งานทะเบียนสัญชาติ

พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รักษาการ ให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวง กำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นไทย และค่าธรรมเนียมคำขอกลับคืนสัญชาติไทย

นิยาม

          คนต่างด้าว หมายความว่า ผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

          คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ

สัญชาติมีผลเฉพาะตัว

          การได้สัญชาติ การเสียสัญชาติ การกลับคืนสัญชาติ ให้มีผลต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้มีผลเฉพาะตัว

การได้สัญชาติไทยโดยการเกิด[1] บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

          1. ผู้ที่เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทยไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักร

          2. ผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทย (ยกเว้นมาตรา 7 ทวิ)[2]

การไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

          1. ผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะเกิดบิดาไม่ได้สมรสกับมารดา หรือมารดาของผู้นั้นเป็น

                    1. ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย

                    2. ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยชั่วคราว

                    3. เข้ามาในราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

          2. ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้สัญชาติไทย ถ้าขณะเกิดบิดาหรือมารดาเป็น

                    1. หัวหน้า เจ้าหน้าที่ คณะผู้แทนทางทูต

                    2. หัวหน้า เจ้าหน้าที่ คณะผู้แทนทางกงสุล

                    3. พนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญขององค์การระหว่างประเทศ

                    4. ญาติหรือคนใช้ที่มาอยู่กับบุคคลใน 1. 2. และ 3.

ตารางการได้สัญชาติของบุตรที่เกิดในประเทศไทย

ลำดับ สัญชาติมารดา สัญชาติบิดา การสมรส สัญชาติบุตร
1. ไทย ไทย จดทะเบียนสมรส ไทย
2. ไทย ไทย ไม่จดทะเบียนสมรส ไทย
3. ต่างด้าว (มีใบอนุญาต) ไทย จดทะเบียนสมรส ไทย
4. ต่างด้าว (มีใบอนุญาต) ไทย ไม่จดทะเบียนสมรส ไทย
5. ต่างด้าว (ม.7 ทวิ) ไทย จดทะเบียนสมรส ไทย
6. ต่างด้าว (ม.7 ทวิ) ไทย ไม่จดทะเบียนสมรส ไทย
7. ไทย ต่างด้าว (มีใบอนุญาต) จดทะเบียนสมรส ไทย
8. ไทย ต่างด้าว (มีใบอนุญาต) ไม่จดทะเบียนสมรส ไทย
9. ไทย ต่างด้าว (ม.7 ทวิ) จดทะเบียนสมรส ไทย
10. ไทย ต่างด้าว (ม.7 ทวิ) ไม่จดทะเบียนสมรส ไทย
11. ต่างด้าว (มีใบอนุญาต) ต่างด้าว (มีใบอนุญาต) จดทะเบียนสมรส ไทย
12. ต่างด้าว (มีใบอนุญาต) ต่างด้าว (มีใบอนุญาต) ไม่จดทะเบียนสมรส ไทย
13. ต่างด้าว (ม.7 ทวิ) ต่างด้าว (มีใบอนุญาต) ทั้งจดหรือไม่จดฯ ไม่ได้สัญชาติไทย
14. ต่างด้าว (ม.7 ทวิ) ต่างด้าว (ม.7 ทวิ) ทั้งจดหรือไม่จดฯ ไม่ได้สัญชาติไทย
15. ต่างด้าว (มีใบอนุญาต) ต่างด้าว (ม.7 ทวิ) ทั้งจดหรือไม่จดฯ ไม่ได้สัญชาติไทย
16. ต่างด้าว (ม.7 ทวิ) ต่างด้าว (ม.7 ทวิ) ทั้งจดหรือไม่จดฯ ไม่ได้สัญชาติไทย

ตารางการได้สัญชาติของบุตรที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย

ลำดับ สัญชาติมารดา สัญชาติบิดา การสมรส สัญชาติบุตร
1. ไทย ไทย จดทะเบียนสมรส ไทย
2. ไทย ไทย ไม่จดทะเบียนสมรส ไทย
3. ไทย ต่างด้าว จดทะเบียนสมรส ไทย
4. ไทย ต่างด้าว ไม่จดทะเบียนสมรส ไทย
5. ต่างด้าว ไทย จดทะเบียนสมรส ไทย
6. ต่างด้าว ไทย ไม่จดทะเบียนสมรส ไม่ได้สัญชาติไทย

การขอมีสัญชาติไทยตามสามีชาวไทย

          หญิงซึ่งเป็นคนต่างด้าวและได้สมรสกับผู้มีสัญชาติไทย ถ้าประสงค์จะได้สัญชาติไทย ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ได้สัญชาติไทยให้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรี

การขอแปลงสัญชาติเป็นไทย[3]

          คนต่างด้าว ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนดังต่อไปนี้ อาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้

          1. บรรลุนิติภาวะ

          2. มีความประพฤติดี

          3. มีอาชีพเป็นหลักฐาน

          4. มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี

          5. มีความรู้ภาษาไทย

          ในเรื่องการมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี (ตาม 4.)  และมีความรู้ภาษาไทย (ตาม 5.) มิให้นำมาใช้บังคับ ถ้าผู้ขอแปลงสัญชาติเป็นไทยบุคคลนั้น

          1. ได้กระทำความดีความชอบเป็นพิเศษต่อประเทศไทย หรือได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ทางราชการซึ่งรัฐมนตรีเห็นสมควร

          2. เป็นบุตรหรือภริยาของผู้ซึ่งได้แปลงสัญชาติเป็นไทย หรือของผู้ได้กลับคืนสัญชาติไทย

          3. เป็นผู้ได้เคยมีสัญชาติไทยมาก่อน

          การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทย ให้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรี เมื่อรัฐมนตรีเห็นสมควรอนุญาตให้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ให้ผู้ขอแปลงสัญชาติเป็นไทยปฏิญาณตนว่า จะมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อประเทศไทย และผู้แปลงสัญชาติเป็นไทยชอบที่จะขอหนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นไทยได้

การได้สัญชาติไทยของคนไทยพลัดถิ่น[4]

           “คนไทยพลัดถิ่น” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่น โดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต ซึ่งปัจจุบันผู้นั้นมิได้ถือสัญชาติของประเทศอื่น และได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีวิถีชีวิตเป็นคนไทย โดยได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือเป็นผู้ซึ่งมีลักษณะอื่นทำนองเดียวกันตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

          ในการพิจารณาและให้การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นนั้นต้องให้คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นรับรอง ซึ่งคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ประกอบด้วย

          1. ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ

          2. ผู้แทนกระทรวงกลาโหม

          3. ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ

          4. ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม

          5. ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

          6. ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

          7. ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

          8. ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 7 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยต้องมีนักวิจัยหรือนักวิชาการทางด้านกฎหมายสัญชาติหรือสถานะบุคคล ด้านสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา ด้านประวัติศาสตร์หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาชนรวมอยู่ด้วย

          9. อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมการปกครองแต่งตั้งข้าราชการของกรมการปกครองอีก 2 คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

          ผู้ใดอ้างว่า เป็นคนไทยพลัดถิ่น ประสงค์จะได้การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขอแล้ว ให้เสนอคำขอนั้นต่อคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นเพื่อพิจารณาการพิสูจน์และการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น เมื่อคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ให้การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นแก่ผู้ใดแล้ว ให้ผู้นั้นเป็นผู้ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด และบุตรของคนไทยพลัดถิ่น ของผู้ซึ่งได้รับสัญชาติไทยตามที่คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นให้การรับรองนั้น ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด เว้นแต่ผู้นั้นถือสัญชาติของประเทศอื่น

การเสียสัญชาติไทย

          ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยและได้แปลงสัญชาติเป็นคนต่างด้าว หรือสละสัญชาติไทย หรือถูกถอนสัญชาติไทยย่อมเสียสัญชาติไทย

การเสียสัญชาติไทยด้วยการสละสัญชาติ

          หญิงซึ่งมีสัญชาติไทยและได้สมรสกับคนต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของสามีได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของสามี ถ้าประสงค์จะสละสัญชาติไทย ให้แสดงความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น หรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ถ้าประสงค์จะสละสัญชาติไทย ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้สละสัญชาติไทย ให้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรี

การเสียสัญชาติไทยด้วยการถือสัญชาติของบิดามารดาที่เป็นคนต่างด้าว

          ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของบิดาหรือมารดาได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดาหรือมารดา หรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยด้วยการแปลงสัญชาติ ให้แสดงความประสงค์เข้าถือสัญชาติได้แต่เพียงสัญชาติเดียว โดยให้แจ้งความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงภายใน 1 ปีนับแต่วันที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ถ้าไม่มีการแจ้งความจำนงภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นสละสัญชาติไทย เมื่อเจ้าพนักงานได้พิจารณาความจำนงดังกล่าวแล้วเห็นว่ามีหลักฐานเชื่อถือได้ว่าผู้นั้นอาจถือสัญชาติของบิดาหรือสัญชาติอื่นได้จริงก็ให้รัฐมนตรีอนุญาต เว้นแต่ในระหว่างประเทศไทยมีการรบหรืออยู่ในสถานะสงคราม รัฐมนตรีจะสั่งระงับการสละสัญชาติไทยรายใดก็ได้

การเสียสัญชาติไทยด้วยการถอนสัญชาติของหญิงที่ได้สัญชาติเพราะการสมรส

          หญิงซึ่งเป็นคนต่างด้าวและได้สัญชาติไทยโดยการสมรส อาจถูกถอนสัญชาติไทยได้เมื่อปรากฏว่า

          1. การสมรสนั้นได้เป็นไปโดยปกปิดข้อเท็จจริง หรือแสดงข้อความเท็จอันเป็นสาระสำคัญ

          2. กระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือขัดต่อประโยชน์ของรัฐ หรือเป็นการเหยียดหยามประเทศชาติ

          3. กระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

การเสียสัญชาติไทยด้วยการถอนสัญชาติของผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยที่มีบิดาเป็นคนต่างด้าว

          ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าวอาจถูกถอนสัญชาติไทยได้ เมื่อปรากฏว่า

          1. ไปอยู่ในต่างประเทศที่บิดามีหรือเคยมีสัญชาติเป็นเวลาติดต่อกันเกิน 5 ปี นับแต่วันที่บรรลุนิติภาวะ

          2. มีหลักฐานแสดงว่าใช้สัญชาติของบิดาหรือสัญชาติอื่น หรือฝักใฝ่อยู่ในสัญชาติของบิดาหรือสัญชาติอื่น

          3. กระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือขัดต่อประโยชน์ของรัฐ หรือเป็นการเหยียดหยามประเทศชาติ

          4. กระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

          การถอนสัญชาติไทยตาม 1. หรือ 2. ให้รัฐมนตรีเป็นผู้สั่ง ส่วนการถอนสัญชาติไทยตาม 3. หรือ 4. เมื่อพนักงานอัยการร้องขอ ให้ศาลเป็นผู้สั่ง

การเสียสัญชาติไทยด้วยการถอนสัญชาติของผู้ที่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง

          ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เมื่อมีพฤติการณ์อันเป็นการสมควรเพื่อความมั่นคงหรือประโยชน์ของรัฐ รัฐมนตรีมีอำนาจถอนสัญชาติไทยของผู้นั้นได้

การเสียสัญชาติไทยด้วยการถอนสัญชาติโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

          รัฐมนตรีมีอำนาจถอนสัญชาติไทยแก่ผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ เมื่อปรากฏว่า

          1. การแปลงสัญชาตินั้นได้เป็นไปโดยปกปิดข้อเท็จจริงหรือแสดงข้อความเท็จอันเป็นสาระสำคัญ

          2. มีหลักฐานแสดงว่าผู้แปลงสัญชาตินั้นยังใช้สัญชาติเดิม

          3. กระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือขัดต่อประโยชน์ของรัฐ หรือเป็นการเหยียดหยามประเทศชาติ

          4. กระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

          5. ไปอยู่ในต่างประเทศโดยไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยเป็นเวลาเกิน 5 ปี

          6. ยังคงมีสัญชาติของประเทศที่ทำสงครามกับประเทศไทย

          การถอนสัญชาติไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะขยายไปถึงบุตรของผู้ถูกถอนสัญชาติไทยในเมื่อบุตรนั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะและได้สัญชาติไทยด้วยก็ได้ และเมื่อรัฐมนตรีสั่งถอนสัญชาติไทยแล้วให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ

การเสียสัญชาติไทยด้วยการได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

          ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของบิดาได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดา ถ้าได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวแล้ว ให้เสียสัญชาติไทย

การกลับคืนสัญชาติไทย

          ชายหรือหญิงได้สละสัญชาติเพราะการสมรส ถ้าได้ขาดจากการสมรสย่อมมีสิทธิกลับคืนสัญชาติไทยได้ ผู้เสียสัญชาติตามบิดามารดาขณะที่ตนยังไม่บรรลุนิติภาวะ ถ้าประสงค์จะกลับคืนสัญชาติไทยให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายไทยและกฎหมายที่บุคคลนั้นมีสัญชาติ ทั้งนี้การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้กลับคืนสัญชาติไทย ให้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

อัตราค่าธรรมเนียม                     

1. คำขอแปลงสัญชาติ    ครั้งละ 10,000 บาท
2. คำขอแปลงสัญชาติของผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ครั้งละ 5,000 บาท
3. หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติไทย      ฉบับละ 1,000 บาท
4. ใบแทนหรือหนังสือสำคัญแสดงการแปลงสัญชาติไทย ฉบับละ 1,000 บาท
5. คำขอกลับคืนสัญชาติไทย ครั้งละ 2,000 บาท

คณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ

          คณะกรรมการกลั่นกรองเกี่ยวกับสัญชาติ มีอำนาจหน้าที่ในพิจารณาการให้สัญชาติไทย พิจารณาการถอนสัญชาติไทย พิจารณาการกลับคืนสัญชาติไทย  ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 6 คน ที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน โดยให้อธิบดีกรมการปกครองเป็นเลขานุการ และคณะกรรมการประกอบด้วย

          1. ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน

          2. ผู้แทน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

          3. ผู้แทน กระทรวงกลาโหม                           

          4. ผู้แทน สำนักงานอัยการสูงสุด

          5. ผู้แทน กระทรวงการต่างประเทศ                 

          6. ผู้แทน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

          7. ผู้แทน กระทรวงพัฒนาสังคมฯ          

          8. ผู้แทน สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

          9. ผู้แทน กระทรวงยุติธรรม                           

          10. ผู้แทน สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

          11. ผู้แทน กระทรวงแรงงาน                          

          12. ผู้แทน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร


[1] การวินิจฉัยสัญชาติมีหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0322/ว.745 ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2536 เรื่อง แนวทางการวินิจฉัยสัญชาติของบุคคลตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 การตีความของศาลฎีกาและการปฏิบัติของนายทะเบียนตามหนังสือแจ้งเวียนของกระทรวงมหาดไทย ทำให้คนไทยที่มีเชื้อสายไทยจำนวนไม่น้อย ไม่ได้สัญชาติไทย  และหลายคนกลายเป็นคนไร้สัญชาติ จนเป็นเรื่องน่าพิจารณาว่า การที่ไม่ยอมรับสัญชาติไทยของคนสายเลือดไทยจากบิดาที่เป็นคนไทย เป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะในข้อเท็จจริงรวมทั้งสามารถพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ด้วยการตรวจ DNA ก็สามารถระบุได้ว่า เป็นผู้สืบสายโลหิตจากผู้มีสัญชาติไทย พูดแบบชาวบ้านก็คือ มีเลือดไทย แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ยอมรับและผลักไสไปเป็นคนต่างด้าว เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติสัญชาติในเรื่องดังกล่าว และมีหนังสือ ที่ มท 0310.1/ว 2558 ลงวันที่ 12 กันยายน 2544 แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายทะเบียนทุกท้องที่ รับทราบและปฏิบัติตามแนวของศาลฎีกา (ดูตามตาราง)

[2] ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย

[3] สรุปวิธีการได้สัญชาติไทยของบุคคลธรรมดาสามารถได้มา 5 วิธี คือ 1. ตามหลักสืบสายโลหิต  2. ตามหลักดินแดน 3. โดยการสมรส 4. โดยการแปลงสัญชาติ 5. โดยผลของกฎหมาย (รวมถึงคนไทยพลัดถิ่นด้วย)

[4] พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 บังคับใช้ 22 มีนาคม 2555