ทะเบียนชื่อบุคคล

พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505

          พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2505 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการ ให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนกับออกกฎกระทรวง โดยกำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยต้องมีชื่อตัว ชื่อสกุล และจะมีชื่อรองก็ได้ (กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องมีชื่อรอง)

ความหมาย

          ชื่อตัว หมายความว่า ชื่อประจำบุคคล

          ชื่อรอง หมายความว่า ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว

          ชื่อสกุล หมายความว่า ชื่อประจำวงศ์สกุล

นายทะเบียน

          พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 ไม่มีมาตราใดที่กำหนดตำแหน่งของนายทะเบียนเอาไว้ คงมีแต่คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 1430/2505 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2505 เรื่องแต่งตั้งนายทะเบียน และคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 157/2537 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2537 ได้แต่งตั้งนายทะเบียนชื่อบุคคลไว้ดังนี้

          1. นายทะเบียนกลาง คือ ผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนทั่วไป สำนักบริหารการทะเบียน

          2. นายทะเบียนจังหวัด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด

          3. นายทะเบียนท้องที่ คือ นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ

หลักเกณฑ์การตั้งชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล และราชทินนาม

          1. ชื่อตัว ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม และต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย

          2. ชื่อรอง ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม และต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย และต้องไม่พ้องกับชื่อสกุลของบุคคลอื่น เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งหรือกรณีบุตรใช้ชื่อสกุลเดิมของมารดาหรือบิดาเป็นชื่อรองของตน

          3. ชื่อสกุล คู่สมรสอาจใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นชื่อรองได้เมื่อได้รับความยินยอมของฝ่ายนั้นแล้ว

          4. ราชทินนาม ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ หรือผู้เคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์แต่ได้ออกจากบรรดาศักดิ์นั้นโดยมิได้ถูกถอด จะใช้ราชทินนามตามบรรดาศักดิ์นั้นเป็นชื่อตัวหรือชื่อรองก็ได้

หลักเกณฑ์การตั้งชื่อสกุล[1]

          ผู้มีสัญชาติไทยผู้ใดประสงค์จะจดทะเบียนตั้งชื่อสกุล ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เมื่อนายทะเบียนท้องที่พิจารณาเห็นว่าชื่อสกุลที่ขอตั้งนั้นไม่ขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ ก็ให้เสนอต่อไปตามลำดับจนถึง
นายทะเบียนกลาง ในกรณีที่นายทะเบียนสั่งไม่รับจดทะเบียนชื่อสกุล ผู้ขอจดทะเบียนชื่อสกุลมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายใน 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่งโดยยื่นอุทธรณ์ต่อนายทะเบียนท้องที่ หรือเมื่อได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนกลางแล้ว ให้นายทะเบียนท้องที่รับจดทะเบียนชื่อสกุลนั้นและออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนชื่อสกุลให้แก่ผู้ขอ แต่ในกรณีที่สำนักทะเบียนใดสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับเครือข่ายข้อมูลของสำนักทะเบียนกลางตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดแล้ว ให้นายทะเบียนท้องที่ดำเนินการดังกล่าวได้โดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนกลาง โดยการขอตั้งชื่อสกุลต้อง

          1. ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธยหรือพระนามของพระราชินี

          2. ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน ของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดาน

          3. ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว

          4. ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย

          5. มีพยัญชนะไม่เกินกว่า 10 พยัญชนะ เว้นแต่กรณีใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล

การขอใช้ชื่อสกุลร่วมกับบุคคลอื่น

          ผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลจะอนุญาตให้ผู้มีสัญชาติไทยผู้ใดร่วมใช้ชื่อสกุลของตนก็ได้ โดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และการอนุญาตจะสมบูรณ์ต่อเมื่อนายทะเบียนท้องที่ได้ออกหนังสือสำคัญแสดงการอนุญาตให้ใช้ชื่อสกุลให้แก่ผู้ที่จะใช้ชื่อสกุลนั้น ถ้าในกรณีที่ผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลตายแล้ว ให้ผู้สืบสันดานของผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลในลำดับที่ใกล้ชิดที่สุดซึ่งยังมีชีวิตอยู่และใช้ชื่อสกุลนั้นมีสิทธิอนุญาตให้ใช้ชื่อสกุลของตนก็ได้

การใช้ชื่อสกุลตามคู่สมรส

          คู่สมรสมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกัน หรือต่างฝ่ายต่างใช้ชื่อสกุลเดิมของตน การตกลงกันนั้นจะกระทำเมื่อมีการสมรสหรือในระหว่างสมรสก็ได้ โดยข้อตกลงดังกล่าวนั้นคู่สมรสจะตกลงเปลี่ยนแปลงภายหลังก็ได้[2]

การใช้ชื่อสกุลเมื่อการสมรสสิ้นสุด

          ถ้าการสมรสสิ้นสุดลงด้วยการหย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส ให้ฝ่ายซึ่งใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน ส่วนการสมรสสิ้นสุดลงด้วยความตาย ให้ฝ่ายซึ่งยังมีชีวิตอยู่และใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิใช้ชื่อสกุลนั้นได้ต่อไป แต่เมื่อจะสมรสใหม่ ให้กลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน

การใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล

          ผู้ใดประสงค์จะใช้ราชทินนาม ของตน ของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดาน เป็นชื่อสกุล ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แล้วให้นายทะเบียนท้องที่นั้นเสนอต่อไปตามลำดับจนถึงนายทะเบียนกลางเมื่อนายทะเบียนกลางพิจารณาเห็นสมควร ให้เสนอรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูล เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงให้นายทะเบียนท้องที่รับจดทะเบียนชื่อสกุลนั้น และออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนชื่อสกุลให้แก่ผู้ขอ

การขอตั้งชื่อสกุลใหม่

          ผู้มีชื่อสกุลอยู่แล้วประสงค์จะขอตั้งชื่อสกุลใหม่ หรือผู้อุปการะเลี้ยงดูเด็ก เจ้าของสถานพยาบาล สถานสงเคราะห์ สถานอุปการะเลี้ยงดูเด็ก ประสงค์จะจดทะเบียนตั้งชื่อสกุลของเด็ก ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เมื่อได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนกลางแล้ว ให้นายทะเบียนท้องที่รับจดทะเบียนชื่อสกุลนั้นและออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนชื่อสกุลให้แก่ผู้ขอ แต่ในกรณีที่สำนักทะเบียนใดสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับเครือข่ายข้อมูลของสำนักทะเบียนกลางตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดแล้ว ให้นายทะเบียนท้องที่ดำเนินการดังกล่าวได้โดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนกลาง[3]

อัตราค่าธรรมเนียม

ประเภท พ.ร.บ กฎกระทรวง
1. การเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อรอง 100 50
2. จดทะเบียนตั้งชื่อสกุล 200 100
3. เปลี่ยนชื่อสกุลเพราะสมรส – สมรสครั้งแรก หรือสิ้นสุดการสมรส – ครั้งต่อไป – เพราะเหตุอื่น   ไม่เสีย 100 100   ไม่เสีย 50 100
4. ออกใบแทน 50 25

การใช้ชื่อสกุลของบุตร

          การใช้ชื่อสกุลของบุตรเป็นไปตาม มาตรา 1561 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญัติไว้ว่า “…บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา.” และ “…ในกรณีที่บิดาไม่ปรากฏ บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของมารดา.” ประเด็นนี้ยังคงเดิม คือไม่ว่าเมื่อก่อนนี้หรือนับจากนี้ไป บุตรยังคงมีสิทธิที่จะใช้ นามสกุลบิดาโดยมีเหตุ 2 กรณี ถ้าบุตรเกิดจากบิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อเกิดออกมาก็สามารถใช้นามสกุลบิดาโดยอัตโนมัติ หรือถ้าไม่ได้เกิดจากบิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสแต่บิดารับรองว่าเป็นบุตร ก็มีผลไม่ต่างกัน ใช้นามสกุลบิดาโดยอัตโนมัติ แต่คำว่า มีสิทธิ (ใช้) แตกต่างกับคำว่า ต้อง (ใช้) ดังนั้นเมื่อบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว บุตรสามารถเปลี่ยนนามสกุล ไปใช้ นามสกุลมารดา หรือ นามสกุลคนอื่นที่เขายินยอม หรือขอตั้งชื่อสกุลใหม่ ก็สามารถทำได้

การใช้คำนำหน้าหญิง

          เดิมการใช้คำนำหน้านามของหญิงไทย ถือปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาให้ใช้คำนำหน้านามสตรี พ.ศ. 2460 โดยผู้หญิงถ้ายังไม่มีสามีให้ใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว” และหากมีสามีแล้วให้ใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” ตลอดไปทำให้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องการประกอบอาชีพ การหางานทำ ผู้ที่ใช้คำนำหน้าว่า “นาง” มักจะถูกปฏิเสธการจ้างงาน เนื่องจากมีสามีมาแล้ว เรื่องการทำนิติกรรมต่างๆ ต้องได้รับความยินยอมจากสามี ในขณะที่สามีไม่ต้องรับความยินยอมจากภรรยา หรือในเรื่องการศึกษาของบุตร เป็นต้น ซึ่งขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติรับรองว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศกระทำมิได้ ในปี 2550 ได้มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติคำนำหน้าหญิง และผ่านความเห็นชอบของ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พระราชบัญญัติคำนำหน้าหญิง พ.ศ.2551 จึงได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 มีผลบังคับใช้วันที่ 4 มิถุนายน 2551 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้รักษาการ มีสาระสำคัญดังนี้

          1. หญิงที่มีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้ใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว”

          2. หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้คำนำหน้าว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ได้ตามความสมัครใจ

          3. หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว หากต่อมาการสมรสสิ้นสุดลง จะใช้คำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ได้ตามสมัครใจ

การใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำหน้านาม[4]

          “ตำแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า  ตำแหน่งศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษา ไม่ว่าเป็นตำแหน่งทางวิชาการประจำ ตำแหน่งทางวิชาการพิเศษ ตำแหน่งทางวิชาการเกียรติคุณหรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นในลักษณะเดียวกัน

          “ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ” หมายความว่า ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการและยังคงดำรงตำแหน่งหรือมีสิทธิใช้ตำแหน่งนั้นตามกฎหมายหรือระเบียบของสถาบันอุดมศึกษา

ผู้มีสิทธิใช้คำนำหน้านาม

          ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการมีสิทธิใช้ตำแหน่งทางวิชาการที่ได้รับเป็นคำนำหน้านามได้ในการลงชื่อ หนังสือ เอกสาร งานสารบรรณหรือการเรียกขานใด ๆ เสมือนยศ หรือคำนำหน้านามอย่างอื่น

การเรียงลำดับคำนำหน้านาม

          1. ตำแหน่งทางวิชาการ

          2. ยศ

          3. บรรดาศักดิ์ ฐานันดรศักดิ์ หรือคำนำหน้านามสตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และมีสิทธิใช้คำนำหน้านามนั้นตามกฎหมาย ระเบียบหรือประกาศของทางราชการ

การใช้คำนำหน้านาม

          ผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการจะใช้ตำแหน่งทางวิชาการใต้ชื่อหรือต่อท้ายชื่อก็ได้ และผู้ที่ใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำหน้านาม ผู้นั้นไม่สมควรใช้คำว่า “นาย” “นาง” หรือ “นางสาว” เป็นคำนำหน้านามพร้อมกับตำแหน่งทางวิชาการ

อักษรย่อตำแหน่งทางวิชาการ

          1. ศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ ศาสตราจารย์เกียรติคุณหรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นในลักษณะเดียวกัน ใช้อักษรย่อ ศ.

          2. รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อว่า รศ.

          3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อว่า ผศ.


[1] คนไทยส่วนมากจะเรียก “นามสกุล” เพราะเป็นคำที่ติดปาก แต่ถ้าเรียกตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 จะเรียกว่า “ชื่อสกุล”

[2] ปกติเราจะเห็นว่าฝ่ายหญิงนั้นใช้ชื่อสกุลของฝ่ายชาย (ตามประเพณีไทยถือเป็นการให้เกียรติ) แต่ก็ไม่ได้ห้ามหากฝ่ายชายจะใช้ชื่อสกุลของฝ่ายหญิง

[3] ข้อสังเกตจำให้ดีๆ นะครับ การขอจดทะเบียนตั้งชื่อสกุล และการใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล เป็นอำนาจของนายทะเบียนกลาง (ยกเว้นอำเภอใดที่เชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับเครือข่ายข้อมูลของสำนักทะเบียนกลางเป็นอำนาจของนายทะเบียนท้องที่) ส่วนการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อรอง และการร่วมใช้ชื่อสกุล เป็นอำนาจของ นายทะเบียนท้องที่ สามารถดำเนินการได้เลย

[4] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำหน้านาม พ.ศ. 2536