งานควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า

พระราชบัญญัติ ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474

เจตนารมณ์

          พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของสังคม จึงมีเจตนารมณ์ที่จะควบคุมไม่ให้ผู้ใดประกอบอาชีพขายทอดตลาดหรือค้าของเก่า ผู้ที่จะประกอบอาชีพตามพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงต้องผ่านการตรวจสอบประวัติ ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด และต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการ และบุคคลผู้ขายทอดตลาดหรือค้าของเก่าในวันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับ ให้ยื่นคำขออนุญาตภายใน 3 เดือน

ความหมาย

          ของเก่า คือ ทรัพย์ที่เสนอขาย แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายโดยประการอื่น อย่างทรัพย์ที่ใช้แล้ว ทั้งนี้รวมถึงของโบราณด้วย[1]

          ขายทอดตลาด คือ การขายโดยเปิดเผยแก่มหาชน ด้วยวิธีให้โอกาสแก่ผู้ประมูลราคา  ผู้ให้ราคาสูงก็มีสิทธิซื้อทรัพย์นั้นไป

          การค้าของเก่า หมายถึง

          ก. ประเภทโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

          ข. ประเภทเพชร พลอย ทอง นาก เงิน หรืออัญมณี

          ค. ประเภทรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ได้แก่ รถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการและรถยนต์ส่วนบุคคล

          ง. ประเภทอื่น ๆ เช่น รถจักรยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ กระดาษ ไม้เรือนเก่า ขวด เศษเหล็ก โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

การประกอบอาชีพค้าของเก่าและขายทอดตลาดเป็นสิทธิเฉพาะตัว

          ห้ามมิให้บุคคลใดประกอบอาชีพ  ขายทอดตลาด และการค้าของเก่า โดยไม่ได้รับอนุญาต ของเก่าที่รัฐมนตรีประกาศยกเว้น เมื่อเห็นสมควรจะประกาศเพิกถอนก็ได้ ผู้ค้าของเก่าประเภทที่ได้รับการยกเว้น จะต้องได้รับใบอนุญาตภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต

          1. อธิบดีกรมการปกครอง สำหรับกรุงเทพมหานคร

          2. ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับจังหวัดอื่น

นายตรวจ

          1. อธิบดีกรมการปกครอง และข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 4 ขึ้นไป ในกรุงเทพมหานคร

          2. ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอ ปลัดอำเภอ ในจังหวัดอื่น[2]

          หน้าที่ของนายตรวจ

          1. ตรวจตราผู้ได้รับอนุญาตขายทอดตลาดในท้องที่ตนว่าได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วน ตามหน้าที่ของผู้ขายทอดตลาด

          2. ตรวจตราผู้ค้าของเก่าว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ครบถ้วนหรือไม่ ถ้าบกพร่องก็ให้ผู้ค้าของเก่าดำเนินการเสียให้ครบถ้วนบริบูรณ์ก่อน จึงให้ทำการค้าของเก่าได้

          3. ตรวจบัญชีและทรัพย์สินสิ่งของการขายทอดตลาดและค้าของเก่า กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าทรัพย์สินสิ่งของ ได้มาโดยการทุจริตให้รีบรายงานตามลำดับชั้น จนถึงเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตพิจารณาสั่งการ

          4. ตรวจตราผู้ขายทอดตลาดและค้าของเก่าให้ปฏิบัติตามกฎหมาย หากปรากฏว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องให้นายตรวจบันทึกความผิดส่งสถานีตำรวจท้องที่ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แล้วรายงานให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตทราบ ซึ่งกรมการปกครองได้กำหนดแบบบันทึกผลการตรวจให้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติแล้ว

          5. การย้ายที่ทำการหรือร้านขายทอดตลาดและค้าของเก่าจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ให้ผู้รับอนุญาต แจ้งนายตรวจทราบโดยมิชักช้า ดังนั้น เมื่อนายตรวจ ได้รับทราบแจ้ง การย้ายจากผู้ทำการขายทอดตลาดหรือค้าของเก่ารายใดแล้ว นายตรวจจะต้องตรวจอาคารสถานที่ตั้ง ตลอดจนสถานที่เก็บทรัพย์สินว่าเหมาะสมหรือไม่ พร้อมกับทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่ตั้ง แล้วรายงานเสนอความเห็น ต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตสั่งการ หากได้รับอนุญาตให้แก้ไขรายการในใบอนุญาตให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

คุณสมบัติของผู้ที่จะขออนุญาตได้

          ห้ามมิให้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ร้องขอ เว้นแต่ผู้นั้นจะมีคุณสมบัติหรือพื้นความรู้ ดังนี้

                    1. มีอายุ 20 ปีขึ้นไป

                    2. รู้หนังสือไทยพออ่านออกเขียนได้

                    3. ไม่เคยต้องโทษจำคุกตามกฎหมายลักษณะอาญา ภาค 2[3]

หน้าที่ของผู้ขายทอดตลาดและค้าของเก่า

          ผู้ขายทอดตลาดต้อง

                    1. แสดงคำแจ้งความแห่งการขาย ณ สถานที่ขาย

                    2. อยู่ ณ ที่ขายในเวลาขายทอดตลาด

                    3. มีสมุดบัญชีการขาย

                    4. แจ้งวันและสถานที่ขายให้นายตรวจทราบล่วงหน้า 3 วัน

                    5. แสดงคำว่า “ผู้ทอดตลาด” เหนือประตูชั้นนอกของสำนักงาน

          ผู้ค้าของเก่าต้อง

                    1. แสดงคำว่า “ผู้ค้าของเก่า” ณ ที่การของตน

                    2. ทำสมุดบัญชี

                    3. แจ้งเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจ ถ้าสงสัยว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการทุจริต

                    4. ทำเลขลำดับเครื่องหมายให้ตรงกับเลขสมุดบัญชี

การพิมพ์ลายนิ้วมือ

          ให้อำเภอขอความร่วมมือสถานีตำรวจท้องที่เป็นผู้พิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ขอใบอนุญาต เพื่อส่งไปตรวจสอบ คุณสมบัติ ที่กอง ทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยไม่ต้องรอผลการตรวจสอบ[4]

ใบอนุญาตผู้ขายทอดตลาดและค้าของเก่า

          1. ใบอนุญาตเฉพาะตัว

          2. โอนกันไม่ได้

          3. สมบูรณ์เพียงวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี        

          ให้เจ้าพนักงานเพิกถอนใบอนุญาต เมื่อผู้รับใบอนุญาตขาดคุณสมบัติ ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือต้องคำพิพากษาตามพระราชบัญญัตินี้ 2 ครั้งในปีเดียวกัน

          เมื่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตมีคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตหรือเพิกถอน เสนาบดี (รมต.มหาดไทย) จะสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งก็ได้ แต่ผู้ร้องหรือผู้รับใบอนุญาตต้องยื่นคำร้องต่อเสนาบดีภายใน 10 วัน

          ใบอนุญาตประกอบอาชีพขายทอดตลาด หรือค้าของเก่าสูญหาย ให้ไปขอรับ ใบแทนใบอนุญาตภายใน 7 วัน นับแต่วันสูญหาย

อัตราโทษ

          1. ผู้ใดประกอบอาชีพขายทอดตลาดหรือค้าของเก่า โดยไม่ได้รับอนุญาต และประกอบอาชีพภายหลังที่มีคำสั่งเพิกถอน จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท ถ้าการกระทำผิดเป็นการขายทอดตลาด หรือค้าของเก่าประเภทโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท (โทษเท่าตัว)

          2. ผู้ใดขายทอดตลาดหรือค้าของเก่าโดยใบอนุญาตขาดอายุ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท

          3. ผู้ใดไม่แจ้งเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจ เมื่อสงสัยว่าของที่ผู้มาเสนอหรือโอนเป็นทรัพย์ได้มาโดยทุจริต จำคุก 1 – 3 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000 – 30,000 บาท ถ้าการกระทำความผิด เป็นการกระทำเกี่ยวกับวัตถุโบราณ ศิลปวัตถุ จำคุก 5 – 15 ปี ปรับตั้งแต่ 50,000 – 150,000 บาท

หน่วยรับเรื่องราวคำขออนุญาต

          ให้หน่วยรับเรื่องราวคำร้องขออนุญาตเสนอเรื่องไปให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ภายใน 10 วัน และให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน ถ้า
เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ไม่อนุญาต ให้แจ้งผู้ขอภายใน 5 วัน หากผู้ขอต้องการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตภายใน 15 วัน ถ้าเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตเพิกถอนใบอนุญาต ให้รายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย และให้ส่วนราชการต่อไปนี้เป็นหน่วยรับเรื่องราวคำขออนุญาต[5]

          1. ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ กรมการปกครอง

          2. จังหวัดอื่น ได้แก่ ที่ทำการปกครองอำเภอ/กิ่งอำเภอ

ผู้มีหน้าที่ตรวจสถานประกอบอาชีพ

          ผู้มีหน้าที่ตรวจ  มี 2 คน คือ นายตรวจ และเจ้าพนักงาน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้มีหน้าที่ควบคุมการขายทอดตลาดค้าของเก่า ขณะนี้รัฐมนตรีไม่ได้แต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ใดให้มีหน้าที่ควบคุมการขายทอดตลาดค้าของเก่าแต่อย่างใด คงมีแต่นายตรวจเท่านั้นที่สามารถเข้าไปตรวจใบอนุญาต สมุดบัญชี ทรัพย์สิ่งของในร้าน หากพบการกระทำความผิด สามารถจับกุมในฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต

          เงินค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า ให้ถือปฏิบัติตาม ระเบียบการเก็บรักษาเงิน การนำส่งเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอ/กิ่งอำเภอ พ.ศ. 2520 และระเบียบว่าด้วยวิธีการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2520 โดยค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบอาชีพการขายทอดตลาด และค้าของเก่า ให้เก็บในอัตราต่อปีดังต่อไปนี้[6]

          1. การขายทอดตลาด ปีละ 15,000 บาท

          2. การค้าของเก่า

                    – ประเภทโบราณวัตถุ 12,500 บาท

                    – ประเภทเพชร พลอย ทอง นาก เงิน อัญมณี 10,000 บาท

                    – ประเภทรถยนต์ 7,500 บาท

                    – ประเภทอื่น ๆ 5,000 บาท

หนังสือสั่งการ

มท 0301.2/ว66 ลงวันที่ 11 มกราคม 2538

          เป็นหนังสือแจ้งเวียนหนังสือตอบข้อหารือ จังหวัดนครราชสีมา กรณีหารือว่ารถจักรยานยนต์จัดอยู่ในการค้าของเก่าประเภทใด รถจักรยานยนต์จัดอยู่ในกลุ่มประเภทค้าของเก่าประเภทอื่น ๆ ค่าธรรมเนียมปีละ 5,000 บาท

มท 0310.2/4390 ลว. 17 มี.ค.2538 

          เป็นหนังสือตอบข้อหารือ จังหวัดชลบุรี  กรณีหารือว่า  ผู้ประกอบอาชีพประเภท ไม้เรือนเก่า จะต้องได้รับอนุญาตหรือไม่ ผู้ประกอบอาชีพไม้เรือนเก่า จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตก่อน จัดอยู่ในประเภทอื่น ๆ ค่าธรรมเนียมปีละ 5,000 บาท

มท 0310.2/ว 1232 ลว. 18 เม.ย.2540

          เป็นหนังสือแจ้งเวียนขอให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอใบอนุญาตอย่างถี่ถ้วน และกำชับให้นายตรวจออกตรวจสถานประกอบการอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง  โดยยึดหลักความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

มท 0309.3/ว 3523 ลว.12 ธ.ค.2545

          เป็นหนังสือแจ้งเวียนการตอบข้อหารือของ จังหวัดน่าน ในประเด็นที่เกี่ยวกับการค้าของเก่าในลักษณะการจัดตลาดนัด กรณีการค้าของเก่าในตลาดนัด (ขายชั่วครั้งชั่วคราว) ไม่มีโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือไม่มีอาคารที่ใช้เป็นที่ตั้งร้าน ก็สามารถอนุญาตได้ แต่สถานที่เก็บทรัพย์สินจะต้องเป็นหลักแหล่งมั่นคง และตรวจสอบได้ ไม่จำเป็นต้องมีเลขที่บ้าน อาจอนุญาตตามเลขที่โฉนดก็ได้ เนื่องจากเจตนารมณ์ของกฎหมายก็เพื่อให้ทราบถึงตำแหน่งที่ตั้งเพื่อตรวจสอบได้เท่านั้น

ด่วนที่สุด มท 0307.3/ว 1474 ลว. 18 พ.ค.2548

          เป็นหนังสือแจ้งเวียนให้เข้มงวดกวดขันร้านค้าของเก่า ประเภทอื่นๆ (โทรศัพท์มือถือ) รวมถึงให้จดรายการบุคคลกรณีที่ซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือในระบบเติมเงิน (prepaid sim card) เพื่อป้องกันการนำ prepaid sim card ไปประกอบจุดระเบิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


[1] ของเก่าที่ได้รับการยกเว้น มี 1 อย่างคือ กระสอบป่านของเก่า ได้รับการยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2482

[2] เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และนายตรวจ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 9

[3] ให้ตรวจสอบเพิ่มเติมกับ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50  ปี พ.ศ. 2539 ด้วย กฎหมายฉบับดังกล่าว ให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อน หรือในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.ใช้บังคับคือวันที่ 10  มิถุนายน พ.ศ. 2539 หรือซึ่งได้พ้นโทษไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 โดยให้ถือว่า ผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ

[4] มาตรา 6 (3) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474

[5] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาด และค้าของเก่า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548

[6] กฎกระทรวง ฉบับที่ 7