ทะเบียนศาลเจ้า

1. ทะเบียนศาลเจ้า

          ศาลเจ้าคือสถานที่ก่อสร้างขึ้นเป็นทรวดทรงสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ และกระทำตามพิธีกรรม ตามลัทธิของคนบางจำพวก เช่น ชนชาวจีน เป็นต้น และให้หมายความรวมตลอดถึงสถานที่ถาวรซึ่งสร้างขึ้นประกอบกับศาลเจ้า เช่น โรงสำหรับกินเจ เป็นต้น (กฎเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า พ.ศ. 2463)

          งานทะเบียนศาลเจ้า หมายถึงเฉพาะบรรดาศาลเจ้าที่ตั้งขึ้นอยู่ในที่ดิน ซึ่งราชการเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ปกปักษ์รักษาเท่านั้น โดยออกเอกสารสิทธิ หรือหนังสือสำคัญของที่ดินในนามกรมการปกครอง

          สาเหตุที่ทางราชการต้องเข้าไปควบคุมดูแลนั้นเป็นไปตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2547  มาตรา 123 ที่ให้กรมการอำเภอมีหน้าที่คอยตรวจตรา อุดหนุน ผู้ปกปักษ์รักษา อย่าให้ผู้ใดรุกล้ำเบียดที่วัดหรือที่กุศลสถานอย่างอื่น อันเป็นของกลางสำหรับมหาชนนั้น ซึ่งที่ศาลเจ้าเป็นสถานที่เคารพและกระทำพิธีกรรมตามลัทธิของประชาชนบางจำพวก จึงนับว่าเป็นที่กุศลสถานสำหรับมหาชนประเภทหนึ่ง

2. กฎเสนาบดีที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า พ.ศ. 2463

          กฎให้ไว้ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2463 โดยมหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล และมหาเสวกนายก เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นกฎที่บังคับมานานมากแล้ว แต่ก็ยังต้องอ่านสอบเพราะการสอบปลัดอำเภอนั้น กรมการปกครองสามารถนำมาออกข้อสอบได้ เราอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ แต่การอ่านข้ามส่วนนี้ไปอาจทำให้เราขาดความมั่นใจได้ ส่วนเนื้อหานั้นอาจจะมีบางคำที่เป็นภาษาโบราณ แต่สื่อความหมายที่สามารถเข้าใจได้ไม่ยากนัก

2.1 ความหมาย

          “ศาลจ้าว”[1] หมายความว่า สถานที่ก่อสร้างขึ้นเป็นทรวดทรงสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ และกระทำพิธีกรรมตามลัทธิของคนบางจำพวกเช่น ชนจีนเป็นต้น และให้หมายความรวมตลอดถึงสถานที่ถาวร ซึ่งสร้างขึ้นประกอบกับศาลจ้าว เช่น โรงสำหรับกินเจเป็นต้น

          “ที่ศาลจ้าว” หมายความถึงที่ดินที่ศาลเจ้าตั้งอยู่ และหมายความตลอดเขตบริเวณที่ดินของศาลเจ้าด้วย

          “ใบอนุญาตตั้ง” หมายความว่า หนังสือที่ผู้มีอำนาจตามกฎนี้ออกให้ไว้แก่ผู้จัดการปกครองศาลจ้าว หรือผู้ตรวจตราสอดส่องกิจการในศาลจ้าว

          “ผลประโยชน์” หมายความว่า ทรัพย์สมบัติรายได้อันพึงบังเกิดมีแก่ศาลจ้าวนั้น ๆ และหมายความตลอดถึงรายจ่ายด้วย

2.2 ที่ดินของศาลจ้าว

          กรรมสิทธิ์ในที่ดินของศาลเจ้า ศาลจ้าวที่ตั้งอยู่ในที่ดินเอกชน มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของนั้นไม่เกี่ยวกับกฎฉบับนี้ เว้นไว้แต่เอกชนผู้มีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของตน ให้เป็นสมบัติสำหรับศาลจ้าวโดยสิทธิ์ขาดใดขณะใด ที่ดินนั้นย่อมตกมาอยู่ในความปกครองรักษาของรัฐบาลพึงทำนุบำรุง เพื่อประโยชน์มหาชนตามความในกฎนี้

          สถานที่เก็บโฉนด ที่ดินที่ศาลจ้าวตั้งอยู่ในที่ดินของรัฐบาลก็ดี หรือในที่ดินของเอกชนแต่ได้อุทิศให้เป็นสมบัติสำหรับศาลจ้าวโดยสิทธิ์ขาดแล้วก็ดี ในเขตกรุงเทพมหานครให้มีโฉนดไว้ในนามกรมพระนครบาล หัวเมืองนอกจากเขตกรุงเทพมหานครให้มีโฉนดหรือหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินไว้ในนามกรมปกครอง กระทรวงมหาดไทยทั้งสิ้น

          การอุทิศที่ดินเพื่อเป็นสมบัติของศาลเจ้า ผู้ใดมีความปรารถนาจะอุทิศที่ดินของตนที่มี หรือยังไม่มีศาลจ้าวตั้งอยู่แล้ว ให้เป็นสมบัติสำหรับศาลจ้าวโดยสิทธิ์ขาด ให้ยื่นเรื่องราวสำแดงความปรารถนา เป็นลายลักษณ์อักษรมอบหมายให้แก่นายอำเภอผู้ปกครองท้องที่ที่ ๆ ดินตั้งอยู่

2.3 ทะเบียนบัญชีศาลจ้าว ให้มีรายการดังนี้

          1. เลขลำดับจำนวนศาลจ้าว

          2. ชื่อศาลจ้าว

          3. ตำบล อำเภอ และจังหวัด ที่ศาลจ้าวตั้งอยู่

          4. ชื่อ และอายุ ผู้ปกครองศาลจ้าว และผู้ตรวจตราสอดส่อง

          5. ชื่อ แซ่สกุล ชาติกำเนิด และบังคับสังกัดมูลนาย ของผู้ปกครองศาลจ้าว และผู้ตรวจตราสอดส่อง

          6. อาชีวะ และที่สำนักอาศัย ของผู้ปกครองศาลจ้าว และผู้ตรวจตราสอดส่อง

2.4 คุณสมบัติของผู้จัดการปกครอง และผู้ตรวจตราสอดส่องศาลจ้าว[2]

          1. ต้องเป็นผู้มีความเคารพนับถือในลัทธินั้น

          2. ต้องเป็นคนที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป

          3. ต้องเป็นคนมีหลักฐานในอาชีวะ หรือมีหลักทรัพย์ดี

          4. ต้องเป็นคนที่ไม่เคยต้องคำพิพากษาของศาล ฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจรผู้ร้าย ลักทรัพย์วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ สลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ หรือรับของโจร และไม่เคยโต้เถียงกรรมสิทธิ์ที่ศาลจ้าว

          5. ต้องเป็นคนที่อยู่ในใต้บังคับกฎหมายฝ่ายไทย

2.5 อำนาจหน้าที่ของผู้จัดการปกครอง และผู้ตรวจตราสอดส่องศาลจ้าว

          ผู้จัดการปกครองศาลจ้าว มีอำนาจและหน้าที่จัดการทั่วไปในกิจการเพื่อประโยชน์แก่ศาลจ้าวโดยฐานะและการอันสมควร และมีอำนาจหน้าที่เข้าเป็นโจทก์ หรือจำเลยในอรรถคดีทั้งแพ่งและอาญา อันเกี่ยวด้วยเรื่องศาลจ้าวทุกประการ

          ผู้ตรวจตราสอดส่อง มีอำนาจและหน้าที่ตรวจตรากิจการอันเกี่ยวด้วยศาลจ้าวทุกประการตลอดถึงสรรพทะเบียนบัญชีทั้งปวงอันเนื่องด้วยกิจการหรือผลประโยชน์สำหรับศาลจ้าวครอบงำเหนือผู้จัดการปกครองศาลจ้าวนั้น

2.6 ถ้ามีอั้งยี่ ซ่องโจร หรือสบคบเล่นการพนัน

          เมื่อใดความปรากฏขึ้นชัดเจน หรือสงสัยว่ามีการสมคบกันเป็นอั้งยี่ หรือซ่องโจรผู้ร้าย หรือสมคบกันเล่นการพนันที่กฎหมายห้ามในศาลจ้าวหรือในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ศาลจ้าวใด ให้ผู้จัดการปกครองหรือผู้ตรวจตราสอดส่องศาลจ้าวนั้น รายงานแจ้งเหตุการณ์ต่อนายอำเภอผู้ปกครองท้องที่ โดยละเอียด

2.7 การกำหนดโทษผู้กระทำผิด

          1. ผู้ใดบังอาจบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์สำหรับศาลจ้าว หรือเข้าไปในที่นั้น ๆ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือเข้าไปซ่อนอยู่โดยไม่มีเหตุสมควรที่จะเข้าไป หรือเมื่อผู้มีความชอบธรรมได้ว่ากล่าวขับไล่ให้ออกไปแล้วยังขืนอยู่อีกผู้นั้นมีความผิดให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200 บาท หรือทั้งสองสถาน

          2. ผู้ใดเจตนาขัดขวางมิให้ผู้จัดการปกครอง หรือผู้ตรวจตราสอดส่องศาลจ้าว ได้กระทำการตามหน้าที่โดยปกติ มีความผิดให้ปรับไม่เกิน 200 บาท

3. ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเงินของศาลเจ้า พ.ศ. 2520

3.1 ความหมายเงินของศาลเจ้า

          1. รายได้จากการให้เช่าที่ดินของศาลเจ้า

          2. รายได้จากการให้เช่าอาคารของศาลเจ้า

          3. รายได้จากการที่ผู้เช่าอุทิศให้เป็นเงินค่าบำรุงศาลเจ้า

          4. เงินที่มีผู้อุทิศให้แก่ศาลเจ้า

          5. รายได้จากการดำเนินงานของศาลเจ้า

3.2 การให้เช่าที่ดินหรืออาคารของศาลเจ้า

          การให้เช่าที่ดินหรืออาคารของศาลเจ้า ให้ผู้ประสงค์จะขอเช่ายื่นเรื่องราวพร้อมด้วยความเห็นชอบของผู้จัดการปกครองและผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้าที่จะขอเช่า ต่อนายอำเภอท้องที่และให้นายอำเภอท้องที่ส่งเรื่องราว พร้อมทั้งเสนอความเห็นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา เพื่อขออนุมัติต่อกระทรวงมหาดไทยทุกราย รวมทั้งการให้อยู่ในที่อาศัยในที่ดินของศาลเจ้าต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยก่อน

3.3 การเก็บเงินค่าเช่า ค่าบำรุง และเงินที่มีผู้อุทิศให้

          การเก็บเงินค่าเช่าและค่าบำรุงศาลเจ้า ซึ่งผู้เช่าจะต้องชำระตามข้อผูกพันในสัญญาให้ผู้จัดการปกครองเป็นผู้จัดเก็บและส่งนายอำเภอท้องที่ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับเงิน โดยให้ผู้จัดการปกครองศาลเจ้าได้รับเงินค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนร้อยละ 10 ของจำนวนเงินค่าเช่าที่เก็บได้ แต่เงินค่าบำรุงศาลเจ้านั้นไม่ให้หักค่าใช้จ่าย

          เงินที่มีผู้อุทิศให้ หรือได้มาโดยประการอื่น ให้ผู้จัดการปกครองเป็นผู้จัดเก็บและส่งนายอำเภอท้องที่ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับเงิน และเงินที่ได้จากการดำเนินงานของศาลเจ้าให้ผู้จัดการปกครองศาลเจ้าทำบัญชีรายรับรายจ่าย พร้อมด้วยเงินเหลือจ่ายส่งนายอำเภอภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป

3.4 การนำส่งเงินที่ได้จากการดำเนินงานของศาลเจ้า

          ให้นายอำเภอท้องที่รวบรวมเงินส่งจังหวัดเดือนละ 1 ครั้ง และให้จังหวัดนำเงินที่เกิน 5,000 บาท ส่งกรมการปกครองตามระเบียบ ทั้งนี้ให้จังหวัดเก็บรักษาเงินไว้ทั้งสิ้นไม่เกิน 5,000 บาท จำนวนเงินที่เกินกว่านั้น ให้นำส่งกรมการปกครอง

3.5 การจ่ายเงินของศาลเจ้า

          ผู้ที่เสนอขอจ่ายเงินของศาลเจ้าได้นั้น ได้แก่บุคคลต่อไปนี้

          1. ผู้จัดการปกครองและผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้า (เสนอได้แต่ไม่มีอำนาจสั่งจ่าย)

          2. ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจสั่งจ่ายได้ไม่เกิน 1,000 บาท ถ้าเกิน 1,000 บาท ให้รายงานขออนุมัติจากอธิบดีกรมการปกครอง

          3. ผู้อำนวยการกองการทะเบียน กรมการปกครอง (เสนอได้แต่ไม่มีอำนาจสั่งจ่าย)

          4. อธิบดีกรมการปกครอง มีอำนาจสั่งจ่ายได้ไม่เกิน 5,000 บาท

          5. ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจสั่งจ่ายได้ไม่เกิน 10,000 บาท ถ้าเกิน 10,000 บาท ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมตรวจตราสอดส่องกิจการต่างๆ ของศาลเจ้า

4. คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 198/2552

          คำสั่งกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้เป็นคำสั่ง เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการศาลเจ้า โดยมีคณะกรรมการควบคุมตรวจตราสอดส่องกิจการต่างๆ ของศาลเจ้า ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมตรวจตราสอดส่องกิจการต่างๆ ของศาลเจ้า ทั่วราชอาณาจักร โดยมีอำนาจสั่งการเกี่ยวกับการบูรณะซ่อมแซม การจัดหาประโยชน์ การจ่ายเงินของศาลเจ้า และการพิจารณาสั่งการเกี่ยวกับการเช่นที่ดินและอาคารของศาลเจ้า  ซึ่งคณะกรรมการควบคุมตรวจตราสอดส่องกิจการต่างๆ ของศาลเจ้า ประกอบด้วย

          1. ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ

          2. อธิบดีกรมการปกครอง

          3. รองปลัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานปกครองและทะเบียน

          4. อธิบดีกรมที่ดิน

          5. รองอธิบดีกรมการปกครอง กลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนการบริหารงานแบบบูรณาการ

          6. ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานทะเบียน กรมการปกครอง

          7. ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ กรมการปกครอง

          8. ผู้อำนวยการกองคลัง กรมการปกครอง

          9. ผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนทั่วไป กรมการปกครอง เป็นกรรมการและเลขานุการ

          10. หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทะเบียนเพื่อความมั่นคง ส่วนการทะเบียนทั่วไป สำนักบริหารงานทั่วไป เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

          11. หัวหน้างานทะเบียนศาลเจ้า ฝ่ายทะเบียนงาน ส่วนการทะเบียนทั่วไป สำนักบริหารงานทั่วไป เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ


[1] กฎเสนาบดีที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า พ.ศ.2463 จะใช้คำว่า “จ้าว” เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับมานานแล้ว อีกทั้งกฎนี้ก็ไม่ได้มีการยกเลิกแต่อย่างใด การอ่านอาจจะพบคำโบราณบ้าง

[2] ผู้ใดมีความปรารถนาจะเป็นผู้จัดการปกครอง หรือเป็นผู้ตรวจตราสอดส่องศาลจ้าว ถ้าในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นเรื่องราวต่ออธิบดีกรมพระนครบาลหรือนครบาลจังหวัด นอกจากกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นเรื่องราวต่อสมุหเทศาภิบาลหรือผู้ว่าราชการจังหวัด