งานทะเบียนราษฎร

พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534

           งานทะเบียนราษฎรแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ทะเบียนคน คือ ทะเบียนที่แสดงรายการคนแต่ละคน ตั้งแต่การแจ้งเกิด การแจ้งย้าย จนถึงตาย ทะเบียนบ้าน คือ ทะเบียนประจำบ้านแต่ละบ้านที่แสดงรายการของคนที่อยู่ในบ้านทั้งหมด ตั้งแต่การสร้างบ้านหรือขอเลขบ้าน จนถึงการสิ้นสภาพของบ้านไป จำกัดความสั้นๆ แบบนี้คงทำให้ท่านว่าที่ปลัดเข้าใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นที่เราจะอ่านต่อไปนี้ก็มีอยู่เพียง 2 ส่วนเท่านั้น และส่วนที่เพิ่มเข้ามาไว้อีกส่วนหนึ่งคือ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 เพราะต้องอ่านควบคู่กัน อย่างท่านอาจจะได้บรรจุเป็นปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนและบัตร การที่ท่านจะเพิ่มชื่อคนในบ้านลงในข้อมูลการทะเบียนราษฎรนั้น ก็ต้องดูใช่ไหมว่าเขาเป็นคนไทย หรือคนต่างด้าว จึงได้รวมเข้าด้วยกันเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ

ความหมายและคำนิยาม

          “การทะเบียนราษฎร” หมายถึง งานทะเบียนต่างๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร

          “ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร” หมายถึง ข้อมูลตัวบุคคลเกี่ยวกับ ชื่อ ชื่อสกุล เพศ วันเดือนปีเกิดและตาย สัญชาติ ศาสนา ภูมิลำเนา สถานการณ์สมรส วุฒิการศึกษา ชื่อบิดามารดา หรือผู้รับบุตรบุญธรรม ชื่อคู่สมรส ชื่อบุตร

          “เลขประจำตัว” หมายความว่า เลขประจำตัวประชาชนที่นายทะเบียนออกให้แก่บุคคลแต่ละคน

          “บ้าน” หมายความว่า โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีเจ้าบ้านครอบครอง และให้หมายความรวมถึงแพ หรือเรือซึ่งจอดเป็นประจำและใช้เป็นที่อยู่ประจำ หรือสถานที่ หรือยานพาหนะอื่นซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยประจำได้ด้วย[1]

          “ทะเบียนบ้าน” หมายความว่า ทะเบียนประจำบ้านแต่ละบ้านซึ่งแสดงเลขประจำบ้าน และรายการของคนทั้งหมดผู้อยู่ในบ้าน

          “นายทะเบียน” หมายถึง นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนกลาง นายทะเบียนประจำสำนักงานกรุงเทพมหานคร นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนจังหวัด นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนท้องถิ่น นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนสาขา นายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนเฉพาะกิจ นายทะเบียนผู้รับแจ้ง

          “ทะเบียนบ้านกลาง” หมายความว่า ทะเบียนซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้จัดทำขึ้นสำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน

          “เจ้าบ้าน” หมายความว่า ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือในฐานะอื่นใดก็ตามในกรณีที่ไม่ปรากฏเจ้าบ้าน หรือเจ้าบ้านไม่อยู่ ตาย สูญหาย สาบสูญหรือไม่สามารถปฏิบัติกิจการได้ให้ถือว่าผู้มีหน้าที่ดูแลบ้านในขณะนั้นเป็นเจ้าบ้าน

          “ผู้อยู่ในบ้าน” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

          “นายทะเบียนผู้รับแจ้ง” หมายถึง นายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น ผู้ซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด[2]

          “ผู้รักษาการ” คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

1. สำนักทะเบียนและนายทะเบียน

1.1 สำนักทะเบียน       

          1. สำนักทะเบียนกลาง มีผู้อำนวยการทะเบียนกลาง รองผู้อำนวยการทะเบียนกลาง ผู้ช่วยผู้อำนวยการทะเบียนกลาง เป็นนายทะเบียน

          2. สำนักทะเบียน กทม. มีนายทะเบียน กทม. ผู้ช่วยนายทะเบียน กทม. เป็นนายทะเบียน

          3. สำนักทะเบียนจังหวัด มีนายทะเบียนจังหวัด ผู้ช่วยนายทะเบียนจังหวัด เป็นนายทะเบียน

          4. สำนักทะเบียนอำเภอ มีนายทะเบียนอำเภอ ผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอ เป็น
นายทะเบียน

          5. สำนักทะเบียนท้องถิ่น นายทะเบียนท้องถิ่น ผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่น เป็นนายทะเบียน

1.2 นายทะเบียน

          1. อธิบดีกรมการปกครอง เป็น ผู้อำนวยการทะเบียนกลาง

          2. ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร

          3. ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นนายทะเบียนจังหวัด

          4. นายอำเภอ หรือ ปลัดอำเภอ หน.กิ่ง เป็นนายทะเบียนอำเภอ

          5. ปลัดเทศบาล ผู้อำนวยการเขต ปลัดเมืองพัทยา หัวหน้าผู้บริหารของหน่วยการปกครองทิ้งถิ่น เป็นนายทะเบียนท้องถิ่น[3]

1.3 การปฏิบัติราชการแทน

          1. นายทะเบียนกลาง จะมอบอำนาจให้ รองผู้อำนวยการทะเบียนกลาง ผู้ช่วยผู้อำนวยการทะเบียนกลาง ข้าราชการกรมการปกครอง ปฏิบัติราชการแทนก็ได้

          2. นายทะเบียนกรุงเทพ จะมอบอำนาจให้ ผู้ช่วยนายทะเบียน กมท. หรือหัวหน้าส่วนไม่ต่ำกว่าระดับกองของสำนักงานปลัด ปฏิบัติราชการแทนก็ได้

          3. นายทะเบียนจังหวัด จะมอบอำนาจให้ ผู้ช่วยนายทะเบียนจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนก็ได้

          4. นายทะเบียนอำเภอ จะมอบอำนาจให้ ผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอ ปลัดอำเภอ ปฏิบัติราชการแทนก็ได้

          5. นายทะเบียนท้องถิ่น จะมอบอำนาจให้ ผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่น รองปลัดเทศบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ รองปลัดเมืองพัทยา รองหรือผู้ช่วยหน่วยการปกครองท้องถิ่น ปฏิบัติราชการแทนก็ได้

2. การจัดตั้งสำนักทะเบียน

          การจัดตั้งสำนักทะเบียนอำเภอ หรือ สำนักทะเบียนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามผู้อำนวยการทะเบียนกลางประกาศ และสำนักทะเบียนอำเภอ หรือ สำนักทะเบียนท้องถิ่น ผู้อำนวยการจะยุบหรือรวบรวมเข้าด้วยกันก็ได้

          ตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่องหลักเกณฑ์การจัดตั้ง ยุบหรือควบรวมสำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น วันที่ 18 กันยายน 2552 ได้กำหนดให้การจัดตั้งสำนักทะเบียนอำเภอ และสำนักทะเบียนท้องถิ่น ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2551 ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

2.1 การจัดตั้งสำนักทะเบียนอำเภอ

          1. อำเภอหรือกิ่งอำเภอนั้นต้องมีจำนวนประชากร ตามหลักฐานทะเบียนบ้านและทะเบียนประวัติรวมกันไม่น้อยกว่า 15,000 คน โดยสำนักทะเบียนอำเภอเดิมที่อำเภอหรือกิ่งอำเภอนั้นเคยอยู่ในเขตพื้นที่ต้องมีราษฎรตามหลักฐานทะเบียนบ้านและทะเบียนประวัติรวมกันไม่น้อยกว่า 15,000 คน หรือ

          2. สำนักทะเบียนท้องถิ่นที่จะจัดตั้งใหม่ ต้องมีระยะทางตามถนนสายหลักอยู่ห่างจากสำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักท้องถิ่น ที่ระบบปฏิบัติงานทะเบียนราษฎรด้วยคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ไม่น้อยกว่า 10 กิโลเมตร

          เมื่อครบหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ใน 1. หรือ 2. แล้ว ให้นายทะเบียนอำเภอของสำนักทะเบียนอำเภอที่ท้องถิ่นนั้น เสนอความเห็นให้นายทะเบียนจังหวัดพิจารณาแล้ว ให้นายทะเบียนจังหวัดเสนอความเห็นให้ ผู้อำนวยการทะเบียนกลางพิจารณา

2.2 การจัดตั้งสำนักทะเบียนท้องถิ่น

          1. ท้องถิ่นที่จัดตั้งสำนักทะเบียนใหม่ต้องมีจำนวนราษฎร ตามหลักฐานทะเบียนบ้านและทะเบียนประวัติรวมกันไม่น้อยกว่า 7,500 คน หรือ

          2. สำนักทะเบียนท้องถิ่นที่จะจัดตั้งใหม่ ต้องมีระยะทางตามถนนสายหลักอยู่ห่างจากสำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักท้องถิ่น ที่ระบบปฏิบัติงานทะเบียนราษฎรด้วยคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ไม่น้อยกว่า 10 กิโลเมตร

          3. ท้องถิ่นที่จัดตั้งสำนักทะเบียนขึ้นใหม่ ต้องมีรายได้จริงไม่รวมเงินอุดหนุน ตั้งแต่ 15 ล้านบาทขึ้นไป

          4. มีอาคารสำนักงานที่มีพื้นที่ภายในอาคารเพียงพอ และเหมาะสมสำหรับการปฏิบัติงานให้บริการประชาชน และมีความมั่นคงแข็งแรง โดยมีหนังสือรับรองจากวิศวกรหรือนายช่างโยธา

          5. มีเจ้าหน้าที่หรือพนักงานประจำที่ดำรงตำแหน่งระดับ 3 หรือตำแหน่งที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น ซึ่งเทียบเท่าที่พร้อมจะแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่น

          6. เจ้าหน้าที่หรือพนักงาน ตาม 5. จะต้องผ่านการอบรมและการฝึกปฏิบัติงานด้านการทะเบียนราษฎร์ ตามหลักสูตรที่กรมการปกครองกำหนด

          7. ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น

          8. ต้องผ่านความเห็นชอบของราษฎร ที่มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านในเขตพื้นที่ท้องถิ่นนั้น ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 โดยอนุโลม โดยต้องได้เสียงไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ของราษฎร ที่มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านในเขตพื้นที่

          เมื่อครบหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ใน 1. หรือ 2. และ 3. ถึง 8. แล้ว ให้นายทะเบียนอำเภอของสำนักทะเบียนอำเภอที่ท้องถิ่นนั้น เสนอความเห็นให้นายทะเบียนจังหวัดพิจารณาแล้ว ให้นายทะเบียนจังหวัดเสนอความเห็นให้ ผู้อำนวยการทะเบียนกลางพิจารณา

2.3 สำนักทะเบียนสาขา และเฉพาะกิจ

          สำนักทะเบียนสาขา หรือ สำนักทะเบียนเฉพาะกิจ ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางมีอำนาจจัดตั้ง

3. การจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร

          การจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร ไม่รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลของบุคคลดังต่อไปนี้

                    1. รายได้

                    2. ประวัติอาชญากรรม

                    3. การชำระหรือไม่ชำระภาษีอากร

                    4. ข้อมูลที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

                    5. ข้อมูลที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ให้แจ้ง

3.1 การขอแก้ไข เพิ่มเติมและลบข้อมูลทางทะเบียน

          บุคคลผู้มีหน้าที่แจ้งการต่าง ๆ เจ้าของประวัติซึ่งปรากฏในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร หรือผู้แทนโดยชอบธรรม ในกรณีเจ้าของประวัติเป็นผู้เยาว์ ผู้อนุบาลในกรณีเจ้าของประวัติเป็นคนไร้ความสามารถหรือทายาทเจ้าของประวัติ หรือผู้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าวข้างต้น อาจขอให้นายทะเบียนดำเนินการ 1. คัดและรับรองเอกสารข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร 2. แก้ไขเพิ่มเติม ลบ หรือทำให้ทันสมัยซึ่งข้อมูลใด ๆ ในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรเพื่อให้เกิดความถูกต้องตามความเป็นจริง

          เมื่อได้รับคำขอแล้วให้นายทะเบียนมีคำสั่งโดยเร็ว คำสั่งของนายทะเบียนที่ไม่รับคำขอหรือไม่ดำเนินการตามคำขอทั้งหมดหรือบางส่วน ให้คู่กรณียื่นอุทธรณ์ต่อนายทะเบียนจังหวัด
นายทะเบียนกรุงเทพมหานคร หรือผู้อำนวยการทะเบียนกลาง แล้วแต่กรณี ภายใน 15 วันนับแต่วันรับทราบคำสั่งจากนายทะเบียน

3.2 การเชื่อมโยงข้อมูลทางทะเบียน

          หากส่วนราชการประสงค์จะเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนประวัติ ผู้อำนวยการทะเบียนกลาง อาจอนุญาตให้เชื่อมโยงได้เฉพาะ ทะเบียนบ้าน ทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย ทะเบียนประวัติสำหรับคนไม่มีสัญชาติไทย เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง คณะรัฐมนตรี จะอนุมัติให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางยินยอม ให้ส่วนราชการเชื่อมโยงข้อมูลได้

3.3 เลขบัตรประจำตัวประชาชน

          ในการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดเลขประจำตัวแก่บุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักรคนละหนึ่งเลขโดยไม่ซ้ำกัน ตามข้อ 152 แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ได้กำหนดเลขประจำตัวบุคคล หรืออาจเรียกว่าเลขบัตรประจำตัวประชาชนไว้ 13 หลัก แบ่งออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้

dopa.go.th

ส่วนที่ 1 มี 1 หลัก หมายถึง ประเภทบุคคลซึ่งมี 8 ประเภท

ประเภทที่ 1 ได้แก่ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย ได้แจ้งการเกิดภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด

ประเภทที่ 2 ได้แก่ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย ได้แจ้งการเกิดเกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด

ประเภทที่ 3 ได้แก่ คนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวซึ่งมีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้านก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม 2527

ประเภทที่ 4 ได้แก่ คนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและได้มีการย้ายเข้าในทะเบียนบ้านขณะยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชน (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2527)

ประเภทที่ 5 ได้แก่ คนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวที่ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าในทะเบียนบ้าน

ประเภทที่ 6 ได้แก่ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายในลักษณะชั่วคราว และคน
ต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเภทที่ 7 ได้แก่ บุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ซึ่งเกิดในประเทศไทย

ประเภทที่ 8 ได้แก่ บุคคลต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยหรือบุคคลที่ได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมาย

ส่วนที่ 2 มี 4 หลัก หมายถึง สำนักทะเบียนที่ออกเลขประจำตัวให้กับประชาชน

ส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 รวมกันมี 7 หลัก หมายถึง ลำดับที่ของบุคคลในแต่ละประเภทของแต่ละสำนักทะเบียน

ส่วนที่ 5 มี 1 หลัก หมายถึงเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลขประจำตัวประชาชนทั้งหมด

3.4 เลขประจำตัวคนต่างด้าว[4]

          เลขประจำตัวคนต่างด้าว กำหนดแบบพิมพ์ทะเบียนประวัติเป็นแบบ ท.ร. 38 และกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเป็นบุคคลประเภท 00 กล่าวคือเลขสองหลักแรกเป็นเลขศูนย์สองตัว  บุคคลกลุ่มนี้ยังไม่มีนโยบายที่จะให้สถานะตามกฎหมายและมีแนวโน้มจะส่งกลับประเทศต้นทางโดยการพิสูจน์สัญชาติซึ่งได้ดำเนินการแล้วในกลุ่มแรงงานสัญชาติลาวและกัมพูชา จึงไม่รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร. 13 โดยเลขประจำตัวของคนต่างด้าว ประกอบด้วยเลข 13 หลัก แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้

centralunity.co.th

ส่วนที่ 1  ประกอบด้วยเลข 2 หลัก เป็นเลขศูนย์สองตัว (00)

ส่วนที่ 2  ประกอบด้วยเลข 4 หลัก หมายถึงเลขรหัสสำนักทะเบียน

ส่วนที่ 3  ประกอบด้วยเลข 6 หลัก หมายถึงลำดับที่ของบุคคลในแต่ละสำนักทะเบียน

ส่วนที่ 4  ประกอบด้วยเลข 1 หลัก หมายถึงเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลขประจำตัวแต่ละชุดตัวเลข

3.5 เลขบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน[5]

          ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดเลขประจำตัวประชาชนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนประกอบด้วยเลข 13 หลัก แบ่งออกเป็น 4 ส่วนได้แก่

maesainewsonline.com

ส่วนที่ 1 ประกอบด้วยเลข 1 หลักเป็นเลขศูนย์

ส่วนที่ 2 ประกอบด้วยเลข 4 หลัก หมายถึงเลขรหัสสำนักทะเบียนที่สำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

ส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 รวมกันประกอบด้วยเลข 7 หลัก หมายถึงลำดับที่ของบุคคลในแต่ละสำนักทะเบียน โดยสองหลักแรกของส่วนที่ 3 กำหนดเป็นเลข 89

ส่วนที่ 5 ประกอบด้วยเลข 1 หลัก หมายถึงเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลขแต่ละชุดตัวเลข

4. คนเกิด

          เมื่อมีคนเกิดให้แจ้งการเกิดตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

          1. คนเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้าน บิดา มารดา แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 15 วัน

          2. คนเกิดนอกบ้าน ให้บิดา มารดา แจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 15 วัน กรณีไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนด ให้แจ้งภายหลังได้ แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน

          ผู้ใดพบเด็กแรกเกิด หรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้งให้นำตัวไปส่ง พนักงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

          เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการี หรือ บุพการีทอดทิ้งให้อยู่ในอุปการะหน่วยงานของรัฐ ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ หรือ ผู้รับได้รับมอบ เป็นผู้แจ้งเกิด

          ถ้าคณะรัฐมนตรี มีมติให้สัญชาติไทยแก่บุคคลใด หรือให้แปลงสัญชาติไทยได้ บุคคลดังกล่าวจำเป็นต้องมีหนังสือรับรองการเกิด

การแจ้งเกิดต่อนายทะเบียนท้องที่อื่น[6]

          ผู้แจ้งเกิดยังไม่ได้แจ้งเพราะมีภูมิลำเนาต่างท้องที่ จะแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ณ สำนักงานทะเบียนอำเภอ หรือ สำนักทะเบียนท้องถิ่นที่บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง มีชื่อในทะเบียนบ้านก็ได้ และการแจ้งนั้นต้องมีหนังสือรับรองการเกิดของคนที่จะแจ้ง ออกโดยโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล และพยานบุคคลไม่น้อยกว่า 2 คน ยืนยันความเป็นบิดามารดา

5. คนตาย

          เมื่อมีคนตายให้แจ้งการตายตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

          1. คนตายในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ภายใน 24 ชั่วโมง กรณีที่ไม่มีเจ้าบ้านให้ผู้พบศพแจ้งตายภายใน 24 ชั่วโมง

          2. คนตายนอกบ้าน ให้บุคคลที่ไปกับผู้ตาย หรือผู้พบศพ แจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 24 ชั่วโมง

          ถ้าในท้องที่ใดการคมนาคมไม่สะดวก ผู้อำนวยการทะเบียนกลาง อาจขยายเวลาออกไปได้ แต่ต้องไม่เกิน 7 วัน

          ห้ามมิให้ผู้ใดเก็บ ฝัง เผา ทำลาย หรือย้ายศพ ไปจากสถานที่หรือบ้านที่มีการตาย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนผู้รับแจ้ง และถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าคนตายด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือการตายโดยผิดธรรมชาติ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้ง รับแจ้งต่อ เจ้าพนักงานตามกฎหมาย พนักงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ[7]

          กงสุลไทย หรือ ข้าราชการสถานทูตไทย หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียนมีหน้าที่รับจดทะเบียนคนเกิดและคนตาย และถ้ามีการเกิดการตาย ไม่มีกงสุลไทย หรือสถานทูตไทย ให้ใช้หลักฐานการเกิดหรือการตายที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศนั้น

การแจ้งตายต่อนายทะเบียนท้องที่อื่น[8]

          ผู้แจ้งการตาย ยังไม่ได้แจ้งเพราะย้ายศพไปต่างท้องที่ จะแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ณ สำนักทะเบียนอำเภอ หรือ สำนักทะเบียนท้องถิ่น แห่งท้องที่ที่ศพอยู่ หรือท้องที่ที่มีการจัดศพโดยการเผา ฝัง หรือทำลาย การแจ้งต้องมีหนังสือรับรองการตาย ออกโดยโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล และพยานบุคคลไม่น้อยกว่า 2 คน ที่สามารถยืนยันตัวผู้ตายได้

6. การย้ายที่อยู่

          ให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายที่อยู่ต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายในกำหนดเวลาต่อไปนี้

          1. เมื่อผู้อยู่ในบ้านย้ายที่อยู่ออกจากบ้าน ให้แจ้งการย้ายภายใน 15 วัน

          2. เมื่อมีผู้ย้ายที่อยู่เข้าอยู่ในบ้าน ให้แจ้งการย้ายเข้าภายใน 15 วัน

          ผู้ย้ายที่อยู่จะเป็นผู้แจ้งการย้ายออกและย้ายเข้า โดยไปแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ ที่ไปอยู่แห่งใหม่ภายใน 15 วัน

          เมื่อผู้อยู่ในบ้านออกจากบ้านที่ตนมีชื่อในทะเบียนไปอยู่ที่อื่นเกิน 180 วัน และไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ใด ให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายออกต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 30 วัน และให้
นายทะเบียนผู้รับแจ้งเพิ่มชื่อผู้นั้นในทะเบียนกลาง

7. เลขประจำบ้าน

          บ้านใดยังไม่มีเลขประจำบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันสร้างบ้านเสร็จ และให้นายทะเบียนแจ้งกำหนดเลขประจำบ้านแก่บ้านที่อยู่ในเขตสำนักทะเบียนท้องถิ่นภายใน 7 วัน ถ้ามีบ้านอยู่นอกเขตสำนักทะเบียนท้องถิ่น ภายใน 30 วัน

          ถ้ามีบ้านอยู่หลายหลังในบริเวณเดียวกัน ให้กำหนดเลขประจำบ้านเพียงเลขเดียว[9] ตึกแถว ห้องแถว อาคารชุด ถือว่าห้องหรือห้องชุดหนึ่งๆ เป็นบ้าน 1 หลัง

          ผู้ใดรื้อบ้าน โดยไม่ประสงค์จะปลูกบ้านใหม่ ให้แจ้งการรื้อบ้านต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน 15 วัน เพื่อจำหน่ายเลขประจำบ้าน

          การย้ายบ้านซึ่งเคลื่อนย้ายได้ ย้ายแพ เรือ ไปจอด ณ ที่อื่นเกิน 180 วัน ให้แจ้งการย้ายออกและย้ายเข้าต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับแต่วันครบ 180 วัน

8. การสำรวจตรวจสอบทะเบียนราษฎร

          ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางรวบรวมยอดจำนวนราษฎร ทั่วราชอาณาจักร ที่มีอยู่วันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ล่วงมา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนมีนาคมของทุกปี และให้มีการสำรวจตรวจสอบ ทะเบียนราษฎรบางท้องที่ หรือทั่วราชอาณาจักร โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

9. สรุปการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านว่าเป็นอำนาจของนายอำเภอหรือนายทะเบียน

9.1 การเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร. 14

รายการ นายทะเบียน นายอำเภอ
1. กรณีตกสำรวจตรวจสอบทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2499 (ข้อ 93)   /
2. กรณีขอเพิ่มชื่อโดยใช้หลักฐานสูติบัตร ใบแจ้งย้าย ทะเบียนบ้านเดิม (ข้อ 94) /  
3. คนสัญชาติไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศหรือเกิดในต่างประเทศแล้วเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าเป็นคนสัญชาติไทย (ข้อ 95) /  
4. คนสัญชาติไทยที่เกิดในต่างประเทศโดยมีหลักฐานมีความประสงค์จะขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ข้อ 96) /  
5. บุคคลสัญชาติไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยใช้หนังสือเดินทางของต่างประเทศหรือหนังสือสำคัญประจำตัว (Certificate of Identity) ออกให้โดยสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทย และมีหลักฐานเอกสารราชการที่ระบุว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย มีความประสงค์จะขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ข้อ 96/1) /  
6. คนสัญชาติไทยที่เกิดในต่างประเทศโดยมีหลักฐานรับรองการเกิด แต่มีเหตุจำเป็นไม่อาจเดินทางกลับประเทศไทยได้ (ข้อ 96/2) /  
7. กรณีอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ขอเพิ่มชื่อโดยไม่มีหลักฐานมาแสดง (ข้อ 97) /
ต่ำกว่า 7 ปี
/
ตั้งแต่ 7 ปี
8. กรณีเพิ่มชื่อเด็กอนาถาซึ่งอยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของบุคคลหรือหน่วยงานเอกชนที่อยู่นอกประกาศกระทรวงมหาดไทย (ข้อ 98)   /
9. กรณีเพิ่มชื่อบุคคลที่ได้ลงรายการ “ตายหรือจำหน่าย” ในทะเบียนบ้านไว้แล้ว (ข้อ 99)   /
10. กรณีเพิ่มชื่อบุคคลที่ถูกจำหน่ายชื่อเนื่องจากมีชื่อ และรายการในทะเบียนบ้านโดยมิชอบหรือทุจริต หรือเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาล (ข้อ 99/1) /
กรณีเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาล
/
กรณีมีชื่อและรายการโดยมิชอบ
11. มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ข้อ 100)   /
12. คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (ข้อ 101) /  
13. กรณีคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ต่อมาได้รับสัญชาติไทย ขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ข้อ 102) /  
14. กรณีเพิ่มชื่อบุคคลที่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด โดยมีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งหรือบิดาและมารดาเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย หรือได้สัญชาติไทยโดยคำสั่งของรัฐมนตรี หรือคำพิพากษาของศาล (ข้อ 103) /  

9.2 การเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ท.ร. 13

รายการ นายทะเบียน นายอำเภอ
1. คนที่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) ได้เสียสัญชาติไทยหรือสละสัญชาติไทยโดยบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งมิอาจพิจารณาสั่งการเป็นอย่างอื่นหรือโดยคำสั่งของศาลถึงที่สุด หรือถูกเพิกถอนใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (ข้อ 104) /  
2. ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยในราชอาณาจักร (ข้อ 105)   /
3. ผู้ได้รับการยกเว้นตามกฎกระทรวงฯ ขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ข้อ 106) /  

9.3 การจำหน่ายชื่อและรายการบุคคลในบ้าน

รายการ นายทะเบียน นายอำเภอ
1. บุคคลมีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้านเกินกว่า 1 แห่ง (ข้อ 109) /  
2. บุคคลมีชื่อในทะเบียนบ้านโดยมิชอบ (ข้อ 110)   /
3. เมื่อปรากฏแน่ชัดว่าบุคคลในทะเบียนบ้านนั้นได้ตายไปแล้ว แต่ยังไม่ได้จำหน่ายชื่อและรายการบุคคลออกจากทะเบียนบ้าน (ข้อ 111) /  
4. เมื่อมีคำสั่งศาลให้ผู้ใดเป็นคนสาบสูญ (ข้อ 111) /  
5. คนสัญชาติไทยหรือคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคน
ต่างด้าวตายในต่างประเทศและเจ้าบ้านมีความประสงค์จะขอจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน (ข้อ 112)
/  
6. การจำหน่ายชื่อและรายการบุคคลกรณีอื่น ๆ ตามที่สำนักทะเบียนกลางสั่งการเฉพาะราย (ข้อ 113) /  

9.4 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการเอกสารทางการทะเบียนราษฎร

รายการ นายทะเบียน นายอำเภอ
1. ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรนำเอกสารราชการมาแสดงไม่ว่าเอกสารดังกล่าวจะจัดทำก่อนหรือหลังการจัดทำทะเบียนราษฎร (ข้อ 115 (1))   /
2. ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรไม่มีเอกสารราชการมาแสดง (ข้อ 115 (2)) /  
3. การแก้ไขรายการสัญชาติของเจ้าของประวัติซึ่งปรากฏรายการในเอกสารการทะเบียนราษฎรจากสัญชาติอื่นหรือไม่มีสัญชาติเป็นสัญชาติไทย เนื่องจากการได้สัญชาติไทย หรือการคัดลอกรายการผิดพลาด หรือการลงรายการผิดไปจากข้อเท็จจริง (ข้อ 115/1 (1))   /
4. การแก้ไขรายการสัญชาติในช่องรายการสัญชาติของบิดาหรือมารดาของเจ้าของประวัติในเอกสารการทะเบียนราษฎรจากสัญชาติอื่นหรือไม่มีสัญชาติเป็นสัญชาติไทย เนื่องจากการคัดลอกรายการผิดพลาด หรือบิดามารดาได้รับสัญชาติไทยหรือได้แปลงสัญชาติเป็นไทย (ข้อ 115/1 (2)) /  
5. การแก้ไขรายการสัญชาติจากสัญชาติไทย หรือจากไม่มีสัญชาติ หรือจากสัญชาติอื่นเป็นสัญชาติอื่น เนื่องจากการคัดลอกรายการผิดพลาด หรือการลงรายการผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือการเสียสัญชาติไทย (ข้อ 115/1 (3)) /  
6. กรณีได้รับแจ้งจากสำนักทะเบียนกลางหรือหน่วยงานของรัฐว่าผู้มีสัญชาติไทยผู้ใดเสียสัญชาติไทยตามกฎหมายที่เกี่ยวด้วยสัญชาติ (ข้อ 115/1 วรรค 2) /  

10. บทกำหนดโทษ[10]

          ความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้นายอำเภอ[11] หรือ นายทะเบียนท้องถิ่น มีอำนาจเปรียบเทียบได้

          1. ผู้ใดไม่มาตามที่นายทะเบียนเรียก ไม่ยอมแจ้งชื่อ ไม่ยอมแจ้งข้อเท็จจริง ไม่แสดงหลักฐาน ไม่ยอมให้นายทะเบียนเข้าไปสอบถาม ไม่ยอมให้เข้าไปในบ้านเพื่อสำรวจ ไม่ยอมชี้แจงหรือตอบคำถามไม่ยอมลงลายมือชื่อ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

          2. ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ต้องระวางโทษไม่เกิน 5,000 บาท

          3. ผู้ใดฝ่าฝืน ม. 15 วรรค 4 (นำข้อมูลไปใช้ในธุรกิจ) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,00 บาท ถึง 100,000 บาท

          4. ผู้ใดฝ่าฝืน ม.17 (เปิดเผยข้อมูลทะเบียนประวัติ) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท

          5. ผู้ใด ทำ ใช้ หรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อในทะเบียนบ้าน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 100,000 บาท

          6. กรณีผู้กระทำผิดไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท

11. อัตราค่าธรรมเนียม

1. การออกบัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย (ตามมาตรา 5 คือ ครั้งแรก หมดอายุ สูญหาย
ถูกทำลาย หรือชำรุด)  
100 บาท
2. การขอคัดสำเนา (ตาม ม.6) 100 บาท
3. การขอคัดสำเนา ตาม ม. 14 (1)         100 บาท
4. แจ้งเกิด ม.18 แจ้งตาย ม.21 วรรคสี่ แจ้งย้าย ม.30 วรรคสอง 100 บาท
5. ขอรับสำเนาทะเบียนบ้าน ม.39 วรรคสอง 100 บาท

12. กฎกระทรวงที่สำคัญ

12.1 กฎกระทรวงให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2551

          คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่มีชื่อและรายการบุคคลในเอกสารทะเบียนราษฎร และมีอายุตั้งแต่ 5 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี[12] ให้ยื่นคำขอมีบัตรต่อนายทะเบียนภายในกำหนด 60 วัน นับแต่

          1. วันที่ครบ 5 ปีบริบูรณ์

          2. วันที่นายทะเบียนเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน

          3. วันที่บัตรเดิมหมดอายุ

          4. วันที่บัตรสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด

          5. วันที่แก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล

          บัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทยมีอายุ 10 ปี[13] นับแต่วันออกบัตร สำหรับบัตรที่ยังไม่หมดอายุในวันที่ผู้ถือบัตรครบ 70 ปี ให้ใช้ได้ตลอดชีวิต ถ้าผู้ถือบัตรพ้นจากสถานการณ์เป็นคนไม่มีสัญชาติ ให้บัตรนั้นพ้นจากสถานะดังกล่าว และส่งมอบคืนนายทะเบียนภายใน 10 วัน[14] และผู้อำนวยการทะเบียนกลาง โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาจกำหนดให้คนไม่มีสัญชาติไทยกลุ่มอื่นมีบัตรประจำตัวได้

          ค่าธรรมเนียมคนไม่มีสัญชาติไทย[15]                           

1. ออกบัตรประจำตัวตาม (ม.5)  
– ทำบัตรครั้งแรกสำหรับผู้มีอายุ 15 ปี 60 บาท
– บัตรเดิมสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด    60 บาท
– เปลี่ยนบัตร     60 บาท
2. ขอคัดสำเนา ตาม ม.6 20 บาท
3. ขอคัดสำเนาตาม ม.14 (1)      20 บาท
4. แจ้งเกิด แจ้งย้าย  
– แจ้งเกิด ม.18 วรรคสาม แจ้งตาย ม.21 วรรคสี่   20 บาท
– แจ้งย้าย ม.30 วรรคสอง ย้ายต่างท้องที่ ม. 30 วรรคสี่ 20 บาท
5. ขอรับสำเนาทะเบียนบ้าน       20 บาท

          ข้อยกเว้นค่าธรรมเนียมของคนไม่มีสัญชาติไทย

          1. ทำบัตรครั้งแรกเมื่ออายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์

          2. ออกบัตรเพราะสูญหาย ถูกทำลาย ชำรุด ในท้องที่ประสบภัยพิบัติ

          3. ขอคัดสำเนาเพื่อใช้ในการศึกษาทั่วไป การขอรับการสงเคราะห์ และปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ

หมายเหตุ: ค่าธรรมเนียมเวลาปฏิบัติจริงจะเก็บตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
ถ้าออกข้อสอบให้ดูว่าถามตามพระราชบัญญัติ หรือกฎกระทรวง

12.2 กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับ การโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริง การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน พ.ศ. 2551

          เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าการดำเนินการแจ้ง รับแจ้ง บันทึก เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้นายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่น สั่งระงับการเคลื่อนไหวรายการทะเบียนราษฎรไว้ก่อน และแจ้งคำสั่งให้คู่กรณีทราบภายใน 3 วัน เพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงภายใน 3 วัน โดยคำสั่งอย่างน้อยต้องประกอบไปด้วย    

          1. ข้อเท็จจริงหรือเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่ามีการกระทำโดยมิชอบ

          2. ข้อกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

          3. ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ

          4. สิทธิในการแต่งตั้งบุคคลอื่นให้ดำเนินการแทน

          5. สิทธิในการขอดูเอกสาร

          กรณีนายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่น ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วปรากฏพยานหลักฐานชัดว่ามีการกระทำความผิดกฎหมาย ให้นายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น แจ้งคำสั่งให้คู่กรณีทราบ เป็นหนังสือภายใน 7 วัน ถ้าคู่กรณีอุทธรณ์คำสั่ง ให้นายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่น พิจารณาคำอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ โดยแบ่งเป็น 2 กรณีดังนี้

          1. กรณีที่เห็นด้วย ให้ดำเนินการแก้ไข เปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนประวัติ

          2. กรณีที่ไม่เห็นด้วย

                    2.1 ให้รายงานความเห็นไปยังนายทะเบียนจังหวัด หรือ นายทะเบียน กทม. ภายใน 30 วัน

                    2.2 ให้นายทะเบียนจังหวัด หรือ นายทะเบียน กทม. พิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ในกรณีที่ไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ให้ขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปไม่เกิน 30 วัน

                    2.3 กรณีนายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่น เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ให้แจ้งนายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่นภายใน 3 วัน และในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้แจ้ง นายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่น เพื่อแจ้งคำวินิจฉัยให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายใน 3 วัน

12.3 กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานการณ์เกิด สัญชาติของเด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน เด็กที่ไม่ปรากฏบุพการี หรือบุพการีทอดทิ้ง พ.ศ. 2551

          เด็กเร่ร่อน หมายถึง เด็กเร่ร่อนตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก

          เด็กไร้เดียงสา หมายถึง เด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีบริบูรณ์ หรือเด็กที่ปราศจากความรู้ผิดชอบของเด็กเทียบเท่ากับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี

          เมื่อนายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่น ได้รับการแจ้งเกิดของเด็ก ให้ตรวจสอบหลักฐาน ดังนี้

          1. พยานหลักฐาน ได้แก่

                    ก. บันทึกการรับตัวเด็ก ทำขึ้นโดยพนักงานปกครอง ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                    ข. หลักฐานการรับตัวเด็ก

                    ค. รูปถ่ายของเด็กขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป

          2. พยานบุคคล ได้แก่

                    ก. ผู้แจ้งการเกิด

                    ข. เด็กที่ขอแจ้งการเกิด กรณีที่เด็กมีอายุตั้งแต่ 7 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป

          ให้นายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่น ตรวจสอบความถูกต้องของพยานเอกสาร พร้อมเสนอความเห็นไปยังนายอำเภอภายใน 60 วัน ทั้งนี้ให้นายอำเภอพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้นายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่น ทราบภายใน 30 วัน หากนายอำเภอมีความเห็นว่าไม่สามารถยืนยันสถานการณ์เกิดและสัญชาติของเด็กได้ ให้แจ้ง
นายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่น พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้แจ้งการเกิดทราบเป็นหนังสือภายใน 7 วัน และแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์ ทั้งนี้ให้นายอำเภอพิจารณาคำอุทธรณ์โดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน โดยความเห็นของนายอำเภอเป็นดังนี้

          1. กรณีนายอำเภอเห็นด้วย กับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้แก้ไขคำสั่งและแจ้งนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นภายใน 3 วัน

          2. กรณีนายอำเภอไม่เห็นด้วย กับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้รายงานไปยัง นายทะเบียนจังหวัด หรือ นายทะเบียน กทม. ภายใน 3 วัน และให้พิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ถ้าในกรณีที่การพิจารณาอุทธรณ์ไม่แล้วเสร็จ ให้ขยายเวลาออกไปได้ไม่เกิน 30 วัน

          เมื่อนายทะเบียนจังหวัด หรือ นายทะเบียน กทม. เห็นว่าสามารถยืนยันสถานการณ์เกิดได้ ให้แจ้งนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น ภายใน 3 วัน เพื่อให้นายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นแก้ไขเปลี่ยนแปลง

          หากนายทะเบียนจังหวัด หรือ นายทะเบียน กทม. เห็นด้วยกับคำสั่งของนายอำเภอที่เห็นว่าไม่สามารถยืนยันได้ และนายทะเบียนจังหวัด หรือนายทะเบียน กทม. ก็เห็นว่าไม่สามารถยืนยันได้ ให้แจ้งนายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่น เพื่อแจ้งคำวินิจฉัยเป็นหนังสือให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายใน 3 วัน


[1] ความหมายของคำว่าบ้านตาม กฎหมายทะเบียนราษฎรและกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่

กฎหมายทะเบียนราษฎร

“บ้าน” หมายความว่า โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีเจ้าบ้านครอบครอง และให้หมายความรวมถึงแพ หรือเรือซึ่งจอดเป็นประจำและใช้เป็นที่อยู่ประจำ หรือสถานที่ หรือยานพาหนะอื่นซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยประจำได้ด้วย

กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่

“บ้าน” หมายความว่า เรือนหลังเดียวก็ตาม หลายหลังก็ตาม ซึ่งอยู่ในเขตที่มีเจ้าของเป็นอิสระส่วนหนึ่งนับในพระราชบัญญัตินี้ว่า บ้านหนึ่ง ห้องแถว และแพ หรือเรือชำซึ่งจอดประจำอยู่ที่ใด ถ้ามีเจ้าของหรือผู้เช่าครอบครองเป็นอิสระต่างหากห้องหนึ่ง หลังหนึ่ง ลำหนึ่ง หรือหมู่หนึ่ง ในเจ้าของหรือผู้เช่าคนหนึ่ง นั้น ก็นับว่าบ้านหนึ่ง เหมือนกัน

[2]  นายทะเบียนผู้รับแจ้ง

1. กำนันทุกตำบล ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน (ตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง ลงวันที่ 23 มีนาคม 2535)

2. ผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอ ผู้ช่วยงานทะเบียนท้องถิ่น พนักงานเทศบาลระดับ 1 – 2 ที่มีคำสั่งมอบหมายให้ปฏิบัติงานทะเบียนราษฎร (ตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2544)

3. เจ้าหน้าที่ปกครองและเจ้าพนักงานทะเบียนตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป (ตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง ลงวันที่ 27 มกราคม 2547)

[3] สูตรจำ คือ 3 ปลัดกับ 1 ผอ.

[4] ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พ.ศ. 2547 

[5] ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. 2548

[6] กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการเกิด ตาย ต่อนายทะเบียนท้องที่อื่น พ.ศ. 2551

[7] ไม่มีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

[8] กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการเกิด ตาย ต่อนายทะเบียนท้องที่อื่น พ.ศ. 2551

[9] บ้านซึ่งมีโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอยู่ในขอบเขตเดียวกัน เช่น วัด กองทหาร โรงเรียน เรือนจำ สถานีตำรวจ ให้กำหนดบ้านเลขที่แต่ละแห่งเพียงเลขหมายเดียว แต่ถ้าเจ้าบ้านประสงค์จะกำหนดบ้านเลขที่ขึ้นอีกก็ให้นายทะเบียนกำหนดให้ การเรียงบ้านเลขที่ ให้เริ่มต้นจากจุดสมมุติก่อน เมื่อหันหลังไปทางจุดสมมุติฝั่งขวาของถนน ตรอก ซอย แม่น้ำ ลำคลอง ให้กำหนดบ้านเลขที่เป็นเลขคู่เรียงต่อไปตามลำดับ เช่น 2, 4 6, 8 ฯลฯ ส่วนฝั่งซ้ายมือให้กำหนดบ้านเลขที่เป็นเลขคี่เรียงกันไปตามลำดับ เช่น 1, 3, 5, 7, 9, ฯลฯ

[10] ให้อ่านผ่านพอเข้าใจ

[11] ระวังข้อสอบเพาะไม่ได้ใช้คำว่า นายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องที่

[12] หลักในการจำ ถ้าเป็นคนไทยมีบัตรต้องอายุ 7 – 70 ปี แต่คนไม่มีสัญชาติต้องมีบัตรตอนอายุ 5 – 70 ปี

[13] หลักในการจำ ถ้าเป็นคนไทยบัตร (บัตรประจำตัวประชาชน) จะมีอายุ 8 ปี

[14] หลักในการจำ ถ้าเป็นคนไทยที่เสียสัญชาติต้องคืนบัตรภายใน 30 วัน

[15] หลักในการจำง่ายๆ คือถ้าเป็นข้อ 1. 60 บาท นอกนั้นเป็น 20 บาททั้งหมด