ทะเบียนเกาะ

1. ความหมาย

          “เกาะ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “ส่วนของแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบโดยตลอด และมีขนาดเล็กกว่าแผ่นดินที่เป็นทวีป” ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ บรรพ 4 เรื่องทรัพย์สิน หมายถึง “ที่เกิดในทะเลสาบ หรือในทางน้ำ หรือในเขตน่านน้ำของประเทศก็ดี และท้องทางน้ำที่เขินขึ้นก็ดี เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน”

2. การพิจารณาว่าเป็นเกาะ

          คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1309 ได้กำหนดให้เกาะที่เกิดขึ้นในทะเลสาบ หรือในทางน้ำ หรือในเขตน่านน้ำของประเทศเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน การที่จะพิจารณาว่าเกาะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากสภาพของที่ดินบนเกาะแต่ละเกาะ ถ้าเกาะใดมีที่ดินอยู่หลายส่วน หลายประเภท บางส่วนบางประเภทอาจไม่มีลักษณะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ได้ เช่นที่ดินที่ได้ยินยอมให้ประชาชนถือกรรมสิทธิ์หรือครอบครองได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่น เป็นต้น แต่ก็อาจมีที่ดินบางส่วนบางประเภทบนเกาะนั้น ซึ่งตามสภาพและการใช้ที่ดินเข้าลักษณะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่น ถนนที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือสถานที่ราชการที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้น จะถือว่าเกาะทั้งเกาะ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หาได้ไม่ การที่จะวินิจฉัยว่าเกาะใดเกาะหนึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือเป็นที่ราชพัสดุนั้น ต้องพิจารณาโดยสภาพหรือประเภทของที่ดินจากข้อเท็จจริงเป็นรายๆ ไป (เรื่องเสร็จ กรกฎาคม 2523 บันทึกเรื่อง การขึ้นทะเบียนเกาะ)

          ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาว่าสภาพเกาะมีลักษณะ 3 ประการ

          1. เป็นเกาะตามความเข้าใจของคนทั่วไป

          2. ส่วนมากเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

          3. เป็นเกาะถาวรมีสภาพเป็นเกาะมานาน และจะคงสภาพเป็นเกาะอยู่อีกต่อไป

3. ผลของเกาะที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน

          เมื่อเกาะเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน และได้ใช้พื้นที่เกาะเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ผลที่ตามมา คือ

          1. จะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา

          2. จะยกอายุความขึ้นต่อสู้แผ่นดินไม่ได้

          3. จะยึดทรัพย์ของแผ่นดินไม่ได้

4. วิธีดำเนินการสำรวจเกาะ

          1. ให้อำเภอสำรวจเกาะในเขตท้องที่ ทั้งในทะเล ทะเลสาบ น่านน้ำภายในประเทศว่ามีเกาะหรือไม่ โดยกำหนดข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาของเกาะที่ต้องสำรวจคือ

                    1.1 ชื่อเกาะ

                    1.2 สำรวจเมื่อ

                    1.3 แผนที่หมายเลข

                    1.4 อยู่ในเขตปกครอง ตำบล อำเภอจังหวัด

                    1.5 ที่ตั้ง ห่างจากฝั่งใกล้ที่สุด ห่างจากที่ว่าการอำเภอเท่าใด ห่างเส้นพรมแดนใด (ถ้ามี) เท่าใด

                    1.6 ขนาดกว้าง ยาว รวมพื้นที่

                    1.7 ภูมิประเทศ รูปสัณฐาน สภาพที่ราบ ภูเขา หิน ป่า ห้วย ธาร ที่ทำการกสิกรรรมได้/ไร่ ที่สงวน/ไร่

                    1.8 ทรัพยากรธรรมชาติและการทำประโยชน์ (แร่ธาตุ ป่าไม้ ของป่า ฯลฯ)

                    1.9 พลเมือง อยู่ประจำและอยู่ชั่วคราว/คน อาชีพ

                    1.10 เคหสถาน บ้าน/หลัง สถานที่ราชการ ปูชนียสถานอะไร

                    1.11 ภัยธรรมชาติและโรคภัยแก่คน สัตว์ พืช อะไร

                    1.12 การคมนาคม ยานพาหนะ และการสื่อสารที่ใช้

          2. ให้อำเภอส่งการสำรวจทะเบียนเกาะให้จังหวัด เพื่อจัดทำทะเบียนเกาะของจังหวัดไว้

          3. ให้จังหวัดรวบรวมรายงานเกาะของแต่ละอำเภอ รายงานกระทรวงมหาดไทยเพื่อทำทะเบียนเกาะของประเทศต่อไป

5. การจัดทำทะเบียน และการสำรวจเกาะ

          การจัดทำทะเบียนเกาะ คือ การจัดให้มีการสำรวจเกาะต่างๆ โดยรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับเกาะทั้งหมดมาลงทะเบียนไว้ เพื่อข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

          การสำรวจเกาะ คือ นอกจากจะเป็นการสำรวจของจังหวัด และอำเภอแล้ว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ ให้เจ้าหน้าที่กรมการปกครอง และจังหวัด ทำการสำรวจและบันทึกไว้ที่ส่วนกลาง และสำเนาให้จังหวัดรักษาไว้ด้วย

          ประเทศไทยได้มีการสำรวจเกาะโดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2467 ในปี พ.ศ. 2518 มีเกาะทั่วประเทศ จำนวน 771 เกาะ ใน 26 จังหวัด เป็นที่ตั้งจังหวัด 1 เกาะ อำเภอ 3 เกาะ และกิ่งอำเภอ 3 เกาะ และในปี 2546 ได้ทำการสำรวจเกาะมีทั้งสิ้นจำนวน 853 เกาะ ในพื้นที่ 30 จังหวัด เป็นที่ตั้งจังหวัด 1 เกาะ คือจังหวัดภูเก็ต อำเภอ 6 เกาะ ได้แก่ อำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี อำเภอเกาะช้างและอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด

6. ประโยชน์ของการจัดทำทะเบียนเกาะ

          1. ผลทางเศรษฐกิจ จากการสำรวจเกาะจะทำให้สามารถทราบได้ว่า เกาะต่างๆ นั้นมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นเศรษฐกิจของชาติมีอะไรบ้าง อยู่ที่ไหน จำนวนมากน้อยเท่าใด ซึ่งทรัพยากรที่ได้จากการสำรวจ เช่น แร่ธาตุ ของป่า ป่าไม้ รังนก รังผึ้ง ไข่เต่า หิน ทราย ถ่านหิน ไม้โกงกาง

          2. ผลทางสังคม ทำให้สามารถทราบสิ่งเหล่านี้ คือ สถานที่ราชการ โรงเรียน วัด สถานีอนามัย ปูชนียสถาน สถานที่ท่องเที่ยว หาดทรายสถานที่ตากอากาศ

          3. ผลทางการเมือง จะสามารถทราบเกาะที่จะใช้ประโยชน์ในการอพยพพลเมืองในกรณีมีเหตุฉุกเฉินได้ เช่น ทราบที่ตั้งของเกาะ ขนาด ภูมิประเทศ ภัยธรรมชาติ มีคนอาศัยอยู่เท่าใด มีแหล่งน้ำมากน้อยเท่าใด มีพื้นที่ทำการเพาะปลูก มีอาหารเท่าใด และมีเชื้อเพลิงเท่าใดอย่างนี้เป็นต้น

7. การควบคุมและรักษาเกาะ

          ไม่มีระบุไว้ว่า การควบคุมและรักษาเกาะเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ใด ต้องเทียบเคียงในเรื่องการดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกัน ที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ดังนี้

          1. ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ให้อธิบดีกรมมี่ดินมีหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันได้ตามควรแก่กรณี

          2 ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการอำเภอดูแล และหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ 27782/2487 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2487 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเป็นผู้ดูแลรักษาที่ดินซึ่งเป็นสาธารณะสมบัติ

          3. ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553 อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดิน ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น