งานอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน

พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490

          อาวุธปืนนั้นมีกฎหมายควบคุมการมีอาวุธปืนเอาไว้ในครอบครอง จะเห็นได้ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีการออกกฎให้แก่ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการเมือง จ.ศ. 114 และได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน รัตนโกสินทร์ศก 131 ได้มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนมาจนถึงปัจจุบัน บังคับใช้วันที่ 10 กันยายน 2490 โดยแรกเริ่มได้กำหนดว่าถ้าได้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุน มาขอรับใบอนุญาตภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

ความหมาย

          1. อาวุธปืน หมายความรวมตลอดถึงอาวุธทุกชนิดซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนปืนโดยวิธีระเบิด หรือกำลังดันของแก๊สหรืออัดลม หรือเครื่องกลไกอย่างใด ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของพลังงาน และส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธนั้นๆ[1]

          2. เครื่องกระสุนปืน หมายความรวมถึงกระสุนโดด กระสุนปราย กระสุนแตก ลูกระเบิด ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิดและจรวด ทั้งชนิดที่มีหรือไม่มีกรดแก๊สฯ เครื่องสำหรับอัด หรือทำ หรือใช้ประกอบเครื่องกระสุน

          3. วัตถุระเบิด คือ วัตถุที่สามารถส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลัน เมื่อเกิดระเบิดขึ้น

          4. ดอกไม้เพลิง หมายความรวมตลอดถึงพลุ ประทัดไฟ ประทัดลม

          5. สิ่งเทียมอาวุธปืน สิ่งซึ่งมีรูปและลักษณะอันน่าจะทำให้หลงเชื่อว่าเป็นอาวุธปืน

          6. มี คือ มีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง

          7. สั่ง คือ ให้บุคคลใดสั่ง หรือนำเข้ามาจากภายนอก

          8. นำเข้า คือ นำเข้ามาจากภายนอกราชอาณาจักร ไม่ว่าโดยวิธีใดๆ

อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนที่ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัตินี้ 3 ประเภท

          1. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน

                    (ก) ราชการทหารและตำรวจที่มีหรือใช้ในราชการ

                    (ข) หน่วยราชการที่มีหรือใช้เพื่อป้องกันประเทศหรือรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน

                    (ค) หน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่มีและใช้ในการป้องกันและรักษาทรัพย์สินอันสำคัญของรัฐ

                    (ง) ราชการทหารและตำรวจที่มีหรือใช้ในราชการ หรือหน่วยราชการที่มีหรือใช้เพื่อป้องกันประเทศหรือรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่มอบให้ประชาชนมีและใช้เพื่อช่วยเหลือราชการของทหารและตำรวจ หรือของหน่วยราชการ แล้วแต่กรณี   

          2. อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนประจำเรือเดินทะเล รถไฟและอากาศยานตามปกติ ซึ่งได้แสดงและให้พนักงานศุลกากรตรวจตามกฎหมายแล้ว

          3. ดอกไม้เพลิง สัญญาณประจำเรือเดินทะเล อากาศยาน สนามบิน

ผู้รักษาการ

          1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนและเจ้าหน้าที่อื่นและออกกฎกระทรวงในเรื่อง 1. จำกัดชนิดและจำนวนอาวุธปืนของกระทรวงทบวงกรมอื่น นอกจากของราชการทหารและตำรวจ 2. วางระเบียบการทะเบียน การขอและการออกใบอนุญาต 3. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และ 4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจจำกัดจำนวนร้านค้า กำหนดจำนวน ชนิด ขนาดของอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน

          2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมรักษาการในการออกกฎกระทรวงในเรื่อง 1. จำกัดชนิดและจำนวนอาวุธปืนของกระทรวง ทบวง กรมอื่น นอกจากของราชการทหารและตำรวจ และ 2. กำหนดประเภท ชนิด และขนาดของอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่
นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้

          3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจออกกฎกระทรวงในส่วนที่เกี่ยวกับการศุลกากร

อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล

          ห้ามมิให้ผู้ใด ทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งอาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่

การออกใบอนุญาต 

          ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ให้ออกให้แก่บุคคลสำหรับใช้ในการป้องกันตัว ทรัพย์สิน หรือในการกีฬา หรือยิงสัตว์ ใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บ ให้ออกได้สำหรับที่นายทะเบียนเห็นว่า ชำรุด พ้นสมัย หรือซึ่งได้รับเป็นรางวัลจากการแข่งขันยิงปืน โดยอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตไว้เพื่อเก็บนั้น ห้ามมิให้ยิง และห้ามมีเครื่องกระสุนปืนไว้สำหรับอาวุธปืน

บุคคลที่ห้ามมิให้ออกใบอนุญาต

          ใบอนุญาตให้มี และใช้อาวุธปืน ห้ามมิให้ออกให้แก่บุคคลซึ่งมีชื่อในทะเบียนบ้านน้อยกว่า      6 เดือน และห้ามมิให้ออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

          1. บุคคลต้องโทษจำคุกสำหรับความผิดกฎหมายลักษณะอาญา

          2. บุคคลต้องโทษจำคุกเพราะฝ่าฝืน พ.ร.บ. นี้

          3. บุคคลต้องจำคุก 2 ครั้งขึ้นไปในระหว่าง 5 ปี นับย้อนขึ้นไปจากวันยื่นคำขอ

          4. บุคคลไม่บรรลุนิติภาวะ

          5. บุคคลไม่สามารถใช้อาวุธปืนได้เพราะพิการ หรือทุพพลภาพ

          6. บุคคลไร้ความสามารถ เสมือนไร้ความสามารถ วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน

          7. บุคคลไม่มีอาชีพ และรายได้

          8. บุคคลไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

          9. บุคคลที่มีความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

การนำเข้าอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน

          ภายใน 90 วัน นับแต่ส่งมอบแก่พนักงานศุลกากร ถ้าผู้นำเข้ายังไม่ได้รับอนุญาต ให้ผู้นำเข้ายื่นคำขออนุญาต

          1. ถ้านายทะเบียนอนุญาตให้นำเข้า ให้ผู้นำเข้าขอรับใบอนุญาตภายใน 60 วัน

          2. ถ้านายทะเบียนไม่อนุญาต ให้ผู้นำเข้าส่งกลับนอกราชอาณาจักรภายในเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 6 เดือน

          3. กรณีไม่สามารถแจ้งคำสั่งได้ ให้นายทะเบียนโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ ปิดประกาศไม่น้อยกว่า 7 วัน

          ถ้าผู้นำเข้าอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนมิได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายใน 90 วัน หรือกรณีนายทะเบียนอนุญาตแล้ว ผู้นำเข้าไม่มารับใบอนุญาตภายใน 60 วัน ให้อาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน ตกเป็นของแผ่นดิน อาวุธปืนที่สั่งหรือนำเข้า เมื่อได้รับมอบไปจากพนักงานศุลกากร ให้ผู้รับใบอนุญาตนำไปขออนุญาต มี และใช้ ต่อนายทะเบียนท้องที่ภายใน 30 วัน

          ถ้าอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตแล้ว ถูกทำลาย หรือสูญหาย ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งต่อ
นายทะเบียนท้องที่ภายใน 15 วัน

การโอนอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน  

          อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ที่ส่งมอบไว้แก่นายทะเบียนให้ผู้ส่งมอบจัดการโอนเสียภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ส่งมอบ

นายทะเบียน เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่

เจ้าพนักงานที่มีอำนาจออกใบอนุญาตให้มี และใช้อาวุธปืนติดตัว

          1. อธิบดีกรมตำรวจ (ผบ.ตร.) สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร และทั่วราชอาณาจักร

          2. ผู้ว่าราชการจังหวัด เฉพาะในเขตจังหวัดของตน และผู้ที่อยู่ในจังหวัดนั้น

1. นายทะเบียน[2]

          1.1 ในกรุงเทพมหานคร ให้อธิบดีกรมการปกครองเป็นนายทะเบียน

          1.2 ในเขตจังหวัดอื่น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายทะเบียน

          1.3 ในเขตอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอเป็นนายทะเบียน

2. เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจอนุมัติ ตามมาตรา 14 และ 70

          บุคคลใดมีความประสงค์ให้ผู้อื่นมีและใช้อาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืน สำหรับรักษาทรัพย์สินของตนอันจักต้องใช้ให้ผู้อื่นดูแล หรือจักต้องสั่ง นำเข้า หรือซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนเพื่อความประสงค์เช่นว่านั้น (มาตรา 14) และนำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดผ่านราชอาณาจักร (มาตรา 70)

          2.1 ในกรุงเทพมหานคร ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าพนักงาน

          2.2 ในเขตจังหวัดอื่น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าพนักงาน

3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

          ให้ผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ จำนวนอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ในร้านค้าและร้านประกอบซ่อม

          3.1 ในกรุงเทพมหานคร ให้อธิบดีกรมการปกครอง หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมการปกครองแต่งตั้ง

          3.2 ในเขตจังหวัดอื่น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด

          3.3 ในเขตอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ

4. เจ้าพนักงานออกหนังสืออนุญาตให้ย้ายวัตถุระเบิด

          4.1 ปลัดกระทรวงมหาดไทย สำหรับการย้ายวัตถุระเบิดระหว่างจังหวัด

          4.2 อธิบดีกรมการปกครอง ในเขตกรุงเทพมหานคร

          4.3 ผู้ว่าราชการจังหวัด ในเขตจังหวัดอื่น

          4.4 นายอำเภอ ในเขตอำเภอ

          4.5 ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ในเขตกิ่งอำเภอ

อายุใบอนุญาตสำหรับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน

          1. ใบอนุญาตให้ทำ เฉพาะสำหรับทำดินปืน มีอายุตลอดเวลา

          2. ใบอนุญาตให้ซื้อ มีอายุ 6 เดือน

          3. ใบอนุญาตให้มี และใช้ มีอายุตลอดเวลา

          4.  ใบอนุญาตให้มี และใช้ ชั่วคราว มีอายุ 6 เดือน

          5. ใบอนุญาตให้สั่ง หรือนำเข้า มีอายุ 1 ปี

          6. ใบอนุญาตให้มีไว้เพื่อเก็บ มีอายุตลอดเวลา

          7. ใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว มีอายุ 1 ปี

อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า

          ห้ามมิให้จำหน่ายอาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืน แก่ผู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ซื้อ มี ใช้ อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน และมิให้ออกใบอนุญาตอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าแก่บุคคลต่อไปนี้ (การค้า)

          1. บุคคลต้องคำพิพากษาของศาล ปรับตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป

          2. จำคุกแม้แต่ครั้งเดียว

          3. พ้นโทษครั้งสุดท้ายยังไม่เกิน 10 ปี

          ผู้รับอนุญาตให้สั่งอาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืน ต้องนำใบอนุญาตไปแสดงต่ออธิบดีกรมศุลกากร หรือเจ้าพนักงานที่อธิบดีกรมศุลกากรมอบหมาย ก่อนสั่ง

          เมื่ออาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน เข้ามาถึงแล้ว ถ้าไม่มีผู้รับไปจากกรมศุลกากรภายใน 4 เดือน ให้เจ้าพนักงานศุลกากรแจ้งผู้รับใบอนุญาต แต่ถ้าแจ้งไม่ได้ ให้แจ้งแก่เจ้าของยานพาหนะ หรือผู้ขนส่ง ให้ส่งกลับออกนอกราชอาณาจักรภายใน 30 วัน มิฉะนั้นให้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ตกเป็นของแผ่นดิน

          อาวุธปืนที่สั่งหรือนำเข้า เมื่อได้รับมอบไปจากพนักงานศุลกากรแล้ว ให้นำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนท้องที่ภายใน 30 วัน

          ใบอนุญาตอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า มีอายุ 1 ปี นับแต่วันออก หากผู้รับใบอนุญาต อาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าหากใบอนุญาตสิ้นอายุ และไม่ได้ต่ออายุอีก ต้องจำหน่าย หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ภายใน 6 เดือน เมื่อครบกำหนด 6 เดือน ถ้ายังจำหน่ายหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรไม่หมด ให้ผู้รับใบอนุญาตส่งมอบอาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืน แก่นายทะเบียนท้องที่ภายใน 7 วัน (เพื่อขายทอดตลาด)

วัตถุระเบิด[3]

          ห้ามมิให้ผู้ใด ทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง นำเข้า ค้า หรือจำหน่าย ด้วยประการใดๆ เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี โดยใบอนุญาตที่ออกเกี่ยวกับวัตถุระเบิดทุกชนิดให้มีอายุ 1 ปี

          ภายใน 90 วัน นับแต่ส่งมอบแก่พนักงานศุลกากร ถ้าผู้นำเข้ายังไม่ได้รับอนุญาต ให้
ผู้นำเข้ายื่นคำขออนุญาต และถ้านายทะเบียนอนุญาตให้นำเข้า ให้ผู้นำเข้าขอรับใบอนุญาตภายใน 60 วัน แต่ถ้านายทะเบียนไม่อนุญาต ให้ผู้นำเข้าส่งกลับนอกราชอาณาจักรภายในเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน และไม่เกิน 6 เดือน และกรณีไม่สามารถแจ้งคำสั่งได้ ให้นายทะเบียนโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ ปิดประกาศไม่น้อยกว่า 7 วัน ทั้งนี้ถ้าผู้นำเข้าวัตถุระเบิด มิได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายใน 90 วัน หรือกรณีนายทะเบียนอนุญาตแล้ว ผู้นำเข้าไม่มารับใบอนุญาตภายใน 60 วัน ให้วัตถุระเบิดตกเป็นของแผ่นดิน

          ผู้รับอนุญาตให้สั่งวัตถุระเบิดต้องนำใบอนุญาตไปแสดงต่ออธิบดีกรมศุลกากร หรือ
เจ้าพนักงานที่อธิบดีกรมศุลกากรมอบหมาย ก่อนสั่ง และผู้รับใบอนุญาตคนใด ใบอนุญาตสิ้นอายุและไม่ได้ต่ออายุอีก ต้องจัดการจำหน่ายวัตถุระเบิดที่มีอยู่ หรือส่งออกนอกราชอาณาจักรให้หมดภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อครบกำหนด 6 เดือนแล้ว ถ้ายังจำหน่ายหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรไม่หมดให้ผู้รับใบอนุญาตส่งมอบวัตถุระเบิดที่เหลืออยู่แก่
นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนด 7 วัน

          กรณีที่สั่งหรือนำเข้าวัตถุระเบิด และเจ้าพนักงานเป็นผู้เก็บรักษาระเบิดไว้ ถ้าผู้สั่งหรือนำเข้าไม่นำใบอนุญาตมีและใช้ มารับไปภายใน 1 ปี กรณีมิใช่สำหรับการค้า หรือภายใน 2 ปี สำหรับการค้า ให้วัตถุระเบิดนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

ดอกไม้เพลิง

          ใบอนุญาตที่ออกเกี่ยวกับดอกไม้เพลิงทุกชนิดให้มีอายุ 1 ปี

          ภายใน 90 วัน นับแต่ส่งมอบแก่พนักงานศุลกากร ถ้าผู้นำเข้ายังไม่ได้รับอนุญาต ให้ผู้
นำเข้ายื่นคำขออนุญาต และถ้านายทะเบียนอนุญาตให้นำเข้า ให้ผู้นำเข้าขอรับใบอนุญาตภายใน 60 วัน แต่ถ้านายทะเบียนไม่อนุญาต ให้ผู้นำเข้าส่งกลับนอกราชอาณาจักรภายในเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน และไม่เกิน 6 เดือน และกรณีไม่สามารถแจ้งคำสั่งได้ ให้นายทะเบียนโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ ปิดประกาศไม่น้อยกว่า 7 วัน ทั้งนี้ถ้าผู้นำเข้าดอกไม้เพลิงมิได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายใน 90 วัน หรือกรณีนายทะเบียนอนุญาตแล้ว ผู้นำเข้าไม่มารับใบอนุญาตภายใน 60 วัน ให้ดอกไม้เพลิงตกเป็นของแผ่นดิน

          ผู้รับอนุญาตให้สั่งดอกไม้เพลิงต้องนำใบอนุญาตไปแสดงต่ออธิบดีกรมศุลกากร หรือ
เจ้าพนักงานที่อธิบดีกรมศุลกากรมอบหมาย ก่อนสั่ง และผู้รับใบอนุญาตคนใด ใบอนุญาตสิ้นอายุและไม่ได้ต่ออายุอีก ต้องจัดการจำหน่ายดอกไม้เพลิงที่มีอยู่ หรือส่งออกนอกราชอาณาจักรให้หมดภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อครบกำหนด 6 เดือนแล้ว ถ้ายังจำหน่ายหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรไม่หมดให้ผู้รับใบอนุญาตส่งมอบดอกไม้เพลิงที่เหลืออยู่แก่
นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนด 7 วัน

สิ่งเทียมอาวุธปืน

          ใบอนุญาตที่ออกเกี่ยวกับสิ่งเทียมอาวุธปืนทุกชนิดให้มีอายุ 1 ปี

          ภายใน 90 วัน นับแต่ส่งมอบแก่พนักงานศุลกากร ถ้าผู้นำเข้ายังไม่ได้รับอนุญาต ให้ผู้
นำเข้ายื่นคำขออนุญาต และถ้านายทะเบียนอนุญาตให้นำเข้า ให้ผู้นำเข้าขอรับใบอนุญาตภายใน 60 วัน แต่ถ้านายทะเบียนไม่อนุญาต ให้ผู้นำเข้าส่งกลับนอกราชอาณาจักรภายในเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน และไม่เกิน 6 เดือน และกรณีไม่สามารถแจ้งคำสั่งได้ ให้นายทะเบียนโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ ปิดประกาศไม่น้อยกว่า 7 วัน ทั้งนี้ถ้าผู้นำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืนมิได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายใน 90 วัน หรือกรณีนายทะเบียนอนุญาตแล้ว ผู้นำเข้าไม่มารับใบอนุญาตภายใน 60 วัน ให้สิ่งเทียมอาวุธปืนตกเป็นของแผ่นดิน

          ผู้รับอนุญาตให้สั่งสิ่งเทียมอาวุธปืน ต้องนำใบอนุญาตไปแสดงต่ออธิบดีกรมศุลกากร หรือเจ้าพนักงานที่อธิบดีกรมศุลกากรมอบหมาย ก่อนสั่ง และผู้รับใบอนุญาตคนใด ใบอนุญาตสิ้นอายุและไม่ได้ต่ออายุอีก ต้องจัดการจำหน่ายสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่มีอยู่ หรือส่งออกนอกราชอาณาจักรให้หมดภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อครบกำหนด 6 เดือนแล้ว ถ้ายังจำหน่ายหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรไม่หมดให้ผู้รับใบอนุญาตส่งมอบสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่เหลืออยู่แก่นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนด 7 วัน

บทที่ใช้ร่วมกันของอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงหรือสิ่งเทียมอาวุธปืน

ใบอนุญาต

          เมื่อมีพฤติการณ์สงสัยว่าผู้ขอใบอนุญาตคนใดเป็นผู้ต้องห้ามออกใบอนุญาต ให้
นายทะเบียนมีอำนาจเรียกประกันทัณฑ์บน ถ้าผู้รับใบอนุญาตหาประกันเป็นที่เชื่อถือไม่ได้ภายใน 30 วัน ให้ถือว่าเป็นผู้จะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้

          เมื่อใบอนุญาตสูญหาย ลบ เลือน อ่านไม่ออก ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาต ต่อนายทะเบียนภายใน 30 วัน แต่ถ้าใบอนุญาตที่สูญหายได้คืนภายหลัง ให้ส่งใบแทนแก่นายทะเบียนภายในกำหนด 15 วัน

          นายทะเบียนปฏิเสธการออกใบอนุญาต ผู้ยื่นคำขออาจอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายใน 30 วัน คำอุทธรณ์ให้ยื่นต่อนายทะเบียนท้องที่ ให้นายทะเบียนเสนอคำอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีโดยมิชักช้า

การย้ายที่อยู่

          ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนใดย้ายที่อยู่ ให้แจ้งย้ายแก่นายทะเบียนภายใน 15 วัน และถ้าไปอยู่ต่างท้องที่ให้แจ้งการย้ายแก่นายทะเบียนท้องที่ใหม่ภายใน 15 วัน

ผู้รับใบอนุญาตตาย

          ถ้าผู้รับใบอนุญาตตาย ให้ผู้ซึ่งมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ของผู้ตายไว้ในครอบครอง แจ้งการตายต่อนายทะเบียนท้องที่ภายใน 30 วัน และภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันผู้รับใบอนุญาตตาย ทายาทหรือผู้จัดการมรดกขอให้อนุญาตใหม่ ถ้านายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตให้ใหม่ ก็ให้แจ้งความให้ผู้ขอทราบ และสั่งให้จัดการจำหน่ายภายใน 6 เดือน

ส่งของเข้ามาโดยไม่มีผู้ขอรับใบอนุญาตให้สั่ง

          อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่ส่งเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่มีผู้ขอรับใบอนุญาตให้สั่ง ให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ถ้าภายใน 4 เดือน ผู้ส่งได้ยื่นคำร้องขอส่งกลับออกนอกราชอาณาจักร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะสั่งอนุญาตก็ได้

อัตราโทษ

          1. ผู้ใดฝ่าฝืนทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน จำคุก 1 – 10 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000 – 20,000 บาท

          2. ผู้ใดฝ่าฝืน ทำ ประกอบ ซ่อมแซม เปลี่ยนลักษณะ สั่ง นำเข้า มีหรือจำหน่าย ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าจำคุก 2 – 20 ปี ปรับตั้งแต่ 4,000 – 40,000 บาท

          3. ผู้ใดฝ่าฝืนเกี่ยวกับวัตถุระเบิดไม่แจ้งเป็นหนังสือและส่งมอบอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนไว้แก่พนักงานศุลกากร ณ ด่านที่แรกมาถึงจากนอกราชอาณาจักร จำคุก 1 – 20 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000 – 40,000 บาท

          4. ผู้ใดทำ ประกอบ ซ่อมแซม เปลี่ยนลักษณะ ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนำเข้าอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน นอกจากที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา 55 จำคุก 2 ปี ถึงตลอดชีวิต

          5. ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนคำสั่งห้ามหรือจำกัดการออกใบอนุญาตทุกประเภทหรือบางประเภทในชั่วระยะเวลาที่กำหนดหรือจะออกคำสั่งโดยประกาศหรือแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับใบอนุญาตส่งมอบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดแก่เจ้าพนักงานเพื่อเก็บรักษาไว้หรือจะสั่งให้จำหน่ายจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

          6. ผู้ใดสั่งอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ฝ่าฝืนโดยไม่นำใบอนุญาตนั้นไปแสดงต่ออธิบดีกรมศุลกากรหรือเจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีกรมศุลกากรมอบหมายเพื่อการนี้ก่อนสั่ง ปรับไม่เกิน 5,000 บาท

          7. ผู้ใดฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติเกี่ยวกับดอกไม้เพลิง ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

อัตราค่าธรรมเนียม (บาท)

ประเภท พ.ร.บ กฎกระทรวง
1. ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน – ปืนยาวประจุปาก ปืนอัดลมฉบับละ – ปืนประเภทอื่นๆ ฉบับละ   200 1,000   100 500
2. ใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ฉบับละ 1,000 1,000
3. ใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน กระบอกละ 10 5
4. ใบแทบใบอนุญาต ฉบับละ 10 5
5. สำเนาใบอนุญาต ฉบับละ 10 5

แนวทางการปฏิบัติงานทะเบียนอาวุธปืน กระทรวงมหาดไทย

          1. การออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) สำหรับอาวุธปืนโครงการสวัสดิการของส่วนราชการ ขอให้นายทะเบียนท้องที่ถือปฏิบัติให้ประทับตราสีแดง “ห้ามโอน 5 ปี” ลงในแบบ ป.4 โดยขอให้ตระหนักว่าอาวุธปืนโครงการสวัสดิการเป็นไปเพื่อข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นเพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการนำอาวุธปืนโครงการฯ ไปจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกที่ไม่มีสิทธิ

          2. การออกใบอนุญาตร้านค้าอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ร้านประกอบ ซ่อมแซม เปลี่ยนลักษณะอาวุธปืนและกำหนดจำนวนอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า ในเรื่องชนิดขนาดและจำนวนอาวุธปืน เครื่องกระสุนสำหรับการค้า กระทรวงมหาดไทยได้กำหนด ชนิด ขนาด และจำนวนอาวุธปืน เครื่องกระสุน สำหรับการค้าหมุนเวียนในรอบปีอายุใบอนุญาต อาวุธปืนสั้น ไม่เกิน 30 กระบอก อาวุธปืนยาวไม่เกิน 50 กระบอก เครื่องกระสุนปืนทุกชนิดทุกขนาดลูกโดดไม่เกิน 2,000 นัด ลูกซองไม่เกิน 7,500 นัด ลูกกรดไม่เกิน 10,000 นัด ลูกปืนอัดลมไม่เกิน 30,000 นัด


[1] กฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2491) ออกตามความในพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490

ส่วนของอาวุธปืนซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็น “อาวุธปืน” ตามความ ในมาตรา 4 (1) คือ

1. ลำกล้อง

2. เครื่องลูกเลื่อน หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลูกเลื่อน

3. เครื่องลั่นไก หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลั่นไก

4. เครื่องส่งกระสุน ซองกระสุน หรือส่วนประกอบสำคัญของสิ่งเหล่านี้

[2] ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แต่งตั้งนายทะเบียนเจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ลงวันที่ 4 มกราคม 2548

[3] ในส่วนของ วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง สิ่งเทียมอาวุธปืน เนื้อหาจะคล้ายๆ กันเพราะมีบทบัญญัติให้นำ มาตรา 17, 19, 30, และ 37 มาบังคับ