กฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

1. เรื่องทั่วไป

          ตั้งแต่ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่รัตนโกสินทร์ศก 116 ก็ได้มีการใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 โดยบังคับใช้วันที่ 17 กรกฎาคม 2457 เป็นต้นมา ได้มีการแก้ไขหลายครั้งโดยในปี พ.ศ. 2552 นั้นทำให้การยกเลิกตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจะกระทำมิได้ ล่าสุดในปี พ.ศ. 2557 ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 102/2557 ลงวันที่ วันที่ 21 กรกฎาคม 2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ โดยเพิ่มอำนาจให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองอีกหนึ่งอย่างคือ การตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้านร่วมกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ เป็นต้น และเนื่องจากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้มานาน ภาษาที่ใช้บางครั้งอาจจะไม่คุ้นเคย เช่นคำว่า ผู้ว่าราชการเมือง ก็คือผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันนั้นเอง

 1.1 บ้านและเจ้าบ้าน

          บ้าน หมายความว่า เรือนหลังเดียวก็ตาม หลายหลังก็ตาม ซึ่งอยู่ในเขตที่มีเจ้าของเป็นอิสระส่วนหนึ่ง นับว่าเป็นบ้านหนึ่ง

          เจ้าบ้าน หมายความว่า ผู้อยู่ปกครองบ้าน จะครอบครองด้วยเป็นเจ้าของก็ตาม ด้วยเป็นผู้เช่าก็ตาม ด้วยเป็นผู้อาศัยโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม นับว่าเป็นเจ้าบ้าน

 1.2 สิ่งที่นับว่าเป็นบ้าน

          ห้องแถว และแพ หรือเรือเช่า ซึ่งจอดประจำอยู่ที่ใด ถ้ามีเจ้าของหรือผู้เช่าครอบครองเป็นอิสระแยกจากห้องหนึ่ง หลังหนึ่ง ลำหนึ่ง หรือหมู่หนึ่ง ในเจ้าของหรือผู้เช่าคนหนึ่งนั้น ก็นับว่าบ้านหนึ่งเหมือนกัน

1.3 สิ่งที่ไม่นับว่าเป็นบ้าน

          วัด โรงพยาบาล โรงทหาร โรงเรียน เรือนจำ ที่ทำการไปรษณีย์ สถานีรถไฟ สถานที่ต่างๆ ของรัฐบาล ไม่นับเป็นบ้าน

1.4 การตั้งหมู่บ้าน

          บ้านหลายบ้านอยู่ในท้องที่อันหนึ่ง ซึ่งควรอยู่ในความปกครองอันเดียวกันได้ ให้จัดเป็นหมู่บ้านหนึ่ง หมู่บ้านตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือความสะดวกแก่การปกครองเป็นประมาณ

          ถ้ามีคนอยู่รวมกันมาก ถึงจำนวนบ้านน้อย ให้ถือเอาจำนวนคนเป็นสำคัญ ราว 200 คน เป็นหนึ่งหมู่บ้าน  ถ้าผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างไกลกัน ถึงจำนวนคนจะน้อย ถ้าจำนวนบ้านไม่ต่ำกว่า 5 บ้าน จะจัดเป็นหมู่บ้านหนึ่งก็ได้[1]

2. การตั้งหมู่บ้านชั่วคราว

          ท้องที่ใดมีราษฎรไปตั้งชุมนุมทำการหาเลี้ยงชีพแต่ในบางฤดู และมีจำนวนราษฎรมากพอที่จะจัดเป็นหมู่บ้านได้ ให้นายอำเภอประชุมราษฎรในหมู่นั้นเลือกว่าที่ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งหรือหลายคน ตามสมควร ผู้ใหญ่บ้านนี้ เรียกว่า ว่าที่ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อเลือกได้แล้วให้รายงานขอหมายตั้งจากผู้ว่าราชการเมือง  (ผู้ว่าราชการจังหวัด) หมายตั้งว่าที่ผู้ใหญ่บ้านนี้ ให้ผู้ว่าราชการเมืองทำหมายพิเศษตั้ง ว่าที่ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจและหน้าที่เท่าผู้ใหญ่บ้านทุกประการ และผู้ใหญ่บ้านชั่วคราวมีคุณสมบัติเหมือนผู้ใหญ่บ้านทุกประการ ยกเว้น 1. มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ประจำ 2. ไม่อยู่ระหว่างเสียสิทธิเลือกตั้ง

3. การตั้งตำบล

          เมื่อมีหมู่บ้านหลายหมู่บ้านรวมกันราว 20 หมู่บ้านให้จัดเป็นหนึ่งตำบล ในตำบลให้กำนัน มีหน้าที่ปกครองราษฎรที่อยู่ในเขตตำบลนั้น กำนันจะได้รับเงินเดือน แต่มิใช่จากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือน และตำบลให้มีคณะกรรมการตำบล มีหน้าที่เสนอข้อแนะนำให้คำปรึกษาต่อกำนัน ประกอบด้วย

          1. กำนันท้องที่ เป็นประธาน

          2. ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบล

          3. แพทย์ประจำตำบล

          4. ครูประชาบาลในตำบล 1 คน

          5. กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิหมู่ละ 1 คน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโดยนายอำเภอคัดเลือกแล้วรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี การคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กระทำภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง

4. กำนัน

4.1 การตั้งกำนัน

          ให้นายอำเภอเป็นประธานการประชุมผู้ใหญ่บ้านในตำบล เพื่อคัดเลือกผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งในตำบลขึ้นเป็นกำนัน การลงคะแนนให้กระทำโดยวิธีลับ เมื่อคัดเลือกกำนันแล้ว ให้นายอำเภอรายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญ

4.2 การออกจากตำแหน่งกำนัน

          1. เมื่อต้องออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

          2. ได้รับอนุญาตให้ลาออก

          3. ยุบตำบลที่ปกครอง

          4. ข้าหลวงประจำจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด) สั่งให้ออกจากตำแหน่ง

          5. ถูกปลดออกหรือไล่ออกจากตำแหน่ง

          การออกจากตำแหน่งกำนันให้ออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านด้วย เว้นแต่ออกตามข้อ 2. ได้รับอนุญาตให้ลาออก 3. ยุบตำบลที่ปกครอง 4. ข้าหลวงประจำจังหวัดสั่งให้ออกจากตำแหน่ง ไม่ต้องออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

4.3 ผู้รักษาการกำนัน

          กรณีที่ตำแหน่งกำนันว่างลง ให้เลือกกำนันใหม่ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่นายอำเภอได้ทราบการว่างนั้น หากไม่อาจคัดเลือกกำนันได้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขยายเวลาออกไปเท่าที่จำเป็น และผู้ว่าราชการจังหวัดจะแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติครบตามมาตรา 12[2] เป็นผู้รักษาการกำนันก็ได้

4.4 ผู้ทำการแทนกำนัน

          ถ้ากำนันทำการในหน้าที่ไม่ได้ เช่นไปทางไกล ให้มอบหมายหน้าที่ไว้แก่ผู้ใหญ่บ้านคนใดคนหนึ่งให้ทำการแทน และให้กำนันบอกผู้ใหญ่บ้านทั้งหมดในตำบล และกรมการอำเภอ[3]ด้วย

4.5 อำนาจเกี่ยวด้วยความอาญาของกำนัน

          นอกจากอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะของกำนัน ให้กำนันมีอำนาจเช่นเดียวกับผู้ใหญ่บ้านด้วย และกำนันมีอำนาจเกี่ยวด้วยความอาญาดังนี้

          1. เมื่อมีการทำผิดกฎหมายในตำบลของตน ให้แจ้งต่อกรมการอำเภอ

          2. เมื่อมีการทำผิดกฎหมายในตำบลใกล้เคียง ได้แจ้งต่อกำนันตำบลนั้น

          3. เมื่อปรากฏว่าผู้ใดกำลังทำความผิด สงสัยว่าเป็นผู้ทำความผิด ให้จับตัวแล้วส่งต่อ    กรมการอำเภอ

          4. ถ้ามีหมายหรือคำสั่งให้จับ ให้กำนันจับผู้นั้นส่งต่อกรมการอำเภอ

          5. เจ้าพนักงานออกหมายให้ค้นหรือยึด กำนันต้องจัดการตามหมาย

          6. ถ้ามีผู้มาขออายัดตัว ส่งของ ผู้ต้องโจรกรรม ให้กำนันสืบสวนแล้วส่งตัวต่อกรมการอำเภอ

4.6 หน้าที่กำนัน

          ถ้าเกิดเหตุจลาจล ฆ่ากันตาย ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ไฟไหม้ เหตุร้ายสำคัญ ผู้ร้ายมั่วสุมในตำบล ลูกบ้านเกี่ยวข้องเป็นโจร เป็นหน้าที่ของกำนันที่จะต้องเรียกผู้ใหญ่บ้าน และลูกบ้านในตำบล ออกช่วยต่อสู้ ตามจับ ติดตาม โดยเต็มกำลัง และกำนันต้องร่วมมือและช่วยเหลือนายอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน[4]

5. สารวัตรกำนัน

          ในตำบลหนึ่ง ให้มีสารวัตรสำหรับเป็นผู้ช่วยและรับใช้สอยของกำนัน 2 คน ผู้ที่จะเป็นสารวัตรแล้วแต่กำนันจะขอร้องให้ผู้ใดเป็น แต่ต้องได้รับความเห็นชอบของผู้ว่าราชการเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ด้วยจึงเป็นได้ และกำนันมีอำนาจเปลี่ยนสารวัตรได้

          ตามความคิดเห็นของผู้เขียนมี มาตราที่เกี่ยวกับสารวัตรกำนันเพียงมาตราเดียวคือมาตรา 44 ที่สำคัญไม่ได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของสารวัตรกำนันไว้ด้วย หรือให้ออกตามกำนันก็ไม่ได้กำหนดไว้ ทำให้เรื่องของสารวัตรกำนันขาดความชัดเจน จนทำให้มีเรื่องเกิดขึ้นในบางอำเภอ

          กำนันได้รายงานนายอำเภอว่า สารวัตรกำนันคนหนึ่งไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ช่วยกำนันจึงขอเปลี่ยน นายอำเภอจึงรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเหตุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ดังกล่าว สั่งให้สารวัตรกำนันคนดังกล่าวออกจากตำแหน่งพร้อมกับแต่งตั้งคนอื่นตามที่กำนันเสนอแทน ทำให้อดีตสารวัตรกำนันอุทธรณ์ ส่วนราชการดังกล่าวจึงหารือมายังกระทรวงมหาดไทย

          คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุปว่า ตามมาตรา 44 นั้นเป็นการให้อำนาจแก่กำนันใช้ดุลพินิจขอร้องให้บุคคลที่เห็นว่า เหมาะสมที่จะมาเป็นผู้ช่วยกำนันในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น หากกำนันเห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่เหมาะสม ก็สามารถขอเปลี่ยนคนได้ การขอร้องของกำนันดังกล่าวไม่ได้เป็นการก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ที่เป็นสารวัตรกำนันแต่อย่างใด ส่วนการที่ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการก็เพื่อเป็นการตอบแทนสารวัตรกำนันในการช่วยเหลืองานของทางราชการเท่านั้น ทำให้คำสั่งแต่งตั้งสารวัตรกำนันไม่เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่ง พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เพราะเป็นกรณีที่กำนันขอร้องให้มาช่วยเหลืองานตามที่กำนันมอบหมาย ดังนั้นผู้ที่พ้นจากการเป็นสารวัตรกำนัน จึงไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ (รายงานคณะกรรมการร่างกฎหมายฯ ครั้งที่ 39/2556 วันที่ 17 กรกฎาคม 2556)

          แต่ในขณะเดียวกันนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1037/2503  สารวัตรกำนันเป็นผู้ช่วยกำนัน เมื่อกำนันมีหน้าที่และอำนาจจับกุมผู้กระทำผิด สารวัตรกำนันก็ย่อมช่วยกำนันทำการจับกุมผู้กระทำผิดได้และการช่วยทำการจับกุมผู้กระทำผิดนี้ ไม่จำเป็นจะต้องให้กำนันเรียกร้องให้ช่วย หรือต้องมีตัวกำนันอยู่ด้วย เพราะกฎหมายให้มีหน้าที่ช่วยกำนันอยู่ในตัวเป็นปกติแล้ว เมื่อจำเลยต่อสู้และทำร้าย สารวัตรกำนันจึงได้ทำการจับกุมจำเลยและควบคุมจำเลยส่งเจ้าพนักงานสอบสวน ย่อมได้ชื่อว่าจำเลยต่อสู้ผู้ต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 และทำร้ายผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามมาตรา  289 อันเป็นความผิดตามมาตรา 296

          จึงสรุปได้ว่า สารวัตรกำนันเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย แต่การแต่งตั้งสารวัตรกำนันนั้นไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง และไม่ได้กำหนดวาระหรืออายุในการดำรงตำแหน่งของสารวัตรกำนันเอาไว้ จะได้รับแต่งตั้งหรือจะออกตามกำนันร้องขอ

6. แพทย์ประจำตำบล

6.1 การแต่งตั้ง

          ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชุมเลือกผู้ที่มีความรู้วิชาแพทย์ เป็นแพทย์ประจำตำบลคนหนึ่ง สำหรับการป้องกันความเจ็บไข้ของราษฎรในตำบล การแต่งตั้งแพทย์ประจำตำบล ให้ข้าหลวงประจำจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด) แต่งตั้ง โดยแพทย์ประจำตำบลมีสังกัดขึ้นอยู่ในแพทย์ประจำเมือง และเมื่อมีเหตุที่แพทย์ประจำตำบลจะต้องออกจากตำแหน่ง ให้เหมือนกับเหตุที่กำนันจะต้องออกจากตำแหน่งทุกประการ

6.2 หน้าที่

          1. ช่วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คิดอ่าน และจัดการความสงบเรียบร้อยในตำบล

          2. คอยสังเกตตรวจตราความเจ็บไข้ที่จะเกิดแก่ราษฎรในตำบล

          3. ป้องกันโรคภัยในตำบล

          4. ถ้าโรคภัยร้ายกาจ เช่น อหิวาตกโรค กาฬโรค ไข้ทรพิษ โรคระบาดปศุสัตว์ ให้รีบรายงานกรมการอำเภอ

7. ผู้ใหญ่บ้าน

          หมู่บ้านหนึ่งให้มีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่ปกครองบรรดาราษฎรที่อยู่ในเขตหมู่บ้าน และให้มีคณะกรรมการหมู่บ้าน มีหน้าที่ช่วยเหลือ แนะนำ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ใหญ่บ้าน หรือที่นายอำเภอมอบหมาย หรือผู้ใหญ่บ้านร้องขอ ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน ให้กระทรวงมหาดไทยจ่ายเป็นเงินอุดหนุน โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง คณะกรรมการหมู่บ้าน ประกอบด้วย

          1. ผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธาน

          2. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

          3. สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          4. ผู้นำ ผู้แทน องค์กร ในหมู่บ้าน

          5. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่นายอำเภอแต่งตั้ง จำนวนไม่น้อยกว่า 2 แต่ไม่เกิน 10 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน

7.1 เหตุที่เลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นใหม่ มี 2 กรณี

          เมื่อปรากฏเหตุต่อไปนี้ ให้เลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นใหม่

          1. ราษฎรเพิ่มขึ้นเกินกว่าความสามารถของผู้ใหญ่บ้านคนเดียวจะดูแลได้ ให้กำนันรายงานต่อนายอำเภอ เพื่อเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด กรณีผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควรให้ตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ ก็เลือกผู้ใหญ่บ้านเพิ่มเติมได้

          2. ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านใดว่างลง ให้เลือกผู้ใหญ่บ้านภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านนั้นว่างลง ถ้าไม่อาจเลือกผู้ใหญ่บ้านภายในกำหนดเวลาได้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขยายเวลาออกไป ผู้ว่าราชการจังหวัดจะแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นคนหนึ่งเป็นผู้รักษาการแทนผู้ใหญ่บ้าน หรือแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 12 เป็นผู้รักษาการผู้ใหญ่บ้านจนกว่าจะมีการเลือกผู้ใหญ่บ้านก็ได้

7.2 การเลือกผู้ใหญ่บ้าน

          การเลือกผู้ใหญ่บ้านให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และทำโดยวิธีลับ นายอำเภอแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกิน 3 คน และราษฎรในหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 4 คน แต่ไม่เกิน 7 คน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเมื่อราษฎรเลือกผู้ใดเป็นผู้ใหญ่บ้านแล้ว ให้นายอำเภอออกคำสั่งแต่งตั้งให้ถือว่าผู้นั้นได้เป็นผู้ใหญ่บ้านนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง แล้วให้นายอำเภอรายงานผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อออกหนังสือสำคัญ และผู้ใหญ่บ้านจะได้รับเงินเดือน[5] แต่มิใช่เงินงบประมาณประเภทเงินเดือน ถ้ากรณีที่มีการคัดค้านว่าการเลือกผู้ใหญ่บ้านเป็นไปโดยไม่สุจริต และเที่ยงธรรม ให้นายอำเภอดำเนินการสอบสวน ถ้าผลการสอบสวนได้ความตามผู้คัดค้านให้รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อสั่งให้พ้นจากตำแหน่งภายใน 90 วันนับแต่นายอำเภอมีคำสั่งแต่งตั้ง

7.3 ผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

          1. มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง

          2. ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช

          3. ไม่เป็นคนวิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

          4. มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ประจำ และมีชื่อในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 3 เดือน จนถึงวันเลือกตั้ง

7.4 ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้ (ม. 12)

          1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

          2. อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี ในวันรับเลือก

          3. มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นประจำ และมีชื่อในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 2 ปี จนถึงวันเลือกตั้ง

          4. ไม่เป็นผู้มีอิทธิพลหรือเสียชื่อในทางพาลหรือทางทุจริต หรือเสื่อมเสียในทางศีลธรรม

          5. ไม่เคยถูกให้ออก ปลดออก ไล่ออก จากราชการ รัฐวิสาหกิจ เพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่ และยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี

          6. ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด และยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี

          7. ไม่เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้ ป่าสงวน คุ้มครองสัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ ศุลกากร อาวุธปืน เครื่องกระสุนฯ ที่สาธารณประโยชน์ ยาเสพติด การเลือกตั้ง การพนัน (ห้ามโดยปริยาย)

          8. ไม่เคยถูกให้ออก เพราะราษฎรเข้าชื่อถอดถอน (ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง) ยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี

          9. ไม่เคยถูกให้ออก ปลดออก ไล่ออก จากตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ และยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี

          10. มีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาภาคบังคับ เว้นแต่ไม่อาจเลือกผู้มีพื้นความรู้ดังกล่าวได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยอนุมัติกระทรวงมหาดไทย ให้ยกเว้นหรือผ่อนผันได้[6]

7.5 การพ้นจากตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้าน

          เมื่อผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตำแหน่ง กำนันต้องเรียกหมายตั้งและสำมะโนครัว มารักษาไว้ และรีบส่งให้กรมการอำเภอ และให้ผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุต่อไปนี้

          1. มีอายุครบ 60 ปี[7]

          2. ขาดคุณสมบัติ เว้นแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ลาอุปสมบท

          3. ตาย

          4. ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอให้ลาออก

          5. หมู่บ้านที่ปกครองถูกยุบ

          6. ราษฎรเข้าชื่อไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งให้ออกจากตำแหน่ง ให้นายอำเภอสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง

          7. ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งพ้น เมื่อได้รับรายงานจากนายอำเภอว่าบกพร่องต่อหน้าที่

          8. ไปเสียจากหมู่บ้านที่ตนปกครองเกิน 3 เดือน

          9. ขาดประชุมประจำเดือน ที่นายอำเภอเรียกประชุม 3 ครั้งติดต่อกัน

          10. ถูกปลดออกหรือไล่ออกจากตำแหน่งเพราะผิดวินัยร้ายแรง

          11. ไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งต้องทำอย่างน้อยทุก 5 ปี

 7.6 หน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน

          ผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นหัวหน้าราษฎรในเขตของตน และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย

          1. อำนวยความเป็นธรรม รักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัย

          2. สร้างความสมานฉันท์ และความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน

          3. ประสาน อำนวยความสะดวกแก่ราษฎรในการติดต่อกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          4. รับฟังปัญหา ความเดือดร้อน ทุกข์สุข ความต้องการ แจ้งต่อ ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          5. สนับสนุน ส่งเสริม อำนวยความสะดวกของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          6. ควบคุมดูแลราษฎรให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย

          7. อบรม ชี้แจงให้ราษฎรมีความรู้ความเข้าใจในข้อราชการ กฎหมาย ระเบียบแบบแผน

          8. แจ้งให้ราษฎรช่วยเหลือกิจการสาธารณะประโยชน์ ปัดป้องภยันตราย บรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัย

          9. จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

          10. ปฏิบัติตามคำสั่งกำนัน หรือทางราชการ รายงานเหตุการณ์ไม่ปกติให้กำนัน และนายอำเภอทราบ

          11. ปฏิบัติตามภารกิจอื่น หรือตามกระทรวง ทบวงกรม หน่วยงานอื่นของรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ มอบหมาย

7.7 อำนาจผู้ใหญ่บ้านที่เกี่ยวด้วยความอาญา

          1. เมื่อทราบข่าวว่ามีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ให้แจ้งความต่อกำนัน

          2. เมื่อทราบข่าวว่ามีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นในหมู่บ้านใกล้เคียง ให้แจ้งความต่อผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านนั้น

          3. ตรวจพบของกลางได้มาโดยกระทำความผิด ใช้ในการทำความผิด ให้จับสิ่งของส่งต่อกำนัน

          4. เมื่อเห็นผู้ใดกำลังทำความผิด สงสัยว่าได้กระทำความผิด ให้จับตัวส่งต่อกำนัน

          5. ถ้ามีหมายหรือคำสั่งให้จับผู้ใด ให้จับผู้นั้นส่งต่อกำนัน หรือกรมการอำเภอ

          6. เมื่อเจ้าพนักงานออกหมายสั่งให้ค้น หรือยึด ผู้ใหญ่บ้านต้องจัดการตามหมาย

7.8 การรักษาการแทนผู้ใหญ่บ้าน

          ผู้ใหญ่บ้านจะทำการในหน้าที่ไม่ได้ในครั้งหนึ่งหรือคราวหนึ่ง ให้มอบหมายหน้าที่แก่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองเป็นผู้รักษาการแทน และรายงานให้กำนันทราบ ถ้าการมอบหน้าที่เกินกว่า 15 วัน ให้กำนันรายงานนายอำเภอทราบด้วย

8. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

          หมู่บ้านหนึ่งให้มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง หมู่บ้านละ 2 คน เว้นแต่หมู่บ้านใดจำเป็นต้องมีมากกว่า 2 คน ให้ขออนุมัติกระทรวงมหาดไทย หมู่บ้านใดผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควรให้มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบก็ให้มีได้ตามจำนวนที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และผู้ช่วยฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยฝ่ายรักษาความสงบ จะได้รับเงินตอบแทนตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

          ผู้ใหญ่บ้านและกำนัน ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกราษฎร เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ เมื่อได้ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ให้กำนันรายงานไปยังนายอำเภอ เพื่อออกหนังสือไว้เป็นหลักฐาน และให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ช่วยตั้งแต่วันที่นายอำเภอออกหนังสือสำคัญ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี และในกรณีที่หมู่บ้านใดมีผู้ช่วยฝ่ายรักษาความสงบ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะแต่งตั้ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง เป็นผู้ช่วยฝ่ายรักษาความสงบอีกตำแหน่งหนึ่งก็ได้ และในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย ให้ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ใช้อาวุธปืนของทางราชการได้

8.1 อำนาจหน้าที่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง

          1. ช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านตามหน้าที่เท่าที่ได้รับมอบจากผู้ใหญ่บ้านให้กระทำ

          2. เสนอข้อแนะนำ และคำปรึกษาต่อผู้ใหญ่บ้าน

          3. ตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้านร่วมกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ[8]

8.2 อำนาจหน้าที่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ

          1. ตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยในตำบล

          2. รู้เห็น-ทราบ เหตุเกี่ยวกับความไม่เรียบร้อยให้แจ้งความต่อผู้ใหญ่บ้าน

          3. มีคนจรเข้ามา และสงสัยว่าไม่ได้มาโดยสุจริต ให้นำตัวส่งผู้ใหญ่บ้าน

          4. มีเหตุร้ายเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ต้องระวัง ตามจับโดยเต็มกำลัง

          5. ตรวจพบ ตามจับ สิ่งของที่มีไว้ ได้ใช้ ได้มา โดยกระทำผิด ให้รีบส่งผู้ใหญ่บ้าน

          6. สงสัยว่าผู้ใดกระทำผิด กำลังจะหลบหนี ให้ควบคุมตัวส่งผู้ใหญ่บ้าน

          7. ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ใหญ่บ้านซึ่งสั่งโดยชอบ

9. การประชุม

          1. ให้กำนันเรียกผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล มาประชุมเพื่อปรึกษาหารือการที่จะรักษาหน้าที่ในตำบล ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง และผู้ใหญ่บ้านเรียกประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน ตามครั้งคราวที่เห็นสมควร แต่เมื่อรวมปีหนึ่งจะต้องมีการประชุมไม่น้อยกว่า 6 ครั้ง

          2. กำนันเรียกประชุมคณะกรรมการตำบลไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง

9.1 กำนันเรียกเฉพาะผู้ใหญ่บ้าน

          ผู้ว่าราชการเมือง หรือกรมการอำเภอ มีหมายประกาศข้อราชการ กำนันจะเรียกประชุมผู้ใหญ่บ้าน ชี้แจงก่อนก็ได้

9.2 กำนันเรียกผู้ใหญ่บ้านและแพทย์ประจำตำบลมาพร้อมกัน

          1. การทำรายงานประจำ หรือรายงานจร ให้กำนันเรียกประชุมผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลมาร่วมตรวจสอบก่อนและลงชื่อเป็นพยานก็ได้

          2. มีการนักขัตฤกษ์ หรือประชุมชนเป็นการใหญ่ กำนันจะเรียกผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลมาช่วยพิทักษ์รักษาความเรียบร้อยก็ได้

          3. เวลาข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้บังคับบัญชามาตรวจท้องที่ กำนันจะเรียกผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลมาประชุมพร้อมแจงข้อราชการก็ได้

10. วินัยและการดำเนินการทางวินัย

           กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบล ต้องรักษาวินัยโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ วินัยและโทษผิดวินัยให้ใช้กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนโดยอนุโลม[9] และเฉพาะในกรณีการดำเนินการทางวินัยผู้ใหญ่บ้าน ให้ใช้บังคับแก่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบโดยอนุโลม

10.1 อำนาจลงโทษ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล

          1. กำนันมีอำนาจลงโทษภาคทัณฑ์ผู้ใหญ่บ้าน

          2. นายอำเภอ มีอำนาจลงโทษกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลดังนี้

                    2.1 ลดอันดับเงินเดือนไม่เกิน 1 อันดับ

                    2.2 ตัดเงินเดือน เทียบฐานะผู้บังคับบัญชาเป็นหัวหน้าแผนก ผู้กระทำผิดเป็นเสมียนพนักงาน

                    2.3 ลงโทษภาคทัณฑ์

          3. ข้าหลวงประจำจังหวัด มีอำนาจลงโทษกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ ทุกสถาน กรณีตัดหรือลดเงินเดือนให้เทียบช้าหลวงประจำจังหวัดเป็นหัวหน้ากอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์เป็นเสมียนพนักงาน

10.2 การดำเนินการทางวินัย

          ผู้ใหญ่บ้านคนใดถูกฟ้องในคดีอาญา หรือต้องหาว่าทำผิดวินัยร้ายแรง ให้นายอำเภอสั่งให้พักหน้าที่ก็ได้ และเฉพาะโทษปลด หรือไล่ออก ถ้ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ ถูกลงโทษโดยเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม มีสิทธิร้องทุกข์ต่อกระทรวงมหาดไทย การร้องทุกข์ให้ทำคำร้องลงลายมือชื่อยื่นต่อนายอำเภอภายใน 15 วัน นับแต่ได้ทราบคำสั่งลงโทษ เพื่อนายอำเภอจะได้ส่งไปยังข้าหลวงประจำจังหวัด และกระทรวงมหาดไทยตามลำดับภายใน 15 วัน ให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจสั่งให้ยกคำร้อง เพิกถอน ลดโทษ

11. การจัดตั้งหมู่บ้าน ตำบล กิ่งอำเภอ และอำเภอ

          คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดตั้งหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอดังนี้ 

1. การจัดตั้งหมู่บ้าน         

1.1 กรณีเป็นชุมชนหนาแน่น

          1. เป็นชุมชนที่มีราษฎรไม่น้อยกว่า 1,200 คน หรือมีจำนวนบ้านไม่น้อยกว่า 240 บ้าน
          2. เมื่อแยกหมู่บ้านใหม่แล้ว หมู่บ้านใหม่ต้องมีราษฎรไม่น้อยกว่า 600 คน หรือมีจำนวนบ้านไม่น้อยกว่า 120 บ้าน
          3. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหมู่บ้าน สภาตำบลหรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ

1.2 กรณีเป็นชุมชนห่างไกล
          1. เป็นชุมชนที่มีราษฎรไม่น้อยกว่า 600 คน หรือมีจำนวนบ้านไม่น้อยกว่า 120 บ้าน 
          2. เมื่อแยกหมู่บ้านใหม่แล้ว หมู่บ้านใหม่ต้องมีราษฎรไม่น้อยกว่า 200 คน หรือมีจำนวนบ้านไม่น้อยกว่า 40 บ้าน
          3. ชุมชนใหม่ห่างจากชุมชนเดิมไม่น้อยกว่า 6 กิโลเมตร
          4. ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหมู่บ้าน สภาตำบลหรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ

2. การจัดตั้งตำบล

2.1 กรณีเป็นชุมชนหนาแน่น
          1. มีราษฎรไม่น้อยกว่า 4,800 คน หรือ
          2. มีหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 8 หมู่บ้าน
          3. ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและที่ประชุมหัวหน้าหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ

2.2 กรณีเป็นชุมชนห่างไกล
          1. มีราษฎรไม่น้อยกว่า 3,600 คน หรือ
          2. มีหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 6 หมู่บ้าน
          3. ชุมชนใหม่ห่างจากชุมชนเดิมไม่น้อยกว่า 6 กิโลเมตร
          4. ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอที่จะจัดตั้งเป็นตำบลใหม่

3. การจัดตั้งอำเภอและกิ่งอำเภอ

          คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 เห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดตั้งกิ่งอำเภอและอำเภอ ดังนี้

3.1 การจัดตั้งกิ่งอำเภอ[10]
         
1. มีราษฎรไม่น้อยกว่า 25,000 คน
         
2. มีตำบล 4 ตำบลขึ้นไป
         
3. ที่ว่าการอำเภอใหม่ควรมีระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอเดิมไม่น้อยกว่า 20 กิโลเมตร ทั้งนี้ ให้ใช้ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และข้อเท็จจริงจากการสำรวจของจังหวัดนำมาประกอบการพิจารณา
         
4. ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ ที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด ตามลำดับ         

 3.2 การจัดตั้งอำเภอ
         
1. ได้รับการจัดตั้งกิ่งอำเภอมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
         
2. มีราษฎรไม่น้อยกว่า 35,000 คน
         
3. ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด ตามลำดับ
         
หากการพิจารณาตั้งกิ่งอำเภอและอำเภอ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อ 1. และข้อ 2. แต่มีเหตุผลความจำเป็นพิเศษทางภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง หรือความมั่นคงเช่น 1) พื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว 2) พื้นที่ปัญหาด้านความไม่สงบเรียบร้อย 3) พื้นที่ชายแดน 4) พื้นที่โครงการพระราชดำริ ฯลฯ ให้กระทรวงมหาดไทยเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดตั้งเป็นกรณีไป


[1] คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดตั้งหมู่บ้าน ดังนี้  (และสามารถดูการจัดตั้งหมู่บ้าน ตำบล กิ่งอำเภอ และอำเภอ ท้ายสาระสำคัญของพระราชบัญญัตินี้)

1. การจัดตั้งหมู่บ้าน           

1.1 กรณีเป็นชุมชนหนาแน่น
           
1) เป็นชุมชนที่มีราษฎรไม่น้อยกว่า 1,200 คน หรือมีจำนวนบ้านไม่น้อยกว่า 240 บ้าน
           
2) เมื่อแยกหมู่บ้านใหม่แล้ว หมู่บ้านใหม่ต้องมีราษฎรไม่น้อยกว่า 600 คน หรือมีจำนวนบ้านไม่น้อยกว่า 120 บ้าน
           
3) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหมู่บ้าน สภาตำบลหรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ

1.2 กรณีเป็นชุมชนห่างไกล
           
1) เป็นชุมชนที่มีราษฎรไม่น้อยกว่า 600 คน หรือมีจำนวนบ้านไม่น้อยกว่า 120 บ้าน 
           
2) เมื่อแยกหมู่บ้านใหม่แล้ว หมู่บ้านใหม่ต้องมีราษฎรไม่น้อยกว่า 200 คน หรือมีจำนวนบ้านไม่น้อยกว่า 40 บ้าน
           
3) ชุมชนใหม่ห่างจากชุมชนเดิมไม่น้อยกว่า 6 กิโลเมตร
           
4) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหมู่บ้าน สภาตำบลหรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ

[2] เป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน

[3] อำนาจของกรมการอำเภอในปัจจุบันเป็นของนายอำเภอ ตามมาตรา 62 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2534 บัญญัติว่า “บรรดาอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกรมการอำเภอหรือนายอำเภอซึ่งกฎหมายกำหนดให้กรมการอำเภอและนายอำเภอมีอยู่ ให้โอนไปเป็นอำนาจและหน้าที่ของนายอำเภอ”

[4] คนที่ดูแลจริงๆ คือนายอำเภอกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น กำนันเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือตามมาตรา 22 ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรักษาคุ้มครองที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553

[5] ถ้าเป็นผู้ช่วยฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยฝ่ายรักษาความสงบ เรียกว่า เงินตอบแทน ไม่เรียกเงินเดือนเหมือนผู้ใหญ่บ้าน

[6] ข้อที่ 4. – 7 เป็นข้อที่เราทุกคนรู้โดยสามัญสำนึกอยู่แล้วว่าเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่ได้ คือ 4. เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ 5.ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช 6.ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ ติดยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นโรคตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา 7. ไม่เป็นสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือของรัฐวิสาหกิจ หรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือลูกจ้างของส่วนราชการ หรือลูกจ้างของเอกชนซึ่งมีหน้าที่ทำงานประจำ

[7] เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้านจะมีไว้มี 3 ช่วงนะครับจำให้ดีๆ คือ

1. ถ้าเป็นผู้ใหญ่บ้านก่อนวันที่ 7 กรกฎาคม 2535 ให้อยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะครบ 60 ปี

2. ถ้าเป็นผู้ใหญ่บ้านระหว่างวันที่ 7 กรกฎาคม 2535 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2551 ให้อยู่จนครบวาระ 5 ปี

3. ถ้าเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2551 ให้อยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะครบ 60 ปี

[8] เพิ่มเติมตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 102/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ ลงวันที่ วันที่ 21 กรกฎาคม 2557

[9] โทษทางวินัยใช้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ยกเว้นสารวัตรกำนัน

[10] เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบอนุมัติให้ร่างพระราชกฤษฎีกายกฐานะของกิ่งอำเภอขึ้นเป็นอำเภอ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานของหน่วยบริหารราชการส่วนภูมิภาค และถือเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ด้วย ซึ่งในช่วงนั้นประเทศไทยมีกิ่งอำเภอ 81 แห่ง ใน 39 จังหวัด ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 46 ก หน้า 14 มีผลให้กิ่งอำเภอทั้ง 81 แห่งในขณะนั้นยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอทั้งหมด ขณะนี้ประเทศไทยจึงไม่มีเขตการปกครองในระดับกิ่งอำเภอ