พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526
หลักการอันเป็นที่มาของบัตรประจำตัวประชาชนในขณะนั้นได้มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2475 ซึ่งกำหนดให้กรมการอำเภอเป็นพนักงานทำหนังสือเดินทางสำหรับราษฎรในท้องที่อำเภอนั้น จะนำไปมาค้าขายในท้องที่อื่น ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของประชาชน จะได้มีหนังสือสำคัญของทางราชการไว้แสดงว่าเป็นใคร มาจากที่ใด หนังสือดังกล่าวเป็นที่รู้จักและแพร่หลายในสมัยนั้นคล้ายกับบัตรประจำตัวประชาชนในสมัยนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2486 ขึ้น ประกาศใช้ในจังหวัดพระนคร หรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน แต่หลักการล้าสมัยจึงได้มีการแก้ไขกฎหมายเรื่อยมา จนกระทรวงมหาดไทยได้เสนอให้มีการแก้ไขและประกาศใช้พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มีผลบังคับใช้วันที่ 21 เมษายน 2526
เป็นต้นมา และกำหนดว่าบัตรที่ออกตามพระราชบัญญัติบัตรประชาชน พ.ศ. 2505 ให้ใช้ได้ต่อไปจนครบวันเกิดของผู้ถือบัตร และให้ขอมีบัตรภายใน 90 วัน ผู้ใดมีอายุครบ 15 ปีก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับ ต้องขอมีบัตรภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีประกาศ
1. เจ้าพนักงาน
1.1 เจ้าพนักงานออกบัตร
ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง ซึ่งในปัจจุบันรัฐมนตรีจะแต่งตั้งอธิบดีกรมการปกครองเป็น
เจ้าพนักงานออกบัตร ยังเป็นคำสั่งเฉพาะทุกครั้งที่มีอธิบดีมาดำรงตำแหน่งใหม่ก็จะแต่งตั้งเป็นรายๆ ไป เช่น คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 143/2551 เป็นต้น
1.2 เจ้าพนักงานตรวจบัตร
คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 452/2542 เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานตรวจบัตรและพนักงานเจ้าหน้าที่
1. พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอ และข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตรภายในเขตอำนาจหน้าที่
2. พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน และเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ตามด่านตรวจที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตรเฉพาะด่านตรวจบัตรนั้น
3. ผู้อำนวยการเขต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายทะเบียน หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ และเจ้าพนักงานปกครองตั้งแต่ระดับ 6 ในฝ่ายทะเบียนและบัตร เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตรเฉพาะภายในเขตนั้น
4. ปลัดเทศบาล รองปลัดเทศบาล หัวหน้าแขวง หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาล หัวหน้างานทะเบียนราษฎร และเจ้าหน้าที่บริหารงานทะเบียนและบัตร เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตรเฉพาะในเทศบาลหรือแขวงนั้น
5. หัวหน้าสำนักงานปลัดเมืองพัทยา หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป หัวหน้างานทะเบียนราษฎร และเจ้าหน้าที่บริหารงานทะเบียนและบัตร เป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตรเฉพาะภายในเมืองพัทยา
1.3 พนักงานเจ้าหน้าที่รับคำขอมีบัตร และรับมอบบัตรจากผู้เสียสัญชาติไทย
คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 452/2542 เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานตรวจบัตรและพนักงานเจ้าหน้าที่
1. ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการส่วน หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าศูนย์ภาค หัวหน้างาน เจ้าพนักงานปกครองตั้งแต่ระดับปฏิบัติการขึ้นไป และนิติกรตั้งแต่ระดับปฏิบัติการขึ้นไปในสำนักบริหารงานทะเบียน กรมการปกครอง เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
2. นายอำเภอ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ปลัดอำเภอ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เฉพาะในอำเภอหรือกิ่งอำเภอนั้น
3. ผู้อำนวยการเขต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายทะเบียน หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ และเจ้าพนักงานปกครองตั้งแต่ระดับ 6 ในฝ่ายทะเบียนและบัตร เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เฉพาะภายในเขตนั้น
4. ปลัดเทศบาล รองปลัดเทศบาล หัวหน้าแขวง หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาล หัวหน้างานทะเบียนราษฎร และเจ้าหน้าที่บริหารงานทะเบียนและบัตร เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เฉพาะในเทศบาลหรือแขวงนั้น
5. หัวหน้าสำนักงานปลัดเมืองพัทยา หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป หัวหน้างานทะเบียนราษฎร และเจ้าหน้าที่บริหารงานทะเบียนและบัตร เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เฉพาะภายในเมืองพัทยา
2. อายุเท่าใดต้องมีบัตรประชาชน
ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่ 7 – 70 ปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้านต้องมีบัตรประชาชน และผู้ซึ่งมีอายุเกิน 70 ปี จะขอมีบัตรก็ได้ โดยผู้ต้องมีบัตรซึ่งมีอายุตั้งแต่ 7 – 70 ปีบริบูรณ์ ให้ยื่นคำขอมีบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใน 60 วัน นับแต่
1. วันที่อายุครบ 7 ปีบริบูรณ์
2. วันที่ได้สัญชาติไทย หรือ กลับคืนสัญชาติ
3. วันที่นายทะเบียนเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน
4. วันที่พ้นจากสภาพการได้รับยกเว้น
3. อายุของบัตรประชาชน
บัตรมีอายุ 8 ปี นับแต่วันเกิดของผู้ถือบัตร และถ้าบัตรที่ยังไม่หมดอายุ ในวันที่ผู้ถือบัตรครบ 70 ปีให้บัตรนั้นใช้ได้ตลอดชีวิต ถ้าผู้ถือบัตรผู้ใดเสียสัญชาติไทย ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะใช้บัตรนั้นทันที และต้องส่งมอบบัตรให้แก่ เจ้าพนักงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เสียสัญชาติ
4. ระยะเวลาในการยื่นคำขอมีบัตรประชาชน
ผู้ถือบัตรใหม่ ให้ยื่นคำขอภายใน 60 วัน นับแต่วันที่บัตรเดิมหมดอายุ หรือผู้ถือบัตรจะขอมีบัตรใหม่ ก่อนบัตรเดิมหมดอายุก็ได้ โดยยื่นภายใน 60 วัน ก่อนที่บัตรเดิมหมดอายุ และผู้ถือบัตรผู้ใดย้ายที่อยู่จะขอเปลี่ยนบัตรก็ได้
ถ้าผู้ถือบัตรต้องมีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรให้ยื่นคำขอต่อพนักงานภายใน 60 วันนับแต่
1. วันที่บัตรหายหรือถูกทำลาย
2. วันที่บัตรชำรุดในสาระสำคัญ
3. วันที่ขอแก้ไข ชื่อตัว ชื่อสกุล ในทะเบียนบ้าน
5. การขอมีบัตรของผู้เยาว์
การขอมีบัตร ขอมีบัตรใหม่ เปลี่ยนบัตร ของผู้มีอายุไม่ถึง 15 ปี ให้เป็นหน้าที่ของ บิดา มารดา ผู้ปกครอง เป็นผู้ยื่นคำขอ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้นั้นจะยื่นคำขอเอง
6. กรณีไม่สามารถออกบัตรให้ผู้ยื่นคำขอได้
กรณีเจ้าพนักงานไม่สามารถออกบัตรให้ผู้ยื่นคำขอในวันเดียวกันได้ให้ออกใบรับ แก่ผู้ยื่นคำขอใบรับ หรือ ใบแทนใบรับ ให้ใช้ร่วมกับบัตรเดิม / เว้นแต่ขอมีบัตรครั้งแรกหรือบัตรหาย หรือถูกทำลาย
7. อัตราโทษ
7.1 โทษปรับสถานเดียว
1. เมื่อพ้นกำหนดเวลาขอมีบัตร ผู้ต้องมีบัตรตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ไม่ยื่นขอมีบัตร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
2. เมื่อพ้นกำหนดขอมีบัตรใหม่ ขอเปลี่ยนบัตรของบุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือผู้มีหน้าที่ขอมีบัตร ไม่ยื่นคำขอ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
3. ผู้ใดไม่สามารถแสดงบัตร ใบรับหรือใบแทนใบรับ เมื่อเจ้าพนักงานตรวจ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
7.2 โทษจำคุกหรือปรับ
1. ผู้ใดเข้าถึงข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลที่บันทึกไว้ในหน่วยความจำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
2. ถ้าผู้กระทำผิด ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือเจ้าพนักงานออกบัตร เจ้าพนักงานตรวจบัตร ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 5 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000 – 300,000 บาท
3. ผู้ใดนำบัตร ใบรับ หรือ ใบแทนใบรับ ของผู้อื่นไปแสดงว่าเป็นเจ้าของบัตร ต้องระวางโทษตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท
4. ผู้ใดยึดไว้ซึ่งบัตร ใบรับหรือใบแทนใบรับ ของผู้อื่นเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบต้องระวางโทษไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
5. ผู้ใดยินยอมให้ผู้อื่นนำบัตร ใบรับหรือใบแทนใบรับ ไปใช้ในการทุจริต ต้องระวางโทษตั้งแต่ 3 เดือนถึง 3 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 60,000 บาท
6. ผู้ถือบัตรซึ่งเสียสัญชาติ ผู้ใด
6.1 ไม่ส่งมอบบัตร, ใบรับหรือใบแทนใบรับ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
6.2 ใช้หรือแสดงบัตรที่ตนหมดสิทธิใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
6.3 ปลอมบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับ จำคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท
8. อัตราค่าธรรมเนียม
อัตราค่าธรรมเนียม (ท้าย พ.ร.บ.)[1]
1. การออกบัตร ฉบับละ 100 บาท
2. การออกใบแทนใบรับ ฉบับละ 10 บาท
3. การขอคัดและรับรองสำเนาข้อมูลเกี่ยวกับบัตร ฉบับละ 10 บาท
อัตราค่าธรรมเนียม (กฎกระทรวง 4 ตุลาคม 2559)[2]
1. การออกบัตรในกรณีบัตรหายหรือถูกทำลาย
บัตรชำรุด หรือแก้ไขชื่อตัว หรือชื่อตัวและชื่อสกุล
ในทะเบียนบ้าน หรือย้ายที่อยู่ ฉบับละ 100 บาท[3]
2. การออกใบแทนใบรับ ฉบับละ 10 บาท
3. การขอคัดและรับรองสำเนาข้อมูลเกี่ยวกับบัตร ฉบับละ 10 บาท
9.ความแตกต่างระหว่าง การขอมีบัตร การขอมีบัตรใหม่ และการขอเปลี่ยนบัตร[4]
9.1 การขอมีบัตร
1. กรณีขอมีบัตรเป็นครั้งแรก ยื่นคำขอภายใน 60 วัน นับแต่วันที่อายุครบ 7 ปีบริบูรณ์ เกินกำหนดมีโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
2. กรณีเป็นบุคคลได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน หรือแจ้งเกิดเกินกำหนด ยื่นคำขอภายใน 60 วัน นับแต่วันที่เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน
3. กรณีเป็นบุคคลได้รับการยกเว้น หรือบุคคลซึ่งมีอายุเกิน 70 ปี
4. กรณีเป็นบุคคลซึ่งพ้นสภาพได้รับการยกเว้น ยื่นคำขอภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พ้นสภาพได้รับการยกเว้น หลักฐานที่แสดงว่าพ้นจากสภาพได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีบัตร เช่น หนังสือเดินทางและเอกสารที่แสดงว่า
เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ หรือหนังสือสำคัญของเรือนจำหรือทัณฑสถาน
5. กรณีเป็นบุคคลซึ่งได้สัญชาติไทย หรือได้รับอนุมัติให้มีสัญชาติไทย หรือได้กลับคืนสัญชาติไทย ยื่นคำขอภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับสัญชาติไทย กรณีได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติเป็นไทยหรือได้กลับคืนสัญชาติไทยใช้หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นไทยหรือหนังสือสำคัญแสดงการได้กลับคืนสัญชาติไทย กรณีขอมีบัตรเป็นครั้งแรกโดยมีบิดาและมารดาเป็นบุคคลต่างด้าว ใช้หลักฐานใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบิดามารดา หากถึงแก่ความตายให้นำมรณบัตรของผู้ที่ถึงแก่ความตายไปแสดง
9.2 การขอมีบัตรใหม่
ใช้กับบัตรเดิมหมดอายุหรือบัตรสูญหายหรือถูกทำลาย
1. กรณีบัตรเดิมหมดอายุ ยื่นคำขอภายใน 60 วัน นับแต่วันที่บัตรเดิมหมดอายุ พร้อมหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนเดิมที่หมดอายุ
2. กรณีบัตรเดิมสูญหายหรือถูกทำลาย ยื่นคำขอภายใน 60 วัน นับแต่วันที่บัตรหายหรือถูกทำลาย พร้อมหลักฐานที่ทางราชการที่มีรูปถ่าย เช่น ใบขับขี่ วุฒิการศึกษา หรือหนังสือเดินทาง เป็นต้น หากไม่มีให้พาเจ้าบ้านหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือมาให้การรับรอง
9.3 การขอเปลี่ยนบัตร
ใช้กับบัตรชำรุดในสาระสำคัญและเจ้าของบัตรเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุล
1. เมื่อบัตรชำรุดในสาระสำคัญ เช่น ไฟไหม้บางส่วน ถูกน้ำเลอะเลือน ต้องขอเปลี่ยนบัตรโดยยื่นคำขอเปลี่ยนบัตร ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่บัตรชำรุดในสาระสำคัญ
2. เมื่อเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล หรือเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุล ผู้ถือบัตรต้องขอเปลี่ยนบัตรโดยยื่นคำขอเปลี่ยนบัตร ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่แก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล หรือชื่อตัวและชื่อสกุลในทะเบียนบ้าน
3. กรณีเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ตามหลักฐานทะเบียนบ้านและบัตรเดิมยังไม่หมดอายุ
10. กฎกระทรวงที่สำคัญ
10.1 กฎกระทรวงบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน 2548
1. สมเด็จพระบรมราชินี
2. พระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป
3. ภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช
4. ผู้มีกายพิการ เดินไม่ได้ เป็นใบ้ หรือตาบอดทั้ง 2 ข้าง จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
5. อยู่ในที่คุมขังโดยชอบด้วยกฎหมาย
6. บุคคลซึ่งกำลังศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ และไม่สามารถยื่นคำขอมีบัตรได้
10.2 กฎกระทรวง ฉบับที่ 19
ให้กำหนดค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้
1. ออกบัตรตาม ม.4 วรรค 4 (70 ปีแล้วขอมีบัตร)
– ไม่ได้ออกด้วยคอมพิวเตอร์ 10 บาท
– ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์ 20 บาท
2. ออกบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรตาม ม.6 จัตวา 100 บาท
3. ขอออกใบแทนใบรับ 10 บาท
4. ขอตรวจหลักฐานหรือคัดสำเนา 10 บาท
10.3 กฎกระทรวง ฉบับที่ 21
บัตรมี 3 ชนิด คือ
1. บัตรที่ไม่ได้ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์
2. บัตรที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์
3. บัตรที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์แบบเอนกประสงค์
10.4 กฎกระทรวง ฉบับที่ 22
เลขหมายคำขอ ประกอบด้วยรหัส
– สถานที่ทำบัตร 4 หลัก
– จำนวนครั้งที่ทำบัตร 2 หลัก
– เลขตรวจสอบความถูกต้อง 8 หลัก
เลขที่อนุญาตให้ทำบัตร ประกอบด้วยรหัส
– สถานที่ทำบัตร 4 หลัก
– เลขรอบการทำบัตร 2 หลัก
– เลขแสดงจำนวนผู้ขอบัตร 6 หลัก เริ่มตั้งแต่ 000000 – 999999
10.5 กฎกระทรวง ฉบับที่ 23
บัตรให้มีสีขาว ลายพื้นสีฟ้า ผลิตด้วยวัสดุและเคลือบด้วยวัสดุป้องกันการปลอมแปลง บัตรที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์เอนกประสงค์ ให้มีรายการเลขหมายคำขอมีบัตร รหัสกำกับบัตร และรหัสแท่งตรวจสอบบัตร (Bar code)
รูปถ่ายถ้าผู้ถือบัตรมีส่วนสูงต่ำกว่า 100 ซม. หรือมีส่วนสูงกว่า 190 ซม. จะไม่มีเลขแสดงส่วนสูงของผู้ถือบัตรก็ได้ และบัตรที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์อเนกประสงค์ แม้ไม่มี Micro text ป้องกันการปลอมแปลง เมื่อใช้แว่นขยายจะเห็นเป็นตัวอักษร “THAILAND” เป็นสีแดง
[1] พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) 2554
[2] กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2559
[3] เดิมตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2555 (8 พฤษภาคม 2555) กำหนดไว้ 20 บาท
[4] ทาง ว.วิชาการ พยายามให้เห็นว่าคำ หรือ นิยามของการใช้แตกต่างกัน เช่น ถ้าบัตรเราชำรุดในสาระสำคัญ เราต้องบอกว่า ขอเปลี่ยนบัตร เวลาแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ มิใช่เหมารวมหมดว่า ขอมีบัตร หรือขอทำบัตร ซึ่งไม่ถูกต้อง