กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ

พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

          หลักการหรือแนวความคิดของกฎหมายฉบับนี้ คือ สิ่งใดที่เป็น “ข้อมูลข่าวสารของราชการ” ย่อมเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปได้เสมอ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประชาชนทุกคนย่อมเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ เพราะแนวคิดตามกฎหมายเดิมจะมีอยู่ว่า “ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น” รูปธรรมที่ตามมาจากแนวคิดเดิม คือ เอกสารส่วนใหญ่ของราชการจะตีตราว่า ปกปิด ลับ ลับมาก หรือลับที่สุด หรือสถานที่ราชการห้ามเข้า เป็นต้น แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไป มีการปฏิรูปการเมือง จึงเกิดหลักประกันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการให้แก่ประชาชน ซึ่งก็คือกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการนั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้ประชาชนตรวจสอบการทำงานของราชการได้ อันจะส่งผลให้การปฏิบัติราชการมีความโปร่งใสมากขึ้น และแนวคิดใหม่ของกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ คือ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” แรกทีเดียวมีผู้เสนอว่ากฎหมายนี้ควรชื่อว่า “กฎหมายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ” แต่เกรงว่าอาจทำให้ประชาชนทั่วเข้าใจผิดว่าข้อมูลข่าวสารของราชการทุกประเภทจะต้องเปิดเผย เพราะในความเป็นจริงอาจมีข้อมูลข่าวสารบางรายการสมควรเก็บไว้เป็นความลับ

          กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการจึงได้รับการยอมรับว่าเป็น “จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ” เนื่องจากเป็นการ “เปลี่ยนกระบวนทัศน์” หรือมุมมองเกี่ยวกับโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการโดยประชาชน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องทำตัวให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายนี้ และในขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องขยันใช้กลไกของกฎหมายนี้อย่างสุจริตด้วย เพื่อให้การตรวจสอบการทำงานของข้าราชการเป็นผลอย่างจริงจัง พระราชบัญญัตินี้ตราขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา และให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน (บังคับใช้วันที่ 9 ธันวาคม 2540)

1. คำนิยามและบททั่วไป

          “ข้อมูลข่าวสาร” หมายความว่า สิ่งที่สื่อความหมายให้รู้เรื่องราวข้อเท็จจริง ข้อมูล หรือสิ่งใดๆ ไม่ว่าการสื่อความหมายนั้นจะทำได้โดยสภาพของสิ่งนั้นเองหรือโดยผ่านวิธีการใดๆ และไม่ว่าจะได้จัดทำไว้ในรูปของเอกสารแฟ้ม รายงาน หนังสือ แผนผัง แผนที่ ภาพวาด ภาพถ่าย ฟิล์ม การบันทึกภาพหรือเสียง การบันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์
          “ข้อมูลข่าวสารของราชการ” หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐหรือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเอกชน
          “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ศาลเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี
          “ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล” หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของบุคคล เช่น การศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม หรือประวัติการทำงาน บรรดาที่มีชื่อของผู้นั้นหรือมีเลขหมาย รหัสหรือสิ่งบอกลักษณะอื่นที่ทำให้รู้ตัวผู้นั้นได้ เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ แผ่นบันทึกลักษณะเสียงของคนหรือรูปถ่าย และให้หมายความรวมถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้วด้วย
          “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ[1]
          “คนต่างด้าว” มี 2 ความหมายคือ ความหมายของบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล[2]
                    บุคคลธรรมดา บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
                    นิติบุคคล 1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่มีทุนเกินกึ่งหนึ่งเป็นของคนต่างด้าวใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือให้ถือว่าใบหุ้นนั้นคนต่างด้าวเป็นผู้ถือ 2. สมาคมที่มีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งเป็นคนต่างด้าว 3. สมาคมหรือมูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของคนต่างด้าว 4. นิติบุคคลอื่นใดที่มีผู้จัดการหรือกรรมการเกินกึ่งหนึ่งเป็นคนต่างด้าว
          “สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ” ให้จัดตั้งขึ้นในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานวิชาการและธุรการให้แก่คณะกรรมการฯ และคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ และให้คำปรึกษาแก่เอกชน

2. การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

          การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมี 2 ส่วนที่ผู้อ่านต้องทำความเข้าใจ คือ ข้อมูลข่าวสารที่ต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา และข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดู ดังนี้

2.1 ข้อมูลข่าวสารที่ต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา
          1. โครงสร้างและการจัดองค์กรในการดำเนินงาน
          2. สรุปอำนาจหน้าที่ที่สำคัญและวิธีการดำเนินงาน
          3. สถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสารหรือคำแนะนำในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ
          4. กฎ มติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือเวียน ระเบียบแบบแผน นโยบาย หรือการตีความ เฉพาะที่จัดให้มีขึ้นโดยสภาพอย่างกฎเพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อเอกชนที่เกี่ยวข้อง

2.2 ข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดู
          1. ผลการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยที่มีผลโดยตรงต่อเอกชนรวมทั้งความเห็นแย้งและคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าว
          2. นโยบายหรือการตีความที่ไม่เข้าข่ายต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา
          3. แผนงาน โครงการ และงบประมาณรายจ่ายประจำปีของปีที่กำลังดำเนินการ
          4. คู่มือหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีผลกระทบถึงสิทธิหน้าที่ของเอกชน
          5. สิ่งพิมพ์ที่ได้มีการอ้างอิงถึง[3]
          6. สัญญาสัมปทาน สัญญาที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ
          7. มติคณะรัฐมนตรี หรือมติคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกฎหมายหรือโดยมติคณะรัฐมนตรี 

          บุคคลไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม ย่อมมีสิทธิเข้าตรวจดู ขอสำเนาหรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูทั้ง 7 ข้อข้างต้น
          คนต่างด้าวจะมีสิทธิ (เข้าตรวจดู ขอสำเนาหรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้อง) เพียงใดให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

2.3 การจัดหาข้อมูลข่าวสารเมื่อบุคคลร้องขอ
          ถ้าบุคคลใดขอข้อมูลข่าวสารอื่นใดนอกจาก (ข้อมูลข่าวสารที่ต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา, ข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดู, ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะเก็บรักษา) ให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้แก่ผู้ขอภายในเวลาอันสมควร เว้นแต่ผู้นั้นขอจำนวนมากหรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

2.4 การร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
          ผู้ใดเห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่จัดพิมพ์ข้อมูลลงในราชกิจจานุเบกษา หรือไม่จัดข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ หรือไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้แก่ตน หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หรือเห็นว่าตนไม่ได้รับความสะดวกโดยไม่มีเหตุอันสมควร ผู้นั้นมีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ[4] แล้วให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องเรียน ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นให้ขยายเวลาออกไปได้ แต่ต้องแสดงเหตุผลและรวมเวลาทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 60 วัน

3. ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผย

          ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผยสามารถแบ่งได้ 2 กรณีคือ ห้ามเปิดเผย และ อาจจะเปิดเผยได้

3.1 ห้ามเปิดเผย
          ข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะเปิดเผยมิได้[5]

3.2 อาจจะเปิดเผยได้
          ข้อมูลข่าวสารของราชการดังต่อไปนี้ หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผยก็ได้ โดยคำนึงถึงการปฏิบัติหน้าที่และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกัน
          1. การเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
          2. การเปิดเผยจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการฟ้องคดี การป้องกันการปราบปราม การทดสอบ การตรวจสอบ หรือการรู้แหล่งที่มาหรือไม่ก็ตาม
          3. ความเห็นหรือคำแนะนำภายในหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงรายงานทางวิชาการ รายงานข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการทำความเห็นหรือคำแนะนำภายในดังกล่าว
          4. การเปิดเผยจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของบุคคลหนึ่งบุคคลใด
          5. รายงานการแพทย์หรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลซึ่งการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร
          6. ข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผยหรือข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ให้มาโดยไม่ประสงค์ให้ทางราชการนำไปเปิดเผยต่อผู้อื่น

3.3 การเปิดเผยข้อมูลที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของบุคคล
          กรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของผู้ใด ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแจ้งให้ผู้นั้นเสนอคำคัดค้านภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

3.4 บุคคลภายนอกขอดูข้อมูลที่ห้ามเปิดเผย และอาจจะเปิดเผยได้
          กรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หรือข้อมูลข่าวสารที่เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผย หรือมีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้านของผู้มีประโยชน์ได้เสีย ผู้นั้นอาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร[6]ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง โดยยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ

4. ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล

          บุคคล หมายความ ว่าบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย และบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

4.1 การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
         
หน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล โดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลล่วงหน้าหรือในขณะนั้นมิได้ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยดังต่อไปนี้
         
1. ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของตนเพื่อการนำไปใช้ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐแห่ง
          2. เป็นการใช้ข้อมูลตามปกติภายในวัตถุประสงค์ของการจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล          
          3. ต่อหน่วยงานของรัฐที่ทำงานด้านการวางแผนหรือการสถิติหรือสำมะโนต่าง ๆ
          4. เป็นการให้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยโดยไม่ระบุชื่อหรือส่วนที่ทำให้รู้ว่าเป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับบุคคลใด
          5. ต่อหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร  เพื่อการตรวจดูคุณค่าในการเก็บรักษา
          6. ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อการป้องกันการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การสืบสวน การสอบสวน หรือการฟ้องคดี ไม่ว่าเป็นคดีประเภทใดก็ตาม
          7. เป็นการให้ซึ่งจำเป็นเพื่อการป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพของบุคคล
          8. ต่อศาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะขอข้อเท็จจริง
          9. กรณีอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

4.2 การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
          ถ้าบุคคลใดเห็นว่าข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนส่วนใดไม่ถูกต้องตามที่เป็นจริง ให้มีสิทธิยื่นคำขอเป็นหนังสือให้หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนนั้น ถ้าหน่วยงานของรัฐไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารให้ตรงตามที่มีคำขอ ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร[7]ภายใน 30 วัน โดยยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ[8]

4.3 หน่วยงานของรัฐที่สามารถออกระเบียบมาใช้บังคับกับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลได้
          หน่วยงานของรัฐที่สามารถออกระเบียบโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ มาใช้บังคับกับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลได้คือ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

4.4 การจัดระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
          หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลดังต่อไปนี้
          1. ต้องจัดให้มีระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเพียงเท่าที่เกี่ยวข้องและจำเป็นเพื่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์เท่านั้นและยกเลิกการจัดให้มีระบบดังกล่าวเมื่อหมดความจำเป็น
          2. พยายามเก็บข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากเจ้าของข้อมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่จะกระทบถึงประโยชน์ได้เสียโดยตรงของบุคคลนั้น
          3. จัดให้มีการพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาและตรวจสอบแก้ไขให้ถูกต้องอยู่เสมอเกี่ยวกับสิ่งดังต่อไปนี้[9]
                    3.1 ประเภทของบุคคลที่มีการเก็บข้อมูลไว้
                    3.2 ประเภทของระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
                    3.3 ลักษณะการใช้ข้อมูลตามปกติ
                    3.4 วิธีการขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารของเจ้าของข้อมูล
                    3.5 วิธีการขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล
                    3.6 แหล่งที่มาของข้อมูล
          4. ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลในความรับผิดชอบให้ถูกต้องอยู่เสมอ
          5. จัดระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่ระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลตามความเหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการนำไปใช้โดยไม่เหมาะสมหรือเป็นผลร้ายต่อเจ้าของข้อมูล

5. เอกสารประวัติศาสตร์

          ข้อมูลข่าวสารของราชการที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะเก็บรักษาหรือมีอายุครบกำหนด ดังต่อไปนี้ให้หน่วยงานของรัฐส่งมอบให้แก่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากรหรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาเพื่อคัดเลือกไว้ให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้า 
                    1. ข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อครบ 75 ปี
                    2. ข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจมีคำสั่งมิให้เปิดเผย เมื่อครบ 20 ปี

          กำหนดเวลาที่จะส่งมอบให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติอาจขยายออกไปได้ในกรณีดังต่อไปนี้
                    1. หน่วยงานของรัฐยังจำเป็นต้องเก็บรักษาข้อมูลข่าวสารของราชการไว้เอง
                    2. หน่วยงานของรัฐเห็นว่าข้อมูลข่าวสารของราชการนั้นยังไม่ควรเปิดเผยโดยมีคำสั่งขยายเวลากำกับไว้เป็นการเฉพาะราย แต่จะกำหนดเกินคราวละ 5 ปีไม่ได้

 6. คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ

6.1 คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ

คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเต็มคณะมีจำนวนทั้งหมด 23 คน ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเลขานุการจำนวน  1 คนและผู้ช่วยเลขานุการจำนวน 2 คน

โดยตำแหน่ง 14 คน

รัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน 2. ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 3. ปลัดกระทรวงกลาโหม 4. ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5. ปลัดกระทรวงการคลัง 6. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 7. ปลัดกระทรวงมหาดไทย 8. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ 9. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 10. เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน 11. เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 12. เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 13. ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ 14. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน

ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน 9 คนเป็นกรรมการ และมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง ผู้ที่พ้นจากตำแหน่งแล้วอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้

6.2 การพ้นจากตำแหน่งของผู้ทรงคุณวุฒิ
         
1. ตาย
         
2. ลาออก
         
3. คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่หรือหย่อนความสามารถ   

          4. เป็นบุคคลล้มละลาย
         
5. เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
         
6. ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

6.3 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ
          1. สอดส่องดูแลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ
          2. ให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ
          3. เสนอแนะในการตราพระราชกฤษฎีกาและการออกกฎกระทรวงหรือระเบียบของคณะรัฐมนตรี[11]
          4. พิจารณาและให้ความเห็นเรื่องร้องเรียน
          5. จัดทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งคราว ตามความเหมาะสม แต่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
          6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
          7. ดำเนินการเรื่องอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

7. คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

          คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ประกอบด้วยบุคคลตามความจำเป็นแต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามข้อเสนอของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ และให้ข้าราชการที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการแต่งตั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ[12] โดยให้แต่งตั้งตามสาขาความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของข้อมูลข่าวสารของราชการ เช่น ความมั่นคงของประเทศ เศรษฐกิจและการคลังของประเทศ หรือการบังคับใช้กฎหมาย  และให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
          1. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
          2. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน
          3. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล

7.1 ระยะเวลาในการส่งคำอุทธรณ์
          คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการให้พิจารณาส่งคำอุทธรณ์ให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภายใน 7 วันนับแต่วันที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ได้รับคำอุทธรณ์

7.2 บทกำหนดโทษ

          ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการที่เรียกมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งวัตถุ เอกสาร หรือพยานหลักฐานมาประกอบการพิจารณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

          ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อจำกัดหรือเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกำหนดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


[1]  หมายถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเท่านั้น  ไม่รวมถึงคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

[2]  นิติบุคคลจะดูแค่ 4 อย่างคือ ทุน สมาชิก วัตถุประสงค์ และจำนวนผู้จัดการหรือกรรมการ

[3]  ข้อมูลข่าวสารใดที่ได้มีการจัดพิมพ์เพื่อให้แพร่หลายตามจำนวนพอสมควรแล้ว

[4]  ข้อควรจำ ถ้าร้องเรียนใช้กับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ แต่ถ้าอุทธรณ์ใช้กับคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

[5] การมีคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 15 เป็นการทั่วไปหรือเฉพาะแก่บุคคลใดให้เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ กฎกระทรวงฉบับที่ 4 ออกตามความในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

[6]  ข้อควรจำ ถ้าร้องเรียนใช้กับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ แต่ถ้าอุทธรณ์ใช้กับคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

[7]  ข้อควรจำ ถ้าร้องเรียนใช้กับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ แต่ถ้าอุทธรณ์ใช้กับคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลฯ

[8]  มาถึงตรงนี้สรุปได้ว่า ข้อมูลข่าวสารที่ต้องร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการนั้นมี 1 ประการเท่านั้นในกรณีที่ไม่จัดพิมพ์ข้อมูลลงในราชกิจจานุเบกษา หรือไม่จัดข้อมูลข่าวสารไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ หรือไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้แก่ตน / ส่วนการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้น มี 2  ประการ ได้แก่ 1. มีคำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร 2. ไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสาร

[9] กฎกระทรวง กำหนดหน่วยงานของรัฐที่ไม่ต้องนำประเภทข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไปลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวารของราชการ พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2546 คือ ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม 

[10]  เทคนิคในการจำคือ 1 รัฐมนตรี – 7 ปลัด – 4 เลขา –  2 ผอ.

[11]  ระวังข้อสอบจะลวงว่า “เสนอแนะในการตราพระราชบัญญัติ”

[12] ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารคือคณะรัฐมนตรี / แต่ผู้แต่งตั้งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ คือคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ