ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนตำแหน่ง และเงินอื่นๆ ให้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ พ.ศ. 2546
1. อัตราเงินค่าตอบแทน
เงินตอบแทนตำแหน่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ให้จ่ายในอัตรา ดังนี้[1]
1. กำนัน ให้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท
2. ผู้ใหญ่บ้าน ให้จ่ายเดือนละ 8,000 บาท
3. แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ให้จ่ายเดือนละ 5,000 บาท
2.อัตราค่าตอบแทนกรณีดำรงตำแหน่งควบ
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ถ้าดำรงตำแหน่งเกินกว่าหนึ่งตำแหน่งให้มีสิทธิได้รับเงินตอบแทนตำแหน่ง เพียงตำแหน่งเดียว เว้นแต่แพทย์ประจำตำบล ที่ดำรงตำแหน่งแพทย์ประจำตำบลอื่นด้วย ให้มีสิทธิรับค่าตอบแทน ไม่เกิน 2 ตำบล
3. หลักเกณฑ์การจ่ายเงินตอบแทน
3.1 กำนัน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนัน
ให้จ่ายเงินค่าตอบแทน 1. ก่อนวันอนุญาตให้ลาออกหรือก่อนวันที่ระบุในคำสั่งให้ลาออก 2. ก่อนวันที่ระบุในคำสั่งหรือประกาศยุบตำบล 3. ก่อนวันที่ระบุในคำสั่งให้พักหน้าที่ 4. ก่อนวันที่ระบุในคำสั่งไล่ออกหรือปลดออกจากตำแหน่ง 5. ก่อนวันที่ระบุในคำสั่งให้ออกจากตำแหน่ง 6. กรณีต้องออกจากตำแหน่งกำนัน แต่ไม่ต้องออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านให้จ่ายเงินตอบแทนตำแหน่งให้ ในอัตราของผู้ใหญ่บ้าน แล้วแต่กรณี
3.2 แพทย์ประจำตำบล
กรณีแพทย์ได้รับเงินตอบแทนหลายตำบล ถ้าตายให้ได้รับค่าช่วยทำศพเพียง 3 เท่าของเงินตอบแทนตำแหน่งเดือนสุดท้ายเพียงตำแหน่งเดียว
3.3 ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
ให้จ่ายเงินค่าตอบแทน 1. ก่อนวันที่ระบุในคำสั่งให้ออก 2. ก่อนวันอนุญาตให้ลาออกหรือก่อนวันที่ระบุในคำสั่งให้ลาออก 3. ก่อนวันที่ระบุในคำสั่งหรือประกาศยุบหมู่บ้าน 4. ก่อนวันที่ระบุในคำสั่งให้พักหน้าที่ 5. ก่อนวันที่ระบุในคำสั่งไล่ออกหรือปลดออกจากตำแหน่ง 6. ก่อนวันที่ระบุในคำสั่งให้ออกจากตำแหน่ง 7. กรณีหมดวาระให้จ่ายจนถึงวันที่ครบวาระ 8. กรณีตายให้จ่ายเงินตอบแทนตำแหน่งสำหรับเดือนที่ตายนั้นให้ตลอดทั้งเดือน และให้จ่ายเงินอีก 3 เท่าของเงินตอบแทนตำแหน่งเดือนสุดท้ายเป็นค่าช่วยเหลือในการทำศพ แล้วแต่กรณี
3.4 ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ
กรณีออกจากตำแหน่ง เมื่อผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตำแหน่ง ให้จ่ายเพียงก่อนวันที่ระบุในคำสั่งให้ออกจากตำแหน่ง
4. การเรียกเงินค่าตอบแทนคืน
กรณีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม อันเกิดจากการไม่สุจริต ได้แก่ 1. แสดงข้อความอันเป็นเท็จ 2. ให้ข้อความไม่ถูกต้องในสาระสำคัญ 3. รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เรียกคืนเงินค่าตอบแทนและเงินอื่นๆ ที่ได้รับมา
5. อัตราค่าตอบแทนกรณีไม่อยู่ในหมู่บ้านแล้วภายหลังได้ปฏิบัติตามกฎหมายให้
ผู้ใหญ่บ้านซึ่งไม่อยู่ในหมู่บ้านที่ปกครอง ถ้าไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องที่ ให้ถือว่าขาดจากราชการและไม่ให้จ่ายเงินตอบแทนตามส่วนจำนวนวันที่ขาดแต่ถ้าได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว ให้จ่ายเงินตอบแทนตำแหน่งไม่เกินระยะเวลา 3 เดือน ส่วนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ซึ่งไม่อยู่ในหมู่บ้าน ถ้าไม่ได้แจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านทราบ ก็ให้ถือว่าขาดราชการและไม่ให้จ่ายเงินตอบแทนตามส่วนจำนวนวันที่ขาด แต่ถ้าได้แจ้งผู้ใหญ่บ้านทราบแล้วให้จ่ายเงินตอบแทนตำแหน่งให้ไม่เกินระยะเวลา 3 เดือน
6. อัตราค่าตอบแทนกรณีไปประกอบพิธีฮัจย์หรืออุปสมบท
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ที่นับถือศาสนาอิสลาม ยังไม่เคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ เมื่อได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนได้ไม่เกิน 120 วัน ถ้ากำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน (2 ตำแหน่งนี้เท่านั้น) ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ลาอุปสมบท ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนได้ไม่เกิน 120 วัน
7. อัตราค่าตอบแทนถ้าตายระหว่างถูกสั่งพักหน้าที่
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ถูกสั่งพักหน้าที่ ถ้าตายไปก่อนคดีหรือกรณีคดีถึงที่สุด ให้จ่ายเงินอีก 3 เท่าของเงินค่าตอบแทน เป็นค่าช่วยเหลือในการทำศพ
8. สิทธิได้รับเงินช่วยเหลือการศึกษาของบุตร
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเกี่ยวกับการ ศึกษาบุตร เฉพาะบุตรที่ศึกษาในระดับไม่สูงกว่า มัธยมศึกษาตอนปลาย สายสามัญและสายอาชีพ
[1] ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป