ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการช่วยเหลือเจ้าพนักงานของหน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน พ.ศ. 2551

          “หน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน” คือ หน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง และให้หมายความรวมถึงชุดรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้าน

          “ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน” คือ ราษฎรอาสาสมัครในพื้นที่ ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน โดยได้รับการแต่งตั้งจากนายอำเภอ เรียกโดยย่อว่า “ชรบ.”

การแต่งตั้ง

          ให้ผู้ใหญ่บ้านพิจารณาคัดเลือกราษฎร แล้วเสนอให้นายอำเภอแต่งตั้งเป็น ชรบ. และให้นายอำเภอเป็นผู้จัดทำทะเบียนประวัติของ ชรบ. โดยมีสิทธิใช้แต่งเครื่องแต่งกาย ประดับเครื่องแบบ และใช้อาวุธของทางราชการ

การฝึกอบรม ชรบ.

          ปกติให้กรมการปกครองเป็นผู้จัดฝึกอบรม แต่ถ้ามีความจำเป็นให้จังหวัด หรืออำเภอจัดฝึกอบรมได้ ผู้ที่จะเข้าฝึกอบรมหลักสูตร ชรบ. ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

          1. มีสัญชาติไทย

          2. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสามารถเข้ารับการฝึกอบรมได้

          3. อยู่ในหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 3 เดือน

          4. เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

          5. เป็นผู้มีความประพฤติดี

โครงสร้างและการจัดหน่วย

1. อำเภอให้มี กองพันหน่วยรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน

          นายอำเภอ เป็นผู้บังคับกองพัน

          ปลัดอำเภอ ตำรวจชั้นสัญญาบัตร และข้าราชการในพื้นที่ที่นายอำเภอแต่งตั้ง เป็นรองผู้บังคับกองพัน

2.  ตำบลให้มี กองร้อยหน่วยรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน

          ปลัดประจำตำบล เป็นผู้บังคับกองร้อย

          ข้าราชการอื่นที่นายอำเภอแต่งตั้ง เป็นรองผู้บังคับกองร้อย

          กำนันในตำบล เป็นผู้ช่วยผู้บังคับกองร้อย

3.  หมู่บ้านให้มี หมวดหน่วยรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน โดยหมวดหน่วยรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ให้แบ่งการปกครองอย่างน้อย 2 หมู่ โดยมี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้บังคับหมู่ ในแต่ละหมู่ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน โดยพิจารณาตามความเหมาะสม

          ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้บังคับหมวด

          ตำรวจ หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน จำนวน 2 คน เป็นผู้ช่วยผู้บังคับหมวด

การบังคับบัญชา และการสั่งใช้ ชรบ.

          1. ผู้บังคับกองพัน มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชา ในเขตอำเภอ

          2. ผู้บังคับกองร้อย มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชา ในเขตตำบล

          3. ผู้บังคับหมวด มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชา ในเขตหมู่บ้าน

          4. ผู้บังคับหมู่ มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชา ให้การสนับสนุนการปฏิบัติงาน

การช่วยเหลือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่

          ถ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าพนักงานอื่น ได้ร้องขอให้ช่วยเหลือ ให้ ชรบ. ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือได้ในเรื่อง ดังต่อไปนี้

          1. อยู่เวรยาม

          2. ตรวจตระเวน

          3. สืบสวนหาข่าว

          4. เฝ้าระวังรักษาสถานที่สำคัญ ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะที่ผ่านเข้าออกหมู่บ้าน

          5. รายงานเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่

          6. ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา

          7. ตรวจค้นบุคคลหรือยานพาหนะ ซึ่งมีเหตุสงสัยตามสมควร

          8. จับผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และควบคุมตัวผู้ถูกจับส่งผู้บังคับบัญชา หรือตำรวจ

          9. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

บัตรประจำตัว เครื่องแต่งกาย และเครื่องหมาย

          ให้นายอำเภอเป็นผู้ออกบัตรประจำตัวและควบคุมบัตรประจำตัวของ ชรบ. โดยให้บัตรประจำตัว ชรบ. มีอายุ 6 ปี ถ้าพ้นก่อนครบ 6 ปี ให้คืนบัตรแก่ผู้บังคับบัญชา ภายใน 7 วัน

เครื่องแต่งกายและเครื่องหมาย ชรบ.

          1. หมวกแก๊ปทรงอ่อนสีน้ำเงิน

          2. เสื้อคอเปิดแขนยาวสีน้ำเงิน

          3. กางเกงขายาวสีน้ำเงิน

          4. เข็มขัดด้ายถักสีน้ำเงิน

          5. รองเท้าหุ้มส้นสีดำ