งานทะเบียนมูลนิธิ

          มูลนิธิ ได้แก่ทรัพย์สินอันจัดสรรไว้เป็นแผนกเพื่อบำเพ็ญทาน ศาสนา วิทยาศาสตร์ วรรณคดี หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อื่นๆ และไม่ได้แสวงหากำไร
          ฉะนั้น มูลนิธิจึงเป็นองค์กรการกุศลที่จัดตั้งขึ้นมาและดำเนินการโดยมิได้มุ่งหมายกำไร หรือหวังผลประโยชน์ตอบแทนแต่อย่างใด การจัดตั้งมูลนิธินับได้ว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างมาก เพราะมูลนิธิเป็นองค์การกุศลที่จะให้การสงเคราะห์ตลอดจนการช่วยเหลือแก่บุคคลโดยไม่เลือกชาติศาสนาและไม่หวังผลตอบแทน จึงอาจสรุปลักษณะของมูลนิธิได้ 3 ประการคือ
          1. เป็นกองทรัพย์สิน
          2. นำเอาทรัพย์สินไปใช้เพื่อการบำเพ็ญประโยชน์
          3. ไม่ได้แสวงหากำไร
          จะเห็นได้ว่ามูลนิธิมีข้อแตกต่างจากสมาคมเพราะสมาคมรวมกลุ่มอยู่ได้ด้วยสมาชิกและผลประโยชน์เกิดขึ้นเป็นของสมาชิกหรือห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่มีการรวมตัวเพื่อแสวงหากำไร

1. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

          1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          2. กฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนมูลนิธิการดำเนินกิจการและการทะเบียนมูลนิธิ พ.ศ. 2545
          3. พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499

2. นายทะเบียนมูลนิธิ

          1. ในกรุงเทพมหานครได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย
          2. ในจังหวัดอื่น ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด

3. พนักงานเจ้าหน้าที่

          “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ข้าราชการหรือข้าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ระดับ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป ซึ่งนายทะเบียนมอบหมายเป็นหนังสือให้ดำเนินการเกี่ยวกับมูลนิธิ[2]

4. หลักเกณฑ์การตั้งชื่อมูลนิธิ

          มูลนิธิต้องใช้ชื่อซึ่งมีคำว่า “มูลนิธิ” ประกอบกับชื่อของมูลนิธิ และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ข้อ 4. กฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนมูลนิธิการดำเนินกิจการและการทะเบียนมูลนิธิพ.ศ. 2545

          1. ชื่อมูลนิธิต้องเป็นภาษาไทยที่ไม่มีความหมายหยาบคาย แต่ในกรณีที่มูลนิธิประสงค์จะใช้ชื่อเป็นภาษาต่างประเทศทั้งหมดหรือบางส่วน ให้เขียนทับศัพท์เป็นอักษรไทยและอาจกำกับภาษาต่างประเทศนั้นไว้ด้วยก็ได้
          2. ในกรณีที่ใช้ชื่อบุคคลเป็นชื่อมูลนิธิหรือประกอบกับชื่อมูลนิธิ ผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิต้องยื่นหลักฐานดังต่อไปนี้มาพร้อมกับคำขอจดทะเบียนตามข้อ 2.3 ด้วย
                    2.1 หนังสืออนุญาตให้ใช้ชื่อจากเจ้าของพระนาม เจ้าของชื่อ หรือทายาท
                    2.2 หนังสืออนุญาตจากสำนักราชเลขาธิการ ในกรณีที่ใช้พระนามพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอขึ้นไป
          2.3 ในกรณีที่ใช้ชื่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลใดเป็นชื่อมูลนิธิหรือประกอบชื่อมูลนิธิ ผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิต้องยื่นหนังสืออนุญาตให้ใช้ชื่อจากหน่วยงานหรือนิติบุคคลนั้นๆ มาพร้อมกับคำขอจดทะเบียนด้วย

5. ข้อบังคับของมูลนิธิ

          มูลนิธิต้องมีข้อบังคับ และต้องมีคณะกรรมการของมูลนิธิประกอบด้วยบุคคลอย่างน้อย 3 คน เป็นผู้ดำเนินกิจการของมูลนิธิตามกฎหมายและข้อบังคับของมูลนิธิ ข้อบังคับของมูลนิธิอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
          1. ชื่อมูลนิธิ
          2. วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
          3. ที่ตั้งสำนักงานใหญ่และที่ตั้งสำนักงานสาขาทั้งปวง
          4. ทรัพย์สินของมูลนิธิขณะจัดตั้ง[3]
          5. ข้อกำหนดเกี่ยวกับคณะกรรมการของมูลนิธิ ได้แก่ จำนวนกรรมการ การตั้งกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ และการประชุมของคณะกรรมการ
          6. ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการมูลนิธิ การจัดการทรัพย์สินและบัญชีของมูลนิธิ

6. การจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ

          การขอจดทะเบียนมูลนิธินั้น ให้ผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิจะตั้งขึ้น[4] ในคำขออย่างน้อยต้องระบุเจ้าของทรัพย์สินและรายการทรัพย์สินที่จะจัดสรรสำหรับมูลนิธิ รายชื่อ ที่อยู่และอาชีพของผู้จะเป็นกรรมการของมูลนิธิทุกคน พร้อมกับแนบข้อบังคับของมูลนิธิมากับคำขอด้วย และมูลนิธิที่ได้จดทะเบียนแล้วให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล
          กรณีที่ผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิถึงแก่ความตายก่อนนายทะเบียนรับจดทะเบียนมูลนิธิ ให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ซึ่งผู้ตายมอบหมาย ดำเนินการในฐานะเป็นผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิต่อไป ภายใน 120 วัน
          การพิจารณาของนายทะเบียน
         
เมื่อนายทะเบียนได้รับคำขอแล้วเห็นว่าคำขอนั้นถูกต้อง และไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่มูลนิธินั้น  และประกาศการจัดตั้งมูลนิธิในราชกิจจานุเบกษา
          ถ้านายทะเบียนเห็นว่าคำขอหรือข้อบังคับไม่ถูกต้อง ให้มีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องเมื่อแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงถูกต้อง หรือถ้านายทะเบียนเห็นว่าไม่อาจรับจดทะเบียนได้เนื่องจากขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือผู้ขอจดทะเบียนไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายใน 30 วัน
          ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนนั้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนภายใน 30 วัน โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์ และแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายใน 90 วันนับแต่วันที่นายทะเบียนได้รับหนังสืออุทธรณ์ คำวินิจฉัยให้เป็นที่สุด          ในกรณีที่ผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิถึงแก่ความตายก่อนที่นายทะเบียนจะรับจดทะเบียน ถ้าผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมยกเลิกการจัดตั้งมูลนิธิที่ขอจัดตั้งไว้ให้คำขอจัดตั้งมูลนิธิที่ผู้ตายได้ยื่นไว้ต่อ
นายทะเบียนยังคงใช้ได้ต่อไป และให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ซึ่งผู้ตายมอบหมาย ดำเนินการในฐานะเป็นผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิต่อไป ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ดำเนินการภายใน 120 วันนับแต่วันที่ผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิถึงแก่ความตาย บุคคลผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะดำเนินการในฐานะเป็นผู้ขอจัดตั้งมูลนิธินั้นต่อไปก็ได้

          สำหรับวิธีปฏิบัตินั้นให้ดำเนินการดังนี้
          ให้ผู้ที่ประสงค์จะขอจัดตั้งมูลนิธิยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิตามแบบ ม.น. 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิจะจัดตั้งขึ้น โดยในเขตกรุงเทพมหานครให้ยื่น ณ สำนักงานเขต ส่วนในจังหวัดอื่นให้ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนจากผู้ขอจดทะเบียนแล้ว ให้ตรวจสอบคำขอและหลักฐานต่างๆ ว่าถูกต้องหรือไม่ แล้วจึงเสนอความเห็นต่อนายทะเบียน
          เมื่อนายทะเบียนได้รับคำขอจดทะเบียนจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว หากนายทะเบียนพิจารณาเห็นว่า วัตถุประสงค์ของมูลนิธิตามคำขอจัดตั้งมูลนิธิ มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับงานของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งต้องอยู่ในความควบคุมของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้นายทะเบียนส่งคำขอจดทะเบียนดังกล่าวไปให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติพิจารณาอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวัฒนธรรมแห่งชาติก่อนที่นายทะเบียนจะดำเนินการพิจารณารับจดทะเบียน และให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนเมื่อ
          1. เห็นว่ารับจดทะเบียนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมูลนิธิ
          2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์ (คำวินิจฉัยให้เป็นที่สุด) ให้รับจดทะเบียน
          3. มีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้รับจดทะเบียน

7. การจดทะเบียนแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ทั้งชุดหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการมูลนิธิ

          การแต่งตั้งกรรมการของมูลนิธิขึ้นใหม่ทั้งชุดหรือการเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ ให้กระทำตามข้อบังคับของมูลนิธิ  และมูลนิธิต้องนำไปจดทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
          เมื่อนายทะเบียนพิจารณารับจดทะเบียนแล้ว ให้ออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนการแต่งตั้งกรรมการของมูลนิธิขึ้นใหม่ทั้งชุด หรือการเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ (ม.น. 4) แล้วส่งเรื่องคืนไปยังสำนักงานเขต หรืออำเภอ/กิ่งอำเภอ และแจ้งให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบเพื่อขอรับใบสำคัญฯ และชำระค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงต่อไป
          ถ้านายทะเบียนเห็นว่ากรรมการของมูลนิธิผู้ใด มีฐานะหรือความประพฤติไม่เหมาะสมในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ นายทะเบียนจะไม่รับจดทะเบียนกรรมการของมูลนิธิผู้นั้นก็ได้ ในกรณีที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนกรรมการของมูลนิธิ นายทะเบียนต้องแจ้งเหตุผลที่ไม่รับจดทะเบียนให้มูลนิธิทราบภายใน 60 วันนับแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน

8. การดำเนินการของมูลนิธิ

          ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี ให้มูลนิธิรายงานผลการดำเนินการต่อนายทะเบียนพร้อมทั้งหลักฐานดังต่อไปนี้

          1. รายงานการดำเนินกิจการของมูลนิธิในปีที่ผ่านมา

          2. บัญชีรายได้รายจ่ายและสำเนางบดุลของมูลนิธิในรอบปีที่ผ่านมาซึ่งผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้รับรองความถูกต้องแล้ว

          3. สำเนารายงานการประชุมของคณะกรรมการของมูลนิธิทุกครั้งในปีที่ผ่านมา

9. เหตุที่มูลนิธิต้องเลิก

          1. เมื่อมีเหตุตามที่กำหนดในข้อบังคับ
          2. ถ้ามูลนิธิตั้งขึ้นไว้เฉพาะระยะเวลาใด เมื่อสิ้นระยะเวลานั้น
          3. ถ้ามูลนิธิตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใด และได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์สำเร็จบริบูรณ์แล้ว หรือวัตถุประสงค์นั้นกลายเป็นพ้นวิสัย
          4. เมื่อมูลนิธินั้นล้มละลาย
          5. นายทะเบียน พนักงานอัยการ หรือผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใด อาจร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้เลิกมูลนิธิได้ในกรณีดังต่อไปนี้
                    5.1 เมื่อปรากฏว่าวัตถุประสงค์ของมูลนิธิขัดต่อกฎหมาย
                    5.2 เมื่อปรากฏว่ามูลนิธิกระทำการขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ
                    5.3 เมื่อปรากฏว่ามูลนิธิไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ไม่ว่าเพราะเหตุใดๆ หรือหยุดดำเนินกิจการตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
          เมื่อมูลนิธิมีเหตุต้องเลิก ให้คณะกรรมการของมูลนิธิที่อยู่ในตำแหน่งขณะมีการเลิกมูลนิธิแจ้งการเลิกมูลนิธิต่อนายทะเบียนภายใน 14 วันนับแต่วันที่มีการเลิกมูลนิธิ

10. ค่าธรรมเนียมและการยกเว้นค่าธรรมเนียม

          1. ค่าคำขอ ฉบับละ 10 บาท
         
2. ค่าจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ ฉบับละ 200 บาท
         
3. ค่าจดทะเบียนการแต่งตั้งกรรมการของมูลนิธิขึ้นใหม่ ทั้งชุดหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ ฉบับละ 50 บาท
         
4. ค่าจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของมูลนิธิ ฉบับละ 50 บาท
         
5. ค่าขอตรวจเอกสารเกี่ยวกับมูลนิธิ สำหรับมูลนิธิหนึ่ง ครั้งละ 50 บาท
         
6. ค่าคัดและรับรองสำเนาเอกสาร ฉบับละ 10 บาท
         
7. ค่าขอให้นายทะเบียนดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับมูลนิธิซึ่งมิใช่เป็นการดำเนินการตามข้อ 2. – 6. ครั้งละ 50 บาท

          ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับมูลนิธิ ดังต่อไปนี้
          1. มูลนิธิที่ตั้งขึ้นตามพระราชดำริ
          2. มูลนิธิที่ตั้งขึ้นตามพระประสงค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอขึ้นไป  หรือมูลนิธิที่มีพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอขึ้นไปเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการ
          3.  มูลนิธิที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์หรือพระบรมราชินูปถัมภ์

11. ความผิดเกี่ยวกับมูลนิธิ

          พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
          1. ผู้ใดใช้คำว่า “มูลนิธิ” ประกอบกับชื่อ ในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความ หรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจ โดยมิได้เป็นมูลนิธิที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เว้นแต่เป็นการใช้ในการขอจดทะเบียนเกี่ยวกับการตั้งมูลนิธิ หรือในการแปลอักษรต่างประเทศเป็นอักษรไทยโดยมีอักษรต่างประเทศกำกับไว้ด้วย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 500 บาทจนกว่าจะได้เลิกใช้
          2. มูลนิธิใดมิได้จดทะเบียนการแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิต่อนายทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 125 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
          3. มูลนิธิใดมิได้จดทะเบียนข้อบังคับที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมต่อนายทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 126 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
          4. ผู้ใดดำเนินกิจการใดโดยกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่ากิจการนั้นเป็นมูลนิธิที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการกระทำดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          5. ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าไปตรวจสอบกิจการของมูลนิธิต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          6. กรรมการของมูลนิธิผู้ใดดำเนินกิจการผิดวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ และการดำเนินกิจการนั้นน่าจะเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


[1] เฉพาะมาตรา 110,111,113114,115,117,122,124,130

[2] ข้อ 2. กฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนมูลนิธิการดำเนินกิจการและการทะเบียนมูลนิธิ พ.ศ. 2545

[3] ทุนทรัพย์เริ่มแรกตามหนังสือที่ มท 0402/ว. 1548 ลงวันที่ 19 กันยายน 2534 มีเงินสดไม่น้อยกว่า 500,000 บาท และถ้ามีทรัพย์สินอื่นด้วย ต้องมีเงินสดไม่น้อยกว่า 250,000 บาท รวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่า 500,000 บาท
           
มูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการสังคมสงเคราะห์ ส่งเสริมการศึกษา การกีฬา การศาสนา การสาธารณภัย และเพื่อการบำบัดรักษาฯลฯ ตามหนังสือที่ มท 04023/ว. 2073 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2538 ต้องมีเงินสดไม่น้อยกว่า 200,000 บาท และถ้ามีทรัพย์สินอื่นด้วย ต้องมีเงินสดไม่น้อยกว่า 100,000 บาท รวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่า 200,000 บาท
[4]  ข้อสังเกตคือไม่ได้ระบุจำนวนคนที่ขอจดทะเบียนเหมือนกับสมาคม