การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2526

ความหมาย

          คชก.จังหวัด หมายถึง คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด

          คชก.ตำบล หมายถึง คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล

คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

1. จังหวัด (รวมถึง กทม.ด้วย) มี คชก.จังหวัด แบ่งได้ดังนี้

          1. ในกรุงเทพมหานคร คชก.จังหวัด  ประกอบด้วยบุคคลซึ่งผู้ว่าการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งดังนี้
1.1 ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน
1.2 ผู้แทนกรมการปกครอง
1.3 ผู้แทนกรมที่ดิน
1.4 ผู้แทนกรมประมง
1.5 ผู้แทนกรมปศุสัตว์
1.6 ผู้แทนกรมอัยการ
1.7 ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร
1.8 ผู้แทนผู้เช่า 4 คน
1.9 ผู้แทนผู้ให้เช่า 4 คน

          2. ในจังหวัดอื่น คชก.จังหวัด  ประกอบด้วยบุคคลซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งดังนี้
2.1 ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน
2.2 อัยการจังหวัด
2.3 เกษตรจังหวัด
2.4 ประมงจังหวัด
2.5 ปศุสัตว์จังหวัด
2.6 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด
2.7 ผู้แทนผู้เช่า 4 คน
2.8 ผู้แทนผู้ให้เช่า 4 คน

2. ตำบล มี คชก.ตำบล แบ่งได้ดังนี้

          1. ตำบลนอกเขตเทศบาลประกอบด้วย บุคคลที่นายอำเภอแต่งตั้ง ดังต่อไปนี้
1.1 กำนัน เป็นประธาน
1.2 เกษตรอำเภอ หรือผู้แทน
1.3 เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอ หรือผู้แทน
1.4 ประมงอำเภอหรือผู้แทน
1.5 ปศุสัตว์อำเภอหรือผู้แทน
1.6 ผู้แทนผู้เช่า 4 คน
1.7 ผู้แทนผู้ให้เช่า 4 คน
1.8 ปลัดอำเภอหรือพัฒนากร เป็นเลขานุการ

          2. ในเขตเทศบาล ประกอบด้วย
2.1 นายกเทศมนตรี เป็นประธาน
2.2 ปลัดเทศบาล เป็นเลขานุการ (เป็นโดยตำแหน่งนายอำเภอไม่ได้แต่งตั้ง)

          3. ในแขวงของกรุงเทพมหานคร ที่หัวหน้าแขวงแต่งตั้ง
3.1 หัวหน้าแขวงกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน
3.2 ผู้แทนสำนักงานเกษตร
3.3 พนักงานประเมินภาษี
3.4 ผู้แทนกรมประมง
3.5 ผู้แทนกรมปศุสัตว์
3.6 ผู้แทนผู้เช่า 4 คน
3.7 ผู้แทนผู้ให้เช่า 4 คน

          4. ในเขตเมืองพัทยา
4.1 นายกเมืองพัทยาเป็นประธาน
4.2 ปลัดเมืองพัทยาเป็นเลขานุการ

อำนาจหน้าที่วาระดำรงตำแหน่งของ คชก. ตำบล

          กรรมการที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร และนายอำเภอแต่งตั้ง มีวาระคราวละ 3 ปี และมีอำนาจดังต่อไปนี้

          1. กำหนดอัตราค่าเช่าขั้นสูงของแต่ละท้องที่ให้กระทำอย่างน้อยทุก 3 ปี

          2. พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับการเก็บค่าเช่า

การเช่านา

          การเช่านาให้ฟ้องร้องกันได้ ไม่ว่าจะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม การเช่านาให้มีกำหนดคราวละไม่น้อยกว่า 6 ปี การเช่านารายใดที่ทำไว้โดยไม่มีกำหนดเวลา หรือมีกำหนดเวลาแต่ต่ำกว่า 6 ปี ให้ถือว่าการเช่านามีกำหนดเวลา 6 ปี และเจ้าของนาผู้ใดประสงค์จะให้มีการเช่านาเป็นการชั่วคราว โดยมีระยะเวลาต่ำกว่า 6 ปี ให้ยื่นคำร้องต่อ คชก. ตำบล

          ผู้เช่านาถึงแก่ความตาย สามีภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือญาติ อาจแสดงความจำนงเช่านาต่อ คชก. ตำบล ได้ภายใน 60 วัน

          การบอกเลิกการเช่านาต้องบอกเลิกการเช่านาและส่งสำเนาหนังสือต่อ ประธาน คชก.ตำบล และผู้เช่านาจะบอกเลิกการเช่านาก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาการเช่านาไม่ได้ เว้นแต่

          1. ไม่ชำระค่าเช่านารวมกันเป็นเวลา 2 ปี

          2. ผู้เช่านาละทิ้งนาเกิน 1 ปี

          3. ทำนาน้อยกว่าร้อยละ 75 เป็นเวลา 2 ปี ติดต่อกัน

          4. ผู้เช่านาไม่ปรับปรุงการทำนาตามคำแนะนำของทางราชการ เป็นเหตุให้ผลผลิตลดลงกว่า 1 ใน 3

การอุทธรณ์และการบังคับคดี

          ผู้เช่านา อาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำวินิจฉัย แต่ต้องไม่เกิน 60 วัน นับแต่มีคำวินิจฉัย และให้ประธาน คชก.ตำบล ส่งคำอุทธรณ์ไปยังประธาน คชก.จังหวัดภายใน 15 วัน และการที่ คชก.จังหวัด มีคำวินิจฉัยกลับคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล ไม่เป็นเหตุที่จะมาฟ้องร้องกันได้