ความรู้เกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด

          องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีจังหวัดละ 1 แห่ง ยกเว้นกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ การจัดรูปแบบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2498 โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล ต่อมาได้มีการประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 และได้มีการพัฒนามาจนถึง พ.ศ. 2540 ได้มีการยกเลิกกฎหมายทั้งฉบับมาใช้พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.1 สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

          สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ถือเกณฑ์จำนวนราษฎรแต่ละจังหวัดตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ดังนี้
     1. ราษฎรไม่เกิน 500,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 24 คน
     2. ราษฎรเกิน 500,000 แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 30 คน
     3. ราษฎรเกิน 1,000,000 แต่ไม่เกิน 1,500,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 36 คน
     4. ราษฎรเกิน 1,500,000 แต่ไม่เกิน 2,000,000 คน ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 42 คน
     5. ราษฎรเกิน 2,000,000 คนขึ้นไป ให้มีสมาชิกสภา อบจ. ได้ 48 คน

1.2 ประธาน และรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

          สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 คน และรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 2 คน โดยให้ดำรงตำแหน่งจนครบอายุของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เว้นแต่มีเหตุต่อไปนี้ให้ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพ้นจากตำแหน่ง

          1. ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออกต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

          2. สิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

          3. รัฐมนตรีสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง

          4. สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง โดยเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

1.3 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

          นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งดำรงตำแหน่งนับแต่วันเลือกตั้ง และมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีที่นายกฯ ดำรงตำแหน่งไม่ครบระยะเวลา 4 ปีก็ให้ถือว่าเป็นหนึ่งวาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง และมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตามกฎหมาย และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนจังหวัด บุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามต่อไปนี้

          1. มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง

          2. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา

          3. ไม่เป็นผู้ที่พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการหรือที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นเพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญา หรือกิจการที่กระทำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่ถึง 5 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

1.4 รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

          นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจแต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้
          1. มีสมาชิกสภา อบจ. จำนวน 48 คน ให้แต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน 4 คน
          2. มีสมาชิกสภา อบจ. จำนวน 36 หรือ 42 คน ให้แต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน 3 คน
          3. มีสมาชิกสภา อบจ. จำนวน 24 หรือ 30 คน ให้แต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกิน 2 คน

1.5 เลขานุการ และที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

          นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจแต่งตั้งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งมิใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้จำนวนรวมกันไม่เกิน 5 คน

1.6 ข้อบัญญัติ

          องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจตราข้อบัญญัติและผู้ที่เสนอร่างข้อบัญญัติได้มีดังต่อไปนี้
                    1. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
                    2. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
                    3. ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
          ข้อบัญญัติจะกำหนดโทษผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่ห้ามมิให้กำหนดโทษจำคุกเกิน 6 เดือน และหรือปรับเกิน 10,000 บาท

2. เทศบาล

          เทศบาลถือว่าเป็นหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จัดตั้งขึ้นในเขตชุมชนที่มีความเจริญและใช้ในการบริหารเมืองเป็นหลัก ซึ่งหลายประเทศประสบความสำเร็จในการใช้ “เทศบาล” เป็นเครื่องมือที่สำคัญใน การปกครองประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับสังคมไทยเทศบาลเป็นรูปแบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในเขตชุมชนเมืองที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2476 และมีเทศบาลครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2478 โดยการยกฐานะสุขาภิบาลที่มีอยู่จำนวน 35 แห่งขึ้นเป็นเทศบาล ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2496 ได้มีการตราพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ขึ้นใช้แทนกฎหมายเก่าทั้งหมด บังคับใช้วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2496 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการ

2.1 การจัดตั้งเทศบาล

          เทศบาลเป็นทบวงการเมือง และเมื่อมีการจัดตั้งเทศบาล ให้เลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีภายใน 45 วันนับแต่วันที่ได้จัดตั้งเป็นเทศบาล ถ้ามีการเปลี่ยนชื่อ การเปลี่ยนแปลงเขต การยุบเลิกเทศบาลให้ทำโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย และเทศบาลนั้นแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ
          1. เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบล
          2. เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด หรือท้องถิ่นที่มีราษฎรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป และมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่
          3. เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป และมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่

2.2 การยุบเลิกตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

          ห้ามเด็ดขาด: เมื่อมีการยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ห้ามมิให้มีการแต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน
          ไม่ห้ามเด็ดขาด: เทศบาลตำบลให้มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนันได้ แต่ถ้าหมดความจำเป็นที่จะต้องมีให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศยุบเลิกในราชกิจจานุเบกษา

2.3 องค์การเทศบาลและสมาชิกสภาเทศบาล

          องค์การเทศบาล ประกอบด้วยสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรี
          สภาเทศบาล ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และให้อยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง สภาเทศบาลมีประธานสภาคนหนึ่ง และรองประธานสภาคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากสมาชิกสภาเทศบาลตามมติของสภาเทศบาล และให้มีจำนวนสมาชิกสภาเทศบาล ตามสัดส่วนของขนาดเทศบาลดังต่อไปนี้
                    1. สภาเทศบาลตำบล     ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 12 คน
                    2. สภาเทศบาลเมือง      ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 18 คน
                    3. สภาเทศบาลนคร      ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 24 คน

2.4 นายกเทศมนตรี

          ให้เทศบาลมีนายกเทศมนตรีคนหนึ่งซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และให้มีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีที่นายกฯ ดำรงตำแหน่งไม่ครบระยะเวลา 4 ปีก็ให้ถือว่าเป็นหนึ่งวาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง และมีหน้าที่และรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและลูกจ้างเทศบาล ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ด้วย
          1. มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง
          2. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา
         

2.5 รองนายกฯ ปรึกษานายกฯ และเลขานุการนายกเทศมนตรี

          นายกเทศมนตรีอาจแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีซึ่งมิใช่สมาชิกสภาเทศบาลเป็นผู้ช่วยเหลือในการบริหารราชการของเทศบาลตามที่นายกเทศมนตรีมอบหมายได้ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้
          1. เทศบาลตำบล          ให้แต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 2 คน
          2. เทศบาลเมือง                     ให้แต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 3 คน
          3. เทศบาลนคร            ให้แต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 4 คน
          นายกเทศมนตรีอาจแต่งตั้งที่ปรึกษานายกเทศมนตรีและเลขานุการนายกเทศมนตรีซึ่งมิใช่สมาชิกสภาเทศบาลได้ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้
          1. เทศบาลตำบล                    ให้แต่งตั้งได้จำนวนรวมกันไม่เกิน 2 คน
          2. เทศบาลเมือง           ให้แต่งตั้งได้จำนวนรวมกันไม่เกิน 3 คน
          3. เทศบาลนคร            ให้แต่งตั้งได้จำนวนรวมกันไม่เกิน 5 คน

2.6 เทศบัญญัติ

          เทศบาลมีอำนาจตราเทศบัญญัติได้ถ้าเห็นว่าเป็นไปเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาลและมีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าให้ตราเป็นข้อบัญญัติได้ และเทศบัญญัตินั้นจะกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนเกินกว่า 1,000 บาทไม่ได้ และกำหนดให้เทศพาณิชย์ต้องตราเป็นเทศบัญญัติ ส่วนกิจการที่เทศบาลมีรายได้ หรือผลพลอยได้อันเกิดจากการกระทำตามอำนาจหน้าที่จะไม่ตราเป็นเทศบัญญัติก็ได้ และถ้าเป็นการเสนอร่างเทศบัญญัติที่เกี่ยวกับการเงินจะต้องมีคำรับรองของนายกเทศมนตรีด้วย

          การเสนอร่างเทศบัญญัติบุคคล 3 กลุ่มต่อไปนี้เท่านั้นที่เสนอได้
                    1. นายกเทศมนตรี
                    2. สมาชิกสภาเทศบาล
                    3. ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเทศบาล

3. องค์การบริหารส่วนตำบล

          พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 จะมีอยู่ 2 ส่วนใหญ่ๆ คือส่วนของสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งปัจจุบันสภาตำบลไม่มีแล้วเนื่องจากยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลไปหมดแล้ว และให้มีการยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 326 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 เพื่อมิให้ขัดกับการบังคับใช้กฎหมาย และพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลได้มีการบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2538

          สภาตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกัน 3 ปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 บาท อาจจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลได้ โดยทำเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทยและให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในประกาศนั้นให้ระบุชื่อและเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลไว้ด้วย และให้พ้นจากสภาพแห่งสภาตำบลนับแต่วันที่ได้ประกาศจัดตั้งขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นต้นไป

3.1 สภาองค์การบริหารส่วนตำบล

          สภาองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวนเขตเลือกตั้งละ 1 คน ซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น

          ให้ถือเขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง เว้นแต่หมู่บ้านใดมีราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกันและเมื่อรวมกันแล้วจะมีราษฎรถึง 25 คนเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน การนับจำนวนราษฎรดังกล่าวให้นับ ณ วันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง

          การรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งให้นายอำเภอเป็นผู้ดำเนินการและประกาศให้ประชาชนทราบภายในวันที่ 31 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นกรณีที่เป็นการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หรือมีการเลือกตั้งภายในเดือนมกราคม ให้ถือเขตเลือกตั้งที่ได้ประกาศไว้ในการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย

          อายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีกำหนดคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง

          องค์การบริหารส่วนตำบลใดมีเขตเลือกตั้งไม่ถึง 6 เขตเลือกตั้ง ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 6 คน ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

          1. ในกรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบลใดมี 1 เขตเลือกตั้ง ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล 6 คน

          2. ในกรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบลใดมี 2 เขตเลือกตั้ง ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขตเลือกตั้งละ 3 คน

          3. ในกรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบลใดมี 3 เขตเลือกตั้ง ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขตเลือกตั้งละ 2 คน

          4. ในกรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบลใดมี 4 เขตเลือกตั้ง ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขตเลือกตั้งละ 1 คน เว้นแต่เขตเลือกตั้งใดมีจำนวนราษฎรมากที่สุด2 เขตเลือกตั้งแรก ให้เขตเลือกตั้งนั้นมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกเขตเลือกตั้งละ 1 คน

          5. ในกรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบลใดมี 5 เขตเลือกตั้ง ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขตเลือกตั้งละ 1 คน เว้นแต่เขตเลือกตั้งใดมีจำนวนราษฎรมากที่สุด ให้เขตเลือกตั้งนั้นมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 1 คน

3.2 นายกองค์การบริหารส่วนตำบล

          นายกองค์การบริหารส่วนตำบล มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีที่นายกฯ ดำรงตำแหน่งไม่ครบระยะเวลา 4 ปีก็ให้ถือว่าเป็นหนึ่งวาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ด้วย

          1. มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง

          2. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาตำบล สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา

3.3 ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล

          องค์การบริหารส่วนตำบลอาจออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลเพื่อใช้บังคับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล โดยกำหนดค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บและกำหนดโทษปรับผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้ แต่มิให้กำหนดโทษปรับเกิน 1,000 บาท และร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลจะเสนอได้ก็แต่

          1. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล

          2. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

          3. ราษฎรในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
          ร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายอำเภอให้ความเห็นชอบแล้ว ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลงชื่อและประกาศเป็นข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลต่อไป ถ้านายอำเภอไม่เห็นชอบให้ส่งคืนสภาองค์การบริหารส่วนตำบลภายใน 15 วัน
          1. ถ้าสภา อบต. มีมติยืนในร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลลงชื่อและประกาศเป็นข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลต่อไป
          2. ถ้าสภา อบต. มีมติยืนในร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลน้อยกว่า 2 ใน 3 หรือไม่ยืนยันภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างข้อบัญญัติฯ จากนายอำเภอให้ร่างข้อบัญญัติฯ เป็นอันตกไป

3.4 การกำกับดูแล

          นายอำเภอ นายอำเภอมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล และมีอำนาจเรียกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล พนักงานส่วนตำบล และลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลมาชี้แจงหรือสอบสวน

          เมื่อความปรากฏโดยมีหลักฐานตามสมควรต่อนายอำเภอว่า นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใด จงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือฝ่าฝืนคำสั่งของนายอำเภอที่สั่งการ ให้นายอำเภอดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยพลัน และให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

          ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนไม่สามารถดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จได้ภายในกำหนดเวลา นายอำเภออาจขยายเวลาการสอบสวนออกไปได้อีกไม่เกิน 30 วัน

          เมื่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลผู้ใดถูกตั้งกรรมการสอบสวนแล้ว นายอำเภอจะสั่งให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อรอฟังผลการสอบสวนก็ได้ หากเห็นว่าการคงอยู่ในหน้าที่ของผู้นั้นต่อไปอาจเกิดการเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือมีพฤติการณ์ที่แสดงว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน หรือจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏขึ้นโดยชัดแจ้ง  ทั้งนี้ หากผลการสอบสวนปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีความผิดและผู้นั้นยังมิได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อน ให้นายอำเภอสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ และให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นใดในช่วงที่หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยถือเสมือนว่าผู้นั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ตลอดระยะเวลาที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ในกรณีที่ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปก่อนปรากฏผลการสอบสวนดังกล่าว การจ่ายเงินเดือน ค่าตอบแทน รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นใด ให้จ่ายจนถึงวันก่อนวันที่พ้นจากตำแหน่ง

          การอุทธรณ์คำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่  ให้ผู้ที่ได้รับคำสั่งมีสิทธิอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งดังกล่าว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดวินิจฉัยเป็นประการใด ให้นายอำเภอและผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำวินิจฉัยนั้น คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นที่สุด

          ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล พ้นจากตำแหน่งได้ถ้าเห็นว่ากระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่

          เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม นายอำเภอจะรายงานเสนอความเห็นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อ ยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลก็ได้ และเมื่อมีการยุบสภาฯ แล้วให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลขึ้นใหม่ภายใน 45 วัน