การทะเบียนคนต่างด้าว

พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493

ความเป็นมา

          เมื่อก่อนงานทะเบียนคนต่างด้าวเป็นงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ล่าสุดได้มีหนังสือ ที่ มท 0308.2/ว 15786 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 ให้ถ่ายโอนงานทะเบียนคนต่างด้าวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาให้กรมการปกครองรับผิดชอบ ตามมติคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2554 โดยกำหนดให้ถ่ายโอนฯ ในเดือน มีนาคม 2557

ความหมาย

          คนต่างด้าว หมายความว่า คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ

          ใบสำคัญประจำตัว หมายความว่า หนังสือประจำตัวของคนต่างด้าว และใบสำคัญประจำตัวมีกำหนดอายุดังนี้
                    1. ชนิดที่หนึ่ง อายุ 1 ปี

                    2. ชนิดที่สอง อายุ 5 ปี

          ถ้าใบสำคัญประจำตัวหมดอายุ ชำรุด สูญหาย เปลี่ยนแปลงสัญชาติ อาชีพ ชื่อ สกุล ให้แจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ภายใน 7 วัน

ห้ามมิให้ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวต่อไปนี้

          1. ผู้นั้นเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างในรัฐบาลไทย

          2. ผู้ซึ่งรัฐบาลต่างประเทศได้แจ้งแก่รัฐบาลว่าได้เข้ามาเพื่อปฏิบัติราชการ

          3. ผู้ถือเอกสารเดินทางซึ่งออกโดยองค์การสหประชาชาติ (UN)

          4. บุคคลที่ไม่นับเป็นบุคคลเข้าเมืองตามกฎหมายคนเข้าเมือง

อายุคนต่างด้าวที่ต้องมีใบสำคัญประจำตัว

          คนต่างด้าวที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปต้องมีใบสำคัญประจำตัว และให้ไปขอใบสำคัญประจำตัวภายใน 7 วัน นับแต่วันที่อายุครบกำหนด 12 ปีบริบูรณ์ การขอใบสำคัญให้ทำเป็นเรื่องราวพร้อมด้วยรูปถ่าย 3 รูป และให้รวมถึงคนสัญชาติไทย ที่เสียสัญชาติไทยไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ให้ไปขอใบสำคัญประจำตัวจากนายทะเบียนภายใน 30 วัน

คนต่างด้าวย้าย ออกนอกเขต หรือตาย

          คนต่างด้าวย้ายภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ให้ไปแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่วันไปถึง แต่ต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันแจ้งย้าย หรือคนต่างด้าวออกนอกเขตจังหวัดหรือภูมิลำเนาชั่วคราวเกิน 7 วัน ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 48 ชั่วโมง และถ้าคนต่างด้าวตาย ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ภายใน 24 ชั่วโมง

ผู้ทำการแทนคนต่างด้าว    

          ผู้อนุบาล หรือผู้ปกครอง หรือผู้แทนโดยชอบธรรมที่ผู้เยาว์มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อคนต่างด้าวบุคคลนั้น

ค่าธรรมเนียม

          การออกใบสำคัญประจำตัวหรือต่ออายุใบสำคัญประจำตัวให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมไม่เกินปีละ 400 บาท และใบแทนใบสำคัญประจำตัวให้เรียกค่าธรรมเนียมได้ไม่เกิน 200 บาท