กฎหมายเกี่ยวกับการวิธีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน พ.ศ. 2559

1. ความเป็นมา

          พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 มีบทบัญญัติกำหนดให้ผู้ใหญ่บ้าน ต้องพ้นจากตำแหน่ง ด้วยเหตุไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งต้องทำ อย่างน้อยทุก 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง

2. การบังคับใช้

          บังคับกับผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติลักษณะ ปกครองท้องที่พระพุทธศักราช 2457 ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2551 เป็นต้นไป และผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการแต่งตั้ง และดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี ก่อนวันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ ให้เข้ารับการประเมินผลครั้งแรกภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ ส่วนการประเมินผล ครั้งถัดไปให้ดำเนินการประเมินผลทุก 4 ปี นับแต่วันที่นายอำเภอประกาศให้ผ่านการประเมินผล

3. การประเมินผลผู้ใหญ่บ้าน

          ให้มีการประเมินผลผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการแต่งตั้ง และดำรงตำแหน่งครบ 5 ปี ส่วนการประเมินผลครั้งถัดไปให้ดำเนินการประเมินผลทุก 4 ปี นับแต่วันที่นายอำเภอประกาศให้ผ่าน การประเมินผล โดยนายอำเภอจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 45 วัน นับแต่วันที่ต้องมีการประเมินผล

4. ประกาศกำหนดให้มีการประเมินผล

          ในการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน ให้นายอำเภอดำเนินการประกาศกำหนดให้มีการประเมินผล และปิดประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน และที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ที่เข้ารับการประเมินผล ในประกาศอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังนี้
          1. ชื่อผู้เข้ารับการประเมินผล
          2. คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผล
          3. กำหนดวัน และสถานที่ส่งรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน

5. คณะกรรมการประเมินผล

          ให้นายอำเภอแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลประกอบด้วย นายอำเภอเป็นประธานหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ หรือกำนันในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จำนวนหนึ่งคน เป็นกรรมการ และปลัดอำเภอคนหนึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการซึ่งคณะกรรมการประเมินผลมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้          1. แสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ ของผู้ใหญ่บ้าน
          2. รับฟังความคิดเห็นจากราษฎรในหมู่บ้าน
          3. บันทึกรายงานการประเมินผลและเอกสารประกอบการประเมินผลพร้อมทั้งความเห็นเสนอนายอำเภอเพื่อดำเนินการต่อไป  
          4. ประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านให้เป็นไปตามที่ระเบียบกฎหมายกำหนด

6. องค์ประกอบของการประเมิน

          การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ด้าน ดังต่อไปนี้                      
          1. ด้านการปฏิบัติหน้าที่           
          2. ด้านคุณลักษณะความเป็นผู้นำ
          3. ด้านความพึงพอใจ    

7. เหตุแห่งการคัดค้านเพื่อขอเปลี่ยนกรรมการประเมินผล

          ผู้เข้ารับการประเมินผลผู้ใดเห็นว่า ตนอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมอันเนื่องมาจาก คณะกรรมการประเมินผล ให้ร้องคัดค้านเพื่อขอเปลี่ยนกรรมการประเมินผล โดยยื่นคำร้องเป็นหนังสือ พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อนายอำเภอภายใน 3 วัน
          ให้นายอำเภอตรวจสอบพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องคัดค้าน โดยคำวินิจฉัยของนายอำเภอให้ถือเป็นที่สุด ซึ่งเหตุแห่งการคัดค้านเพื่อขอเปลี่ยนกรรมการประเมินผล มีดังนี้

          1. เป็นบุคคลซึ่งอยู่ระหว่างเป็นคู่กรณีในศาล
          2. เป็นบุคคลซึ่งได้ร้องเรียนผู้เข้ารับการประเมินผลและผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ
          3. เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของผู้เข้ารับการประเมินผล
          4. เป็นญาติของคู่กรณี คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้อง หรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายใน 3 ชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียง 2 ชั้น
          5. เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของผู้เข้ารับ การประเมินผล
          6. เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ของผู้เข้ารับการประเมินผล
          7. เหตุอื่นใด ซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การประเมินผลไม่เป็นกลาง

8. การรับฟังความคิดเห็น

          การรับฟังความคิดเห็นของราษฎรในหมู่บ้านต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เข้ารับการประเมินผลคณะกรรมการประเมินผลอาจมอบหมายให้กรรมการประเมินผลคนหนึ่งคนใดไปรับฟัง ความคิดเห็นของราษฎร ในหมู่บ้านเพื่อประกอบการประเมินผล ตามจำนวนที่คณะกรรมการประเมินผลกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 20 คน โดยต้องให้ทั่วถึงและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับพื้นที่

9. การประเมินผล “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน”

          การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน ให้คณะกรรมการประเมินผล พิจารณาจากผลรวมที่ประเมินได้ในระดับ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” หากมีผลการประเมิน[1] (องค์ประกอบ 3 ด้าน) รวมกันไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนการประเมินผลทั้งหมดที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ ไม่ผ่านการประเมินผล
         
ให้นายอำเภอประกาศผลการประเมิน ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนัน และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านที่เข้ารับการประเมินผล พร้อมทั้งแจ้งผลการประเมินให้ผู้เข้ารับการประเมินผลทราบ
         
ในกรณีที่ไม่ผ่านการประเมินผล ให้นายอำเภอออกคำสั่งให้ผู้เข้ารับการประเมินผล พ้นจากตำแหน่ง นับแต่วันประกาศผลการประเมิน ผู้เข้ารับการประเมินผลที่ไม่ผ่านการประเมินผล และได้รับคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการประเมินผล และให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาใช้บังคับ


[1] การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ด้าน ดังต่อไปนี้                    
1. ด้านการปฏิบัติหน้าที่                   
2. ด้านคุณลักษณะความเป็นผู้นำ
3. ด้านความพึงพอใจ