ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการคัดเลือกกำนัน พ.ศ.2551
1. นิยาม
“ที่คัดเลือกกำนัน” หมายความว่า สถานที่ที่กำหนดให้ทำการคัดเลือกกำนัน
“ผู้มีสิทธิลงคะแนน” หมายความว่า ผู้ใหญ่บ้านในตำบลที่มีการคัดเลือกกำนันซึ่งได้มาประชุม เพื่อคัดเลือกกำนัน และอยู่ในที่ประชุมนั้นขณะถึงเวลาลงคะแนน ณ ที่คัดเลือกนั้น
2. การคัดเลือกกำนันและการดำเนินการของอำเภอ
เมื่อตำแหน่งกำนันว่างลงให้มีการคัดเลือกกำนันขึ้นใหม่ภายใน 45 วัน หากมีความจำเป็นไม่อาจจัดให้มีการคัดเลือกกำนันภายใน 45 วัน ให้นายอำเภอรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดขอขยายเวลาออกไป และการคัดเลือกกำนันให้นายอำเภอดำเนินการดังนี้
1. ประกาศกำหนดให้มีการคัดเลือกกำนัน ภายใน 3 วัน
2. กำหนดวัน และเวลาประชุมคัดเลือกกำนัน ต้องไม่เกิน 45 วัน
3. ปิดประกาศให้มีการประชุมคัดเลือกกำนัน ภายใน 7 วัน
4. คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกประกอบด้วย นายอำเภอเป็นประธาน ผู้ที่นายอำเภอเห็นสมควร และปลัดอำเภอเป็นกรรมการและเลขานุการ
ให้นายอำเภอกำหนดให้ที่ว่าการอำเภอเป็นสถานที่คัดเลือกกำนัน การประชุมคัดเลือกกำนันต้องเป็นไปโดยเปิดเผย และต้องมีผู้ใหญ่บ้านมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง การเสนอชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกำนัน ให้ออกเสียงโดยวิธีลับ การลงคะแนนให้ใช้บัตรเลือกผู้ใหญ่บ้านโดยอนุโลม และให้นายอำเภอเป็นผู้สั่งปิดการลงคะแนน ถ้าผู้มีสิทธิลงคะแนนได้ทักท้วงการวินิจฉัยบัตรดี บัตรเสีย ให้มีสิทธิร้องคัดค้านต่อนายอำเภอ และให้นายอำเภอวินิจฉัยทันที
3. การคัดเลือกกำนัน ต้องเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
1. นับแต่วันที่นายอำเภอประกาศให้มีการคัดเลือกกำนันจนถึงวันคัดเลือก ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้ใหญ่บ้านคนใด เสนอชื่อหรืองดเว้นการเสนอชื่อหรือการลงคะแนนให้แก่ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งคนใดเพื่อรับการคัดเลือกเป็นกำนัน หรือมิให้ได้รับการคัดเลือกเป็นกำนัน ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
ก. จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด
ข. ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด มัสยิด สุเหร่า ศาลเจ้า โรงเจ โบสถ์คริสต์ โบสถ์พราหมณ์ สำนักปฏิบัติธรรม สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ สหกรณ์ กองทุนสงเคราะห์ ชุมนุม ชมรม สโมสร กลุ่ม องค์กร หรือสถาบันอื่นใดตามที่คณะกรรมการเลือกตั้งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภากำหนด
ค. จัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ รวมทั้งการแสดง และการละเล่นอื่นๆ
ง. เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด รวมถึงการจัดเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยง การประชุม อบรม สัมมนา ทัศนศึกษา หรือดูงาน เป็นต้น
จ. หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจผู้ใดให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้ใหญ่บ้านรายอื่น
2. ในวันคัดเลือก ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียง โดยวิธีการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการได้เปรียบหรือเสียเปรียบแก่ผู้ใหญ่บ้านคนใดจนสิ้นสุดการคัดเลือก
3. นับแต่วันที่นายอำเภอประกาศให้มีการคัดเลือกกำนันจนสิ้นสุดการคัดเลือก ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการคัดเลือก วางตัวเป็นกลางโดยเคร่งครัด ห้ามมิให้การกระทำใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งคนใด
4. นับแต่วันที่นายอำเภอประกาศให้มีการคัดเลือกกำนันจนสิ้นสุดการลงคะแนน ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใดๆ เพื่อให้เกิดการได้เปรียบหรือเสียเปรียบแก่ผู้สมัครคนใด
4. วิธีการคัดเลือก
ในการประชุมคัดเลือกกำนัน ให้นายอำเภอเป็นประธานในที่ประชุม ปลัดอำเภอเป็นเลขานุการทำหน้าที่รับลงทะเบียนผู้ใหญ่บ้านและกรรมการที่เข้าร่วมประชุม และจัดทำบันทึกรายงานการประชุมคัดเลือกกำนัน โดยให้นายอำเภอชี้แจงรายละเอียด เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และการรู้รักสามัคคี ตลอดจนการดำรงรักษาความเป็นมิตร เป็นเพื่อนบ้าน และความเป็นญาติพี่น้องในพื้นที่ทั้งก่อนและหลังการคัดเลือกให้ผู้ใหญ่บ้านและราษฎรที่สนใจติดตามการคัดเลือกกำนันได้รับทราบ
การประชุมคัดเลือกกำนันต้องเป็นไปโดยเปิดเผยและต้องมีผู้ใหญ่บ้านมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ใหญ่บ้านทั้งหมดที่มีอยู่ในตำบลนั้น ผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้นคนหนึ่ง มีสิทธิเสนอชื่อผู้ใหญ่บ้านในตำบลนั้น หรือเสนอชื่อตนเองเป็นกำนันได้หนึ่งคน กรณีมีการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นกำนันเพียงคนเดียว ให้นายอำเภอคัดเลือกผู้นั้นเป็นกำนัน แล้วให้นายอำเภอประกาศผลการคัดเลือกกำนัน โดยปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในตำบลนั้น
กรณีมีการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นกำนันมากกว่าหนึ่งคนให้นายอำเภอจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนโดยวิธีลับและให้เสร็จสิ้นในวันประชุมคัดเลือก การลงคะแนนโดยวิธีลับให้ใช้บัตรเลือกผู้ใหญ่บ้านโดยอนุโลม
5. การประกาศผลและการออกหนังสือสำคัญ
ให้นายอำเภอประกาศผลการนับคะแนน ณ ที่คัดเลือกกำนัน ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน แล้วรายงานผลการประกาศผล ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับรายงานการประกาศผลให้ออกหนังสือสำคัญไว้เป็นหลักฐาน
6. บัตรเลือกที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย
1. บัตรปลอม
2. บัตรที่มิได้ทำเครื่องหมายลงคะแนน
3. บัตรที่ไม่อาจทราบได้ว่าลงคะแนนให้กับผู้ใด
4. บัตรที่ได้ทำเครื่องหมายลงคะแนนแล้วทำเครื่องหมายในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนด้วย
5. บัตรที่ทำเครื่องหมายในช่องทำเครื่องหมายเกินกว่าหนึ่งเครื่องหมาย
6. บัตรที่ทำเครื่องหมายอื่นนอกจากเครื่องหมายกากบาท
7. บัตรที่ทำเครื่องหมายลงคะแนนนอก “ช่องทำเครื่องหมาย” หรือนอก “ช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน”
8. บัตรที่มีเครื่องหมายสังเกต หรือข้อความอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้
7. การคัดค้านและการทำลายบัตร
เมื่อนายอำเภอประกาศผลการนับคะแนนแล้ว ผู้ใดเห็นว่าการคัดเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริต และเที่ยงธรรม ให้ทำคำร้องคัดค้านเป็นหนังสือต่อนายอำเภอ ภายใน 15 วัน และเมื่อนายอำเภอได้รับคำร้องคัดค้านแล้ว ให้รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบและให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสอบสวนวินิจฉัยภายใน 30 วัน หากผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริต ให้สั่งให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับการคัดเลือก แล้วให้นายอำเภอดำเนินการคัดเลือกกำนันภายใน 30 วัน ทั้งนี้นายอำเภอจะทำลายบัตรเลือกและเอกสารได้เมื่อพ้นกำหนดเวลาคัดค้าน ไม่น้อยกว่า 7 วัน