การอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน

          นับแต่ประเทศไทยได้มีระบบการสอบสวนคดีอาญามาแต่โบราณนั้น อำนาจการสอบสวนคดีอาญาได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งในลักษณะต่างๆ กันคือ บางสมัยตำรวจเป็นผู้สอบสวนฝ่ายเดียว บางสมัยอำเภอสอบสวนฝ่ายเดียว และบางสมัยก็สอบสวนร่วมกัน ครั้งสุดท้ายอำนาจการสอบสวนเป็นของอำเภอฝ่ายเดียวตลอดมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปี (ถึง พ.ศ. 2502 ในขณะนั้น) กระทรวงมหาดไทยได้ออกข้อบังคับ ที่ 8/2502 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2502 หลักการสำคัญคือเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนจากนายอำเภอและปลัดอำเภอเป็นเจ้าหน้าที่ตำตรวจ ส่วนหัวหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอเช่นเดิม ข้อบังคับนี้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2503 เป็นต้นไป การสอบสวนก็ดำเนินการไปฝ่ายเดียวตลอดมา เว้นแต่บางอำเภอเท่านั้นที่มีฝ่ายอำเภอเข้าไปสอบสวนอยู่ด้วย แต่ก็เป็นเพียงการเข้าไปสอบสวนเฉพาะเรื่องเท่านั้น จนถึง พ.ศ. 2506 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่การสอบสวนคดีอาญาอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่โอนอำนาจหน้าที่การสอบสวนคดีอาญาจากอำเภอไปให้ตำรวจดำเนินการแต่ผู้เดียว ตามข้อบังคับที่ 1/2506 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2506 เรื่อง ระเบียบการสอบสวนคดีอาญาในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี โดยเป็นการโอนอำนาจไปซึ่งพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองมิได้มีหน้าที่ร่วมอยู่ด้วยเลย

          เมื่อได้ใช้ข้อบังคับการสอบสวนคดีอาญา ตามข้อบังคับที่ 1/2506 เป็นหลักปฏิบัติสำหรับการสอบสวนคดีอาญาในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2506 เป็นต้นมาการสอบสวนคดีอาญาก็เป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจแต่ฝ่ายเดียว โดยฝ่ายอำเภอมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ปรากฏว่าเหตุการณ์โจรผู้ร้ายทวีความรุนแรงขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก ทั้งนี้เพราะกำลังเจ้าหน้าที่ไม่พอที่จะปราบปรามโจรผู้ร้ายได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายปกครอง ซึ่งฝ่ายปกครองก็ไม่สามารถที่จะให้ความช่วยเหลือได้ เพราะข้อบังคับและคำสั่งห้ามไว้และฝ่ายตำรวจก็ไม่ต้องการให้ฝ่ายปกครองเข้าไปแทรกแซงเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ โดยฝ่ายตำรวจอ้างว่างานสอบสวนเป็นงานเทคนิค เป็นเรื่องของกรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ที่จะดำเนินการโดยเฉพาะ ฝ่ายปกครองเข้าไปแทรกแซงงานในหน้าที่ของตำรวจไม่ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการใหม่ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมากที่ 0310/2175 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2507 มีสาระสำคัญโดยสรุป คือให้พนักงานฝ่ายปกครองของกระทรวงมหาดไทยทุกระดับ ตลอดถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำการจับกุมผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาใดๆ ได้ตามที่สมควรและจำเป็น เมื่อทำการจับกุมแล้วให้นำส่งตำรวจเพื่อทำการสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ถึงแม้จะมีหนังสือฉบับดังกล่าวออกมาบังคับแต่โจรผู้ร้ายก็มิได้ลดลงแต่อย่างใด กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการสอบสวนคดีอาญาใหม่ โดยข้อบังคับที่ 1/2509 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2509 ซึ่งไม่ได้แก้ไขหลักการสอบสวนแต่อย่างใดเพียงแต่แก้ไขเพิ่มอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอมีมากขึ้นในด้านการตรวจตราและควบคุมสั่งการเกี่ยวกับการสอบสวนคดีอาญา ข้อบังคับนี้จึงเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2509 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

          การอำนวยความเป็นธรรม เป็นหลักกว้างๆ ซึ่งการสอบสวนก็เป็นส่วนหนึ่งของการอำนวยความเป็นธรรม ในส่วนที่ได้เขียนไว้แล้วในการสอบสวนจะไม่นำมาเขียนอีก ส่วนมากจะเป็นเรื่องที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

          1. การอำนวยความเป็นธรรม หมายความว่า การช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมภายในกรอบของกฎหมาย โดยการปฏิบัติให้ทั้งฝ่ายผู้เสียหาย และผู้ถูกกล่าวหาได้รับความเสมอภาค

          2. ปลัดอำเภอกับการอำนวยความเป็นธรรม

                    – มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับนายอำเภออยู่ในตัว

                    – เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

                    – เป็นพนักงานสอบสวน

          3. งานอำนวยความเป็นธรรมทางอาญา (อยู่ในส่วนสรุปการสอบสวนคดีอาญา)

                    – ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย 1/2509

                    – คดีเกี่ยวกับป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติ

                    – สอบสวนคดีอาญาบางประเภท

                    – การทำความเห็นแย้งพนักงานอัยการ

                    – การละเมิดกฎหมายท้องถิ่น

          4. บทบาทของพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองในการอำนวยความเป็นธรรม

          ปลัดอำเภอ ตาม ป.วิอาญา ได้กำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวน ตาม ม.18 วรรคแรก และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ตาม พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ 2457 จึงอาจสรุปได้ว่า ปลัดอำเภอเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ อันมีอำนาจในการสอบสวนคดีอาญาได้ สำหรับกฎหมายทุกฉบับ และทุกมาตรา

1. ข้อบังคับที่ 1/2509

          สาระสำคัญของข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย 1/2509 จะอยู่ที่ข้อ 13 ล่าสุดเกิดความสับสนกันขึ้นระหว่างกรมการปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวนและมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไป ทำให้เกิดความสับสนว่าเป็นการตัดอำนาจของพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองหรือไม่ โดยภายหลังนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกมาชี้แจงว่าเป็นการวางระเบียบปฏิบัติภายในของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและข้าราชการตำรวจโดยเฉพาะไม่มีผลยกเลิกการใช้อำนาจควบคุมการสอบสวนคดีอาญาทั่วไป ของปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 เนื่องจากข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 ดังนั้น ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว จึงยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 183/2545 จนกว่าจะมีการตรา

กฎกระทรวงหรือข้อบังคับโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 ในเรื่องเดียวกันมายกเลิก ตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ 66/2553 ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เคยเสนอร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสอบสวนคดีอาญาโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ กำหนดให้ตำรวจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีอาญาทั่วไปฝ่ายเดียว แต่กระทรวงมหาดไทย สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และคณะกรรมาธิการการปกครองสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วยกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเนื่องจากขัด พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ปกครองและบริหารราชแผ่นดิน และยังมีผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและการอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน จึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ใช้อำนาจควบคุมการสอบสวนตามข้อบังคับตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 และถือปฏิบัติตามข้อบังคับที่ 1/2509 ข้อ 13 ต่อไป

ข้อ 13

          ความว่า “การสอบสวนคดีที่ข้าราชการส่วนภูมิภาค ข้าราชการส่วนท้องถิ่น เทศมนตรี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล และกรรมการองค์การบริหารส่วนตำบลที่ต้องหาคดีอาญาเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ หรืออ้างว่าได้กระทำตามหน้าที่ ให้พนักงานสอบสวนผู้รับร้องทุกข์หรือกล่าวโทษรีบมาแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอแล้วแต่กรณีทราบโดยด่วน เพื่อสั่งให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองร่วมกับพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจสอบสวนดำเนินคดี และถ้าเป็นเรื่องที่เสนอมายังส่วนกลางหรือเป็นเรื่องที่ส่วนกลางดำเนินการเอง ให้กรมการปกครองและกรมตำรวจจัดพนักงานสอบสวนของแต่ละฝ่ายร่วมกันสอบสวนดำเนินคดี”

1.1 การสอบสวนคดี

          1. ข้าราชการส่วนภูมิภาค

          2. ข้าราชการส่วนท้องถิ่น

          3. เทศมนตรี

          4. กำนัน

          5. ผู้ใหญ่บ้าน

          6. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

          7. แพทย์ประจำตำบล

          8. สารวัตรกำนัน

          9. กรรมการสุขาภิบาล

          10. กรรมการ อบต.

1.2 ต้องหาคดีอาญา

          เพราะได้กระทำตามหน้าที่ อ้างว่าได้กระทำการตามหน้าที่

1.3 หน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่รับคำร้องทุกข์กล่าวโทษ

          รีบแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ แล้วแต่กรณีทราบโดยด่วน เพื่อสั่งให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองเข้าร่วมกับ พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ สอบสวนดำเนินคดี

1.4 เรื่องที่เสนอส่วนกลาง

          ให้ส่วนกลางดำเนินการเอง ให้กรมการปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดพนักงานสอบสวนแต่ละฝ่ายร่วมสอบสวนดำเนินคดี

1.5 ข้อสังเกต

          1. ผู้ต้องหาที่เป็นข้าราชการตามข้อบังคับไม่รวมถึงข้าราชการส่วนกลางที่ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค

          2. เป็นการกระทำผิดเพราะทำตามหน้าที่หรืออ้างว่าทำตามหน้าที่

          3. ฝ่ายตำรวจเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน

2. ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523

2.1 ทั่วราชอาณาจักร

          การสอบสวนการกระทำความผิดที่เกิดทั่วราชอาณาจักร ปลัดกระทรวงมหาดไทย จะให้พนักงานสอบสวนมาชี้แจง เรียกสำนวนมาตรวจสอบ เร่งรัดการดำเนินการก็ได้

          1. ให้พนักงานสอบสวนมาชี้แจง เรียกสำนวนมาตรวจพิจารณาให้คำแนะนำ เร่งรัดให้เป็นผลดี และในทางที่ชอบและเหมาะสม

          2. ถ้าปลัดกระทรวงมหาดไทย เห็นว่าการดำเนินการตามข้อ 1. ไม่ได้ผล ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนและมีอำนาจ

          – สั่งแต่งตั้ง พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ

          – สั่งอนุญาตไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

          – เปลี่ยนตัว พนักงานสอบสวน

          – ให้ พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง เข้าร่วมทำการสอบสวนมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลง

          – อำนาจ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ให้เป็นอำนาจปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือผู้ได้รับมอบหมาย เว้นจะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

2.2 ภายในจังหวัด

          การสอบสวนการกระทำความผิดที่เกิดในจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด จะให้พนักงานสอบสวนมาชี้แจง เรียกสำนวนมาตรวจสอบ เร่งรัดการดำเนินการก็ได้

          1. ให้พนักงานสอบสวนมาชี้แจง เรียกสำนวนมาตรวจพิจารณา ให้คำแนะนำเร่งรัดให้เป็นผลดี และในทางที่ชอบและเหมาะสม

          2. ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัด เห็นว่าการดำเนินการตามข้อ 1. ไม่ได้ผล ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจเข้าควบคุมการสอบสวนและมีอำนาจ

          – สั่ง พนักงานสอบสวนดำเนินการตามที่เห็นสมควร

          – สั่งอนุญาต ไม่อนุญาต ปล่อยชั่วคราว

          – เปลี่ยนตัว พนักงานสอบสวน

          – ให้ พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง เข้าร่วมทำการสอบสวน

          – เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิอาญา ม. 18 วรรคท้าย

          – เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิอาญามาตรา 140

2.3 เหตุสำคัญ เหตุจำเป็น

          ถ้ามีเหตุสำคัญ เหตุจำเป็น สมควรให้ พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ทำการสอบสวน ร่วมทำการสอบสวน ให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หรือผู้รักษาราชการแทนเสนอความเห็นต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อสั่งการ[1]

2.4 กรณี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ประสบเหตุความผิดอาญาควรทำการจับกุม

          ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ทำการจับกุม ถ้าไม่จับให้สั่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ
เจ้าพนักงานอื่นทำการจับกุมเพื่อประโยชน์ในการสอบสวน ผู้ว่าราชการจังหวัด  นายอำเภอ สืบสวน สอบสวน หรือสั่งให้ เจ้าหน้าที่รวบรวมหลักฐาน ต่าง ๆ ที่เกิดเหตุ ส่งหลักฐานบุคคลให้ พนักงานสอบสวนท้องที่ดำเนินการ หรือดำเนินการดังนี้

          1. ตรวจตัวบุคคล

          2. ตรวจสิ่งของ

          3. ค้นเพื่อพบสิ่งของ

          4. ยึดไว้สิ่งของที่ค้นพบ

          5. สอบปากคำบุคคล

          6. ดำเนินการอื่นเท่าที่จำเป็น

          กรณีที่จะออกหมายจับ ตาม ป.วิอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก คดีที่มีโทษปรับสถานเดียวไม่เกิน 2,000 บาท ในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ข้อความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด

          เมื่อมีเหตุสำคัญ หรือกรณีจำเป็น สมควรให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองทำการสอบสวนหรือร่วมในการสอบสวน หรือร่วมสอบสวนคดีอาญา ให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หรือผู้รักษาราชการแทนเสนอเหตุผลต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อสั่งการ

          คดีที่งดการสอบสวน คดีที่ไม่ปรากฏว่าผู้ใดกระทำความผิด ที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าควรงดการสอบสวน ให้ถือปฏิบัติ ดังนี้

                    1. คดีทั่วไป จะต้องสืบสวนสอบสวนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน

                    2. คดีอุกฉกรรจ์ จะต้องสืบสวนสอบสวนมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

3. ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเปรียบเทียบและการสอบสวนคดีละเมิดข้อบัญญัติท้องถิ่น 2547

          พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง มีอำนาจเปรียบเทียบข้อบัญญัติท้องถิ่น ที่มีโทษปรับสถานเดียวไม่เกิน 10,000 บาท หรือความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

          คดีที่ได้เปรียบเทียบเสร็จแล้ว ให้ส่งสำนวนการเปรียบเทียบไปยังพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองภายใน 15 วัน

          ถ้าผู้เสียหายไม่ยอมให้เปรียบเทียบคดี ให้บันทึกถ้อยคำหรือเหตุที่ไม่ชำระค่าปรับไว้ในสำนวนการเปรียบเทียบ แล้วส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองดำเนินคดี หรือถ้าคดีใดเกินอำนาจเปรียบเทียบของข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับ ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ภายใน 3 วัน เพื่อดำเนินการต่อไป

          เมื่อพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองได้สำนวนการเปรียบเทียบแล้ว ถ้าเห็นว่าการเปรียบเทียบคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้บันทึกความเห็นว่าไม่ชอบ แล้วให้ส่งสำนวนพร้อมทำความเห็นไปยังพนักงานอัยการ พร้อมทั้งให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองแจ้งเหตุไม่ชอบด้วยกฎหมายไปยังผู้มีอำนาจเปรียบเทียบ ภายใน 15 วัน

          เมื่อพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองได้รับเรื่องเกินอำนาจเปรียบเทียบข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเห็นว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจของตน ให้ส่งเรื่องไปให้พนักงานสอบสวนอื่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ภายใน 7 วัน

4. ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการปฏิบัติหน้าที่ชันสูตรพลิกศพของพนักงานฝ่ายปกครอง พ.ศ. 2543

          กรณีความตายเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรืออยู่ระหว่างควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้พนักงานฝ่ายปกครอง[2] เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับ พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน แพทย์[3]

          กรณีมีการตายเกิดขึ้น โดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองผู้ทำหน้าที่ชันสูตรพลิกศพรีบแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอทราบ

          เมื่อได้รับแจ้งว่ามีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ให้ปฏิบัติ ให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอ เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับ พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน และแพทย์

4.1 ที่ปรึกษา   

          1. ในจังหวัดเป็นอำนาจของ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจเข้าไปร่วมให้คำปรึกษา หรือคำแนะนำแก่พนักงานฝ่ายปกครองก็ได้ แต่การลงชื่อในรายงานชันสูตรให้เป็นหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครอง เว้นแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดประสงค์จะเข้าร่วมชันสูตรพลิกศพด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทน กรณีเช่นนี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงชื่อในรายงานชันสูตรพลิกศพ

          2. ทั่วราชอาณาจักรเป็นอำนาจของ ปลัดกระทรวงมหาดไทย อาจเข้าไปร่วมให้คำปรึกษา หรือคำแนะนำแก่พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองในจังหวัดอื่นได้

4.2 การชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิอาญา

          เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายผิดธรรมชาติหรือตายระหว่างอยู่ในควบคุมของ
เจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ การตายโดยผิดธรรมชาติ คือ

          1. ฆ่าตัวตาย

          2. ถูกผู้อื่นทำให้ตาย

          3. ถูกสัตว์ทำร้ายตาย

          4. ตายโดยอุบัติเหตุ

          5. ตายโดยมิปรากฏเหตุ 

          พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองไม่ได้เน้นการชันสูตรทั่วไป แต่เน้นการชันสูตรที่ความตาย     เกิดจากเจ้าพนักงาน และการตายโดยการกระทำของเจ้าพนักงานหรือระหว่างอยู่ในควบคุมของเจ้าพนักงาน เช่น ป.วิอาญา มาตรา 153 วรรคสาม กรณีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของ
เจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้พนักงานอัยการ พนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ปลัดอำเภอขึ้นไป แห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์

          ถ้าได้มีการชันสูตรพลิกศพแล้วความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทำความผิดอาญาไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด (ชันสูตรแล้วพบว่า การตายไม่ได้เกิดจากความผิดอาญา เช่น ศพลอยน้ำมา ผูกคอตาย ฆ่าตัวตาย สำนวนให้ส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด)

5. ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเปรียบเทียบและการสอบสวนคดีอาญาบางประเภท พ.ศ. 2521

          การเปรียบเทียบคดีอาญา หมายถึง การที่พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบ
คดีความผิดลหุโทษ คดีความผิดไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือคดีที่มีโทษปรับสถานเดียวไม่เกิน 2,000 บาท

          เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับภายใน 15 วัน ถือว่าคดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาด และเมื่อพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบเสร็จแล้ว ให้ส่งสำนวนผ่านหัวหน้าพนักงานสอบสวน ไปยังพนักงานอัยการ ถ้าพนักงานอัยการไม่มีคำสั่งภายใน 1 เดือน ถือว่าเห็นชอบ

หลักปฏิบัติของพนักงานสอบสวน

          1. ต้องยึดมั่นในความเที่ยงธรรม

          2. ต้องรีบกระทำโดยมิชักช้า

          3. การอ้างเหตุในการฝากขัง ให้กระทำในกรณีจำเป็น

          4. ต้องให้ความสะดวกแก่พยาน

          5. ต้องติดตามสำนวนการสอบสวนให้เสร็จโดยเร็ว

6. ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเปรียบเทียบความแพ่งในอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ พ.ศ. 2528

          การเปรียบเทียบความแพ่ง คือการที่นายอำเภอได้ใช้อำนาจฝ่ายตุลาการในทางความแพ่ง หรืออำนาจในทางปกครอง ทำการไกล่เกลี่ยและเปรียบเทียบความแพ่ง เพื่อให้มีการตกลงประนีประนอมความหรือระงับข้อพิพาทกัน บุคคลใดมีความประสงค์จะให้นายอำเภอเปรียบเทียบ ให้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อนายอำเภอ เมื่อนายอำเภอได้สอบถามผู้ร้องและปรากฏว่า

          1. คดีเกิดในอำเภอหรือกิ่งอำเภอ หรือผู้ถูกร้องมีภูมิลำเนาในอำเภอหรือกิ่งอำเภอ

          2. ทุนทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาท[4]

          คดีที่มีทุนทรัพย์เกิน 20,000 บาท หรือไม่มีทุนทรัพย์ ถ้าคู่กรณีมาขอให้นายอำเภอเปรียบเทียบให้ นายอำเภอดำเนินการเปรียบเทียบได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียก และถ้านายอำเภอเปรียบเทียบแล้ว คู่กรณีไม่ยอมตกลงกัน ให้ยกเลิกคดี แล้วแจ้งคู่กรณีไปยื่นฟ้องต่อศาล

          การส่งหมายเรียก ให้นายอำเภอเป็นผู้จัดการส่ง โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่ปกครองอื่น เป็นผู้นำส่ง การส่งหมายเรียก หากไม่พบบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นไม่อยู่ ให้ส่งแก่บุคคลที่มีอายุเกิน 20 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป

7. ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553

          ด้วยมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ได้กำหนดไว้ว่า ที่อันเป็นสาธารณประโยชน์ คือ ที่เลี้ยงปศุสัตว์ที่จัดไว้สำหรับราษฎรไปรวมเลี้ยงด้วยกัน เป็นหน้าที่ของนายอำเภอจะต้องคอยตรวจตรารักษาอย่าให้ผู้ใดเกียดกันเอาไปเป็นอาณาประโยชน์แต่เฉพาะตัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงได้ออกระเบียบนี้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2553

          ที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน หมายถึง ที่ดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าเป็นโดยสภาพธรรมชาติโดยการใช้ร่วมกันของประชาชน โดยทางนิติกรรม หรือโดยผลของกฎหมาย เช่น ที่ชายตลิ่ง ที่ป่าช้า ทางบก ทางน้ำ สวนสาธารณะ ที่เลี้ยงสัตว์ และที่สาธารณะประจำตำบลหรือหมู่บ้าน

7.1 อำนาจหน้าที่ในการดูแล

          อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดิน ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกรณีมีข้อพิพาทหรือคดีเกี่ยวกับที่ดิน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการระงับข้อพิพาทหรือร้องทุกข์กล่าวโทษภายใน 30 วัน นับแต่รู้ถึงเหตุแห่งข้อพิพาท และหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมิได้ดำเนินการ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเหตุผลและความจำเป็นให้นายอำเภอทราบภายใน 7 วัน และให้นายอำเภอเป็นผู้ดำเนินการหรือนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการก็ได้

7.2 การใช้ประโยชน์

          นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจใช้ หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช่ร่วมกัน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดและปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน

7.3 การจัดทำทะเบียน

          ที่ดิน เว้นแต่ชายตลิ่ง ทางบก ทางน้ำ ลำกระโดง ลำรางสาธารณะหรือทางระบายน้ำ รวมทั้งที่เรียกชื่ออย่างอื่น ให้นายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดทำทะเบียนที่ดินสาธารณะประโยชน์ตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดจำนวน 4 ชุด โดยเก็บรักษาไว้ที่อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานที่ดินจังหวัด ละกรมที่ดิน แห่งละ 1 ชุด

7.4 การตรวจสอบข้อเท็จจริง

          การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดิน เช่น ประวัติความเป็นมา ที่ตั้ง ขอบเขต สภาพปัญหาและการแก้ไขปัญหา ให้เป็นหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาให้การสนับสนุน

7.5 ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา

          ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง
การตรวจสอบหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง การรังวัดทำแผนที่ การจัดทำทะเบียนที่ดินสาธารณะประโยชน์ ให้เบิกจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


[1] ข้อสังเกต

1. ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หรือผู้รักษาราชการแทนเท่านั้นเสนอ

2. ให้ พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ฝ่ายเดียวก็ได้หรือร่วมกับ พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจก็ได้

[2] ปลัดอำเภอ ปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอ นายอำเภอ ป้องกันจังหวัด จ่าจังหวัด

[3]  คล้ายกับ ป.วิอาญา ม.153 วรรคสาม

[4] ต้องออกหมายเรียก