พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478
ความหมาย
คำว่า “จดทะเบียนครอบครัว”ไม่ปรากฏความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน สำหรับความหมายในทางปฏิบัติของการปฏิบัติงานทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความหมายของทะเบียนครอบครัวไว้ว่า หมายถึง การจดทะเบียนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว ที่กฎหมายให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิ และกำหนดหน้าที่ของบุคคลได้[1]
ทำความเข้าใจ
ในส่วนที่ท่านผู้อ่านกำลังอ่านนี้เป็นงานทะเบียนครอบครัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานทะเบียนทั่วไป ผู้รับผิดชอบคือส่วนการทะเบียนทั่วไป สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ คลอง 9 ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยงานทะเบียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนการทะเบียนทั่วไปจะมีทั้งหมด 8 ประเภท ได้แก่ 1.ทะเบียนครอบครัว 2.ทะเบียนชื่อบุคคล 3.ทะเบียนพินัยกรรม 4.ทะเบียนนิติกรรม 5.ทะเบียนสัตว์พาหนะ 6.ทะเบียนเกาะ 7.ทะเบียนศาลเจ้า และ 8.ทะเบียนสุสานและฌาปนสถาน
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ทะเบียนครอบครัว ผมพยายามที่จะโฟกัสว่างานทะเบียนครอบครัวที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้เป็นส่วนหนึ่งของงานทะเบียนทั่วไป และทะเบียนครอบครัวก็จะแบ่งออกไปอีกเป็น 7 ประเภท
ประเภทของงานทะเบียนครอบครัว
งานทะเบียนครอบครัว คือ การจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว โดยมีกฎหมายรับรองและคุ้มครองสิทธิให้ ไม่ว่าจะในฐานะสามีกับภรรยา หรือบิดามารดากับบุตร แบ่งออกเป็น 7 ประเภท คือ
1. ทะเบียนการสมรส 2. ทะเบียนการหย่า
3. ทะเบียนการรับรองบุตร 4. ทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม
5. ทะเบียนการเลิกรับบุตรบุญธรรม 6. ทะเบียนฐานะของภริยา
7. ทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 (บังคับใช้ 27 กันยายน 2533)
2. พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478
3. ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2541
4. พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522
5. พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489
6. กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478
ประวัติความเป็นมา
พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 เกิดขึ้นพร้อมกับการมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว ซึ่งทั้งสองฉบับ มีผลใช้บังคับพร้อมกัน คือ วันที่ 1 ตุลาคม 2478 โดยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เป็นการกำหนดถึงนิติสัมพันธ์ในทางครอบครัวและผลของนิติสัมพันธ์ ดังนั้น พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดระบบทะเบียนครอบครัวของบุคคลในประเทศไทย บทบัญญัติของกฎหมายจึงเป็นการกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนครอบครัวจดทะเบียนครอบครัว เช่น การจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนหย่า การจดทะเบียนรับรองบุตร การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงมีสถานะเป็นกฎหมายมหาชน เพราะบทบัญญัติของกฎหมายนี้เป็นเรื่องของนิติสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐที่เป็นนายทะเบียนและเอกชน ซึ่งเป็นผู้ร้องขอให้รัฐรับรองนิติสัมพันธ์ในทางครอบครัวของตนโดยการจดแจ้งในทะเบียนของรัฐ
นายทะเบียน[2]
1. ผู้อำนวยการกองทะเบียน หรือหัวหน้ากองทะเบียน กรมมหาดไทย เป็นนายทะเบียนกลาง (ปัจจุบันคือผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนทั่วไป สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง)
2. นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอและผู้อำนวยการเขต เป็นนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือเขต
3. เจ้าพนักงานทูตหรือกงสุลสยามเป็นนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียน ณ ที่ทำการสถานทูตหรือสถานกงสุลสยามนั้น (ปัจจุบันคือเจ้าพนักงานทูตหรือกงสุล ประจำ ณ ที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทย)[3]
การจดทะเบียนกับการบันทึก
“การจดทะเบียน” หมายความว่า การจดข้อความลงในทะเบียนเพื่อความสมบูรณ์ตามกฎหมาย
“การบันทึก” หมายความว่า การจดข้อความลงในทะเบียนเพื่อเป็นหลักฐานในการพิสูจน์
รัฐมนตรีผู้รักษาการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่รักษาการและให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม
บุคคลที่จะเป็นพยานจดทะเบียนครอบครัวไม่ได้
1. บุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
2. บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
3. บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือจักษุบอดทั้ง 2 ข้าง
1. ทะเบียนการสมรส
“การสมรส” หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า “แต่งงาน” นั้นก็คือ การที่ชายกับหญิงยอมอยู่กินด้วยกันด้วยการ “จดทะเบียนสมรส” เป็นสามีภริยากันจึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย เว้นแต่ชายหญิงที่สมรสกันตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478 โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันย่อมเป็นอันสมบูรณ์ตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย โดยไม่ต้องมาจดทะเบียนสมรสกันใหม่อีก ปัจจุบันนั้น กำหนดว่า การสมรสต้องมีการจดทะเบียนสมรสจึงจะมี ผลตามกฎหมาย ดังนั้น ถ้าไม่มีการจดทะเบียนสมรส แม้จะมีการจัดงานพิธีสมรสใหญ่โตเพียงใด กฎหมายก็ไม่ถือว่าชายหญิงคู่นั้นได้ทำการสมรสกัน และการสมรสที่สมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ
1. เป็นไปตาม “เงื่อนไขของการสมรส” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5
2. ต้องแสดงความยินยอมและได้รับความยินยอมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
3. ได้มีการจดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว
1.1 เงื่อนไขของการสมรส
เงื่อนไขแห่งการสมรสได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มี 6 ประการ คือ
1. ชายและหญิง มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว กรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้
2. การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
3. ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา จะทำการสมรสกันไม่ได้
4. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
5. ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้
6. หญิงที่สามีตายหรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
6.1 คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
6.2 สมรสกับคู่สมรสเดิม
6.3 มีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการ รักษาโรคในสาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์ หรือ
6.4 มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้
1.2 ต้องแสดงความยินยอมและได้รับความยินยอมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
การให้ความยินยอมให้ทำการสมรสทำได้ 3 วิธี ได้แก่ 1. ลงลายมือชื่อในทะเบียนขณะจดทะเบียนสมรส 2. ทำเป็นหนังสือแสดงความยินยอมโดยระบุชื่อผู้จะสมรสทั้งสองฝ่ายและลงลายมือชื่อของผู้ให้ความยินยอม และ 3. ถ้ามีเหตุจำเป็นจะให้ความยินยอมด้วยวาจาต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน ก็ได้ โดยการให้ความยินยอมนี้จะแบ่งได้ 2 กรณี คือ ชายกับหญิง และผู้เยาว์
1. การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อชายหญิงต้องยินยอมเป็นสามีภริยากันและต้องแสดงความยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและนายทะเบียนต้องบันทึกความยินยอมนั้นไว้
2. ผู้เยาว์จะกระทำการสมรสได้ จะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังต่อไปนี้
2.1 บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดาและมารดา
2.2 บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพ หรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจข้อความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้
2.3 ผู้รับบุตรบุญธรรมในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
2.4 ผู้ปกครองในกรณีที่ไม่มีบุคคลดังกล่าวข้างต้นให้ความยินยอมได้ หรือมีแต่ถูกถอนอำนาจปกครอง
1.3 ได้มีการจดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว
ในการร้องขอให้จดทะเบียนสมรสนั้น คู่สมรสจะต้องทำเป็นหนังสือตามแบบที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2541 จะทำตามแบบอื่นไม่ได้ ซึ่งการจดทะเบียนสมรสกระทำได้ 7 วิธี ด้วยกัน คือ
วิธีที่ 1 ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนในสำนักทะเบียน โดยยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือเขต ณ สำนักทะเบียนแห่งใดก็ได้ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นสำนักทะเบียนที่คู่สมรสมีภูมิลำเนาอยู่ เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบเห็นว่าถูกต้องแล้วก็จะรับจดทะเบียนให้ตามแบบ (คร.2) และออกใบสำคัญแสดงการสมรส (คร.3) โดยมอบให้คู่สมรสเก็บไว้คนละฉบับโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียม
วิธีที่ 2 จดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน มีหลักเกณฑ์ดังนี้
2.1 ยื่นคำร้องแจ้งความประสงค์ ณ สำนักทะเบียน
2.2 ต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตอำนาจของนายทะเบียน
2.3 เสียค่าธรรมเนียมรายละ 200 บาท
2.4 ผู้ร้องขอต้องจัดพาหนะรับส่งหรือจ่ายค่าพาหนะให้กับนายทะเบียนตามสมควร
วิธีที่ 3 จดทะเบียนสมรส ณ สถานที่สมรสซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้มีขึ้น ให้นายทะเบียนเรียกเก็บค่าธรรมเนียม รายละ 20 บาท (เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2548 ได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 217/2548 มอบอำนาจผู้พิจารณาอนุมัติ โดยในเขตจังหวัดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนในเขตกรุงเทพมหานครให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร)
วิธีที่ 4 จดทะเบียนนอกสำนักทะเบียนในท้องที่ห่างไกล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเป็นส่วนรวม ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติให้ทำได้ ให้นายทะเบียนเรียกเก็บค่าธรรมเนียม รายละ 1 บาท (หลักปฏิบัติจะมีสมุดทะเบียนให้นายทะเบียนเขียนคำว่า “ท้องที่ห่างไกล” และให้พยัญชนะตัว ท ไว้หน้าเลขทะเบียน)
วิธีที่ 5 ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อกำนัน เป็นวิธีหนึ่งที่ทางราชการประสงค์จะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในตำบลที่ห่างไกลกับที่ตั้งที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศโดยอนุมัติขอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยอมให้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อกำนันท้องที่ที่ผู้ร้องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีถิ่นที่อยู่เดียวกันกับกำนันท้องที่นั้นได้ ทั้งนี้คำร้องจะต้องมีลายมือชื่อของผู้แจ้งและพยาน 2 คน ลงชื่อต่อหน้ากำนัน ซึ่งพยานคนหนึ่งต้องเป็น
1. เจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง มีตำแหน่งตั้งแต่ชั้นผู้ใหญ่บ้าน ขึ้นไปหรือนายตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรีขึ้นไป หรือหัวหน้าสถานีตำรวจ
2. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
3. ทนายความ
วิธีที่ 6 การแสดงวาจาหรือกิริยาต่อหน้าพยาน มีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ ชายหรือหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย ซึ่งอาจจะเป็นภัยอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออยู่ในภาวะการรบหรือสงคราม ทำให้ไม่อาจจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนได้ ถ้าชายและหญิงได้แสดงเจตนาจะสมรสกันต่อหน้าพยานซึ่งบรรลุนิติภาวะ อย่างน้อย 2 คน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายตาย ให้พยานพร้อมฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ (ถ้ามี) ไปแสดงเจตนาสมรสต่อ
นายทะเบียนโดยไม่ชักช้า
วิธีที่ 7 จดทะเบียนสมรส ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ จะกระทำได้เฉพาะในกรณีการจดทะเบียนระหว่างบุคคลสัญชาติไทย หรือระหว่างบุคคลสัญชาติไทยกับต่างชาติเท่านั้น และถือเป็นการจดทะเบียนตามกฎหมายไทย โดยนำหลักฐานประกอบคำร้องการขอจดทะเบียนสมรส ดังนี้
1. คำร้องขอจดทะเบียนสมรส และ บันทึกถ้อยคำการจดทะเบียนสมรส ซึ่งกรอกรายละเอียดและลงชื่อโดยคู่สมรสแล้ว
2. หนังสือเดินทางที่ไม่หมดอายุของคู่สมรส
3. บัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของคู่สมรส
4. ในกรณีที่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนและหย่าแล้ว ต้องมีสำเนาทะเบียนหย่ามาแสดงด้วย
4. ในวันจดทะเบียนสมรส กรุณานำพยานไปด้วย 2 คน พร้อมหนังสือเดินทาง/บัตรประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้านของพยาน
1.4 ค่าธรรมเนียม
1. การจดทะเบียนสมรสในสำนักทะเบียน ไม่เก็บค่าธรรมเนียม
2. การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน รายละ 200 บาท (โดยผู้ร้องต้องจัดพาหนะรับส่งด้วย)
3. การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียนในท้องที่ห่างไกล เสียค่าธรรมเนียม 1 บาท
2. ทะเบียนการหย่า
2.1 การสิ้นสุดการสมรสมี 3 กรณี ได้แก่
1. การสิ้นสุดลงด้วยความตาย
2. การหย่า[4]
3. ศาลพิพากษาให้เพิกถอน (รวมถึงการสมรสที่เป็นโมฆียะสิ้นสุดเมื่อศาลพิพากษา
เพิกถอน)
ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของอำเภอนั้นจะมีอยู่เพียงการหย่าหรือการจดทะเบียนการหย่าเท่านั้น เพราะในส่วนของการสิ้นสุดลงด้วยความตายก็เป็นไปตามผลของกฎหมายอยู่แล้ว หรือศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรส ก็เป็นอำนาจศาลที่จะดำเนินการ
2.2 การหย่าสามารถกระทำได้ 2 วิธี คือ
1. การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล
การหย่าโดยวิธีนี้เป็นเรื่องของสามีภรรยาทั้งสองฝ่าย ไม่สามารถจะทำการตกลงหย่ากันได้โดยความยินยอม จึงต้องฟ้องหย่าต่อศาลโดยมีเหตุแห่งการหย่าตามมาตรา 1516 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5
2. การหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย
การหย่าโดยความยินยอม ได้แก่ การที่สามีภรรยาตกลงจะทำการหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน โดยต้องทำเป็นหนังสือซึ่งเรียกว่าหนังสือสัญญาการหย่าและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน (มาตรา 1514 วรรคสอง) และร้องขอต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียน ถ้าไม่มีหนังสือสัญญาการหย่ามาแสดงต่อนายทะเบียน ห้ามนายทะเบียนจดทะเบียนหย่าให้ ในหนังสือสัญญาการหย่าจะต้องแสดงข้อตกลงการหย่าให้ชัดแจ้ง เช่น ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร การใช้อำนาจปกครองบุตร และการแบ่งสินสมรส โดยการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
2.1 การจดทะเบียนหย่าในสำนักทะเบียน
คู่สมรสที่ประสงค์จะหย่าขาดจากกัน สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนหย่า (คร.1) พร้อมหนังสือสัญญาการหย่าต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเขตรวมทั้งสำนักทะเบียนสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบเห็นว่าถูกต้องก็จะรับจดทะเบียนให้ (คร.6) และออกใบสำคัญการหย่า (คร.7) ให้คู่หย่าฝ่ายละ 1 ฉบับ
2.2 การจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน[5]
เมื่อมีผู้ร้องขอจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมแต่อ้างว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถมายื่นคำร้อง ณ สำนักทะเบียนอำเภอแห่งเดียวกันได้ให้นายทะเบียนชี้แจงผลของการจดทะเบียนการหย่าให้ผู้ร้องทราบ โดยต่างฝ่ายต่างไปยื่นคำร้องขอหย่าพร้อมหนังสือสัญญาการหย่าต่อนายทะเบียนคนละสำนักทะเบียน คนละเวลา โดยต้องทำการตกลงกันว่า คู่หย่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนหย่าก่อนที่สำนักทะเบียนใด และจะให้ฝ่ายใดเป็นผู้ยื่นคำร้องทีหลัง ณ สำนักทะเบียนใด (สำนักทะเบียนแห่งที่สอง) โดยให้สำนักทะเบียนแห่งแรก และสำนักทะเบียนแห่งที่สอง ดำเนินการดังนี้ สำหรับสำนักทะเบียนแห่งแรก ให้ตรวจสอบคำร้อง หลักฐานของผู้ร้อง หลักฐานการจดทะเบียนสมรสและหนังสือสัญญาหย่า พร้อมสอบปากคำผู้ร้องแล้วลงรายการของผู้ร้องในทะเบียนการหย่าซึ่งแยกใช้ต่างหาก ส่วนรายการของฝ่ายที่มิได้มา ให้ลงเฉพาะรายการที่ทราบ และให้ผู้ร้องและพยานลงลายมือชื่อไว้ในทะเบียนการหย่า (คร.6) เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้
นายทะเบียนลงลายมือชื่อในทะเบียนการหย่า พร้อมกับระบุข้อความไว้ที่ตอนบนด้านขวาของหน้าทะเบียนว่า “ต่างสำนักทะเบียน” แล้วส่งเอกสารสำเนาคำร้อง สำเนาทะเบียนการหย่า สำเนาหลักฐานของผู้ร้อง สำเนาหลักฐานการจดทะเบียนสมรส และสำเนาหนังสือสัญญาหย่า ไปยังสำนักทะเบียนแห่งที่สอง เมื่อเอกสารไปถึง สำนักทะเบียนแห่งที่สอง ให้แจ้งฝ่ายที่ยังมิได้ลงลายมือชื่อทราบ เพื่อยื่นคำร้องขอจดทะเบียนการหย่า แล้วลงรายการของผู้ร้องทั้งสองฝ่ายในทะเบียน
การหย่าและใบสำคัญการหย่าซึ่งแยกใช้ต่างหาก และให้ผู้ร้องและพยานลงลายมือชื่อไว้ในทะเบียนการหย่า (คร.6) เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อในทะเบียนการหย่า พร้อมกับระบุข้อความไว้ที่ตอนบนด้านขวาของหน้าทะเบียนว่า “ต่างสำนักทะเบียน” พร้อมกับมอบใบสำคัญการหย่า ให้ผู้ร้องหนึ่งฉบับ และส่งเอกสารใบสำคัญการหย่า (คร.7) อีกหนึ่งฉบับ และสำเนาทะเบียนการหย่าไปยังสำนักทะเบียนแห่งแรก เพื่อดำเนินการต่อไป[6]
2.3 ค่าธรรมเนียม
1. การจดทะเบียนหย่าไม่เก็บค่าธรรมเนียม เว้นแต่ค่าป่วยการพยานที่นายทะเบียนหาให้ 2.50 บาท
2. การคัดและรับรองสำเนาทะเบียนหย่า ฉบับละ 10 บาท
3. ทะเบียนการรับรองบุตร
3.1 ทำความเข้าใจ
การจดทะเบียนรับรองบุตร หรือ จะเรียกว่าเป็นวิธีที่ทำให้บุตรที่เกิดจากบิดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา ส่วนมารดานั้นไม่ต้องจดทะเบียนรับรองบุตรเพราะเด็กที่เกิดจากมารดาที่ไม่ได้สมรสกับบิดานั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาอยู่แล้วตามมาตรา 1546 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้นสรุปได้ง่ายๆ ว่าถ้ากล่าวถึงการจดทะเบียนรับรองบุตรนั้นเป็นการทำให้บุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา จากบุตรที่เกิดมาโดยบิดาและมารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน
เนื้อหาในส่วนนี้จะเกี่ยวกับการไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเท่านั้น จะไม่รวมถึง “การฟ้องขอให้รับรองเด็กเป็นบุตร” ตามมาตรา 1555 ถึง 1558 เพราะเป็นเรื่องของบุตรฟ้องบิดาเพราะเหตุที่ บิดาไม่ยอมจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร หรือบิดาไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับหญิงมารดาทั้งที่มีบุตรด้วยกัน
3.2 วิธีทำให้บุตรเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา[7]
ตามที่ได้ทำความเข้าใจไปแล้วว่าบุตรที่เกิดจากบิดาและมารดามิได้จดทะเบียนสมรสกันนั้นทำให้เป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา วิธีที่จะทำให้บุตรเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดานั้นมีอยู่ 3 วิธี ได้แก่
1. บิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง
2. บิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร
3. ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
3.3 การเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจะมีผลเมื่อใด
ถ้าบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด[8]
3.4 ผลของการจดทะเบียนรับรองบุตร
ย่อมทำให้เด็กนั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดามีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายต่อกันโดยสมบูรณ์ เช่น ต้องมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน เป็นทายาทกัน มีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา ตลอดจนมีสิทธิได้รับมรดกของบิดามารดา เป็นต้น
เมื่อได้จดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้วจะถอนมิได้[9] โดยอาจารย์จิตติ ติงศภัทริย์ ได้วางหลักไว้ว่า หากผู้มิใช่บิดามาขอให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรแล้วถ้าไม่ขอให้ศาลถอนการจดทะเบียนในอายุความก็เป็นอันหมดสิทธิ เพราะถ้ายอมให้อ้างว่าเด็กมิใช่บุตรของชายผู้ขอจดทะเบียนรับเด็กนั้นได้โดยไม่จำกัดในเรื่องอายุความแล้ว สถานะความเป็นบุตรของเด็กก็จะหาความแน่นอนไม่ได้ ซึ่งขัดกับหลักทั่วไปที่กฎหมายพยายามให้สถานะของบุคคลเป็นสิ่งที่มั่นคงและแน่นอน จึงสรุปได้ว่า ผู้ที่จะมีสิทธิขอให้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรนั้นต้องเป็นบิดาของเด็กเท่านั้น ถ้าไม่ใช่แล้ว
นายทะเบียนจดจัดทะเบียนให้ไม่ได้ และหากจดทะเบียนไปทั้งที่มิใช่เป็นบิดาของเด็ก ก็ย่อมขอให้ศาลถอนการจดทะเบียนได้ อย่างไรก็ตามแม้ยังไม่ถอนการจดทะเบียนก็ไม่ทำให้เด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ขอจดทะเบียนรับรองบุตร
3.5 วิธีการจดทะเบียนรับรองบุตร
การจดทะเบียนรับรองบุตรมี 3 วิธี คือ
วิธีที่ 1 การจดทะเบียนรับรองบุตรในสำนักทะเบียน
วิธีที่ 2 จดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียน และ วิธีที่ 3 จดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียนท้องที่ห่างไกล
1. การจดทะเบียนรับรองบุตรในสำนักทะเบียน (มาตรา 1548)
1.1 บิดายื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตร ต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียน อำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเขต โดยนำมารดาเด็กและเด็กมาให้ความยินยอมในการจดทะเบียน
1.2 กรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อนายทะเบียนให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้าน หรือไม่ให้ความยินยอมภายใน 60 วัน นับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กและมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็น 180 วัน
1.3 ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่า ผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดาหรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนรับรองบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล
เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้
2. จดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียน กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 กำหนดไว้ว่าในกรณีที่มีผู้ร้องขอ นายทะเบียนจะออกไปจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียนก็ได้ โดยเก็บค่าธรรมเนียมรายละ 200 บาท และให้ผู้ขอจัดพาหนะให้ ถ้าผู้ขอไม่จัดพาหนะให้ผู้ขอต้องชดใช้ค่าพาหนะให้แก่นายทะเบียนตามสมควร
3. จดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียนท้องที่ห่างไกล กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2478 กำหนดการจดทะเบียนวิธีนี้ไว้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนส่วนรวม ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด อนุมัติให้ทำได้ ให้นายทะเบียนเรียกเก็บค่าธรรมเนียม รายละ 1 บาท การรับจดทะเบียนวิธีนี้ อำเภอหรือกิ่งอำเภอจะจัดให้มีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน พร้อมกับการจัดหน่วยบริการอำเภอเคลื่อนที่ก็ได้
3.6 การขอให้ศาลถอนการจดทะเบียน
เมื่อบิดาจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรแล้ว บิดาหรือมารดาก็ดี จะขอให้ถอนการจดทะเบียนนั้นไม่ได้ (มาตรา 1559) แม้แต่บุคคลอื่นก็ขอให้ถอนไม่ได้ ตามที่ได้ศึกษามาแล้ว แต่หากปรากฏว่าผู้ขอจดทะเบียนนั้นมิใช่บิดาของเด็กแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียย่อมขอถอนการจดทะเบียนได้ตามมาตรา 1554 “ผู้มีส่วนได้เสียจะขอให้ศาลถอนการจดทะเบียนเด็กรับเป็นบุตร เพราะเหตุว่าผู้ขอให้จดทะเบียนนั้นมิใช่บิดาก็ได้ แต่ต้องฟ้องภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้การจดทะเบียนนั้น อนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น 10 ปีนับแต่วันจดทะเบียน”
3.7 ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรับรองบุตร[10]
1. จดทะเบียนนอกสำนักทะเบียนโดยมีผู้ขอ รายละ 200 บาท
2. จดทะเบียนนอกสำนักทะเบียนในท้องที่ห่างไกล ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติให้ทำได้ รายละ 1 บาท
4. ทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม
บุตรบุญธรรม ได้แก่การที่เอาบุตรของคนอื่นมาเลี้ยงดู เหมือนอย่างบุตรของตัวเอง ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องจดทะเบียน ต่อมาได้มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2478 กับพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 ได้วางหลักและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการจดทะเบียนครอบครัวขึ้น บุตรบุญธรรมจึงอยู่ในประเภทหนึ่งของการจดทะเบียนครอบครัว
4.1 เงื่อนไขในการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
1. ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ และต้องมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรม 15 ปี
2. บุตรบุญธรรมมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีต้องให้ความยินยอมด้วย
3. ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมถ้ามี คู่สมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส
4. บุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอม
4.1 จากบิดาและมารดา กรณีมีทั้งบิดาและมารดา
4.2 บิดาหรือมารดา กรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตาย
4.3 กรณีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งถูกถอนอำนาจปกครองต้องได้รับความยินยอมของบิดาหรือมารดาซึ่งยังมีอำนาจปกครอง
4.4 กรณีไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอม หรือมีแต่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ หรือไม่ให้ความยินยอมและการไม่ให้ความยินยอมนั้นปราศจากเหตุผลอันสมควรและเป็นปฏิปักษ์ต่อสุขภาพ ความเจริญหรือสวัสดิภาพของผู้เยาว์ มารดาหรือบิดาหรือผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรมหรืออัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมก็ได้
4.5 กรณีผู้เยาว์ถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็ก ให้สถานสงเคราะห์เด็กเป็นผู้ให้ความยินยอม
4.6 ผู้จะรับบุตรบุญธรรมหรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน ในกรณีที่คู่สมรสไม่อาจให้ความยินยอมได้หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และหาตัวไม่พบเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของคู่สมรสนั้น
4.7 กรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียนรับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วย จะต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมด้วย
6. ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมต้องผ่านการทดลองเลี้ยงดูไม่น้อยกว่า 6 เดือน (พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 มาตรา 23 วรรคสอง)
7. ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่แล้วจะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม
8. การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมในต่างประเทศซึ่งเป็นประเทศที่เป็นภาคีให้ถือว่าเป็นการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 ต้องจดทะเบียนภายใน 6 เดือน แต่คณะกรรมการอาจพิจารณาขยายระยะเวลาออกไปอีกไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันที่พฤติการณ์พิเศษนั้นได้สิ้นสุดลง[11]
4.2 สถานที่ยื่นคำร้อง
1. สำหรับในเขต กทม. หรือชาวต่างประเทศที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ให้ยื่นคำร้อง ณ ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาและสวัสดิการสังคม (ประชาสงเคราะห์เดิม)
2. ต่างจังหวัดยื่น ที่ว่าการอำเภอ พร้อมหนังสือยินยอมจากบุคคลผู้มีอำนาจยินยอม
4.3 ผลที่เกิดจากการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
1. บุตรบุญธรรมมีสิทธิ์ใช้ชื่อสกุล และมีสิทธิ์รับมรดกของ ผู้รับบุตรบุญธรรม แต่ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิ์รับมรดกของบุตรบุญธรรม
2. ผู้รับบุตรบุญธรรมมีอำนาจปกครอง ให้ความอุปการะเลี้ยงดูและถือว่าบุตรบุญธรรมเป็นผู้สืบสันดานของผู้รับบุตรบุญธรรม เสมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนับแต่วันที่จดทะเบียน
3. บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองแต่วันจดทะเบียนแต่ไม่ขาดจากการเป็นบิดามารดา และบุตรบุญธรรมไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่กำเนิดมา
5. ทะเบียนการเลิกรับบุตรบุญธรรม
การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย และผลของการเลิกรับบุตรบุญธรรมจะทำให้บิดามารดาโดยกำเนิดกลับมีอำนาจปกครองบุตรเหมือนเดิม โดยการเลิกบุตรบุญธรรมทำได้ 2 วิธี คือ
1. โดยความยินยอม (รวมถึงผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกันกับบุตรบุญธรรมด้วย)
2. โดยคำพิพากษาของศาล
5.1 การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยความยินยอม มีเงื่อนไขดังนี้
1. บุตรบุญธรรมบรรลุนิติภาวะแล้ว จะเลิกโดยความตกลงกันระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมเมื่อใดก็ได้ โดยยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรม ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักทะเบียนเขต
2. บุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของบุตรบุญธรรมก่อน ผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรม ต้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรม ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักทะเบียนเขต กรณีผู้เป็นบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ การเลิกรับบุตรบุญธรรมจะต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดาของบุตรบุญธรรมก่อน หรือได้รับความยินยอมจากบิดาหรือมารดา เมื่อกรณีบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย หรือในกรณีที่บุตรบุญธรรมมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากบุตรบุญธรรมผู้นั้นด้วย
5.2 การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยคำพิพากษาของศาล มีเงื่อนไขดังนี้
การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยคำพิพากษาของศาลนั้นต้องมีการฟ้องเลิก และต้องอยู่ภายในอายุความ หากพ้นกำหนดเวลาต่อไปนี้ห้ามมิให้ฟ้องเลิก คือ เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมรู้หรือควรได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้เลิกการนั้นหรือเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่เหตุนั้นเกิดขึ้น ในกรณีดังต่อไปนี้
1. ฝ่ายหนึ่งทำการชั่วร้ายไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ เป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้
2. ฝ่ายหนึ่งหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งอันเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้ ถ้าบุตรบุญธรรมกระทำการดังกล่าวต่อคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม ให้ผู้รับบุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้
3. ฝ่ายหนึ่งกระทำการประทุษร้ายอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีหรือคู่สมรสของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอย่างร้ายแรงและการกระทำนั้นเป็นความผิดที่มีโทษอาญา อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้
4. ฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้
5. ฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องเลิกได้
6. ฝ่ายหนึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกิน 3 ปี เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาท อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องเลิกได้
7. ผู้รับบุตรบุญธรรมทำผิดหน้าที่บิดามารดา และการกระทำนั้นเป็นการละเมิด
8. ผู้รับบุตรบุญธรรมผู้ใดถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดและเหตุที่ถูกถอนอำนาจปกครองนั้นมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นไม่สมควรเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมต่อไป บุตรบุญธรรมฟ้องเลิกได้
6. ทะเบียนฐานะของภริยา[12]
การบันทึกฐานะของภริยานั้น เป็นผลสืบเนื่องจากกฎหมายสมัยก่อน (กฎหมายลักษณะผัวเมีย) มิได้บังคับให้สามีภรรยาต้องจดทะเบียนสมรสกัน และชายอาจมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะเดียวกันได้หลายคน ต่อมาเมื่อมีการใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว ชายหญิงจะเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น จะต้องจดทะเบียนสมรสกัน (มาตรา 1457) และกำหนดให้ชายมีภรรยา หรือหญิงมีสามีได้เพียงคนเดียว เพื่อความสมบูรณ์ของการสมรส ฐานะของภริยาซึ่งมีอยู่ก่อนการใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 จึงกำหนดให้มีการบันทึกขึ้น เพื่อเป็นหลักฐานในการพิสูจน์ฐานะของภรรยาว่าผู้ใดเป็นภรรยาหลวงหรือภรรยาน้อยเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการโต้แย้งเกิดขึ้น เช่น ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในการรับมรดก
หลักเกณฑ์การบันทึกฐานะของภรรยา มีดังนี้
1. บุคคลที่จะร้องขอให้บันทึกได้ต้องเป็นสามีภรรยา และสมรสกันก่อน
การใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 คือก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478
2. การบันทึกนั้น จะบันทึกได้ 2 ฐานะ เท่านั้น คือ
– เอกภริยาหรือภริยาหลวง บันทึกได้คนเดียว
– อนุภริยาหรือภริยาน้อย บันทึกได้หลายคน
3. รับบันทึกเฉพาะสามีภรรยาที่มาร้องขอให้บันทึก ส่วนภรรยาอื่นที่ไม่ได้มาร้องขอจะไม่บันทึกให้
ส่วนการจดบันทึกแสดงฐานะของภริยาตามที่กล่าวแล้วข้างต้น เป็นหน้าที่ของชายผู้เป็นสามีจะต้องนำภริยาของตนคนเดียวหรือหลายคนก็ตามไปยื่นคำร้องขอบันทึกฐานะภริยาต่อ
นายทะเบียนอำเภอแห่งท้องที่หนึ่งท้องที่ใดก็ได้ สุดแต่ความสะดวกโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นสำนักทะเบียนอำเภอที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ โดยระบุในคำร้องให้ชัดเจนว่าจะให้ภริยาคนใดเป็นเอกภริยาหรือภริยาหลวง คนใดเป็นอนุภริยาหรือภริยาน้อย เมื่อไม่มีการโต้แย้งของภริยาและนายทะเบียนอำเภอได้ตรวจพิจารณาเห็นเป็นการถูกต้องแล้ว สำหรับเอกภริยาหรือภริยาหลวงจดได้เพียงคนเดียว ส่วนภริยาคนอื่นๆ ต้องจดเป็นอนุภริยาหรือภริยาน้อย การจดบันทึกแสดงฐานะภริยานี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพราะไม่มีใบสำคัญออกให้ แต่ถ้าคู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียประสงค์จะได้หลักฐานการจดบันทึกในเวลาใดก็ให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอนั้นขอคัดสำเนา โดยเสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 10 บาท หรือจะยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอท้องที่ใดก็ได้ขอให้สอบไปยังสำนักทะเบียนกลาง เพื่อให้สำนักทะเบียนกลางรับรองสำเนาส่งไปให้โดยเสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 10 บาท หรือจะยื่นคำร้องขอสำเนาจากสำนักทะเบียนกลางโดยตรงก็ได้ โดยเสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 10 บาท
การจดบันทึกแสดงฐานะภริยานี้ต้องกระทำด้วยกันทั้งสองฝ่ายและตามความเป็นจริงของฐานะภริยา สามีจะไปฝ่ายเดียวแล้วแจ้งความประสงค์ให้นายทะเบียนบันทึกชื่อภริยาคนนั้นเป็นภริยาเอก หรือชื่อคนนั้นเป็นอนุภริยาก็ไม่ได้ หรือภริยาจะไปยื่นคำร้องแต่ฝ่ายเดียวโดยที่สามีไม่ได้ไปด้วยก็ไม่ได้ หรือถ้าสามีถึงแก่กรรมแล้ว ภริยาจะขอให้จดทะเบียนแสดงฐานะภริยาแต่ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน
ในกรณีที่มีการคัดค้านเกิดขึ้น นายทะเบียนก็จะไม่รับจดทะเบียนให้ เว้นแต่จะได้ทำความตกลงยินยอมพร้อมใจกันทุกฝ่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายทะเบียนจึงจะรับบันทึกให้และในกรณีที่มีการร้องคัดค้านในรายที่นายทะเบียนอำเภอรับจดทะเบียนไว้แล้วก็ดี หรือยังมิได้จดบันทึกก็ดีให้ผู้มีส่วนได้เสียไปยื่นคำร้องต่อศาล เมื่อศาลสั่งให้ปฏิบัติอย่างไร นายทะเบียนก็จะต้องปฏิบัติไปตามนั้น
อนึ่ง การจดบันทึกฐานะของภริยา นายทะเบียนอำเภอจะรับจดบันทึกให้ได้เฉพาะบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น ส่วนคู่สามีภริยาที่เป็นคนต่างด้าวทั้งสองฝ่าย แม้จะอ้างว่าได้สมรสกันตามประเพณีของประเทศตนเองก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478 ก็ไม่สามารถที่จะบันทึกฐานะของภริยาให้ได้
7. ทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว[13]
การบันทึกฐานะแห่งครอบครัว ได้แก่ การใดๆ อันเกี่ยวกับฐานะแห่งครอบครัวของผู้มีสัญชาติไทยที่ได้ทำขึ้นในต่างประเทศ ตามแบบซึ่งกฎหมายแห่งประเทศที่ทำขึ้นได้บัญญัติไว้ ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งได้กระทำการอันเกี่ยวกับฐานะแห่งครอบครัว และนำหลักฐานมาบันทึกให้ปรากฏในประเทศไทย เพื่อเป็นหลักฐานในการพิสูจน์ เมื่อเกิดมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งมีหลักเกณฑ์คือ
1. ข้อความที่จะให้บันทึกจะต้องเป็นกิจการอันเกี่ยวกับฐานะแห่งครอบครัว
2. กิจการนั้นได้กระทำไว้ในต่างประเทศตามแบบกฎหมายแห่งประเทศที่ทำขึ้นบัญญัติไว้
3. ต้องเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีที่เป็นคนสัญชาติไทยด้วยกันหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนสัญชาติไทย และอีกฝ่ายเป็นคนสัญชาติอื่น
4. ต้องนำเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการนั้น ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยและมีคำรับรองถูกต้องมาแสดงต่อนายทะเบียน
ส่วนวิธีการร้องขอให้มีการบันทึกฐานะแห่งครอบครัวนั้น เมื่อผู้มีส่วนได้เสียคนใดมาร้องขอให้บันทึกฐานะแห่งครอบครัวอย่างหนึ่งอย่างใด ต่อนายทะเบียน เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนอำเภอที่จะเรียกเอกสารอันเป็นหลักฐาน โดยมีคำรับรองถูกต้องพร้อมกับคำแปลภาษาไทย ซึ่งผู้ร้องจะต้องนำมาด้วย โดยผู้ร้องขอให้บันทึกฐานะแห่งครอบครัวนั้นจะไปจดทะเบียน ณ สำนักทะเบียนใดก็ได้ สุดแต่ความสะดวกเมื่อนายทะเบียนอำเภอตรวจแล้วถูกต้อง ก็รับจดทะเบียนบันทึกฐานะแห่งครอบครัวให้ต่อไป
แบบพิมพ์การจดทะเบียนครอบครัว
คร. 2 ทะเบียนสมรส
คร. 3 ใบสำคัญการสมรส
คร. 6 ทะเบียนหย่า
คร. 7 ใบสำคัญการหย่า
คร. 11 ทะเบียนรับรองบุตร
คร. 14 ทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
คร. 17 ทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรม
คร. 20 ทะเบียนฐานะภริยา
คร. 22 ทะเบียนฐานะครอบครัว
คร. 31 ใบบันทึกต่อ
[1] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2541 “ทะเบียนครอบครัว” ให้หมายความถึง ทะเบียนสมรส ทะเบียนการหย่า ทะเบียนรับรองบุตร ทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรม ทะเบียนฐานะของภริยา และ ทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว
[2] ข้อ 1. และ 2. ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2499) ออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 ส่วนข้อ 3. ออกตามกฎกระทรวงการต่างประเทศออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 โดยให้เป็นทะเบียนทั้ง 7 ประเภท ของนายทะเบียนครอบครัว
[3] การทดลองระบบการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนข้ามประเทศเป็นครั้งแรก ให้แก่คนไทยในต่างประเทศ ณ สถานกงสุลไทย เมืองลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ในปี 2555
[4] การจดทะเบียนสมรส/หย่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไทย แต่กฎหมายสหราชอาณาจักรฯ เห็นว่าสถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่สามารถทำหน้าที่สำนักทะเบียนได้ จึงอาจไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายสหราชอาณาจักรฯ หากต้องการให้การสมรสหรือหย่ามีผลตามกฎหมายสหราชอาณาจักรฯ ควรติดต่อขอจดทะเบียนต่อสำนักทะเบียนท้องถิ่นของสหราชอาณาจักรฯ หรือที่ว่าการเขต/อำเภอในประเทศไทย
[5] ที่มาของการจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียนนั้นเกิดจากการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา และหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 11031/2498 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2498
[6] ในทางปฏิบัติหลังจากที่จดทะเบียนหย่าแล้วฝ่ายหญิงจะขอเปลี่ยนคำนำหน้านามจาก “นาง” เป็น “นางสาว” ตามพระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551 ซึ่งสามารถอ่านได้ในส่วนของการจดทะเบียนชื่อบุคคล
[7] มาตรา 1547 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
[8] ห้ามตอบว่าให้มีผลนับแต่วันสมรส ให้มีผลนับแต่วันจดทะเบียน หรือให้มีผลนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดนะครับเพราะแก้ไขแล้วตาม ปพพ. (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2551
[9] มาตรา 1559 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
[10] กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478
[11] พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 ตามหนังสือ (ตามหนังสือที่ มท 0309.3/ว 1726 ลงวันที่ 24 มกราคม 2554)
[12] ข้อ 33. และ 34. ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2541
[13] ข้อ 36. และ 37. ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2541