กฎหมายแพ่ง

          สาระสำคัญของประมวลกฎหมายแพ่งนั้นถือว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปลัดอำเภอมากที่สุด โดยเฉพาะปลัดอำเภอที่อยู่ฝ่ายทะเบียนและบัตร สำหรับ ว.วิชาการ แล้วถือว่ากฎหมายแพ่งสำคัญที่สุดจากประมวลกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ก่อนที่จะศึกษาในรายละเอียดสิ่งแรกที่เราต้องทำความเข้าใจคือ ชื่อของกฎหมาย ชื่อเต็มคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่กรมการปกครองบรรจุเข้าไปในการสอบเฉพาะ “แพ่ง” ไม่มี “พาณิชย์” กฎหมายพาณิชย์  คือ กฎหมายว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบุคคล อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเศรษฐกิจและการค้า โดยวางระเบียบเกี่ยวพันทางการค้าหรือธุรกิจระหว่างบุคคล เช่น การตั้งหุ้นส่วนบริษัท การประกอบการรับขน และเรื่องเกี่ยวกับตั๋วเงิน (เช่น เช็ค) กฎหมายว่าด้วยการเช่าทรัพย์ การจำนำ เป็นต้น  หรือเป็นกฎหมายเฉพาะพ่อค้ากับพ่อค้า แต่เราสอบราชการจึงไม่ต้องศึกษารายละเอียดในส่วนของ “พาณิชย์” แต่ที่เราจะศึกษากันคือส่วนของ “แพ่ง” อาทิ บุคคล สมาคม นิติกรรม ประนีประนอมยอมความ บรรพ 5 ครอบครัว บรรพ 6 มรดกฯ เมื่อเราได้ขอบเขตของเนื้อหาที่จะอ่านและทำความเข้าใจกันแล้วต่อไปก็จะเข้าสู่สาระสำคัญของประมวลกฎหมายแพ่ง[1]

1. สภาพบุคคล

          สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่างๆ ได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก

2. การนับอายุบุคคล

          การนับอายุของบุคคล ให้เริ่มนับแต่วันเกิด ในกรณีที่รู้ว่าเกิดในเดือนใดแต่ไม่รู้วันเกิด ให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใด ให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทิน ซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด

3. การบรรลุนิติภาวะ

          บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์

          ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448[2]

4. ผู้เยาว์ทำพินัยกรรม และนิติกรรม

          ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุ 15 ปีบริบูรณ์[3]

          ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใดๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ[4]

5. ความหมายของนิติกรรม

          นิติกรรม หมายความว่า การใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

6. ประนีประนอมยอมความ

          อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน

          ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน

7. การหมั้น

          การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว[5]

          การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

          ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

                    1. บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา

                    2. บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตาย

                    3. ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม

                    4. ผู้ปกครอง

8. สัญญาก่อนสมรส

          ถ้าข้อความใดในสัญญาก่อนสมรสขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือระบุให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สินนั้น ข้อความนั้น ๆ เป็นโมฆะ

          สัญญาก่อนสมรสเป็นโมฆะ ถ้ามิได้จดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อนสมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส

9. สัญญาระหว่างสมรส

          สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้

10. สินส่วนตัว

          สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

                    1. ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

                    2. ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

                    3. ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา

                    4. ที่เป็นของหมั้น

11. สินสมรสและการจัดการ

          ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัวย่อมเป็นสินสมรส

                    สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

                    1. ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

                    2. ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส

                    3. ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

          สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

                    1. ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

                    2. ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

                    3. ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี

                    4. ให้กู้ยืมเงิน

                    5. ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

                    6. ประนีประนอมยอมความ

                    7. มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

                    8. นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

12. ผลของการสมรสที่เป็นโมฆะ

          ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการสมรสใดเป็นโมฆะ ให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส

          การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา

13. การสมรสที่เป็นโมฆียะ

          การสมรสที่ได้กระทำไปโดยคู่สมรสฝ่ายหนึ่งสำคัญผิดตัวคู่สมรสการสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเพราะสำคัญผิดตัวคู่สมรสเป็นอันระงับเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้ว 90 วันนับแต่วันสมรส

          ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกกลฉ้อฉลอันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลนั้นจะไม่ทำการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นอันระงับเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้ว 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรได้รู้ถึงกลฉ้อฉล หรือเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้ว 1 ปี นับแต่วันสมรส

          ถ้าคู่สมรสได้ทำการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นจะไม่ทำการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเพราะถูกข่มขู่เป็นอันระงับ เมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้ว 1 ปีนับแต่วันที่พ้นจากการข่มขู่

          การสมรสที่มิได้รับความยินยอมของบิดามารดาหรือผู้ปกครองการสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

14. เหตุที่จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรส

          การสมรสที่เป็นโมฆียะสิ้นสุดลงเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน

          เหตุที่จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรส เพราะเหตุว่าเป็นโมฆียะ มีเฉพาะในกรณี[6] ดังต่อไปนี้ 1.สมรสกันขณะอายุไม่ถึง 17 ปี 2.คู่สมรสฝ่ายหนึ่งสำคัญผิดตัวคู่สมรส 3.ถูกกลฉ้อฉลอันถึงขนาด 4.ถูกข่มขู่อันถึงขนาด 5.มิได้รับความยินยอมของบิดามารดา

15. การหย่าโดยคำพิพากษา

          เหตุฟ้องหย่า (หรือการหย่าโดยคำพิพากษา) มีดังต่อไปนี้

                    1. สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

                    2. สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว

                    3. สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง       

                    4. สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี

                    5. สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปี

                    6. สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี

                    7. สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน 3 ปี

                    8. สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง

                    9. สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกิน 3 ปี

                    10. สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความ

                    11. สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง

                    12. สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

16. การตกทอดของกองมรดก

          กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม

          ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า “ทายาทโดยธรรม”

          ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า “ผู้รับพินัยกรรม”

17. ทายาทโดยธรรม

          ทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับเท่านั้น และแต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่งนี้ คือ

                    1. ผู้สืบสันดาน

                    2. บิดามารดา

                    3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

                    4. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

                    5. ปู่ ย่า ตา ยาย

                    6. ลุง ป้า น้า อา


[1] ในเรื่องการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ และจำนอง จะอยู่ในส่วนของงานทะเบียนนิติกรรม

[2]  แบ่งได้เป็น 2 กรณีคือเมื่อชายและหญิงอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ หรือศาลเห็นสมควรให้สมรสก่อนอายุ 17 ปี

[3]  ออกข้อสอบปลัดอำเภอประจำปี 2555

[4] โมฆะ หมายถึง นิติกรรมใดๆ ที่ทำนั้นเป็นอันเสียเปล่าตั้งแต่ต้น  ผลก็คือเสมือนว่าไม่เคยมีการทำนิติกรรมนั้นมาก่อน

โมฆียะ หมายถึง นิติกรรมที่ไม่สมบูรณ์มาแต่ต้น สามารถให้สัตยาบัน หรือบอกล้างได้โดยผู้ที่มีอำนาจปกครองเช่นผู้ปกครองของผู้เยาว์ ผู้พิทักษ์ของผู้เสมือนไร้ความสามารถ เช่นผู้เยาว์ทำสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองถือว่าเป็นโมฆียะ หากภายหลังผู้ปกครอง (พ่อ แม่) ทราบแล้วยอมให้สัตยาบันก็ถือว่าสัญญานั้นเป็นสัญญาที่สมบูรณ์มาตั้งแต่ต้น แต่ถ้าผู้ปกครองไม่ยินยอมก็จะบอกล้างสัญญานั้น ก็ถือว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะคือเสียมาตั้งแต่ต้น คนขายรถก็ต้องคืนเงิน ผู้เยาว์ก็ต้องเอารถไปคืน การทำนิติกรรมโดยสำคัญผิด ถูกข่มขู่ กลฉ้อฉลก็ถือว่าเป็นโมฆียะได้

[5]  การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะ

[6] ที่คู่สมรสทำการฝ่าฝืนมาตรา 1448 มาตรา 1505 มาตรา 1506 มาตรา 1507 และมาตรา 1509