พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2562)
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ตราไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (บังคับใช้วันที่ 14 พฤษภาคม 2540)
การนำไปใช้และความเป็นกฎหมายกลาง
วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรม หรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง[1]
วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองวรรคก่อนมิให้ใช้บังคับกับขั้นตอนและระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งที่กำหนดในกฎหมาย[2]
ห้ามบังคับใช้กับหน่วยงานหรือการดำเนินงานดังต่อไปนี้
1. รัฐสภาและคณะรัฐมนตรี[3]
2. องค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ
3. การพิจารณาของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในงานทางนโยบายโดยตรง
4. การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลและการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาคดี การบังคับคดี และการวางทรัพย์
5. การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์และการสั่งการตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา
6. การดำเนินงานเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศ
7. การดำเนินงานเกี่ยวกับราชการทหาร
8. การดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
9. การดำเนินกิจการขององค์การทางศาสนา
การยกเว้นไม่ให้นำพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ไปบังคับแก่การดำเนินกิจการหรือกับหน่วยงานใดนอกจากที่กำหนดไว้ใน 9 ข้อข้างต้น ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามข้อเสนอของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
คำนิยาม
“วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองหรือกฎ
“การพิจารณาทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง[4]
“คำสั่งทางปกครอง” หมายความว่า
1. การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ[5]
2. การอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง[6]
“กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ[7]
“เจ้าหน้าที่” หมายความว่า บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐหรือไม่ก็ตาม
“คู่กรณี” หมายความว่า ผู้ยื่นคำขอหรือผู้คัดค้านคำขอ ผู้อยู่ในบังคับหรือจะอยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครอง และผู้ซึ่งได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครองเนื่องจากสิทธิของผู้นั้นจะถูกกระทบกระเทือนจากผลของคำสั่งทางปกครอง
1. คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
1.1 ประธานกรรมการ
ประธานกรรมการ 1 คน ที่ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ดังนี้
- นิติศาสตร์
- รัฐประศาสนศาสตร์
- รัฐศาสตร์
- สังคมศาสตร์
- การบริหารราชการแผ่นดิน
1.2 กรรมการโดยตำแหน่ง
- ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
- ปลัดกระทรวงมหาดไทย
- เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
- เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
- เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
1.3 ผู้ทรงคุณวุฒิ
ผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่น้อยกว่า 5 คนแต่ไม่เกิน 9 คน จากบุคคลที่ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ดังนี้
- นิติศาสตร์
- รัฐประศาสนศาสตร์
- รัฐศาสตร์
- สังคมศาสตร์
- การบริหารราชการแผ่นดิน
- ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งได้อีก
- นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ออก
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง รับผิดชอบงานธุรการ งานประชุม การศึกษาหาข้อมูลและกิจการต่าง ๆ
อำนาจหน้าที่คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
1. สอดส่องดูแลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่
2. ให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามที่บุคคลดังกล่าวร้องขอ
3. มีหนังสือเรียกให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นใดมาชี้แจงหรือแสดงความเห็นประกอบการพิจารณาได้
4. เสนอแนะในการตราพระราชกฤษฎีกาและการออกกฎกระทรวงหรือประกาศ
5. จัดทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี ตามความเหมาะสมแต่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
6. เรื่องอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
2. เจ้าหน้าที่
เจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้
1. เป็นคู่กรณีเอง
2. เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี
3. เป็นญาติของคู่กรณี คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียง ภายใน 3 ชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียง 2 ชั้น
4. เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี
5. เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือเป็นนายจ้างของคู่กรณี
6. กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
2.1 เจ้าหน้าที่ถูกคัดค้าน
เมื่อคู่กรณีคัดค้านว่ากรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองเป็นเจ้าหน้าที่ที่จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ให้ประธานกรรมการเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเหตุคัดค้าน ถ้าที่ประชุมมีมติให้กรรมการผู้ถูกคัดค้านปฏิบัติหน้าที่ต่อไปด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการที่ไม่ถูกคัดค้าน ก็ให้กรรมการผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
2.2 เจ้าหน้าที่อาจทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลาง
กรณีมีเหตุอื่นใดเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้ โดยให้ดำเนินการดังนี้
1. ถ้าผู้นั้นเห็นเอง ให้ผู้นั้นหยุดการพิจารณาเรื่องไว้ก่อนและแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งหรือประธานกรรมการทราบ
2. ถ้ามีคู่กรณีคัดค้านว่า หากผู้นั้นเห็นว่าตนไม่มีเหตุตามที่คัดค้านนั้น ผู้นั้นจะทำการพิจารณาเรื่องต่อไปก็ได้แต่ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งหรือประธานกรรมการทราบ
3. ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นหรือคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองมีคำสั่งหรือมีมติโดยไม่ชักช้าว่าผู้นั้นมีอำนาจในการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นหรือไม่
2.3 ข้อยกเว้นในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่
หลังจากที่เราได้ศึกษาเรื่องเจ้าหน้าที่ถูกคัดค้านและเจ้าหน้าที่อาจทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลางแล้วนั้น เมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้ไม่ให้นำเรื่องดังกล่าวมาใช้บังคับ
1. มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้ล่าช้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ
2. สิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไขได้
3. ไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนผู้นั้นได้
3. คู่กรณี
บุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือนิติบุคคล อาจเป็นคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครองได้ตามขอบเขตที่สิทธิของตนถูกกระทบกระเทือนหรืออาจถูกกระทบกระเทือนโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และคู่กรณีต้องเป็นผู้มีความสามารถ ดังต่อไปนี้ด้วย
1. ผู้ซึ่งบรรลุนิติภาวะ
2. ผู้ซึ่งมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดให้มีความสามารถกระทำการในเรื่องที่กำหนดได้ แม้ผู้นั้นจะยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือความสามารถถูกจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
3. นิติบุคคลหรือคณะบุคคลโดยผู้แทนหรือตัวแทน
4. ผู้ซึ่งมีประกาศของนายกรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้มีความสามารถกระทำการในเรื่องที่กำหนดได้
3.1 สิทธิในกระบวนการพิจารณาของคู่กรณี
ในการพิจารณาทางปกครองที่คู่กรณีต้องมาปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่คู่กรณีมีสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้ามาในการพิจารณาทางปกครองได้
คู่กรณีอาจมีหนังสือแต่งตั้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะกระทำการแทนตนในกระบวนการพิจารณาทางปกครองใด ๆ
3.2 ตัวแทนร่วม
ในกรณีที่มีการยื่นคำขอโดยมีผู้ลงชื่อร่วมกันเกิน 50 คนหรือมีคู่กรณีเกิน 50 คนยื่นคำขอที่มีข้อความอย่างเดียวกันหรือทำนองเดียวกันเช่นนั้น ให้ถือว่าผู้ที่ถูกระบุชื่อดังกล่าวเป็นตัวแทนร่วมของคู่กรณี และในกรณีที่ไม่มีการกำหนดให้บุคคลใดเป็นตัวแทนร่วม ให้เจ้าหน้าที่ในเรื่องนั้นแต่งตั้งบุคคลที่คู่กรณีฝ่ายข้างมากเห็นชอบเป็นตัวแทนร่วม คู่กรณีจะบอกเลิกการให้ตัวแทนร่วมดำเนินการแทนตนเมื่อใดก็ได้แต่ต้องมีหนังสือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ
ตัวแทนร่วมจะบอกเลิกการเป็นตัวแทนเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องมีหนังสือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบกับต้องแจ้งให้คู่กรณีทุกรายทราบด้วย
4. การพิจารณา
1. เอกสารที่ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ให้จัดทำเป็นภาษาไทย ถ้าเป็นเอกสารที่ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศ ให้คู่กรณีจัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยที่มีการรับรองความถูกต้องมาให้ภายในระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่กำหนด
2. ให้เจ้าหน้าที่แจ้งสิทธิและหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาทางปกครองให้คู่กรณีทราบตามความจำเป็น
3. ในการพิจารณาทางปกครอง เจ้าหน้าที่อาจตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม
4. เจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่ตนเห็นว่าจำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง ทั้งนี้พยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญมีสิทธิได้รับค่าป่วยการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
5. ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน
6. เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนความประหยัดและความมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐให้คณะรัฐมนตรีวางระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการได้ตามความเหมาะสม[8]
5. รูปแบบและผลของคำสั่งทางปกครอง
คำสั่งทางปกครองอาจทำเป็นหนังสือหรือวาจาหรือโดยการสื่อความหมายในรูปแบบอื่น[9]ก็ได้ แต่ต้องมีข้อความหรือความหมายที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้
5.1 คำสั่งทางปกครองเป็นวาจา
ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองเป็นคำสั่งด้วยวาจาถ้าผู้รับคำสั่งนั้นร้องขอและการร้องขอได้กระทำโดยมีเหตุอันสมควรภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งดังกล่าวเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งต้องยืนยันคำสั่งนั้นเป็นหนังสือ
5.2 คำสั่งทางปกครองที่เป็นหนังสือ
คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสืออย่างน้อยต้องระบุ 1.วัน เดือนและปีที่ทำคำสั่ง 2.ชื่อและตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง 3.ลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง
คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผล อย่างน้อยดังต่อไปนี้[10]
1. ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ
2. ข้อกฎหมายที่อ้างอิง
3. ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ
นายกรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายอาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้คำสั่งทางปกครองใดที่ต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งนั้นเองหรือในเอกสารแนบท้ายคำสั่งนั้นก็ได้
5.3 คำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์ต่อไปได้
คำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ ให้ระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้ง และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งไว้ด้วย[11] ถ้ามีการฝ่าฝืนให้ระยะเวลาสำหรับ การอุทธรณ์หรือการโต้แย้งเริ่มนับใหม่ แต่ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่และระยะเวลาดังกล่าวมีระยะเวลาสั้นกว่า 1 ปี ให้ขยายเป็น 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครอง
6. การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง
คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายใน 15 วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับหนังสือแล้วให้เจ้าหน้าที่พิจารณาคำอุทธรณ์และแจ้งผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และการพิจารณาของเจ้าหน้าที่นั้นได้แบ่งการพิจารณาออกเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้
1. กรณีที่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองตามความเห็นของตน
2. กรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้เร่งรายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้ไม่เกิน 30 วัน
การโต้แย้งคำสั่งทางปกครอง[12]
คำสั่งทางปกครองของบรรดาคณะกรรมการต่าง ๆ ไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายหรือไม่ ให้คู่กรณีมีสิทธิโต้แย้งต่อศาลปกครองได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
7. การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง
เจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ ไม่ว่าจะพ้นขั้นตอนการกำหนดให้อุทธรณ์หรือให้โต้แย้งมาแล้วหรือไม่
การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์ต้องกระทำภายใน 90 วันนับแต่ได้รู้ถึงเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งทางปกครองนั้น เว้นแต่คำสั่งทางปกครองที่ได้ทำขึ้นเพราะเหตุต่อไปนี้
1. การแสดงข้อความอันเป็นเท็จ
2. ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
3. การข่มขู่
4. การชักจูงใจโดยการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มิชอบด้วยกฎหมาย
7.1 การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่เป็นการให้เงินหรือทรัพย์สิน
การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ ให้คำนึงถึง 1.ความเชื่อโดยสุจริตของผู้รับประโยชน์ กับ 2.ประโยชน์สาธารณะประกอบกันแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้รับคำสั่งทางปกครองจะอ้างความเชื่อโดยสุจริตไม่ได้
1. ผู้นั้นได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริง
2. ผู้นั้นได้ให้ข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนในสาระสำคัญ
3. ผู้นั้นได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครอง
การคืนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ไป ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม
7.2 สิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนเนื่องจากคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ผู้ได้รับผลกระทบจากการ เพิกถอนคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีสิทธิได้รับค่าทดแทนความเสียหาย โดยต้องร้องขอค่าทดแทนภายใน 180 วันนับแต่ได้รับแจ้งให้ทราบถึงการเพิกถอน
7.3 การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่เป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่งทางปกครอง
คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่งทางปกครองอาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนได้เมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้
1. มีกฎหมายกำหนดให้เพิกถอนได้หรือมีข้อสงวนสิทธิให้เพิกถอนได้
2. คำสั่งทางปกครองนั้นมีข้อกำหนดให้ผู้รับประโยชน์ต้องปฏิบัติแต่ไม่มีการปฏิบัติภายในเวลาที่กำหนด
3. ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป
4. บทกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป
5. อาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะหรือต่อประชาชน
7.4 การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่เป็นการให้เงินหรือทรัพย์สิน
คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้เงินหรือทรัพย์สินอาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนได้เมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้
1. มิได้ปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าในอันที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งทางปกครอง
2. ผู้ได้รับประโยชน์มิได้ปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าในอันที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขของคำสั่งทางปกครอง
8. การขอให้พิจารณาใหม่
เมื่อคู่กรณีมีคำขอให้เจ้าหน้าที่พิจารณาใหม่ภายใน 90 วันนับแต่ได้รู้ถึงเหตุซึ่งอาจขอให้พิจารณาใหม่ได้ เจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งทางปกครองที่พ้นกำหนดอุทธรณ์ได้ในกรณีดังต่อไปนี้
1. มีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
2. คู่กรณีที่แท้จริงมิได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง
3. เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจที่จะทำคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้น
4. ถ้าคำสั่งทางปกครองได้ออกโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดและต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่คู่กรณี
9. การบังคับทางปกครอง
9.1 การบังคับทางปกครอง – หลักเกณฑ์กลาง
9.1.1 ไม่ใช้บังคับกับหน่วยงานของรัฐ
มาตรา 63/1 การบังคับทางปกครองไม่ใช้บังคับกับหน่วยงานของรัฐด้วยกัน เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
9.1.2 ใช้เท่าที่จำเป็น + กระทบผู้อยู่ในบังคับน้อยที่สุด
มาตรา 63/2 … ให้เจ้าหน้าที่… ใช้มาตรการบังคับทางปกครองเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งทางปกครอง โดยกระทบกระเทือนผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองน้อยที่สุด
9.1.3 บังคับได้ แม้ผู้อยู่ในบังคับตาย
มาตรา 63/4 ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองแก่บุคคลใด หากบุคคลนั้นถึงแก่ความตายให้ดำเนินการบังคับทางปกครองต่อไปได้ ถ้าบุคคลนั้นมีทายาทผู้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดก ให้ถือว่าทายาทผู้รับมรดกหรือผู้จัดการมรดกเป็นผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองนั้น
9.1.4 ไม่ใช้กับกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือรับฟ้องคดีไว้พิจารณา
มาตรา 63/6 บทบัญญัติในหมวดนี้มิให้ใช้บังคับกับการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินหรือให้กระทำหรือละเว้นกระทำในกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้ฟ้องคดีต่อศาลและศาลได้มีคำพิพากษาให้ชำระเงินหรือให้กระทำหรือละเว้นกระทำแล้ว
9.2 บังคับโดยเจ้าหน้าที่
มาตรา 63/7 ในกรณีที่เจ้าหน้าที่มีคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงิน ถ้าถึงกำหนดแล้วไม่มีการชำระโดยถูกต้องครบถ้วน ให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองมีหนังสือเตือนให้ผู้นั้นชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำเตือน เจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้นั้นและขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินให้ครบถ้วนได้
9.2.1 การยึดหรืออายัด
มาตรา 63/8 หน่วยงานของรัฐที่ออกคำสั่งให้ชำระเงินต้องดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินภายในสิบปีนับแต่วันที่คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินเป็นที่สุด
คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินเป็นที่สุดในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองภายในระยะเวลาอุทธรณ์
(2) เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ และไม่มีการฟ้องคดีต่อศาลภายในระยะเวลาการฟ้องคดี
(3) ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษายกฟ้อง หรือเพิกถอนคำสั่งบางส่วน และคดีถึงที่สุดแล้ว
มาตรา 63/12 ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการยึด การอายัด และการขายทอดตลาดทรัพย์สินให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่กฎกระทรวงไม่ได้กำหนดเรื่องใดไว้ ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้ถือว่า
(1) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หมายถึง หน่วยงานของรัฐที่ออกคำสั่งให้ชำระเงิน
(2) ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หมายถึง ผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครอง
(3) อำนาจของศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดี เป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(4) เจ้าพนักงานบังคับคดี หมายถึง เจ้าพนักงานบังคับทางปกครอง
9.2.2 การสืบทรัพย์
มาตรา 63/11 ในการสืบหาทรัพย์สินของผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครอง หน่วยงานของรัฐที่ออกคำสั่งให้ชำระเงินอาจร้องขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดหรือหน่วยงานอื่นดำเนินการสืบหาทรัพย์สินแทนได้
… หากจำนวนเงินที่ต้องชำระตามมาตรการบังคับทางปกครองนั้นมีมูลค่าตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไปหรือตามมูลค่าที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยกฎกระทรวง หน่วยงานของรัฐอาจมอบหมายให้เอกชนสืบหาทรัพย์สินแทนได้
ให้เอกชนที่สืบพบทรัพย์สินได้รับค่าตอบแทนไม่เกินร้อยละสองครึ่งจากเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการยึด อายัด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินที่สืบพบได้ ทั้งนี้ จำนวนเงินค่าตอบแทนสูงสุดต้องไม่เกินหนึ่งล้านบาทต่อจำนวนเงินที่ต้องชำระตามคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้น
มาตรา 63/10 เพื่อประโยชน์ในการบังคับทางปกครอง ให้เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองมีอำนาจ
(1) มีหนังสือสอบถามสถาบันการเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรมที่ดิน กรมการขนส่งทางบก กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมทรัพย์สินที่มีทะเบียน เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครอง
(2) มีหนังสือขอให้นายทะเบียน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลอื่นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายระงับการจดทะเบียนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองไว้เป็นการชั่วคราวเท่าที่จำเป็น
9.3 บังคับโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี
มาตรา 63/15 ในกรณีที่มีการบังคับให้ชำระเงินและคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินเป็นที่สุดแล้ว หากหน่วยงานของรัฐที่ออกคำสั่งให้ชำระเงินประสงค์ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีในสังกัดกรมบังคับคดีดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว ให้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลภายในสิบปีนับแต่วันที่คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินเป็นที่สุด เพื่อให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองนั้น โดยระบุจำนวนเงินที่ผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองยังมิได้ชำระตามคำสั่งทางปกครอง
9.4 การบังคับตามคำสั่งทางปกครองให้กระทำหรือละเว้นกระทำ
9.4.1 ค่าปรับบังคับการ
มาตรา 63/20 ในส่วนนี้
“ค่าปรับบังคับการ” หมายความว่าค่าปรับที่เจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้กระทำหรือละเว้นกระทำ ชำระเป็นรายวันไปจนกว่าจะยุติการฝ่าฝืนคำสั่งหรือได้มีการปฏิบัติตามคำสั่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าปรับที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้หรือโดยกฎหมายอื่น
9.4.2 ค่าใช้จ่ายหรือเงินเพิ่มรายวัน และค่าปรับรายวัน
มาตรา 63/21 คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้กระทำหรือละเว้นกระทำ ถ้าผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการด้วยตนเองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำการแทน โดยผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายและเงินเพิ่มรายวันในอัตราร้อยละยี่สิบห้าต่อปีของค่าใช้จ่ายดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่นั้นสังกัด
(2) ให้มีการชำระค่าปรับบังคับการตามจำนวนที่สมควรแก่เหตุแต่ต้องไม่เกินห้าหมื่นบาทต่อวัน
10. ระยะเวลาและอายุความ
กำหนดเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือน หรือปีนั้น มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วย ในกรณีที่ผู้ใดไม่อาจกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดภายในระยะเวลาที่กำหนดเพราะมีพฤติการณ์ที่จำเป็นอันมิได้เกิดขึ้นจากความผิดของผู้นั้น ถ้าผู้นั้นมีคำขอเจ้าหน้าที่อาจขยายระยะเวลาเสียใหม่ก็ได้ ทั้งนี้ต้องยื่นคำขอภายใน 15 วันนับแต่พฤติการณ์เช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง
11. การแจ้ง
การแจ้งทางไปรษณีย์ การแจ้งโดยวิธีส่งทางไปรษณีย์ตอบรับให้ถือว่าได้รับแจ้งเมื่อครบกำหนด 7 วันนับแต่วันส่งสำหรับกรณีภายในประเทศ หรือเมื่อครบกำหนด 15 วันนับแต่วันส่งสำหรับกรณีส่งไปยังต่างประเทศ
การแจ้งที่มีผู้รับเกิน 50 คน เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ทราบโดยวิธีปิดประกาศไว้ ณ ที่ทำการของเจ้าหน้าที่และที่ว่าการอำเภอที่ผู้รับมีภูมิลำเนาก็ได้ ในกรณีนี้ให้ถือว่าได้รับแจ้งเมื่อล่วงพ้นระยะเวลา 15 วัน
การแจ้งโดยการประกาศ กรณีที่ไม่รู้ตัวผู้รับหรือรู้ตัวแต่ไม่รู้ภูมิลำเนาหรือรู้ตัวและภูมิลำเนาแต่มีผู้รับเกิน 100 คน การแจ้งเป็นหนังสือจะกระทำโดยการประกาศในหนังสือพิมพ์ซึ่งแพร่หลายในท้องถิ่นนั้นก็ได้ ให้ถือว่าได้รับแจ้งเมื่อล่วงพ้นระยะเวลา 15 วัน
12. คณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครอง
การแต่งตั้งกรรมการในลักษณะที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้แต่งตั้งโดยระบุตัวบุคคล การให้กรรมการในคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุในกรณีดังต่อไปนี้
1. มีเหตุบกพร่องอย่างยิ่งต่อหน้าที่
2. มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
การประชุม
กำหนดการนัดประชุมต้องทำเป็นหนังสือและแจ้งให้กรรมการทุกคนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน การพิจารณาเรื่องใดถ้าต้องเลื่อนมาเพราะไม่ครบองค์ประชุม ถ้าเป็นการประชุมของคณะกรรมการซึ่งมิใช่คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท หากได้มีการนัดประชุมเรื่องนั้นอีกภายใน 14 วัน และมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม
[1] ถ้ากฎหมายใดเทียบเท่าหรือดีกว่าให้ใช้กฎหมายนั้น แต่ถ้ากฎหมายใดมีมาตรฐานที่ต่ำกว่าให้ใช้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
[2] ถ้ากฎหมายใดมีการกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งไว้ก็ให้ใช้ตามกฎหมายนั้น แต่ถ้าไม่ได้กำหนดไว้ก็ให้ใช้ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เช่น พระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้กำหนดเรื่องการอุทธรณ์ไว้ก็ให้ใช้ตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
[3] ถ้านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีใช้อำนาจเฉพาะตัวต้องอยู่ในบังคับของวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองด้วย
[4] ระวังข้อสอบไม่รวมถึง กฎ หรือไม่มีคำว่ากฎ
[5] มีผลผูกพันเฉพาะตัวบุคคลหรือคณะบุคคลเท่านั้น
[6] เช่น การบรรจุ การแต่งตั้ง การให้พ้นจากตำแหน่ง ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2
[7] ระวังข้อสอบ ไม่มีพระราชบัญญัติ
[8] ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2532
[9] สัญญาณไฟจราจร
[10] ออกข้อสอบบ่อยมาก
[11] เช่น คำสั่งตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน พนักงานส่วนตำบล จะระบุระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อ ก.อบต.จังหวัด…. ไว้ด้วย
[12] เมื่อก่อนต้องโต้แย้งต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ แต่ปัจจุบันมีศาลปกครองแล้ว สามารถโต้แย้งต่อศาลปกครองได้โดยตรง