ในส่วนนี้มีระเบียบที่ต้องศึกษาอยู่ 2 ระเบียบคือ ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2552
1. ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
ระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการและทุก 5 ปีเป็นอย่างน้อย ให้นายกรัฐมนตรีจัดให้มีการทบทวนการปฏิบัติการและพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบนี้ให้เหมาะสม บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2544 เป็นต้นมาโดยมีนิยามที่สำคัญดังนี้
1.1 นิยาม
“ข้อมูลข่าวสารลับ” หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารที่มีคำสั่งไม่ให้เปิดเผยและอยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ[1] ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐหรือที่เกี่ยวกับเอกชนซึ่งมีการกำหนดให้มีชั้นความลับเป็น ชั้นลับชั้นลับมาก หรือชั้นลับที่สุด
“หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ”[2] หมายความว่า
1. หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
2. ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับราชการส่วนภูมิภาค[3]
3. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี ประธานสภาตำบล ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล[4] นายกเมืองพัทยา สำหรับราชการส่วนท้องถิ่น
4. ผู้บริหารกิจการของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
1.2 การตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่
หัวหน้าหน่วยงานของรัฐอาจขอให้องค์การรักษาความปลอดภัยช่วยตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ของตนที่เกี่ยวข้องกับชั้นความลับได้
1.3 องค์การรักษาความปลอดภัย
สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นองค์การรักษาความปลอดภัย
ฝ่ายพลเรือน
ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการทหารสูงสุด[5] เป็นองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายทหาร
1.4 ประเภทชั้นความลับ
ชั้นความลับของข้อมูลข่าวสารลับ แบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ
1. ลับที่สุด (TOP SECRET) หมายถึง ข้อมูลข่าวสารลับซึ่งหากเปิดเผยทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์แห่งรัฐอย่างร้ายแรงที่สุด
2. ลับมาก (SECRET) หมายถึง ข้อมูลข่าวสารลับซึ่งหากเปิดเผยทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์แห่งรัฐอย่างร้ายแรง
3. ลับ (CONFIDENTIAL) หมายความถึง ข้อมูลข่าวสารลับซึ่งหากเปิดเผยทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์แห่งรัฐ
1.5 ผู้มีอำนาจกำหนดชั้นความลับ
หัวหน้าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดชั้นความลับพร้อมทั้งการกำหนดชั้นความลับว่าเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทใดและเพราะเหตุใด การกำหนดชั้นความลับของข้อมูลข่าวสารลับที่มีชั้นความลับหลายชั้นในเรื่องเดียวกันให้กำหนดชั้นความลับเท่ากับชั้นความลับสูงสุดที่มีอยู่ในข้อมูลข่าวสารลับนั้น และการกำหนดให้ข้อมูลข่าวสารลับอยู่ในชั้นความลับใด ให้พิจารณาถึงองค์ประกอบต่อไปนี้
1. ความสำคัญของเนื้อหา 2. แหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสาร
3. วิธีการนำไปใช้ประโยชน์ 4. จำนวนบุคคลที่ควรรับทราบ
5. ผลกระทบหากมีการเปิดเผย
6. หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในฐานะเจ้าของเรื่องหรือผู้อนุมัติ
1.6 การแสดงชั้นความลับ
เครื่องหมายแสดงชั้นความลับให้ใช้ตัวอักษรตามชั้นความลับที่ขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรธรรมดา โดยใช้สีแดงหรือสีอื่นที่สามารถมองเห็นได้เด่นและชัดเจน และการแสดงชั้นความลับให้ปฏิบัติ ดังนี้
1. ข้อมูลข่าวสารที่มีสภาพเป็นเอกสาร ภาพเขียน ภาพถ่าย แผนที่ แผนภูมิ แผนผังและสำเนาสิ่งของ ให้แสดงชั้นความลับที่กลางหน้ากระดาษทั้งด้านบนและด้านล่างของทุกหน้าเอกสารนั้น ถ้าเอกสารเข้าปกให้แสดงไว้ที่ด้านนอกของปกหน้าปกหลังด้วย ถ้าเอกสารนั้นม้วนหรือพับได้ให้แสดงชั้นความลับไว้ให้ปรากฏเห็นได้ขณะที่เอกสารนั้นม้วนหรือพับอยู่ด้วย
2. ข้อมูลข่าวสารที่มีสภาพเป็นจานบันทึก แถบบันทึก ฟิล์มบันทึกภาพทุกประเภทหรือสิ่งบันทึกที่สามารถแสดงผลหรือสื่อความหมายโดยกรรมวิธีใด ๆ ให้แสดงชั้นความลับไว้ที่ต้นและปลายม้วนฟิล์มหรือต้นและปลายของข้อมูลข่าวสารหรือบนวัสดุหรือบนภาชนะที่บรรจุ ถ้าไม่สามารถแสดงชั้นความลับไว้ในที่ดังกล่าวได้ ให้เก็บในกล่องหรือหีบห่อซึ่งมีเครื่องหมายแสดงชั้นความลับนั้น
1.7 การปรับชั้นความลับ
การปรับชั้นความลับ ต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจกำหนดชั้นความลับของหน่วยงานเจ้าของเรื่องการแก้ไขชั้นความลับ ให้ขีดฆ่าเครื่องหมายแสดงชั้นความลับเดิมแล้วแสดงเครื่องหมายชั้นความลับที่กำหนดใหม่
1.8 นายทะเบียน
ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบการดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารลับขึ้นภายในหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบเรียกว่า “นายทะเบียนข้อมูลข่าวสารลับ” และให้นายทะเบียน มีหน้าที่ดังนี้
1. ดำเนินการทางทะเบียนข้อมูลข่าวสารลับให้เป็นไปตามระเบียบนี้
2. เก็บรักษาแบบเอกสารต่าง ๆ ซึ่งกรอกข้อความแล้วตามระเบียบนี้
3. เก็บรักษาบัญชีลายมือชื่อนายทะเบียนข้อมูลข่าวสารลับและผู้ช่วยนายทะเบียนข้อมูลข่าวสารลับของ หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ที่ติดต่อเกี่ยวข้องกันเป็นประจำ
4. ประสานงานกับผู้ควบคุมทะเบียน
นายทะเบียนข้อมูลข่าวสารลับอย่างน้อยต้องจัดให้มีทะเบียนข้อมูลข่าวสารลับประกอบด้วย ทะเบียนรับ ทะเบียนส่ง และทะเบียนควบคุมข้อมูลข่าวสารลับแยกต่างหากจากทะเบียนงานสารบรรณตามปกติของหน่วยงานของรัฐ และ ทะเบียนข้อมูลข่าวสารลับให้ถือว่าเป็นข้อมูลข่าวสารลับด้วย
1.9 การตรวจสอบ
ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ประกอบด้วย นายทะเบียนข้อมูลข่าวสารลับ เป็นประธานกรรมการ และเจ้าหน้าที่ไม่น้อยกว่า 2 คนเป็นกรรมการ ทำการตรวจสอบความถูกต้องและการมีอยู่ของข้อมูลข่าวสารลับอย่างน้อยทุก 6 เดือน
ให้หน่วยงานของรัฐรายงานผลการปฏิบัติเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารลับตามระเบียบนี้ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการตามแบบที่นายกรัฐมนตรีกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
1.10 การส่งและการรับ
การส่งภายในบริเวณหน่วยงานเดียวกัน ทุกชั้นความลับต้องใช้ใบปกข้อมูลข่าวสารลับปิดทับข้อมูลข่าวสารลับให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด[6]
– ใบปกใช้ปิดทับข้อมูลข่าวสารลับ ชั้นลับที่สุด ใช้สีเหลือง
– ใบปกใช้ปิดทับข้อมูลข่าวสารลับ ชั้นลับมาก ใช้สีแดง
– ใบปกใช้ปิดทับข้อมูลข่าวสารลับ ชั้นลับ ใช้สีน้ำเงิน
การส่งออกนอกบริเวณหน่วยงาน หน่วยงาน ต้องบรรจุซองหรือภาชนะทึบแสง 2 ชั้นอย่างมั่นคง
1.11 การโอน
การโอนข้อมูลข่าวสารลับระหว่างหน่วยงานของรัฐ หรือการโอนภายในหน่วยงานเดียวกันให้เจ้าหน้าที่ผู้โอนและเจ้าหน้าที่ผู้รับโอนจัดทําบันทึกการโอนและการรับโอนข้อมูลข่าวสารลับตามแบบที่นายกรัฐมนตรีกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาไว้เป็นหลักฐาน และให้นายทะเบียนข้อมูลข่าวสารลับจดแจ้งการโอนข้อมูลข่าวสารลับดังกล่าวไว้ในทะเบียนควบคุมข้อมูลข่าวสารลับด้วย
1.12 การทำลาย
ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐแต่งตั้งคณะกรรมการทำลายข้อมูลข่าวสารลับ ประกอบด้วย นายทะเบียนข้อมูลข่าวสารลับเป็นประธานกรรมการ และเจ้าหน้าที่ไม่น้อยกว่า 2 คนเป็นกรรมการ เพื่อดำเนินการทำลายข้อมูลข่าวสารลับ และให้จดแจ้งการทำลายไว้ในทะเบียนควบคุมข้อมูลข่าวสารลับและจัดทำใบรับรองการทำลายข้อมูลข่าวสารลับด้วยเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานไม่น้อยกว่า 1 ปี
2. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2552 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2552 มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ และกรณีที่เห็นเป็นการสมควรหรืออย่างน้อยทุก 5 ปี ให้นายกรัฐมนตรีจัดให้มีการทบทวนและพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสม มีผลบังคับใช้วันที่ 11 มิถุนายน 2552 มีนิยามที่สำคัญดังนี้
2.1 นิยาม
“การรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ” หมายความว่า มาตรการและการดำเนินการที่กำหนดขึ้นเพื่อพิทักษ์รักษาและคุ้มครองป้องกันสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ ตลอดจนหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ให้พ้นจากการรั่วไหลการ
จารกรรม การก่อวินาศกรรม การบ่อนทำลาย การก่อการร้าย การกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งรัฐ และการกระทำอื่นใดที่เป็นการเปิดเผยสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ
“สิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ” หมายความว่า ข้อมูลข่าวสาร บริภัณฑ์ ยุทธภัณฑ์ที่สงวน การรหัส ประมวลลับ และสิ่งอื่นใดบรรดาที่ถือว่าเป็นความลับของทางราชการ
“บริภัณฑ์” หมายความว่า เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องกล สิ่งอุปกรณ์
“ยุทธภัณฑ์” หมายความว่า สิ่งของทั้งหลายที่ใช้ประจำกาย หรือประจำหน่วยกำลังถืออาวุธของทางราชการ
“การจารกรรม” หมายความว่า การกระทำใด ๆ โดยทางลับเพื่อให้ได้ล่วงรู้หรือได้ไปหรือส่งสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ
“การก่อวินาศกรรม” หมายความว่า การกระทำใด ๆ เพื่อทำลาย ทำความเสียหายต่อทรัพย์สิน วัสดุ ข้อมูลข่าวสาร อาคาร สถานที่ ยุทธปัจจัย ที่สงวน สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวก
“การบ่อนทำลาย” หมายความว่า การกระทำใด ๆ ที่มุ่งก่อให้เกิดความแตกแยก ความปั่นป่วน ความกระด้างกระเดื่อง ซึ่งนำไปสู่การก่อความไม่สงบ หรือความอ่อนแอภายในชาติ
“การก่อการร้าย” หมายความว่า การกระทำใด ๆ ที่สร้างความปั่นป่วนให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเพื่อขู่เข็ญหรือบีบบังคับรัฐบาล หรือองค์การระหว่างประเทศ
“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่อยู่ในกำกับของฝ่ายบริหาร แต่ไม่รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[7]
2.2 องค์การรักษาความปลอดภัย
สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน
ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหมเป็นองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายทหาร กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นองค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายตำรวจ
2.3 ประเภทชั้นความลับ[8]
ชั้นความลับของสิ่งที่เป็นความลับของทางราชการ แบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ[9]
1. ลับที่สุด (TOP SECRET) หมายความว่า ความลับที่มีความสำคัญที่สุดเกี่ยวกับบุคคลข้อมูลข่าวสาร วัตถุ สถานที่ และทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ซึ่งหากความลับดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนรั่วไหลไปถึงบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ได้ทราบ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งรัฐอย่างร้ายแรงที่สุด
2. ลับมาก (SECRET) หมายความว่า ความลับที่มีความสำคัญมากเกี่ยวกับบุคคลข้อมูลข่าวสาร วัตถุ สถานที่ และทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ซึ่งหากความลับดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนรั่วไหลไปถึงบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ได้ทราบ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งรัฐอย่างร้ายแรง
3. ลับ (CONFIDENTIAL)ความลับที่มีความสำคัญเกี่ยวกับบุคคลข้อมูลข่าวสาร วัตถุ สถานที่ และทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ซึ่งหากความลับดังกล่าวทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนรั่วไหลไปถึงบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ได้ทราบ จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งรัฐ
2.4 คณะกรรมการนโยบายรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ
คณะกรรมการนโยบายรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ เรียกโดยย่อว่า “กรช”[10] มีจำนวน 24 คน มีตำแหน่งที่สำคัญดังนี้[11]
1. รัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ
2. เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1
3. เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2
4. เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ
5. ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
6. ผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
7. ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสันติบาล เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
2.5 อำนาจหน้าที่ของ “กรช”
1. กำหนดนโยบายและมาตรการการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ
2. กำหนดแนวทางปฏิบัติและอำนวยการตามนโยบายและมาตรการการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ
3. วินิจฉัยปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ
4. เสนอแนะการแก้ไขปรับปรุงระเบียบนี้ให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์
5. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่ กรช. มอบหมาย
6. เชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องฯ มาชี้แจง หรือเรียกเอกสารจากหน่วยงานของรัฐหรือบุคคล
7. ออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามระเบียบว่าด้วยรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ
8. ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
[1] ข้อสอบมักลวงว่า อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของเอกชน
[2] ภาพรวมโดยสรุปในระเบียบนี้ หัวหน้าหน่วยงานรัฐมีอำนาจดังต่อไปนี้ 1.กำหนดชั้นความลับ 2.ปรับชั้นความลับ 3.แต่งตั้งนายทะเบียน 4.แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ 5. กำหนดเจ้าหน้าที่จัดทำเอกสาร 6.ส่งเอกสารไปต่างประเทศหรือภายในประเทศ
7.อนุมัติให้ยืม 8.อนุมัติทำลาย
[3] ปัจจุบันราชการส่วนภูมิภาคมี จังหวัด กับ อำเภอ ระวังข้อสอบลวงว่าเป็นนายอำเภอ อีกทั้งอำเภอไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลจึงต้องห้ามตามข้อ 1 ด้วย
[4] ตำแหน่งปัจจุบันคือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล
[5] ปัจจุบันคือ กองบัญชาการกองทัพไทย
[6] ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดแบบเอกสารตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544
[7] เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ส่วนราชการสังกัดรัฐสภา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นใดของรัฐ อาจนำระเบียบนี้ไปใช้บังคับโดยอนุโลม
[8] เทคนิคในการจำอีกอย่างก็คือ ชั้นความลับตามระเบียบนี้ จะเหมือนกับชั้นความลับตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 คือมี 3 ชั้น และความหมายลงท้ายเหมือนกัน คือ 1. แห่งรัฐอย่างร้ายแรงที่สุด 2.แห่งรัฐอย่างร้ายแรง 3.แห่งรัฐ
[9] ระวังข้อสอบ ก่อนที่จะมีการยกเลิกระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2517 ทั้งฉบับ เมื่อก่อนจะมี ชั้นความลับที่เรียกว่า ปกปิด ( Restricted ) ด้วย แต่ปัจจุบันไม่มีแล้วห้ามนำมาตอบเด็ดขาด
[10] ก่อนที่จะมีการแก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ตำแหน่งทั้งหมดจะมี 23 คน แต่หลังจากแก้ไขแล้วเพิ่มเข้ามาอีก 1 ตำแหน่งคือ เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รวมกรรมการ “กรช” แล้วมีจำนวน 24 คน
[11] ท่านสามารถดูตำแหน่งทั้งหมดได้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554)