1. กฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2544 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555
1.1 ความผิดอาญาที่พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองสอบสวนได้[1]
1. กฎหมายว่าด้วยกองอาสารักษาดินแดน
2. กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า
3. กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร
4. กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
5. กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
6. กฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ
7. กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
8. กฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน
9. กฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่
10. กฎหมายว่าด้วยภาษีป้าย
11. กฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน
12. กฎหมายว่าด้วยยศและเครื่องแบบผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน
13. กฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ
14. กฎหมายว่าด้วยโรงแรม
15. กฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ
16. กฎหมายว่าด้วยสุสานและฌาปนสถาน
1.2 หัวหน้าพนักงานสอบส่วน และพนักงานสอบสวน
ปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอ หรือนายอำเภอ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ถ้ามีเหตุอันควร ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่า ปลัดจังหวัด จะเข้ามาเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนก็ได้ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่งตั้งปลัดอำเภอเป็นพนักงานสอบสวน
1.3 พนักงานสอบสวนร่วม
ผู้ว่าราชการจังหวัด อาจขอให้อธิบดีกรมการปกครอง แต่งตั้งพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ในสังกัดกรมการปกครองไปร่วมสอบสวนคดีได้ และผู้ว่าราชการจังหวัด อาจประสานขอผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด แต่งตั้งพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจเข้าร่วมสอบสวนได้
1.4 สถานที่ควบควบคุมผู้ต้องหา
ในกรณีจำเป็นจะต้องควบคุมผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวน ให้พนักงานสอบสวน ฝ่ายปกครองควบคุมผู้ต้องหาไว้ ณ ที่ทำการของพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง เว้นแต่ไม่มีสถานที่ควบคุมเช่นว่านั้น ให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองมอบตัวผู้ต้องหาฝากควบคุมไว้ ณ สถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองตั้งอยู่และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการควบคุมไว้
1.5 การกันตัวผู้ต้องหาไว้เป็นพยาน
พนักงานสอบสวน อาจพิจารณากันตัวผู้ต้องหา ที่ไม่ใช่ตัวการสำคัญเป็นพยานได้ การกันตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ทำความเห็นเพื่อขออนุญาตต่อหัวหน้าพนักงานสอบสวน และผู้ว่าราชการจังหวัดตามลำดับ กรณีผู้ว่าราชการจังหวัดอนุญาตให้ทำหนังสือเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการ ถ้าพนักงานอัยการอนุญาต ให้พนักงานฝ่ายปกครองกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยาน ให้สรุปสำนวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหานั้น
1.6 การสอบสวนเสร็จสิ้น
พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองเห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้เสนอความเห็นต่อหัวหน้าพนักงานสอบสวนโดยไม่ชักช้า และให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนดำเนินการตาม ม.140 ป.วิอาญา และเมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด ให้พนักงานสอบสวนงดการสอบสวน หรือทำความเห็นการงดการสอบสวนตาม ม.140 (1) ป.วิอาญา ดังต่อไปนี้
1. ความผิดที่มีโทษไม่เกิน 3 ปี และได้สืบสวนสอบสวนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ให้พนักงานสอบสวนงดการสอบสวน และบันทึกเหตุที่งดไว้ พร้อมส่งสำนวนพร้อมด้วยบันทึกเหตุที่งด หรือความเห็นไปยังพนักงานอัยการ
2. ความผิดที่มีโทษเกินกว่า 3 ปี และได้สืบสวนมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นที่ควรให้งดการสอบสวน พร้อมส่งสำนวนพร้อมด้วยบันทึกเหตุที่งด หรือความเห็นไปยังพนักงานอัยการ
1.7 ผู้ควบคุมการสอบสวน
1. ทั่วราชอาณาจักร ผู้มีอำนาจควบคุมตรวจตรา หรือแนะนำ เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปตามกฎหมาย คือ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง รองอธิบดีกรมการปกครอง ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ และผู้อำนวยการส่วนและหัวหน้ากลุ่มงานในสำนักสอบสวนและนิติการ
2. ภายในเขตจังหวัด ผู้มีอำนาจควบคุมตรวจตรา หรือแนะนำ เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปตามกฎหมายในระดับจังหวัดคือ ผู้บังคับบัญชาฝ่ายปกครองตั้งแต่ปลัดจังหวัดขึ้นไป
2. กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ. 2553
กฎกระทรวงฉบับนี้เกิดจาก มาตรา 61/3 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2554 เป็นต้นมา โดยปลัดอำเภอ คือปลัดอำเภอที่นายอำเภอมอบหมายให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยคดีความผิดที่มีโทษอาญา ถ้าไม่ได้รับมอบ (แต่งตั้งตามคำสั่ง) ก็ไม่สามารถที่จะทำการไกล่เกลี่ยได้
2.1 ความผิดที่มีโทษทางอาญาที่ไกล่เกลี่ยได้
ความผิดที่มีโทษอาญา คือความผิดที่มีโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่น ที่เป็นความผิดอันยอมความได้ และมิใช่ความผิดเกี่ยวกับเพศ
ความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มีดังต่อไปนี้
ม. 272 เอาชื่อหรือยี่ห้อในทางการค้าของผู้อื่นมาใช้ ม. 209 วรรคแรก ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ ม. 310 วรรคแรก หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น ม. 311 หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นโดยประมาท ม.322 เปิดเผยความลับในจดหมายโทรเลข ม.323 เปิดเผยความลับ ของผู้อื่นที่รู้มาโดยหน้าที่ ม. 324 เปิดเผยความลับในทางอุตสาหกรรมหรือวิทยาศาสตร์ ม. 326 หมิ่นประมาทคนเป็น ม. 327 หมิ่นประมาทคนตาย ม. 328 หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ม. 341 ฉ้อโกงธรรมดา ม. 342 ฉ้อโกงประกอบด้วยเหตุพิเศษ ม. 344 หลอกลวงคนให้ไปทำงาน ม. 345 สั่งซื้ออาหารหรือเข้าอยู่ในโรงแรมโดยไม่มีเงิน ม. 346 ชักจูงให้เด็กเบาปัญญาขายของโดยเสียเปรียบ ม. 347 ฉ้อโกงในเรื่องประกันวินาศภัย ม. 349 ฉ้อโกงเจ้าหนี้จำนำ ม. 350 ฉ้อโกงเจ้าหนี้ธรรมดา ม. 352 ยักยอกทรัพย์ธรรมดา ม. 353 ยักยอกทรัพย์ในฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์แทนเขา ม. 354 ยักยอกทรัพย์ในฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์ตามคำสั่งศาล ม. 355 ยักยอกทรัพย์เก็บตก ม. 358 ทำให้เสียทรัพย์ตามธรรมดา ม. 359 ทำให้เสียทรัพย์ชนิดพิเศษ ม. 362 บุกรุกตามธรรมดา ม. 363 บุกรุกโดยย้ายเครื่องหมายอสังหาริมทรัพย์ ม. 364 เข้าไปซ่อนตัวในอาคารของคนอื่น ความผิดที่กฎหมายให้เป็นความผิดอันยอมความได้นอกเหนือจาก ลำดับ 1 – 30 เมื่อผู้เสียหายและผู้ต้องหาเป็นญาติกัน ม. 334 ลักทรัพย์ธรรมดา ม. 335 ลักทรัพย์ประกอบเหตุพิเศษ (เหตุฉกรรจ์) ม. 336 วรรคแรก วิ่งราวทรัพย์ตามธรรมดา ม. 343 ฉ้อโกงประชาชน ม. 357 รับของโจร ม. 360 ทำให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย ความผิดอันยอมความได้ตามกฎหมายอื่น พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ 2521 พ.ร.บ. ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค 2534 |
2.2 ผู้มีอำนาจในการไกล่เกลี่ย
บรรดาความผิดที่มีโทษทางอาญาที่เกิดขึ้นในเขตอำเภอใด ถ้าผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหายินยอมหรือแสดงความจำนงให้มีการไกล่เกลี่ย ให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามควรแก่กรณี
2.3 การเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
ผู้เสียหาย หรือผู้ถูกกล่าวหาผู้ใดประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือ หรือด้วยวาจาต่อนายอำเภอ หรือปลัดอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอนั้น[2] เมื่อได้รับแจ้งความประสงค์ ให้แจ้งผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาให้ทราบว่าจะยินยอมหรือแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหรือไม่ กรณีผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายตกลงยินยอม หรือแสดงความจำนงที่จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอแจ้งให้ทุกฝ่ายทราบ แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม หรือไม่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ให้การแจ้งความประสงค์สิ้นผลไป
กรณีที่นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอเห็นว่าสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา[3] ก่อนวันแจ้งความประสงค์ หรือก่อนวันที่นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอแจ้งให้ผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งทราบ ห้ามไม่ให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอรับข้อพิพาทนั้นไว้ไกล่เกลี่ย
2.4 ขั้นตอนการไกล่เกลี่ย
เมื่อผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหา ตกลงยินยอมตามที่ไกล่เกลี่ย ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอจัดทำเป็นหนังสือตกลงยินยอม และบันทึกข้อตกลงยินยอมไว้ในสารระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญา การดำเนินการไกล่เกลี่ยให้กระทำ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสถานที่ราชการอื่น และห้ามไม่ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอวินิจฉัยข้อเท็จจริง หรือชี้ขาดข้อพิพาท
ในการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับข้อพิพาท ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอทำต่อหน้า
ผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่าย เว้นแต่ผู้เสียหายหรือผู้ถูกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาตามนัดโดยไม่มีเหตุอันควรจะกระทำลับหลังผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหาได้ แต่ในการตกลงกันให้กระทำต่อหน้าผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่าย[4] ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหามีสิทธินำผู้ที่ตนไว้วางใจ ไม่เกิน 2 คน เข้ารับฟังการ ไกล่เกลี่ยได้ และผู้เสียหายหรือผู้ถูกกล่าวหา จะบอกเลิกการไกล่เกลี่ยเมื่อใดก็ได้ โดยทำเป็นหนังสือ หรือด้วยวาจา ต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอ
2.5 คำบังคับและการจำหน่ายคดี
เมื่อผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติตามความตกลงยินยอม ให้คดีอาญาเป็นอันเลิกกัน และสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิอาญา ในกรณีที่มีการร้องทุกข์หรือยื่นฟ้องต่อศาล ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอแจ้งต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณีและห้ามนายอำเภอหรือปลัดอำเภอจะเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไม่ได้ เว้นแต่เปิดเผยตามคำสั่งศาล และถ้าผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหา ได้ตกลงยินยอมตามที่
ไกล่เกลี่ยแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติไม่ครบถ้วน ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอจำหน่ายข้อพิพาทออกจากสารระบบการไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทคดีอาญา
2.6 ระยะเวลาในการไกล่เกลี่ย
ให้นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน เว้นแต่มีความจำเป็น และผู้เสียหาย และผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายยินยอม ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอขยายเวลาออกไปอีก ไม่เกิน 15 วัน ถ้าพ้นระยะเวลาดังกล่าว ถ้าผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาทุกฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอ จำหน่ายข้อพิพาทออกจากสารระบบ และนายอำเภอหรือปลัดอำเภอจะรับข้อพิพาทนั้นเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยอีกไม่ได้
3. กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.2553
กฎกระทรวงฉบับนี้ เกิดจาก ม.61/2 วรรค 6 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 บังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 5 มกราคม 2554 เป็นต้นไป
3.1 ข้อพิพาทที่ไกล่เกลี่ยได้
ข้อพิพาท คือข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน มรดก และข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท หรือมากกว่านั้น ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา[5]
3.2 ประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ย และบัญชีรายชื่อ
นายอำเภอ พนักงานอัยการ หรือปลัดอำเภอที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานคณะผู้
ไกล่เกลี่ย และอำเภอหนึ่งให้มีบัญชีรายชื่อบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามที่นายอำเภอเห็นสมควร แต่ต้องไม่น้อยกว่า 20 คน โดยให้นายอำเภอประกาศระยะเวลาการรับสมัครไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานที่ที่เป็นชุมชนตามที่เห็นสมควร เมื่อพ้นวันรับสมัครแล้ว ให้นายอำเภอรวบรวมรายชื่อผู้สมัครเสนอคณะกรมการจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบ ให้คณะกรมการจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายชื่อจากนายอำเภอ
3.3 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามขอบผู้สมัครเป็นผู้ไกล่เกลี่ย และการพ้นจากบัญชี
1. คุณสมบัติ
1.1 อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี
1.2 มีภูมิลำเนาในเขตอำเภอที่สมัคร
1.3 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
2. ลักษณะต้องห้าม
2.1 เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
2.2 เป็นบุคคลล้มละลาย เสมือนไร้ความสามารถ หรือวิกลจริตจิตไม่สมประกอบ
2.3 เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
2.4 เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
2.5 เคยถูกถอดถอนให้พ้นจากบัญชีรายชื่อ
3. ผู้ไกล่เกลี่ยพ้นจากบัญชีเมื่อ
3.1 ตาย
3.2 ลาออก ต่อนายอำเภอ
3.3 นายอำเภอสั่งให้พ้นโดยความเห็นชอบของคณะกรมการจังหวัด
3.4 ไม่เข้าร่วมไกล่เกลี่ยเกิน 2 ครั้ง
3.5 ถูกถอดถอนให้พ้นจากบัญชี
3.4 จรรยาบรรณของผู้ไกล่เกลี่ย
เมื่อคู่พิพาทร้องเรียนว่าผู้ไกล่เกลี่ยประพฤติผิดจรรยาบรรณ ให้นายอำเภอสอบสวนข้อเท็จจริง ถ้ามีมูลให้ดำเนินการถอดถอนจากบัญชีรายชื่อโดยความเห็นชอบของคณะกรมการจังหวัด ถ้าคู่พิพาทเห็นว่าประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ย ประพฤติผิดจรรยาบรรณ ให้ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา เว้นแต่นายอำเภอเป็นประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ย ให้พนักงานอัยการประจำจังหวัด ทำหน้าที่ประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยแทน และผู้ไกล่เกลี่ยต้องถือปฏิบัติตามจรรยาบรรณ ต่อไปนี้
1. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง
2. เข้าร่วมไกล่เกลี่ยทุกครั้ง
3. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว
4. ซื่อสัตย์สุจริต
5. ใช้วาจาสุภาพ
6. รักษาความลับ
7. ไม่ชี้ขาดข้อพิพาท หรือบีบบังคับให้คู่พิพาทลงลายมือชื่อ
3.5 การดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท
คู่พิพาทฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ย ให้แจ้งความประสงค์เป็นคำร้องขอต่อนายอำเภอ โดยทำเป็นหนังสือส่งด้วยตนเอง ส่งทางไปรษณีย์ หรือแจ้งด้วยวาจา เมื่อนายอำเภอได้รับคำร้องแล้ว ให้แจ้งคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งทราบ และสอบถามว่าประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยหรือไม่
เมื่อคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ให้นายอำเภอจำหน่ายคำร้องขอและแจ้งให้ผู้ร้องขอทราบ ถ้าคู่พิพาทตกลงยินยอมให้แจ้งเป็นหนังสือให้คู่พิพาททุกฝ่ายทราบ พร้อมกำหนดวัน เวลา สถานที่ เพื่อเลือกผู้ไกล่เกลี่ย และเลือกว่าจะให้นายอำเภอ พนักงานอัยการประจำจังหวัด หรือปลัดอำเภอ เป็นประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ย พร้อมให้นายอำเภอดำเนินการให้คู่พิพาทเลือกผู้ไกล่เกลี่ยของตน ถ้าคู่พิพาทไม่อาจเลือกประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยได้ ให้นายอำเภอเป็นผู้กำหนด
เมื่อเลือกหรือกำหนดผู้ไกล่เกลี่ยและประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ยแล้ว ให้ประธานคณะผู้
ไกล่เกลี่ยนัดประชุมคณะผู้ไกล่เกลี่ยภายใน 7 วัน เพื่อพิจารณาคำร้องขอ[6] กรณีเห็นว่าคำร้องขอไม่สุจริต หรือจะเกิดผลเป็นการได้เปรียบเสียเปรียบ ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยมีมติไม่รับคำร้องขอ และให้อำเภอส่งหนังสือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับนัดหมายการไกล่เกลี่ยไปยังคณะผู้ไกล่เกลี่ย และคู่พิพาททุกฝ่าย ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่คณะผู้ไกล่เกลี่ยรับคำร้องไว้ ถ้าคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่ายไม่มาตามนัด โดยไม่แจ้งเหตุผล หรือไม่ขอเลื่อนวันนัดหมาย หากเป็นคู่พิพาทที่ยื่นคำร้อง หรือคู่กรณีทุกฝ่าย ไม่มาตามกำหนดนัด ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยสั่งจำหน่ายคำร้องขอและยุติเรื่อง
การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททุกครั้ง คณะผู้ไกล่เกลี่ยต้องมาปฏิบัติหน้าที่ครบทุกคน โดยการไกล่เกลี่ยนั้นจะไกล่เกลี่ยพร้อมกันหรือแยกกันก็ได้ แต่ในการตกลงกันให้กระทำต่อหน้าคู่กรณีทุกฝ่าย ถ้าคณะผู้ไกล่เกลี่ยสงสัยว่าข้อพิพาทนั้นไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย ที่มิใช่เหตุอายุความ ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยยุติการไกล่เกลี่ย และจำหน่ายข้อพิพาท และในระหว่างดำเนินการ
ไกล่เกลี่ย หากคู่พิพาทไม่ประสงค์จะดำเนินการไกล่เกลี่ย คู่พิพาทมีสิทธิบอกเลิกต่อประธานผู้ไกล่เกลี่ย โดยทำเป็นหนังสือหรือวาจาก็ได้
การดำเนินการไกล่เกลี่ยต้องให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 เดือน เว้นแต่มีความจำเป็นและคู่พิพาทยินยอมให้ขยายเวลาออกไปอีก ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน แต่รวมระยะเวลาแล้วต้องไม่เกิน 1 ปี
กรณีที่คู่พิพาทไม่อาจตกลงกันได้ ให้คณะผู้ไกล่เกลี่ยสั่งจำหน่ายข้อพิพาทนั้น หรือกรณีคู่พิพาทตกลงกันได้ ให้ถือเอาข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันคู่พิพาท โดยผลของสัญญาประนีประนอมย่อมทำให้ข้อเรียกร้องเดิมระงับไป และทำให้คู่พิพาทได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ถ้าคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้คู่กรณีอีกฝ่ายยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการ ที่มีเขตอำนาจ และให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อออกคำบังคับให้ทำตามสัญญา โดยการยื่นคำร้องต่อศาลของพนักงานอัยการนั้นให้กระทำภายในกำหนด 3 ปี
3.6 อัตราค่าตอบแทน
1. ประธานคณะผู้ไกล่เกลี่ย ได้รับค่าตอบแทนครั้งละ 1,250 บาท แต่รวมแล้วไม่เกิน 6,250 บาท
2. ผู้ไกล่เกลี่ย ได้รับค่าตอบแทนครั้งละ 1,000 บาท แต่รวมแล้วไม่เกิน 5,000 บาท
3. ผู้ไกล่เกลี่ย ได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางครั้งละ 200 บาท แต่รวมแล้วไม่เกิน 500 บาท
4. ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการปฏิบัติงานประนีประนอมข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ. 2530
คณะกรรมการหมู่บ้าน คือ คณะกรรมการหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ. 2522 คณะกรรมการหมู่บ้านทั้งหมดจะดำเนินการประนีประนอมข้อพิพาทเองหรือจะมอบหมายให้คณะกรรมการไม่น้อยกว่า 2 คน ดำเนินการแทนก็ได้ และคณะกรรมการหมู่บ้านจะทำการประนีประนอมข้อพิพาทได้ในกรณีดังต่อไปนี้
1. ข้อพิพาทเกี่ยวกับความแพ่ง หรือความอาญาที่เป็นความผิดอันยอมความได้
2. ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงให้คณะกรรมการประนีประนอม
3. ข้อพิพาทเกิดขึ้นในหมู่บ้าน หรือคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาในหมู่บ้าน
เมื่อมีข้อพิพาท คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือทั้ง 2 ฝ่าย ประสงค์จะให้ข้อยุติลง ในระดับหมู่บ้าน ให้แจ้งผู้ใหญ่บ้าน และให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นัดหมายคณะกรรมการให้มาประนีประนอม
ถ้าคู่กรณีตกลงกันไม่ได้ ให้ยุติการประนีประนอม แล้วรายงานให้นายอำเภอทราบ ถ้าคู่กรณีตกลงกันได้ ให้ทำสัญญาประนีประนอมขึ้น 4 ฉบับ แล้วให้คณะกรรมการลงชื่อเป็นพยาน อย่างน้อย 2 คน และให้ผู้ใหญ่บ้านรายงานผลการประนีประนอม ต่อนายอำเภอทุกเดือน ในวันประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน
[1] เดิมกฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 ความผิดอาญาที่พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองทำการสอบสวนได้นั้นมี 19 ประเภท แต่เนื่องจากได้มีการประกาศใช้ กฎกระทรวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 ทำให้ความผิดอาญาที่พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองทำการสอบสวนได้เหลือเพียง 16 ประเภท ที่ตัดออกนั้นมี กฎหมายว่าด้วยการพนัน กฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน เหตุผลคือ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างที่ทำการพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองและห้องควบคุมตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน จะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ และความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน กฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนฯ เนื่องจากมีสถิติการเกิดคดีสูงและอาจเกี่ยวพันกับอาชญากรรมร้ายแรง จึงให้เป็นภารกิจหลักของตำรวจในการสอบสวน
[2] ถือเขตอำเภอ ไม่สนว่าผู้เสียหายจะอยู่ที่ใด
[3] ป.วิอาญา สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป (ม.39) ด้วยเหตุดังต่อไปนี้
1. ความตายของผู้กระทำผิด
2. คดีความผิดส่วนตัวเมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความ
3. คดีเลิกกันตาม ม.๓๗ (ปรับสถานเดียว ลหุโทษ)
4. มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
5. กฎหมายที่ใช้ภายหลังยกเลิกความผิด
6. คดีขาดอายุความ
7. มีกฎหมายยกเว้นโทษ
[4] การสอบถาม ทำลับหลังได้, การตกลง ทำลับหลังไม่ได้
[5] ข้อพิพาทที่ดินและข้อพิพาทมรดกนั้นไม่จำกัดทุนทรัพย์ ส่วนคดีแพ่งที่มีทุนมากกว่า 200,000 บาท ตาม
พระราชกฤษฎีกา ปัจจุบันยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาใดๆ ออกมา
[6] ถือว่าวันประชุมนี้เป็นวันแรกที่รับคำร้อง