ทะเบียนสุสาน และฌาปนสถาน

พระราชบัญญัติสุสาน และฌาปนสถาน พ.ศ. 2528

1. การบังคับใช้

          พระราชบัญญัตินี้ไม่บังคับแก่สุสานและฌาปนสถานสาธารณะของ กระทรวง ทบวง กรมกรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล หรือเมืองพัทยา ที่จัดตั้งและดำเนินการ พระราชบัญญัตินี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รักษาการ มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าพนักงานสาธารณสุขกับออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม

2. ประเภทของสุสานและฌาปนสถาน

          1. สุสานและฌาปนสถานสาธารณะ หมายความว่า สถานที่ที่จัดไว้สำหรับเก็บ ฝัง หรือเผาศพ สำหรับประชาชนทั่วไป แต่ไม่รวมถึงสถานที่ที่ใช้สำหรับเก็บศพชั่วคราวในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

          2. สุสานและฌาปนสถานเอกชน หมายความว่า สถานที่ที่จัดไว้สำหรับเก็บ ฝัง หรือเผาศพ สำหรับตระกูล หรือครอบครัว แต่ไม่รวมถึงสถานที่ที่ใช้สำหรับเก็บศพชั่วคราวในเคหสถาน

3. เจ้าพนักงานท้องถิ่น

          1. ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หรือผู้อำนวยการเขตหรือรองผู้อำนวยการเขตที่ผู้ว่ามอบหมาย ในเขตกรุงเทพมหานคร

          2. ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ ปลัดอำเภอหัวหน้ากิ่งอำเภอ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย สำหรับจังหวัดที่อยู่นอกเขตจังหวัด

          3. นายกเทศมนตรี ในเขตเทศบาล

          4. ประธานกรรมการสุขาภิบาล ในเขตสุขาภิบาล

          5. ปลัดเมืองพัทยา ในเขตเมืองพัทยา

4. เจ้าพนักงานท้องถิ่นที่มีอำนาจนอกเขต อปท.

          ห้ามมิให้ผู้ใดเก็บ ฝัง หรือเผาศพในสถานที่อื่น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก
เจ้าพนักงานท้องถิ่น ในกรณีที่สถานที่อื่นอยู่นอกเขตเทศบาล เขตสุขาภิบาลและเขตเมืองพัทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือกำนันแห่งท้องที่ เป็นผู้อนุญาตแทนได้

5. ห้ามมิให้ตั้งสุสานและฌาปนสถาน และห้ามดำเนินการ

          ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เมื่อได้จัดตั้งสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชนเสร็จแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินการ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจาก
เจ้าพนักงานท้องถิ่น

6. คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต

          1. อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี บริบูรณ์

          2. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

          3. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

          4. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

7. การออกข้อบัญญัติท้องถิ่น

          กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล เมืองพัทยา มีอำนาจออกข้อบัญญัติเกี่ยวกับสุสาน และฌาปนสถาน[1] เกี่ยวกับ

          1. ค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

          2. เขตหรือสถานที่ที่ห้ามมิให้จัดตั้งสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชน

          3. ลักษณะ สถานที่ตั้ง และเงื่อนไขในการจัดตั้งสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชน

          4. วิธีเก็บ ฝัง เผา ขุด หรือย้ายศพ ตลอดจนการใช้หรือการรักษายานพาหนะและเครื่องใช้ในการนี้ให้ต้องด้วยสุขลักษณะ

          5. หน้าที่ที่ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียน การส่งรายงานและการอื่นใดเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนการสาธารณสุขและอนามัยของประชาชน

8. ใบอนุญาต

          ใบอนุญาตให้ใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ 3 นับแต่ปีที่ออกใบอนุญาต ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาต จะต้องยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ

          กรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ออกใบอนุญาตให้จัดตั้งหรือดำเนินการเกี่ยวกับสุสานและ
ฌาปนสถาน หรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้ผู้ขอรับใบอนุญาต ผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

          ใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย ชำรุดในสาระสำคัญ ให้ขอรับใบแทนภายใน 15 วัน

9. การเลิกและการถูกสั่งพักใบอนุญาต

          ผู้รับใบอนุญาตจะเลิกสุสาน ฌาปนสถานสาธารณะ/เอกชน ให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน

          ผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือข้อบัญญัติ ให้พนักงานท้องถิ่นสั่งพักใบอนุญาตไม่เกิน 90 วัน

10. อัตราโทษ

          1. ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานสาธารณสุขพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

          2. ผู้ได้รับใบอนุญาตไม่แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบการเลิกสุสานและ
ฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

          3. ผู้ใดฝ่าฝืนไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงสุสานและฌาปนสถานตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

11. อัตราค่าธรรมเนียม

          1. ใบอนุญาตจัดตั้งสุสานและฌาปนสถานสาธารณะ หรือสุสานและฌาปนสถานเอกชน ฉบับละ 1,000 บาท

          2. ใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชน ฉบับละ 500 บาท

          3. ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ  50 บาท

          4. การต่ออายุใบอนุญาตจัดตั้งหรือใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชนให้เป็นไปตามอัตราใน 1,000 หรือ 500 แล้วแต่กรณี

12. การล้างป่าช้า

          มีผู้ประสงค์จะทำการล้างป่าช้า ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 รวมฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับ 4 พ.ศ. 2545  ข้อ 69 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “หากจะเปลี่ยนแปลงการจัดการศพผิดไปจากที่แจ้งไว้เดิมถ้าศพนั้นอยู่ในท้องที่ใด ให้แจ้งขออนุญาตต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่นั้นโดยให้เรียกมรณบัตรหรือใบรับแจ้งการตายจากผู้แจ้งแล้วบันทึกการอนุญาตได้” และเมื่อจะทำการเผาก็ให้ปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติสุสาน และฌาปนสถาน พ.ศ. 2528

กฎกระทรวง พ.ศ. 2543[2]

1. เนื้อที่ในการตั้งสุสานและฌาปนสถาน

          สถานที่ตั้งสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชนต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 1 ไร่

2. การออกใบอนุญาตจัดตั้งสำหรับเก็บหรือฝังศพเป็นการถาวร

          การออกใบอนุญาตจัดตั้งสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชนสำหรับเก็บหรือฝังศพเป็นการถาวร ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

          1. สถานที่ตั้งต้องไม่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร

          2. สถานที่ตั้งต้องไม่อยู่ในเขตพื้นที่อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยว หรือเขตพื้นที่อันจัดสรรเป็นพื้นที่เพื่อนันทนาการหรือเขตอนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

          3. สถานที่ต้องไม่อยู่ในบริเวณที่เป็นเอกลักษณ์หรือสัญลักษณ์ของท้องถิ่นหรือมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี

          4. สถานที่ตั้งต้องอยู่ห่างจากทางหลวงที่เป็นทางหรือถนนสำหรับประชาชนใช้ในการจราจรสาธารณะอย่างน้อย 50 เมตร ห่างจากทางน้ำซึ่งประชาชนใช้ในการจราจรสาธารณะ ห้วย แม่น้ำ คลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์อื่นอย่างน้อย 400 เมตร เว้นแต่ในกรณีที่มีการป้องกันมิให้กลิ่นและสิ่งปฏิกูลรั่วไหล สถานที่ตั้งนั้นจะต้องอยู่ห่างจากทางน้ำไม่น้อยกว่า 100 เมตร

          5. สถานที่ตั้งต้องของสุสานและฌาปนสถานเอกชนต้องไม่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครเมืองพัทยาหรือเทศบาล

3. การออกใบอนุญาตจัดตั้งเผาศพโดยเฉพาะ

          การออกใบอนุญาตจัดตั้งสุสานและฌาปนสถานสาธารณะหรือสุสานและฌาปนสถานเอกชนสำหรับการเผาศพโดยเฉพาะ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้

          1. สถานที่ตั้งต้องไม่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร

          2. สถานที่ตั้งต้องไม่อยู่ในเขตพื้นที่อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยว หรือเขตพื้นที่อันจัดสรรเป็นพื้นที่เพื่อนันทนาการหรือเขตอนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

          3. สถานที่ต้องไม่อยู่ในบริเวณที่เป็นเอกลักษณ์หรือสัญลักษณ์ของท้องถิ่นหรือมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี

4. แบบพิมพ์ มี 7 แบบดังนี้

          สฌ 1 คำขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสุสาน และฌปนสถาน

          สฌ 2 ใบอนุญาตจัดตั้งสุสานฯ (สำหรับบุคคล)

          สฌ 2/1 ใบอนุญาตจัดตั้งสุสานฯ (สำหรับนิติบุคคล)

          สฌ 3 คำขอรับใบอนุญาตดำเนินการสุสานและฌาปนสถาน

          สฌ 4 ใบอนุญาตดำเนินการสุสานและฌาปนสถาน

          สฌ 5 คำขอต่ออายุใบอนุญาตจัดตั้งสุสานและฌาปนสถาน

          สฌ 6 คำขอต่ออายุ ใบอนุญาตดำเนินการสุสานและฌาปนสถาน


[1] ข้อสังเกตคือไม่มีองค์การบริหารส่วนตำบล ถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 จะมี อบต. อยู่ทั่วประเทศแล้วก็ตาม

[2] ออกตามความในพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ. 2528