พระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482
พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่สัตว์พาหนะของราชการทหาร “สัตว์พาหนะ” หมายความว่า ช้าง ม้า โค กระบือ ล่อ ลา ซึ่งได้ทำหรือต้องทำตั๋วรูปพรรณ การจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณสัตว์พาหนะ ได้แก่การกรอกรายการที่เกี่ยวกับเจ้าของสัตว์ และตัวสัตว์ เช่น ชื่อ และตำหนิรูปพรรณ ลงในทะเบียน ซึ่งเรียกว่าตั๋วรูปพรรณ ให้เจ้าของใช้แสดงกำกับสัตว์เป็นการแสดงตำหนิประจำสัตว์ และแสดงกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ นอกจากนั้นยังเป็นเอกสารในการซื้อขาย โอน จำนอง ได้อีกด้วย
อนึ่ง สำหรับช้างมีวิธีปฏิบัติแตกต่างจากสัตว์พาหนะอื่นเป็นกรณีพิเศษบางประการเพราะพระราชบัญญัติรักษาช้างป่า พ.ศ. 2464 และพระราชบัญญัติตามช้างรัตนโกสินทร์ศก 127 ได้ถือปฏิบัติอีกอย่างคือ ช้างสำคัญ คือช้างที่มีลักษณะ 7 ประการได้แก่ ตาขาว เพดานขาว เล็บขาว ขนขาว พื้นหนังขาว หรือสีคล้ายหม้อใหม่ ขนหางขาว อันฑโคตรขาวหรือสีคล้ายหม้อใหม่ หรือช้างสีประหลาด (หนังดำ งามีลักษณะดังรูปปลีกล้วย และเล็บดำ) เหล่านี้ถือว่าเป็นสมบัติของแผ่นดิน การจะโอนกรรมสิทธิ์แก่กัน ซื้อขาย หรือแลกเปลี่ยน ไม่ได้ทั้งสิ้น ผู้มีช้างดังกล่าวต้องมอบช้างให้เจ้าหน้าที่ เพื่อนำทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จให้ตามสมควร
1. ความหมาย
“ตำหนิรูปพรรณ” หมายความว่า ลักษณะสัณฐานโดยเฉพาะของสัตว์พาหนะแต่ละตัว
“ตั๋วรูปพรรณ” หมายความว่า เอกสารแสดงตำหนิรูปพรรณสัตว์พาหนะ
“เจ้าพนักงาน” หมายความว่า พนักงานปกครอง ตำรวจ นายทะเบียน
2. นายทะเบียน[1]
1. นายอำเภอหรือผู้ทำการแทน หรือผู้ที่รัฐมนตรีมหาดไทยแต่งตั้ง
2. ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ เป็นนายทะเบียนสัตว์พาหนะประจำกิ่งอำเภอ
3. สัตว์พาหนะที่ต้องจัดทำทะเบียนตั๋วรูปพรรณ
1. ช้างอายุเข้าปีที่ 8
2. สัตว์อื่นนอกจากโคตัวเมียย่างเข้าปีที่ 6
3. สัตว์ใช้ขับขี่ ลาก เข็น หรือใช้งานแล้ว
4. สัตว์อายุเข้าปีที่ 4 เมื่อจะนำออกนอกราชอาณาจักร
5. โคตัวเมียอายุย่างเข้าปีที่ 6 เมื่อจะทำการโอนกรรมสิทธิ์ เว้นแต่ในกรณีรับมรดก
4. กำหนดเวลาในการนำสัตว์ไปจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณ (มาตรา 8)
ให้เจ้าของหรือตัวแทนพร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน หรือพยาน (ในกรณีที่ไม่มีผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ใหญ่บ้านไปด้วยไม่ได้) นำสัตว์นั้นไปขอจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณจากนายทะเบียนท้องที่ที่สัตว์นั้นอยู่ภายในกำหนดดังต่อไปนี้
ก. ช้างอายุเข้าปีที่ 8 และสัตว์อื่นนอกจากโคตัวเมียย่างเข้าปีที่ 6 ตามที่นายทะเบียนจะได้ประกาศเป็นรายตำบลและกำหนดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน
ข. สัตว์ใช้ขับขี่ ลาก เข็น หรือใช้งานแล้ว ภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันได้ใช้ขับขี่ลากเข็นหรือใช้งานแล้ว
ค. สัตว์อายุเข้าปีที่ 4 เมื่อจะนำออกนอกราชอาณาจักร และโคตัวเมียอายุย่างเข้าปีที่ 6 เมื่อจะทำการโอนกรรมสิทธิ์ ต้องขอจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณก่อนนำออกนอกราชอาณาจักรหรือทำการโอนกรรมสิทธิ์
5. เรื่องทั่วไปเกี่ยวกับตั๋วรูปพรรณ
1. สัตว์พาหนะซึ่งนำจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรต้องขอจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณ ถ้าได้นำเข้ามาเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหรือภายในกำหนดนั้น แต่ยังเหลือเวลาน้อยกว่า 30 วัน ต้องขอจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณภายในกำหนด 30 วัน เว้นแต่นำเข้ามาชั่วครั้งคราว
2. ตั๋วรูปพรรณสัตว์พาหนะของผู้ใดเป็นอันตรายหรือสูญหาย ให้นำพยานหลักฐานไป
แจ้งความต่อนายทะเบียนท้องที่ที่มีทะเบียนสัตว์นั้น เพื่อขอรับใบแทนตั๋วรูปพรรณ เมื่อ
นายทะเบียนสอบสวนเห็นความบริสุทธิ์แล้ว ให้เรียกค่าธรรมเนียมและออกใบแทนตั๋วรูปพรรณให้
3. ผู้ใดเก็บตั๋วรูปพรรณสัตว์พาหนะได้ ต้องนำส่งต่อเจ้าของหรือเจ้าพนักงานภายใน 15 วันนับแต่วันที่เก็บได้
4. ผู้ใดมีตั๋วรูปพรรณโดยไม่มีสัตว์พาหนะสำหรับตั๋วนั้นไว้ในครอบครอง ต้องนำส่งต่อนายทะเบียนท้องที่หรือกำนันเพื่อจัดส่งต่อนายทะเบียนท้องที่
5. เมื่อปรากฏว่าตำหนิรูปพรรณสัตว์พาหนะของผู้ใดคลาดเคลื่อนจากตั๋วรูปพรรณเพราะเหตุใดๆ ก็ดี เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้องนำสัตว์พร้อมด้วยตั๋วรูปพรรณไปให้นายทะเบียนตรวจแก้ตำหนิรูปพรรณภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบ
6. การแก้ตำหนิรูปพรรณในกรณีที่เกี่ยวกับขวัญสัตว์คลาดเคลื่อน ตำหนิซึ่งเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานหรือได้เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของสัตว์หรือการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียม
7. ผู้ใดจะนำสัตว์พาหนะออกไปนอกราชอาณาจักรให้นำสัตว์นั้นพร้อมด้วยตั๋วรูปพรรณไปให้นายทะเบียนตรวจแก้ทะเบียนและสลักหลังตั๋วรูปพรรณว่าจำหน่ายออกนอกราชอาณาจักร
8. สัตว์พาหนะของผู้ใดหายไป ให้เจ้าของแจ้งความต่อเจ้าพนักงานภายใน 7 วัน ถ้าไม่ได้สัตว์นั้นคืนมา ให้ส่งตั๋วรูปพรรณต่อนายทะเบียนท้องที่หรือกำนัน เพื่อจัดส่งให้นายทะเบียนท้องที่ภายใน 90 วัน
9. ผู้ใดจับได้สัตว์พาหนะที่พลัดเพลิดหรือถูกละทิ้ง มิสามารถส่งคืนเจ้าของได้ภายใน 3 วัน ให้นำสัตว์ส่งต่อเจ้าพนักงาน
10. สัตว์ที่เจ้าพนักงานเลี้ยงรักษาไว้ และไม่มีผู้ใดมาขอรับคืนภายใน 90 วัน ให้
เจ้าพนักงานมีอำนาจขายทอดตลาด และให้เงินตกเป็นของแผ่นดิน
6. การโอนกรรมสิทธิ์สัตว์พาหนะ
การโอนกรรมสิทธิ์สัตว์พาหนะให้ผู้โอนและผู้รับโอนทั้งสองฝ่าย หรือตัวแทนนำสัตว์พาหนะและตั๋วรูปพรรณไปยังนายทะเบียนเพื่อจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบเป็นการถูกต้อง และได้ชำระค่าธรรมเนียมแล้วให้จดทะเบียนและสลักหลังตั๋วรูปพรรณโอนกรรมสิทธิ์ให้ ถ้าเป็นสัตว์ต่างท้องที่ให้นายทะเบียนรับสัตว์นั้นขึ้นทะเบียนเสียก่อน
7. การโอนกรรมสิทธิ์สัตว์พาหนะโดยการรับมรดก
ผู้ใดที่ได้รับสัตว์พาหนะเป็นมรดก ให้ผู้นั้นหรือตัวแทนนำพยานพร้อมด้วยตั๋วรูปพรรณไปแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่มีทะเบียนสัตว์นั้น เมื่อนายทะเบียนสอบสวนแล้วให้ประกาศมรดกมีกำหนด 30 วัน ถ้าไม่มีผู้คัดค้านภายในเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศ ให้นายทะเบียนเรียกค่าธรรมเนียมแล้วแก้ทะเบียนและตั๋วรูปพรรณสำหรับสัตว์นั้นให้แก่ผู้รับมรดก ถ้ามีผู้คัดค้านภายในกำหนด ให้นายทะเบียนสั่งให้ผู้ที่เห็นว่าไม่มีสิทธิดีกว่าไปฟ้องศาลภายในกำหนดไม่เกิน 60 วัน ถ้าไม่ฟ้องภายในกำหนดให้นายทะเบียนเรียกค่าธรรมเนียมแล้วแก้ทะเบียนและตั๋วรูปพรรณให้แก่ผู้ควรรับมรดก
8. การจำนองสัตว์พาหนะ
การจำนองสัตว์พาหนะ ให้ผู้จำนองและผู้รับจำนองทั้ง 2 ฝ่าย หรือตัวแทนนำตั๋วรูปพรรณประจำตัวสัตว์ที่จะจำนองไปยังนายทะเบียนท้องที่ที่มีทะเบียนสัตว์นั้นเพื่อทำการจำนอง เมื่อ
นายทะเบียนตรวจสอบเป็นการถูกต้อง และได้รับชำระค่าธรรมเนียมแล้ว ให้จดทะเบียนและสลักหลังการจำนองให้
9. การย้ายสัตว์พาหนะ
การย้ายสัตว์พาหนะไปต่างอำเภอ นอกจากกรณีการเช่า เช่าซื้อ ยืม ฝาก จำนำ รับจ้างเลี้ยง หรือพาไปชั่วคราว เจ้าของหรือตัวแทนต้องนำตั๋วรูปพรรณไปแจ้งความต่อนายทะเบียนท้องที่ใหม่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่สัตว์นั้นไปถึง แล้วให้นายทะเบียนท้องที่ใหม่เรียกค่าธรรมเนียมแล้วแจ้งการรับสัตว์ขึ้นทะเบียนไปยังนายทะเบียนท้องที่เดิมทราบ
10. การจำหน่ายทะเบียนสัตว์พาหนะ
ถ้าสัตว์พาหนะตาย ให้เจ้าของหรือตัวแทนแจ้งความและส่งมอบตั๋วรูปพรรณสัตว์ที่ตายนั้นต่อนายทะเบียนท้องที่หรือกำนัน เพื่อจัดส่งต่อนายทะเบียนท้องที่ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบว่าสัตว์นั้นตาย และในกรณีที่ผู้อื่นครอบครองสัตว์นั้นชั่วคราว ให้ผู้นั้นแจ้งความต่อนายทะเบียนท้องที่หรือกำนันภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบว่าสัตว์นั้นตาย
11. บทกำหนดโทษ
1. ผู้ใดฝ่าฝืนโดยเห็นตำหนิรูปพรรณสัตว์พาหนะคลาดเคลื่อนไม่นำสัตว์ไปให้นายทะเบียนแก้ตำหนิ หรือสัตว์ตายไม่แจ้งความและส่งมอบตั๋วรูปพรรณต่อนายทะเบียนท้องที่หรือกำนัน หรือสัตว์พาหนะหายแล้วไม่แจ้งนายทะเบียน ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 12 บาท
2. ผู้ใดฝ่าฝืนโดยเก็บตั๋วรูปพรรณสัตว์พาหนะได้แล้วไม่นำส่งต่อเจ้าของหรือเจ้าพนักงาน หรือมีตั๋วรูปพรรณโดยไม่มีสัตว์พาหนะสำหรับตั๋วนั้นไว้ในครอบครอง หรือโอนกรรมสิทธิ์สัตว์พาหนะโดยไม่แจ้งนายทะเบียน หรือย้ายสัตว์พาหนะ หรือนำสัตว์พาหนะออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่แจ้งนายทะเบียน ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50 บาท
3. ผู้ใดฝ่าฝืนโดยไม่นำสัตว์พาหนะไปจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณ หรือนำสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรแล้วไม่นำไปจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือทั้งปรับทั้งจำ
4. ผู้ใดครอบครองสัตว์พาหนะไว้และแสดงความบริสุทธิ์ไม่ได้ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
12. อัตราค่าธรรมเนียม
ประเภท | ช้าง | ม้า โค กระบือ ล่อ ลา |
1. ค่าจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณ | 5 บาท | 50 สตางค์ |
2. ค่าสลักหลังโอนกรรมสิทธิ์ หรือจำนอง | 1 บาท | 25 สตางค์ |
3. ค่ารับขึ้นทะเบียนการย้าย | 1 บาท | 25 สตางค์ |
4. ค่าใบแทนตั๋วรูปพรรณ | 1 บาท | 50 สตางค์ |
5. ค่าแก้ตำหนิในตั๋วรูปพรรณ | 1 บาท | 25 สตางค์ |
6. ค่าป่วยการพยานตัวละ | 25 สตางค์ | 25 สตางค์ |
13. แบบพิมพ์ทะเบียนสัตว์พาหนะ
แบบพิมพ์ทะเบียนสัตว์พาหนะ จะมีทั้งหมด 21 แบบ ตั้งแต่ ส.พ. 1 ถึง ส.พ. 21 แต่จะมีเฉพาะแบบพิมพ์ ส.พ. 1, 2, 5, 6, 10, 11, 14 และ 15 เท่านั้นที่จัดเก็บข้อมูลทะเบียนสัตว์พาหนะด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ตามหนังสือที่ มท 0309.3/ว4331 ลงวันที่ 9 กันยายน 2549
ส.พ. 1 ตั๋วเดินทุ่งช้าง
ส.พ. 2 ตั๋วเดินทุ่งม้า
ส.พ. 5 ทะเบียนและต้นขั้วตั๋วรูปพรรณช้าง
ส.พ. 6 ทะเบียนและต้นขั้วตั๋วรูปพรรณม้า
ส.พ. 10 ทะเบียนและต้นขั้วตั๋วรูปพรรณช้างแทนฉบับหาย
ส.พ. 11 ทะเบียนและต้นขั้วตั๋วรูปพรรณม้าแทนฉบับหาย
ส.พ. 14 ทะเบียนและใบแทนต้นขั้วตั๋วรูปพรรณช้างมาจากต่างอำเภอ
ส.พ. 15 ทะเบียนและใบแทนต้นขั้วตั๋วรูปพรรณม้ามาจากต่างอำเภอ
[1] นายอำเภอเป็นนายทะเบียนตาม ม.4 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ส่วนปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ เป็นนายทะเบียน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 6 มกราคม 2483