สาระสำคัญของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในการสอบปลัดอำเภอนั้นนำมาออกข้อสอบแต่ไม่มากประมาณ 1 – 2 ข้อ เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้นเป็นกฎหมายที่บังคับระหว่างเอกชนกับเอกชนมากกว่า ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐและเอกชน แต่ก็ออกข้อสอบทุกครั้งที่มีการสอบปลัดอำเภอ เนื่องจากได้กำหนดไว้ในหลักสูตรการสอบ เพื่อให้ครอบคลุม และไม่ให้คะแนนเสียไป เพราะหนึ่งคะแนนในการสอบปลัดอำเภอนั้นมีความหมายมาก ทาง ว.วิชาการ จึงได้นำหลักกฎหมายที่เคยออกข้อสอบ และเป็นหัวใจหรือ Keyword “คีย์เวิร์ด” สำคัญที่สามารถนำมาเป็นข้อสอบได้ จึงทำให้ท่านผู้อ่านมั่นใจได้ว่าในส่วนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพียงแค่อ่านหลักกฎหมายต่อไปนี้ ก็ทำข้อสอบได้แล้ว
1. ความหมายและนิยามที่สำคัญ
1. “คำฟ้อง” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาลไม่ว่าจะได้เสนอด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือ ไม่ว่าจะได้เสนอต่อศาลชั้นต้น หรือชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอหรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไข หรือฟ้องแย้งหรือโดยสอดเข้ามาในคดีไม่ว่าด้วยสมัครใจ หรือถูกบังคับ หรือโดยมีคำขอให้พิจารณาใหม่
2. “คำให้การ” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้อง
3. “คำคู่ความ” หมายความว่า บรรดาคำฟ้อง คำให้การหรือคำร้องทั้งหลายที่ยื่นต่อศาลเพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ
4. “คำแถลงการณ์” หมายความว่า คำแถลงด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งกระทำหรือยื่นต่อศาล ด้วยมุ่งหมายที่จะเสนอความเห็นต่อศาลในข้อความในประเด็นที่ได้ยกขึ้นอ้างในคำคู่ความหรือในปัญหาข้อใดที่ศาลจะพึงมีคำสั่งหรือคำพิพากษา
5. “กระบวนพิจารณา” หมายความว่า การกระทำใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันเกี่ยวด้วยคดีซึ่งได้กระทำไปโดยคู่ความในคดีนั้นหรือโดยศาล หรือตามคำสั่งของศาลไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่ความฝ่ายใดทำต่อศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือศาลทำต่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย และรวมถึงการส่งคำคู่ความและเอกสารอื่นๆ
6. “การพิจารณา” หมายความว่า กระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่งก่อนศาลนั้นชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง
7. “การนั่งพิจารณา” หมายความว่า การที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีเช่น ชี้สองสถาน สืบพยาน ทำการไต่สวน ฟังคำขอต่าง ๆ และฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจา
2. เขตอำนาจศาล และภูมิลำเนาของจำเลย
ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักรให้ศาลแพ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ
ถ้าจำเลยเคยมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่ใดในราชอาณาจักรภายในกำหนด 2 ปีก่อนวันที่มีการเสนอคำฟ้อง ให้ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย และถ้าจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักรไม่ว่าโดยตนเองหรือตัวแทน หรือโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าว หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนด 2 ปีก่อนนั้น เป็นภูมิลำเนาของจำเลย
3. การเสนอคำฟ้อง และคำร้องขอ
คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่
คำร้องขอ ให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
4. คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก
คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย
5. การขอค้านเรื่องผิดระเบียบ
ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น
6. คู่ความมรณะ
ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไป จนกว่าทายาทของผู้มรณะหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้มรณะ หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกไว้ จะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะโดยมีคำขอเข้ามา ภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นมรณะ
7. การออกหมายส่งสำเนาคำฟ้อง
เมื่อศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายส่งสำเนาคำฟ้อง ให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดี และภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันยื่นคำฟ้อง ให้โจทก์ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมาย
8. กรณีที่ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง
ภายหลังที่ได้เสนอคำฟ้องแล้ว โจทก์เพิกเฉยไม่ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายเรียกให้แก้คดีแก่จำเลย และไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุแห่งการเพิกเฉยเช่นว่านั้นภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันยื่นคำฟ้อง
9. คำให้การ และคำให้การฟ้องแย้ง
เมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว ให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน และถ้าจำเลยฟ้องแย้งรวมมาในคำให้การ ให้โจทก์ทำคำให้การแก้ฟ้องแย้งยื่นต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้ส่งคำให้การถึงโจทก์
10. การขอแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การ
การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้วให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน และเมื่อได้ยื่นคำฟ้อง คำให้การ และคำให้การแก้ฟ้องแย้งถ้าหากมีแล้วให้ศาลทำการชี้สองสถานโดยแจ้งกำหนดวันชี้สองสถานให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน
11. กำหนดวันสืบพยานในการชี้สองสถาน
กรณีที่มีการชี้สองสถาน ให้ศาลกำหนดวันสืบพยานซึ่งมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 วันนับแต่วันชี้สองสถาน
12. คดีมโนสาเร่
คดีมโนสาเร่ คือคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท หรือคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่า ผู้อาศัย ผู้ละเมิดบุกรุกเข้ามาในที่ดินอสังหาริมทรัพย์ มีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 30,000 บาทและในคดีมโนสาเร่ ให้ศาลนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันไปโดยไม่ต้องเลื่อน เว้นแต่มีเหตุจำเป็น ศาลจะมีคำสั่งเลื่อนได้ครั้งละไม่เกิน 7 วัน
13. จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ให้โจทก์มีคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด
14. การขอให้พิจารณาคดีใหม่
คำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ
15. คดีที่ห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
คดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง การห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง มิได้ให้บังคับกับคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวและคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ / เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท
16. การยื่นอุทธรณ์
การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนด 1เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
17. การยื่นฎีกา
กรณีที่ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งในชั้นอุทธรณ์แล้วนั้น ให้ยื่นฎีกาได้ภายในกำหนด 1เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์นั้น (หนังสือให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น เช่นกัน)
18. คดีที่ห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
คดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง การห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง มิได้ให้บังคับกับคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว และคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ / เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท
19. ระยะเวลาในการบังคับคดี
ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา หรือคำสั่งนั้นได้ภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
20. ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ไม่อยู่ในการบังคับคดี
ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
1. เครื่องนุ่งห่มหลับนอนหรือเครื่องใช้ในครัวเรือนหรือเครื่องใช้สอยส่วนตัวโดยประมาณรวมกันราคาไม่เกิน 50,000 บาท ในกรณีที่ศาลเห็นสมควร ศาลจะกำหนดทรัพย์สินดังกล่าวที่มีราคาเกิน 50,000 บาท ให้เป็นทรัพย์สินที่ไม่ต้องอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นตามฐานะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
2. เครื่องมือหรือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการเลี้ยงชีพหรือประกอบวิชาชีพโดยประมาณรวมกันราคาไม่เกิน 100,000 บาท
3. วัตถุ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ทำหน้าที่แทนหรือช่วยอวัยวะของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
4. ทรัพย์สินอย่างใดที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย หรือตามกฎหมายย่อมไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
21. ทรัพย์สินที่ยึดมาตรวจดูได้ แต่ห้ามขายทอดตลาด
ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอันมีลักษณะเป็นของส่วนตัวโดยแท้ เช่นหนังสือสำหรับวงศ์ตระกูลโดยเฉพาะ จดหมายหรือสมุดบัญชีต่าง ๆ นั้น อาจยึดมาตรวจดูเพื่อประโยชน์แห่งการบังคับคดีได้ ถ้าจำเป็น แต่ห้ามมิให้เอาออกขายทอดตลาด[1]
[1] ออกข้อสอบปลัดอำเภอ ประจำปี 2555