การเนรเทศ

พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499

          เนื่องด้วยกฎหมายเนรเทศ ร.ศ. 131 เป็นกฎหมายเก่าล้าสมัย จึงได้ตราพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499 บังคับใช้เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองในปัจจุบัน โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการ

การบังคับใช้

          ใช้บังคับกับคนต่างด้าวเท่านั้น โดยมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่เคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด ซึ่ง “คนต่างด้าว” หมายความว่า ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย

บุคคลผู้มีอำนาจเนรเทศ

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรไทยได้ เพื่อความสงบเรียบร้อยและศรีธรรมอันดีของประชาชน และเมื่อได้ออกคำสั่งเนรเทศผู้ใดแล้วให้รัฐมนตรีหรือเจ้าพนักงานที่รัฐมนตรีมอบหมายสั่งให้จับกุมและควบคุมผู้นั้นได้ ในระหว่างการถูกควบคุมตัวนั้น รัฐมนตรีมีอำนาจผ่อนผันให้ไปประกอบอาชีพ เพื่อรอการเนรเทศตามที่เห็นสมควรได้ และให้บุคคลนั้นมารายงานตน และระยะเวลาให้รายงานตนต้องไม่ห่างกันเกิน 6 เดือนต่อครั้ง

กำหนดเวลาในการเนรเทศ

          ห้ามมิให้ส่งตัวผู้ถูกเนรเทศออกไปนอกราชอาณาจักรก่อนครบ 15 วัน นับแต่วันแจ้งคำสั่งเนรเทศ และผู้ถูกเนรเทศมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาเพิกถอนคำสั่ง หรือขอให้มิต้องส่งตัวไปนอกราชอาณาจักรก็ได้ แต่ต้องยื่นภายใน 7 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งเนรเทศ ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนคำสั่งเนรเทศ สั่งผ่อนผันโดยประการอื่นใด หรือสั่งให้ส่งไปประกอบอาชีพ ณ ที่แห่งใด แทนการเนรเทศตามที่เห็นสมควรได้ ทั้งนี้โดยจะให้ทำทัณฑ์บนไว้ก็ได้

กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับสัญชาติ

          เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับสัญชาติ ผู้ที่ต้องถูกพิจารณาเนรเทศ ต้องเป็นผู้นำพยานมาพิสูจน์ว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือเคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด