ทะเบียนพินัยกรรม

ความหมายของพินัยกรรม

          บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ และการแสดงเจตนาย่อมทำได้ด้วยคำสั่งครั้งสุดท้าย

เงื่อนไขในการทำพินัยกรรม

          1. ความสามารถในการทำพินัยกรรม

                    1. ผู้ประสงค์จะทำพินัยกรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี บริบูรณ์

                    2. ต้องไม่เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

                    3. บุคคลผู้อยู่ในความปกครองนั้น จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่ผู้ปกครองหรือคู่สมรส บุพการี หรือผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องของผู้ปกครองไม่ได้

          2. บุคคลที่จะเป็นพยานในพินัยกรรมไม่ได้

                    2.1 ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ

                    2.2 บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

                    2.3 บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือจักษุบอดทั้งสองข้าง

ผู้ที่รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้

          1. ผู้เขียนพินัยกรรม

          2. คู่สมรสของผู้เขียน

          3. พยานในพินัยกรรม

          4. คู่สมรสของพยานในพินัยกรรม

          5. พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้จดข้อความในพินัยกรรมทำด้วยวาจา

          6. คู่สมรสของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้จดข้อความในพินัยกรรมทำด้วยวาจา

พินัยกรรมที่เป็นโมฆะ

          1. พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบ 15 ปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

          2. พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ

          3. พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต แต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้น จะเป็นอันเสียเปล่าก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาที่ทำพินัยกรรมนั้นผู้ทำจริตวิกลอยู่

แบบของพินัยกรรม[1]

          แบบของพินัยกรรมจะมี 5 แบบ คือ

                    1. พินัยกรรมแบบธรรมดา

                    2. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ

                    3. พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง

                    4. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ

                    5. พินัยกรรมทำด้วยวาจา

          แบบของพินัยกรรมที่อำเภอหรือนายอำเภอมีหน้าที่เกี่ยวข้อง มี 3 แบบ คือ

                    1. พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง

                    2. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ

                    3. พินัยกรรมทำด้วยวาจา

1. พินัยกรรมแบบธรรมดา

          1. ต้องทำเป็นหนังสือ โดยจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ (จะเขียนหรือพิมพ์เป็นภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศก็ได้)

          2. ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำ เพื่อพิสูจน์ความสามารถของผู้ทำ

          3. ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน จะลงลายมือชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือก็ได้ แต่จะใช้ตราประทับแทนการลงชื่อหรือเครื่องหมายแกงไดไม่ได้ และพยานที่จะลงลายมือชื่อ ในพินัยกรรมจะพิมพ์ลายนิ้วมือหรือใช้ตราประทับ หรือลงแกงได หรือลงเครื่องหมายอย่างอื่นแทนการ ลงชื่อไม่ได้ จะต้องลงลายมือชื่ออย่างเดียว

          4. การขูด ลบ ตกเติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่น ซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ในขณะ ที่ขูด ลบ ตกเติม หรือ แก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น ได้ลงวัน เดือน ปี และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน และพยานอย่างน้อย 2 คนนั้นต้องลง ลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมในขณะนั้น (ต้องเป็นพินัยกรรมแล้ว)

2. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ

          1. ต้องทำเป็นเอกสาร คือ ทำเป็นหนังสือ โดยจะใช้ภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศก็ได้

          2. ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับจะพิมพ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นผู้เขียนหนังสือไม่ได้ ไม่สามารถจะทำพินัยกรรมแบบนี้ได้ พินัยกรรมแบบนี้จะมีพยานหรือไม่มีก็ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ ห้ามไว้

          3. ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำลงเพื่อพิสูจน์ความสามารถ และการทำก่อนหลังฉบับอื่น

          4. ต้องลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม จะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือ หรือแกงได หรือเครื่องหมายอย่างอื่นไม่ได้

          5. การขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำ พินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้

                    –  การขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่มิได้ทำด้วยตนเอง หรือลงลายมือชื่อกำกับไว้เท่านั้นที่ไม่สมบูรณ์ส่วนข้อความเดิมหรือพินัยกรรมยังคงใช้บังคับได้ตามเดิม ไม่ทำให้โมฆะทั้งฉบับ

3. พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง

          การขอทำพินัยกรรมเป็นเอกสารฝ่ายเมือง ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องขอให้กรมการอำเภอ (นายอำเภอ) อำเภอใดก็ได้ ดำเนินการให้ตามความประสงค์ ดังนี้

          1. ผู้ทำพินัยกรรม แจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่นายอำเภอต่อหน้า พยานอีกอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน

          2. นายอำเภอจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบแล้วนั้นลงไว้ และอ่านข้อความนั้น ให้ผู้ทำ พินัยกรรมและพยานฟัง

          3. เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานทราบแน่ชัดว่า ข้อความที่นายอำเภอจดนั้นเป็นการถูกต้องตรงกัน กับที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งไว้แล้ว ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ

          4. ข้อความที่นายอำเภอจดไว้นั้น ให้นายอำเภอลงลายมือชื่อ และลงวัน เดือน ปี จดลงไว้ด้วยตนเอง เป็นสำคัญว่า พินัยกรรมนั้นได้ทำ ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ข้างต้น แล้วประทับตราตำแหน่ง ไว้เป็นสำคัญ

                    – การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ไม่จำเป็นต้องทำในที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอเสมอไป ถ้าผู้ทำร้องขอจะทำนอกที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอก็ได้ เมื่อทำพินัยกรรมเสร็จแล้ว ถ้าผู้ทำพินัยกรรม ไม่มีความประสงค์จะขอรับเอาไปเก็บรักษาเองโดยทันทีแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของนายอำเภอจัดเก็บรักษา พินัยกรรมนั้นไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอก็ได้

                    – เมื่อความปรากฏว่า ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายแล้ว ผู้จัดการมรดก หรือผู้ได้รับทรัพย์มรดก โดยพินัยกรรม หรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด หรือผู้ซึ่งทำพินัยกรรมให้ จะขอรับพินัยกรรม ไปไว้ โดยแสดงหลักฐานการตายของผู้ทำพินัยกรรม เมื่อสอบสวนเป็นที่พอใจแล้ว ให้นายอำเภอมอบ พินัยกรรมนั้นให้ไป

4. พินัยกรรมทำแบบเอกสารลับ

          เมื่อมีผู้ประสงค์จะทำพินัยกรรมเป็นเอกสารลับ ให้ผู้นั้นแสดงความจำนงตามแบบของ
เจ้าพนักงาน ยื่นต่อกรมการอำเภอ (นายอำเภอ) ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอแล้วปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

          1. ต้องมีข้อความเป็นพินัยกรรมและลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม

          2. ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรม แล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึก

          3. ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้น ไปแสดงต่อนายอำเภอและพยานอย่างน้อย 2 คนและ ให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดนั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน ถ้าพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมเขียนเอง โดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบด้วย

          4. เมื่อนายอำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม และวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมมาแสดงไว้ในซองพับ และประทับตราประจำตำแหน่ง แล้วนายอำเภอผู้ทำพินัยกรรม และพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น

                    –  บุคคลผู้เป็นทั้งใบ้ และหูหนวก หรือผู้ที่พูดไม่ได้ มีความประสงค์จะทำพินัยกรรมเป็นเอกสารลับ ก็ได้ โดยให้ผู้นั้นเขียนด้วยตนเองบนซองพินัยกรรมต่อหน้านายอำเภอ และพยานอย่างน้อย 2 คน ว่า พินัยกรรมที่ผนึกนั้นเป็นของตน แทนการให้ถ้อยคำ

                    –  ถ้าผู้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับประสงค์ขอรับไปทันที ก็ให้นายอำเภอมอบให้ไปได้  โดยให้ผู้ทำพินัยกรรม ลงลายมือชื่อรับในสมุดทะเบียน

5. พินัยกรรมทำด้วยวาจา

          เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ ซึ่งบุคคลใดไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนด ไว้ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม ซึ่งในพฤติการณ์เช่นนี้ ผู้ทำพินัยกรรมไม่อาจหาเครื่องมือเครื่องเขียนได้ทันท่วงที หรือกว่าจะหาได้ก็ถึงตายเสียก่อน ผู้ทำ พินัยกรรมสามารถทำพินัยกรรมด้วยวาจาได้ ดังนี้

          1. ผู้ทำพินัยกรรมแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน ซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น

          2. พยานทั้งหมดต้องไปแสดงตนต่อนายอำเภอโดยมิชักช้า และแจ้งให้นายอำเภอทราบถึง ข้อความเหล่านี้

                    –  ข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจา

                     –  วัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรม

                     –  พฤติการณ์พิเศษที่ขัดขวางมิให้สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นด้วย

          3. ให้นายอำเภอจดข้อความที่พยานแจ้งไว้ และพยานทั้งหมดนั้นต้องลงลายมือชื่อ ถ้าลงลายมือชื่อไม่ได้ จะลงลายพิมพ์นิ้วมือ โดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คนก็ได้ และความสมบูรณ์แห่งพินัยกรรมนี้ ย่อมสิ้นไป เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่เวลาผู้ทำพินัยกรรมกลับมาสู่ฐานะที่จะทำพินัยกรรมตาม แบบอื่นที่กฎหมายกำหนดไว้

การตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก

          ผู้ประสงค์จะตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกให้ทำคำร้องแสดงความจำนงตามแบบ พ.ก. 1 ยื่นต่อนายอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ การตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก อาจทำได้โดยแสดงเจตนาชัดแจ้งดังต่อไปนี้

          1. โดยพินัยกรรม

          2. ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

การถอนการตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดก

          ผู้ประสงค์จะถอนการตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกให้ทำคำร้องแสดงความจำนงตามแบบ พ.ก. 1 ยื่นต่อนายอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ โดยเมื่อนายอำเภอได้รับหนังสือแสดงเจตนาแล้วให้ ออกใบรับให้ผู้นั้นไว้เป็นหลักฐาน (ใช้แบบ พ.ก. 8) และให้เก็บรักษาหนังสือแสดงเจตนาไว้เช่นเดียวกับหนังสือสำคัญของทางราชการ

การสละมรดก

          ผู้ประสงค์จะสละมรดกให้ทำคำร้องแสดงความจำนงตามแบบ พ.ก. 1 ยื่นต่อนายอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ และการสละมรดกอาจทำได้ 2 ประการ

          1. แสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

          2. ทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

การส่งมอบพินัยกรรม

          1. ส่งมอบทันที ณ ที่ว่าการอำเภอ พินัยกรรมที่ทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง และทำเป็นเอกสารลับ เมื่อผู้ทำพินัยกรรมจะขอรับไปทันที ให้นายอำเภอมอบให้โดยให้ผู้ทำพินัยกรรมลงชื่อรับในสมุดทะเบียนพินัยกรรมโดยไม่ต้องออกใบรับให้ แต่ถ้าเป็นพินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง ก่อนส่งมอบให้นายอำเภอคัดสำเนาพินัยกรรมไว้ แล้วลงชื่อประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ

          2. ส่งมอบภายหลังตอนที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ ผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้ยื่นเรื่องราวขอรับโดยนำใบรับแสดงเป็นหลักฐาน เมื่อสอบสวนเสร็จเป็นที่พอใจแล้ว ให้นายอำเภอมอบพินัยกรรมนั้นไป โดยให้ผู้ทำพินัยกรรมลงชื่อในสมุดทะเบียนพินัยกรรม

          3. ส่งมอบภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว ให้ผู้จัดการมรดก หรือผู้ได้รับทรัพย์โดยพินัยกรรม หรือผู้ซึ่งทำพินัยกรรมสั่งให้มอบพินัยกรรมให้ เป็นผู้มาขอรับโดยแสดงหลักฐานการตายของผู้ทำพินัยกรรมและนำใบรับมาแสดง เมื่อสอบสวนเป็นที่พอใจแล้วให้นายอำเภอมอบพินัยกรรมให้ไป

การรักษาพินัยกรรม

          1. พินัยกรรมที่ทำเป็นเอกสารฝ่ายเมืองและทำเป็นเอกสารลับ ถ้าผู้ทำพินัยกรรมไม่มีความประสงค์จะรับพินัยกรรมไปเก็บรักษาไว้เองโดยทันที เป็นหน้าที่ของนายอำเภอ ที่จะต้องเก็บรักษาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ

          2. พินัยกรรมทำด้วยวาจา ให้นายอำเภอเก็บรักษาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ กว่าจะมีผู้จัดการมรดกหรือผู้รับพินัยกรรมมารับไป

ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนพินัยกรรม

          1. ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองในที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือเขต ฉบับละ 50 บาท ถ้าทำเป็นคู่ฉบับ ฉบับละ 10 บาท

          2. ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนอกที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือเขต ฉบับละ 100 บาท ถ้าทำเป็นคู่ฉบับ ฉบับละ 20 บาท

          3. ทำพินัยกรรมแบบเอกสารลับ ฉบับละ 20 บาท

          4. ทำหนังสือตัดทายาทหรือถอนการตัดทายาทโดยธรรม มิให้ได้รับมรดกหรือสละมรดก  ฉบับละ 20 บาท

          5. ค่ารับมอบเก็บรักษาเอกสารตัดทายาทหรือถอนการตัดทายาทโดยธรรม มิให้ได้รับมรดกหรือสละมรดก ฉบับละ 20 บาท

          6. ค่าคัดและรับรองสำเนาพินัยกรรมหรือหนังสือตัดทายาทหรือถอนการตัดทายาทโดยธรรม มิให้ได้รับมรดกหรือสละมรดกฉบับละ 10 บาท

          7. ค่าป่วยการพยานและล่าม ให้ได้แก่พยานและล่ามเฉพาะที่ทางอำเภอจัดหาให้โดยพิจารณาจ่ายตามรายได้และฐานะของพยานและล่าม ซึ่งสมควรได้รับค่าป่วยการในการมาอำเภอ ไม่เกินวันละ 50 บาท


[1] มี 5 ประเภทดังนี้ 1.พินัยกรรมแบบธรรมดา 2.พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ 3.พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง 4.พินัยกรรมลับ 5.พินัยกรรมด้วยวาจา