วิสัยทัศน์ พันธกิจ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่และภารกิจของกรมการปกครอง และกระทรวงมหาดไทย

1. วิสัยทัศน์ พันธกิจ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่และภารกิจของกรมการปกครอง

          กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นเสนาบดีรับผิดชอบงานมหาดไทย หรืองานการปกครองประเทศและได้มีการแบ่งหน้าที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม ให้ชัดเจนไม่ซ้ำซ้อนกัน โดยให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งหมด เพียงกระทรวงเดียว กระทรวงมหาดไทยเมื่อแรกตั้งแบ่งออกเป็น 3 กรม มีชื่อเรียกตามทำเนียบเดิม แต่ให้มีหน้าที่ต่างกัน คือ กรมมหาดไทยกลาง เป็นพนักงานทำการทุกอย่าง ซึ่งมิให้แยกออกไปเป็นหน้าที่กรมอื่น กรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ ให้เป็นเจ้าหน้าที่แผนกการปราบปรามโจรผู้ร้ายกับแผนกอัยการ รวมทั้งการเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศ กรมมหาดไทยฝ่ายพลำภัง ให้เป็นเจ้าหน้าที่แผนกปกครองท้องที่ สำหรับการปกครองในส่วนภูมิภาคได้กำหนดรูปแบบการปกครองที่เรียกว่า “เทศาภิบาล” ขึ้นมาใช้ และได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบดูแลโดยจัดแบ่งหัวเมืองออกเป็นมณฑล เมือง และอำเภอ โดยมีสมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการเมืองและนายอำเภอ เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการดูแลทุกข์สุขของประชาชนในเขตท้องที่นั้นๆ และมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ช่วยเหลือปฏิบัติงานในระดับตำบล และหมู่บ้าน

          กรมมหาดไทยฝ่ายพลำภังจึงเป็นต้นกำเนิดของกรมการปกครอง ซึ่งได้มีการเปลี่ยนชื่อและปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการภายในมาเป็นลำดับ ดังนี้
          พ.ศ. 2458 กรมพลำภัง มีส่วนราชการย่อย คือ กรมการปกครอง และกรมฝ่ายเหนือ
          พ.ศ. 2459 กรมพลำภัง มีส่วนราชการย่อย คือ กรมการปกครองท้องที่และกรมการเมือง       

          พ.ศ. 2460 กรมการปกครอง มีส่วนราชการ 2 แผนก คือ แผนกปกครองท้องที่และแผนกการเมือง
          พ.ศ. 2466 กรมพลำภัง มีส่วนราชการย่อย คือ กรมปกครอง และกรมการเมือง
          พ.ศ. 2467 กรมพลำภัง มีส่วนราชการย่อย คือ การภายในกรมภายนอก และกรมทะเบียน
          พ.ศ. 2469 กรมพลำภัง มีส่วนราชการย่อย คือ กรมปกครอง กรมทะเบียน และกรมราชทัณฑ์
          หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบ ประชาธิปไตย แล้วในปี พ.ศ. 2476 กรมพลำภังได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมมหาดไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “กรมการปกครอง” จนถึงปัจจุบัน

1.1 วิสัยทัศน์ (Vision)

          “การบริหารราชการในระดับพื้นที่มีความเข้มแข็ง เพื่อความมั่นคงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

1.2 ค่านิยมองค์กร (Core Value)

          “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”

1.3 พันธกิจ / ภารกิจ (Mission)

          1. บูรณาการการบริหารราชการ การปกครองท้องที่ อำนวยความเป็นธรรม การรักษาความสงบ เรียบร้อยและความมั่นคงภายในทุกระดับในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน นโยบายรัฐบาล การพัฒนาประเทศ และกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ 

          2. ปกป้องเทิดทูนสถาบันหลักของชาติและการเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในระดับพื้นที่ ให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพ

          3. อำนวยการบังคับใช้กฎหมายในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน การอำนวยความเป็นธรรมในภารกิจกรมการปกครอง

          4. บริการประชาชนด้านงานทะเบียนราษฎร บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนทั่วไปและ ทะเบียนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน

          5. บริหารจัดการระบบเทคโนโลยีการปฏิบัติงาน การบริการ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง  ให้มีคุณภาพ เพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างบูรณาการของภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการเชื่อมโยง ฐานข้อมูลระหว่างประเทศ

          6. พัฒนาองค์กรให้มีสมรรถนะสูง บนฐานธรรมาภิบาล

          7. ส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของฝ่ายปกครองในการประสานงาน สนับสนุนและการตรวจสอบ กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการระดับภูมิภาค

1.4 ประเด็นยุทธศาสตร์ (Strategic Issues)

1. การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง 

2. การรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนวยความเป็นธรรมให้สังคมสงบสุข

3. การเสริมสร้างความมั่นคงภายในทุกระดับในพื้นที่ให้เข้มแข็ง มีเอกภาพ

4. การพัฒนาระบบบริการและข้อมูลบุคคลให้ทันสมัย มีคุณภาพ เพื่อความมั่นคงและการพัฒนาประเทศ

5. การบริหารจัดการสู่ความเป็นเลิศ ยึดหลักธรรมาภิบาล และพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะสูง

1.5 อำนาจของกรมการปกครองตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2559

          กรมการปกครอง มีภารกิจเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ การอำนวยความเป็นธรรม การปกครองท้องที่ การอาสารักษาดินแดน และการทะเบียน  เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคง ปลอดภัย ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และให้เกิดความสงบสุขในสังคมอย่างยั่งยืน โดยมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

          1. เสนอแนะนโยบายและจัดทำแผน มาตรการ ติดตาม และประเมินผลด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน
          2. ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย สืบสวนสอบสวนคดีอาญา ในหน้าที่พนักงานฝ่ายปกครอง และอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน
          3. ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายใน งานการข่าว งานกิจการชายแดน งานควบคุมดูแลชาวเขาและชนกลุ่มน้อย  ผู้อพยพและผู้หลบหนีเข้าเมือง งานสัญชาติและงานกิจการมวลชน
          4. สนับสนุน ส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการเลือกตั้งทุกระดับ
          5. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกองอาสารักษาดินแดน
          6. ดำเนินการพัฒนาและบริหารการปกครองท้องที่ในระดับอำเภอ กิ่งอำเภอตำบลและหมู่บ้าน  ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
          7. ดำเนินการและพัฒนาระบบงานทะเบียนราษฎร งานบัตรประจำตัวประชาชนและงานทะเบียนอื่น รวมทั้งการบริหารจัดการฐานข้อมูลกลางเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
          8. ดำเนินการพัฒนาบุคลากรในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน
          9. ดำเนินการสื่อสารเพื่อการบริหารงาน การรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงภายใน
          10. อำนวยการ และสนับสนุนการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของนายอำเภอ

1.6 การแบ่งส่วนราชการกรมการปกครอง[1]

1. ราชการบริหารส่วนกลาง
                    1.1 สำนักงานเลขานุการกรม
                    1.2 กองการเจ้าหน้าที่
                    1.3 กองคลัง
                    1.4 กองการสื่อสาร
                    1.5 กองวิชาการและแผนงาน
                    1.6 วิทยาลัยการปกครอง
                    1.7 สำนักการสอบสวนและนิติการ
                    1.8 สำนักกิจการความมั่นคงภายใน
                    1.9 สำนักบริหารการทะเบียน
                    1.10 สำนักบริหารการปกครองท้องที่
                    1.11 สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน

2. ราชการบริหารส่วนภูมิภาค
                    2.1 ที่ทำการปกครองจังหวัด
                    2.2 ที่ทำการปกครองอำเภอ
                    2.3 ที่ทำการปกครองกิ่งอำเภอ

3. หน่วยงานรับผิดชอบขึ้นตรงต่ออธิบดีกรมการปกครอง
                    3.1 กลุ่มตรวจสอบภายใน
                    3.2 กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร

4. หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเป็นการภายใน[2]
                    4.1 กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจกาฮัจย์
                    4.2 กองตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์
                    4.3 กองสนับสนุนการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและขับเคลื่อนนโยบายพิเศษ

          4.4 ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารงานปกครอง

          – ขึ้นตรงต่ออธิบดีกรมการปกครอง

          4.5 ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต

1.7 อำนาจหน้าที่ของส่วนราชการภายในกรมการปกครอง

1. ราชการบริหารส่วนกลาง
1.1 สำนักงานเลขานุการกรม
          มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของกรมและราชการที่มิได้แยกเป็นหน้าที่ของกองหรือส่วนราชการใดโดยเฉพาะ อำนาจหน้าที่ดังกล่าวให้รวมถึง
          1. ปฏิบัติงานสารบรรณของกรม
          2. ดำเนินการเกี่ยวกับงานช่วยอำนวยการและงานเลขานุการของกรม
          3. ดำเนินการเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่กิจกรรมของกรม

1.2 กองการเจ้าหน้าที่
          1. จัดระบบงานและบริหารงานบุคคลของกรม  เว้นแต่การฝึกอบรม

1.3 กองคลัง
          1. ดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี การบริหารงบประมาณ การพัสดุ อาคารสถานที่ และยานพาหนะของกรม

1.4 กองการสื่อสาร
          1. ดำเนินการเกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างจังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอตำบลและหมู่บ้าน
          2. จัดหา ซ่อมแซม บำรุงรักษา เครื่องมือ และอุปกรณ์การสื่อสารของกรม

1.5 กองวิชาการและแผนงาน
          1. เสนอแนะนโยบาย และจัดทำแผน มาตรการ ติดตาม และประเมินผลด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงภายใน
          2. พัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการบริหารการปกครอง การรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงภายใน
          3. จัดทำและประสานแผนงานของกรมให้เป็นไปตามนโยบายและแผนแม่บทของกระทรวง รวมทั้งเร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนงานของกรม
          4. ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณของกรม
          5. จัดระบบการสำรวจ การจัดเก็บ และใช้ประโยชน์ข้อมูลของหน่วยงานในสังกัด และเป็นศูนย์ข้อมูลของกรม

1.6 วิทยาลัยการปกครอง
          1. ดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกอบรมและพัฒนาข้าราชการและลูกจ้างของกรม รวมทั้งพนักงานฝ่ายปกครอง ยกเว้นการพัฒนาข้าราชการระดับสูงและหลักสูตรทั่วไป

1.7 สำนักการสอบสวนและนิติการ
          1. ดำเนินการเกี่ยวกับงานกฎหมาย งานนิติกรรมและสัญญา งานเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่ง อาญา งานคดีปกครอง และงานคดีอื่นที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมรวมทั้งการให้คำปรึกษา วินิจฉัย และตีความข้อกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรม
          2. ดำเนินการเกี่ยวกับการสอบสวนคดีอาญาบางประเภทและคดีอาญาทั่วไป  การอำนวยการและประสานงานด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย การปราบปรามอาชญากรรม และการอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนในความรับผิดชอบของนายอำเภอ

1.8 สำนักกิจการความมั่นคงภายใน
          1. ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ งานกิจการชายแดน งานควบคุมดูแลชาวเขา และชนกลุ่มน้อย งานกิจการศาสนาอิสลาม งานกิจการผู้อพยพและผู้หลบหนีเข้าเมือง รวมทั้งงานแก้ไขปัญหาด้านสังคมจิตวิทยาและเสริมสร้างความเข้าใจอันดีในพื้นที่ ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงของรัฐบาลที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมและกระทรวง
          2. ปฏิบัติงานด้านการข่าวเกี่ยวกับความมั่นคงภายในประเทศและความสงบเรียบร้อยของสังคม         
          3. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง งานอำนวยการและประสานงานแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการชุมนุมเรียกร้อง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาความมั่นคง รวมทั้งบริหารงานฝึกอบรมและพัฒนาขีดความสามารถและสมรรถนะของกลุ่มมวลชนอาสาสมัครและพนักงานฝ่ายปกครอง

1.9 สำนักบริหารการทะเบียน
          1. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร บัตรประจำตัวประชาชน และการทะเบียนอื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรม

1.10 สำนักบริหารการปกครองท้องที่
          1. ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้ง ยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดอำเภอ กิ่งอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน รวมทั้งการจัดทำแผนที่แนวเขตการปกครองและการดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินตามกฎหมาย        

          2. บริหารและพัฒนาการปกครองท้องที่และการปฏิบัติงานของกำนันผู้ใหญ่บ้าน  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และคณะกรรมการหมู่บ้าน
          3. ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้รับมอบหมายหรือนโยบายซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการใด
          4. อำนวยการ สนับสนุน และดำเนินการเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนดหรือที่ได้รับมอบหมาย

1.11 สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน
          1. ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดกำลัง การงบประมาณ การสั่งใช้และการส่งกำลังบำรุง การให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือ ตลอดจนการปรับปรุงสมรรถภาพและขีดความสามารถของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน

2. ราชการบริหารส่วนภูมิภาค
1. ที่ทำการปกครองจังหวัด (ปลัดจังหวัด)

          ดำเนินการเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกรมในเขตพื้นที่จังหวัด กำกับ ดูแล และสนับสนุนการปฏิบัติงานของที่ทำการปกครองอำเภอและที่ทำการปกครองกิ่งอำเภอ แบ่งโครงสร้างภายในที่ทำการปกครองจังหวัดออกเป็น 4 กลุ่มงาน[3] (กลุ่มงานปกครอง แบ่งย่อยภายใน 5 ฝ่าย กลุ่มงานความมั่นคง แบ่งย่อยภายใน  3 ฝ่าย  กลุ่มงานการเงินและบัญชี แบ่งย่อยภายใน 2 ฝ่าย กลุ่มงานอำนวยความเป็นธรรม แบ่งย่อยภายใน  2 ฝ่าย) ดังนี้

          1. กลุ่มงานปกครอง แบ่งงานภายในออกเป็น 5 ฝ่าย คือ

          1.1 ฝ่ายบริหารงานทั่วไป
         
ดำเนินการเกี่ยวกับงานบริหารงานทั่วไป งานธุรการ และงานสารบรรณ ของที่ทำการปกครองจังหวัด อำนวยการประสานงานและให้คำปรึกษาแนะนำในการบริหารราชการ ของที่ทำการปกครองอำเภอและกิ่งอำเภอ สนับสนุนการปฏิบัติงานของที่ทำการปกครองอำเภอ ที่ทำการปกครองกิ่งอำเภอ ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการกรมการปกครอง

          1.2 ฝ่ายบริหารงานปกครอง

          ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารการปกครองท้องที่ การบริหารงานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน การบริหารงานบุคคลของข้าราชการกรมการปกครอง การดำเนินการทางด้านการทะเบียน และรับผิดชอบการดำเนินการตามหน้าที่ของสำนักทะเบียนจังหวัด และควบคุมดูแลการปฏิบัติงาน ด้านการทะเบียนและบัตรของสำนักทะเบียนอำเภอ และสำนักทะเบียนท้องถิ่นในเขตจังหวัด  ดูแลการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเพื่อการทำงาน ดำเนินการสนับสนุนการเลือกตั้งทุกระดับ

          1.3 ฝ่ายการอนุญาตทางปกครอง

          ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ โรงแรม โรงรับจำนำ อาวุธปืน การค้าของเก่าและขายทอดตลาด การพนัน การเรี่ยไร มูลนิธิ สมาคม และกฎหมายอื่นๆ ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง การดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารองค์กรอิสลามและกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมกิจการฮัจย์ ดำเนินการเกี่ยวกับการใช้ที่ดินสาธารณะ และแก้ปัญหาบุกรุกที่ดินของรัฐ

          1.4 ฝ่ายประสานแผนยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่

          ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด การส่งเสริมการจัดทำแผนพัฒนาอำเภอและการจัดการทำข้อมูลเพื่อการบริหารและพัฒนาพื้นที่จังหวัดแบบบูรณาการ ดำเนินการประสานแผนพัฒนาระดับต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดกับแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด รวมทั้งแผนพัฒนาหน่วยต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัด ดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) ดูแลระบบการสื่อสารข้อมูลของกรมการปกครอง ทั้งเครือข่ายภายใน (Internet) ที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารงานปกครอง การบันทึกและการประมวลผลข้อมูลสารสนเทศในความรับผิดชอบของกรมการปกครองเพื่อรายงานผลให้กับส่วนกลาง การปรับปรุงฐานข้อมูลสารสนเทศในความรับผิดชอบของกรมการปกครองการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ให้ถูกต้องเพื่อจัดทำเป็นศูนย์ข้อมูลจังหวัด

          1.5 ฝ่ายกิจการพิเศษ

          ดำเนินงานเกี่ยวกับงานตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งภารกิจของส่วนราชกาอื่นที่ไม่มีหน่วยรับผิดชอบในระดับพื้นที่ งานส่งเสริมอาชีพและและพัฒนาอาชีพ งานสนับสนุนและประสานงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์และช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยในจังหวัด งานเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่

2. กลุ่มงานความมั่นคง แบ่งงานภายในออกเป็น 3 ฝ่าย คือ

          2.1 ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย

          ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย การจัดระเบียบสังคม งานกิจการอาสารักษาดินแดน การดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครองหรือที่ได้รับมอบหมาย

          2.2 ฝ่ายรักษาความมั่นคงภายใน

          ดำเนินงานเกี่ยวกับกิจการมวลชน งานการข่าว งานด้านการสื่อสาร งานกิจการชายแดน งานกิจการผู้อพยพและชนกลุ่มน้อย

          2.3 ฝ่ายกิจการชายแดน* (เฉพาะพื้นที่จังหวัดที่มีเขตติดต่อกับชายแดน)

          ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่งคงชายแดน การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน การอำนวยความสะดวกการสัญจรข้ามแดน งานกิจการผู้อพยพ งานกิจการชนกลุ่มน้อย (ยกเว้นการกำหนดสถานะตามกฎหมาย)

3. กลุ่มงานการเงินและบัญชี แบ่งงานภายในออกเป็น 2 ฝ่าย คือ

          3.1 ฝ่ายบริหารจัดการงบประมาณ

          ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ ประมาณการเพื่อจัดทำงบประมาณใช้สำหรับเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานของส่วนราชการ ตามระบบการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ การจัดหาพัสดุ  ครุภัณฑ์ ที่ดินและสิงก่อสร้างของที่ทำการปกครองจังหวัด ที่ทำการปกครองอำเภอ ที่ทำการปกครองกิ่งอำเภอ

          3.2 ฝ่ายการเงินและบัญชี

          ดำเนินการด้านการเงิน การบัญชี จัดทำแผนการตรวจสอบด้านการคลัง การบัญชี การเงิน การพัสดุ ของกลุ่ม/ฝ่ายต่าง ๆ ของจังหวัด/ที่ทำการปกครองจังหวัด  ที่ทำการปกครองอำเภอ ที่ทำการปกครองกิ่งอำเภอ เพื่อการวางระบบการควบคุมภายใน

4. กลุ่มงานอำนวยความเป็นธรรม แบ่งงานภายในออกเป็น 2 ฝ่าย คือ

          4.1 ฝ่ายอำนวยความเป็นธรรม

          ดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุม กำกับ ดูแล การรายงานผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยความเป็นธรรมไปยังกรมการปกครอง ประสานการดำเนินงานกรณีประชาชนร้องเรียน ร้องทุกข์ ของความเป็นธรรม แก้ไขปัญหาความเดือนร้อน และความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ ปฏิบัติงานเกี่ยวกับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครองและสนับสนุนเกี่ยวกับศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ดำเนินการตามกฎหมายทวงถามหนี้ งานชันสูตรพลิกศพของพนักงานฝ่ายปกครอง และสนับสนุนการปฏิบัติงานชันสูตรพลิกศพของอำเภอตลอดจนรวบรวมผลการชันสูตรพลิกศพในเขตจังหวัดไปยังกรมการปกครอง

          4.2 ฝ่ายนิติการ

          ดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณา วินิจฉัย เรื่องร้องเรียนร้องทุกข์และการอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับคุณสมบัติ การออกจากตำแหน่ง วินัย ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ให้คำปรึกษาแนะนำแก่อำเภอเกี่ยวกับการเลือก การดำรงตำแหน่งของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านและคณะกรรมการกลางหมู่บ้าน อพป. การออกจากตำแหน่งและการดำเนินการอื่นๆ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระราชบัญญัติจัดระเบียบหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกกำนัน ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกผู้ใหญ่บ้าน กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ ดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ การอุทธรณ์ และการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างประจำในสังกัดกรมการปกครอง ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และติดตามผลการดำเนินการทุจริตทางทะเบียนราษฎร ทะเบียนทั่วไป และทะเบียนบัตรประชาชน รวมถึงการสอบสวน การพิจารณา การวินิจฉัย เรื่องการทุจริตทางทะเบียน ดำเนินงานเกี่ยวกับงานคดีปกครองและวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ความผิดละเมิด คดีล้มละลาย คดีแพ่งและคดีอาญา การสั่งไม่ฟ้องและไม่อุทธรณ์คดีในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด

2.  ที่ทำการปกครองอำเภอ (นายอำเภอ)
          ดำเนินการเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกรมในเขตพื้นที่อำเภอ งานตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานอำเภอ งานเกี่ยวกับราชการอื่นที่มิใช่ของส่วนราชการใดตามที่ได้รับมอบหมาย แบ่งโครงสร้างภายในที่ทำการปกครองอำเภอออกเป็น 4 กลุ่ม/ฝ่าย 1 สำนักงาน 1 ศูนย์ (กลุ่มงานบริหารงานปกครอง แบ่งย่อยภายใน 3 ฝ่าย กลุ่มงาน/ฝ่ายทะเบียนและบัตร แบ่งย่อยภายใน 4 ฝ่าย กลุ่มงาน/ฝ่ายความมั่นคง แบ่งย่อยภายใน  4 ฝ่าย  กลุ่มงานอำนวยความเป็นธรรม แบ่งย่อยภายใน 2 ฝ่าย สำนักงานอำเภอ แบ่งย่อยภายใน 1 งาน  2 ฝ่าย และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ) ดังนี้

1. กลุ่มงานบริหารงานปกครอง แบ่งงานภายในออกเป็น 3 ฝ่าย

          1.1 ฝ่ายบริหารงานปกครอง

          ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารการปกครองท้องที่ การจัดทำแผนที่แนวเขตการปกครอง การจัดทำทะเบียนเกาะและการดูแล รักษา ที่สาธารณะประโยชน์ในอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ การบริหารงานกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  แพทย์ประจำตำบล  สารวัตรกำนัน  และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  และคณะกรรมการหมู่บ้าน การสนับสนุนการเลือกตั้งทุกระดับ เว้นแต่การดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กำกับดูแลการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการอื่นในอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง

          1.2 ฝ่ายอนุญาตทางปกครอง

          ดำเนินการเกี่ยวกับการจดแจ้ง ขออนุมัติ ขออนุญาต เกี่ยวกับสถานบริการ โรงแรม โรงรับจำนำ อาวุธปืน การค้าของเก่าและขายทอดตลาด การพนัน การเรี่ยไร มูลนิธิ สมาคม และกฎหมายอื่นๆ ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง

          1.3 ฝ่ายการเงินและบัญชี

          ดำเนินการเกี่ยวกับการงบประมาณ การเงิน การคลัง การบัญชี การดูแลรักษาพัสดุครุภัณฑ์ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง

2. กลุ่มงาน/ฝ่ายทะเบียนละบัตร แบ่งงานภายในออกเป็น 4 ฝ่าย

          2.1 ฝ่าย/งานทะเบียนทั่วไป

          ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยงานทะเบียนครอบครัว ทะเบียนชื่อบุคคล ทะเบียนพินัยกรรม พัฒนาและปรับปรุงระบบการให้บริการประชาชนของอำเภอ

          2.2 ฝ่าย/งานบัตรประจำตัวประชาชน

          ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน กำกับดูแลการปฏิบัติงานบัตรประจำตัวประชาชนของสำนักทะเบียนท้องถิ่น พัฒนาและปรับปรุงระบบการให้บริการประชาชนของอำเภอ

          2.3 ฝ่าย/งานทะเบียนราษฎร

          ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร กำกับ ดูแล การปฏิบัติงานการทะเบียนราษฎรของสำนักทะเบียนอำเภอ สนับสนุนการจัดการเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำและจัดพิมพ์ต่างๆ เกี่ยวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และสนับสนุนการเลือกตั้งอื่นๆ

          2.4 ฝ่าย/งานสถานะบุคคลและสัญชาติ

          ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองในส่วนของบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชนในส่วนของชนกลุ่มน้อยและคนต่างด้าวอื่น ดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนชนกลุ่มน้อยและบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและแรงงานต่างด้าว

3. กลุ่มงาน/ฝ่ายความมั่นคง แบ่งงานภายในออกเป็น 4 ฝ่าย

          3.1 ฝ่าย/งานการรักษาความสงบเรียบร้อย

          ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง การจัดระเบียบสังคม การควบคุมและกำกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ โรงแรม การพนัน และกฎหมายอื่น การดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง สนับสนุนและช่วยเหลือการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยในอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ งานกิจการอาสารักษาดินแดน

          3.2 ฝ่าย/งานรักษาความมั่นคงภายใน

          ดำเนินการเกี่ยวกับงานมวลชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กองกำลังภาคประชาชนและการพัฒนาความรู้ ความสามารถ ทักษะการรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ งานด้านการข่าว งานกิจการผู้อพยพ งานกิจการชนกลุ่มน้อย การจัดระเบียบหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ปฏิบัติงานด้านสังคมจิตวิทยามวลชน แก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการชุมนุมสาธารณะ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และการป้องกันและแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามและกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมกิจการฮัจย์ การควบคุม กำกับ ดูแล บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

          3.3 ฝ่าย/งานการสื่อสาร

          ดำเนินการด้านการสื่อสารตามระเบียบกรมการปกครองว่าด้วยการสื่อสารกรมการปกครอง กำกับ ดูแลสถานีวิทยุคมนาคมในโครงข่ายสถานีวิทยุคมนาคมของกรมการปกครองในเขตพื้นที่อำเภอ

          3.4 ฝ่าย/งานกิจการชายแดน * (เฉพาะพื้นที่ชายแดน)[4]

          ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่งคงชายแดน การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน การอำนวยความสะดวกการสัญจรข้ามแดน งานกิจการผู้อพยพ งานกิจการชนกลุ่มน้อย (ยกเว้นการกำหนดสถานะตามกฎหมาย)

4. กลุ่มงานอำนวยความเป็นธรรม[5] แบ่งงานภายในออกเป็น 4 ฝ่าย

          4.1 ฝ่ายดำรงธรรม

          ดำเนินการเกี่ยวกับการรับเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์จากประชาชนหรือที่ได้รับจากจังหวัดรวมถึงการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ประชาชน ดำเนินการเกี่ยวกับศูนย์บริการประชาชน

          4.2 ฝ่ายอำนวยความเป็นธรรม

          ดำเนินการเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาของฝ่ายปกครอง และการเปรียบเทียบปรับคดีอาญาตามที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มงาน/ฝ่ายทะเบียนและบัตร การร่วมชันสูตรพลิกศพในหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครอง การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งและอาญาในอำนาจหน้าที่ของอำเภอ ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้

5. สำนักงานอำเภอ[6] แบ่งงานภายในออกเป็น 1 งาน  2 ฝ่าย

          5.1 งานบริหารงานทั่วไป

          ดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไป งานเก็บรวบรวมข้อมูลและบรรยายสรุปของอำเภอ ประสานงานกับส่วนราชการอื่นที่ไม่มีหน่วยงานปฏิบัติในระดับพื้นที่ งานธุรการ งานสารบรรณ การประชาสัมพันธ์ งานประชุมประจำเดือนของอำเภอ การบริหารงานบุคคลของข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างทุกประเภทในสังกัดกรมการปกครอง งานรัฐพิธีและงานประเพณีต่างๆ การดูแลรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของที่ว่าการอำเภอ และอาคารสถานที่บริเวณที่ว่าการอำเภอ

          5.2 ฝ่ายกิจการพิเศษ

          ดำเนินงานเกี่ยวกับงานตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งภารกิจของส่วนราชกาอื่นที่ไม่มีหน่วยรับผิดชอบในระดับพื้นที่ งานส่งเสริมอาชีพและและพัฒนาอาชีพ งานสนับสนุนและประสานงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์และช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยในอำเภอ งานเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่

          5.3 ฝ่ายแผนยุทธศาสตร์พัฒนาอำเภอ

          ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาอำเภอ การส่งเสริมการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านและการจัดการทำข้อมูลเพื่อการบริหารและพัฒนาพื้นที่อำเภอแบบบูรณาการ ดำเนินการประสานแผนพัฒนาระดับต่างๆ ในพื้นที่อำเภอกับแผนพัฒนาจังหวัด รวมทั้งแผนพัฒนาหน่วยต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่อำเภอ ดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารงานอำเภอ (กบอ.) ดูแลระบบการสื่อสารข้อมูลของกรมการปกครอง ทั้งเครือข่ายภายใน (Internet) ที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารงานปกครอง การบันทึกและการประมวลผลข้อมูลสารสนเทศในความรับผิดชอบของกรมการปกครองเพื่อรายงานผลให้กับส่วนกลาง การปรับปรุงฐานข้อมูลสารสนเทศในความรับผิดชอบของกรมการปกครองการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ให้ถูกต้องเพื่อจัดทำเป็นศูนย์ข้อมูลอำเภอ

6. ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ

          นายอำเภอ ทำหน้าที่หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง ทำหน้าที่หัวหน้าสำนักงานศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ หัวหน้ากลุ่มงาน/ฝ่ายความมั่นคง ทำหน้าที่หัวหน้าชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว โดยศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ของประชาชนในพื้นที่ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่ประชาชน รับเรื่องปัญหาข้อเสนอแนะของประชาชน และทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการร่วมตามมาตรา 32 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

3. ที่ทำการปกครองกิ่งอำเภอ[7]
          1. ดำเนินการเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกรมในเขตพื้นที่กิ่งอำเภอ
          2. ดำเนินงานเกี่ยวกับราชการอื่นที่มิใช่ของส่วนราชการใด ตามที่ได้รับมอบหมาย

3. หน่วยงานรับผิดชอบขึ้นตรงต่ออธิบดีกรมการปกครอง

3.1 กลุ่มตรวจสอบภายใน

ทำหน้าที่หลักในการตรวจสอบ การดำเนินงานภายในกรม  และสนับสนุนการปฏิบัติงานของกรม  รับผิดชอบงานขึ้นตรงต่ออธิบดีกรมการปกครอง  โดยมีอำนาจหน้าที่  ดังต่อไปนี้

1. ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบด้านการบริหาร  การเงิน  และการบัญชีของกรม

2. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับ มอบหมาย

3.2 กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร

ทำหน้าที่หลักใน การพัฒนาการบริหารของกรมให้เกิดผลสัมฤทธิ์  มีประสิทธิภาพ  และคุ้มค่า  รับผิดชอบงานขึ้นตรงต่อ อธิบดีกรมการปกครอง  โดยมีอำนาจหน้าที่  ดังต่อไปนี้

1. เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่อธิบดีกรมการปกครองเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนา ระบบราชการภายในกรม

2. ติดตาม  ประเมินผล  และจัดทำรายงานเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการภายในกรม

3. ประสานและดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการร่วมกับหน่วยงานกลางต่าง ๆ  และหน่วยงานภายในกรม

4. หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเป็นการภายใน

4.1 กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจกาฮัจย์

          มีฐานะเป็นส่วนราชการภายใน โดยมีผู้อำนวยการกองเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติราชการ และบังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการและลูกจ้างภายในกอง

4.2 กองตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์
          มีฐานะเป็นส่วนราชการภายใน โดยมีผู้อำนวยการกองเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติราชการ และบังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการและลูกจ้างภายในกอง

4.3 กองสนับสนุนการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและขับเคลื่อนนโยบายพิเศษ

          มีฐานะเป็นส่วนราชการภายใน โดยมีผู้อำนวยการกองเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติราชการ และบังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการและลูกจ้างภายในกอง

4.4 ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารงานปกครอง

          มีฐานะเป็นส่วนราชการภายใน โดยมีผู้อำนวยการกองเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติราชการ และบังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการและลูกจ้างภายในกอง

4.5 ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต

          มีฐานะเป็นส่วนราชการภายใน ไม่สังกัดสำนักหรือกองและมีฐานะเทียบเท่าส่วน โดยมีหัวหน้าสำนักงานศูนย์เป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติราชการ และบังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานราชการและลูกจ้างภายในศูนย์ รับผิดชอบงานขึ้นตรงต่ออธิบดีกรมการปกครอง


[1] กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2559 และ คำสั่งกรมการปกครอง ที่ 1275/2559 เรื่องการจัดโครงสร้างส่วนราชการและการแบ่งงานภายใน กรมการปกครอง

[2] คำสั่งกรมการปกครอง ที่ 1275/2559 เรื่องการจัดโครงสร้างส่วนราชการและการแบ่งงานภายใน กรมการปกครอง

[3] เฉพาะพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยโสธร ลำพูน สตูล สมุทรสงคราม และอ่างทอง ให้แบ่งโครงสร้างเป็น 3 กลุ่มงาน 1 ฝ่าย ได้แก่ กลุ่มงานปกครอง กลุ่มงานความมั่นคง กลุ่มงานอำนวยความเป็นธรรม และฝ่ายการเงินและบัญชี เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการเงินและบัญชีในจังหวัดเป็นตำแหน่งสายงานทั่วไป ระดับอาวุโส (ข้อมูล ณ วันที่ลงคำสั่ง 13 ธันวาคม 2559)

[4] อำเภอในพื้นที่ปกติในส่วนของการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานอำเภอ

[5] กลุ่มงานอำนวยความเป็นธรรม และสำนักงานอำเภอ จัดตั้งขึ้นโดยเป็นการมอบหมายงานภายในของที่ทำการปกครองอำเภอ

[6] กลุ่มงานอำนวยความเป็นธรรม และสำนักงานอำเภอ จัดตั้งขึ้นโดยเป็นการมอบหมายงานภายในของที่ทำการปกครองอำเภอ

[7] ในปี 2550 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 46 ก หน้า 14 ยกกิ่งอำเภอทั้ง 81 แห่งขึ้นเป็นอำเภอทั้งหมด ขณะนี้ประเทศไทยจึงไม่มีเขตการปกครองในระดับกิ่งอำเภอ

2. วิสัยทัศน์ พันธกิจ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่และภารกิจของกระทรวงมหาดไทย

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีพระบรมราชโองการตั้งกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 และได้ทรงมอบหมายให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย งานของกระทรวงมหาดไทยในระยะเริ่มต้น จัดแบ่งเป็น 3 กรม คือ กรมมหาดไทยกลาง มีหน้าที่ทั่วไป กรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ มีหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้าย และงานด้านอัยการ กรมพลัมภัง มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองท้องที่

2.1 วิสัยทัศน์ (Vision) [1]         

          “ประชาชนมีรากฐานการดำรงชีวิตและพัฒนาสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและสมดุล ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

2.2 ค่านิยมองค์กร (Core Value)

          “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”

2.3 พันธกิจ / ภารกิจ (Mission)

1. รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย และความมั่นคงภายใน

2. เสริมสร้างความเข็มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก

3. ส่งเสริมการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน

4. ส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารราชการในระดับพื้นที่

2.4 เป้าหมาย (Goal)

1. ชุมชนเข้มแข็ง

2. ชุมชนมีความปลอดภัย

3. สังคมมีความสงบเรียบร้อย

4. หน่วยงานภาครัฐมีการบริหารจัดการที่ดี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มแข็ง

5. พื้นที่ภูมิภาคและพื้นที่เศรษฐกิจมีขีดความสามารถในการแข่งขัน

2.5 ประเด็นยุทธศาสตร์ (Strategic Issue)

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเสริมสร้างสังคมเข้มแข็งและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 : การเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสภาพแวดล้อมสู่อนาคต

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 : การเสริมสร้างความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 : การวางรากฐานการพัฒนาองค์กรอย่างสมดุล

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 : การพัฒนาภูมิภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ

2.6 อำนาจหน้าที่[2]

          1. ด้านการเมืองการปกครอง กระทรวงมหาดไทยมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการอำนวยการเลือกตั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองทุกระดับ ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การปกครอง และการบริหารหน่วยราชการส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และการรักษาความมั่นคงของชาติ

          2. ด้านเศรษฐกิจ กระทรวงมหาดไทยมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมอาชีพและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งจะต้องประสานและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับส่วนราชการต่างๆ ของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังรับผิดชอบการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร การคุ้มครองผู้เช่านา การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรขนาดเล็กนอกเขตชลประทาน และการชลประทานราษฎร์ เป็นต้น

          3. ด้านสังคม กระทรวงมหาดไทยมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาเยาวชนและการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม เป็นต้น

          4 ด้านการพัฒนาทางกายภาพ กระทรวงมหาดไทยมีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดชุมชน การจัดที่ดิน การให้บริการขั้นพื้นฐานในชนบท การจัดผังเมือง รวมผังเมืองเฉพาะ และการให้บริการสาธารณูปโภคในเขตเมือง เป็นต้น

2.7 โครงสร้างส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ

          ส่วนราชการ

                    1. สำนักงานรัฐมนตรี

                    2. สำนักงานปลัดกระทรวง

                    3. กรมการปกครอง

                    4. กรมการพัฒนาชุมชน

                    5. กรมที่ดิน

                    6. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

                    7. กรมโยธาธิการและผังเมือง

                    8. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

          หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

                    1. การไฟฟ้านครหลวง

                    2. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

                    3. การประปานครหลวง

                    4. การประปาส่วนภูมิภาค

                    5. องค์การตลาด

2.8 อัตลักษณ์ (Identity)

1. อัตลักษณ์การดำเนินงาน V-HAPPY

V-H: Vertical and Horizontal Policy หมายถึง การขับเคลื่อนนโยบายทั้งแนวดิ่งและแนวราบ (Cross Function)

A: Area-Based Application หมายถึง แนวทางและนโยบายมุ่งสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่

P: People Focused หมายถึง การปฏิบัติมุ่งเน้นประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง

P: Participatory Approach หมายถึง มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการทำงาน

Y: Yielding Sustainable Development หมายถึง มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ (Outcome) เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

2. อัตลักษณ์บุคลากร PITHAK

P: Problem Solver and Development Leader หมายถึง เป็นผู้นำในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา

I: Integrative Thinker หมายถึง คิดเชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานกับผู้อื่นได้

T: Tailor-Made Practitioner หมายถึง รู้จักปรับนโยบายให้เหมาะสมกับพื้นที่และให้ปฏิบัติได้

H: Holistic Viewpoint หมายถึง คิดเป็นองค์รวม

A: Accessible/Approachable/Accountable หมายถึง เข้าถึงได้ง่าย โปร่งใส ตรวจสอบได้

K: Knowing the Area in-depth หมายถึง มีความรู้ลึกในเชิงพื้นที่


[1] เทคนนิคการจำ : 1 วิสัยทัศน์ 4 พันธกิจ  5 เป้าหมาย  5 ประเด็นยุทธศาสตร์

[2] ตามมาตรา 30  แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุขการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอำนวยความเป็นธรรมของสังคม การส่งเสริมและพัฒนาการเมือง การปกครอง การพัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การปกครองท้องที่ การส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและพัฒนาชุมชน การทะเบียนราษฎร ความมั่นคงภายใน กิจการสาธารณภัยและการพัฒนาเมืองและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย