งานโรงรับจำนำ

พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505

          การรับจำนำในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปรากฏตามหลักฐานในรัชสมัยพระบรมโกษฐ์ กรุงศรีอยุธยา ตามพระราชกำหนดที่ออกในปี พ.ศ. 2234 เรื่องการควบคุมการรับจำนำ กำหนดให้การรับจำนำกระทำในเวลากลางวัน ผู้ตั้งโรงรับจำนำแห่งแรกของไทยเป็นชาวจีน ชื่อ ฮง แซ่เบ๊ ในปี พ.ศ. 2409 ตั้งอยู่ที่ ย่านประตูผี ถนนบำรุงเมือง ชื่อร้านโรงรับจำนำย่องเซี้ยง (หัวมุมตัดกับถนนมหาไชย) ข้างวัดเทพธิดาราม ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น “โรงรับจำนำสำราญราษฎร์” ส่วนโรงรับจำนำของรัฐ ได้จัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2498 ในสมัย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย และในปี พ.ศ. 2500 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานธนานุเคราะห์” การดำเนินงานระยะแรก มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการ สังกัดแผนกธนานุเคราะห์ กองสวัสดิการสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ต่อมาปี พ.ศ. 2517 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยคณะที่ปรึกษาฝ่ายบริหารราชการแผ่นดินจากการเป็นหน่วยงานของทางราชการเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัด กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยใช้ชื่อว่า “สำนักงานธนานุเคราะห์”

          ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้มีมติ ครั้งที่ 20/2503 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2503 ได้พิจารณาเห็นว่าเทศบาลเป็นหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณของตนเอง จึงสามารถจัดตั้งเองได้ และ สถานธนานุบาลแห่งแรก คือ สถานธนานุบาลของเทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อ 22 ธันวาคม 2503 และได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พุทธศักราช 2480 ทั้งฉบับโดยใช้พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 จนถึงปัจจุบันมีการแก้ไขถึง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2534 วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 31 ธันวาคม 2505 จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2506 เป็นต้นมา

ความหมายของโรงรับจำนำ

          “โรงรับจำนำ” คือ สถานที่รับจำนำซึ่งประกอบการรับจำนำสิ่งของเป็นประกันหนี้เงินกู้เป็นปกติธุระ แต่ละรายมีจำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท และหมายความตลอดถึงการรับหรือซื้อสิ่งของโดยจ่ายเงินให้สำหรับสิ่งของเป็นปกติธุระ แต่ละรายไม่เกิน 100,000 บาท

          “การจำนำ” คือ การที่บุคคลคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้จำนำ” นำสังหาริมทรัพย์ไปส่งมอบให้อยู่ในความครอบครองของบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับจำนำ” เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่ผู้จำนำเป็นหนี้ผู้รับจำนำ (ป.พ.พ. มาตรา 747)

เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต

          1. อธิบดีกรมการปกครอง ในเขตกรุงเทพมหานคร

          2. ผู้ว่าราชการจังหวัด ในจังหวัดอื่น

เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานตรวจโรงรับจำนำ[1]

          1. อธิบดีกรมการปกครอง ในเขตกรุงเทพมหานคร

          2. ผู้ว่าราชการจังหวัด ในเขตจังหวัดอื่น

เจ้าพนักงานตรวจ

          1. อธิบดีกรมการปกครอง หรือข้าราชการกรมการปกครองระดับ 4[2] ขึ้นไป ใน กทม.

          2. ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอ ปลัดอำเภอ ในจังหวัดอื่น

คณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำ

          1. ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน

          2. อธิบดีกรมตำรวจ (ผบ.ตร.)

          3. อธิบดีกรมอัยการ (อัยการสูงสุด)

          4. อธิบดีกรมการปกครอง

          5. อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

          6. หัวหน้ากองทะเบียนกรมตำรวจ เป็นเลขานุการ

อำนาจหน้าที่คณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำ

          1. กำหนดท้องที่ที่จะอนุญาตให้ตั้งโรงรับจำนำ (ให้ประกาศ ณ ศาลากลางจังหวัด)

          2. กำหนดจำนวนโรงรับจำนำ (ให้ประกาศ ณ ศาลากลางจังหวัด)

          3. พิจารณาคำขออนุญาต ตั้ง ย้าย โรงรับจำนำ

คุณสมบัติผู้ขออนุญาตตั้งโรงรับจำนำ

          1. อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี

          2. ไม่เป็นผู้ประพฤติเสื่อมเสีย

          3. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต

          4. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

          5. ไม่เคยต้องโทษจำคุก

          6. ไม่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต

          7. ไม่มีพฤติการณ์ก่อกวนทำลายเศรษฐกิจ

ห้ามมิให้ผู้รับจำนำกระทำการดังต่อไปนี้

          1. รับจำนำหรือไถ่จำนำระหว่างเวลา 18.00 – 08.00 น.

          2. รับจำนำของจากภิกษุ สามเณร หรือเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

          3. ของใช้ในราชการ

          4. นำทรัพย์ออกนอกโรงรับจำนำ

          5. ประกอบธุรกิจไม่เกี่ยวกับการจำนำ ในโรงรับจำนำ

ป้ายชื่อโรงรับจำนำ

          ผู้รับจำนำต้องจัดให้มีป้ายคำว่า “โรงรับจำนำ” ตามลักษณะที่เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตกำหนดแสดงไว้ในที่เปิดเผยหน้าโรงรับจำนำ ในกรณีเทศบาลหรือทางราชการตั้งโรงรับจำนำ อาจใช้คำอื่นแทนคำว่า “โรงรับจำนำ” ก็ได้แต่ต้องเป็นคำที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำให้ใช้ได้ เช่น

          กรมประชาสงเคราะห์  ใช้คำว่า  สถานธนานุเคราะห์

          กรุงเทพมหานคร  ใช้คำว่า  สถานธนานุบาล

          เทศบาล ใช้คำว่า  สถานธนานุบาล

อัตราดอกเบี้ย

          ห้ามมิให้ผู้รับจำนำเรียกหรือรับดอกเบี้ยเกินอัตรา ดังต่อไปนี้ 1. เงินต้นไม่เกิน 2,000 บาท ร้อยละ 2 ต่อเดือน และ 2. เงินต้นส่วนที่เกิน 2,000 บาท ร้อยละ 1.25 ต่อเดือน

          การเรียกดอกเบี้ยกรณีไม่ครบเดือน

                    1. ถ้าไม่เกิน 15 วัน ให้คิดเป็นครึ่งเดือน (เศษของหนึ่งสตางค์ให้ปัดทิ้ง)

                    2. ถ้าเกิน 15 วัน ให้คิดเป็น 1 เดือน (เศษของหนึ่งสตางค์ให้ปัดทิ้ง)

บัญชีและจำนำหลุด

          ให้ผู้รับจำนำทำบัญชีทรัพย์จำนำ ที่ผู้รับจำนำขาดส่งดอกเบี้ยเป็นเวลากว่า 4 เดือน ยื่นต่อพนักงานผู้ออกใบอนุญาตและปิดประกาศ ณ ที่เปิดเผยที่โรงรับจำนำ และให้ผู้รับจำนำทำบัญชีงบเดือน ยื่นต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตภายในเวลาไม่เกิน 15 วัน นับแต่สิ้นเดือนปฏิทิน

          เมื่อผู้รับจำนำได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนแล้ว หรือผู้จำนำมิได้ขอไถ่ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศ ให้หลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับจำนำ

การออกใบอนุญาตและการสั่งพักใช้ใบอนุญาต

          เมื่อคณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำพิจารณาอนุญาต ให้เจ้าพนักงานออกใบอนุญาต และกรณีคณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำไม่อนุญาตให้ตั้งโรงรับจำนำ ผู้ขออนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี โดยยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าพนักงานภายใน 30 วัน ใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำให้ใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ออกใบอนุญาต ถ้าผู้รับจำนำเป็นนิติบุคคล เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือผู้จัดการ ต้องแจ้งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตทราบภายใน 15 วัน

          คณะกรรมการควบคุมโรงรับจำนำมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาต ตั้งโรงรับจำนำ มีกำหนดไม่เกิน 3 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อปรากฏว่า ผู้รับจำนำ/กรรมการ ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือขาดคุณสมบัติ โดยผู้รับจำนำมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือคำสั่งเพิกถอนต่อรัฐมนตรีได้ โดยยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ภายใน 30 วัน คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

การเลิกกิจการรับจำนำ

          ผู้รับจำนำจะเลิกกิจการรับจำนำก็ให้ทำได้ แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือก่อนเลิกกิจการไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือผู้รับจำนำตาย ไม่มีผู้ขอเป็นผู้รับจำนำแทนผู้รับจำนำที่ตาย จนล่วงเลย 30 วัน มีผู้ขอเป็นผู้รับจำนำแทนแต่ไม่ได้รับอนุญาต หรือมีทายาทอื่นคัดค้านและไม่อาจตกลงกันได้ ให้เลิกกิจการ     โรงรับจำนำ

กรณีรับจำนำทรัพย์ที่เกิดจากการลักทรัพย์[3]

          ผู้รับจำนำต้องคืนทรัพย์จำนำให้แก่เจ้าของ โดยจะเรียกให้เจ้าของชำระหนี้ที่เกิดจากการรับจำนำทรัพย์นั้นมิได้ ในกรณีต่อไปนี้

          1. ได้รับจำนำสิ่งของที่เห็นได้ว่าเป็นของที่ใช้ในราชการ

          2. ได้รับจำนำทรัพย์หรือสิ่งของภายหลังจากที่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ออกประกาศตำหนิรูปพรรณของหายได้แจ้งเรื่องของหายต่อผู้รับจำนำทราบแล้ว

          3. ได้รับจำนำทรัพย์ไว้โดยรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าทรัพย์จำนำนั้นได้มาโดยการกระทำความผิด

          4. ได้รับจำนำทรัพย์ไว้โดยมิได้จดแจ้งรายการเกี่ยวกับบัตรประชาชนของผู้จำนำไว้ให้ชัดแจ้งในต้นขั้วของตั๋วรับจำนำ

          แต่ไม่ตัดสิทธิของผู้รับจำนำที่จะเรียกชำระหนี้ที่เกิดจากการรับจำนำเอาจากผู้จำนำ แต่ถ้าได้รับจำนำไว้โดยถูกต้องตามกฎหมายไม่เข้าข้อยกเว้นทั้ง 4 ข้อดังกล่าวผู้รับจำนำไม่ต้องคืนของหรือทรัพย์จำนำให้แก่เจ้าของทรัพย์ เว้นแต่ เจ้าของทรัพย์นั้นจะได้ชดใช้เงินที่จำนำให้แก่ผู้รับจำนำ

อัตราโทษ[4]

          1. ผู้ใดฝ่าฝืนโดยตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต, รับจำนำระหว่างถูกพักหรือเพิกถอน ปรับ 2,000 – 20,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี (ม.39)

          2. ฝ่าผืนเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ปรับตั้งแต่ 1,000 – 20,000 บาท จำคุกไม่เกิน 3 เดือน (ม.40)

          3. นอกนั้น ฝ่าฝืนอะไรก็ตามที่ไม่มีในมาตรา 39 และ 40 ปรับ 2,000 บาท

ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตและเจ้าพนักงานตรวจโรงรับจำนำ

เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต

          1. อธิบดีกรมการปกครอง ในเขตกรุงเทพมหานคร

          2. ผู้ว่าราชการจังหวัด ในเขตจังหวัดอื่น

เจ้าพนักงานตรวจโรงรับจำนำ

          1. อธิบดีกรมการปกครอง และข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกรมการปกครอง ระดับ 4 ขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร

          2. ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอ ปลัดอำเภอ ในเขตจังหวัดอื่น

กฎกระทรวง ฉบับที่ 1

          ผู้ใดมีความประสงค์จะขออนุญาตตั้งโรงรับจำนำ ให้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตที่ประกาศให้มายื่นไม่น้อยกว่า 15 วัน สถานที่ตั้งโรงรับจำนำที่จะขออนุญาต ต้องมีระยะไกลโรงรับจำนำที่ได้รับอนุญาตอยู่แล้วไม่น้อยกว่า 500 เมตร การประมูลตั้งโรงรับจำนำในจังหวัดอื่น ให้กระทำต่อหน้าคณะกรรมการพิจารณาประมูลไม่น้อยกว่า 3 คน (5 ปีให้มีการประมูลตั้งโรงรับจำนำครั้งหนึ่ง) เงินประกันนั้นถ้าผู้ขออนุญาตตั้งโรงรับจำนำ ไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในกำหนด 3 เดือน ให้รับไว้เสียเงินประกันนั้น ถ้าผู้ประมูลไม่ชำระค่าประมูลให้ครบถ้วนภายในกำหนด 3 เดือน ให้รับไว้เสีย

ค่าธรรมเนียม

          1. ใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำของเอกชน

                    ในกรุงเทพมหานคร 20,000 บาท

                    ในจังหวัดอื่น 10,000 บาท

          2. ใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำของเทศบาลหรือราชการ

                    ในกรุงเทพมหานคร 2,000 บาท

                    ในจังหวัดอื่น 1,000 บาท

          3. ใบแทนใบอนุญาต 50 บาท

กฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2506) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 กำหนดค่าธรรมเนียม ดังนี้

          1. ใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำเอกชน

                    1.1 กรุงเทพมหานคร ฉบับละ 12,000 บาท ถ้าผู้รับใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำรายใด ได้เสียเงินกว่าประมูลตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไปแล้ว ให้ลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเหลือฉบับละ 1,000 บาท

                    1.2 จังหวัดอื่น ฉบับละ 6,000 บาท ถ้าผู้รับใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำรายใดได้เสียเงิน ว่าประมูลตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไปแล้ว ให้ลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเหลือ ฉบับละ  500 บาท

          2. ใบอนุญาตตั้งโรงรับจำนำของเทศบาลหรือทางราชการ

                    2.1 กรุงเทพมหานคร ฉบับละ 1,000 บาท

                    2.2 จังหวัดอื่นฉบับละ  500 บาท

          3. ใบแทนใบอนุญาต  ฉบับละ 50 บาท

กฎกระทรวง ฉบับที่ 4

          บัญชีผู้จำนำขาดส่งดอกเบี้ยกว่า 4 เดือน  ให้ทำขึ้น 3 ฉบับ โดย 1. เก็บที่โรงรับจำนำ 2. ปิดประกาศที่เปิดเผย ณ โรงรับจำนำ กำหนด 15 วัน และ 3. ยื่นต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต

กฎกระทรวง ฉบับที่ 6

          ตั๋วรับจำนำที่พิมพ์โดยคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องเย็บเป็นเล่ม 1 เล่มให้มี 100 ชุด


[1] คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 204/2548

[2] 1. รองอธิบดีกรมการปกครอง 2. ผู้อำนวยการสำนักบริหารการปกครองท้องที่ 3. ผู้อำนวยการส่วนการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักบริหารการปกครองท้องที่ 4. หัวหน้ากลุ่ม สังกัดส่วนการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักบริหารการปกครองท้องที่ 5. หัวหน้าฝ่าย สังกัดส่วนการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักบริหารการปกครองท้องที่ 6. เจ้าพนักงานปกครอง หรือข้าราชการพลเรือนสามัญ ตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป สังกัดส่วนการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักบริหารการปกครองท้องที่ โดยลำดับที่ 1 – 5 มีอำนาจหน้าที่ตรวจโรงรับจำนำทุกแห่งในเขตกรุงเทพมหานครสำหรับลำดับที่ 6 ให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารการปกครองท้องที่เป็นผู้พิจารณามอบหมายหน้าที่ให้เหมาะสมตามจำนวนและสภาพพื้นที่

[3] พ.ร.บ.โรงรับจำนำ พ.ศ.2505 มาตรา 24

[4] เทคนิคในการจำ คือ นอกจาก 2 ข้อนี้แล้วฝ่าฝืนอะไรก็ตาม ปรับ 2,000 บาท