กฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้

พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558

1. ทั่วไป

          พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ราชกิจจานุเบกษา 6  มีนาคม  2558 บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือตั้งแต่ 2 กันยายน 2558 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รักษาการ มีนิยามที่สำคัญดังนี้

          “ผู้ทวงถามหนี้” หมายความว่า เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันเป็นปกติธุระตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน และเจ้าหนี้อื่น ซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้อันเกิดจากการกระทำที่เป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึง ผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้และผู้รับมอบอำนาจจาก ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ด้วย

          “ผู้ให้สินเชื่อ”  หมายความว่า
                    1. บุคคลซึ่งให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ
                    2. บุคคลซึ่งรับซื้อหรือรับโอนสินเชื่อต่อไปทุกทอด

          “สินเชื่อ”  หมายความว่า สินเชื่อที่ให้แก่บุคคลธรรมดาโดยการให้กู้ยืมเงิน การให้บริการบัตรเครดิต การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลิสซิ่ง และสินเชื่อในรูปแบบอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

          “ลูกหนี้” หมายความว่า ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และให้หมายความรวมถึงผู้ค้าประกัน ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาด้วย

          “ธุรกิจทวงถามหนี้” หมายความว่า การรับจ้างทวงถามหนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมเป็นปกติธุระ แต่ไม่รวมถึงการทวงถามหนี้ของทนายความซึ่งกระทำแทนลูกความของตน

          “ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้” หมายความว่า ที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงานของลูกหนี้ และให้หมายความรวมถึงหมายเลขโทรศัพท์และโทรสาร และสถานที่ติดต่อโดยจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือโดยสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ที่สามารถติดต่อกับลูกหนี้ได้ด้วย

          “คณะกรรมการ”  หมายความว่า คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้

          “นายทะเบียน” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งให้เป็นผู้มีหน้าที่ รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้

          “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง ตามการเสนอแนะของคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

v การจดทะเบียน / ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้เป็นทนาย
         
บุคคลใดจะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจ ทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน[1] ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง บุคคลซึ่งจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้แล้ว ต้องประกอบธุรกิจ ทวงถามหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
         
กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้เป็นทนายความหรือสำนักงานทนายความ ให้คณะกรรมการสภาทนายความตามกฎหมายว่าด้วยทนายความทำหน้าที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน มีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียน มีอำนาจออกข้อบังคับ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษ
          สภานายกพิเศษ
ตามกฎหมายว่าด้วยทนายความมีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียน ที่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียน ที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ คำวินิจฉัยของสภานายกพิเศษให้เป็นที่สุด        ให้คณะกรรมการสภาทนายความและสภานายกพิเศษรายงานการดำเนินการของตน[2] ให้คณะกรรมการเพื่อทราบเป็นประจำทุก 3 เดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ

2. การติดต่อกับลูกหนี้

          ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้เว้นแต่บุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้
         
การติดต่อกับบุคคลอื่น ให้กระทำได้เพื่อวัตถุประสงค์ในการสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้นโดยผู้ทวงถามหนี้ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
         
1. แจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้
         
2. ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามีภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ ให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็นและตามความเหมาะสม
         
3. ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใดที่ใช้ในการติดต่อสอบถาม ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ ของลูกหนี้
         
4. ห้ามติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้

3. การปฏิบัติในการทวงถามหนี้

          การทวงถามหนี้ให้ผู้ทวงถามหนี้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

          1. สถานที่ติดต่อ ในกรณีที่ติดต่อโดยบุคคลหรือทางไปรษณีย์ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ได้แจ้งให้เป็นสถานที่ติดต่อ ในกรณีที่บุคคลดังกล่าว ไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้าหรือสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ไม่สามารถติดต่อได้ โดยผู้ทวงถามหนี้ได้พยายามติดต่อ ตามสมควรแล้ว ให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว

          2. เวลาในการติดต่อ การติดต่อโดยบุคคล โทรศัพท์สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยี สารสนเทศประเภทอื่น ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ให้ติดต่อได้ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 20.00 นาฬิกา และในวันหยุดราชการ เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 18.00 นาฬิกา

          3. ในกรณีที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ผู้ประกอบ ธุรกิจทวงถามหนี้ หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้แจ้งให้ ทราบถึงชื่อตัวและชื่อสกุล หรือชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้และจำนวนหนี้และถ้าผู้รับมอบอำนาจ ดังกล่าวทวงถามหนี้ต่อหน้า ให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย

4. ข้อห้าม 3 ประการของผู้ทวงถามหนี้[3]

1. ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำในลักษณะดังต่อไปนี้ (ทั่วไป)

          ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้

          1.1 การข่มขู่การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น

          1.2 การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น 

          1.3 การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง

          1.4 การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร เป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น

          1.5 การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ในการติดต่อลูกหนี้ ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ในข้อนี้มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล

          1.6 การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

2. ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด

          ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังต่อไปนี้
          2.1 การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ

          2.2 การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความสำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย

          2.3 การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน

          2.4 การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต

3. ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม
          ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมดังต่อไปนี้

          3.1 การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

          3.2 การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้

5. ข้อห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ

          ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ[4] ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ หรือทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน เว้นแต่ในกรณีที่เป็นหนี้ของสามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตน หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย

6. คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้

1. องค์ประกอบของคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้

          1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ 2.ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง 3.ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง 4.ปลัดกระทรวงกลาโหม 5.ปลัดกระทรวงพาณิชย์ 6.ปลัดกระทรวงยุติธรรม 7.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 8.เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 9.เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 10.ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 11.เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ12.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 13.นายกสภาทนายความ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง          14.ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 5 คนเป็นกรรมการ

          15.อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการของ กรมการปกครอง 2 คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

2. คุณสมบัติผู้ทรงคุณวุฒิและการพ้นจากตำแหน่ง
          กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในด้านการเงินการธนาคาร ด้านกฎหมาย หรือด้านการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างน้อยด้านละ 1 คน โดยมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้แต่จะแต่งตั้ง ให้อยู่ในตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระมิได้ ทั้งนี้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ให้แต่งตั้ง จากผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีสัญชาติไทยและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

          1. เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

          2. ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

          3. เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำ โดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

          4. เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งให้พักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

          5. เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะกระทำผิดวินัย หรือเคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากหน่วยงานของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

          6. เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ให้สินเชื่อ หรือเป็นผู้ให้สินเชื่อ หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

          1. ตาย

          2. ลาออก

          3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ออกเพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ

3. อำนาจหน้าที่
          คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการทวงถามหนี้ของผู้ทวงถามหนี้อำนาจหน้าที่ดังกล่าวให้รวมถึง

          1. ออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

          2. ออกข้อบังคับกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมการฯ และกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว

          3. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครองและคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียน การประกอบธุรกิจทวงถามหนี้

          4. กำหนดหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบและระยะเวลาการชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบ

          5. เสนอแนะหรือให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ตลอดจนเสนอแนะ คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการในกรณีมีปัญหาหรืออุปสรรคเกี่ยวกับการประสานงาน ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะกรรมการเปรียบเทียบ กรมการปกครอง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ทำการปกครองจังหวัด และกองบัญชาการตำรวจนครบาล

          6. เสนอแนะคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการในการคุ้มครองหรือช่วยเหลือลูกหนี้ ในด้านอื่น

          7. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

4. คณะอนุกรรมการ
          คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใด อย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้

          ให้คณะกรรมการแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการอย่างน้อยคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการทวงถามหนี้ ของผู้ให้สินเชื่อซึ่งเป็นนิติบุคคล ทั้งนี้คณะอนุกรรมการดังกล่าวอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้แทนสมาคมธนาคารไทยเป็นอนุกรรมการ โดยมี ข้าราชการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และเป็นผู้ช่วยเลขานุการ จำนวน 2 คน

5. หน่วยงานรับผู้ชอบงานธุรการ
          กรมการปกครอง รับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง[5] รับผิดชอบในงานธุรการของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการทวงถามหนี้ ของผู้ให้สินเชื่อซึ่งเป็นนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

          1. รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ[6]

          2. ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้หรือกำกับดูแลการปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้                    

          3. ประสานกับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบผู้ทวงถามหนี้ หรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้

          4. รณรงค์ประชาสัมพันธ์และอบรมวิธีการทวงถามหนี้ที่ถูกต้องและเหมาะสม

          5. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการได้มอบหมาย

7. คณะกรรมการระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร


1. คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด
          คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดประกอบด้วย

1.ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ 2.อัยการจังหวัด 3.ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกในพื้นที่ 4.ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด 5.คลังจังหวัด 6.ประธานสภาทนายความจังหวัด เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และ 7.ผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งเป็นกรรมการ

          8.ปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด แต่งตั้งข้าราชการของที่ทำการปกครองจังหวัด 2 คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

2. คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร
          คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครประกอบด้วย 1.ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธานกรรมการ 2.ผู้แทนกระทรวงการคลัง 3.ผู้แทนกรมการปกครอง 4.ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด 5.ผู้แทนมณฑลทหารบกที่11 6.ผู้แทนสภาทนายความ และ 7.ผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแต่งตั้งเป็นกรรมการ

          8.ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแต่งตั้งข้าราชการตำรวจของกองบัญชาการตำรวจนครบาล 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

3. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด และคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร
          1. พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนตามพระราชบัญญัตินี้

          2. สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้

          3. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมาย

          4. รายงานการปฏิบัติหน้าที่รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ ทุก 3 เดือน

          5. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

4. หน่วยงานรับผู้ชอบงานธุรการ

          ที่ทำการปกครองจังหวัดและกองบัญชาการตำรวจนครบาล รับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดและคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครตามลำดับ และให้มีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ดังต่อไปนี้

          1. เป็นสำนักงานทะเบียนรับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้[7]

          2. รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี

          3. ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้หรือกำกับดูแลการปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจ ทวงถามหนี้

          4. ประสานกับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบผู้ทวงถามหนี้           หรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้

          5. รณรงค์ประชาสัมพันธ์และอบรมวิธีการทวงถามหนี้ที่ถูกต้องและเหมาะสม

          6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการ และคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณีมอบหมาย

8. สถานที่รับเรื่องร้องเรียน

          ที่ว่าการอำเภอ และสถานีตำรวจเป็นสถานที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ได้ด้วย รวมทั้งให้หัวหน้าหน่วยงานดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงและเอกสารเพื่อส่งเรื่องต่อไปยังที่ทำการปกครองจังหวัด หรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล แล้วแต่กรณี

9. การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียน


          กรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ให้ผู้ที่ยื่นขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เป็นที่สุด

10. โทษทางปกครองและโทษทางอาญา

1. โทษทางปกครอง
          1.1 โทษปรับทางปกครอง : กรณีที่ปรากฏแก่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร ว่าผู้ทวงถามหนี้ฝ่าฝืนหรือ ไม่ปฏิบัติตาม เช่น ไม่แจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้, ติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้, เข้าไปในสถานที่ติดต่อ หรือเวลาในการติดต่อนอกจากที่ระบุไว้ หรือกระการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม

          ให้คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร มีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติ ให้ถูกต้องหรือเหมาะสม หากผู้ทวงถามหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้คณะกรรมการพิจารณามีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 100,000 บาท

          1.2 เพิกถอนการจดทะเบียน : คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครมีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ได้เมื่อปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ เคยถูกลงโทษปรับทางปกครองและถูกลงโทษซ้ำอีกจากการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติที่มีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัตินี้

          1.3 อุทธรณ์โทษปรับทางปกครอง/เพิกถอนการจดทะเบียน : ผู้ทวงถามหนี้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครอง หรือผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันได้รับอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

2. โทษทางอาญา

1. จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          – ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คณะกรรมการ คณะกรรมการระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร และคณะอนุกรรมการ แจ้งมาให้ข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้มาเพื่อประกอบการพิจารณา

          – ขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งมาให้ถ้อยคำ แสดงข้อมูลหรือส่งสมุดบัญชีเอกสาร ดวงตรา หรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์และหนี้สินของผู้ทวงถามหนี้

2. จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          – ไม่จดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน

          – ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้เป็นทนายความหรือสำนักงานทนายความ ไม่จดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อคณะกรรมการสภาทนายความ

          – ผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้

          – ใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น

          – แจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้

          – ติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสารเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน

          – ใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย

          – เสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้

3. จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          – ผู้ทวงถามหนี้ กระทำการทวงถามหนี้ด้วยการแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความ สำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย แสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดีหรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน ติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต

4. จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ     
          – ผู้ทวงถามหนี้ กระทำการทวงถามหนี้ด้วยการข่มขู่การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น หรือแสดงการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ
          – เจ้าหน้าที่ของรัฐ ฝ่าฝืนกระทำการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ หรือทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน

11. ประกาศ ข้อบังคับ คำสั่ง ที่สำคัญ

1. คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1081/2558

          คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1081/2558 เรื่อง แต่งตั้งนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งต้องไปนี้เป็นนายทะเบียน

          1. ผู้ว่าราชการจังหวัด ในเขตจังหวัด

          2. ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในเขตกรุงเทพมหานคร

2. คำสั่งคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ที่ 1/2560

          คำสั่งคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ที่ 1/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการทวงถามหนี้ของผู้ให้สินเชื่อซึ่งเป็นนิติบุคคล

          1. ผู้อำนวยการสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ประธานอนุกรรมการ

          2. ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย อนุกรรมการ

          3. ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด อนุกรรมการ

          4. ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อนุกรรมการ

          5. ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย อนุกรรมการ

          6. ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย อนุกรรมการ

          7. ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการปฏิบัติการ แก้ไขปัญหาหนี้สิน ภาคประชาชน สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง อนุกรรมการและเลขานุการ

          8. ผู้แทนสำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ที่ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมอบหมาย จำนวน 1 คน ผู้ช่วยเลขานุการ

          9. ผู้แทนสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ที่ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมอบหมาย จำนวน 1 คน ผู้ช่วยเลขานุการ

3. คำสั่งคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ที่ 2/2560
          คำสั่งคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ที่ 2/2560 เรื่อง การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการทวงถามหนี้

          1. รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน ประธานอนุกรรมการ

          2. ผู้แทนปลัดกระทรวงการคลัง อนุกรรมการ

          3. ผู้แทนปลัดกระทรวงกลาโหม อนุกรรมการ

          4. ผู้แทนปลัดกระทรวงพาณิชย์ อนุกรรมการ

          5. ผู้แทนปลัดกระทรวงยุติธรรม อนุกรรมการ

          6. ผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อนุกรรมการ

          7. ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อนุกรรมการ

          8. ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อนุกรรมการ

          9. ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอนุกรรมการ

          10. ผู้แทนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อนุกรรมการ

          11. ผู้แทนนายกสภาทนายความ อนุกรรมการ

          12. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการธนาคาร  ซึ่งคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้แต่งตั้งหรือผู้แทน อนุกรรมการ

          13. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้แต่งตั้งหรือผู้แทน อนุกรรมการ

          14. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้แต่งตั้งหรือผู้แทน อนุกรรมการ

          15. รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายบริหารงานส่วนภูมิภาค อนุกรรมการ

          16. ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง อนุกรรมการและเลขานุการ 

          17. ผู้อำนวยการส่วนอำนวยความเป็นธรรม สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

          18. หัวหน้ากลุ่มงานกำกับการทวงถามหนี้ ส่วนอำนวยความเป็นธรรม สำนักการสอบสวนและนิติการกรมการปกครอง อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ 

4. คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1082/2558

          คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1082/2558 เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558

          1. กระทรวงมหาดไทย

          ก. ราชการบริหารส่วนกลาง ประกอบด้วย 1. ปลัดกระทรวงมหาดไทย 2.รองปลัดกระทรวงมหาดไทย 3.ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย 4.ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 5.ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย 6.อธิบดีกรมการปกครอง

7.รองอธิบดีกรมการปกครอง 8.ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง 9.ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมการปกครอง 10.ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการกอง และผู้อำนวยการส่วน กรมการปกครอง 11.หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าฝ่าย หัวหน้างาน เจ้าพนักงาปกครอง นิติกร กรมการปกครอง

          ข. ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย 1.ผู้ว่าราชการจังหวัด 2.รองผู้ว่าราชการจังหวัด 3.ปลัดจังหวัด 4.นายอำเภอ 5.ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ 6.จ่าจังหวัด 7.ป้องกันจังหวัด 8.เจ้าพนักงานปกครอง 9.นิติกร 10.ปลัดอำเภอ 11.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

          2. กระทรวงการคลัง อาทิ 1.ปลัดกระทรวงการคลัง 2.รองปลัดกระทรวงการคลัง 3. ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลัง ฯลฯ (ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1082/2558)

          3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาทิ 1.รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ กำกับการบริหารราชการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง 2.ผู้บัญชาการตำรวจสอบสอบสวนกลาง 3.ผู้บังคับการปราบปราม ฯลฯ (ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1082/2558)

5. ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

          ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขเพื่ออำนวยความสะดวกในการร้องเรียนและการรับเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับการทวงถามหนี้ (ราชกิจจานุเบกษา 4  ธันวาคม 2558)

          สถานที่รับเรื่องร้องเรียน

          การร้องเรียนต่อคณะกรรมการกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการ กำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณีอาจยื่น ณ สถานที่ดังต่อไปนี้ได้

          1. ที่ทำการปกครองจังหวัด

          2. ที่ว่าการอำเภอ

          3. สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง

          4. กองบัญชาการตำรวจนครบาล

          5. สถานีตำรวจ

          6. สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

          ในกรณีกรมการปกครอง ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นสถานที่รับเรื่องร้องเรียน ให้หน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวรวบรวมข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารหลักฐาน ที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปยังที่ทำการปกครองจังหวัด หรอกองบัญชาการตำรวจนครบาล แล้วแต่กรณีที่มีอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียนนั้น

6. ประกาศกระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

          ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดแบบบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 (ราชกิจจานุเบกษา 18  กุมภาพันธ์ 2559)

          การขอมีบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ยื่นคำขอพร้อมรูปถ่ายจำนวน 2 ใบ ที่ถ่ายแล้วไม่เกิน 6 เดือน ก่อนวันยื่นขอมีบัตรประจำตัวขนาด 2.5×3.0 เซนติเมตร ครึ่งตัว หน้าตรง ไม่สวมหมวก และแว่นตาสีเข้ม แต่งเครื่องแบบปฏิบัติราชการ เครื่องแบบพิธีการหรือเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ตนสังกัด

          ผู้มีอำนาจออกบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่

          1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ออกบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่สำหรับปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง

          2. ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ออกบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่สำหรับผู้ซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


[1] คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑๐๘๑/๒๕๕๘ เรื่อง แต่งตั้งนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. ๒๕๕๘

[2] ตัวบทระบุว่า “รายงานการดำเนินการของตน ตามมาตรา ๖” ซึ่งก็คือให้รายงานการรับจดทะเบียน, การเพิกถอนการจดทะเบียน, การออกข้อบังคับ, การวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียน และการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียน

[3] ทั่วไป – เป็นเท็จ – ไม่เป็นธรรม

[4] “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

[5] คำสั่งคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ที่ ๑/๒๕๖๐ ราชกิจจานุเบกษา ๒๗ เมษายน ๒๕๖๐

[6] ข้อ ๑.-๕. เป็นอำนาจของกรมการปกครอง และข้อ ๒.-๕ เป็นอำนาจของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (หรือถ้าจะสรุปให้สั้นสำนักงานเศรษฐกิจการคลังไม่มีอำนาจตามข้อ ๑.)

[7] ข้อนี้ต้องจำนะ กรมการปกครองและสำนักงานเศรษฐกิจการคลังไม่มีอำนาจข้อนี้โดยตรงต้องผ่านหน่วยงานระดับพื้นที่