กองอาสารักษาดินแดน

พระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ.2497

          กองอาสารักษาดินแดนตั้งขึ้นในปี 2497 มีผลสืบเนื่องมาจากประเทศไทยได้รับการช่วยเหลือในด้านอาวุธจำหน่วยชีซับพลาย มอบให้กับหน่วยตำรวจตระเวนชายแดนเป็นจำนวนมาก เมื่อหน่วยซีซับพลายได้สลายตัวจึงได้ก่อตั้งกองอาสารักษาดินแดน โดยออกพระราชบัญญัติอาสารักษาดินแดน ตั้งกองอาสารักษาดินแดนเป็นนิติบุคคล ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย เหตุผลในการออกพระราชบัญญัติอาสารักษาดินแดนมีว่า “การป้องกันประเทศชาติในสถานการณ์ของสงครามในปัจจุบันเป็นหน้าที่ของประชาชนพลเมืองทุกคนที่จะต้องร่วมมือช่วยเหลือกัน และจะต้องได้รับการศึกษาอบรมให้มีความรู้ในการที่จะป้องกันตนเองและประเทศชาติ จึงจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมและมีหน่วยบังคับบัญชาเตรียมตั้งแต่เหตุการณ์ปกติ

          ในปี พ.ศ. 2497 ได้มีการตั้งกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดละ 2 กองร้อย เรียกว่ากองร้อยจังหวัด กองร้อยที่ 1 ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง นายอำเภอเมืองเป็นผู้บังคับกองร้อย กองร้อยที่ 2 ตั้งอยู่อำเภอนอกๆ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัดจะเห็นสมควร

          ต่อมาเมื่อมีการแทรกซึมบ่อนทำลายของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เกิดขึ้น ในประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอขึ้น ในท้องที่ที่มีการแทรกซึมจากคอมมิวนิสต์ให้มีกองร้อยอำเภอขึ้นทุกอำเภอ รวมทั้งอำเภอชายแดนกัมพูชา ลาว พม่า จัดตั้งตามกำลังงบประมาณและตามความจำเป็น ทั้งนี้โดยการปรึกษากันของกองอาสารักษาดินแดน กรมยุทธการทหารบก กอ.ปค. และได้เชิญกองทัพภาคต่าง ๆ ทุกภาคทั่วราชอาณาจักรร่วมประชุมปรึกษาหารือว่าสมควรตั้งที่ใด

          ในปี 2506 กองอาสารักษาดินแดนจึงได้เข้ามาสังกัดอยู่ในกรมการปกครองมีฐานะเป็นส่วนราชการระดับกอง บริหารราชการเกี่ยวกับกิจการกองอาสารักษาดินแดนทั่วราชอาณาจักร

          เมื่อประกาศกฏอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนอยู่ในบังคับของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาการตามกฎหมายฉบับนี้

การจัดตั้งและการแบ่งส่วนกองอาสารักษาดินแดน

          กองอาสารักษาดินแดนให้จัดตั้งเป็นองค์การขึ้นอยู่ใน กระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็น
นิติบุคคล เรียกว่า กองอาสารักษาดินแดน และกองอาสารักษาดินแดน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

          1. ส่วนกลาง

          2. ส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย กองอาสารักษาดินแดนจังหวัดและกองอาสารักษาดินแดนอำเภอ

คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน

          คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดนมีจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน แต่ไม่เกิน 20 คนประกอบด้วย

          1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน

          2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธาน

          3. กรรมการอื่น เลขาธิการ รองเลขาธิการ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งและถอดถอนโดยอนุมัติจาก คณะรัฐมนตรี

อำนาจหน้าที่คณะกรรมการกลางกองอาสารักษาดินแดน[1]

          1. กำหนดวิธีรับสมัคร วิธีคัดเลือก และการให้ออกจากสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน

          2. กำหนดยศ ชั้น ของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน

          3. กำหนดเหล่าของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน

          4. กำหนดหลักสูตร การอบรม และการฝึก

          5. กำหนดการใช้จ่ายและงบประมาณของกองอาสารักษาดินแดน

          6. กำหนดการเก็บ รักษา และการใช้อาวุธ

สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน       

          การเข้าเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนให้ทำโดยวิธีรับสมัครผู้อาสา แต่ถ้าไม่มีบุคคลสมัคร หรือไม่เพียงพอให้มีการเรียกบุคคลให้มาสมัครเพื่อคัดเลือกโดยตราเป็น พระราชกฤษฎีกา การรับบุคคลเข้าเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อรับสมัคร โดยสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

          1. มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในท้องที่ที่เข้าเป็นสมาชิก

          2. มีสัญชาติไทย

          3. มีอายุตั้งแต่ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์

          4. มีร่างกายสมบูรณ์ และสมควรแก่การเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน

          5. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ

          6. ไม่เป็นพระภิกษุ สามเณร หรือนักบวชแห่งศาสนาใด

          7. ไม่เป็นสมาชิกกองอาสากาชาด

          8. ไม่เป็นทหารหรือตำรวจประจำการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

          9. ไม่เป็นผู้มีพฤติการณ์อันเป็นที่รังเกียจ เช่น เป็นคนเสเพลอันธพาล หรือเป็นผู้ติด
ยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย เป็นต้น

ประเภทของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน มี 3 ประเภท

          1. ประเภทสำรอง คือสมาชิกที่ยังไม่ได้เข้ารับการฝึกหัดและอบรม

          2. ประเภทประจำกอง คือสมาชิกที่ได้รับการฝึกหัดและอบรม และบรรจุในอัตรากำลัง

          3. ประเภทกองหนุน คือสมาชิกที่ได้ปลดออกจากประจำกอง

หน้าที่ของกองอาสารักษาดินแดน[2]

          1. บรรเทาภัยที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของข้าศึก

          2. ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

          3. รักษาสถานที่สำคัญและการคมนาคม

          4. ป้องกันจารกรรม สดับตรับฟัง และรายงานข่าว

          5. ทำการช่วยให้ความสะดวกแก่ฝ่ายทหารตามที่ทหารต้องการ และตัดทอนกำลังข้าศึก

          6. เป็นกำลังสำรองส่วนหนึ่งที่พร้อมจะเพิ่มเติมและสนับสนุนกำลังทหารได้เมื่อจำเป็น

การอบรม การฝึกและบทกำหนดโทษ

          สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ที่ถูกเรียกเข้ารับการอบรม ให้ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างให้ความสะดวกแก่สมาชิก ไม่ตัดเงินรายเดือน หรือค่าจ้างภายในกำหนดไม่เกิน 2 เดือน

          ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในพระราชกฤษฎีกา ให้ปรับไม่เกิน 1,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี ผู้ใดแต่งเครื่องแบบ ประดับ ใช้ธง เครื่องหมาย โดยไม่มีอำนาจ ให้ปรับไม่เกิน 1,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี

ค่าตอบแทนและเงินค่าเบี้ยเลี้ยง

          วันที่ 13 สิงหาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติเห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทน เงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวและเงินช่วยเหลือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทย ที่มีสาระสำคัญคือ ขอให้มีการปรับอัตราเงินค่าตอบแทนของสมาชิกสมาชิกอาสารักษาดินแดน เพิ่มขึ้น ในอัตราร้อยละ 5 มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554

          สำหรับระยะเวลาการปรับขึ้นเงินค่าตอบแทนตามร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนฯ มีรายละเอียด ดังนี้

          1. ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2554 ถึง 31 ธันวาคม 2554 ปรับใหม่ เป็น อัตราขั้นต่ำ 8,610 บาท และอัตราขั้นสูง 12,285 บาท

          2. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป ปรับใหม่ เป็น อัตราขั้นต่ำ 9,000 บาท และอัตราขั้นสูง 12,285 บาท

กฎกระทรวง

กฎกระทรวง (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ. 2497

ธงประจำกองอาสารักษาดินแดน

          ธงประจำกองอาสารักษาดินแดน มีลักษณะและสัณฐาน ดังนี้

          1. ยอดคันธง เป็นรูปตรีทำด้วยโลหะสีทอง ตอนบนเป็นรูปพระขรรค์ทำด้วยโลหะสีเงินประดิษฐานพระพุทธรูปภายใน

          2. ใต้ฐานยอดคันธงชิดกับมุมบนของธงด้านเสา มีแถบธงชาติเป็นโบหูกระต่ายห้อยทั้งสอง มีส่วนยาวเลยมุมธงด้านล่าง ชายแถบทั้งสองเป็นครุย

          3. ธงสี่เหลี่ยม ลักษณะและสัณฐานเหมือนธงชาติมีส่วนและขนาดพองามพื้นธงมุมบนด้านหน้าใกล้คันธงมีพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลสีเหลืองภายใต้มีอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อสีทอง ขลิบริมสีเหลือง รัศมีสีทอง

          4. ตรงกิ่งกลางธงด้านหน้า มีรูปพระนเรศวรทรงช้างภายในวงกลมสีแดงมีขอบสีเหลือง มีตัวอักษรสีเหลืองเขียนว่า `กองอาสารักษาดินแดน’ เป็นแถวโค้งโอบใต้รูปวงกลม

          5. ตรงกึ่งกลางธงด้านหลัง มีรูปช่อชัยพฤกษ์ มีอุณาโลมอยู่กลางภายใต้พระมหามงกุฎ

          6.  ริมชายธงตอนที่ตรงกับคันธงเป็นสีแดง ส่วนริมชายธงด้านอื่น ๆ เป็นครุยสีเหลือง


[1] แยกความแตกต่างระหว่างหน้าที่ของ อส.ข้อสังเกต คือ คณะกรรมการกลางจะไปแนวทางนโยบายกว้างๆ + มีคำว่ากำหนด ส่วน อส. จะเป็นการกระทำ เช่น บรรเทา รักษา ป้องกัน สะดวก

[2] ข้อสอบปลัดอำเภอปี 2548