แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)

โครงสร้างของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีทั้งหมด 5 ส่วน[1] โดย 5 ส่วนก็แบ่งแยกย่อยลงไปอีก และนี่คือทั้งหมดที่เราต้องทำความเข้าใจ

          ส่วนที่ 1 ภาพรวมการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ

  • ภาพรวมการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ
    • สภาพแวดล้อมการพัฒนาและประเด็นการพัฒนาสำคัญในช่วงแผนพัฒนาฯ
    • เป้าหมายและแนวทางการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ

          ส่วนที่ 2 การประเมินสภาพแวดล้อมการพัฒนาประเทศ

  • สถานการณ์และแนวโน้มภายนอก 5 หัวข้อ
    • สถานการณ์และแนวโน้มภายใน 8 หัวข้อ

          ส่วนที่ 3 วัตถุประสงค์และเป้าหมายการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ

  • วัตถุประสงค์ 7 หัวข้อ
    • เป้าหมายรวม 6 หัวข้อ

          ส่วนที่ 4 ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

  • ยุทธศาสตร์ที่ 1 ถึงยุทธศาสตร์ที่ 10

          ส่วนที่ 5 การขับเคลื่อนและติดตามประเมินผล แผนพัฒนาฯ

  • การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ สู่การปฏิบัติ
    • การติดตามประเมินผลแผนพัฒนาฯ

ส่วนที่ 1 ภาพรวมการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ

ภาพรวมการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ

          การพัฒนาประเทศไทยในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) อยู่ในห้วงเวลาของการปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานหลายด้านที่สั่งสมมานานท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและเชื่อมโยงกันใกล้ชิดมากขึ้นการแข่งขันด้านเศรษฐกิจจะเข้มข้นมากขึ้น สังคมโลกจะมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกันมากขึ้นเป็นสภาพไร้พรมแดน การพัฒนาเทคโนโลยีจะมีการเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็วและจะกระทบชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมากขณะที่ ประเทศไทยมีข้อจำกัดของปัจจัยพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์เกือบทุกด้านและจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12

          การพัฒนาภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จึงเป็น 5 ปีแรกของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) สู่การปฏิบัติ โดยที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแผนแม่บทหลักของการพัฒนาประเทศไทย ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมีแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 เป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญที่สุดที่ถ่ายทอดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่การปฏิบัติในลำดับแรกที่ขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายในระยะยาวได้ในที่สุดโดยมีกลไก ตามลำดับต่างๆ และกลไกเสริมอื่นๆ ในการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผลตามเป้าหมาย

          แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้กำหนดเป้าหมายที่จะต้องบรรลุใน 5 ปีแรกอย่างชัดเจนทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมการกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุในระยะ 5 ปี นั้นได้พิจารณาและวิเคราะห์การต่อยอด ให้เกิดผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินการต่อไปอีกใน 3 แผน จวบจนถึงแผนพัฒนาฯฉบับที่ 15 ในช่วงปี พ.ศ. 2575-2579 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของยุทธศาสตร์ชาติการพัฒนาจะบรรลุเป้าหมายอนาคตประเทศไทย เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2579 โดยมี 6 หลักการสำคัญหรือ “6 ยึด” ดังนี้

          1. ยึด “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ต่อเนื่องมาตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9

          2. ยึด “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา”

          3. ยึด “วิสัยทัศน์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” มาเป็นกรอบของวิสัยทัศน์ประเทศไทย ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” หรือเป็นคติพจน์ประจำชาติว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

          4. ยึด “เป้าหมายอนาคตประเทศไทยปี 2579” ที่เป็นเป้าหมายในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาเป็นกรอบในการกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุใน 5 ปีแรกและเป้าหมายในระดับย่อยลงมาโดยที่เป้าหมาย และตัวชี้วัดในด้านต่างๆ มีความสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายที่ยั่งยืน (SDGs)

          5. ยึด “หลักการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดความเหลื่อมล้ำและขับเคลื่อนการเจริญเติบโต จากการเพิ่มผลิตภาพการผลิตบนฐานของการใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม”

          6. ยึด “หลักการนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างจริงจังใน 5 ปีที่ต่อยอดไปสู่ ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นเป้าหมายระยะยาว”

สภาพแวดล้อมการพัฒนาและประเด็นการพัฒนาสำคัญในช่วงแผนพัฒนาฯ

          การพัฒนาประเทศไทยภายใต้แนวทางการพัฒนาที่กำหนดด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติตั้งแต่แผนพัฒนาฯ 1 มาจนถึงปัจจุบันที่สิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ส่งผลให้ประเทศไทยมีระดับการพัฒนาที่สูงขึ้นตามลำดับทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังประสบปัญหาคุณภาพในเกือบทุกด้านอาทิ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          เงื่อนไขและสภาพแวดล้อมในด้านต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศจะเป็นแรงกดดันให้ประเทศไทยต้องปรับตัวและมีการบริหารความเสี่ยงอย่างชาญฉลาดมากขึ้น โดยที่การปรับตัวจะต้องหยั่งรากลึกลงไปถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างเพื่อแก้จุดอ่อนและควบคู่กับการสร้างจุดแข็งของประเทศเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศหากไม่สามารถแก้ปัญหาและ ปฏิรูปให้สัมฤทธิ์ผลได้ในระยะ 4-5 ปีต่อจากนี้ไป ประเทศไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันรายได้เฉลี่ยของประชาชนจะไม่สามารถยกระดับให้ดีขึ้นได้คุณภาพคนโดยเฉลี่ยจะยังต่ำ และปัญหาความเหลื่อมล้ำจะรุนแรงขึ้นรวมทั้งทรัพยากรจะร่อยหรอเสื่อมโทรมลงไปอีก ในที่สุดการพัฒนาประเทศจะไม่สามารถยั่งยืนไปได้ในระยะยาวและไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2579 ซึ่งเป็นอนาคตประเทศไทยที่กำหนดไว้ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เป้าหมายและแนวทางการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ

          สำหรับยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ถูกกำหนดจากยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และกำหนดเป็นแนวทางในรายละเอียด ที่แสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องและการตอบสนองต่อเป้าหมายที่ต้องบรรลุในระยะ 5 ปีที่จะเป็นการวางพื้นฐานที่สามารถสานต่อการพัฒนาในประเด็นสำคัญของประเทศในระยะต่อไปที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยนำหลักของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนำทาง

          ดังนั้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จึงประกอบด้วยยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ (2) ยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมลดและความเหลื่อมล้ำในสังคม (3) ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน (4) ยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (5) ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน (6) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการในภาครัฐการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบและธรรมาภิบาล ในสังคมไทยและประกอบกับอีก 4 ยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์และกลไกสนับสนุน ให้การดำเนินยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านให้สัมฤทธิ์ผล ประกอบด้วย (7) ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ (8) ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม (9) ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ และ (10) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา[2]

ส่วนที่ 2 การประเมินสภาพแวดล้อมการพัฒนาประเทศ

สถานการณ์และแนวโน้มภายนอก 5 หัวข้อ

1. เศรษฐกิจ : สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และผลกระทบต่อประเทศไทย

          เศรษฐกิจโลกในระยะ 5 ปีข้างหน้ายังมีแนวโน้มขยายตัวช้าและมีความเสี่ยงจากความผันผวน ในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกในเกณฑ์สูง ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงสำคัญได้แก่ ความไม่แน่นอนของการปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการเงิน และการประกอบธุรกิจของไทย นอกจากนี้การเปิดเสรีทางการค้าก่อให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งภาคการบริการและการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และปัจจัยภายนอกที่คาดว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ตลาดเกิดใหม่มีบทบาทสูงขึ้น ตลาดการเงินโลกไร้พรมแดน การเปิดเสรีมากขึ้นของอาเซียนภายหลังปี 2558 และรูปแบบการค้ามีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปสู่การค้าเสรีเฉพาะกลุ่มมากขึ้น และมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่หลากหลายขึ้น

2. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : การวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดเป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตของคนในทุกสังคม ทุกเพศ ทุกวัย

          ในช่วงที่ผ่านมาการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีสื่อสาร และ เทคโนโลยีชีวภาพได้ทำให้รูปแบบการผลิต การดำเนินธุรกิจ และการใช้ชีวิตของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป อย่างรวดเร็วมนุษย์สามารถสื่อสารทั้งภาพและเสียงได้อย่างไร้พรมแดน การทำธุรกิจและธุรกรรมบนโครงข่าย ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น โดยมีแนวโน้มว่าเทคโนโลยีพื้นฐานใน 4 ด้าน ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและดิจิทัล จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ 12 ด้าน ได้แก่ (1) อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ (2)โปรแกรมอัจฉริยะที่สามารถคิดและทำงานแทนมนุษย์ (3) อินเทอร์เน็ตในทุก สิ่งทุกอย่าง (Internet of Things) (4) เทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud Technology) (5) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นก้าวหน้า (Advanced Robotics) (6) ยานพาหนะไร้คนขับ (Autonomous and Near-Autonomous Vehicles) (7) เทคโนโลยีพันธุกรรมสมัยใหม่ (Next- Generation Genomics) (8) เทคโนโลยีการเก็บพลังงาน (Energy Storage) (9) การพิมพ์แบบสามมิติ (3D Printing) (10) เทคโนโลยีวัสดุขั้นก้าวหน้า (11) เทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซขั้นก้าวหน้า และ (12) เทคโนโลยีพลังงานทดแทน โดยแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประเทศทั้งในมิติเศรษฐกิจ และสังคมที่สำคัญ ได้แก่ เกิดสาขาอุตสาหกรรมและบริการใหม่ๆ ที่ผสมผสานการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หลากหลายสาขา มนุษย์จะสามารถเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด การแย่งชิงแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีระดับสูงมีความสามารถเฉพาะทาง หรือมีทักษะหลายด้าน(Multi-Skills) ในตลาดแรงงานสูงขึ้น และเกิดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ

3. สังคม : สถานการณ์และแนวโน้มสังคมโลก

          การเข้าสู่สังคมสูงวัยของโลกส่งผลต่อเศรษฐกิจและรูปแบบการดำเนินชีวิตในปี 2558 ประชากรโลกมีจำนวน 7,349 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 7,758 ล้านคนในปี 2563 ประมาณ ครึ่งหนึ่งจะอาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย ตลอดจนการเลื่อนไหลของกระแสวัฒนธรรมโลกที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นส่งผล ต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและรูปแบบการบริโภค

4. สิ่งแวดล้อม : สถานการณ์และแนวโน้มสิ่งแวดล้อมโลก

          วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ค.ศ. 2030 ได้กำหนดทิศทางการรักษาและบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ประกอบด้วย 17 เป้าหมายและ 169 เป้าประสงค์ ในขณะเดียวกันข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทวีความเข้มข้น ส่งผลให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยต้องดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริง ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์และกำหนดเป้าหมายของประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่าระดับการปล่อยตามปกติ ร้อยละ 7-20 ภายในปี พ.ศ.2563 นอกจากนี้ยังมีความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่นานาประเทศได้รับรองร่วมกันเมื่อ 12 ธันวาคม 2558 ซึ่งมุ่งควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และประเทศไทยได้ลงนามรับรองความตกลงดังกล่าวเมื่อ 22 เมษายน 2559

5. ความมั่นคง : สถานการณ์ความมั่นคงโลก

          ประเทศมหาอำนาจมีแนวโน้มของการขยายอิทธิพลและการเพิ่มบทบาทใน ภูมิภาคต่างๆ ของโลกรวมทั้งการใช้อำนาจทางทหารและทางเศรษฐกิจเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่างๆ ตลอดจนความขัดแย้งด้านอาณาเขตแบบรัฐต่อรัฐ การขยายตัวของอาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้ายทวีความรุนแรงและมีความถี่มากขึ้นในระยะหลายปีที่ผ่านมา

สถานการณ์และแนวโน้มภายใน 8 หัวข้อ

1. เศรษฐกิจ : สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย

          ในช่วงที่ผ่านมาการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในภาพรวมประสบความสำเร็จในระดับ ที่น่าพอใจทั้งในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้างการผลิต การสั่งสมองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาเศรษฐกิจรายสาขา การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ความพร้อมที่จะได้รับการพัฒนาต่อยอดเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2579 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ประเทศไทยยังคงมีจุดแข็งด้านความหลากหลายของฐานการผลิตที่มีความแข็งแกร่งในระดับโลกโดยปี 2557 ซึ่งประเทศไทยมีส่วนแบ่งในมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการในตลาดโลกร้อยละ 1.2 นั้นมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศไทยสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก และมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและบริการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับที่ 13 และอันดับที่ 5 ของโลกตามลำดับโดยในด้านสินค้าเกษตรไทยส่งออกข้าวสูงเป็นลำดับที่ 2 ของโลก และยางพาราเป็นลำดับที่ 1 ของ โลก ในด้านสินค้าอุตสาหกรรมประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อันดับที่ 4 ของเอเชีย และอันดับที่ 8 ของโลก รวมทั้งเป็นฐานการส่งออกสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีจุดอ่อนหลายประการ อาทิ ปัญหาเชิงโครงสร้าง เงื่อนไขในระบบเศรษฐกิจโลก และปัจจัยทางด้านการดำเนินนโยบายและการบริหารจัดการเศรษฐกิจ

2. วิทยาศาสตร์ : การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม

          การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม อยู่ในลำดับต่ำและการบริหารจัดการงานวิจัยขาดการบูรณาการให้มีเอกภาพตั้งแต่ระดับนโยบาย การสนับสนุนทุนวิจัย และหน่วยวิจัยหลัก ทำให้ทิศทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยพัฒนา และนวัตกรรมของประเทศ ไม่ชัดเจน มีความซ้ำซ้อนและยังมีข้อจำกัดในการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศเป็นผลให้การพัฒนาเทคโนโลยีและ นวัตกรรมของประเทศล่าช้าไม่ทันต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของโลกตลอดจนมีการนำผลงานวิจัยไปใช้ ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ในระดับต่ำ

3. สังคม : สถานการณ์และแนวโน้มของสังคม

          โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เมื่อสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 โดยปี 2557 ประชากรวัยแรงงานจะมีจำนวนสูงสุดและเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ตลอดจนครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวและครอบครัวข้ามรุ่นมีความเปราะบางสูงส่งผลต่อการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจ และสังคม ส่งผล ให้ครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลงจาก 3.6 คน ในปี 2543 เหลือ 2.7 คน ในปี 2557 ทั้งนี้ ยังพบว่าเด็กที่ได้รับกาดูแลโดยปู่ย่าตายายที่สูงอายุมีผลการเรียนที่ด้อยกว่าเด็กที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ นอกจากนี้คนไทยมีแนวโน้มเป็นโรคไม่ติดต่อมากขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต ได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง และมะเร็ง ทั้งนี้ยังพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังมีปัญหาด้านคุณธรรมจริยธรรม และไม่ตระหนักถึง ความสำคัญของการมีวินัย ความซื่อสัตย์สุจริตการมีจิตสาธารณะ ตลอดจนปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านรายได้ และด้านความเหลื่อมล้ำทางด้านสินทรัพย์และการถือครองที่ดิน

4. ทรัพยากร : ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          ฐานทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยและเสื่อมโทรมลงเนื่องจากการใช้ประโยชน์เกินกว่าศักยภาพในการฟื้นตัวของระบบนิเวศ ยังมีการเข้าถึงและการจัดสรรการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ  และมีความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำในอนาคต ในขณะที่การบริหารจัดการขาดประสิทธิภาพ ตลอดจนปัญหามลพิษส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและต้นทุน ทางเศรษฐกิจ

5. ภาค เมือง พื้นที่ : การเจริญเติบโตของภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ

          กิจกรรมทางเศรษฐกิจกระจุกตัวในกรุงเทพมหานครและภาคกลาง ทำให้เกิดปัญหาช่องว่างการกระจายรายได้ระหว่างภาค และกลไกการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดยังไม่สามารถเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนตามแนวทางและเป้าหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิผล

6. ความมั่นคง : ความมั่นคงภายในประเทศ

          ปัญหาความมั่นคงภายในประเป็นปัญหาซับซ้อนที่เกิดขึ้นและสะสมมานานและขยายวงกว้างที่สะสมจากเดิมจนมีสัญญาณเตือนถึงความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำ ได้แก่ สถาบันหลักของชาติได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีการสร้างสถานการณ์โดยมีเป้าหมายให้เกิดความสูญเสียต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงจากปัญหาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะการคุกคามที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ปัญหาความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล และปัญหาโรคระบาดและสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขอื่นๆ

7. ระหว่างประเทศ : ความร่วมมือระหว่างประเทศและความเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนา

          ประเทศไทยมีบทบาทที่โดดเด่นมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ เวทีภูมิภาค และเวทีประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีความคืบหน้ากรอบความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้

          1. แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) คือ ไทย พม่า สปป.ลาว กัมพูชา จีน(ยูนนาน) และเวียดนาม[3]

          2. แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT)[4]

          3. กรอบความร่วมมืออาเซียน

          4. ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศกับภาคีมีอยู่ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

          5. กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC)

          6. ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Trans Pacific Partnership: TPP)

          7. เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2559 – 2573 (Sustainable Development Goals: SDGs) และกรอบความร่วมมืออื่นๆ

8. ภาครัฐ : การบริหารจัดการภาครัฐ

          1. ภาครัฐมีขนาดใหญ่และรายจ่ายประจำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง งบบุคลากรมีสัดส่วนสูงรวมทั้งโครงสร้างภาครัฐในปัจจุบันยังขาดระบบการทำงานลักษณะประชารัฐที่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายแบบบูรณาการกับหน่วยงานหรือภาคส่วนอื่นๆ

          2. คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถไม่นิยมเข้ารับราชการทำให้ขาดกำลังทดแทนข้าราชการที่เกษียณอายุ

          3. การบริหารจัดการภาครัฐมีประสิทธิภาพต่ำและระบบการให้บริการประชาชนยังไม่ได้มาตรฐานสากลเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

          4. กระบวนการจัดสรรงบประมาณขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเท่าที่ควร

          5. การทุจริตและประพฤติมิชอบได้ขยายไปในวงกว้างทั้งในภาครัฐ เอกชน และองค์กรเอกชน

          6. รัฐวิสาหกิจมีการกำกับดูแลที่ขาดแผนการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์และมีการบริหารที่ซับซ้อน ส่งผลให้มีการดำเนินงานที่ด้อยประสิทธิภาพ

          7. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการบริหารจัดการและการให้บริการประชาชนที่ขาดประสิทธิภาพและความโปร่งใสเท่าที่ควร รวมทั้งไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเต็มที่

          8. กฎหมายหลายฉบับยังไม่ได้มาตรฐานสากลเนื่องจากล้าสมัยและกระบวนการตรา กฎหมายยังมีจุดอ่อนหลายประการ

          9. ระบบและกระบวนการยุติธรรมบางส่วนยังขาดประสิทธิภาพและไม่สามารถ อำนวยความยุติธรรมได้อย่างเสมอภาคเป็นธรรม และไม่สอดรับกับความเป็นสากล        

ส่วนที่ 3 วัตถุประสงค์และเป้าหมายการพัฒนาในช่วงแผ่นพัฒนาฯ ฉบับที่ 12

          การพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายรวมของการพัฒนาไว้ ดังนี้

วัตถุประสงค์

          1. เพื่อวางรากฐานให้คนไทยเป็นคนที่สมบูรณ์ มีคุณธรรมจริยธรรม มีระเบียบวินัย ค่านิยมที่ดี มีจิตสาธารณะ และมีความสุข โดยมีสุขภาวะและสุขภาพที่ดี ครอบครัวอบอุ่น ตลอดจนเป็นคนเก่งที่มีทักษะความรู้ความสามารถและพัฒนาตนเองได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต

          2. เพื่อให้คนไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมได้รับความเป็นธรรมในการเข้าถึง ทรัพยากรและบริการทางสังคมที่มีคุณภาพ ผู้ด้อยโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพรวมทั้งชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้

          3. เพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง แข่งขันได้ มีเสถียรภาพ และมีความยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งของ ฐานการผลิตและบริการเดิมและขยายฐานใหม่โดยการใช้นวัตกรรมที่เข้มข้นมากขึ้น สร้างความเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานรากและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน อาหาร และน้ำ

          4. เพื่อรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้สามารถสนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

          5. เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพทันสมัยโปร่งใสและมีการทำงานเชิงบูรณาการของภาคีการพัฒนา

          6. เพื่อให้มีการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคโดยการพัฒนาภาคและเมืองเพื่อรองรับการพัฒนายกระดับฐานการผลิตและบริการเดิมและขยายฐานการผลิตและบริการใหม่

          7. เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีความเชื่อมโยง (Connectivity) กับประเทศต่างๆ ทั้งในระดับ อนุภูมิภาค ภูมิภาค และนานาชาติได้อย่างสมบูรณ์มีประสิทธิภาพรวมทั้งให้ประเทศไทยมีบทบาทนำและสร้างสรรค์ในด้านการค้า การบริการ และการลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ทั้งในระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และโลก

เป้าหมายรวม

          เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามที่ได้กล่าวมา จึงได้กำหนดเป้าหมายรวมของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ประกอบด้วย

          1. คนไทยมีคุณลักษณะที่สมบูรณ์ มีวินัย ทัศนคติและพฤติกรรมตามบรรทัดฐาน ที่ดีของสังคม

          2. ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความยากจนลดลง

          3. ระบบเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้

          4. ทุนทางธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมสามารถสนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ โดยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ประเทศเพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและขนส่ง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ภายในปี 2563

          5. มีความมั่นคงในเอกราชและอธิปไตย สังคมปลอดภัย สามัคคี สร้างภาพลักษณ์ดีและเพิ่มความเชื่อมั่นของนานาชาติต่อประเทศไทย

          6. มีระบบบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ กระจายอำนาจและมีส่วนร่วมจากประชาชน

ส่วนที่ 4 ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

          ก่อนจะเข้าถึงเนื้อหาทั้ง 10 ยุทธศาสตร์ เรามาทำความเข้าใจนิยามคำว่ายุทธศาสตร์กันก่อน “ยุทธศาสตร์” หมายถึง แผนและนโยบาย แนวทาง ในการปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้ เพราะฉะนั้นถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นอีก 10 ยุทธศาสตร์ หมายถึง สิ่งที่ยังไปไม่ถึงในตอนนี้ แต่ต้องการไปให้ถึงในอนาคต เช่น การอ่านของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85 ดังนั้น ว.วิชาการ จึงขอสรุปเฉพาะประเด็นที่สำคัญของ 10 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์

          1.1 ปรับเปลี่ยนให้คนในสังคมไทยมีค่านิยมตามบรรทัดฐานที่ดีทางสังคม เช่น ประชากรอายุ 13 ปีขึ้นไปมีกิจกรรมการปฏิบัติตนที่สะท้อนการมีคุณธรรมจริยธรรมเพิ่มขึ้น

          1.2 เตรียมคนในสังคมไทยให้มีทักษะในการดำรงชีวิตสำหรับโลกศตวรรษที่ 21 เช่น เด็กมีพัฒนาการสมวัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 85, เด็กร้อยละ 70 มีคะแนน EQ ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน, ผู้เรียนในระบบทวิภาคีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 30 ต่อปี, การมีงานทำของผู้สูงอายุ (อายุ 60 – 69 ปี) เพิ่มขึ้น, ผลคะแนนสอบ PISA ในแต่ละวิชาไม่ต่ำกว่า 500, การอ่านของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85 และแรงงานที่ขอเทียบโอนประสบการณ์และความรู้เพื่อขอรับวุฒิ ปวช. และ ปวส. เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี

          1.3 ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีตลอดช่วงชีวิต เช่น ประชากรอายุ 15 – 79 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินลดลง, การตายจากอุบัติเหตุทางถนนต่ำกว่า 18 คนต่อประชากรแสนคน, การคลอดในผู้หญิงกลุ่มอายุ 15–19 ปี ลดลง, รายจ่ายสุขภาพทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และผู้สูงอายุที่อาศัยในบ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเป็นร้อยละ 20

          1.4 เสริมสร้างสถาบันทางสังคมให้มีความเข้มแข็งเอื้อต่อการพัฒนาคนและประเทศ เช่น ประชากรอายุ 13 ปีขึ้นไปมีการปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนาเพิ่มขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

          2.1 ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่กลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด เช่น รายได้เฉลี่ยต่อหัวของกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ต่อปี, ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ด้านรายได้ลดลงเหลือ 0.41 เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่12, การถือครองสินทรัพย์ทางการเงินของกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุดเพิ่มขึ้น และสัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงเหลือร้อยละ 6.5 ณ สิ้นแผนพัฒนาฯ

          2.2 ให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการทางสังคมที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง เช่น อัตราการเข้าเรียน ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 80  โดยไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาที่ครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมและระหว่างพื้นที่ และสัดส่วนนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาทุกระดับชั้นผ่านเกณฑ์คะแนนร้อยละ 50

          2.3 สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เช่น สัดส่วนครัวเรือนที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้น ดัชนีชุมชนเข้มแข็งเพิ่มขึ้นในทุกภาค และมูลค่าสินค้าชุมชนเพิ่มขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

          3.1 สร้างความเข็มแข็งให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน เช่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5, รายได้ต่อหัวไม่ต่ำกว่า 8,200 ดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (ปี 2564) และรายได้สุทธิของรัฐบาลต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 19, อัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปี, หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ไม่เกินร้อยละ 55 ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ, การลงทุนจากความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเฉลี่ยปีละ 47,000 ล้านบาท และอันดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศโดย IMD เลื่อนขึ้น ไปอยู่กลุ่ม 1 ใน 25 ของประเทศแรกที่ได้รับการจัดอันดับทั้งหมด

          3.2 สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจรายสาขา เช่น อัตราการขยายตัวของภาคเกษตรอุตสาหกรรมและบริการ (นอกเหนือจากบริการภาครัฐ) ขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3, 4.5 และ 6 ต่อปีตามลำดับ, รายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 59,460 บาทต่อครัวเรือนในปี 2564, พื้นที่การทำเกษตรกรรมยั่งยืนเพิ่มขึ้นเป็น 5,000,000 ไร่ ในปี 2564, จำนวนพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมนิเวศจำนวน 15 พื้นที่, รายได้จากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท, อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว (TheTravel & Tourism Competitiveness Index: TTCI) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 30 และปริมาณการใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอส์เป็น 200 ครั้ง/ปี/คน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          4.1 รักษา ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและมีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม เช่น สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้เป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศแบ่งเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ร้อยละ 25 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15, พื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มจาก 1.53 ล้านไร่ เป็น 1.58 ล้านไร่, พื้นที่ปลูกและฟื้นฟูป่าต้นน้ำเพิ่มขึ้น และแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (โครงการOne Map) ที่แล้วเสร็จมีการประกาศใช้ และจำนวนพื้นที่จัดที่ดินทำกินให้ชุมชน

          4.2 สร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ เช่น มีระบบประปาหมู่บ้านครบทุกหมู่บ้าน, ลุ่มน้ำสำคัญของประเทศ 25 ลุ่มน้ำ มีแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างสมดุล ระหว่างความต้องการใช้น้ำกับปริมาณน้ำต้นทุน และมีการแปลงไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นปีละ 350,000 ไร่

          4.3 บริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และลดมลพิษให้มีคุณภาพดีขึ้น เช่น สัดส่วนของขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้องและนำไปใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75, สัดส่วนของเสียอันตรายชุมชนที่ได้รับการการกำจัดอย่างถูกต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และกากอุตสาหกรรมอันตรายทั้งหมดเข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้อง

          4.4 พัฒนาขีดความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการรับมือกับภัยพิบัติ เช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและคมนาคมขนส่งลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ของการปล่อยในกรณีปกติภายในปี 2563

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน

          5.1 ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และเสริมสร้างความมั่นคงภายใน รวมทั้งป้องกันปัญหา ภัยคุกคามที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของชาติ

          5.2 สร้างความพร้อมและผนึกกำลังของทุกภาคส่วน ให้มีขีดความสามารถในการบริหาร จัดการด้านความมั่นคง และมีศักยภาพในการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดจากภัยคุกคามทั้งทาง ทหารและภัยคุกคามอื่นๆ เช่น ดัชนีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น และจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามข้ามชาติ การกระทำผิดกฎหมายทางทะเล และคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดลดลง

          5.3 เสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับมิตรประเทศในการสนับสนุนการรักษาความสงบสุขและผลประโยชน์ของชาติ เช่น อันดับความเสี่ยงจากการก่อการร้ายต่ำกว่าอันดับที่ 20 ของโลก (ดัชนีความเสี่ยงของโลกของ WEF) และอันดับความเสี่ยงจากการโจมตีด้านไซเบอร์/ต่ำกว่าอันดับที่ 10 ของโลก (ดัชนีความปลอดภัยไซเบอร์ของโลกของ International Telecommunication Union: ITU)

          5.4 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารนโยบายด้านความมั่นคงและนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความเป็นเอกภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการในภาครัฐ การป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ
และธรรมาภิบาลในสังคมไทย

          6.1 ให้ภาครัฐมีขนาดเล็ก มีการบริหารจัดการที่ดีและได้มาตรฐานสากล เช่น อันดับประสิทธิภาพภาครัฐ จัดทำโดยสถาบันการจัดการนานาชาติอยู่ในอันดับ 2 ของอาเซียน เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12  และอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ จัดทำโดยธนาคารโลกอยู่ในอันดับ 2 ของอาเซียน เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12

          6.2 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการบริหารจัดการและให้บริการแก่ประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และโปร่งใสตรวจสอบได้ เช่น สัดส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละประเภทที่ได้รับรางวัลการบริหารจัดการที่ดี ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดเพิ่มขึ้น และข้อร้องเรียนและคดีเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลง

          6.3 ลดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของประเทศ เช่น ระดับคะแนนของดัชนีการรับรู้การทุจริตสูงกว่าร้อยละ 50 เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12

          6.4 พัฒนาระบบและกระบวนการทางกฎหมายให้สามารถอำนวยความสะดวกด้วยความ รวดเร็วและเป็นธรรมแก่ประชาชน เช่น จำนวนคดีที่รัฐดำเนินคดีกับผู้มิได้กระทำความผิดซึ่งต้องชดเชยความเสียหายลดลง

ยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์

          7.1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและการค้า รวมทั้งมีกลไกกำกับ ดูแล การประกอบกิจการขนส่งที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใสให้สามารถสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน เช่น สัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางต่อปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมดภายในประเทศ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.4 เป็นร้อยละ 4 และสัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำต่อปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมดภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 15 ในปี 2564, สัดส่วนของผู้ใช้ระบบรถไฟฟ้าต่อปริมาณการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 15 ในปี 2564 และความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารโดยรวมของท่าอากาศยานในกรุงเทพมหานครและท่าอากาศยานในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเป็น 120 และ 55 ล้านคนต่อปี ตามลำดับในปี 2564

          7.2 สร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และส่งเสริมการใช้ พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ตลอดจนขยายโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน เช่น สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 12.94 เป็นร้อยละ 17.34 ในปี 2564, สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าลดลงจากร้อยละ 65 เป็นร้อยละ 47 ใน ปี 2564

          7.3 เพิ่มประสิทธิภาพและขยายการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ ในราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม และส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลใหม่ และนวัตกรรม รวมทั้งพัฒนาระบบ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้มีความมั่นคง และคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลให้แก่ผู้ใช้บริการ เช่น จำนวนหมู่บ้านที่มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30 เป็นมากกว่าร้อยละ 85 ในปี 2564, จำนวนผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัลเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1,000 ราย ในปี 2564 และจำนวนหน่วยงานภาครัฐมีระบบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47 เป็นมากกว่าร้อยละ 80 ในปี 2564

          7.4 พัฒนาประสิทธิภาพและขยายการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำประปาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ลดอัตราน้ำสูญเสียในระบบประปาสร้างกลไกการบริหารจัดการการประกอบกิจการน้ำประปาในภาพรวมของประเทศ เช่น จำนวนครัวเรือนในเขตนครหลวงได้รับบริการน้ำประปาร้อยละ 100 ภายในปี 2561 และจำนวนครัวเรือนในเขตภูมิภาค/เทศบาลได้รับบริการน้ำประปาครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 80 ในปี 2564, จำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศได้รับบริการน้ำสะอาดร้อยละ 100 ในปี 2564, และอัตราน้ำสูญเสียในระบบส่งและจำหน่ายน้ำในเขตนครหลวงน้อยกว่าร้อยละ 20 และ ในเขตภูมิภาค/เทศบาลน้อยกว่าร้อยละ 25 ในปี 2564

          7.5 พัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกิดจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม

          8.1 สร้างความเข้มแข็งและยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นก้าวหน้า ให้สนับสนุนการสร้างมูลค่าของสาขาการผลิตและบริการ เช่น สัดส่วนค่าใช้จ่ายการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพิ่มสู่ร้อยละ 1.5 ของผลิตภัณฑ์ มวลรวมในประเทศ, สัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาครัฐต่อภาคเอกชน เพิ่มเป็น 70:30, สัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์และเป้าหมายของประเทศ : งานวิจัยพื้นฐานเพื่อสร้าง/สะสมองค์ความรู้ : ระบบโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และระบบมาตรฐาน เพิ่มเป็น 55 : 25 : 20 และจำนวนบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนาเพิ่มเป็น 25 คน ต่อประชากร 10,000 คน

          8.2 สร้างโอกาสการเข้าถึงและนำเทคโนโลยีไปใช้กับเกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เช่น อันดับความสามารถการแข่งขันโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และด้านเทคโนโลยี จัดโดย IMD อยู่ในลำดับ 1 ใน 30, ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีพร้อมใช้ที่ถูกนำไปใช้ในการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้กับภาคการผลิตและบริการ และภาคธุรกิจมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของผลงานทั้งหมด, มูลค่าการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนา มีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี และนวัตกรรมทางสังคมและนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการที่ผลิตได้เอง ภายในประเทศ มีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว

          8.3 พัฒนานวัตกรรมที่มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้สูงอายุผู้ด้อยโอกาสทางสังคมและ เพิ่มคุณภาพสิ่งแวดล้อม

          8.4 บูรณาการระบบบริหารจัดการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ให้สามารถดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน

ยุทธศาสตร์ที่ 9 การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ

          9.1 กระจายความเจริญและโอกาสทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคอย่างทั่วถึงมากขึ้น เช่น ลดช่องว่างรายได้ระหว่างภาคและมีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม

          9.2 พัฒนาเมืองศูนย์กลางของจังหวัดให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับคนทุกกลุ่ม

          9.3 พัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ฐานเศรษฐกิจหลักให้ขยายตัวอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

          9.4 พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาในพื้นที่อย่างยั่งยืน เช่น มูลค่าการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20

ยุทธศาสตร์ที่ 10 ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา

          10.1 ใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของทำเลที่ตั้งของประเทศไทยที่เป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย เช่น ความสำเร็จของการดำเนินงานภายใต้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Cross Border Transport Agreement: CBTA) ณ ด่านชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

          10.2 ขยายโอกาสด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และยกระดับให้ประเทศเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่มีศักยภาพและโดดเด่น

          10.3 เพิ่มบทบาทของไทยในเวทีโลกด้วยการส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในกรอบความร่วมมือต่างๆ รวมทั้งการสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

ส่วนที่ 5 การขับเคลื่อนและติดตามผลแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12

การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ

          การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 สู่การปฏิบัติจะดำเนินการในหลายระดับตั้งแต่ นโยบายรัฐบาล แผนปฏิรูป แผนของหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น/ชุมชน ตลอดจน แผนของภาคีการพัฒนาต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่ทิศทาง วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และตัวชี้วัด ความสำเร็จของยุทธศาสตร์ ดังนี้

          1. รัฐบาล นำประเด็นการพัฒนาที่มีลำดับความสำคัญสูงและแผนพัฒนาเฉพาะด้านภายใต้ยุทธศาสตร์แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 เป็นกรอบร่วมกับนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาจัดทำแผนการจัดสรรงบประมาณแบบบูรณาการ รวมทั้งระยะเวลาดำเนินการ และการติดตามประเมินผล หน่วยงานกลางนำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 บูรณาการกับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ เป็นกรอบสำหรับ กระทรวง/กรมพิจารณาใช้ประกอบการจัดทำคำของบประมาณ

          2. สศช. จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 สำหรับเป็นเครื่องมือชี้ทิศทางการพัฒนาระดับภาคและพื้นที่ เพื่อให้ภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องทุกระดับนำไปจัดทำแผนพัฒนา ตั้งแต่ขั้นการวางแผนยุทธศาสตร์เชื่อมต่อจนถึงขั้นการวางแผนปฏิบัติการที่เชื่อมโยง สอดคล้อง และสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยให้กระทรวง กรม จังหวัดและกลุ่มจังหวัดใช้ เป็นกรอบในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปี ให้เชื่อมโยงระหว่างแนวทาง การพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ กับภารกิจของหน่วยงานในพื้นที่ และมีความเชื่อมโยงของแผนงานโครงการในเชิงบูรณาการที่ยึดพื้นที่ ภารกิจ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

          3. กระทรวง/กรม จัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการประจำปี โดยกระทรวง กรม นำยุทธศาสตร์การพัฒนาของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ มาวิเคราะห์ความเกี่ยวข้องกับภารกิจของกระทรวง กรม เพื่อนำไปกำหนดแนวทางการพัฒนาในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 4 ปี และการจัดทำแผนงานโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงาน โดยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงบูรณาการกับวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแผนงาน โครงการภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

          4. จังหวัด/กลุ่มจังหวัด จัดทำแผนพัฒนาระยะ 4 ปีและแผนปฏิบัติราชการประจำปีตามแนวทางและหลักเกณฑ์ภายใต้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัด แบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ทั้ง 10 ยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ และตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการ ของประชาชนบนพื้นฐานของศักยภาพ โอกาส และข้อจำกัดของพื้นที่ให้ความสำคัญกับการบูรณาการ เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ 4 ปี ของกระทรวงกรม ที่เกี่ยวข้อง

          5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำแผนพัฒนา 3 ปี และแผนงานโครงการประจำปีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล จัดทำแผนพัฒนา 3 ปี และ แผนงานโครงการประจำปีให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ทั้ง 10 ยุทธศาสตร์โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองตามแนวทางการพัฒนาหลักและการพัฒนาเมืองสำคัญที่สอดคล้องกับสภาพพื้นฐานและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ มีความเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาจังหวัดและอำเภอ

          6. การจัดสรรงบประมาณ สำนักงบประมาณและ สศช. หารือร่วมกันในการบูรณาการสาระสำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกันโดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาที่มีความสำคัญลำดับสูงไว้ในการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณระยะปานกลาง 5 ปี และประจำปี สำนักงบประมาณ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแนวทาง พิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และท้องถิ่นภายใต้แนวทางการพัฒนาภาคที่เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 โดยสร้างกระบวนการให้ทุกกระทรวง จังหวัด และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างแผนพัฒนาฯ กับระบบงบประมาณของประเทศ

การติดตามประเมินผลแผนพัฒนาฯ

          การติดตามประเมินผลแผนพัฒนาฯ จะใช้แนวทางการประเมินผลแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแบบมีส่วนร่วม โดยวางระบบการติดตามประเมินผล 3 ระยะเวลา ได้แก่ การประเมินผลก่อนการปฏิบัติการหรือก่อนเริ่มโครงการ (Ex-ante Evaluation) การประเมินผลระหว่างดำเนินงาน (On-Going Evaluation) และการประเมินผลหลังการดำเนินงาน (Ex-Post Evaluation)

          นอกจากนี้ยังมีการวางระบบการติดตามประเมินผลแผนงานโครงการระดับกระทรวง และงาน ที่เกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งกระทรวง และวางระบบการติดตามประเมินผลแผนงานโครงการระดับจังหวัดและพื้นที่ โดยใช้ตัวชี้วัดผลผลิตร่วม (Output JKPI) และตัวชี้วัดผลลัพธ์ร่วม (Outcome JKPI) และ ตัวชี้วัดผลกระทบร่วม (Impact JKPI) เป็นเครื่องมือวัดผลการพัฒนาในภาพรวมทั้งประเทศ

          ตลอดจนตั้งหน่วยวิจัย ฝึกอบรมและตรวจสอบมาตรฐานระบบติดตามและประเมินผลเพื่อทำให้ระบบติดตามประเมินผลมีมาตรฐานสากล ส่งเสริมให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่าง สศช. สำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาระบบราชการ สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่เพื่อให้ การติดตามประเมินผลแบบมีส่วนร่วมมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

          การจัดเตรียมองค์กรกลางที่มีความเป็นมืออาชีพ มีความชำนาญและเป็นที่ยอมของทุกฝ่าย (Neutral Evaluation) เพื่อให้การติดตามประเมินผลมีความเป็นสากล  พัฒนาตัวชี้วัดและตัวชี้วัดร่วมให้ได้มาตรสากล (Joint Key Performance Indicator: JKPI)  จัดเวทีสาธารณะเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ได้มีเวทีแสดง ความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยและโปร่งใส ตรวจสอบได้ เน้นการสื่อสาร แบบสองทาง เน้นการสื่อสารแบบนเสวนา (Dialogue) มากกว่าถ่ายทอดด้านเดียว (Monologue) และให้มี คู่เจรจาโดยตรง เช่น ระหว่างกลุ่มเป้าหมายและผู้กำหนดนโยบาย เป็นต้น และพัฒนาระบบข้อมูลและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการประเมินผลโดยจัดทำระบบข้อมูลการบริหาร (Management Information System) เข้าถึงข้อมูล วิเคราะห์และการนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างเหมาะสม จนนำไปสู่การนำเสนอผลการติดตามประเมินผลเป็นการนำเสนอผลการประเมินให้ทุกฝ่าย ได้รับทราบทั้งประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานนำนโยบายไปปฏิบัติ ตลอดจนสาธารณชนผู้สนใจได้รับทราบผลการประเมิน


[1] ข้อมูลทั่วไปของแผนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 

1. ประกาศ ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2559

2. ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30 ธันวาคม 2559

3. ห้วงเวลาในการใช้แผน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

4. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12  เป็นแผนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูป ประเทศด้านต่าง ๆ

5. จุดประสงค์ของแผนฯ เพื่อใช้เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

[2] เรียกสั้นๆ ว่า 6 ยุทธศาสตร์ชาติ และ 4 ยุทธศาสตร์การพัฒนา

[3] เช่น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย การก่อสร้างถนนจากด่านเจดีย์สามองค์-พญาตองซู-ทันพยูไซยัด

[4] เช่น การก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา แห่งใหม่ การก่อสร้างด่านศุลกากรตากใบ จังหวัดนราธิวาส แห่งใหม่