1. หลักการบริหารราชการ
การบริหารราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐการลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจและยุบเลิกหน่วยที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวก และการตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลของงาน
1.1 หลักการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ
การปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ ต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการจะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติราชการและการสั่งการให้ส่วนราชการและข้าราชการปฏิบัติก็ได้
1.2 หลักการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
การบริหารราชการแผ่นดินให้จัดระเบียบการบริหารดังนี้
1. ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง
2. ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
3. ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
1.3 หลักการแบ่งส่วนราชการ
การแบ่งราชการออกเป็นส่วนต่าง ๆ ให้กำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนโดยคำนึงถึงคุณภาพและปริมาณงานของส่วนราชการนั้น ๆ
2. การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง
ส่วนราชการที่อยู่ในการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลางมีฐานะเป็นนิติบุคคล ดังนี้
1. สำนักนายกรัฐมนตรี (มีฐานะเป็นกระทรวง)
2. กระทรวง หรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง
3. ทบวง ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง
4. กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัดหรือไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง
2.1 การจัดตั้ง
การจัดตั้ง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ
2.2 การรวมและการโอนส่วนราชการ
การรวมหรือการโอน สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าไม่มีการกำหนดตำแหน่งหรืออัตราของข้าราชการหรือลูกจ้างเพิ่มขึ้นให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและสำนักงบประมาณมีหน้าที่ตรวจสอบดูแลมิให้มีการกำหนดตำแหน่งหรืออัตราของข้าราชการหรือลูกจ้างเพิ่มขึ้นจนกว่าจะครบกำหนด 3 ปี
2.3 การเปลี่ยนชื่อและการยุบส่วนราชการ
การเปลี่ยนชื่อและการยุบ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม ให้ตราเป็น
พระราชกฤษฎีกา
2.4 การแบ่งส่วนราชการ
การแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานรัฐมนตรี กรม หรือส่วนราชการที่เรียนชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม ให้ออกเป็นกฎกระทรวง โดยให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นผู้ออกกฎกระทรวง และในการแบ่งส่วนราชการและการกำหนดอำนาจหน้าที่นั้นให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและสำนักงบประมาณร่วมกันเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี
3. สำนักนายกรัฐมนตรี
การจัดระเบียบและอำนาจหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรีให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม
ส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม มีฐานะเป็นกรม (ปัจจุบันมีส่วนราชการภายในอยู่ทั้งหมด 14 แห่ง)
3.1 นายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และกำหนดเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ในสำนักนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรี
1. กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อการนี้จะสั่งให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่น ชี้แจง แสดงความคิดเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีจำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใด ๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติของคณะรัฐมนตรีก็ได้และมีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น
2. มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับการบริหารราชการของกระทรวงหรือทบวงหนึ่งหรือหลายกระทรวงหรือทบวง
3. บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมและส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรม
4. สั่งให้ข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะให้ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิมหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่ให้ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม ให้ได้รับเงินเดือนในสำนักนายกรัฐมนตรีในระดับ และขั้นที่ไม่สูงกว่าเดิม
5. แต่งตั้งข้าราชการซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งไปดำรงตำแหน่งของอีกกระทรวง ทบวง กรมหนึ่ง โดยให้ได้รับเงินเดือนจากกระทรวง ทบวง กรมเดิม ในกรณีเช่นว่านี้ให้ข้าราชการซึ่งได้รับแต่งตั้งมีฐานะเสมือนเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งตนมาดำรงตำแหน่งนั้นทุกประการ แต่ถ้าเป็นการแต่งตั้งข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่าขึ้นไป ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
6. แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา ที่ปรึกษา หรือคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใด ๆ และกำหนดอัตราเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนให้แก่ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้ง
7. แต่งตั้งข้าราชการการเมืองให้ปฏิบัติราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี
8. วางระเบียบปฏิบัติราชการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
9. ดำเนินการอื่น ๆ ในการปฏิบัติตามนโยบาย
3.2 การปฏิบัติหน้าที่แทน และการปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
การปฏิบัติหน้าที่แทน
ในระหว่างที่คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่เพราะนายกรัฐมนตรีตาย ขาดคุณสมบัติ ต้องคำพิพากษาให้จำคุก สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง หรือวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่ง ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรี
คนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน
การปฏิบัติราชการแทน
ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม แต่มิได้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือทบวง นายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทน
ผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ
ผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการของนายกรัฐมนตรี มีอยู่ 2 ตำแหน่งคือ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
3.3 เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีอำนาจเกี่ยวกับราชการทางการเมือง มีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
ผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ
ผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีอยู่ 3 ตำแหน่งคือ 1.รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง 2.รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร 3. ผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (โดยตำแหน่งที่ 1 และ 2 ต้องมี ส่วนตำแหน่งที่ 3 จะมีหรือไม่ก็ได้)
ตำแหน่งทางราชการ
1. เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นข้าราชการการเมือง
2. รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร และผู้ช่วยเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ
3.4 เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการของคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และราชการในพระองค์ มีเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
ผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ
ผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีอยู่ 2 ตำแหน่งคือ 1.รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 2.ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (โดยตำแหน่งที่ 1 ต้องมี ส่วนตำแหน่งที่ 2 จะมีหรือไม่ก็ได้)
ตำแหน่งทางราชการ
เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ
3.5 ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
อำนาจหน้าที่ของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
1. รับผิดชอบควบคุมราชการประจำในสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี และลำดับความสำคัญของแผนการปฏิบัติราชการประจำปีของส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรีให้เป็นไปตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีกำหนดรวมทั้งกำกับ เร่งรัด ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี
2. เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการของส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี รองจากนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยกเว้นข้าราชการของส่วนราชการซึ่งหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
3. เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ
ผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีอยู่ 2 ตำแหน่งคือ 1. รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 2. ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (โดยตำแหน่งที่ 1 ต้องมี ส่วนตำแหน่งที่ 2 จะมีหรือไม่ก็ได้)
ตำแหน่งทางราชการ
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
อำนาจหน้าที่ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
1. ราชการประจำทั่วไปของสำนักนายกรัฐมนตรี
2. ราชการที่คณะรัฐมนตรีมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมใดกรมหนึ่งในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะ
3. กำกับและเร่งรัดการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามนโยบาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี ยกเว้นราชการของ ส่วนราชการซึ่งกฎหมายกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
4. กระทรวง
กระทรวงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และมีการจัดระเบียบของส่วนราชการดังต่อไปนี้
1. สำนักงานรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทางการเมือง มีเลขานุการรัฐมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานรัฐมนตรีขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง และจะให้มีผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้ช่วยสั่งหรือปฏิบัติราชการแทนเลขานุการรัฐมนตรีก็ได้
2. สำนักงานปลัดกระทรวง (ฐานะเป็นกรม) มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ 1.ราชการประจำทั่วไป 2.ราชการที่คณะรัฐมนตรีมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรมใดกรมหนึ่งในสังกัดกระทรวงโดยเฉพาะ 3.กำกับและเร่งรัดการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวงให้เป็นไปตามนโยบายแนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง
3. กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น เว้นแต่บางกระทรวงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะไม่แยกส่วนราชการตั้งขึ้นเป็นกรมก็ได้
4.1 การตั้งส่วนราชการเพื่อรับผิดชอบหน้าที่โดยเฉพาะ
กระทรวงจะตั้งส่วนราชการที่ไม่มีฐานะเป็นกรมแต่ผู้บังคับบัญชาเป็นอธิบดีหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นแต่มีฐานะเป็นอธิบดี เพื่อรับผิดชอบภาระหน้าที่โดยเฉพาะในกระทรวงก็ได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นผู้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ (ก่อนที่จะอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีส่งร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบก่อน) และให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (มาตรา 18)
4.2 การวางแผนการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
ให้ปลัดกระทรวง หัวหน้ากลุ่มภารกิจและหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป วางแผนและประสานกิจกรรมให้มีการใช้ทรัพยากรของส่วนราชการต่าง ๆ ในกระทรวงร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และบรรลุเป้าหมายของกระทรวง
4.3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวง และ ผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในกระทรวงและรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายเป้าหมาย และผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติ
ผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมี 1 ตำแหน่งคือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง
4.4 ปลัดกระทรวง และ ผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ
ปลัดกระทรวงมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. รับผิดชอบควบคุมราชการประจำในกระทรวง แปลงนโยบายเป็นแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการ กำกับการทำงานของส่วนราชการในกระทรวงให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประสานการปฏิบัติงานของส่วนราชการในกระทรวงให้มีเอกภาพสอดคล้องกัน รวมทั้งเร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวง
2. เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการของส่วนราชการในกระทรวงรองจากรัฐมนตรี
3. เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานปลัดกระทรวง และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานปลัดกระทรวง
ผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการของปลัดกระทรวงมี 1 ตำแหน่งคือ รองปลัดกระทรวง (จะมีหรือไม่ก็ได้)
4.5 กลุ่มภารกิจ
ภายในกระทรวงจะออกกฎกระทรวงกำหนดให้ส่วนราชการระดับกรมตั้งแต่ 2 ส่วนราชการขึ้นไปอยู่ภายใต้กลุ่มภารกิจเดียวกันก็ได้ โดยให้แต่ละกลุ่มภารกิจมีผู้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีเป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจ โดยปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวงหรือขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี ในกรณีที่ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อปลัดกระทรวงด้วย การปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับสารบรรณ บุคลากร การเงิน การพัสดุ หรือการบริหารงานทั่วไปให้หัวหน้ากลุ่มภารกิจเป็นผู้กำหนด กระทรวงใดมิได้จัดให้มีกลุ่มภารกิจ และมีปริมาณงานมาก จะให้มีรองปลัดกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการเพิ่มขึ้นเป็น 2 คนก็ได้ และถ้ากระทรวงใดมีภารกิจเพิ่มขึ้น และมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีรองปลัดกระทรวงมากกว่า 2 คน ให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการร่วมกันอนุมัติให้กระทรวงนั้นมีรองปลัดกระทรวงเพิ่มขึ้นเป็นกรณีพิเศษก็ได้
5. ทบวง
ปัจจุบันนี้ไม่มีการจัดตั้งทบวงขึ้นมาแล้วแต่จะขออธิบายเพื่อความเข้าใจ ดังนี้
ทบวงมีอยู่ 2 ฐานะ คือ
1. ทบวงที่มีฐานะเทียบเท่ากับกระทรวง จะมีทุกอย่างเหมือนกระทรวงเพียงแต่เรียกชื่อไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง เช่น สำนักงานปลัดทบวง, รัฐมนตรีว่าการทบวง, ปลัดทบวง ฯลฯ
2. ทบวงที่ไม่มีฐานะเทียบเท่ากับกระทรวงแต่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง คือเป็นทบวงโดยสภาพและปริมาณของงานไม่เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นกระทรวงหรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ซึ่งเป็นทบวงที่ไม่เท่ากับกระทรวง แต่ไม่ต่ำกว่ากรม
6. กรม
กรมซึ่งสังกัดหรือไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงอาจแบ่งส่วนราชการดังนี้
1. สำนักงานเลขานุการกรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของกรมและราชการที่มิได้แยกให้เป็นหน้าที่ของกองหรือส่วนราชการใดโดยเฉพาะมีเลขานุการกรมเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานเลขานุการกรม
2. กองหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบกอง เว้นแต่บางกรมเห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะไม่แยกส่วนราชการตั้งขึ้นเป็นกองก็ได้ มีผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่เทียบเท่าเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ
6.1 อำนาจหน้าที่ของกรม
1. อำนาจเกี่ยวกับราชการของกระทรวงตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของกรม
2. อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของกรม
6.2 อธิบดีและการใช้อำนาจ
กรมมีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรมให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นไปตามเป้าหมาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวงและตามกฎหมายอื่นกำหนดอำนาจหน้าที่ของอธิบดีไว้เฉพาะ
การใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ของอธิบดีให้คำนึงถึงนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรืออนุมัติ และนโยบาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวงด้วย
6.3 ผู้ช่วยปฏิบัติราชการ
ผู้ช่วยปฏิบัติราชการของอธิบดีมีอยู่ 1 ตำแหน่งคือ รองอธิบดี
6.4 เขต
กระทรวง ทบวง กรมใดมีเหตุพิเศษ จะตราพระราชกฤษฎีกาแบ่งท้องที่ออกเป็นเขตเพื่อให้มีหัวหน้าส่วนราชการประจำเขตเพื่อปฏิบัติงานทางวิชาการก็ได้
6.5 ผู้ตรวจราชการ
กระทรวง ทบวง หรือกรมใดโดยสภาพและปริมาณของงานสมควรมีผู้ตรวจราชการของกระทรวง ทบวง หรือกรมนั้น ก็ให้กระทำได้ และผู้ตรวจราชการของกระทรวง ทบวง หรือกรม มีอำนาจหน้าที่ตรวจและแนะนำการปฏิบัติราชการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรี
7. หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
การปฏิบัติราชการของส่วนราชการภายในกรม ที่มีลักษณะเป็นการให้บริการหรือมีการบริการที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่และหากแยกการบริหารจะบรรลุเป้าหมายตามมาตรา 3/1 ยิ่งขึ้น ให้จัดตั้งเป็น “หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ” ได้ ซึ่งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษไม่ถือเป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และรายได้ของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษเป็นรายได้ที่ไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง
8. การปฏิบัติราชการแทน
1. อำนาจที่มอบได้คือ อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินการอื่นที่ผู้ดำรงตำแหน่งใดจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศหรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด ถ้ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้นหรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในส่วนราชการเดียวกันหรือส่วนราชการอื่น หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
2. ข้อห้ามในการมอบอำนาจ มิให้ใช้บังคับกับอำนาจในการอนุญาตตามกฎหมายที่บัญญัติให้ต้องออกใบอนุญาตหรือที่บัญญัติผู้มีอำนาจอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะ
3. หน้าที่ของผู้รับมอบอำนาจ เมื่อมีการมอบอำนาจแล้ว ผู้รับมอบอำนาจมีหน้าที่ต้องรับมอบอำนาจนั้น โดยผู้มอบอำนาจจะกำหนดให้ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนต่อไป โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการใช้อำนาจนั้นไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่ในกรณีการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด คณะรัฐมนตรีจะกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมอบอำนาจต่อไปให้รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัดหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดก็ได้
4. หลักการพิจารณาในการมอบอำนาจ ให้ผู้มอบอำนาจพิจารณาถึง
1. การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
2. ความรวดเร็วในการปฏิบัติราชการ
3. การกระจายความรับผิดชอบตามสภาพของตำแหน่งของผู้รับมอบอำนาจ
4. ผู้รับมอบอำนาจต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจตามวัตถุประสงค์ของการมอบอำนาจ
9. การรักษาราชการแทน
การรักษาราชการแทน คือ การสั่งให้ข้าราชการของผู้ดำรงตำแหน่งที่ต่ำกว่ามาปฏิบัติหน้าที่แทนตำแหน่งที่ว่างหรือผู้ดำรงตำแหน่งไม่สามารถปฏิบัติงานได้ โดยมีอำนาจเทียบเท่าตำแหน่งนั้นทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการอำนาจที่รับมอบมาจากตำแหน่งอื่น หรือการเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง โดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
9.1 กรณีที่ไม่มีนายกรัฐมนตรี หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทนตามลำดับ หากมีผู้ดำรงตำแหน่งรอง ฯ หรือ รมต. หลายคนให้คณะรัฐมนตรีเลือกคนใดคนหนึ่ง
9.2 ในกรณีไมมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงนั้นเป็นผู้รักษาราชการแทนอันดับแรก หากไม่มีให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
9.3 ในกรณีที่ไม่มีเลขานุการรัฐมนตรี หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงนั้นเป็นผู้รักษาราชการแทน
9.4 ในกรณีที่ไม่มีปลัดกระทรวง หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองปลัดกระทรวงเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองปลัดกระทรวงหลายคน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแต่งตั้งรองปลัดกระทรวงคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง ให้แต่งตั้งข้าราชการในกระทรวงที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีเป็นผู้รักษาราชการแทน
9.5 ในกรณีที่ไม่มีอธิบดีหรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองอธิบดีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองอธิบดีหลายคน ให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งรองอธิบดีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีให้แต่งตั้งข้าราชการในกรมซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ารองอธิบดีรักษาราชการแทน ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเห็นสมควรจะแต่งตั้งข้าราชการคนใดคนหนึ่งซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดีหรือเทียบเท่า เป็นผู้รักษาราชการแทนก็ได้
ความแตกต่างระหว่างการปฏิบัติราชการแทนกับการรักษาราชการแทน
การปฏิบัติราชการแทน คือ การมอบอำนาจ กฎหมายมอบอำนาจให้ใครผู้นั้นต้องใช้อำนาจเอง แต่มีข้อยกเว้นอยู่ว่าอำนาจทางปกครองมีการมอบอำนาจได้ การมอบอำนาจนี้เกิดขึ้นได้ตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายบอกไม่ให้มอบก็มอบอำนาจให้ใครไม่ได้ การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนเป็นการมอบอำนาจให้เฉพาะส่วนในการนั้นๆ ผู้ได้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนมาแค่ไหนก็มีอำนาจทำได้แค่นั้น
การรักษาราชการแทน คือ การที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ กฎหมายให้อำนาจหน้าที่ให้ผู้ใดผู้หนึ่ง อาจเป็นไปตามตำแหน่ง ถ้าผู้นั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ กฎหมายก็กำหนดให้มีผู้รักษาราชการแทนเพื่อให้การดำเนินงานของทางราชการดำเนินต่อไปได้ ผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เฉกเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งที่กฎหมายให้อำนาจไว้คือมีอำนาจเท่ากับผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ การรักษาราชการแทนเป็นการมอบอำนาจโดยผลของกฎหมาย
สรุปความแตกต่างระหว่างการปฏิบัติราชการแทนกับการรักษาราชการแทนสั้นๆ ได้ดังนี้
การปฏิบัติราชการแทน เป็นการมอบอำนาจโดยผู้มีอำนาจให้มีอำนาจกระทำการในเรื่องนั้นๆ ได้ เช่น นายอำเภอมอบให้ปลัดอำเภอปฏิบัติราชการแทนในเรื่อง ทะเบียนและบัตร
การรักษาราชการแทน เป็นการที่กฎหมายให้อำนาจแก่ผู้รักษาราชการแทน ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจหน้าที่นั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ผู้รักษาราชการแทนจึงมีอำนาจเทียบเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งนั้น เช่น นายอำเภอไปอบรม มอบให้ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายบริหารงานปกครอง รักษาราชการแทน เป็นต้น
10. การบริหารราชการในต่างประเทศ
“คณะผู้แทน” หมายความว่า บรรดาข้าราชการฝ่ายพลเรือน หรือข้าราชการฝ่ายทหารประจำการในต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล สถานรองกงสุล ส่วนราชการของกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเรียกชื่อเป็นอย่างอื่นและปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ และคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การระหว่างประเทศ
“หัวหน้าคณะผู้แทน” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้แทนตามระเบียบพิธีการทูต หรือระเบียบพิธีการกงสุล และมีหน้าที่รับนโยบายและคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติ และการที่กระทรวง ทบวง กรม จะมอบอำนาจหรือมีคำสั่งใดที่เกี่ยวข้องไปยังหัวหน้าคณะผู้แทน ให้แจ้งผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และให้หัวหน้าคณะผู้แทนมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
1. บริหารราชการตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ
2. บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มอบหมาย หรือตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการในฐานะหัวหน้ารัฐบาล
3. บังคับบัญชาบุคคลในคณะผู้แทนและข้าราชการฝ่ายพลเรือนที่มิใช่บุคคลในคณะผู้แทนซึ่งประจำอยู่ในประเทศที่ตนมีอำนาจหน้าที่ เพื่อให้การปฏิบัติราชการเป็นไปตามกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม หรือมติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล
4. รายงานข้อเท็จจริงและความเห็นเกี่ยวกับผลการปฏิบัติราชการของบุคคลตาม 3. เพื่อประกอบการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาของส่วนราชการต้นสังกัดเกี่ยวกับการแต่งตั้งและการเลื่อนขั้นเงินเดือน
“รองหัวหน้าคณะผู้แทน” หมายความว่า ข้าราชการสังกัดกระทรวงการต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าคณะผู้แทน และมีหน้าที่รักษาราชการแทนในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้แทน หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้
11. การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
ส่วนภูมิภาคมีการจัดระเบียบบริหารราชการดังนี้
1. จังหวัด
2. อำเภอ
11.1 จังหวัด
11.1.1 การจัดตั้ง
จังหวัดมาจากการรวมท้องที่หลาย ๆ อำเภอตั้งขึ้นเป็นจังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ
11.1.2 การขอจัดตั้งงบประมาณของกลุ่มจังหวัด
ในการบริหารงานแบบบูณาการในจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด ให้จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดยื่นคำขอจัดตั้งงบประมาณได้ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
11.1.3 อำนาจของจังหวัด
ในอดีตที่ผ่านมาไม่ได้มีมาตราใดของระเบียบบริหารราชการแผ่นดินกำหนดอำนาจหน้าที่ของจังหวัดเอาไว้คงมีแต่อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายฉบับที่ 7 จังหวัดมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
1. นำภารกิจของรัฐและนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์
2. ดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและเป็นธรรมในสังคม
3. จัดให้มีการคุ้มครอง ป้องกัน ส่งเสริม และช่วยเหลือประชาชนและชุมชนที่ด้อยโอกาสเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง
4. จัดให้มีการบริการภาครัฐเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอหน้ารวดเร็ว และมีคุณภาพ
5. จัดให้มีการส่งเสริม อุดหนุน และสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้สามารถดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้มีขีดความสามารถพร้อมที่จะดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนจากกระทรวง ทบวง กรม
11.1.4 คณะกรมการจังหวัด
คณะกรมการจังหวัดทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น กับปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายหรือมติของคณะรัฐมนตรีกำหนด คณะกรมการจังหวัด ประกอบด้วย
1. ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน
2. รองผู้ว่าราชการจังหวัด 1 คน ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย
3. ปลัดจังหวัด
4. อัยการจังหวัด
5. ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด
6. หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดจากกระทรวงและทบวงละ 1 คน เว้นแต่กระทรวงมหาดไทยซึ่งประจำอยู่ในจังหวัด
7. หัวหน้าสำนักงานจังหวัด เป็นคณะกรมการจังหวัดและเลขานุการ
11.1.5 แผนพัฒนาจังหวัด
ให้จังหวัดจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับชาติ และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นในจังหวัด โดยให้ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันระหว่าง 1.ผู้ว่าราชการจังหวัด 2.หัวหน้าส่วนราชการที่มีสถานที่ตั้งทำการอยู่ในจังหวัดทั้งราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนท้องถิ่น 3. ผู้แทนภาคประชาสังคม 4. ผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน
จำนวนและวิธีการสรรหาผู้แทนภาคประชาสังคมและผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
11.1.6 คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด
จังหวัดให้มีคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “ก.ธ.จ.” ทำหน้าที่สอดส่องและเสนอแนะการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานของรัฐในจังหวัดให้ใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและเป็นไปตามหลักการที่กำหนดไว้ในมาตรา 3/1 และให้ ก.ธ.จ. ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้
1. ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งมีเขตอำนาจในจังหวัดเป็นประธาน
2. ผู้แทนภาคประชาสังคม
3. ผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร
4. ผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน
จำนวน วิธีการสรรหา และการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ธ.จ. ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
11.1.7 ผู้ว่าราชการจังหวัด
ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติการให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชน และเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหาร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในราชการส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด และรับผิดชอบในราชการจังหวัดและอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
1. บริหารราชการตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ และตามแผนพัฒนาจังหวัด
2. บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มอบหมายหรือตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการในฐานะหัวหน้ารัฐบาล
3. บริหารราชการตามคำแนะนำและคำชี้แจงของผู้ตรวจราชการกระทรวงในเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม มติของคณะรัฐมนตรีหรือการ
สั่งการของนายกรัฐมนตรี
4. กำกับดูแลการปฏิบัติราชการอันมิใช่ราชการส่วนภูมิภาคของข้าราชการซึ่งประจำอยู่ในจังหวัดนั้น ยกเว้นข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและข้าราชการครู ให้ปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม หรือมติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรีหรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ของข้าราชการในจังหวัดที่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม มติของคณะรัฐมนตรีหรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรีไว้ชั่วคราวแล้วรายงานกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง
5. ประสานงานและร่วมมือกับข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและข้าราชการครู ผู้ตรวจราชการและหัวหน้าส่วนราชการในระดับเขตหรือภาค ในการพัฒนาจังหวัดหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
6. เสนองบประมาณต่อกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หรือเสนอขอจัดตั้งงบประมาณต่อสำนักงบประมาณ และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ
7. กำกับดูแลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย
8. กำกับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานองค์การของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ ในการนี้ให้มีอำนาจทำรายงานหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์การของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดองค์การของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ
9. บรรจุ แต่งตั้ง ให้บำเหน็จ และลงโทษข้าราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดตามกฎหมาย และตามที่ปลัดกระทรวง ปลัดทบวง หรืออธิบดีมอบหมาย
ผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด
จังหวัดจะให้มี 1.รองผู้ว่าราชการจังหวัด 2.ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือทั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด และเป็นผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด และรับผิดชอบในราชการรองจากผู้ว่าราชการจังหวัด
ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดสังกัดกระทรวงมหาดไทย
ผู้ช่วยเหลือผู้ว่าราชการจังหวัด
จังหวัดให้มี 1. ปลัดจังหวัด 2. หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด ซึ่งกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ส่งมาประจำทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ว่าราชการจังหวัด และมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมนั้น ในจังหวัด
การจำกัด หรือตัดทอน อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด
การยกเว้น จำกัด หรือตัดทอน อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการในจังหวัด หรือให้ข้าราชการของส่วนราชการใดมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเช่นเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัดจะกระทำได้โดยตราเป็นพระราชบัญญัติ
การแบ่งส่วนราชการในจังหวัด
ตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดการแบ่งส่วนราชการในจังหวัดไว้ใน มาตรา 60 โดยให้แบ่งส่วนราชการของจังหวัดดังนี้
1. สำนักงานจังหวัด มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปและการวางแผนพัฒนาจังหวัดของจังหวัดนั้น มีหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานจังหวัด
2. ส่วนต่าง ๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ได้ตั้งขึ้น มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวง ทบวง กรมนั้น ๆ มีหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนั้น ๆ เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชารับผิดชอบ
11.2 อำเภอ
11.2.1 การจัดตั้ง
จังหวัดหนึ่งให้มีหน่วยราชการบริหารรองจากจังหวัดเรียกว่าอำเภอการตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตอำเภอ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
11.2.2 อำนาจหน้าที่ของอำเภอ
อำเภอมีอำนาจหน้าที่เหมือนจังหวัดอยู่ 6 ข้อตามมาตรา 52/1 และให้มีอำนาจเพิ่มเข้ามาอีก 3 ข้อเพราะฉะนั้นอำเภอจะมีอำนาจของตัวเองและอำนาจที่นำมาจากจังหวัดโดยอนุโลมรวมแล้ว 9 ข้อ ตามมาตรา 61/1 ให้อำเภอมีอำนาจหน้าที่ภายในเขตอำเภอ ดังต่อไปนี้
1. อำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดในมาตรา 52/1
2. ส่งเสริม สนับสนุน และจัดให้มีการบริการร่วมกันของหน่วยงานของรัฐในลักษณะศูนย์บริการร่วม
3. ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อร่วมมือกับชุมชนในการดำเนินการให้มีแผนชุมชน เพื่อรองรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัด และกระทรวง ทบวง กรม
4. ไกล่เกลี่ยหรือจัดให้มีการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม
11.2.3 การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง
เดิมกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินนี้ไม่ได้มีการบัญญัติเรื่องการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทแพ่งไว้แต่อย่างใด จนได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 7 พ.ศ. 2550 ในมาตรา 61/2 โดยให้เป็นหน้าที่ของอำเภอ และในอำเภอ ให้มีคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทของประชาชนที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอ ในเรื่องที่พิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน มรดก และข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท หรือมากกว่านั้น ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
โดยให้นายอำเภอจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่
ไกล่เกลี่ย แล้วขอความเห็นชอบของคณะกรมการจังหวัด
เมื่อคณะกรมการจังหวัดให้ความเห็นชอบและคู่พิพาทตกลงยินยอมให้ใช้วิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้คู่พิพาทแต่ละฝ่ายเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อ 1 คน และเลือกว่าจะให้ 1.นายอำเภอ 2.พนักงานอัยการประจำจังหวัด 3. ปลัดอำเภอ เป็นประธาน เพื่อดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
ในกรณีที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการ และให้พนักงานอัยการดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ออกคำบังคับให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและให้นำกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับโดยอนุโลม
เมื่อคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทได้รับข้อพิพาทไว้พิจารณา ให้อายุความในการฟ้องร้องคดีสะดุดหยุดลง นับแต่วันที่ยื่นข้อพิพาทจนถึงวันที่คณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทสั่งจำหน่ายข้อพิพาทหรือวันที่คู่พิพาททำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน แล้วแต่กรณี
11.2.4 การไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา
การไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญาที่เป็นความผิดอันยอมความได้นั้น เดิมทีกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้มีการบัญญัติเรื่องการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา เช่นเดียวกับการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทแพ่ง จนเมื่อได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 7 พ.ศ. 2550 ในมาตรา 61/3 จึงได้บัญญัติขึ้นโดยให้อำเภอทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยบรรดาความผิดที่มีโทษทางอาญาที่เกิดขึ้นในเขตอำเภอใดหากเป็นความผิดอันยอมความได้ และมิใช่เป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ ถ้าผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหายินยอมหรือแสดงความจำนง ให้นายอำเภอของอำเภอนั้นหรือปลัดอำเภอที่นายอำเภอมอบหมายเป็นผู้ไกล่เกลี่ย และเมื่อผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหายินยอมเป็นหนังสือตามที่ไกล่เกลี่ยและปฏิบัติตามคำไกล่เกลี่ยดังกล่าวแล้ว ให้คดีอาญาเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
กรณีที่ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาไม่ยินยอมตามที่ไกล่เกลี่ย ให้จำหน่ายข้อพิพาทนั้น แต่เพื่อประโยชน์ในการที่ผู้เสียหายจะไปดำเนินคดีต่อไป อายุความการร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายอาญาให้เริ่มนับแต่วันที่จำหน่ายข้อพิพาท
11.2.5 นายอำเภอ
อำเภอมีนายอำเภอคนหนึ่ง สังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการในอำเภอ และรับผิดชอบงานบริหารราชการของอำเภอ
บรรดาอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกรมการอำเภอหรือนายอำเภอซึ่งกฎหมายกำหนดให้กรมการอำเภอและนายอำเภอมีอยู่ให้โอนไปเป็นอำนาจและหน้าที่ของนายอำเภอ
อำนาจหน้าที่นายอำเภอ
1. บริหารราชการตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ถ้ากฎหมายใดมิได้บัญญัติว่าการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ใดโดยเฉพาะ ให้เป็นหน้าที่ของนายอำเภอที่จะต้องรักษาการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นด้วย
2. บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มอบหมายหรือตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการในฐานะหัวหน้ารัฐบาล
3. บริหารราชการตามคำแนะนำและคำชี้แจงของผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้มีหน้าที่ตรวจการอื่นซึ่งคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม และผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย ในเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม มติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรี
4. ควบคุมดูแลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในอำเภอตามกฎหมาย
ผู้ช่วยเหลือนายอำเภอ
ให้ 1. ปลัดอำเภอ 2. หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอซึ่งกระทรวงทบวง กรมต่าง ๆ ส่งมาประจำให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอ และมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมนั้น ในอำเภอ
การแบ่งส่วนราชการในอำเภอ
การจัดการปกครองอำเภอ นอกจากที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องที่ และให้แบ่งส่วนราชการในอำเภอดังนี้
1. สำนักงานอำเภอ มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของอำเภอนั้น ๆ มีนายอำเภอเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบ
2. ส่วนต่าง ๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ได้ตั้งขึ้น ในอำเภอนั้น มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวง ทบวง กรมนั้น ๆ มีหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอนั้น ๆ เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชารับผิดชอบ
12. การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
ท้องถิ่นใดที่เห็นสมควรจัดให้ราษฎรมีส่วนในการปกครองท้องถิ่นให้จัดระเบียบการปกครองเป็นราชการส่วนท้องถิ่น และตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นดังนี้
1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด
2. เทศบาล
3. สุขาภิบาล
4. ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด
13. คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เรียกโดยย่อว่า “ก.พ.ร.” ประกอบด้วย
1. นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน
2. รัฐมนตรีหนึ่งคนที่นายกรัฐมนตรีกำหนด เป็นรองประธาน
3. ผู้ซึ่งคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมอบหมาย 1 คน
4. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 10 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยวิธีการสรรหาจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในทางด้านนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ การบริหารรัฐกิจ การบริหารธุรกิจ การเงินการคลัง จิตวิทยาองค์การ และสังคมวิทยา อย่างน้อยด้านละ 1 คน ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผล คณะรัฐมนตรีจะกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่า 3 คนแต่ไม่เกิน 5 คนต้องทำงานเต็มเวลาก็ได้
การปฏิบัติหน้าที่และค่าตอบแทนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ต้องทำงานเต็มเวลา ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี ผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน
เมื่อตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่างลงก่อนวาระ ให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายใน 30 วัน
5. เลขาธิการ ก.พ.ร. เป็นกรรมการและเลขานุการ
13.1 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
1. มีสัญชาติไทย
2. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
3. ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
4. ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นกรรมการหรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง
5. ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออกหรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
13.2 การพ้นจากตำแหน่งตามวาระของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
1. ตาย
2. ลาออก
3. ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
4. คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ
13.3 เลขาธิการ ก.พ.ร.
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของ ก.พ.ร. และหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายหรือ ก.พ.ร. กำหนด โดยมีเลขาธิการ ก.พ.ร. ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
13.4 อำนาจหน้าที่ ก.พ.ร.
1. เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการและงานของรัฐอย่างอื่น ซึ่งรวมถึงโครงสร้างระบบราชการ ระบบงบประมาณ ระบบบุคลากรมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม ค่าตอบแทน และวิธีปฏิบัติราชการอื่น ให้เป็นไปตามมาตรา 3/1 โดยจะเสนอแนะให้มีการกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการก็ได้
2. เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานอื่นของรัฐที่มิได้อยู่ในกำกับของราชการฝ่ายบริหารตามที่หน่วยงานดังกล่าวร้องขอ
3. รายงานต่อคณะรัฐมนตรีในกรณีที่มีการดำเนินการขัดหรือไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน ม. 3/1
4. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานในการจัดตั้ง การรวม การโอน การยุบเลิก การกำหนดชื่อ การเปลี่ยนชื่อ การกำหนดอำนาจหน้าที่ และการแบ่งส่วนราชการภายในของส่วนราชการที่เป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการอื่น
5. เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา และกฎที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้
6. ดำเนินการให้มีการชี้แจงทำความเข้าใจแก่ส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป รวมตลอดทั้งการฝึกอบรม
7. ติดตาม ประเมินผล และแนะนำเพื่อให้มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีพร้อมทั้งข้อเสนอแนะ
8. ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม รวมตลอดทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติ ในกรณีที่เป็นปัญหา มติของคณะกรรมการตามข้อนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
9. เรียกให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นใดมาชี้แจงหรือแสดงความเห็นประกอบการพิจารณา
10. จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการพัฒนาและจัดระบบราชการและงานของรัฐอย่างอื่นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
11. แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่มอบหมาย และจะกำหนดอัตราเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนอื่นด้วยก็ได้