช้ความแตกต่างนั้นมาผนึกพลัง ประสานความต่างได้ เมื่อเกิดความร่วมมือกัน เมื่อนั้นเราจะมีชัยชนะ หากเราสามารถพึ่งพากันได้

          7. ลับเลื่อยให้คมอยู่เสมอ (Sharpen the saw)

          การต้องหมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เปรียบดุจคนตัดต้นไม้ พอคนเข้าไปถามว่าทำอะไรอยู่ก็ตอบว่า ตัดต้นไม้ คนถามต่อว่า คุณลับเลื่อยบ้างหรือเปล่า กลับตอบว่า ผมเร่งตัดต้นไม้ ทุกวันจนเหนื่อยแทบตายอยู่แล้ว ไม่มีเวลาไปลับเลื่อยหรอก เปรียบดุจพวกเราที่ทำงานหนักกันทุกวัน แต่ต้องหาเวลาไปพัฒนาตนเองด้วย ซึ่งจะทำให้เราสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น

3.7 PMQA

          PMQA คือการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (Public Sector Management Quality Award: PMQA) เป็นกรอบการบริหารจัดการองค์การ ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ส่วนราชการนำไปใช้ในการประเมินองค์การด้วยตนเองที่ครอบคลุมภาพรวมในทุกมิติ เพื่อยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นให้หน่วยงานราชการปรับปรุงองค์การอย่างรอบด้านและอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทั้ง 7 ด้าน คือ

          1. การนำองค์การเป็นการประเมินการดำเนินการของผู้บริหารในเรื่องวิสัยทัศน์ เป้าประสงค์ ค่านิยม ความคาดหวังในผลการดำเนินการ การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การกระจายอำนาจการตัดสินใจ การสร้างนวัตกรรมและการเรียนรู้ในส่วนราชการ การกำกับดูแลตนเองที่ดี และดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน

          2. การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์เป็นการประเมินวิธีการกำหนดและถ่ายทอดประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ กลยุทธ์หลัก และแผนปฏิบัติราชการ เพื่อนำไปปฏิบัติและวัดผลความก้าวหน้าของการดำเนินการ

          3. การให้ความสำคัญกับผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นการประเมินการกำหนดความต้องการ ความคาดหวัง และความนิยมชมชอบ การสร้างความสัมพันธ์ และการกำหนดปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้รับบริการและ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีความพึงพอใจ      

          4. การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ เป็นการประเมินการเลือก รวบรวม วิเคราะห์ จัดการ และปรับปรุงข้อมูลและสารสนเทศ และการจัดการความรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการปรับปรุงผลการดำเนินการขององค์การ

          5. การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล เป็นการประเมินระบบงาน ระบบการเรียนรู้ การสร้างความผาสุกและแรงจูงใจของบุคลากร เพื่อให้บุคลากรพัฒนาตนเองและใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ตามทิศทางองค์การ

          6. การจัดการกระบวนการ เป็นการประเมินการจัดการกระบวนการ การให้บริการ และกระบวนการอื่นที่ช่วยสร้างคุณค่าแก่ผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกระบวนการสนับสนุน เพื่อให้บรรลุพันธกิจขององค์การ

          7. ผลลัพธ์การดำเนินการ เป็นการประเมินผลการดำเนินการและแนวโน้มของส่วนราชการในมิติด้านประสิทธิผล มิติด้านคุณภาพการให้บริการ มิติด้านประสิทธิภาพ และมิติด้านการพัฒนาองค์การ

3.8 Hollywood model

          Hollywood Model คือการดึงคนที่มีความชำนาญในทักษะที่แตกต่างกันมาทำงานร่วมกันเพื่อให้งานสำเร็จ และเมื่อสิ้นสุดงานก็แยกย้ายกันไปทำงานตามความชำนาญกับทีมงานและโครงการอื่นๆ ต่อไป ทำให้การทำงานมีความยืดหยุ่นเป็นการทำงานเพื่อพัฒนาวิชาชีพ ประสบการณ์ มากกว่าการยึดติดกับโครงสร้างของทีมงาน

          การทำงานแบบ Hollywood Model มีลักษณะดังนี้

          1. สร้างทีมงานโดยการระดมบุคคลที่มีความสามารถแต่ละด้านมาร่วมกันทำงาน

          2. มีความหลากหลายในการจ้างงาน ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องเปิดจ้างเอง แต่ใช้บริษัทจัดหางานจ้างคนหรือองค์กรที่เหมาะสมมาทำงานได้

          3. จ้างเหมาทำงานบางส่วน หรือทั้งหมด

          4. ไม่เป็นทีมงานที่ถาวร เมื่อจบโครงการ จะแยกย้ายออกไป และมีโครงสร้างทีมที่ไม่ตายตัว

          5. ใช้เครือข่ายในการทำงาน โดยจ้างให้เหมาะสมกับส่วนต่างๆ ของงาน

          6. จัดทีมงานที่เน้นผลงาน (RBM) โดยระดมคนทำงานกลุ่มหนึ่งให้สำเร็จในระยะเวลาหนึ่ง

          Hollywood model จะประสบความสำเร็จได้ต้องปัจจัยสำคัญ 3 ข้อ

          1. แต่ละคนจะต้องมีความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้านที่ตนเองถนัด

          2. มีความคิดเห็นที่ตรงกัน ยอมรับฟังข้อเสนอของคนอื่น

          3. ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

3.9 I AM READY

          คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้กำหนดกรอบการปรับเปลี่ยน
กระบวนทัศน์ วัฒนธรรม ค่านิยมของระบบราชการและพัฒนาข้าราชการ โดยมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์คือ “I AM READY” หมายถึง

          1. Integrity = ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี

          2. Activeness = ขยันตั้งใจทำงานเชิงรุก

          3. Morality = มีศีลธรรม คุณธรรม

          4. Relevancy = รู้ทันโลก, ปรับตัวทันโลก, ตรงกับสังคม

          5. Efficiency = มุ่งเน้นประสิทธิภาพ

          6. Accountability = รับผิดชอบต่อผลงานและสังคม

          7. Democracy = มีใจและการกระทำเป็นประชาธิปไตย, มีส่วนร่วมและโปร่งใส

          8. Yield = มีผลงาน มุ่งเน้นผลงาน

          ดังนั้นข้าราชการยุคใหม่ควรมีคุณลักษณะย่อๆ ว่า “I AM READY”

          1. Integrity คือ ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี ข้าราชการจะต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพของตน มีความเสียสละ อุทิศตนในการทำงาน มุ่งประโยชน์ส่วนรวม และที่สำคัญต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่การงาน ไม่ทุจริตคอรัปชั่น

          2. Activeness คือ ขยันตั้งใจทำงานหรือเรียกว่าการปฏิบัติงานเชิงรุก ซึ่งข้าราชการจะต้องปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถและเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา องค์ความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้งานประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังต้องมีทัศนคติเชิงบวก และความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งมีกุศโลบายในการทำงาน

          3. Morality คือ มีใจเป็นธรรม มีคุณธรรม ปฏิบัติราชการด้วยใจบริสุทธิ์และกุศลเจตนา โดยข้าราชการจะต้องไม่เลือกปฏิบัติยึดหลักความเป็นธรรมและเสมอภาค รวมทั้ง คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

          4. Relevancy คือ มีการเรียนรู้และปรับตัวให้ทันโลกทันปัญหาและสิ่งท้าทายต่าง ๆ โดยจะต้องมีการพัฒนาข้าราชการอย่างต่อเนื่องให้มีความเป็นเลิศในวิชาชีพ มีการนำความรู้และวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน หรือในความหมายโดยรวมก็คือ การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น

          5. Efficiency คือ การทำงานที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพ ซึ่งแสดงให้เห็น จากการจัดการภายในที่ดีของหน่วยงานทำให้ผลผลิตที่ได้มีมาตรฐาน ประหยัดทรัพยากรและเกิดความคุ้มค่า

          6. Accountability คือ การมีความรับผิดชอบต่อผลสำเร็จของงานและต่อสาธารณะ ข้าราชการจะต้องตระหนักในความรับผิดชอบของตน พร้อมเสมอที่จะรับการตรวจสอบ ทั้งจากภายในและภายนอกหน่วยงาน โดยหน่วยงานจะต้องมีระบบการให้รางวัลและลงโทษที่มีประสิทธิภาพ

          7. Democracy คือ มีใจและการกระทำที่เป็นประชาธิปไตย มีส่วนร่วม โปร่งใส โดยจะต้องสร้างเครือข่ายในการทำงาน ประสานสัมพันธ์กับทุกกลุ่มให้เข้ามามีส่วนร่วมในการ
วางแผน การตัดสินใจในการปฏิบัติงาน

          8. Yield คือ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และปฏิบัติงานโดยเน้นผลสัมฤทธิ์เป็นสำคัญ โดยจะต้องตั้งเป้าหมายของการทำงานแล้วปฏิบัติให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมทั้งสามารถวัดและประเมินผลงานได้

3.10 หลักบริหาร 4M

          ในการดำเนินธุรกิจใดๆ ก็ตาม ต้องอาศัยหลายปัจจัยประกอบกัน เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมในการประกอบธุรกิจ ซึ่งปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจมี 4 ประเภท หรือที่เรียกว่า 4M ได้แก่

          1. คน (Man) ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะธุรกิจจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความคิดของคน มีคนเป็นผู้ดำเนินการหรือจัดการทำให้เกิดกิจกรรมทางธุรกิจหลายรูปแบบ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจนั้นๆ

          2. เงิน (Money) เป็นปัจจัยในการดำเนินธุรกิจอีกชนิดหนึ่งที่ต้องนำมาประกอบเพื่อให้เกิดธุรกิจ ซึ่งแต่ละธุรกิจจะใช้ปริมาณเงินที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่ว่าธุรกิจนั้นมีขนาดเล็กหรือใหญ่

          3. วัสดุหรือวัตถุดิบ (Material) ซึ่งในการผลิตสินค้า ต้องอาศัยวัตถุดิบในการผลิต ดังนั้น ผู้บริหารต้องรู้จัก บริหารวัตถุดิบให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำ และทำให้ธุรกิจได้ผลกำไรสูงสุด

          4. วิธีปฏิบัติงาน (Method) ซึ่งการปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ ควรมีการวางแผน และควบคุมให้การปฏิบัติงานนั้นมีประสิทธิภาพ

3.11 POSDCoRB Model

          หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสหรัฐได้รวบรวมนักวิชาการเพื่อประเมินข้อผิดพลาดในการบริหารจัดการในกองทัพที่ผ่านมา เพื่อใช้ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลูเธอร์ กูลิค และ ลินดัล เออร์วิกค์ ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิชาการที่ได้มารวมตัวกันครั้งนั้น ในปี ค.ศ. 1937 ลูเธอร์ กูลิค และ ลินดัล เออร์วิหค์ เสนอแนวคิด ภาระหน้าที่ที่สำคัญของนักบริหาร POSDCoRB
ในบทความ Paper on the Science of Administration: Notes on the Theory of Organization”

POSDCoRB จึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้บริหาร

          POSDCoRB คือ หลักในการบริหารจัดการองค์กรที่ใช้กันทั้งในภาครัฐ และเอกชน ที่ผู้มีอำนาจบริหารมีหน้าที่ และบทบาทการบริหารอยู่ 7 ประการ คือ

http://khanittaaumnakmanee.blogspot.com

          1. P-Planning หมายถึง การวางแผน ได้แก่ การจัดวางโครงการและแผนงานต่างๆ ขึ้นมาไว้ล่วงหน้า

          2. O-Organizing หมายถึง การจัดองค์การ ได้แก่ การแบ่งงาน การกำหนดส่วนงาน โครงสร้างขององค์การ การกำหนดตำแหน่งงานต่างๆ พร้อมกับอำนาจหน้าที่

          3. S-Staffing หมายถึง การจัดการเกี่ยวกับตัวบุคคลในองค์การ นับตั้งแต่ การจัดอัตรากำลัง การสรรหา การคัดเลือก การบรรจุแต่งตั้งบุคคล การเลื่อนขั้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง การโอนย้าย การพัฒนาบุคคลในองค์การเรื่อยไปจนกระทั่งการให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง

          4. D-Directing หมายถึง การอำนวยงาน ได้แก่การทำหน้าที่ในการตัดสินใจ วินิจฉัยสั่งการ การออกคำสั่ง มอบหมายภารกิจการงานไปให้ผู้ใต้บังคับบัญชา หลังจากนั้นต้องใช้ภาวะของการเป็นผู้นำในการกระตุ้นจูงใจคนให้ยอมรับในผู้บริหาร

          5. Co-Coordinating หมายถึง การประสานงาน ได้แก่ การทำหน้าที่ในการประสานกิจกรรมต่างๆ ที่ได้มีการแบ่งแยกออกไปเป็นส่วนงานย่อยๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถทำงานประสานสอดคล้องกัน และมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

          6. R-Reporting หมายถึง การรายงาน ได้แก่การทำหน้าที่ในการรับฟังรายงานผลการปฏิบัติงานของบุคคลและหน่วยงานที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาได้รายงานมา การรายงานถือเป็นมาตรการในการตรวจสอบและควบคุมงานด้วย

          7. B-Budgeting หมายถึง การงบประมาณ ได้แก่ หน้าที่ที่เกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณ การจัดทำบัญชีการใช้จ่ายเงินและการตรวจสอบควบคุมด้านการเงิน การบัญชีของหน่วยงานนั่นเอง

ข้อดีข้อเสียของ POSDCoRB

          ข้อดี

          1. องค์กรมีโอกาสประสบผลสำเร็จบรรลุเป้าหมาย มีสายบังคับบัญชาเดียว

          2. สมาชิกองค์กรมีความเข้าใจวัตถุประสงค์องค์กร และแบ่งสายงานชัดเจน ไม่สับสน

          3. ในหน่วยงานเดียวกัน มีความเข้มแข็ง เพราะเลือกสายอาชีพเดียวกันมาร่วมกันทำงาน

          4. ใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า ถูกที่ถูกงาน

          5. การประสานงานระหว่างหน่วยงานมีความสะดวก

          6. จัดเตรียมงบประมาณสนับสนุนแต่ละส่วนได้อย่างเหมาะสม

          ข้อเสีย

          1. เมื่อมีสายงานบังคับบัญชาที่ชัดเจน บางหน่วยงานอาจเลี่ยงปฏิบัติงานจนกว่าผู้บริการจะสั่งการลงมาโดยตรง

          2. อุปกรณ์หรือเครื่องมือบางชนิดที่อยู่นอกเหนือหน่วยงานตนเอง อาจต้องรอจนกว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบมาเพื่อดำเนินงานให้

          3. ทุกคนล้วนอยากอยู่ในหน่วยงานบริหารหลัก ทำงานใกล้ชิดผู้บริหาร อาจเกิดความขัดแย้ง

3.12 SWOT Analysis

          การวิเคราะห์ SWOT เป็นเครื่องมือในการประเมินสถานการณ์ ซึ่งช่วยให้ผู้บริหารกำหนดจุดแข็งและจุดอ่อนจากสภาพแวดล้อมภายใน โอกาสและอุปสรรคจากสภาพแวดล้อมภายนอก ตลอดจนผลกระทบต่อการทำงานขององค์กร SWOT มาจากตัวย่อภาษาอังกฤษ 4 ตัว ดังนี้

          S มาจาก Strengths หมายถึง จุดเด่นหรือจุดแข็ง ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายใน ความสามารถและสถานการณ์ภายในองค์กรที่เป็นบวก องค์กรนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ หรือหมายถึง การดำเนินงานภายในที่องค์กรทำได้ดี เป็นข้อดีที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายในบริษัท เช่น จุดแข็งด้านการเงิน จุดแข็งด้านการผลิต จุดแข็งด้านทรัพยากรบุคคล องค์กรจะต้องใช้ประโยชน์จากจุดแข็งในการกำหนดกลยุทธ์การตลาด

          W มาจาก Weaknesses หมายถึง จุดด้อยหรือจุดอ่อน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายใน สถานการณ์ภายในองค์กรที่เป็นลบและด้อยความสามารถ ซึ่งองค์กรไม่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ หรือหมายถึง การดำเนินงานภายในที่องค์กรทำได้ไม่ดีเป็นปัญหาหรือข้อบกพร่องที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายในต่างๆ ของบริษัท ซึ่งบริษัทจะต้องหาวิธีในการแก้ปัญหานั้น

          O มาจาก Opportunities หมายถึง โอกาส ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก ปัจจัยและสถานการณ์ภายนอกที่เอื้ออำนวยให้การทำงานขององค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ หรือหมายถึง สภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการขององค์กร เป็นผลจากการที่สภาพแวดล้อมภายนอกของบริษัทเอื้อประโยชน์หรือส่งเสริมการดำเนินงานขององค์กร โอกาสแตกต่างจากจุดแข็งตรงที่โอกาสนั้นเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมภายนอก แต่จุดแข็งนั้นเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมภายใน นักการตลาดที่ดีจะต้องเสาะแสวงหาโอกาสอยู่เสมอ และใช้ประโยชน์จากโอกาสนั้น

          T มาจาก Threats หมายถึง อุปสรรค ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอก ปัจจัยและสถานการณ์ภายนอกที่ขัดขวางการทำงานขององค์กรไม่ให้บรรลุวัตถุประสงค์ หรือหมายถึงสภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นปัญหาต่อองค์กร บางครั้งการจำแนกโอกาสและอุปสรรคเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะทั้งสองสิ่งนี้สามารถเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้สถานการณ์ที่เคยเป็นโอกาสกลับกลายเป็นอุปสรรคได้ และในทางกลับกัน อุปสรรคอาจกลับกลายเป็นโอกาสได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้องค์กรมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของตนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์แวดล้อม เป็นข้อจำกัดที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งธุรกิจจำเป็นต้องปรับ
กลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องและพยายามขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ประโยชน์ของ SWOT

          1. นำ SWOT ไปจัดทำแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาองค์กร

          2. การทำ SWOT จะช่วยให้ไหวตัวทันสถานการณ์ และมีการเตรียมความพร้อมกับการปรับเปลี่ยนของสภาพแวดล้อม บางครั้งเมื่อโอกาสมาถึง องค์กรจะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ทันและเต็มที่ หรือ ถ้าเรารู้ว่าแนวโน้มจะมีปัญหาอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นกับองค์กร เราจะได้มีการ
เตรียมตัวรับมือ ผ่อนสถานการณ์ที่เลวร้ายให้บรรเทาลงได้

วิธีการทำ SWOT Analysis

          การทำ SWOT นั้นทีมงานต้องมีความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของตัวองค์กรเอง ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลคู่แข่ง ข่าวสารทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศมาเป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์ อย่าลืมว่า เราต้องวิเคราะห์โดยอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นจริงไม่ใช่จินตนาการ

          SWOT ต้องทำให้เป็นไปในทางเดียวกันกับ วิสัยทัศน์ พันธกิจ หรือ เป้าหมาย (Vision, Mission และ Objective) หรือเข้ากับทรัพยากรในองค์กรและความสามารถที่เข้ากับสิ่งที่องค์กรถนัด แล้วนำ SWOT มาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวางแผนกลยุทธ์องค์กร โดยเขียน รายการออกมาให้น้อยที่สุด โดยดูข้อมูลจาก Strengths, Weaknesses, Opportunities และ Threats

          นอกจากการวิเคราะห์ SWOT ทีละด้านแล้ว ยังมีวิธีการ SWOT อีกแบบที่น่าสนใจ บางครั้งเราอาจจับคู่ทำการวิเคราะห์แบบนี้ได้ เรียกว่า TOWS Matrix

          SO วิเคราะห์พร้อมกันเลยว่า เรามีจุดแข็งอะไรและมีโอกาสอะไรที่สนับสนุนจุดแข็งนั้น เช่น ในธุรกิจการขนส่ง พนักงานของเรามีความชำนาญเส้นทาง สามารถลดระยะทางการขนส่งได้และประจวบกับราคาน้ำมันลดลงทำให้โอกาสทำกำไรมีสูงขึ้น

          ST วิเคราะห์ว่าเรามีอุปสรรคอะไรบ้าง และเราจะสามารถใช้จุดแข็งแก้ไขอุปสรรคนั้นได้อย่างไร เช่น ในธุรกิจท่องเที่ยว ในช่วงหน้ามรสุมนักท่องเที่ยวจะลดลง โรงแรมเรามีจุดแข็งในด้านการจัดกิจกรรมเสริมและสถานที่อบรมสัมมนา อาจจะดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการโรงแรมได้อย่างสม่ำเสมอ

          WO วิเคราะห์ว่า มีสภาพแวดล้อมภายนอกอะไรบ้างที่เอื้อโอกาสให้เราแล้ว แต่ถ้าเรายังมีจุดอ่อน อะไรที่จะทำให้เราฉกฉวยโอกาสนั้นไม่ได้

          WT วิเคราะห์ว่า มีสภาพแวดล้อมภายนอกอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคกับเราและยังกระทบกับจุดอ่อนของเราโดยตรงด้วย  

3.13 Benchmarking

          Benchmark หมายถึง Best-in-class คือเก่งที่สุดหรือดีที่สุดระดับโลกอันจะเป็นต้นแบบที่จะใช้วัดเพื่อเปรียบเทียบความสามารถของตนเอง ส่วน Benchmarking คือวิธีการในการวัดและเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ บริการ และวิธีการปฏิบัติกับองค์กรที่สามารถทำได้ดีกว่า เพื่อนำผลการเปรียบเทียบมาใช้ในการปรับปรุงองค์กรของตนเพื่อมุ่งความเป็นเลิศทางธุรกิจ และ Best Practices คือวิธีการปฏิบัติที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จหรืออาจกล่าวได้ว่าคือวิธีการที่ทำให้องค์กรสู่ความเป็นเลิศ กล่าวคือกระบวนการทำ Benchmarking นำไปสู่การค้นพบผู้ที่เป็น Benchmark หรือผู้ปฏิบัติได้ดีที่สุดว่าเป็นใคร และผู้ที่เป็น Benchmark สามารถตอบคำถามเราได้ว่า Best Practices หรือวิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุดที่นำไปสู่ความเป็นเลิศนั้นเขาทำได้อย่างไร

          ประโยชน์ของการทำ Benchmarking เนื่องจาก Benchmarking เป็นการเน้นความสำคัญไปยังกระบวนการ (Process) ที่สำคัญๆ ในทางธุรกิจของแต่ละองค์กร Benchmark จะมีความสำคัญต่อองค์กรธุรกิจ 4 ประการ คือ

          1. การ Benchmark ทำให้ธุรกิจรู้จักตนเองจากการวัดผลการดำเนินงาน เปรียบเทียบกับองค์กรอื่นที่มีการดำเนินงานที่ดี (ที่สุด)

          2. การ Benchmark เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมที่สามารถวัดและตรวจสอบได้ มิใช่แค่เพียงนึกหรือคิดเอาเองเท่านั้น

          3. การ Benchmark เป็นการสั่งสมความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์  ในการแก้ปัญหาขององค์กรในอนาคต

          4. การ Benchmark มิใช่เทคนิคการปฏิบัติการเพื่อสร้างคุณภาพ ประสิทธิภาพและผลิตภาพในการผลิตและบริการเท่านั้น แต่จะเป็นเครื่องมือในระดับกลยุทธ์ที่จะพัฒนาศักยภาพ แสดงความสามารถในการแข่งขันขององค์กร

          กระบวนการทำ Benchmarking การทำ Benchmark เป็นงานที่ไม่ง่ายนักเนื่องจากจะต้องเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลต่างๆ มีความซับซ้อน จึงต้องดำเนินงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง มีนักวิชาการได้กล่าวถึงวิธีการและขั้นตอนการทำ Benchmark ตามความคิดของตนเอง เช่น Robert Camp ได้กล่าวถึงขั้นตอนในการ Benchmark ว่า ประกอบไปด้วยช่วงเวลา (Phase) ที่สำคัญ 5 ระยะ ได้แก่

          ระยะที่ 1 การวางแผน (Planning) เป็นการกำหนดขอบเขตพื้นที่ในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นการกำหนดขอบเขต วางแผนและระดับความสำคัญในการดำเนินงาน

          ระยะที่ 2 การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นการสร้างความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน หรือกระบวนการขององค์กรและธุรกิจที่นำมาเปรียบเทียบ

          ระยะที่ 3 การบูรณาการ (Integration) เป็นการกำหนดเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ซึ่งจะสอดคล้องกับกลยุทธ์และการวางแผนขององค์กร

          ระยะที่ 4 การปฏิบัติ (Action) เป็นการแปลงแนวคิดและผลการศึกษาให้เป็นการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการพัฒนาตามแนวทาง Benchmark

          ระยะที่ 5 การเติบโตเต็มที่ (Maturity) เป็นการนำ Benchmark เข้าไปในทุกกระบวนการ ซึ่งจะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องอันสืบเนื่องมาจากที่ธุรกิจก้าวขึ้นเป็นผู้นำแล้ว

3.14 Balance Scorecard (BSC)

          Balanced  Scorecard (BSC) คือ ระบบหรือกระบวนในการบริหารงานชนิดหนึ่งที่อาศัยการกำหนดตัวชี้วัด (KPI)  เป็นกลไกสำคัญ  Kaplan และ Norton  ได้ให้นิยามล่าสุดของ Balanced  Scorecard ไว้ว่า “เป็นเครื่องมือทางด้านการจัดการที่ช่วยในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ (Strategic  Implementation) โดยอาศัยการวัดหรือประเมิน (Measurement)  ที่จะช่วยทำให้องค์กรเกิดความสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  และมุ่งเน้นในสิ่งที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร (Alignment  and  focused)” 

          Balanced  Scorecard  ประกอบด้วยมุมมอง (Perspectives) 4 ด้าน  คือ มุมมองด้านการเงิน (Financial  Perspective)  มุมมองด้านลูกค้า (Customer  Perspective) มุมมองด้านกระบวนการภายใน  (Internal  Process  Perspective)  และมุมมองด้านการเรียนรู้และการพัฒนา  (Learning  and  Growth  Perspective)   มุมมองทุกด้านจะมีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ขององค์กรเป็นศูนย์กลาง ในแต่ละด้านประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ  คือ

          1. วัตถุประสงค์ (Objective) คือสิ่งที่องค์กรมุ่งหวังหรือต้องการที่จะบรรลุในแต่ละด้าน

          2. ตัวชี้วัด (Measures หรือ Key Performance Indicators) คือ ตัวชี้วัดของวัตถุประสงค์ในแต่ละด้าน และตัวชี้วัดเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัดว่าองค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ในแต่ละด้านหรือไม่ 

          3. เป้าหมาย (Target) คือ เป้าหมายหรือตัวเลขที่องค์กรต้องการจะบรรลุในตัวชี้วัดแต่ละประการ

          4. แผนงาน โครงการ หรือ กิจกรรม (Initiatives)  ที่องค์กรจะจัดทำเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดขึ้น โดยในขั้นนี้ยังไม่ใช่แผนปฏิบัติการที่จะทำ แต่เป็นเพียงแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรม เบื้องต้นที่ต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

          นอกจากองค์ประกอบทั้ง 4 แล้ว ในทางปฏิบัติมักจะเพิ่มอีก 1 องค์ประกอบ คือ ข้อมูลในปัจจุบัน (Baseline Data) ของตัวชี้วัดแต่ละตัว การหาข้อมูลในปัจจุบันจะเป็นตัวช่วยในการกำหนดเป้าหมายของตัวชี้วัดแต่ละตัวให้มีความชัดเจนมากขึ้น  

ประโยชน์ที่ได้จากการนำ Balanced Scorecard ไปใช้

          1. ช่วยให้ผลการดำเนินงานขององค์กรดีขึ้น 

          2. ทำให้ทั้งองค์กรมุ่งเน้น และให้ความสำคัญต่อกลยุทธ์ขององค์กร โดยต้องให้เจ้าหน้าที่ทั่วทั้งองค์กรให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ขององค์กรมากขึ้น และเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยในการนำ
กลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ

          3. ช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และวัฒนธรรมขององค์กรโดยอาศัยการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่

          4. ทำให้พนักงานเกิดการรับรู้และเข้าใจว่างานแต่ละอย่างมีที่มาที่ไปอีกทั้งผลของงานตนเองจะส่งผลต่อผลการดำเนินงานของผู้อื่นและขององค์กรอย่างไร 

3.15 Knowledge Management & Learning Organization (KM/LO)

          การจัดการความรู้ (Knowledge Management) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า KM คือ เครื่องมือเพื่อใช้ในการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 3 ประการไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ บรรลุเป้าหมายของงาน บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้  โดยการจัดการให้มีการค้นพบความรู้ ความชำนาญที่แฝงเร้นในตัวคน หาทางนำออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตกแต่งให้ง่ายต่อการใช้สอยและมีประโยชน์เพิ่มขึ้น มีการต่อยอดให้งดงาม และใช้ได้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงและกาลเทศะยิ่งขึ้น มีความรู้ใหม่หรือนวัตกรรมเกิดขึ้นจากการเอาความรู้ที่ไม่เหมือนกันมาเจอกัน

          หลักสำคัญของการจัดการความรู้ คือ กระบวนการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคน ในการดำเนินการจัดการความรู้มีบุคคลหรือคนสำคัญในหลากหลายบทบาทหลากหลายรูปแบบ ที่ต่างคนต่างทำหน้าที่ในบทบาทของตนเองให้ดีที่สุดแต่ต้องมีการทำงานร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาการทำงานที่ดีและเหมาะสมที่สุด เพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างสวยงามกลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และสังคมแห่งการเรียนรู้ในที่สุด

คุณธรรม 8 ประการของการจัดการความรู้

          1. ศีลธรรมพื้นฐาน ศีลธรรมพื้นฐานของสังคมคือการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ศีลธรรมพื้นฐานนี้จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การจัดการความรู้มีพื้นฐานอยู่ที่การให้คุณค่าแก่ความรู้ที่อยู่ในตัวคนทุกคน จึงเป็นรูปธรรมแห่งการปฏิบัติที่เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคน

          2. การไม่ใช้อำนาจ การใช้อำนาจจะไปปิดกั้นกระบวนการตามธรรมชาติ คือ การรับรู้ เรียนรู้ งอกงาม ถักทอเครือข่าย เมื่อใช้อำนาจจะทำให้กระบวนการตามธรรมชาติบิดเบี้ยวเบี่ยงเบนไปจากที่ควรจะเป็น

          3. การฟังอย่างลึก (Deep listening) การนำความรู้ที่แฝงเร้นในตัวออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ต้องมีการคุยที่เน้นการฟังอย่างลึก ไม่ใช้โต้เถียงกันโดยหวังเอาชนะ การฟังอย่างลึกและเงียบ จิตใจสงบ มีสติจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ได้ยินจะทำให้เกิดปัญญา

          4. วิธีการทางบวก คือ เอาความสำเร็จ ความภาคภูมิใจของสิ่งที่เคยทำด้วยดีเป็นตัวตั้ง นำมาเห็นคุณค่าและชื่นชม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอดให้งดงามและมีประโยชน์ยิ่งขึ้น วิธีการทางบวกทำให้มีความปีติ มีกำลังใจ มีความสามัคคี และมีพลังสร้างสรรค์ที่จะเคลื่อนตัวต่อไปในอนาคต

          5. การเจริญธรรมะ 4 ประการ ที่เกื้อหนุนการเรียนรู้ร่วมกัน ปกติมนุษย์เรียนรู้ร่วมกันยากเพราะกิเลส เช่น ความโกรธ ความเกลียด อหังการ การจะเรียนรู้ร่วมกันควรเจริญธรรมะ 4 ประการ ได้แก่ ความเอื้ออาทร ความเปิดเผย ความจริงใจ และความเชื่อถือไว้วางใจกัน

          6. การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) เป็นอิทธิปัญญา ความรู้ในตัวคนเป็นความรู้ที่เนื่องด้วยการปฏิบัติและการจัดการความรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันทำให้ให้การปฏิบัติบางสิ่งบางอย่างเป็นผลสำเร็จ

          7. การถักทอไปสู่โครงสร้างใหม่ขององค์กรและสังคม การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้บุคคลทั้งโดยตัวบุคคลหรือภายในองค์กรเดียวกันหรือข้ามองค์กรเข้ามาเชื่อมโยงกันโดยความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ แต่เชื่อมโยงด้วยการเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดเป็นเครือข่ายทั้งภายในองค์กรและข้ามองค์กร

          8. การเจริญสติในการกระทำ การเจริญสติคือการรู้ตัว ทำให้จิตใจสงบ มีอิสรภาพ เพราะหลุดพ้นจากความบีบคั้น สัมผัสความจริงได้ ควบคุมความคิด การพูดและการกระทำได้ ทำให้เกิดความสำเร็จ เป็นความงาม ความดี และความสุข

          “องค์กรแห่งการเรียนรู้” (Learning Organization: LO) เป็นองค์กรที่มีการสร้างช่องทางให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกันภายในระหว่างบุคลากร ควบคู่ไปกับการรับความรู้จากภายนอก เป้าประสงค์สำคัญ คือ เอื้อให้เกิดโอกาสในการหาแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและสร้างเป็นฐานความรู้ที่เข้มแข็ง (Core competence) ขององค์กร เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา 

          องค์ประกอบขององค์การแห่งการเรียนรู้  มี 5 องค์ประกอบ ดังนี้

          1. การเรียนรู้ (Learning) หรือพลวัตการเรียนรู้ (Learning Dynamics) ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่

                    1. ระดับการเรียนรู้ ได้แก่ การเรียนรู้ระดับบุคคล การเรียนรู้ระดับกลุ่ม และการเรียนรู้ระดับองค์การ

                    2. ประเภทของการเรียนรู้  ได้แก่  การเรียนรู้จากการปรับตัว การเรียนรู้จากการคาดการณ์ การเรียนรู้เพื่อเรียนรู้ และการเรียนรู้จากการปฏิบัติ

                    3. ทักษะการเรียนรู้  ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ

                              3.1 บุคคลรอบรู้ (Personal Mastery) 

                              3.2 แบบแผนทางความคิด (Mental Model) 

                              3.3 การมีวิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision)

                              3.4 การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Team Learning)

                              3.5 การคิดอย่างเป็นระบบ (System Thinking)

                              3.6 การสนทนาแบบมีแบบแผน (Dialogue)

          2. องค์การ (Organization) หรือการปรับเปลี่ยนองค์การ (Organization Transformation) ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่

                    1. วิสัยทัศน์ 

                    2. วัฒนธรรมองค์การ 

                    3. กลยุทธ์ 

                    4. โครงสร้าง

          3. สมาชิกในองค์การ (People) หรือการเสริมความรู้แก่บุคคล (People Empowerment) ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ได้แก่

                    1. บุคลากร

                    2. ผู้บริหาร/ผู้นำ

                    3. ผู้รับบริการ/ลูกค้า

                    4. คู่ค้า

                    5. พันธมิตร/หุ้นส่วน

                    6. ชุมชน

          4. ความรู้ (Knowledge) หรือการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ประกอบด้วย

                    1. การแสวงหาความรู้

                    2. การสร้างความรู้

                    3. การจัดเก็บความรู้

                    4. การถ่ายโอนความรู้และการใช้ประโยชน์

          5. เทคโนโลยี (Technology) หรือการนำเทคโนโลยีไปใช้ (Technology Application) ประกอบด้วย

                    1. เทคโนโลยีสารสนเทศ

                    2. เทคโนโลยีพื้นฐานของการเรียนรู้

                    3. ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สนับสนุนการปฏิบัติงาน

แนวทางในการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้

          1. บุคคลรอบรู้ (Personal Mastery) หมายถึง การเรียนรู้ของบุคลากรจะเป็นจุดเริ่มต้น คนในองค์กรจะต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ ฝึกฝน ปฏิบัติ และเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อเพิ่มศักยภาพของตนเองอยู่เสมอ

          2. แบบแผนทางความคิด (Mental Model) หมายถึง แบบแผนทางความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ แสดงถึงวุฒิภาวะ (Emotional Quotient, EQ) ที่ได้จากการสั่งสมประสบการณ์กลายเป็นกรอบความคิดที่ทำให้บุคคลนั้นๆ มีความสามารถในการทำความเข้าใจ วินิจฉัย ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

          3. การมีวิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision) หมายถึง การสร้างทัศนคติร่วมของคนในองค์กร ให้สามารถมองเห็นภาพและมีความต้องการที่จะมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน

          4. การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Team Learning) หมายถึง การเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกในลักษณะกลุ่มหรือทีมงานเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นเพื่อให้มีการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์กันอย่างสม่ำเสมอ

          5. การคิดอย่างเป็นระบบ (System Thinking) หมายถึง การที่คนในองค์กรมีความสามารถที่จะเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ โดยมองเห็นภาพความสัมพันธ์กันเป็นระบบโดยรวม (Total System) ได้อย่างเข้าใจ แล้วสามารถมองเห็นระบบย่อย (Subsystem) ที่จะนำไปวางแผนและดำเนินการทำส่วนย่อยๆ นั้นให้เสร็จทีละส่วน

          อุปสรรคต่อการเรียนรู้ขององค์การ

          1. สมาชิกในองค์การรู้แต่หน้าที่ของตนเองแต่ไม่รู้เป้าหมายขององค์การ (I’m my position)

          2. สมาชิกรู้ว่าปัญหาขององค์การอยู่ที่ใด แต่ไม่รู้ว่าตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร (The enemy is out there)

          3. ทำตามแบบที่เคยทำ เห็นแต่ภาพลวงตา ไม่ได้แก้ปัญหาที่สาเหตุที่แท้จริง (The Illustration of taking change)

          4. ยึดติดอยู่กับเหตุการณ์มากเกินไป (A fixation on events)

          5. ความเข้าใจผิดว่าการเรียนรู้มาจากประสบการณ์เท่านั้นแต่ไม่เข้าใจในความแตกต่างของอดีตกับปัจจุบัน (The delusion of learning from experience)

          6. มีผู้บริหารที่ดีแต่ไม่ได้สืบทอดความรู้ให้ผู้บริหารรุ่นต่อไป (The myth of management team)

          7. ขาดสติไม่รู้ตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไป (The boiled frog syndrome)

3.16 Results Based management (RBM)

          การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นกิจกรรมสำคัญของแผนการปรับเปลี่ยนบทบาท ภารกิจและวิธีการบริหารงานของภาครัฐ ซึ่งกำหนดว่าภาครัฐจะต้องเปลี่ยนแนวทาง การบริหารไปสู่การบริหารที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ โดยยึดประชาชนเป็นเป้าหมายหลักในการทำงานการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นเครื่องมือการบริหารที่มาพร้อมกับแนวคิดการบริหารภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) ที่ต้องคำนึงถึงประชาชนและผลสัมฤทธิ์ของงาน เพื่อให้การทำงานของภาครัฐมุ่งเน้นผลลัพธ์ของงานมากกว่าเน้นปัจจัยนำเข้ากระบวนการทำงานและกฎระเบียบที่เคร่งครัด โดยจะมีการวัดผลอย่างเป็นรูปธรรม การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้ความสำคัญกับการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมายที่ชัดเจน และการกำหนดผลผลิต ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกัน รวมถึงมีการกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่ชัดเจนในการวัดความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มีความรับผิดชอบต่อประชาชน และเกิดความคุ้มค่าในการใช้ภาษีของประชาชนและงบประมาณแผ่นดิน

          ระบบการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result Based Management – RBM) คือ วิธีการบริหารที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์หรือผลการปฏิบัติงานเป็นหลัก โดยมีการวัดผลการปฏิบัติงานด้วยตัวชี้วัดอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุ วัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ทำให้ผู้บริหารทราบผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีเป็นการควบคุมทิศทางการดำเนินงานให้มุ่งสู่วิสัยทัศน์ฯ ของหน่วยงาน

ผลสัมฤทธิ์ (Results) = ผลผลิต (Outputs) + ผลลัพธ์ (Outcomes)

          ผลผลิต (Outputs) หมายถึง งาน บริการ หรือกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่ทำเสร็จสมบูรณ์พร้อมส่งมอบให้ประชาชนผู้รับบริการ ผลผลิตเป็นผลงานที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมโดยตรง

          ผลลัพธ์ (Outcomes) หมายถึง ผลที่เกิดขึ้นตามมา ผลกระทบ หรือเงื่อนไขที่เกิดจากผลผลิต ผลลัพธ์มีความสัมพันธ์โดยตรงกับประชาชนผู้รับบริการ และสาธารณชน

          ดังนั้น ผลสัมฤทธิ์ คือ งาน บริการ หรือกิจกรรมที่เกิดจากการทำงานได้ผลผลิต (Outputs) ตามเป้าหมาย และเกิดผลลัพธ์ (Outcomes) ตรงตามวัตถุประสงค์ กล่าวคือ ผลผลิตสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงหรือเป็นที่พึงพอใจ เช่น ปลูกบ้านได้ 1 หลัง (Outputs) บ้านหลังดังกล่าวน่าอยู่ มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก (Outcomes) หรือ การซ่อมถนนได้ 5 กิโลเมตร เป็น ผลผลิต (Outputs) ถนนสายนั้นทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางจากการซ่อมแซม เป็น ผลลัพธ์ (Outcomes)

          วัตถุประสงค์ของการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์

          การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานขององค์กร ช่วยให้การบริหารการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม มีทิศทางในการปฏิบัติงาน มีระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นระยะ ๆ  ทำให้ทราบผลการปฏิบัติงานเมื่อเทียบกับแผนหรือเป้าหมาย สามารถรายงานความก้าวหน้าผลการปฏิบัติงานต่อผู้บริหาร และทำให้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที  หากผลการปฏิบัติงานไม่น่าพึงพอใจ  ผู้บริหารมีโอกาสปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ทันที

          ระบบการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารเชิงกลยุทธ์

          การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการบริหารงานเชิงกลยุทธ์ องค์กรใช้วิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ และกลยุทธ์ซึ่งอยู่ในแผนกลยุทธ์ขององค์กรเป็นกรอบในการกำหนดปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ (CSF) และตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก (KPI) ของการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นเครื่องมือช่วยประเมินความสำเร็จของการดำเนินการตามกลยุทธ์ องค์กรที่มีการบริหารเชิงกลยุทธ์สามารถใช้ปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ (CSF) และตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก (KPI) ของการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นกรอบวัดผลการปฏิบัติงานขององค์กรเทียบกับเป้าหมาย เพื่อให้รู้ถึงความก้าวหน้าของการบรรลุวิสัยทัศน์ หากผลงานยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ผู้บริหารองค์กรควรปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสม

3.17 Re-engineering

          การปรับรื้อระบบ (Re-engineering) หมายถึง การรื้อและรวมทั้งปรับระบบองค์การ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาองค์การ ให้เกิดประสิทธิภาพทั้ง 4 ด้าน คือ การลดต้นทุน การเพิ่มคุณภาพของผลผลิต บริการ และความรวดเร็ว

          Michael Hammer และ James Chammy ได้ให้คำจำกัดความไว้ดังนี้ “Reengineering” คือ การเปลี่ยนแปลงแนวการบริหารจัดการแบบใหม่ เป็นการคิดทบทวนแนวคิดพื้นฐานในการบริหารจัดการเสียใหม่ และการออกแบบกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจแบบใหม่ ซึ่งแตกต่างจากแนวการบริหารจัดการธุรกิจแบบเดิมโดยสิ้นเชิง เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในผลงาน ได้แก่ ค่าใช้จ่าย คุณภาพของสินค้าและบริการ การให้บริการ และความรวดเร็ว โดยแนวคิดพื้นฐานเป็นการคิดค้นหาแนวทางใหม่ที่จะทำให้การบริหารจัดการ และการดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม โดยพิจารณาว่าองค์การของเราจะต้องทำอะไร (must do) และจะทำได้อย่างไร (how to do) โดยไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่ “เป็นอยู่ในปัจจุบัน” แต่ควรจะให้ความสนใจหรือเน้นสิ่งที่ “ควรจะเป็นมากกว่า”

องค์ประกอบ มีปัจจัย  4  ประการ

          1. พื้นฐาน (Fundamental)

          2. ถอนรากถอนโคน (Radical)

          3. ยิ่งใหญ่ (Dramatic)

          4. กระบวนการ (Processes)

ผู้ที่มีส่วนร่วมในการทำ Re-engineering

          1. ผู้นำ (Leader)

          2. เจ้าของกระบวนการ (Process Owner)

          3. ทีม Re-engineering (Re-engineering Team)

          4. คณะกรรมการผลักดัน (Steering Committee)

          5. หัวเรือใหญ่ในการทำ Re-engineering (Re-engineering Czar)

ขั้นตอนการทำ Re-engineering

          1. Re-think

          2. Re-design

          3. Re-tool

          4. Re-train

ข้อดีของการทำ Re-engineering

          1. ทำให้บุคลากรของหน่วยงานสามารถทำงานได้หลาย ๆ ช่วงการบังคับบัญชาสั้นลง

          2. ด้านอำนาจและความรับผิดชอบ ทำให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น

          3. สายการบังคับบัญชา มีการเปลี่ยนมือจากคน ๆ เดียวมาเป็นคนหลายคน

          4. สามารถลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานลงได้

          5. การทำงานภายในองค์การจะเกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

          6. ก่อให้เกิดการขยายงานอย่างเป็นระบบ

          7. ก่อให้เกิดการประหยัดในการดำเนินการทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนทางอ้อม

          8. มุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญอันจะนำไปสู่ให้ลูกค้าพึงพอใจมากขึ้น

          9. เป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ทั้งหมดในการทำงาน (Holistic approach)

          10. เจ้าหน้าที่หรือพนักงานสามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น


อ้างอิง

1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรรณงาม เง่าธรรมสาร, 2552, กระบวนการบูรณการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้: บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์; สงขลา.

2.ส่องโลก. ปฏิบัติการเปี่ยมมนุษยธรรมในอิรัก. อ้างจาก วารสารกรมประชาสัมพันธ์ ประจำเดือนเมษายน 2547. สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553

3.ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

4.มาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

5.ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542

6.กระบวนการจัดการความรู้ด้วยการใช้ SECI Model (ดร.จุฑามาศ แก้วพิจิตร)

7.การจัดการความรู้คืออะไร (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช)

8.สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

9.ประมวลจากกลยุทธ์สู่การปฏิบัติด้วย Balanced Scorecard และ Key Performance Indicators ของ ผศ. ดร. พสุ  เดชะรินทร์ อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กทม. 2545

10.ประเวศ วะสี. 2548. การจัดการความรู้: กระบวนการปลดปล่อยมนุษย์สู่ศักยภาพ เสรีภาพ และความสุข. กรุงเทพฯ : สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม.

11. วิจารณ์ พานิช. 2549. KM วันละคำ จากนักปฏิบัติ KM สู่นักปฏิบัติ KM. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.