สาระสำคัญของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้เนื่องจากตำแหน่งปลัดอำเภอไม่ได้ใช้กฎหมายโดยตรงอย่างผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ เป็นต้น ดังนั้นจึงได้นำเนื้อหาที่สำคัญ เฉพาะเป็นประเด็นสอบเท่านั้น ดังนั้นแม้เนื้อหาของประมวลกฎหมายนี้จะเยอะ ให้ท่านมั่นใจได้เลยว่าอ่านแค่นี้ก็ถือว่ามากพอแล้วสำหรับความรู้ที่จะใช้สอบในวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะหนังสือของสำนักอื่นฯ ก็ไม่ได้เขียนไว้แต่อย่างใด หรือแนะนำให้ไปอ่านประมวลโดยตรง ซึ่งเนื้อหาก็มาก จนไม่รู้ว่าจะไปอ่านตรงไหน หรือตรงไหนคือสาระสำคัญ แต่ทาง ว.วิชาการก็ได้นำสาระสำคัญที่เกี่ยวกับปลัดอำเภอที่กรมการปกครอง สามารถออกข้อสอบได้มาให้ท่านได้ศึกษา ดังนี้
1. ความหมายและนิยามที่สำคัญ
“ผู้ต้องหา” หมายความถึง บุคคลผู้ถูกหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล
“จำเลย” หมายความถึง บุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด
“พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ” หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
“พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่” หมายความถึง เจ้าพนักงานดังต่อไปนี้
1. ปลัดกระทรวงมหาดไทย
2. รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
3. ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย
4. ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย
5. อธิบดีกรมการปกครอง
6. รองอธิบดีกรมการปกครอง
7. ผู้อำนวยการกองการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง
8. หัวหน้าฝ่ายและหัวหน้างานในกองการสอบสวนและนิติการกรมการปกครอง
9. ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง
10. ผู้ว่าราชการจังหวัด
11. รองผู้ว่าราชการจังหวัด
12. ปลัดจังหวัด
13. นายอำเภอ
14. ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ
15. อธิบดีกรมตำรวจ
16. รองอธิบดีกรมตำรวจ
17. ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ
18. ผู้บัญชาการตำรวจ
19. รองผู้บัญชาการตำรวจ
20. ผู้ช่วยบัญชาการตำรวจ
21. ผู้บังคับการตำรวจ
22. รองผู้บังคับการตำรวจ
23. หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด
24. รองหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด
25. ผู้กำกับการตำรวจ
26. ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเขต
27. รองผู้กำกับการตำรวจ
28. รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเขต
29. สารวัตรใหญ่ตำรวจ
30. สารวัตรตำรวจ
31. ผู้บังคับกองตำรวจ
32. หัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
33. หัวหน้ากิ่งสถานีตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรี หรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
ทั้งนี้ หมายความรวมถึง ผู้รักษาการแทนเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว แต่ผู้รักษาการแทนเจ้าพนักงานใน (31.) (32.) และ (33.) ต้องมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไปด้วย
2. อำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย
สิทธิของหญิงมีสามี ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้จัดการ มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ได้ในเรื่องต่อไปนี้
1. ร้องทุกข์
2. เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
3. เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
4. ถอนฟ้องคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
5. ยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัว
3. การฟ้องคดีของหญิงที่มีสามี
ในคดีอาญาถ้าผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามี หญิงนั้นมีสิทธิฟ้องคดีได้เองโดยมิต้องได้รับอนุญาตของสามีก่อน
4. ผู้ที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย
1. ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดที่ได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถที่อยู่ในความดูแล
2. ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
3. ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิดที่กระทำลงแก่นิติบุคคล
5. สิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา
ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมและให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีสิทธิดังต่อไปนี้ด้วย
1. พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
2. ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน
3. ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร
4. ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
6. สิทธิของจำเลยเมื่อยื่นฟ้องแล้ว
สิทธิของจำเลย นับแต่เวลาที่ยื่นฟ้องแล้วมีดังต่อไปนี้
1. ได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม
2. แต่งทนายความแก้ต่างในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาในศาลชั้นต้นตลอดจนชั้น
ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา
3. ปรึกษาทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
4. ตรวจดูสิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐาน และคัดสำเนาหรือถ่ายรูปสิ่งนั้นๆ
5. ตรวจดูสำนวนการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาของศาล และคัดสำเนาหรือขอรับสำเนาที่รับรองว่าถูกต้องโดยเสียค่าธรรมเนียม เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมนั้น
6. ตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตนในชั้นสอบสวนหรือเอกสารประกอบคำให้การของตน
7. ผู้ที่มีอำนาจในการสืบสวนคดีอาญา
พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญา
8. ผู้ที่มีอำนาจในการสอบสวนคดีอาญา
ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี[1] พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอ และข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้
สำหรับในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญา
9. เขตอำนาจในการสอบสวน
1. เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่
2. เมื่อความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่ง
3. เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่างๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป
4. เมื่อเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรม กระทำลงในท้องที่ต่างๆ กัน
5. เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้ต้องหากำลังเดินทาง
6. เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง
พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ และในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน
1. ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้ว คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจ
2. ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้ คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจ
10. การชี้ขาดอำนาจการสอบสวน
ในกรณีที่ไม่แน่ว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้ข้าหลวงประจำจังหวัด[2] มีอำนาจชี้ขาด / แต่ในจังหวัดพระนครและธนบุรี ให้ผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนซึ่งมีตำแหน่งตั้งแต่รองอธิบดีกรมตำรวจ[3]ขึ้นไปเป็นผู้ชี้ขาด
สำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าพนักงานสอบสวนคนใดในจังหวัดเดียวกันหรือในกองบัญชาการเดียวกันควรเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ให้ผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาการพนักงานสอบสวนนั้นเป็นผู้ชี้ขาด การรอคำสั่งชี้ขาด ไม่เป็นเหตุให้งดการสอบสวน (มาตรา 21/1)[4]
11. เขตอำนาจศาล
เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใดให้ชำระที่ศาลนั้น
1. เมื่อจำเลยมีที่อยู่ หรือถูกจับในท้องที่หนึ่งหรือเมื่อเจ้าพนักงานทำการสอบสวนในท้องที่หนึ่งนอกเขตของศาล จะชำระที่ศาลท้องที่นั้นๆ อยู่ในเขตอำนาจก็ได้
2. เมื่อความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทยให้ชำระคดีนั้นที่ศาลอาญา[5]
12. การโอนคดี
เมื่อศาลแต่ 2 ศาลขึ้นไปต่างมีอำนาจชำระคดี ถ้าได้ยื่นฟ้องคดีนั้นต่อศาลหนึ่งซึ่งตามฟ้องความผิดมิได้เกิดในเขต โจทก์หรือจำเลยจะร้องขอให้โอนคดีไปชำระที่ศาลอื่นซึ่งความผิดได้เกิดในเขตก็ได้
13. ผู้ที่มีอำนาจใจการฟ้องคดีอาญา
1. พนักงานอัยการ
2. ผู้เสียหาย
14. ผู้ที่จะดำเนินคดีต่อเมื่อผู้เสียหายฟ้องแล้วตาย
เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้ และถ้าผู้เสียหายที่ตายนั้นเป็นผู้เยาว์ ผู้วิกลจริต หรือผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้แทนเฉพาะคดีได้ยื่นฟ้องแทนไว้แล้ว ผู้ฟ้องแทนนั้นจะว่าคดีต่อไปก็ได้
15. การขอเป็นโจทก์ร่วม (กรณีอัยการยื่นฟ้อง)
คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้
16. การขอเป็นโจทก์ร่วม (กรณีผู้เสียหายยื่นฟ้อง)
คดีอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวซึ่งผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้ว พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดก่อนคดีเสร็จเด็ดขาดก็ได้
17. การถอนฟ้อง
คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ แต่คดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจำเลยคัดค้าน ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย
18. สิทธิในการนำคดีมาฟ้องระงับดังต่อไปนี้
1. โดยความตายของผู้กระทำผิด
2. ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
3. เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา 37[6]
4. เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
5. เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น
6. เมื่อคดีขาดอายุความ
7. เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ
19. การฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้
20. 9 เรื่องที่อัยการต้องฟ้องเรียกทรัพย์สินให้ผู้เสียหายด้วย
คดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกงยักยอกหรือรับของโจร ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย
21. หมายเรียก
การที่จะให้บุคคลใดมาที่พนักงานสอบสวนหรือมาที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือมาศาล เนื่องในการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้องการพิจารณาคดี จักต้องมีหมายเรียกของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือของศาล แต่ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปทำการสอบสวนด้วยตนเอง ย่อมมีอำนาจที่จะเรียกผู้ต้องหาหรือพยานมาได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียก
22. การส่งหมายเรียกให้ส่งแก่ 3 กลุ่มบุคคลดังนี้
การส่งหมายเรียกแก่ผู้ต้องหา จะส่งให้แก่บุคคลผู้อื่นซึ่งมิใช่สามีภริยา ญาติหรือผู้ปกครองของผู้รับหมายรับแทนนั้นไม่ได้
23. หมายอาญา
จะจับ ขัง จำคุก หรือค้นในที่รโหฐานหาตัวคนหรือสิ่งของต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาล
24. การออกคำสั่งหรือหมาย
ศาลจะออกคำสั่งหรือหมายจับ หมายค้น หรือหมายขัง ตามที่ศาลเห็นสมควรหรือโดยมีผู้ร้องขอก็ได้ ในกรณีที่ผู้ร้องขอเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ต้องเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสามหรือตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป
25. ถ้าบุคคลที่ถูกจับตามหมายหลบหนี
ถ้าบุคคลที่ถูกจับตามหมายหลบหนีหรือมีผู้ช่วยให้หนีไปได้เจ้าพนักงานผู้จับมีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นโดยไม่ต้องมีหมายอีก
26. เหตุที่จะออกหมายจับ
1. เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี หรือ
2. เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี / หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน / หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
27. เหตุที่จะออกหมายค้น
1. เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา
2. เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด
3. เพื่อพบและช่วยบุคคลซึ่งได้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
4. เพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายให้จับ
5. เพื่อพบและยึดสิ่งของตามคำพิพากษาหรือตามคำสั่งศาล ในกรณีที่จะพบหรือจะยึดโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว
28. หมายขัง
เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ก็ได้
29. หมายปล่อย
หมายปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งต้องขังอยู่ตามหมายศาล ให้ออกในกรณีต่อไปนี้
1. เมื่อศาลสั่งปล่อยชั่วคราว
2. เมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนขอให้ศาลปล่อย โดยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องขังไว้ระหว่างสอบสวน
3. เมื่อพนักงานอัยการร้องต่อศาลว่าได้ยุติการสอบสวนแล้ว โดยคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
4. เมื่อพนักงานอัยการไม่ฟ้องผู้ต้องหาในเวลาที่ศาลกำหนด
5. เมื่อศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและสั่งให้ยกฟ้อง เว้นแต่เมื่อโจทก์ร้องขอและศาลเห็นสมควรให้ขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา
30. การจับโดยไม่ต้องมีหมายจับ
หมายจับให้ใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร / พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
1. เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า
2. เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด
3. เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้น แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
4. เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว
31. การจับและการค้นในที่รโหฐาน
ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน และห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น และในกรณีดังต่อไปนี้
1. เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน หรือมีเสียงหรือพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงได้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในที่รโหฐานนั้น
2. เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน
3. เมื่อบุคคลที่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น
4. เมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน
5. เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และการจับนั้นมีหมายจับหรือจับ
32. อำนาจศาลในการขังจำเลยหรือปล่อยชั่วคราว
คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ เมื่อศาลประทับฟ้องและได้ตัวจำเลยมาศาลแล้ว / หรือคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ เมื่อได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวก็ได้
33. การยื่นขอให้ปล่อยตัวเมื่อผู้ถูกคุมขังอ้างว่าถูกขังโดยมิชอบ
เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลเหล่านี้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ขอให้ปล่อยตัวคือ
1. ผู้ถูกคุมขังเอง
2. พนักงานอัยการ
3. พนักงานสอบสวน
4. ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี
5. สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง
34. การค้นบุคคลในที่สาธารณะ
ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด /หรือได้มาโดยการกระทำความผิด / หรือมีไว้เป็นความผิด
35. การค้นในที่รโหฐาน
การค้นในที่รโหฐานต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก มีข้อยกเว้นดังนี้
1. เมื่อลงมือค้นแต่ในเวลากลางวัน ถ้ายังไม่เสร็จจะค้นต่อไปในเวลากลางคืนก็ได้
2. ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง หรือซึ่งมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้เป็นพิเศษ จะทำการค้นในเวลากลางคืนก็ได้
3. การค้นเพื่อจับผู้ดุร้ายหรือผู้ร้ายสำคัญจะทำในเวลากลางคืนก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากศาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
36. การปล่อยตัวชั่วคราว
ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องหาหรือถูกฟ้องในความผิดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10ปี ถ้ามีคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ในระหว่างสอบสวนหรือระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลจะต้องถามพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือโจทก์ว่าจะคัดค้านประการใดหรือไม่
ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 5 ปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกันและจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้
37. ชนิดของหลักประกัน
หลักประกันมี 3 ชนิด คือ
1. มีเงินสดมาวาง
2. มีหลักทรัพย์อื่นมาวาง
3. มีบุคคลมาเป็นหลักประกัน โดยแสดงหลักทรัพย์
38. การอุทธรณ์กรณีไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
กรณีที่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังนี้
1. คำสั่งของศาลชั้นต้น ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์
2. คำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา
39. การสอบสวน
ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวงแต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ และพนักงานสอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนก็ได้ถ้าเป็นกรณีต่อไปนี้
1. เมื่อผู้เสียหายขอความช่วยเหลือ แต่ไม่ยอมร้องทุกข์ตามระเบียบ
2. เมื่อผู้เสียหายฟ้องคดีเสียเองโดยมิได้ร้องทุกข์ก่อน
3. เมื่อมีหนังสือกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์ หรือบุคคลที่กล่าวโทษด้วยปากไม่ยอมบอกว่าเขาคือใคร หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อในคำกล่าวโทษหรือบันทึกคำกล่าวโทษ
40. ถ้ายังชันสูตรพลิกศพไม่เสร็จห้ามฟ้องผู้ต้องหา
ให้ทำการสอบสวนรวมทั้งการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่ความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ ห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหายังศาล
41. การสอบปากคำที่ผู้เสียหายอายุไม่เกิน 18 ปี
ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือคดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน18 ปี การถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มี 1. นักจิตวิทยา หรือ 2. นักสังคมสงเคราะห์ 3. บุคคลที่เด็กร้องขอ และ 4. พนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็ก
42. ผู้เสียหายที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ชี้ตัวบุคคล
กรณีที่พนักงานสอบสวนมีความจำเป็นต้องจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีชี้ตัวบุคคล ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการชี้ตัวบุคคลในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและสามารถป้องกันมิให้บุคคลซึ่งจะถูกชี้ตัวนั้นเห็นตัวเด็ก โดยให้มี 1.นักจิตวิทยา หรือ 2. นักสังคมสงเคราะห์ 3. บุคคลที่เด็กร้องขอ และ 4. พนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการชี้ตัวบุคคล
43. การจัดหาทนาย กรณีโทษประหารชีวิต จำคุก หรือเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี
ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน 18 ปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ และในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้
44. ความเห็นสั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้อง กรณีสอบสวนเสร็จถ้ายังไม่พบผู้ทำผิด
เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน เห็นว่าการสอบสวนเสร็จ ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดและความผิดนั้นมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี ให้พนักงานสอบสวนงดการสอบสวน และบันทึกเหตุที่งดไว้ แล้วส่งบันทึกพร้อมกับสำนวนไปยังพนักงานอัยการ
ถ้าอัตราโทษอย่างสูงเกินกว่า 3 ปี ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการพร้อมทั้งความเห็นที่ควรให้งดการสอบสวน
45. ความเห็นสั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้อง กรณีผู้กระทำความผิดถูกควบคุมตัว
ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุม หรือขังอยู่ หรือปล่อยชั่วคราวหรือเชื่อว่าคงได้ตัวมาเมื่อออกหมายเรียก ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นตามท้องสำนวนการสอบสวน ว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวน
ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ส่งแต่สำนวนพร้อมด้วยความเห็นไปยังพนักงานอัยการ ส่วนตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจปล่อยหรือปล่อยชั่วคราวถ้าผู้ต้องหาถูกขังอยู่ ให้ขอเองหรือขอให้พนักงานอัยการขอต่อศาลให้ปล่อย
ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว หรือผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งข้อหาได้หลบหนี (มาตรา 142 วรรคสาม)[7]
46. การสั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้อง กรณีอ้างว่าถูกเจ้าพนักงานฆ่าตาย
ในคดีฆาตกรรม ที่ผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ อธิบดีกรมอัยการหรือ
ผู้รักษาการแทนเท่านั้นมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง
47. การส่งสำนวนคำสั่งไม่ฟ้อง
กรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอธิบดีกรมอัยการ ถ้าในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไปเสนออธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจ หรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ถ้าในจังหวัดอื่น ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไปเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด
สำหรับการสอบสวนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานตำรวจ ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด ถ้าในกรุงเทพมหานครให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่ทั้งนี้มิได้ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะจัดการอย่างใดแก่ผู้ต้องหาดังบัญญัติไว้ในมาตรา 143
ในกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในกรุงเทพมหานคร หรือผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในจังหวัดอื่นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความ หรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการดังกล่าวแล้วแต่กรณีไปก่อน
บทบัญญัติในมาตรานี้ ให้นำมาบังคับในการที่พนักงานอัยการจะอุทธรณ์ ฎีกา หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาโดยอนุโลม (มาตรา 145/1[8])
48. การตายที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ
เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย การตายโดยผิดธรรมชาติคือ
1. ฆ่าตัวตาย
2. ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
3. ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
4. ตายโดยอุบัติเหตุ
5. ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
49. ชันสูตรพลิกศพการตายที่อ้างว่าเกิดจากเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรืออยู่ระหว่างควบคุม
กรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้ 1. พนักงานอัยการ และ 2. พนักงานฝ่ายปกครองตำแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอำเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับ 3. พนักงานสอบสวน และ 4. แพทย์[9]
50. การฟ้องในคดีราษฎรเป็นโจทก์ หรือพนักงานอัยการเป็นโจทก์
1. ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง
2. ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้
ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้
51. ก่อนเริ่มพิจารณาคดีโทษประหารชีวิตหรือจำเลยมีอายุไม่เกิน 18 ปี
คดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกิน 18 ปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้[10]
52. คู่ความขอตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยาน
คดีที่จำเลยไม่ให้การหรือให้การปฏิเสธ เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอหรือศาลเห็นสมควรศาลอาจกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยานก็ได้ โดยแจ้งให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 14 วัน และก่อนวันตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 7 วัน ให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาล
53. ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานได้ในกรณีใด
ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ / เว้นแต่คดีที่ กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง
54. บุคคลที่มีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาลับ
เมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับ บุคคลเหล่านี้เท่านั้นมีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ คือ
1. โจทก์และทนาย
2. จำเลยและทนาย
3. ผู้ควบคุมตัวจำเลย
4. พยานและผู้ชำนาญการพิเศษ
5. ล่าม
6. บุคคลผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องและได้รับอนุญาตจากศาล
7. พนักงานศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่ศาลแล้วแต่จะเห็นสมควร
55. วันที่คำพิพากษามีผล
คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป
56. การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น
คดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้อุทธรณ์ไปยัง
ศาลอุทธรณ์
57. ข้อห้ามอุทธรณ์ และกรณีที่จำเลยอุทธรณ์ได้
ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ / เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
1. จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก
2. จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้
3. ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่รอการกำหนดโทษไว้
4. จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกิน 1,000 บาท
58. กำหนดเวลาในการยื่นอุทธรณ์
การยื่นอุทธรณ์ ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง
59. การยื่นคำร้องกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์
เมื่อศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์เป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ คำร้องเช่นนี้ให้ยื่นที่ศาลชั้นต้นภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันฟังคำสั่ง
60. การส่งสำเนาให้อีกฝ่ายแก้อุทธรณ์
ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์
61. การออกหมายนัดกำหนดวันพิจารณา และการฟังคำแถลงการณ์
เมื่อจะพิจารณาในศาลโดยเปิดเผย ให้ศาลอุทธรณ์ออกหมายนัดกำหนดวันพิจารณาไปยังคู่ความให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 วัน ถ้าเป็นการฟังคำแถลงการณ์นั้นห้ามมิให้กำหนดช้ากว่า 15 วันนับแต่วันรับสำนวนถ้ามีเหตุพิเศษจะช้ากว่านั้นก็ได้แต่อย่าให้เกิน 2 เดือน
62. การฎีกา
คู่ความมีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษา หรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ฎีกาฟัง และ ฎีกานั้น ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น
63. ข้อห้ามในการฎีกา[11]
คดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
คดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
64. การห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามาห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
65. การห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในกรณีศาลอุทธรณ์ไม่ได้กลับคำพิพากษา
คดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือเปลี่ยนโทษกักขังเป็นโทษจำคุก หรือคดีที่เกี่ยวกับการกักขังแทนค่าปรับ หรือกักขังเกี่ยวกับการริบทรัพย์สิน ถ้าศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
66. ห้ามฎีกาเด็ดขาด
ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์
67. ศาลชั้นต้นไม่ยอมรับฎีกา
เมื่อศาลชั้นต้นไม่ยอมรับฎีกา ผู้ฎีกาอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลฎีกาได้ คำร้องเช่นนี้ให้ยื่นที่ศาลชั้นต้นภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันฟังคำสั่ง
68. พยานหลักฐาน
พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้
69. พยานบุคคล
ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน / จำเลยอาจอ้างตนเองเป็นพยานได้
70. พยานเอกสาร
ต้นฉบับเอกสารเท่านั้นที่อ้างเป็นพยานได้ ถ้าหาต้นฉบับไม่ได้ สำเนาที่รับรองว่าถูกต้องหรือพยานบุคคลที่รู้ข้อความก็อ้างเป็นพยานได้
ถ้าอ้างหนังสือราชการเป็นพยาน แม้ต้นฉบับมีอยู่จะส่งสำเนาที่เจ้าหน้าที่รับรองว่าถูกต้องก็ได้
71. การทุเลาการบังคับให้จำคุก
เมื่อจำเลย สามี ภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ได้ในกรณีต่อไปนี้
1. เมื่อจำเลยวิกลจริต
2. เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก
3. ถ้าจำเลยมีครรภ์
4. ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึง 3 ปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น
72. ลำดับการยึดทรัพย์ใช้ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ ค่าสินไหม
ถ้าต้องยึดทรัพย์สินคราวเดียวกันสำหรับใช้ค่าธรรมเนียมศาล ค่าปรับราคาทรัพย์สิน หรือค่าสินไหมทดแทน แต่ทรัพย์สินของจำเลยไม่พอใช้ครบทุกอย่างให้นำจำนวนเงินสุทธิใช้ตามลำดับดังต่อไปนี้
1. ค่าธรรมเนียม
2. ราคาทรัพย์สินหรือค่าสินไหมทดแทน
3. ค่าปรับ
73. อภัยโทษ
เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ถ้าจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ โดยยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้ และผู้ถวายเรื่องราวที่ต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้แล้วให้รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ การพระราชทานอภัยโทษให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
เรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษอย่างอื่นซึ่งมิใช่โทษประหารชีวิต ถ้าถูกยกหนหนึ่งแล้ว จะยื่นใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้น 2 ปีนับแต่วันถูกยกครั้งก่อน
74. กำหนดวันประหารชีวิต
เมื่อคดีถึงที่สุด ผู้ใดต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิต ให้เจ้าหน้าที่นำตัวผู้นั้นไปประหารชีวิตเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันฟังคำพิพากษาฯ
75. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่[12]
คดีใดมีพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลต้องรับโทษในคดีอาญานั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีมาพิจารณาใหม่ เมื่อปรากฏว่า
1. พยานบุคคลที่ศาลอาศัยเป็นหลักในการพิจารณาคดี ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานนั้นเป็นเท็จ
2. พยานหลักฐานอื่น ที่ศาลอาศัยเป็นหลักในการพิจารณาคดี ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดภายหลังแสดงว่าเป็นพยานปลอมหรือพยานเท็จ
3. มีหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี ถ้านำมาสืบจะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาไม่ได้กระทำความผิด
บุคคลที่มีสิทธิยื่นคำร้อง
1. บุคคลผู้ต้องรับโทษทางอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด
2. ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล
3. ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคล
4. บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษถึงแก่ความตายก่อนที่จะยื่นคำร้อง
5. พนักงานอัยการที่มิได้เป็นโจทก์ในคดีเดิม
[1] กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
[2] ผู้ว่าราชการจังหวัด
[3] รอง ผบ.ตร.
[4] เพิ่มเติม ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญา บังคับใช้วันที่ 21 กรกฎาคม 2557
[5] ศาลอาญารัชดา
[6] เมื่อได้เสียค่าปรับ/เปรียบเทียบ
[7] แก้ไข ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญา วันที่ 21 กรกฎาคม 2557
[8] เพิ่มเติม ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 115/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญา วันที่ 21 กรกฎาคม 2557
[9] ออกข้อสอบบ่อยมาก
[10] ถ้าอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนจะอยู่มาตรา 134/1
[11] ไม่เกิน 5 ปืห้ามทั้งโจทก์และจำเลย / เกิน 5 ปี ห้ามเฉพาะโจทก์ไม่ห้ามจำเลย
[12] พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526