งานโรงแรม

พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547

          โรงแรมในประเทศไทยเริ่มขึ้นมาตั้งแต่สมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 4 ซึ่งประชาชนมีการไปมาหาสู่กัน ชาวต่างชาติคนจีนที่เข้ามาที่สยามประเทศในเวลานั้นก็จะไปพักตามศาลาวัด ต่อมาเมื่อคณะทูตซึ่งมี สมเด็จพระราโชไทยเสด็จกลับจากยุโรป ก็ได้นำแนวความคิดของการสร้างโรงแรมมาพัฒนา จนกระทั่งเมื่อหนังสือพิมพ์รายปีของ หมอบรัดเลย์ (D.B.Bradley) ฉบับปี พ.ศ. 2406 ก็ได้มีข้อความประกาศเปิดโรงแรมเป็นครั้งแรกในประเทศไทย นั่นคือ ยูเนี่ยน โฮเต็ล (Union Hotel) และ บอร์ดดิ้ง โฮเต็ล (Boarding Hotel) จนมาถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการปรับปรุงโรงแรมครั้งใหญ่ให้มีความสะดวกสบายและหรูหรามากขึ้นกว่าเดิม มีการนำไฟฟ้าเข้าไปใช้ในโรงแรมเป็นครั้งแรกที่ โรงแรมโอเรียนเต็ล มีการเปิดห้องอาหารภายในโรงแรมแบบเต็มระบบและในรัชสมัยนี้เองธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยก็เฟื่องฟูขึ้น มีการเปิดโรงแรมต่างๆ มากมาย

          จนกระทั่งปี พ.ศ. 2465 พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เป็นโอรสองค์ที่ 35 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้บัญชาการ การรถไฟในสมัยนั้นได้สร้าง โรงแรมหัวหิน ขึ้นมา เป็นโรงแรมที่สร้างขึ้นใกล้กับสถานีรถไฟ เป็นโรงแรมแรกที่สร้างขึ้นด้วยคนไทย มีคนไทยเป็นผู้บริหารงานและเป็นโรงแรมที่เป็นโรงแรมริมชายหาด

          และในปี 2478  ได้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2478 และได้แก้ไขรวมทั้งยกเลิกจนถึงปัจจุบัน พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 ซึ่งบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน (ตั้งแต่ วันที่ 12 พฤษภาคม 2548) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการ มีอำนาจในการแต่งตั้งนายทะเบียน ออกกฎกระทรวง กำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียม

สิ่งที่เป็นโรงแรม

          โรงแรม คือสถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจ เพื่อให้บริการที่พักชั่วคราว สำหรับคนเดินทาง หรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทน

สิ่งที่ไม่ถือว่าเป็นโรงแรม

          สถานที่พักที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราว ดำเนินการโดยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน โดยมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งกัน หรือสถานที่พักอาศัยโดยคิดค่าบริการเป็นรายเดือน

          สถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักรวมกันไม่เกิน 4 ห้อง และมีผู้พักรวมกันไม่เกิน 20 คน ไม่เป็นโรงแรมตามนิยามคำว่า “โรงแรม”[1]

นิยามที่สำคัญ

          ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม คือ ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม

          ผู้จัดการ คือ ผู้จัดการโรงแรม

          ผู้พัก คือ คนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดที่ใช้บริการที่พักชั่วคราวของโรงแรม

ประเภทของโรงแรมแบ่งเป็น 4 ประเภท[2]

          1. โรงแรมประเภท 1 หมายความว่า โรงแรมที่ให้บริการเฉพาะห้องพัก

          2. โรงแรมประเภท 2 หมายความว่า โรงแรมที่ให้บริการห้องพักและห้องอาหาร หรือสถานที่สำหรับบริการอาหารหรือสถานที่สำหรับประกอบอาหาร

          3. โรงแรมประเภท 3 หมายความว่า โรงแรมที่ให้บริการห้องพัก ห้องอาหารหรือสถานที่สำหรับบริการอาหารหรือสถานที่สำหรับประกอบอาหาร และสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการหรือห้องประชุมสัมมนา

          4. โรงแรมประเภท 4 หมายความว่า โรงแรมที่ให้บริการห้องพัก ห้องอาหารหรือสถานที่สำหรับบริการอาหารหรือสถานที่สำหรับประกอบอาหาร สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และห้องประชุมสัมมนา

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับโรงแรมแต่ละประเภท

          1. โรงแรมประเภท 1 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

                    1.1 มีห้องพักไม่เกิน 50 ห้อง

                    1.2 ห้องพักทุกห้องต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร ไม่รวมห้องน้ำ ห้องส้วมและระเบียงห้องพัก

                    1.3 มีห้องน้ำและห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะอย่างเพียงพอสำหรับผู้พัก

          2. โรงแรมประเภท 2 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

                    1.1 ห้องพักทุกห้องต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร ไม่รวมห้องน้ำ ห้องส้วมและระเบียงห้องพัก

                    1.2 มีห้องน้ำและห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะอย่างเพียงพอสำหรับผู้พัก

          3. โรงแรมประเภท 3 และประเภท 4 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

                    1.1 ห้องพักทุกห้องต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 14 ตารางเมตร ไม่รวมห้องน้ำ ห้องส้วม และระเบียงห้องพัก

                    1.2 มีห้องน้ำและห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะในห้องพักทุกห้อง

                    1.3 กรณีมีห้องพักไม่เกิน 80 ห้อง ห้ามมีสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ[3]

นายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่

นายทะเบียน[4]

          1. อธิบดีกรมการปกครอง ในเขตกรุงเทพมหานคร

          2. ผู้ว่าราชการจังหวัด ในเขตจังหวัดอื่น

พนักงานเจ้าหน้าที่[5]

          พนักงานเจ้าหน้าที่ คือ ผู้ซึ่งนายทะเบียนแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่โดยแต่งตั้งจาก

          1. ตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้นไป

          2. ข้าราชการพลเรือน ระดับ 3 ขึ้นไป

          3. ข้าราชการ พนักงานท้องถิ่น ระดับ 3 ขึ้นไป

          ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากนายทะเบียนมีอำนาจ ดังต่อไปนี้

          1. เข้าไปในโรงแรมในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกเพื่อตรวจสอบใบอนุญาต ทะเบียนผู้พัก บัตรทะเบียนผู้พัก สภาพและลักษณะของโรงแรม หรือตรวจสอบห้องพักที่ว่างหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของโรงแรมที่เปิดใช้ร่วมกันหรือเข้าไปในโรงแรมในเวลาทำการเพื่อตรวจสอบจำนวนและประวัติของพนักงานโรงแรม ทั้งนี้ เพื่อควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

          2. มีหนังสือเรียกผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ผู้จัดการ หรือเจ้าหน้าที่ของโรงแรมมาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงหรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณา

คณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจโรงแรม

1. ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน
2. เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
3. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
4. อธิบดีกรมการปกครอง
5. อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง
6. อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
7. อธิบดีกรมอนามัย
8. ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
9. ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
10. ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
11. ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม
12. นายกสมาคมโรงแรมไทย
13. ผู้แทนสมาคมโรงแรมไทย
14. ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
15. ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง มีวาระอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้แต่ต้องไม่เกิน 2 คราวติดต่อกัน
16. ผู้แทนกรมการปกครอง เป็นเลขานุการ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจโรงแรม

          1. ให้คำแนะนำรัฐมนตรี ในการออกกฎกระทรวง (กำหนดประเภทโรงแรม หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับสถานที่ตั้ง ขนาด ลักษณะ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือมาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรม การห้ามประกอบกิจการอื่นใดในโรงแรม)

          2. ให้คำแนะนำรัฐมนตรี ในการออกประกาศ

          3. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายทะเบียน

          4. เสนอแผนเกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลธุรกิจโรงแรม

          5. เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี ในการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง

ผู้ขอรับใบอนุญาต

          ผู้ขอรับใบอนุญาต ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

          1. อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี

          2. มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย

          3. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

          4. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

          5. ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ  

          6. ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ ยาเสพติด ค้าหญิงและเด็ก ค้าประเวณี การพนัน

          7. ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต

          8. ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่เวลาล่วงเลยมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

การออกใบอนุญาต 

          เมื่อนายทะเบียนได้รับคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้ตรวจสอบความถูกต้อง หากไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ ให้นายทะเบียนแจ้งผู้ขอให้ทราบภายใน 5 วัน และให้นายทะเบียนแจ้งการออกใบอนุญาต หรือไม่ออกใบอนุญาต ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ ภายใน 30 วัน ใบอนุญาตให้มีอายุ 5 ปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาต การขอต่อใบอนุญาตให้ยื่นคำขอก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ ผู้ที่ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตไม่ทัน ถ้าประสงค์จะประกอบธุรกิจโรงแรมต่อไป และได้มายื่นภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นอายุ และเมื่อได้รับอนุญาตให้ต่อใบอนุญาต ผู้นั้นต้องเสียค่าปรับอีกร้อยละ 20 ของค่าธรรมเนียม หากพ้น 60 วันไปแล้ว ต้องดำเนินการเหมือนขอใบอนุญาตใหม่ และถ้ากรณีใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ยื่นคำขอใบแทนใบอนุญาตภายใน 30 วัน

การตั้งชื่อโรงแรม

          ชื่อโรงแรมต้องเป็นอักษรไทย จะมีอักษรต่างประเทศใต้ชื่อก็ได้ และจะต้องไม่พ้องกับพระปรมาภิไธย ไม่ซ้ำหรือพ้องกับชื่อโรงแรมอื่น และไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย

ข้อห้ามของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม

          1. เปลี่ยนประเภทของโรงแรม

          2. เพิ่มหรือลดจำนวนห้อง

          3. เปลี่ยนชื่อโรงแรม

การเลิกธุรกิจโรงแรม ผู้ประกอบธุรกิจตาย และโรงแรมได้รับความเสียหาย

          ถ้าผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตาย หากทายาทมีความประสงค์จะดำเนินธุรกิจโรงแรมต่อไป ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนเพื่อขอรับโอนใบอนุญาตภายใน 180 วัน[6]

          ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ประสงค์จะเลิกกิจการระหว่างอายุใบอนุญาต ต้องแจ้งให้
นายทะเบียนทราบ ไม่น้อยกว่า 15 วัน หรือถ้าโรงแรมได้รับความเสียหายจากอัคคีภัย หรือภยันตรายร้ายแรงอื่นๆ ให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 15 วัน

ผู้จัดการโรงแรม

          ให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม จัดให้มีผู้จัดการคนหนึ่ง เป็นผู้มีหน้าที่จัดการโรงแรม โดยผู้จัดการต้องมีคุณสมบัติ คือ อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี และมีวุฒิบัตร หรือมีประสบการณ์ หรือมีหนังสือรับรองว่าได้ผ่านการฝึกอบรมวิชาการบริหารจัดการโรงแรม และต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดเกี่ยวกับ เพศ ยาเสพติด ค้าหญิงและเด็ก ค้าประเวณี และการพนัน โดยผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมกับผู้จัดการจะเป็นบุคคลเดียวกันก็ได้ ถ้านายทะเบียนตรวจพบว่าได้แจ้งข้อมูลผู้จัดการ ไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้ผู้แจ้งแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ภายใน 7 วัน ถ้าผู้จัดการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เกิน 7 วัน ให้ผู้ประกอบกิจการโรงแรมมอบหมายบุคคลให้มาเป็นผู้การแทนได้ไม่เกิน 90 วัน และให้บุคคลดังกล่าวแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบภายใน 30 วัน

หน้าที่ร่วมกันของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม และผู้จัดการ       

          1. จัดให้มีป้ายชื่อโรงแรม

          2. แสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยแลเห็นได้ง่ายในโรงแรม

          3. จัดให้มีเลขที่ประจำห้องพักติดไว้ที่หน้าห้องพักทุกห้อง

          4. จัดให้มีเอกสารแสดงอัตราค่าที่พักไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่ายในโรงแรม

          5. จัดให้มีแผนผังทางหนีไฟแต่ละชั้นและห้องทุกห้อง และป้ายทางออกฉุกเฉินไว้ในแต่ละชั้นของโรงแรม

          6. จัดให้มีเอกสารแสดงข้อจำกัดความรับผิดตาม ม. 675 ปพพ. ตามแบบที่คณะกรรมการกำหนด ไว้ในโรงแรมและห้องพักทุกห้อง

          7. ดูแลรักษาความสะอาดด้านสุขลักษณะและอนามัยของโรงแรม

          8. ดูแลรักษาสภาพของโรงแรมให้มีความมั่นคงแข็งแรง และระบบป้องกันอัคคีภัยให้เป็นไปตาม กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น

          9. ดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

          10. ดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับผู้พักในกรณีเกิดอัคคีภัย อุทกภัย หรือเกิดอันตรายใดๆ ขึ้นในโรงแรม

หน้าที่เฉพาะของผู้จัดการ

          ผู้จัดการต้องจัดให้มีการบันทึกรายการต่างๆ เกี่ยวกับผู้พัก ลงในทะเบียนผู้พัก[7] หากผู้พักอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้ผู้จัดการลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย และนำไปบันทึกลงในทะเบียนผู้พักภายใน 24 ชั่วโมง โดยผู้จัดการต้องเก็บรักษาบัตร และทะเบียนผู้พักอย่างน้อย 1 ปี และผู้จัดการต้องส่งสำเนาทะเบียนผู้พักให้นายทะเบียนทุกสัปดาห์รวมทั้ง

          1. ดูแลไม่ให้บุคคลใดมาหลบซ่อน หรือมั่วสุม

          2. แจ้งเจ้าพนักงานปกครองหรือตำรวจ เมื่อสงสัยว่ามีผู้มาหลบซ่อนหรือมั่วสุม

การปฏิเสธผู้ที่จะเข้าพักในโรงแรม

          ผู้จัดการปฏิเสธไม่รับบุคคลที่จะเข้าพักในโรงแรมได้ ถ้า

          1. มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเข้ามาหลบซ่อน มั่วสุม หรือทำความผิดอาญา

          2. เชื่อว่าบุคคลนั้นไม่สามารถจ่ายค่าห้องพักได้

          3. เชื่อว่าบุคคลนั้นมีโรคติดต่ออันตราย

การควบคุมและการอุทธรณ์

          เมื่อผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม หรือผู้จัดการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ ให้นายทะเบียนสั่งระงับได้ ถ้าผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมหรือผู้จัดการไม่ระงับ ให้นายทะเบียนแจ้งเป็นหนังสือภายใน 30 วัน ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำเตือนให้ดำเนินการดังนี้

          1. กรณีเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ให้สั่งพักใบอนุญาตไม่เกิน 15 วัน ไม่เกิน 4 ครั้ง

          2. กรณีเป็นผู้จัดการ ให้แจ้งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง ภายในเวลาไม่เกิน 30 วัน

          คำสั่งพักใช้ใบอนุญาต และคำสั่งเพิกถอน ให้ทำเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ และให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม หรือผู้จัดการได้ทราบแล้ว เมื่อพ้น 7 วัน

          ผู้ขอรับใบอนุญาตที่นายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการ ภายใน 15 วัน และให้คณะกรรมการพิจารณาคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน 45 วัน คำวินิจฉัยให้เป็นที่สุด

โทษปรับทางปกครอง

          1. ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม เปลี่ยนประเภทของโรงแรม เพิ่มลดจำนวนห้องพัก ปรับทางปกครองไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 20,000 บาท

          2. ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม เปลี่ยนชื่อโรงแรม ปรับทางปกครองไม่เกิน 100,000 บาท ปรับอีกวันละไม่เกิน 5,000 บาท

          3. ผู้จัดการไม่บันทึกทะเบียนผู้พัก ปรับทางปกครองไม่เกิน 10,000 บาท

          4. ผู้จัดการปฏิเสธไม่รับบุคคลที่จะเข้าพัก  ปรับทางปกครอง 5,000 – 20,000 บาท

โทษปรับทางอาญา

          1. ประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่มีใบอนุญาต จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน

          2. ผู้ใดฝ่าฝืนโดยขาดคุณสมบัติของการเป็นผู้จัดการ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

          3. แจ้งรายการเท็จลงในทะเบียนผู้พัก หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงาน จำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

อัตราค่าธรรมเนียม ท้าย พ.ร.บ.

          ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี ถ้ามิได้เสียค่าธรรมเนียมภายในเวลาที่กำหนดให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 5 ต่อเดือน ถ้ามีการเพิ่มห้องพักระหว่างปี ให้ชำระค่าธรรมเนียมในวันที่แจ้งให้นายทะเบียนทราบ และถ้ามีการลดห้องพักระหว่างปี ให้ชำระค่าธรรมเนียมในปีถัดไป

          1. ใบอนุญาต 50,000 บาท[8]

          2. ใบแทนใบอนุญาต 200 บาท

          3. การต่ออายุใบอนุญาต กึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมใบอนุญาต

          4. ค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมปีละ 80 บาทต่อห้อง

อัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวง[9]

                    1. ใบอนุญาตโรงแรมประเภทที่ 1 ฉบับละ 10,000 บาท

                    2. ใบอนุญาตโรงแรมประเภทที่ 2 ฉบับละ 20,000 บาท

                    3. ใบอนุญาตโรงแรมประเภทที่ 3 ฉบับละ 30,000 บาท

                    4. ใบอนุญาตโรงแรมประเภทที่ 4 ฉบับละ 40,000 บาท

                    5. ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 200 บาท

                    6. การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียม

                    7. ค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรม ปีละ 40 บาทต่อห้องพัก[10]

กฎกระทรวงประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551

สิ่งที่โรงแรมต้องจัดให้บริการ

          โรงแรมต้องจัดให้มีบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พักอย่างน้อยต่อไปนี้

          1. สถานที่ลงทะเบียน

          2. โทรศัพท์หรือระบบการติดต่อสื่อสาร

          3. การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

          4. ระบบรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง

การติดเครื่องดับเพลิงและสัญญาเตือนของอาคารสำหรับใช้เป็นโรงแรม

          1. เครื่องดับเพลิง

          1.1 อาคารที่ความสูงไม่เกิน 2 ชั้น จำนวนคูหาละ 1 เครื่อง

          1.2 อาคารนอกจากตามข้อ 1 ชั้นละจำนวน 1 เครื่อง ต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 1,000           ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 45 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง

          1.3 เครื่องดับเพลิงสูงจากพื้นไม่เกิน 1.50 เมตร

          2. ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้

          2.1 อาคารความสูงไม่เกิน 2 ชั้น ติดอย่างน้อย 1 เครื่อง ทุกคูหา

          2.2 อาคารนอกจากตามข้อ 2.1 ต้องติดอย่างน้อย 1 เครื่อง ทุกชั้น ทุกคูหา

          2.3 อาคารนอกจากตามข้อ 2.1 และ  2.2 พื้นที่ร่วมกันทุกชั้นหลังเดียวเกิน 2,000 ตารางเมตร ต้องติดทุกชั้น

ช่องทางเดิน บ่อเครอะ และพลังงานไฟฟ้าสำรองของโรงแรม

          1. อาคารสำหรับใช้เป็นโรงแรม ต้องมีช่องทางเดินภายในอาคาร ไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร

          2. อาคารสำหรับใช้เป็นโรงแรม มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันเกิน 2,000      ตารางเมตร ต้องจัดให้มีพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉิน

          3. บ่อเครอะ บ่อซึมของส้วม ต้องห่างจากแม่น้ำ คู คลอง แหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 10 เมตร

คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 463/2545

          กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 463/2545 เรื่อง การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงแรม พุทธศักราช 2478 โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

หลักเกณฑ์การขออนุญาต

          1. อาคารที่ใช้เป็นห้องพัก ต้องเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หรืออาคารอื่นที่มีลักษณะมั่นคง แข็งแรง ส่วนจำนวนชั้น และห้องพักต้องเหมาะสมกับสภาพแห่งท้องถิ่น ทั้งนี้ ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับเป็นที่พักผู้เดินทางหรือนักท่องเที่ยวโดยแท้ และไม่มีลักษณะหรือพฤติการณ์อันส่อไปในทางเป็นแหล่งมั่วสุมหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี

          2. สถานที่ตั้งต้องไม่อยู่ใกล้สถานที่ราชการ โรงเรียน สถานศึกษา วัด สถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานรักษาพยาบาลผู้ป่วยหรือโรงพยาบาล ในรัศมี 100 เมตร และต้องตั้งอยู่ในสถานที่มีความเหมาะสม สะดวกแก่การตรวจตราควบคุมของทางราชการ (การวัดระยะห่างรัศมี 100 เมตร ให้วัดระยะห่างระหว่างแนวเขตครอบครอง (แนวริมเขตที่ดิน) ของโรงแรมกับสถานที่ราชการ โรงเรียน วัด ฯลฯ แล้วแต่กรณี ตามหนังสือหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0207/6944 ลว. 25 เมษายน 2533) หากท้องที่ใดมีความจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างโรงแรมใกล้สถานที่ราชการ โรงเรียน วัด ฯลฯ ในรัศมี 100 เมตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบอำนาจให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาอนุมัติแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0307. 1/ว40 12 ลว. 29 พฤศจิกายน 2549)

          3. เส้นทางเข้า ออก จะต้องไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการจราจร

          4. สถานที่จอดรถ โรงแรมต้องมีสถานที่จอดรถ กลับรถ เพียงพอสมดุลกับจำนวนห้องพักโดยสถานที่จอดรถต้องอยู่แยกส่วนออกต่างหากจากบริเวณห้องพักไม่ให้ปะปนกัน และไม่มีทางสำหรับให้รถแล่นผ่านบริเวณห้องพักแต่ละชั้น

การพิจารณาอนุญาต

          การพิจารณาอนุญาตสร้างหรือตั้งโรงแรม การเปิดดำเนินกิจการโรงแรม การเปลี่ยนชื่อหรือยี่ห้อ การย้ายสถานที่ การเพิ่มหรือลดจำนวนห้องสำหรับพักแห่งโรงแรม ตามพระราชบัญญัติโรงแรม พุทธศักราช 2478 ให้ถือปฏิบัติ ดังนี้

          1. ในกรุงเทพมหานคร ให้อธิบดีกรมการปกครอง[11] เป็นนายทะเบียนโรงแรมผู้มีอำนาจอนุญาต

          2. ในจังหวัดอื่น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายทะเบียนโรงแรมผู้มีอำนาจอนุญาต

การตรวจตราควบคุมโรงแรม

          1. ในกรุงเทพมหานคร ให้นายตำรวจชั้นสัญญาบัตร สังกัดงาน 2 (ควบคุมโรงแรม) กองกำกับการ 2 กองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายตำรวจท้องที่ตั้งแต่สารวัตรขึ้นไปมีหน้าที่ตรวจตราสอดส่องให้โรงแรมปฏิบัติตามกฎหมาย

          2. ในจังหวัดอื่น ให้นายอำเภอ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ปลัดอำเภอ และนายตำรวจท้องที่ตั้งแต่สารวัตรขึ้นไป มีหน้าที่ตรวจตราสอดส่องให้โรงแรมปฏิบัติตามกฎหมาย

หลักเกณฑ์การพิจารณาปิดโรงแรม หรือยึดใบอนุญาต

          หากมีหลักฐานแน่ชัดว่าทางโรงแรมมีส่วนรู้เห็น หรือผู้ดูแลหรือลูกจ้าง เป็นผู้จัดให้มีการค้าประเวณี หรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดนอกเหนือไปจากการดำเนินการตามกฎหมายแล้วให้เสนอปิดดังนี้

          ³ ครั้งที่ 1 ปิดมีกำหนด 15 วัน            ³ ครั้งที่ 2 ปิดมีกำหนด 30 วัน

          ³ ครั้งต่อๆ ไป ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ว่าราชการจังหวัด

การอุทธรณ์

          กรณีนายทะเบียนปฏิเสธไม่ยอมออกใบอนุญาต หรือไม่อนุญาตในกรณีอื่นๆ หรือ

นายทะเบียนปิดโรงแรม หรือยึดใบอนุญาต เจ้าของหรือเจ้าสำนักมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายใน 15 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง


[1] กฎกระทรวงประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551

[2] กฎกระทรวงประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 ข้อควรจำสำหรับข้อสอบ คือ โรงแรมประเภทที่ 2, 3 และ 4 ไม่ได้กำหนดจำนวนห้องพัก และห้องน้ำของโรงแรมประเภทที่ 1 และ 2 ให้มีอย่างเพียงพอ ส่วนประเภทที่ 3 และ 4 ห้องน้ำต้องมีทุกห้อง

[3] ความใน 1.3 มิให้นำมาใช้บังคับแก่โรงแรมที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการและโรงแรมที่ตั้งอยู่นอกเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการหรือโรงแรมที่ตั้งอยู่ในท้องที่งดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการซึ่งมีสถานบริการตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509

[4] ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง แต่งตั้งนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547

[5] ให้กรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจโรงแรม นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

[6] ถ้าเกี่ยวกับทายาทมารับช่วงต่อนั้น พรบ.อาวุธปืน 6 เดือน, พรบ.โรงแรม 180 วัน, พรบ.โรงจำนำ 30 วัน

[7] ประกาศกระทรวงเรื่องกำหนดบัตรและทะเบียนผู้พัก พ.ศ. 2547 ทะเบียนผู้พักให้ใช้กระดาษแข็งสีขาว กว้าง 11 เซนติเมตร ยาว 16 เซนติเมตร

[8] ดูก่อนว่าถามอะไร ถ้าถามค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวง ต้องตอบ 10,000  20,000  30,000  40,000 ประเภทที่ 1 – 4

[9] กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม หลักเกณฑ์ และวิธีการชำระค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551

[10] เดิมห้องและ 80 บาท แก้ไขใหม่ห้องละ 40 บาท ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม หลักเกณฑ์ และวิธีการชำระค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 76 ก วันที่ 14 สิงหาคม 2558

[11] เดิมเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แต่ได้มีการแก้ไขตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 68/2548