งานควบคุมการเรี่ยไร

พระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487

ความหมายของการเรี่ยไร

          “การเรี่ยไร” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายถึง การเก็บเงินโดยขอร้องให้ช่วยออกเงินตามใจสมัคร ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487

          “การเรี่ยไร” หมายความตลอดถึง การซื้อขายแลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการซึ่งมีการแสดงโดยตรง หรือปริยาย ถ้ามิใช่เป็นการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการธรรมดา แต่เพื่อรวบรวมทรัพย์สินที่ได้มาทั้งหมด หรือบางส่วนไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย

คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร

          คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า 4 คน จึงจะครบองค์ประชุม และคณะกรรมการประกอบด้วย

          1. ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน

          2. ผู้แทนกระทรวงกลาโหม 1 คน

          3. ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ 1 คน

          4. ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข 1 คน

          5. ผู้แทนกระทรวงการคลัง 1 คน

          6. ผู้แทนกรมตำรวจ 1 คน (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

          7. ผู้แทนกรมมหาดไทย 1 คน (กรมการปกครอง)

ข้อปฏิบัติในการเรี่ยไร

          บุคคลผู้ทำการเรี่ยไรต้องมีใบอนุญาตติดตัวอยู่ขณะทำการเรี่ยไร ในการรับเงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้ ต้องออกใบรับแกผู้บริจาค กับมีต้นขั้วใบรับไว้เป็นหลักฐาน และประกาศยอดรับและจ่ายให้ประชาชนทราบเป็นครั้งคราว การเรี่ยไรห้ามใช้ถ้อยคำหรือวิธีการใด ซึ่งเป็นการบังคับผู้ถูกเรี่ยไร

ข้อห้ามเด็ดขาดในการเรี่ยไรหรือทำการเรี่ยไร

          1. เรี่ยไรเพื่อรวบรวมทรัพย์สินมาให้ หรือชดใช้แก่จำเลย

          2. เรี่ยไรโดยกำหนดเก็บเงินหรือทรัพย์สิน โดยคำนวณตามเกณฑ์ปริมาณสินค้า ผลประโยชน์หรือวัตถุอย่างอื่น

          3. เรี่ยไรอันอาจเป็นเหตุให้เสี่ยมทรามแก่ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

          4. เรี่ยไรอันอาจเป็นเหตุกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ถึงความสัมพันธ์ไมตรีกับต่างประเทศ

          5. เรี่ยไรเพื่อจัดหายุทธภัณฑ์ให้แก่ต่างชาติ

ข้อห้ามที่ได้รับอนุญาตจึงจะสามารถทำการเรี่ยไรได้

          เรี่ยไรซึ่งอ้างว่าเพื่อประโยชน์แก่เทศบาล หรือสาธารณประโยชน์ จัดให้มีได้เมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรแล้ว

บุคคลที่ห้ามอนุญาตให้จัดให้มีการเรี่ยไร หรือทำการเรี่ยไร

          1. บุคคลที่อายุต่ำกว่า 16 ปี

          2. จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไร้ความสามารถ เสมือนไร้ความสามารถ

          3. เป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ

          4. บุคคลเคยต้องโทษฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชคทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ รับของโจร หรือทุจริตต่อหน้าที่ และพ้นโทษมาแล้วยังไม่ครบ 5 ปี

          5. บุคคลที่เจ้าพนักงานเห็นว่ามีความประพฤติ หรือหลักฐานไม่น่าไว้ใจ

การเรี่ยไรที่ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

          การเรี่ยไรในถนนหลวง ที่สาธารณะ โฆษณาด้วยสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง เครื่องเปล่งเสียง จะให้มีหรือทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว[1] แต่มิให้บังคับแก่

          1. การเรี่ยไรที่ได้รับอนุญาต

          2. การเรี่ยไรเพื่อกุศลสงเคราะห์ ในโอกาสที่บุคคลชุมนุมกันประกอบศาสนกิจ

          3. การเรี่ยไรโดยการขายสิ่งของใช้งานออกร้าน

          เมื่อมีผู้ขอรับอนุญาตเรี่ยไรในถนนหลวง ที่สาธารณะ โฆษณาด้วยสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง เครื่องเปล่งเสียง ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งไม่อนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งและแสดงเหตุผลให้ผู้ขออนุญาตทราบ ภายในกำหนด 10 วัน นับแต่วันได้รับคำร้องขอ และผู้ขออนุญาตมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งของพนักงาน ภายในกำหนด 15 วัน โดยการยื่นอุทธรณ์ในจังหวัดพระนครและธนบุรี ให้ยื่นต่อคณะกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง[2] ส่วนจังหวัดอื่นให้ยื่นต่อคณะกรมการจังหวัด

อำนาจในการกำหนดเงื่อนไขบางประการของคณะกรรมการ

          คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรมีอำนาจสั่งไม่อนุญาต หรือสั่งโดยกำหนดเงื่อนไขในการเรี่ยไรได้ในกรณีดังต่อไปนี้

          1. จำนวนเงินหรือทรัพย์สินอย่างสูงที่ให้เรี่ยไรได้

          2. เขต หรือสถานที่ เวลา ที่อนุญาตให้ทำการเรี่ยไรได้

          3. วิธีเก็บรักษาและทำบัญชีเงิน หรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้

          4. วิธีทำการเรี่ยไร

อัตราโทษ

          1. ผู้ใดฝ่าฝืนการเรี่ยไรโดย อ้างว่าเพื่อประโยชน์ของเทศบาล หรือสาธารณะ เรี่ยไรในถนนหลวง สาธารณะ โฆษณา จำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 200 บาท

          2. ผู้ใดฝ่าฝืนทำการเรี่ยไรโดย ไม่ออกใบรับ จ่ายเงินนอกวัตถุประสงค์ ไม่อาจดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ ปรับไม่เกิน 500 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน

          3. ผู้ใดฝ่าฝืนทำการเรี่ยไรโดยใช้ถ้อยคำข่มขู่ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี

          4. ทำผิดเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด 4 ข้อ ตามมาตรา 9[3] ปรับไม่เกิน 100 บาท

กฎกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ หลักเกณฑ์วิธีขออนุญาตจัดทำให้มีการเรี่ยไร พ.ศ. 2548

พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 8

          1. อธิบดีกรมการปกครอง ในเขตกรุงเทพมหานคร

          2. นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ในเขตจังหวัดอื่น

สถานที่ยื่นคำขออนุญาต

          1. กรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

          2. จังหวัดอื่น ให้ยื่น ณ ที่ทำการปกครองอำเภอ ที่ทำการปกครองกิ่งอำเภอ

หลักฐานในการยื่นขออนุญาต

          ผู้ประสงค์จะขออนุญาตทำการเรี่ยไร ให้ยื่นคำขอพร้อมด้วยรูปถ่ายขนาด 6 x 4 เซนติเมตร จำนวน 2 รูป ผู้ขออนุญาตจัดให้มีการเรี่ยไรเสนอข้อความจะนำออกโฆษณา จำนวน 2 ชุด พร้อมคำขออนุญาตและถ้าข้อความโฆษณานั้นเป็นภาษาต่างประเทศให้เสนอคำแปลเป็นภาษาไทยด้วย   

แบบพิมพ์[4]

          1. คำขออนุญาตจัดให้มีการเรี่ยไร (ร.1)

          รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 6 x 4 ซม. ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป ข้อความซึ่งจะนำออกโฆษณา หากเป็นภาษาต่างประเทศให้เสนอคำแปลเป็นภาษาไทย จำนวน 2 ชุด และหลักฐานอื่นๆ เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน

          2. คำขออนุญาตทำการเรี่ยไร (ร.2)

          รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 6 x 4 ซม. ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป และหลักฐานอื่นๆ เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน

          3. ใบอนุญาตจัดให้มีการเรี่ยไร (ร.3)

          4. ใบอนุญาตทำการเรี่ยไร (ร.4)

คำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2539

          กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรส่วนกลาง และคณะกรรมการควบคุม การเรี่ยไรส่วนจังหวัด พร้อมทั้งมีคำสั่งไว้ให้ปฏิบัติ ดังนี้

          1. ห้ามมิให้วัด หรือพระภิกษุ สามเณร ทำการเรี่ยไร หรือมอบหมายหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการเรี่ยไรทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม เพื่อประโยชน์แก่วัด หรือพระศาสนา หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นใดแก่ตนหรือผู้อื่นเว้นแต่ในกรณีที่กำหนดไว้ในคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้

          2. ในกรณีที่มีการบำเพ็ญกุศลในวัด ซึ่งเป็นงานประจำปี หรืองานพิเศษถ้าจะมีการเรี่ยไร การโฆษณาเรี่ยไร และการรับเงิน หรือทรัพย์สิน จากการเรี่ยไรให้กระทำได้เฉพาะภายในวัด ห้ามมิให้กระทำนอกบริเวณวัด

          ถ้ามีกรณีจำเป็นจะต้องทำการเรี่ยไรนอกบริเวณวัด เพื่อก่อสร้างปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุใดถาวรวัตถุนั้นต้องได้มีการก่อสร้าง หรือปฏิสังขรณ์ไว้แล้วไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของงานก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์ทั้งหมด และให้เจ้าอาวาสรายงานขออนุมัติการเรี่ยไรตามลำดับชั้นจนถึงคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร ส่วนจังหวัด ถ้าขอเรี่ยไรทั่วประเทศให้เสนอถึงคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร ส่วนกลาง โดยรายงานการขออนุมัติทำการเรี่ยไร ให้แสดงรายการก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์ จำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่จะทำการเรี่ยไร กำหนดเวลาทำการเรี่ยไรและข้อความที่จะโฆษณาเรี่ยไร

          เมื่อได้รับการอนุมัติตามข้างต้นแล้ว จึงให้จัดการขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรต่อไป ทั้งนี้ ห้ามพระภิกษุสามเณรออกทำการเรี่ยไรด้วยตนเอง และต้องปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรทุกประการ และเมื่อครบกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ทำการเรี่ยไรแล้ว ให้รายงานยอดรายรับรายจ่าย เงินและทรัพย์สินในการเรี่ยไรเสนอ ตามลำดับจนถึงคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรส่วนกลาง หรือส่วนจังหวัด แล้วแต่กรณี

          การตรวจสอบและควบคุมการเรี่ยไร

          1. มีใบอนุญาตฉบับจริงเท่านั้น

          2. ผู้เรี่ยไรเป็นผู้มีชื่อและมีภาพถ่ายตรงกับที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

          3. ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสถานที่แล้ว

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544

หน่วยงานของรัฐ

          “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่อยู่ในกำกับดูแลของรัฐทุกระดับทั้งในราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ

          หน่วยงานของรัฐจะจัดให้มีการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุมัติจาก กคร. หรือ กคร.จังหวัด

คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ

          คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ เรียกโดยย่อว่า “กคร.” ประกอบด้วย

          1. รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ

          2. ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี

          3. ผู้แทนกระทรวงกลาโหม

          4. ผู้แทนกระทรวงการคลัง

          5. ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย

          6. ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ

          7. ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข

          8. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

          9. ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกิน 4 คนเป็นกรรมการ

          10. ผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรจังหวัด

          คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “กคร. จังหวัด” ประกอบด้วย

          1. ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ

          2. รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย

          3. ปลัดจังหวัด

          4. อัยการจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง

          5. หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

          6. ศึกษาธิการจังหวัด

          7. สรรพากรจังหวัด

          8. สาธารณสุขจังหวัด

          9. นายกเทศมนตรีนครหรือนายกเทศมนตรีเมืองที่เป็นที่ตั้งจังหวัด

          10. ผู้แทนหอการค้าจังหวัด

          11. ผู้แทนสมาคมหรือชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัด

          12. ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัด

          13. บุคคลอื่นซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งอีกไม่เกิน 3 คนเป็นกรรมการ

          14. หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งหนึ่งคนเป็นกรรมการและเลขานุการ

การเรี่ยไรที่ต้องได้รับอนุมัติจาก กคร. หรือ กคร. จังหวัด

          1. เป็นการเรี่ยไรที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐนั้นเอง

          2. เป็นการเรี่ยไรที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่การป้องกันหรือพัฒนาประเทศ

          3. เป็นการเรี่ยไรที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์

          4.  เป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรของบุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรแล้ว

การเรี่ยไรที่ไม่ต้องได้รับอนุมัติจาก กคร. หรือ กคร. จังหวัด

          1. เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และมีมติคณะรัฐมนตรีให้เรี่ยไรได้

          2. เป็นการเรี่ยไรที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายหรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากสาธารณภัยหรือเหตุการณ์ใดที่สำคัญ

          3. เป็นการเรี่ยไรเพื่อร่วมกันทำบุญเนื่องในโอกาสการทอดผ้าพระกฐินพระราชทาน

          4. การเรี่ยไร่ที่ไม่ต้องขออนุมัติจาก กคร. หรือ กคร. จังหวัด ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้จำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สิน หรือจำนวนเงิน และมูลค่าทรัพย์สินรวมกันไม่เกิน จำนวน 500,000 บาท[5]


[1] อธิบดีกรมการปกครอง ในเขตกรุงเทพมหานคร, นายอำเภอ ปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่ง ในจังหวัดอื่น

[2] ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2487 ให้แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้ เป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตกรุงเทพมหานคร 1. ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน 2. อธิบดีกรมการปกครอง 3. ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ 4. ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม 5. ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด 6. ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 7. ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กรมการปกครอง 8. ผู้อำนวยการสำนักสอบสวนและนิติการ เป็นเลขานุการ 9. ผู้อำนวยการส่วนการรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักสอบสวนและนิติการ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

[3] 1. จำนวนเงินหรือทรัพย์สินอย่างสูงที่ให้เรี่ยไรได้ 2. เขต หรือสถานที่ เวลา ที่อนุญาตให้ทำการเรี่ยไรได้ 3. วิธีเก็บรักษาและทำบัญชีเงิน หรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้ 4. วิธีทำการเรี่ยไร

[4] ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง กำหนดแบบคำขออนุญาตและแบบใบอนุญาตจัดให้มีการเรี่ยไร และทำการเรี่ยไร พ.ศ. 2548

[5] ตามประกาศคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ ลงวันที่ 30 เมษายน 2556 เรื่อง การยกเว้นให้หน่วยงานของรัฐทำการเรี่ยไรได้โดยไม่ต้องขออนุมัติต่อ กคร. หรือ กคร. จังหวัด ตามข้อ 19 (4) และ (5) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2544 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556