กฎหมาย คือข้อบังคับของรัฐซึ่งกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ข้อบังคับแห่งความประพฤติ” คำว่ากฎหมาย อาจหมายความถึงกฎหมายลายลักษณ์อักษร และกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป คือความรู้เกี่ยวกับวิชาที่ว่าด้วยความรู้สึกนึกคิดและหลักเกณฑ์ที่เป็นรากฐานของกฎหมาย เดิมเรียกว่าวิชาธรรมศาสตร์ อันเป็นศาสตร์เบื้องต้นในกฎหมายวิชาธรรมศาสตร์ฉบับที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ธรรมศาสตร์ฉบับของพระมโนสาราจารย์ ซึ่งได้รวบรวมขึ้นในประเทศอินเดียในราว 100 ปี ก่อนคริสตกาล
1. วิวัฒนาการของกฎหมาย
วิวัฒนาการของกฎหมาย หรือ ความเป็นมาของกฎหมาย จะแบ่งออกเป็น 3 ยุคด้วยกัน คือ
1. ยุคกฎหมายชาวบ้าน กฎหมายยุคชาวบ้านเป็นกฎหมายที่มีหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมความประพฤติในรูปของขนบธรรมเนียมประเพณี ใช้เหตุผลและหลักการธรรมดาที่ชาวบ้านรู้ได้ว่าคือ กฎหมาย เช่น ขนบธรรมเนียมในวันสงกรานต์ ขนบธรรมเนียมการแต่งตัวในวันสำคัญ ขนบธรรมเนียมการแต่งงาน เป็นต้น และในยุคนี้ยังไม่มีนักกฎหมาย
2. ยุคกฎหมายของนักกฎหมาย สังคมมีการพัฒนาที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้ใช้กฎหมายชาวบ้านในการตัดสินการกระทำบางอย่างที่เกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นต้องพึ่งนักกฎหมายที่จะต้องคิดกฎเกณฑ์เพิ่มเติม สำหรับเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยชี้ขาด
3. ยุคกฎหมายเทคนิค เป็นยุคที่กฎหมายเกิดขึ้นโดยกระบวนการนิติบัญญัติ
2. ระบบกฎหมาย
ระบบกฎหมายหลักๆ ในโลกนี้มีอยู่ 4 ระบบใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ
1. ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ (Civil Law) หรือระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร จุดกำเนิดอยู่ที่อาณาจักรโรมัน ระบบกฎหมายนี้จะมีลักษณะเป็นการรวบรวมเอาจารีตประเพณีหรือกฎหมายต่างๆ หรือบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่ โดยบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและจัดไว้เป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบ ซึ่งเรียกว่าประมวลกฎหมาย ซึ่งแต่เดิมนั้นไม่มีการบัญญัติไว้เป็น
ลายลักษณ์อักษร ชนชั้นที่ถูกปกครองในโรมันจึงมีการเรียกร้องให้ชนชั้นสูงทำการเขียนกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ชนชั้นที่ถูกปกครองได้รู้กฎหมายด้วย ซึ่งระบบกฎหมายนี้ก็ได้มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในประเทศไทยก็ใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ ตัวอย่างก็เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา
2. ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) หรือระบบกฎหมายจารีตประเพณี จุดกำเนิดอยู่ที่อังกฤษ เนื่องจากแต่เดิมนั้นประเทศอังกฤษมีชนเผ่าอยู่มากมายหลายชนเผ่าด้วยกัน ต่อมาได้มีการจัดตั้งศาลหลวงหรือศาลพระมหากษัตริย์ขึ้น โดยคัดเลือกผู้พิพากษาที่มีความรู้จากส่วนกลางไปพิจารณาคดีในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งแต่ละชนเผ่าก็มีจารีตประเพณีที่แตกต่างกันออกไป
ทำให้เกิดปัญหาในการพิจารณาคดีมากมาย แต่ในภายหลังปัญหาก็ค่อยๆหมดไปเพราะเริ่มมีจารีตประเพณีที่มีลักษณะเป็นสามัญขึ้นโดยศาลหลวงได้ใช้จารีตประเพณีเหล่านี้ในการพิจารณาคดี ในระบบคอมมอน ลอว์แต่เดิมจะไม่มีการบัญญัติกฎหมายไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อศาลใช้จารีตประเพณีในการพิพากษาตัดสินคดีแล้ว ก็จะมีการบันทึกคำพิพากษานั้นเอาไว้ เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีต่อๆ ไป หาข้อเท็จจริงในคดีต่อๆ มาเหมือนกับคดีก่อน ศาลก็จะพิพากษาไปตามที่ได้มีการบันทึกไว้แล้ว ถือได้ว่าคำพิพากษาของศาลก็คือกฎหมายนั่นเอง แต่ปัจจุบันนี้ในประเทศอังกฤษก็ใช้ทั้งระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์และคอมมอนลอว์ ควบคู่กันไป
3. ระบบกฎหมายสังคมนิยม (Socialist Law) จุดกำเนิดของระบบกฎหมายอยู่ที่รัสเซีย แต่เดิมรัสเซียใช้ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ แต่ในภายหลังเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ครองอำนาจ ก็ได้มีการนำหลักการและแนวความคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ และ เลนิน มาใช้โดยเชื่อว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบและกลไกในสังคม เพื่อให้คนในสังคมมีความเท่าเทียมกัน ปราศจากการกดขี่ข่มเหง ปราศจากชนชั้นวรรณะ ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมดร่วมกัน กฎหมายมีอยู่เพื่อความเท่าเทียม เมื่อใดที่สังคมเกิดความเท่าเทียมกันแล้วกฎหมายก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ส่วนลักษณะของกฎหมายสังคมนิยมนั้นจะมีการผสมผสานระหว่างกฎหมาย
ลายลักษณ์อักษรกับจารีตประเพณีเข้าด้วยกัน โดยมีการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนจารีตประเพณีนั้นเป็นตัวช่วยในการตีความและอุดช่องว่างของกฎหมายเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และที่สำคัญก็คือกฎหมายในระบบสังคมนิยมนั้นต้องแฝงหลักการหรือแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ และ เลนิน ด้วยเสมอ
4. ระบบกฎหมายศาสนาและประเพณีนิยม ลักษณะของกฎหมายในระบบนี้ โดยเนื้อหาของกฎหมายแล้วก็จะอาศัยศาสนาหรือประเพณีนิยมเป็นฐานในการบัญญัติกฎหมายขึ้นมา เช่น กฎหมายศาสนาอิสลามกำหนดหน้าที่ของชาวมุสลิมที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า ในปัจจุบันประเทศที่
นับถือศาสนาอิสลาม กฎหมายอิสลามมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก แต่ส่วนกฎหมายในเรื่องอื่นๆ ก็จะใช้แนวทางของกฎหมายของทางโลกตะวันตก หรือใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ในเรื่องครอบครัวและมรดกก็จะต้องนำกฎหมายศาสนาอิสลามมาใช้บังคับ ซึ่งถือเป็นข้อยกเว้นเฉพาะ 4 จังหวัดดังกล่าวเท่านั้น ส่วนในเรื่องอื่นๆ ทุกจังหวัดก็จะใช้กฎหมายฉบับเดียวกันรวมไปถึง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น
3. ประเภทของกฎหมาย
ประเภทของกฎหมาย กฎหมายมี 3 ประเภทคือ
1. กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน ได้แก่ ราษฎรทั่วไปในฐานะที่รัฐเป็นฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือกว่าราษฎร กฎหมายมหาชนได้แก่กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
2. กฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชน ในฐานะเท่าเทียมกัน กฎหมายเอกชน ได้แก่ กฎหมายแพ่ง และกฎหมายพาณิชย์
3. กฎหมายระหว่างประเทศ คือกฎหมายที่กำหนดตามความเกี่ยวพันระหว่างประเทศต่อประเทศ หรือรัฐต่อรัฐแบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ
3.1 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
3.2 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
3.3 กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา
4. ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย
ลำดับศักดิ์ของกฎหมายในระบบกฎหมายไทย แบ่งเป็น 7 ชั้น ได้แก่
4.1 รัฐธรรมนูญ
4.2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
4.3 พระราชบัญญัติ
4.4 พระราชกำหนด
4.5 พระราชกฤษฎีกา
4.6 กฎกระทรวง
4.7 ข้อบัญญัติท้องถิ่น เช่น ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบัญญัติ เป็นต้น
4.1 รัฐธรรมนูญ
คือ กฎหมายสูงสุดในการจัดระเบียบการปกครองประเทศ ซึ่งจะวางระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดของรัฐหรืออำนาจอธิปไตย ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ตลอดจนการกำหนดสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของชนชาวไทย
4.2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นในรูปแบบพระราชบัญญัติ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้มีขึ้นอีกรูปแบบหนึ่งในระบบบทกฎหมายไทย เพื่อกำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นกฎเกณฑ์สำคัญเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ บางมาตราที่บัญญัติหลักการไว้อย่างกว้าง ๆ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้มีความกระจ่างแจ้ง ชัดเจนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องบัญญัติไว้ในตัวบทแห่งรัฐธรรมนูญให้มีความยาวมากเกินไป และเพื่อที่จะได้สะดวกแก่การแก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่ต้องดำเนินการตามวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยากกว่าการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ
4.3 พระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คือบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เป็นประจำตามปรกติ เพื่อวางระเบียบบังคับความประพฤติของบุคคลรวมทั้งองค์กรและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีฐานะสูงกว่าบทกฎหมายอื่น ๆ นอกจากรัฐธรรมนูญ ก่อนประกาศใช้บังคับ
การตราพระราชบัญญัตินั้นจะทำได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา และเมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ คำว่า พระราชบัญญัติ เป็นชื่อเรียกกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้อนุญาต สำหรับประเทศอื่นที่พระมหากษัตริย์ไม่ใช่ผู้อนุญาต (เช่นประธานาธิบดี) จะเรียกว่า รัฐบัญญัติ
4.4 พระราชกำหนด
คือกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี การตรา
พระราชกำหนดให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และต้องเป็นกรณีเพื่อจะรักษาความปลอดภัยของประเทศหรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเป็นพระราชกำหนดเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินและเมื่อได้ประกาศใช้แล้วต้องเสนอพระราชกำหนดนั้นต่อสภาทันทีถ้ารัฐสภาอนุมัติก็มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติก็ตกไป แต่ถ้าไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น การประกาศใช้พระราชกำหนดให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ
4.5 พระราชกฤษฎีกา
คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี พระราชกฤษฎีกาจะออกได้ต่อเมื่อพระราชบัญญัติซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ พระราชกฤษฎีกาจึงเป็นเสมือนกฎหมายที่ไม่สามารถจะออกมาให้ขัดหรือแย้งกับกฎหมายแม่บท และถ้ากฎหมายแม่บทถูกยกเลิก พระราชกฤษฎีกานั้นก็ถือว่าถูกยกเลิกไปด้วย การประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
4.6 กฎกระทรวง
คือกฎหมายที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติอันเป็นกฎหมายแม่บทออกมาเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินั้นๆ กฎกระทรวงจึงเป็นกฎหมายบริวารที่กำหนดรายละเอียดของกฎหมายแม่บทอีกต่อหนึ่ง กฎกระทรวงจะออกมาขัดแย้งกับกฎหมายแม่บทไม่ได้และถ้ากฎหมายแม่บทถูกยกเลิก กฎกระทรวงนั้นถือว่าถูกยกเลิกไปด้วย คณะรัฐมนตรีเป็นอนุมัติกฎกระทรวง การประกาศใช้กฎกระทรวงให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
4.7 ข้อบัญญัติท้องถิ่น
ได้แก่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติเมืองพัทยา ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบัญญัติ และข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นกฎหมายที่มีพระราชบัญญัติการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ ให้มีอำนาจออกกฎหมายบังคับใช้เฉพาะท้องถิ่นเท่านั้น
5. หลักกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง[1]
หลักกฎหมายห้ามย้อนหลังในทางอาญานี้เป็นหลักนิติปรัชญาสากล มีต้นกำเนิดมาจากภาษิตกฎหมายละตินว่า Nullum crimen sine lege คือ ไม่มีการกระทำความผิดหากไม่มีกฎหมายกำหนด และ Nulla poena sine lege คือ บุคคลจะไม่ต้องรับโทษหากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ หลักกฎหมายห้ามย้อนหลังดังกล่าวนี้หากเป็นการ ย้อนหลังในโทษทางอาญาถือเป็นหลักกฎหมายเคร่งครัด ผู้ใช้กฎหมายจะตีความเป็นอย่างอื่นนอกจากที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ เว้นแต่กฎหมายที่ออกมาภายหลังมีลักษณะเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดยิ่งกว่าและไม่ขัดหรือแย้งกับ
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ห้ามมิให้มีการออกกฎหมายที่มีโทษทางอาญาย้อนหลังอันเป็นผลร้ายแก่ผู้กระทำความผิด แต่ถ้าเป็นกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่โทษทางอาญายังคงมีความเห็นเป็น 2 แนวทาง แนวทางแรกมองว่ากฎหมายไม่สามารถออกย้อนหลังให้เป็นผลร้ายแก่ผู้กระทำความผิดได้ไม่ว่ากรณีใดๆ อีกแนวทางหนึ่งมองว่า เฉพาะกฎหมายที่มีโทษทางอาญาเท่านั้นที่ไม่สามารถย้อนหลังให้เป็นผลร้ายแก่ผู้กระทำความผิดได้ แต่ถ้าเป็นกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายที่มีโทษทางอาญาไม่มีกฎเกณฑ์ใดห้ามมิให้กฎหมายนั้นมีผล ย้อนหลัง ในเรื่องดังกล่าวนี้ ผู้เขียนเห็นด้วยกับความเห็นแรก ซึ่งมองว่ากฎหมายห้ามย้อนหลังในทางที่เป็นผลร้ายแก่บุคคลในทุกกรณี แม้ว่าจะเป็นกฎหมายที่มีโทษหรือไม่มีโทษทางอาญาก็ตามแต่หลักดังกล่าวก็อาจมีข้อยกเว้นได้ หากการย้อนหลังของกฎหมายนั้นเข้าหลักข้อยกเว้นทั้ง 3 ประการ คือ
1. การย้อนหลังนั้นต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของคนในประเทศ
2. การย้อนหลังนั้นต้องประกอบไปด้วยหลักเหตุผล และต้องมีความเป็นธรรม
3. การย้อนหลังต้องไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรงหรือมีผลกระทบในเชิงลบต่อประชาชนจำนวนมาก
6. การตีความกฎหมาย
การตีความกฎหมาย คือการตี “ถ้อยคำ” ของกฎหมายให้ได้เป็นข้อความที่จะนำไปใช้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท การตีความไม่ใช่แปลความ การแปลเป็นการกระทำตรงไปตรงมาไม่ต้อง
ขบคิดค้นหาอะไรมาก ความในภาษาหนึ่งเป็นอย่างไร แปลไปสู่อีกภาษาหนึ่งให้ตรงกันก็ใช้ได้ แต่การตีความเป็นการขบคิดค้นหาจากคำตอบทางกฎหมายอย่างใช้เหตุใช้ผล ไม่ใช่การทายหรือเดาสุ่มทำนองการตีปริศนาหรือการทายปริศนา และไม่ใช่เป็นการแปลความด้วย โดยสรุปการตีความมีความหมายว่า การคิดค้นหาจากบทบัญญัติของกฎหมายโดยวิธีใช้เหตุผลตามหลักตรรกวิทยา และสามัญสำนึกเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ข้อความ” ของกฎหมายที่จะนำไปใช้วินิจฉัยคดีข้อพิพาทได้อย่างถูกต้อง คือเหมาะเจาะเหมาะสมและเป็นธรรม
7. สิทธิและหน้าที่[2]
สิทธิ หมายถึง สิ่งที่ไม่มีรูปร่างซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดหรือเกิดขึ้นโดยกฎหมาย เพื่อให้มนุษย์ได้รับประโยชน์ และมนุษย์จะเป็นผู้เลือกใช้สิ่งนั้นเอง โดยไม่มีผู้ใดบังคับได้ เช่น สิทธิในการกิน การนอน แต่สิทธิบางอย่างมนุษย์ได้รับโดยกฎหมายกำหนดให้มี เช่น สิทธิในการมี การใช้ทรัพย์สิน สิทธิในการร้องทุกข์เมื่อตนถูกกระทำละเมิดกฎหมาย เป็นต้น
สิทธิของปวงชนชาวไทย
1. สิทธิในครอบครัวและความเป็นอยู่ส่วนตัว ชาวไทยทุกคนย่อมได้รับความคุ้มครอง เกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัว
2. สิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณี บุคคลในท้องถิ่นและชุมชนต้องช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อรักษาไว้ให้คงอยู่ตลอดไป
3. สิทธิในทรัพย์สิน บุคคลจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินของตนและการสืบทอดมรดก
4. สิทธิในการรับการศึกษาอบรม บุคคลย่อมมีความเสมอภาคในการเข้ารับการศึกษาขึ้นพื้นฐาน 12 ปี อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
5. สิทธิในการรับบริการทางด้านสาธารณสุขอย่างเสมอภาคและได้มาตรฐาน สำหรับผู้ยากไร้จะได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
6. สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ เด็กเยาวชน สตรี และบุคคลในสังคมที่ได้รับการปฏิบัติอย่างรุนแรงและไม่เป็นธรรมจะได้รับการ คุ้มครองโดยรัฐ
7. สิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ เช่น บุคคลที่มีอายุเกิน 60 ปี และรายได้ไม่พอต่อการยังชีพ รัฐจะให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น
8. สิทธิที่จะได้สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ โดยรัฐจะให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะแก่บุคคลในสังคม
9. สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชน ในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
10. สิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่นอย่างเปิดเผย เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะมีผลต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของ ประชาชนส่วนรวม หรือเป็นส่วนได้ส่วนเสียของบุคคลซึ่งมีสิทธิได้รับความคุ้มครอง
11. สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์โดยได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันควรตามบทบัญญัติของกฎหมาย
12. สิทธิที่บุคคลสามารถฟ้องร้องหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรของรัฐที่เป็นนิติบุคคลให้รับผิดชอบการกระทำหรือละเว้นการกระทำ ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐภายในหน่วยงานนั้น
หน้าที่ หมายถึง การกระทำหรือการละเว้นการกระทำเพื่อประโยชน์โดยตรงของการมีสิทธิหน้าที่เป็นสิ่งที่บังคับให้มนุษย์ในสังคมต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางสังคมหรือกฎหมายบัญญัติไว้ จะไม่ปฏิบัติตามไม่ได้ ส่วนสิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่มนุษย์มีอยู่แต่จะใช้หรือไม่ก็ได้
หน้าที่ของประชาชนชาวไทย
1. บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการแกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2. บุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย
3. บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง บุคคลซึ่งไม่ไปเลือกตั้ง โดยไม่แจ้งเหตุผลอันสมควร ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
4. บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร
5. บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีให้รัฐ
6. บุคคลมีหน้าที่ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรม ปกป้องและสืบสานวัฒนธรรมของชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
7. บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมอำนวยความ สะดวกและให้บริการแก่ประชาชน
8. วิธีการบัญญัติกฎหมาย
1. ผู้มีสิทธิเสนอให้บัญญัติกฎหมาย คือผู้ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดไว้
1.1 คณะรัฐมนตรี 1.2 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ 1.3 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
2. การบัญญัติกฎหมายขึ้นใช้บังคับต้องเสนอร่างกฎหมายได้แก่รัฐสภา การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติต้องดำเนินการตามวิธีการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรต้องกระทำ 3 วาระ คือ วาระที่หนึ่ง ให้ลงมติว่ารับหลักการหรือไม่รับหลักการแห่งพระราชบัญญัตินั้น วาระที่สอง พิจารณาโดยคณะกรรมการที่สภาตั้งขึ้นหรือกรรมาธิการเต็มสภา แล้วรายงานให้สภาพิจารณาลงมติว่าจะแก้ไขอย่างไร หรือไม่ วาระที่สาม ให้ลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัตินั้น
3. การบัญญัติกฎหมายขึ้นใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่จะมีผลใช้บังคับได้ก็ต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
9. การอุดช่องว่างกฎหมาย
ช่องว่างของกฎหมาย (Loophole or gap in law) หมายถึง กรณีที่ไม่มีกฎหมาย
ลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงได้
ช่องว่างของกฎหมายอาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากในขณะที่ร่างกฎหมายนั้นผู้ร่างกฎหมายไม่คาดคิดว่าจะมีกรณีนั้นๆ เกิดขึ้นมา จึงไม่ได้บัญญัติกฎหมายให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์หรือกรณีนั้นๆ เอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกมีวิวัฒนาการก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดจนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอาจมีผลทำให้กฎหมายลายลักษณ์อักษรก้าวไม่ทันความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ จึงเกิดเป็นช่องว่างของกฎหมายขึ้น
เมื่อมีช่องว่างของกฎหมายเกิดขึ้น มีหลักทั่วไปว่าศาลจะปฏิเสธไม่พิจารณาพิพากษาคดีโดยอ้างว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาใช้ปรับกับคดีนั้นไม่ได้ ศาลจะต้องใช้กฎหมายโดยวิธีอุดช่องว่างของกฎหมายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรค 2 บัญญัติว่า “เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้ากฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วยให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”[3]
ตัวอย่างของเรื่องนี้ในทางกฎหมายมหาชนปรากฏในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เกี่ยวกับเรื่องสิทธิของคู่กรณีในกระบวนพิจารณาทางปกครองที่จะมีทนายความ หรือที่ปรึกษา มาตรา 23 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ในการพิจารณาทางปกครองที่คู่กรณีต้องมาปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ คู่กรณีมีสิทธินำทนายความหรือ
ที่ปรึกษาของตนเข้ามาในการพิจารณาทางปกครองได้” มีปัญหาว่าในการสอบสัมภาษณ์บุคคลเข้ารับราชการหรือสอบสัมภาษณ์บุคคลเข้า ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ผู้เข้าสอบสัมภาษณ์จะขอนำที่ปรึกษามาพร้อมกับตนในการเข้าสอบสัมภาษณ์ได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาจากความหมายของการพิจารณาทางปกครองแล้ว จะพบว่าการสอบสัมภาษณ์บุคคล เข้ารับราชการหรือสอบสัมภาษณ์เป็นการพิจารณาทางปกครองอย่างหนึ่งเนื่องจาก เป็นการเตรียมการและการดำเนินการที่จะนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครอง และโดยที่การมาสอบสัมภาษณ์เป็นกรณีที่ผู้รับการสอบต้องมาสอบต่อหน้าคณะ กรรมการ จึงเป็นกรณีที่ถือได้ว่าเป็นการพิจารณาทางปกครองที่คู่กรณีต้องมาปรากฏตัว ต่อหน้าเจ้าหน้าที่แล้ว ด้วยเหตุนี้เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำ ผู้เข้าสอบสัมภาษณ์จึงย่อมมีสิทธินำที่ปรึกษามาด้วยได้ อย่างไรก็ตามเป็นที่เห็นประจักษ์ชัดในตัวว่าผลทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการ ตีความดังกล่าวจะขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายอย่างชัดแจ้ง เพราะการสอบสัมภาษณ์เป็นการสอบที่คณะกรรมการประเมินความสามารถของผู้เข้าสอบ เป็นการเฉพาะตัว การให้ผู้เข้าสอบนำที่ปรึกษาเข้ามาในการสอบสัมภาษณ์และให้คำปรึกษาแก่ผู้ เข้าสอบนั้น ย่อมจะทำให้การประเมินผลการสอบสัมภาษณ์ไม่อาจเป็นไปได้ กรณีนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นกรณีที่ผู้ตรากฎหมายไม่ได้บัญญัติข้อยกเว้นที่ควร จะต้องบัญญัติไว้ ส่งผลให้บทบัญญัติของกฎหมายกว้างเกินไปและครอบคลุมข้อเท็จจริงที่โดยเหตุผล ของเรื่อง (Natur der Sache) ไม่อาจครอบคลุมถึงได้ ในทางนิติวิธีการอุดช่องว่างของกฎหมายในลักษณะดังกล่าวนี้จะต้องกระทำโดยการ ลดรูปของถ้อยคำในกฎหมายลงให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์[4]
10. ภาษิตภาษาละติน และภาษาอังกฤษทางกฎหมาย
10.1 กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา xterior act indicates interior secret หรือ intention may be inferred from a person’s action
10.2 จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที do justice and let the sky fall หรือ let justice be done though the heavens fall
10.3 จงมีความยุติธรรม แม้โลกาจะวินาศก็ตามที let there be justice, though the world perish หรือ may justice happen, even if the world
10.4 ที่ใดมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมาย ubi societas, ibi ius
10.5 ในยามแห่งอาวุธ กฎหมายทรุดเงียบเสียงลง for among arms, the laws fall mute หรือ in times of war, the law falls silent
10.6 ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน Nemo dat qui non habet บางครั้งเรียกว่า Nemo dat rule
10.7 ผู้หลบหนีคำพิพากษาคือผู้ที่ยอมรับว่าตนผิด he who flees judgement confesses his guilt หรือ the one who flees the law confesses his guil
10.8 ไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด nulla poena sine lege
10.9 สัญญาต้องเป็นสัญญา agreements must be kept หรือ pacta sunt servanda
[1] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์. (2546) กฎหมายอาญา ภาค 1. กรุงเทพมหานคร : จิรรัชการพิมพ์ .
คณิต ณ นคร. (2547) กฎหมายอาญาภาคความผิด. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์ .
[2] ไพศาล ภู่ไพบูลย์ อังคณา ตติรัตน์ และปนัดดา มีสมบัติงาม. หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.
[3] หลักกฎหมาย ผู้แต่ง รศ.ณัฐพงศศ์ โปษกะบุตร และรศ.พรชัย สุนทรพันธุ์
[4] วรเจตน์ ภาคีรัตน์ การใช้และการตีความกฎหมายมหาชน