พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509
พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 บังคับใช้วันที่ 5 ตุลาคม 2509 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะกำหนดเขต จำกัดท้องที่หรืองดให้ตั้งสถานบริการ ให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา[1] (Zoning) โดยเบื้องต้นนั้นมี zoning นำร่อง 5 จังหวัด คือ นครนายก สุโขทัย สตูล พิจิตร อ่างทอง และพระราชบัญญัติกำหนดให้ผู้ตั้งสถานบริการที่อยู่ก่อนพระราชบัญญัตินี้บังคับ ให้มาขอรับใบอนุญาตภายใน 30 วัน
1. สถานบริการแบ่งได้ 5 ประเภท
สถานบริการ คือ สถานที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในทางการค้าแบ่งได้ 5 ประเภท ดังต่อไปนี้
1. สถานเต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง เป็นปกติธุระประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีคู่บริการ
2. สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายและบริการ โดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า
3. สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า แต่ไม่รวมถึง[2]
(ก) สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
(ข) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
(ค) สถานที่อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
4. สถานที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย หรือให้บริการ โดยมีรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) มีดนตรี การแสดงดนตรี และปล่อยให้นักร้องนั่งกับลูกค้า
(ข) มีการจัดอุปกรณ์ร้องเพลงให้แก่ลูกค้า
(ค) มีการเต้นหรือยินยอมให้มีการเต้น เช่น เต้นบนเวที โต๊ะอาหาร
5. สถานที่มีอาหาร สุรา เครื่องดื่มจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่น เพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดหลัง 24.00 น.
2. พนักงานเจ้าหน้าที่
1. กรุงเทพมหานคร หมายถึง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
2. จังหวัดอื่น หมายถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด
3. การขอใบอนุญาต
ผู้ขออนุญาตตั้งสถานบริการต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
2. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรม
3. ไม่เป็นผู้วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
4. ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่ออันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือโรคยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง
5. ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษในความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามประมวล กฎหมายอาญา ในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการค้าหญิงและเด็กหญิง ตามกฎหมายว่าด้วยการปรามการทำให้แพร่หลายและการค้าวัตถุอันลามก หรือตามกฎหมายว่าด้วยการปรามการค้าประเวณี[3]
อาคาร หรือสถานที่ขออนุญาต
1. ต้องไม่อยู่ใกล้วัด สถานประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล สโมสรเยาวชน หอพัก
2. ต้องไม่อยู่ย่านที่ประชาชนอยู่อาศัย
3. ต้องมีทางถ่ายเทอากาศสะดวก
การพิจารณาออกใบอนุญาต
เมื่อได้รับคำขออนุญาตตั้งสถานบริการ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาสั่งภายใน 90 วัน กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ออกใบอนุญาต หรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในกรุงเทพมหานคร ผู้ขออนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์ ต่ออธิบดีกรมตำรวจ (ผบ.ตร.) จังหวัดอื่นให้ผู้ขอใบอนุญาตอุทธรณ์ต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย ภายใน 30 วัน[4]
ใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการให้ใช้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ออกใบอนุญาต ถ้าใบอนุญาตสูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ยื่นคำขอใบแทนภายใน 15 วัน
บัตรประวัติของพนักงาน
ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำบัตรประวัติของพนักงาน ก่อนเริ่มเข้าทำงาน กรณีในรายการประวัติเปลี่ยนแปลงไป ให้ผู้รับอนุญาตแจ้งเปลี่ยนแปลงภายใน 7 วัน บัตรประวัติซึ่งเก็บรักษาไว้ สูญหาย ถูกทำลาย ในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตทำบัตรใหม่ ภายใน 7 วัน
ข้อห้ามสำหรับผู้รับใบอนุญาต
1. ห้ามรับผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าทำงาน
2. ห้ามปล่อยให้ผู้มีอาการมึนเมาเข้าไปอยู่ในสถานบริการ
3. ห้ามจำหน่ายสุราแก่ผู้มีอาการมึนเมา
4. ห้ามปล่อยให้ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เฝ้าหลับนอนในสถานบริการ
5. ห้ามมีการทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
6. ห้ามนำอาวุธเข้าไปในสถานบริการ
7. ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปในสถานบริการระหว่างเวลาทำการ
8. ห้ามมิให้นำอาวุธเข้าไป เว้นแต่เป็นเจ้าหน้าที่อยู่ในเครื่องแบบ และนำเข้าไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
9. ผู้รับอนุญาตต้องควบคุมมิให้การแสดงเป็นไปในทางลามก หรือมีสัตว์ร้ายเข้าร่วมการแสดง ถ้าผู้ได้รับอนุญาตปล่อยให้มีการแสดงลามกหรือมีสัตว์ร้ายในกรุงเทพมหานคร นายตำรวจท้องที่ตั้งแต่สารวัตรขึ้นไป จังหวัดอื่น นายอำเภอท้องที่ มีอำนาจสั่งงดการแสดงได้[5]
4. กำหนดเวลาเปิดปิดสถานบริการ[6]
ประเภท | สถานบริการที่ตั้งอยู่ใน Zoning และที่ตั้งก่อน 13 ม.ค. 2547 ทั้งในและนอก Zoning | สถานบริการที่ตั้งอยู่นอก Zoning |
มาตรา 3 (1) เต้นรำ รำวง รองเง็ง | 21.00 – 02.00 น. | 21.00 – 02.00 น. |
มาตรา 3 (2) จำหน่ายอาหาร สุรา เครื่องดื่มอย่างอื่น + มีผู้บำเรอ | 11.00 – 14.00 น. 18.00 – 24.00 น. | 11.00 – 14.00 น. 18.00 – 24.00 น. |
มาตรา 3 (3) อาบน้ำ นวด อบตัว + มีผู้บริการแก่ลูกค้า | 12.00 – 24.00 น. | 18.00 – 24.00 น. |
มาตรา 3 (4) สถานที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่น (ก) มีดนตรี การแสดงดนตรี และปล่อยให้นักร้องนั่งกับลูกค้า (ข) มีการจัดอุปกรณ์ร้องเพลงให้แก่ลูกค้า (ค) มีการเต้นหรือยินยอมให้มีการเต้น เช่นเต้นบนเวที โต๊ะอาหาร |
18.00 – 01.00 น. | 18.00 – 24.00 น. |
มาตรา 3 (5) สถานที่มีอาหาร สุรา เครื่องดื่มจำหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่น เพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดหลัง 24.00 น. | 18.00 – 01.00 น. | 18.00 – 01.00 น. |
5. การสั่งพัก หรือเพิกถอนใบอนุญาต
เหตุของการสั่งพักใช้ใบอนุญาต
1. ไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืน ได้แก่ ไม่มีบัตรพนักงาน บัตรพนักงานชำรุดแล้วไม่ทำใหม่
ก่อความวุ่นวายในสถานบริการ จำหน่ายสุราแก่ผู้มึนเมา สถานที่หรือโคมไฟไม่เรียบร้อย ให้สั่งพักได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน
2. ขัดต่อความสงบหรือความเรียบร้อยของประชาชน ได้แก่ ยาเสพติด ทำการแก้ไข
ต่อเติม หลับนอนในสถานบริการ ปล่อยให้นำอาวุธเข้าไป ปล่อยให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าไปในสถานบริการ ในส่วนที่เกี่ยวกับกำหนดเวลาเปิดปิดสถานบริการ ให้สั่งพักได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน
การอุทธรณ์
ถ้าผู้ขอรับอนุญาตอุทธรณ์เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่ง เจ้าพนักงานผู้ทำคำสั่งต้องมีคำสั่งภายใน 7 วัน หากพ้นกำหนดให้ถือว่าเป็นการทุเลาการบังคับ โดยให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งพัก หรือเพิกถอนใบอนุญาตในกรุงเทพมหานคร ให้อุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมตำรวจ (ผบ.ตร.) จังหวัดอื่นให้อุทธรณ์ต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย และการอุทธรณ์ให้ทำภายในกำหนด 15 วัน และก่อนครบกำหนด 90 วัน นับแต่
เพิกถอน จะยื่นคำขอรับใบอนุญาตเพื่อตั้งสถานบริการ ณ สถานที่เดียวกันนั้นไม่ได้
การโอนกิจการ
การโอนกิจการถือว่าเป็นการขออนุญาตใหม่ ซึ่งมีนโยบายไม่อนุญาต เว้นแต่การโอนกิจการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล (การโอนกิจการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ถือเป็น การโอนทรัพย์สินระหว่างกันเท่านั้นไม่สามารถโอนใบอนุญาตให้แก่กันได้)[7]
อัตราโทษ
1. ผู้รับใบอนุญาต ผู้ดำเนินกิจการ ลูกจ้างหรือคนรับใช้ ไม่ให้ความสะดวกเมื่อ
เจ้าพนักงานร้องขอ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
2. ผู้ใดตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต ดำเนินการระหว่างถูกพักใช้ใบอนุญาต ดำเนินการผิดประเภท จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท
3. ผู้ใดเข้าไปในสถานบริการโดยไม่มีหรือไม่ยอมให้ตรวจเอกสารราชการ (ที่มีภาพถ่ายและระบุอายุ) ปรับไม่เกิน 5,000 บาท
4. นำอาวุธเข้าไปในสถานบริการ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท เช่น มีด ไม้ ฯลฯ ถ้าเป็นอาวุธปืน จำคุก 1 – 5 ปี ปรับ 20,000 – 100,000 บาท ถ้าเป็นวัตถุระเบิดหรืออาวุธสงคราม จำคุก 2 – 20 ปี ปรับ 40,000 – 400,000 บาท
5. จัดให้มีการแสดงไปในทางลามกหรืออนาจาร จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท
อัตราค่าธรรมเนียม
1. ใบอนุญาตตั้งสถานบริการ 50,000 บาท
2. ใบแทนใบอนุญาต 1,000 บาท
3. ต่ออายุใบอนุญาต 10,000 บาท
6. กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตและการดำเนินกิจการสถานบริการ พ.ศ. 2549
หลักฐานในการยื่นขอตั้งสถานบริการ
การยื่นคำขออนุญาตตั้งสถานบริการต้องมีหลักฐานต่อไปนี้ (ทั้งบุคคลธรรมดาและ
นิติบุคคล) โดยยื่นต่อผู้รับคำขอตั้งสถานบริการ
1. แปลนแสดงพื้นที่ให้บริการไม่เล็กกว่า 1 ใน 500
2. รูปถ่ายครึ่งตัว ขนาด 4 x 6 เซนติเมตร จำนวน 3 รูป
3. นอกนั้นจะเป็นเอกสารพื้นฐานทั่วไป เช่น สำเนาบัตร สำเนาทะเบียนบ้าน ใบรับรองแพทย์
ผู้รับคำขอ
1. ในกรุงเทพมหานคร ยื่นต่อผู้กำกับการ หรือสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาล
2. จังหวัดอื่น ยื่นต่อนายอำเภอ หรือปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอ
การพิจารณาอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ
การพิจารณาอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่คำนึงถึงประวัติการกระทำความผิดต่อกฎหมายของผู้ขออนุญาตตั้งสถานบริการ โดยผู้ขออนุญาตต้องไม่มีประวัติการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติสถานบริการจนถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตภายในระยะเวลา 3 ปี และไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดทางอาญาอันมีลักษณะที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
การขอต่ออายุใบอนุญาต
1. สำเนาใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ
2. รูปถ่ายครึ่งตัว หน้าตรง ไม่สวมหมวก ขนาด 4 x 6 เซนติเมตร ของผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตหรือผู้แทนนิติบุคคลซึ่งถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป
3. ใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้น 1
การจัดทำ การเก็บรักษา และการแจ้งเปลี่ยนแปลงบัตรประวัติของพนักงาน
ให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการจัดทำบัตรประวัติของพนักงาน ลูกจ้าง คู่บริการ ผู้บำเรอ ผู้บริการอาบน้ำ นวด หรืออบตัว และคนรับใช้ของสถานบริการก่อนเริ่มเข้าทำงานในสถานบริการนั้น จำนวน 2 ชุด โดยให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการเก็บรักษาบัตรประวัติของบุคคลไว้ ณ สถานบริการที่บุคคลนั้นทำงานอยู่เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา 1 ชุด และจัดส่งบัตรประวัติของบุคคลดังกล่าวอีก 1 ชุดไปเก็บรักษาไว้ ณ สถานที่ที่ยื่นคำขออนุญาต และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการในบัตรประวัติของบุคคล ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายการภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง
การจัดสถานที่
1. มีแนวเขตของสถานบริการที่ชัดเจน
2. มีห้องสุขาเพียงพอสำหรับบริการลูกค้า โดยแยกห้องสุขาชายและหญิงออกจากกัน
3. มีการรักษาความสะอาดเรียบร้อยเป็นอย่างดี
4. โคมไฟมีระยะแสงสว่างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร
5. สถานบริการที่มีห้อง ต้องมีเลขอารบิคสีขาวสูงอย่างน้อย 5 เซนติเมตร มีช่องสี่เหลี่ยมโปร่งแสงขนาด 5 x 20 เซนติเมตร เหนือพื้นห้อง 1.70 เมตร
การติดหมายเลขประจำตัวพนักงาน
ให้ติดหมายเลขประจำตัวในบัตรประวัติของบุคคลที่อกด้านขวา โดยป้ายหมายเลขให้ทำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร พื้นสีแดงสำหรับ คู่บริการ พื้นสีน้ำเงินสำหรับพนักงาน ลูกจ้าง หมายเลขประจำตัวให้ใช้เลขอารบิคสีขาว
7. ประกาศกระทรวงมหาดไทย[8]
กรณีที่ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งต่ออายุใบอนุญาต
1. กรณีที่ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการขาดคุณสมบัติ เช่น อายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นต้น
2. กรณีที่สถานบริการถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตในรอบปีที่ได้รับอนุญาต รวมกันเป็นระยะเวลาเกิน 90 วัน
การสั่งพักใช้ใบอนุญาต
1. ไม่ทำบัตรประวัติของพนักงาน 2. ก่อความวุ่นวาย 3. จำหน่ายสุราแก่ผู้มีอาการมึนเมา
ครั้งที่ 1 สั่งพัก 10 วัน
ครั้งที่ 2 สั่งพัก 20 วัน
ครั้งที่ต่อไป สั่งพัก 30 วัน
2. ขัดต่อความสงบเรียบร้อย
ครั้งที่ 1 สั่งพัก 30 วัน
ครั้งที่ 2 สั่งพัก 60 วัน
ครั้งที่ต่อไป สั่งพัก 90 วัน
3. ไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืน โดย 1. ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการนำอาวุธเข้าไปในสถานบริการ 2. ยินยอมหรือปล่อยปละละเลย ให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งมิได้ทำงานในสถานบริการนั้น เข้าไปในสถานบริการระหว่างเวลาทำการ 3. ปล่อยให้นำอาวุธเข้าไปในสถานบริการ 4. กำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ
ครั้งที่ 1 สั่งพัก 30 วัน
ครั้งที่ 2 สั่งพัก 60 วัน
ครั้งที่ต่อไป สั่งพัก 90 วัน
4. มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
ครั้งละ 90 วัน
8. คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 7/2551 (เฉพาะสาระสำคัญ)[9]
ผู้รับคำขอใบอนุญาต
1. กรุงเทพมหานคร คือ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล หรือสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาล
2. จังหวัดอื่น คือ นายอำเภอ และปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอ
ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต สั่งการ พัก เพิกถอนใบอนุญาต
1. กรุงเทพมหานคร คือ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล
2. จังหวัดอื่น คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
ผู้พิจารณาอุทธรณ์
1. กรุงเทพมหานคร คือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
2. จังหวัดอื่น คือ ปลัดกระทรวงมหาดไทย[10]
การนำส่งเงินที่ได้จากการออกใบอนุญาต
กรุงเทพมหานคร ให้ใช้ใบเสร็จของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วส่งเงินไปยังกระทรวงการคลัง ส่วนในจังหวัดอื่น ให้ใช้ใบเสร็จของอำเภอ แล้วนำส่งเงินไปยังคลังจังหวัด
การต่ออายุใบอนุญาตและการอุทธรณ์
1. กรุงเทพมหานคร ยื่นต่อผู้กำกับการหรือสารวัตรตรวจสอบแล้วเสนอผู้บังคับการพิจารณา
2. จังหวัดอื่น ยื่นต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอตรวจสอบแล้วเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา
ถ้าไม่อนุญาตให้แจ้งคำสั่งพร้อมแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์ 30 วัน โดยให้ผู้ขอใบอนุญาตอุทธรณ์ต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ปลัดกระทรวงมหาดไทย แล้วแต่กรณี เมื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย สั่งเป็นประการใด ให้ผู้บังคับการหรือสารวัตร นายอำเภอหรือปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอ แจ้งสิทธิในการฟ้องศาลปกครอง ภายใน 90 วัน
ผู้มีหน้าที่ตรวจตราสอดส่องสถานบริการ
ผู้มีหน้าที่ตรวจตราสอดส่องสถานบริการให้ปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด และให้ถือปฏิบัติในการกวดขันสถานบริการตามนโยบายการจัดระเบียบสังคม
1. กรุงเทพมหานคร ให้ผู้กำกับการหรือสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาล
2. จังหวัดอื่น ให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่
การติดป้ายประชาสัมพันธ์ทางเข้า
ให้ผู้กำกับการหรือสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาล นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอท้องที่แล้วแต่กรณี ขอความร่วมมือสถานบริการทุกแห่ง ให้ติดป้ายประชาสัมพันธ์ มีลักษณะพื้นสีขาว ตัวอักษรสีแดง ขนาดตัวอักษรสูงไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตรกว้างไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร ไว้บริเวณทางเข้าสถานบริการ เช่น
1. สถานที่แห่งนี้เป็นสถานบริการตามมาตรา 3 (…) เปิดทำการตั้งแต่เวลา ….. ถึง ….. นาฬิกา
2. ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เข้าไปในสถานบริการระหว่างเวลาทำการ
3. ผู้ที่จะเข้าไปในสถานบริการจะต้องแสดงเอกสารราชการซึ่งมีภาพถ่ายและระบุอายุของตนเองก่อนเข้าไปในสถานบริการ
4. การนำบัตรประจำตัวประชาชนของผู้อื่นมาแสดงเพื่อเข้าไปในสถานบริการมีความผิดตามกฎหมาย
5. ห้ามนำยาเสพติดเข้าไปในสถานบริการโดยเด็ดขาด
6. ห้ามนำอาวุธเข้าไปในสถานบริการโดยเด็ดขาด ยกเว้น เจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในเครื่องแบบและนำเข้าไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
[1] พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในท้องที่จังหวัด….. พ.ศ. 2545-56
[2] แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติสถานบริการ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2560 บังคับใช้ 1 พ.ย. 2560 โดยข้อความเดิมที่ถูกยกเลิกเป็นดังนี้
“3. สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า เว้นแต่
(ก) สถานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะจากสภาแพทย์แผนไทย
(ข) สถานเพื่อสุขภาพ เสริมสวย ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย”
[3] ข้อควรจำคือไม่มีกฎหมายยาเสพติด และกฎหมายการพนัน อย่าสับสน และผู้ขออนุญาตต้องไม่มีประวัติการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้จนถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตภายในระยะเวลา 3 ปี และไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดทางอาญาอันมีลักษณะที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขออนุญาตและการดำเนินกิจการสถานบริการ พ.ศ. 2549
[4] จำให้ดีว่าไม่ใช้ผู้ว่าราชการจังหวัด
[5] เคยออกข้อสอบปลัดอำเภอ
[6] กฎกระทรวง กำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ. 2547
[7] คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 483/2521 เรื่อง การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509
[8] ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง หลักเกณฑ์ในการพิจารณาสั่งต่ออายุใบอนุญาต พักใช้ใบอนุญาต เพิกถอนใบอนุญาต และกำหนดระยะเวลาในการสั่งพักใช้ใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2548
[9] จะมีบางส่วนที่เหมือนกฎกระทรวงจะไม่เขียนเพิ่มอีก
[10] หลักในการจำผู้รับคำขอ ผู้พิจารณาอนุญาต ผู้พิจารณาอุทธรณ์ คือ กรุงเทพฯ ผู้กำกับ-ผู้บังคับ-ผู้บัญชา ส่วนจังหวัดอื่นคือ นายอำเภอ-ผู้ว่า-ปลัดกระทรวง