กฎหมายเกี่ยวกับการเป็นกรรมการหมู่บ้าน

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การเป็นกรรมการหมู่บ้านการปฏิบัติหน้าที่การประชุม พ.ศ. 2551

1. องค์กรในหมู่บ้านหรือกลุ่มอาชีพ

          กลุ่มบ้าน ได้แก่ บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันเป็นกลุ่มย่อยภายในหมู่บ้าน

          กลุ่มอาชีพ ได้แก่ กลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพ

          กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ กลุ่มที่มีการจัดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของสมาชิก ในกลุ่ม หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

2. ผู้นำกลุ่ม

          ผู้นำของกลุ่มดังต่อไปนี้ เป็นกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง (ผู้นำเท่านั้น) และผู้นำกลุ่มบ้านต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน

          1. กลุ่มบ้านตามประกาศของนายอำเภอ

          2. กลุ่ม กลุ่มกิจกรรม ซึ่งมาจากการรวมตัวของสมาชิก ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย

          3. กลุ่มอาชีพ กลุ่มกิจกรรม ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 20 คน สมาชิกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง มีภูมิลำเนาในหมู่บ้าน และต้องเป็นกลุ่มที่ดำเนินการมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 6 เดือน

3. การจัดทำบัญชีรายชื่อกลุ่มบ้าน

          ให้นายอำเภอ จัดทำประกาศจำนวนรายชื่อของกลุ่มบ้าน โดยกลุ่มบ้านให้ประกอบด้วยบ้านเรือนจำนวน 15 – 20 หลังคาเรือนโดยประมาณ

          ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกกลุ่มอาชีพ กลุ่มกิจกรรม เสนอชื่อกลุ่มอาชีพให้นายอำเภอพิจารณา โดยให้นายอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่ง จำนวนไม่น้อยกว่า 5 แต่ไม่เกิน 7 คน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ และให้นายอำเภอจัดทำบัญชีรายชื่อกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มกิจกรรม และถ้ากลุ่มหรือองค์กร ถูกยุบ เลิก หรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องเกิน 1 ปี ให้ถือว่าสิ้นสุดสภาพขอการเป็นกลุ่ม และกรรมการหมู่บ้านรายงานนายอำเภอ

4. กรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ

          ให้เลือกกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิครั้งแรก ภายใน 90 วัน การประชุมเลือกกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ ให้นายอำเภอจัดทำประกาศกำหนดวัน เวลา สถานที่ ในการประชุม และปิดประกาศให้ราษฎรทราบไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันประชุม กรณีไม่สามารถประชุมหรือเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ ให้นายอำเภอกำหนดให้มีการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ภายใน 15 วัน เมื่อได้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ให้ผู้ใหญ่บ้านรายงานให้นายอำเภอแต่งตั้งต่อไป

          การเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้ผู้เข้าร่วมประชุม เสนอชื่อบุคคลในหมู่บ้านที่จะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน และให้ผู้เข้าประชุมรับรองอย่างน้อย 3 คน และถ้าเป็นการเลือกโดยวิธีเปิดเผย ให้ยกมือพ้นศีรษะ ถ้าการเลือกโดยวิธีลับ ให้ใช้วิธีหย่อนบัตร โดยใช้บัตรเลือกผู้ใหญ่บ้านโดยอนุโลม

          คณะกรรมการดำเนินการประชุมเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย 1. ผู้ใหญ่บ้าน เป็นประธาน 2. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นกรรมการ 3. ให้นายอำเภอแต่งตั้ง ปลัดอำเภอ ข้าราชการในอำเภอ 1 คน กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน 1 คน  เป็นที่ปรึกษาและทำหน้าที่สักขีพยาน

          กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันที่นายอำเภอประกาศแต่งตั้ง[1] ถ้ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่างลง และมีกรรมการเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 2 คน ให้กรรมการหมู่บ้านเหลือเท่าที่มีอยู่ แต่ถ้าว่างลงจนเป็นเหตุให้กรรมการหมู่บ้านเหลืออยู่ไม่ถึง 2 คน และมีวาระเหลืออยู่น้อยกว่า 180 วัน ให้นายอำเภอจัดให้มีการประชุมเลือกกรรมการ ภายใน 30 วัน และถ้ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครบวาระหรือพ้นจากตำแหน่งพร้อมกัน ให้นายอำเภอจัดให้มีการประชุมเลือก ภายใน 30 วัน

5. คณะทำงาน

          ให้ปลัดอำเภอประจำตำบล กำนัน นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการในตำบล และให้มีคณะทำงานด้านต่างๆ ให้กรรมการเลือกราษฎรในหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 3 คน เป็นคณะทำงานด้านต่างๆ ทั้ง 6 ด้านดังนี้

          1. คณะทำงาน ด้านอำนวยการ ประกอบด้วย 1. ประธานกรรมการหมู่บ้าน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน 2. รองประธานกรรมการหมู่บ้าน 3. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 4. หัวหน้าคณะทำงานด้านต่างๆ 5. เลขานุการและ 6. เหรัญญิก

          2. คณะทำงาน ด้านปกครอง และรักษาความสงบเรียบร้อย ให้เลือกจาก ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

          3. คณะทำงาน ด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน

          4. คณะทำงาน ด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ

          5. คณะทำงาน ด้านสังคม

          6. คณะทำงาน ด้านการศึกษา

6. การประชุมและการเสนอความเห็น  

          คณะกรรมการหมู่บ้านให้มีการประชุมภายใน 7 วัน หลังจากประชุมประจำเดือนของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้านไม่น้อยกว่า 10 คน อาจเสนอความเห็นกิจกรรมหรือประโยชน์สาธารณะได้

7. การควบคุมดูแล

          ให้นายอำเภอมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน และปลัดอำเภอประจำตำบล มีอำนาจออกคำสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน หรือมติที่ประชุมแล้วรายงานนายอำเภอ ภายใน 7 วัน เพื่อให้นายอำเภอวินิจฉัยโดยเร็ว


[1] ผู้ทรงในคณะกรรมการตำบลดำรงตำแหน่ง 5 ปี, ผู้ทรงในคณะกรรมการหมู่บ้านดำรงตำแหน่ง 4 ปี