ทศพิธราชธรรม 10 ประการ
ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ก็น่าจะนำไปอนุโลมถือปฏิบัติได้หลักทศพิธราชธรรม 10 ประการ มีอยู่ดังนี้
1. ทาน ได้แก่ การให้ ซึ่งอาจเป็นการให้เพื่อบูชาคุณหรือให้เพื่อเป็นการอนุเคราะห์
2. ศีล ได้แก่ การสำรวม กาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยสะอาดดีงาม
3. บริจาค ได้แก่ การให้ทรัพย์สิ่งของเพื่อเป็นการช่วยเหลือหรือความทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้อื่นหรือเป็นการเสียสละเพื่อหวังให้ผู้รับได้รับความสุข
4. อาชวะ ได้แก่ ความมีอัธยาศัยซื่อตรงมั่นในความสุจริตธรรม
5. มัทวะ ได้แก่ ความมีอัธยาศัยดีงาม ละมุนละไม อ่อนโยน สุภาพ
6. ตบะ ได้แก่ การบำเพ็ญเพียรเพื่อขจัดหรือทำลายอกุศลกรรมให้สิ้นสูญ
7. อโกรธะ ได้แก่ ความสามารถระงับหรือขจัดเสียได้ซึ่งความโกรธ
8. อวิหิงสา ได้แก่ การไม่เบียดเบียนคนอื่น
9. ขันติ ได้แก่ ความอดกลั้นไม่ปล่อยกาย วาจา ใจ ตามอารมณ์หรือกิเลสที่เกิดมีขึ้นนั้น
10. อวิโรธนะ ได้แก่ การธำรงรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม
ราชสังคหวัตถุ 4
ราชสังคหวัตถุ 4 คือ พระราชจริยานุวัตร อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงเคราะห์ยึดหน่วงน้ำใจประชาชน สำหรับเป็นแนวทาง ในการวางนโยบายปกครองบ้านเมืองดังพระราชกรณียกิจที่ปรากฏ 4 ประการ ดังนี้
1. สะสะเมธัง ความที่ทรงพระปรีชาในการบำรุงธัญญาหารให้บริบูรณ์
2. ปุริสะเมธัง ความที่ทรงพระปรีชาในการสงเคราะห์บุรุษที่ประพฤติดี
3. สะสะมาปะลัง ความที่ทรงพระปรีชาในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของราษฎร
4. วาจาเปยยัง การตรัสพระวาจาที่อ่อนหวานแก่ชนทุกชั้น โดยควรแก่ฐานะ
พรหมวิหาร 4
พรหมวิหาร 4 ธรรมสำหรับผู้นำหรือนักปกครองอย่างนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ประกอบด้วย
1. เมตตา หมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข
2. กรุณา หมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
3. มุทิตา หมายถึง ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
4. อุเบกขา หมายถึง การรู้จักวางเฉย
ธรรมมีอุปการะมาก 2
1. สติ แปลว่า ความระลึก หรือความระลึกได้
2. สัมปชัญญะ แปลว่า ความรู้ตัว
ท่านกล่าวว่า ที่ชื่อว่ามีอุปการะมาก เพราะเป็นเครื่องนำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลในกิจการทุกอย่าง เหมือนความไม่ประมาท เป็นอุปการะในการบำเพ็ญศีลเป็นต้น หมายความว่า ธรรม 2 ประการนี้ มีอยู่แก่ผู้ใด ผู้นั้นกระทำกิจใดๆ จะบำเพ็ญศีล เจริญสมาธิ ปัญญาก็ตาม จะเล่าเรียนเขียนอ่านก็ตาม ย่อมสำเร็จด้วยดี ไม่ผิดพลาด ปราศจากภยันตรายทุกประการ ในที่ทุกสถาน และในกาลทุกเมื่อ
ธรรมคุ้มครองโลก
1. หิริ แปลว่า ความละอายแก่ใจ ความละอายต่อบาป หิริ หมายถึง ความละอายใจตัวเองต่อการทำความชั่วความผิด
2. โอตตัปปะ แปลว่า ความเกรงกลัว หมายถึง ความสะดุ้งกลัวต่อผลของความชั่ว ต่อผลของความทุจริตที่ทำไว้
ธรรมอันทำให้งาม
1. ขันติ ความอดทน หมายถึง ความอดได้ทนได้เพื่อบรรลุความดีงาม และความมุ่งหมายอันชอบ ความทนได้เมื่อถูกกระทบด้วยสิ่งอันไม่พึงปรารถนา
2. โสรัจจะ ความเสงี่ยม หมายถึง ความสงบเสงี่ยมเจียมกายเจียมใจ
บารมี 10
บารมี แปลว่า “เต็ม” ซึ่งหมายถึง การทำให้กำลังใจเต็ม ทรงอยู่ในใจให้เต็มครบถ้วนบริบูรณ์ไม่บกพร่องทั้ง 10 ประการ
1. ทานบารมี หมายถึง จิตพร้อมในการให้ทานเป็นปกติ
2. ศีลบารมี หมายถึง จิตพร้อมในการทรงศีลเป็นปกติ
3. เนกขัมมะบารมี หมายถึง จิตพร้อมในการถือบวชเป็นปกติ ในที่นี้หมายถึงบวชใจ
4. ปัญญาบารมี หมายถึง จิตพร้อมที่จะใช้ปัญญาเป็นเครื่องประหารอุปาทานให้พังพินาศไป
5. วิริยะบารมี หมายถึง มีความเพียรในทุกขณะ ควบคุมใจไว้เสมอ
6. ขันติบารมี หมายถึง มีความอดทน อดกลั้นต่อสิ่งอันเป็นปฏิปักษ์
7. สัจจะบารมี หมายถึง ทรงตัวไว้ว่าเราจะทำจริงทุกอย่างในด้านของการทำความดี ไม่มีคำไม่จริงสำหรับใจเรา
8. อธิษฐานบารมี หมายถึง ตั้งใจไว้ให้ตรงโดยเฉพาะ
9. เมตตาบารมี หมายถึง สร้างอารมณ์ความดี ไม่เป็นศัตรูกับใคร มีความรักตนเสมอด้วยบุคคลอื่น
10. อุเบกขาบารมี หมายถึง การวางเฉยในกาย เมื่อมันไม่ทรงตัว
ธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ (อิทธิบาท 4)
1. ความพอใจ (ฉันทะ) หมายถึง ความพอใจ รักใคร่ ในสิ่งที่คิดจะทำ หรือสิ่งที่กำลังทำอยู่ และ เป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด
2. ความเพียร (วิริยะ) หมายถึง ความขยันหมั่นเพียร ด้วยความพยายามอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะประสบผลสำเร็จ
3. ความตั้งใจ (จิตตะ) หมายถึง การเอาใจใส่ต่อหน้าที่การงาน อย่างกระตือรือร้น
4. ความไตร่ตรอง (วิมังสา) หมายถึง การรู้จักใช้สติปัญญาพิจารณาใคร่ครวญให้ถ้วนถี่รอบคอบ ถ้าพบข้อบกพร่อง หรือพบปัญหา ก็จะได้ทบทวนแก้ไขได้ทันท่วงที
ธรรมของสัตบุรุษ
ธรรมของสัตบุรุษเรียกว่า สัปปุริสธรรม มี 7 อย่าง คือ
1. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่น รู้จักว่าสิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์
2. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล เช่น รู้จักว่าสุขเป็นผลแห่งเหตุนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุนี้
3. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตนว่า เราว่าโดยชาติ ตระกูล ยศ ศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้และคุณธรรมเพียงเท่านี้ ๆ แล้วประพฤติตนให้สมควรแก่ที่เป็นอยู่อย่างไร
4. มัตตัญญุตาความเป็นผู้รู้ประมาณ ในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิตแต่โดยทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอควร
5. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควร ในอันประกอบกิจนั้น ๆ
6. ปริสัญญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน และกริยาที่จะต้องประพฤติต่อประชุมชนนั้นๆ ว่า หมู่นี้เมื่อเข้าไปหาจะต้องทำกริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ เป็นต้น
7. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคลว่า ผู้นี้เป็นคนดีควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น
สังคหวัตถุ 4
สังคหวัตถุ แปลว่า ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์กัน ธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน หมายถึง หลักการครองใจคน หลักยึดเหนี่ยวใจกันไว้ วิธีทำให้คนรัก
1. ทาน การให้ การเสียสละ การแบ่งปันเพื่อประโยชน์แก่คนอื่น ช่วยปลูกฝังให้เป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว แบ่งปันกัน (แบ่งปันไปมา)
2. ปิยะวาจา การพูดจาด้วยถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน จริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เหมาะกับกาลเทศะ พูดดีต่อกัน (พูดจาจับใจ)
3. อัตถจริยา ช่วยเหลือกัน (ช่วยกิจกันไป)
4. สมานัตตา การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ โดยประพฤติตัวให้มีความเสมอต้นเสมอปลาย วางตัวดีต่อกัน (นิสัยเป็นกันเอง)
ธรรมของนักปกครองที่ควรละเว้น
นักปกครอง เมื่อปฏิบัติหน้าที่แล้ว พึงเว้นความลำเอียงหรือความประพฤติที่คลาดเคลื่อนจากธรรม 4 ประการ หรือ อคติ 4 ได้แก่
1. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะชอบ
2. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง
3. โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง
4. ภยาคติ ลำเอียงเพราะ (ขลาด) กลัว