กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

          เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มีความมุ่งหมายที่จะไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้นโดยความไม่ตั้งใจหรือความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยในการปฏิบัติหน้าที่และไม่ต้องการให้นำหลักเรื่องลูกนี้ร่วมในกฎหมายแพ่งมาใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ต้องร่วมรับผิดในการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้อื่นโดยมุ่งหมายแต่เพียงจะให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนครบตามจำนวน โดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมที่จะมีต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่และบั่นทอนขวัญและกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่จนเป็นปัญหาในการบริหารราชการ[1]
          พระราชบัญญัตินี้มีการ บังคับใช้วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นมามีเนื้อหาเพียง 15 มาตรา ซึ่งง่ายต่อการทำความเข้าใจ และการออกข้อสอบนั้นสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ถามตรงตามตัวบทกฎหมาย และถามในลักษณะที่เป็นโจทย์ตุ๊กตา[2]

1. นิยาม


          เจ้าหน้าที่
หมายความว่า  ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะอื่นใด
          หน่วยงานของรัฐ หมายความว่า  กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐ[3]

2. เจ้าหน้าที่ของรัฐทำในขณะปฏิบัติหน้าที่ (ละเมิดต่อบุคคลภายนอก)


          หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
          ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิด

3. เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้ทำในขณะปฏิบัติหน้าที่ (ละเมิดต่อบุคคลภายนอก)


          ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้

4. การเรียกคู่ความเข้ามาในกระบวนการพิจารณา


          คดีที่ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐ ถ้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่าเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดหรือต้องร่วมรับผิด หรือในคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเจ้าหน้าที่ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดหรือต้องร่วมรับผิด หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีสิทธิขอให้ศาลที่พิจารณาคดีนั้นอยู่เรียกเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ เข้ามาเป็นคู่ความในคดี

          ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่ถูกฟ้องมิใช่ผู้ต้องรับผิด ให้ขยายอายุความฟ้องร้องผู้ที่ต้องรับผิดซึ่งมิได้ถูกเรียกเข้ามาในคดีออกไปถึง 6 เดือนนับแต่วันที่คำพิพากษานั้นถึงที่สุด

5. การเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ


          ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  สิทธิเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้คำนึงถึง
                    1. ระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำ
                    2. ความเป็นธรรม
          การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วม[4] มาใช้บังคับและเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น

6. สิทธิในการเรียกคืนค่าสินไหมทดแทน


          ถ้าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย สิทธิที่จะเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนให้มีกำหนดอายุความ 1 ปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นแก่ผู้เสียหาย

7. สิทธิของหน่วยงานรัฐในการเรียกค่าสินไหมคืนจากเจ้าหน้าที่


          ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ สิทธิของหน่วยงานรัฐในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ให้เป็นดังนี้
          1. ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้คำนึงถึง
                    1. ระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำ
                    2. ความเป็นธรรม        
          2. ถ้ามิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          อายุความ
          สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ ให้มีกำหนดอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่
          กรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีกำหนดอายุความ 1 ปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่ง

8. การผ่อนชำระเงินค่าสินไหมทดแทน 


         
ถ้าหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ คณะรัฐมนตรีสามารถออกระเบียบเพื่อให้เจ้าหน้าที่ สามารถผ่อนชำระเงินที่จะต้องรับผิดนั้นได้ โดยคำนึงถึง 1. รายได้ 2. ฐานะ 3. ครอบครัว 4. ความรับผิดชอบ 5. พฤติการณ์แห่งกรณี

9. การฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

          เมื่อผู้เสียหายเห็นว่าหน่วยงานของรัฐต้องรับผิด ในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้เสียหายจะยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ โดยหน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หากเรื่องใดไม่อาจพิจารณาได้ทันในกำหนดนั้นจะต้องรายงานปัญหาและอุปสรรคให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับหรือควบคุมดูแลหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นทราบและขออนุมัติขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 180 วัน

          เมื่อหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งเช่นใดแล้วหากผู้เสียหายยังไม่พอใจในผลการวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐก็ให้มีสิทธิร้องทุกข์ต่อศาลปกครองได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งผลการวินิจฉัย


[1] คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.10/2552

[2]  นายแดงขับรถยนต์ของทางราชการไปรับหนังสือในเวลาราชการ ด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเขตชุมชน ทำให้รถยนต์คันดังกล่าวชนนางดำเสียชีวิต นายแดงต้องรับผิดต่อนางดำโดยตรง หรือ หน่วยงานราชการต้องรับผิด

[3] เช่น สภาวิศวกร ธนาคารแห่งประเทศไทย ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

[4] เมื่อเป็นหนี้ร่วมกันแล้ว เจ้าหนี้ก็มีสิทธิที่จะเรียกให้ลูกหนี้คนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมดให้ร่วมกันชำระหนี้ได้ หรือจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้บางส่วนแล้วส่วนที่เหลือไปเรียกเอากับลูกหนี้คนอื่นอีกก็ได้